ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 24-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,345
Default

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


ครม.ไฟเขียว กฎเหล็กดำน้ำ ป้องปะการัง บังคับใช้ 5 ปี

ครม.ไฟเขียวร่างประกาศกระทรวงทรัพย์ คุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ ป้องกันแนวปะการัง-เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมกำกับดูแลให้ทั่วถึง บังคับใช้ 5 ปี



วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. ? ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความเสียหายที่เกิดกับแนวปะการังอันเกิดจากการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำเป็นการเฉพาะ และเพื่อควบคุมกำกับดูแลอย่างทั่วถึง เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีมากขึ้น ในขณะที่คนนำเที่ยวมีจำกัด และแนวปะการังของประเทศไทยร้อยละ 50 อยู่ในสภาพเสียหายและเสื่อมโทรมและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น


น.ส.ทิพานันกล่าวว่า สาระสำคัญของมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ สรุปได้ดังนี้

1.ข้อห้ามทั่วไป เช่น ห้ามสัมผัสปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใด ๆ ห้ามดำเนินกิจกรรม Sea Walker และห้ามดำน้ำโดยวิธีอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเดินหรือเคลื่อนที่บนพื้นทะเล ห้ามกระทำด้วยประการใด ๆ อันก่อให้เกิดตะกอนตกทับหรือปกคลุมปะการัง หรือทำให้ปะการังได้รับความเสียหาย ห้ามให้อาหารปลาหรือสัตว์น้ำ ห้ามทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง และบนพื้นทะเลในระยะรัศมี 3 เมตร จากแนวปะการัง ห้ามผูกเชือกกับปะการังเพื่อทำแนวทุ่น


2.การจัดให้มีผู้ควบคุมในกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ และให้ผู้ควบคุมและผู้ช่วยควบคุมแจ้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวิธีปฏิบัติที่ดีในการดำน้ำโดยไม่กระทบต่อปะการังต่อนักท่องเที่ยวก่อนที่จะเริ่มต้นกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ ตลอดจนสอดส่อง และป้องกันมิให้มีการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว โดยจำนวนผู้ควบคุม ได้แก่

- กรณีท่องเที่ยวดำน้ำตื้น ให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน และกรณีนักท่องเที่ยวเกิน 20 คน ให้มีผู้ช่วยผู้ควบคุมเพิ่มในอัตราส่วน 1 คนต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน

- กรณีท่องเที่ยวดำน้ำลึก นักท่องเที่ยวต้องผ่านการเรียนดำน้ำลึก และให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักดำน้ำลึกไม่เกิน 4 คน

- กรณีการเรียนและสอบดำน้ำลึก ให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อผู้เรียนไม่เกิน 4 คน


3.ห้ามมิให้นักท่องเที่ยวดำน้ำตื้นโดยไม่สวมเสื้อชูชีพในบริเวณแนวปะการัง เว้นแต่เป็นการดำน้ำตื้นโดยบุคคลที่ได้สอบผ่านหลักสูตรดำน้ำลึกหรือหลักสูตรดำน้ำอิสระ รวมทั้งห้ามดำน้ำตื้นในแนวปะการังในช่วงเวลาน้ำลง


4.ในการท่องเที่ยวดำน้ำลึกและการเรียนหรือสอบดำน้ำลึก ห้ามนำกล้องลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ เว้นแต่เป็นการถ่ายภาพใต้น้ำโดยบุคคลที่ผ่านหลักสูตรดำน้ำลึกแล้ว


"ระยะเวลาการบังคับใช้มีกำหนด 5 ปี และไม่ใช้บังคับกับกิจกรรมที่มิใช่กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เช่น การดำน้ำเพื่อการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การดำน้ำเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้การกำกับของหน่วยงานพื้นที่ที่รับผิดชอบ เป็นต้น" น.ส.ทิพานันกล่าว


https://www.prachachat.net/general/news-1377040


******************************************************************************************************


ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงมหาสมุทร 24 ส.ค.นี้ ไม่สนคำทัดทานเพื่อนบ้าน


โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ (ภาพโดย Kyodo via REUTERS)

ญี่ปุ่นจะเริ่มปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรในวันที่ 24 สิงหาคมที่จะถึงนี้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้

วันที่ 22 สิงหาคม 2023 สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) รายงานว่า ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่าจะเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ ที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรในวันที่ 24 สิงหาคม 2023 นี้

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้ ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบจากน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี รวมถึงกลุ่มผู้ทำประมงในญี่ปุ่นเองก็กล่าวว่า พวกเขากลัวว่าการปล่อยน้ำจะสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของพื้นที่และเกิดภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิตของพวกเขา แต่ความกังวลจากหลายภาคส่วนก็ไม่เปลี่ยนมติที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติเมื่อสองปีที่แล้ว

ทางการญี่ปุ่นยืนยันว่าการปล่อยน้ำตามแผนนี้มีความปลอดภัย โดยน้ำจะถูกกรองเพื่อกำจัดธาตุกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ยกเว้นทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจนที่แยกออกจากน้ำได้ยาก น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกเจือจางให้ต่ำกว่าระดับไอโซโทปที่ได้รับการอนุมัติในระดับสากลก่อนที่จะถูกปล่อยออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ด้านสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (UN) ก็ได้อนุมัติแผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า แผนการปล่อยน้ำดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมนั้น ?น้อยมาก?

ถึงกระนั้น ประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นบางประเทศก็ยังแสดงความกังขาต่อความปลอดภัยของแผนการปล่อยน้ำดังกล่าว โดยรัฐบาลจีนเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รายใหญ่ที่สุด หวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า ญี่ปุ่นแสดงความเห็นแก่ตัวและความเย่อหยิ่ง และไม่ได้ปรึกษาหารือกับประชาคมระหว่างประเทศอย่างเต็มที่เกี่ยวกับการปล่อยน้ำ

ทางการจีนได้สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่น รวมถึงฟูกูชิมะและกรุงโตเกียว โดยอนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจาก 10 จังหวัดนี้ได้ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบกัมมันตรังสี และมีหลักฐานว่าผลิตนอก 10 จังหวัดที่ถูกสั่งห้าม

ด้านรัฐบาลฮ่องกงกล่าวก่อนหน้านี้ว่า จะห้ามนำเข้าอาหารจากจังหวัดโตเกียว ฟูกูชิมะ ชิบะ กุนมะ โทชิกิ อิบารากิ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ และไซตามะของญี่ปุ่นทันที หากญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ผ่านการบำบัดแล้วลงมหาสมุทร

เจ๋อ ชินวาน (Tse Chin-wan) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาของฮ่องกงคาดการณ์ว่า หากไม่มีการห้ามนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น รัฐบาลฮ่องกงอาจจะต้องใช้เงินในการทดสอบสารปนเปื้อนในการนำเข้าอาหารญี่ปุ่นประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 44 ล้านบาท) ต่อปี

ขณะที่นักเคลื่อนไหวชาวเกาหลีใต้ก็ได้ประท้วงต่อต้านแผนดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะได้ข้อสรุปจากการศึกษาของตนเองแล้วว่า การปล่อยน้ำดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นไปตามการประเมินของ IAEA


https://www.prachachat.net/world-news/news-1376259

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม