ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 03-02-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


อ่าวปัตตานี : โครงการขุดลอกเพื่อแก้ปัญหาความยากจนแต่ให้ผลตรงกันข้าม



ครอบครัวชาวบ้านในหมู่บ้านบุดี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ต้องสลับให้ลูก 4 คน ไปโรงเรียนกันคนละวัน เพราะไม่มีเงินส่งลูกทุกคนไปโรงเรียนได้ทุกวัน

รอกาย๊ะ สาและ บอกครูในวันที่โรงเรียนเปิดเทอมว่าถ้าลูกขาดเรียนก็ขอให้เข้าใจว่าลูกไม่สบาย หรือไม่มีเงินไปโรงเรียน ทุกวันนี้ชาวประมงพื้นบ้านอย่างเธอ มีรายได้ไม่ถึง 200 บาท เพราะปลาที่เคยจับได้ในอ่าวปัตตานีแทบไม่หลงเหลือ รายได้ที่เคยมีวันละ 500-700 บาท ไม่เคยเกิดขึ้นอีกแล้ว

"วันก่อนออกไปจับกุ้งโดยใช้อวนลอย อวนก็ไปติดกับสันทรายจนขาด เราก็ไม่มีเงินซื้ออวนอันใหม่?ออกไปแต่ละครั้งได้กุ้ง 20 ตัว 10 ตัว บางครั้ง 7 ตัวก็มี จะขายก็ไม่ได้ ขนาดลูกจะกินก็ยังไม่พอ"

สันทรายที่เธอพูดถึงคือสันทรายที่เกิดจากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ที่มีเป้าหมายแก้ไขปัญหาการตื้นเขินของอ่าวที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอบต. เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ และคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบอนุมัติงบกลางปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 664 ล้านบาท ให้กรมเจ้าท่าดำเนินการระยะเวลา 2 ปี (2560-2562)

แต่ล่าสุดชาวบ้านได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ส.ในพื้นที่ ร้องเรียนความเดือดร้อนจากโครงการขุดลอกอ่าวที่ไม่ได้แก้ปัญหาความตื้นเขิน แต่กลับทำให้อ่าวปัตตานีตื้นเขินมากขึ้น เนื่องจากผู้ดำเนินโครงการได้ทิ้งตะกอนทราย วัสดุขุดลอกจนทับถมบริเวณที่ทำกินของชาวบ้านในวงกว้าง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และระบบนิเวศ

นายเศรษฐ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี บอกบีบีซีไทยว่า ในเวลาเดียวกันชาวบ้านยังเผชิญปัญหาการไม่บังคับใช้กฎหมายที่ออกตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ม.44) กับผู้ทำประมงโดยที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายอย่างลอบพับได้ ที่เรียกกันว่า ไอ้โง่ จับสัตว์น้ำวัยอ่อนจนไม่ทันการเจริญพันธุ์ ส่งผลให้ชาวประมงอวนลากจับสัตว์น้ำไม่ได้เพราะปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด


มูฮัมหมัดไซดีกับแม่ออกไปหาหอยในทะเลเพราะไม่มีกุ้งและปลาให้จับแล้ว .......... ที่มาของภาพ GOOYEE KUNO

"ไม่แปลกที่ทรัพยากรในอ่าวปัตตานีแห่งนี้ลดลงอย่างมากถึงขั้นวิกฤต" มะแอ สาและ ประธานชมรมประมงพื้นบ้านบ้านบุดี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี บอกบีบีซีไทยว่าเขานำเรือออกทะเลไปจับกุ้ง ครึ่งวันยังได้ไม่ถึง 1 กิโลกรัม

ในบางวัน เด็กน้อยวัย 15 ปี อย่างมูฮำหมัดไซดี แวเปาะแต ลูกของรอกาย๊ะ ก็ไม่ได้ไปโรงเรียนที่เขาเรียนอยู่ในชั้น ม.3 เพราะต้องไปช่วยแม่หาหอยแทนการจับกุ้งและปลา เขาและแม่นำหอยที่จับได้มาแกะและต้มขายได้ราคากิโลกรัมละ 50 บาท แต่ละวันขายได้ 4-5 กิโลกรัม

"มาทำงานแบบนี้เหนื่อยมาก ถ้าเป็นไปได้อยากไปเรียนหนังสือ" มูฮัมหมัด บอก แต่ต้องเสียสละให้น้องได้ไปโรงเรียน ความหวังของรอกาย๊ะที่จะให้ลูกได้เรียนหนังสือสูง ๆ นั้นยังเป็นไปไม่ได้


ที่อยู่อาศัยของชาวประมงพื้นบ้าน บ้านบุดี ............... ที่มาของภาพ GOOYEE KUNO

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่ต้องการการฟื้นฟูพื้นที่และเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ส.ส.ในพื้นที่จากหลากพรรคการเมืองรับปากว่าจะนำเรื่องไปหารือในสภาเพื่อแก้ปัญหา

ล่าสุดนายกฯ อบจ.ปัตตานีบอกบีบีซีไทยว่าคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กับคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงในวันพรุ่งนี้ (3 ก.พ.) โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการชุดหนึ่งเคยเสนอให้หางบประมาณมาขุดสันดอนทรายดังกล่าวออกไปทิ้งนอกพื้นที่ตามความต้องการของชาวบ้านส่วนใหญ่

บีบีซีไทยพยายามติดต่อผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า ทางโทรศัพท์ เพื่อขอให้แสดงความคิดเห็น แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้


https://www.bbc.com/thai/thailand-55904009

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม