ดูแบบคำตอบเดียว
  #48  
เก่า 02-11-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,225
Default


'สึนามิ' ถล่ม 'เมนตาไว' อีก 'บทเรียน' มหันตภัยคลื่นยักษ์




มหันตภัย 'สึนามิ 2547' ซัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งทั่วมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงชายฝั่งทางภาคใต้ของไทย ยังคงเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ยากจะลืมเลือน เนื่องด้วยมีผู้เสียชีวิตกว่า 2 แสนราย

หลายปีผ่านมา แม้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มจะเตือนถึงความเป็นไปได้ในการเกิดสึนามิครั้งใหม่ในเอเชีย แต่ความกระตือรือร้นสร้างและวางระบบเครือข่ายเตือนภัยสึนามิยังดูไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ล่าสุด กลางดึกของวันที่ 25 ตุลาคม 2553 สึนามิก็หวนกลับมาคร่าชีวิต ประชาชนตามแนวชายฝั่งหมู่เกาะเมนตาไว ประเทศอินโดนีเซีย จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตร่วมๆ 500 ราย สูญหายนับร้อย

คำถามที่ดังอื้ออึง คือ เกิดอะไรขึ้นกับระบบเตือนภัยสึนามิที่ทุ่มเงินลงทุนไปเกือบ 2 พันล้านบาท

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เกิดจาก 'เครื่องจักร' หรือ 'ความประมาท' ของมนุษย์กันแน่...

ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ประเทศต่างๆ ควรจะศึกษาเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องเผชิญความสูญเสียซ้ำรอย!



ทุ่นเตือนสึนามิพันล้าน

ระบบเตือนภัยสึนามิที่ติดตั้งนอกชายฝั่งอินโดนีเซียนั้น ออกแบบโดยทีมวิศวกรชาวเยอรมนี

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ใช้เงินลงทุนไปราว 1.8 พันล้านบาท




เหตุแผ่นดินไหนนอกชายฝั่งตะวันตกค่อนไปทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 25 ต.ค.นั้น วัดความแรงได้ถึง 7.7 ริกเตอร์

โดยพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา จะมีหมู่เกาะเมนตาไวตั้งอยู่ข้างซ้าย แต่สภาพวิถีชีวิตบนเกาะถือว่าเป็นชนบทห่างไกลความเจริญพอสมควร

เบื้องต้น สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ระบบเตือนภัยสึนามิของวิศวกรเยอรมนีบางจุดกลับไม่ทำงาน ขณะที่ชาวบ้านในหมู่เกาะเมนตาไว ซึ่งเป็นจุดที่โดนสึนามิปะทะยืนยันว่าไม่มีใครได้ยินสัญญาณ 'ไซเรน' เตือนภัยแม้แต่คนเดียว

ผลลัพธ์หลังจากสึนามิซัดเข้าฝั่ง มีผู้เสียชีวิตและสูญหายร่วมพันราย บ้านเรือนวินาศ 25,000 หลัง

พื้นที่ชายฝั่งถูกแรงพิโรธของเกลียวคลื่นยักษ์ความสูง 3-8 เมตร โถมเข้าถล่มจนเหี้ยนเตียน



เตือนภัย..แต่ไม่ทันการณ์ !?

หนังสือพิมพ์ชปีเกลของเยอรมนีระบุว่า หลังเกิดเหตุ นักวิทยาศาสตร์อินโดนีเซียตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของระบบทุ่นเตือนภัยสึนามิของเยอรมนี ว่า ใช้งานได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายยอร์น ลาตูร์ยัง นักวิจัยประจำศูนย์ธรณีศาสตร์ ประเทศเยอรมนี ยืนยันว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า

ระบบเตือนภัยสึนามิทำงานได้จริง และส่งข้อมูลไปให้สถานีเตือนภัยสึนามิในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย ออกประกาศเตือนภัยสึนามิ เมื่อเวลา 21.47 น. วันที่ 25 ต.ค. หรือ หลังตรวจจับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวได้ราว 5 นาที

ต่อจากนั้นอีก 39 นาที เมื่อพบว่า มีเพียง สึนามิ 'ขนาดเล็ก' ความสูง 23 เซนติเมตร พัดเข้าตอนใต้ของฝั่งสุมาตราบริเวณเมืองปาดัง จึงยกเลิกประกาศเตือนภัย

สิ่งที่ไม่มีใครรู้เลย ก็คือ หลังเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวเพียง 'ไม่กี่นาที' สึนามิสูงตั้งแต่ 3-8 เมตรได้โถมเข้าชายฝั่งหมู่เกาะเมนตาไวเข้าไปเรียบร้อยแล้ว

แต่ฝ่ายทางการ รวมถึงศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิก ก็ไม่รู้เรื่อง เพราะหลายพื้นที่ บนหมู่เกาะแห่งนี้ขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการสื่อสาร!



ขั้นตอนปฏิบัติขาดมาตรฐาน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายเยอรมนี ผู้รับผิดชอบการวางระเบิดเตือนสึนามิ พยายามอธิบายว่า

เหตุที่ชาวบ้านเมนตาไวไม่มีโอกาสได้ยินเสียง 'ไซเรน' เตือนให้หนีขึ้นที่สูง เพราะหน้าที่การวาง 'ระบบแจ้งเตือนแนวสุดท้าย' บนชายฝั่งอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลอินโดนีเซีย

นอกจากนั้น ยังพบว่า การวางสายเคเบิลส่งสัญญาณต่างๆ ไม่ตรงตามมาตรฐานที่เยอรมนีกำหนดไว้ เช่น การวางเคเบิลต้องฝังดิน ไม่ใช่ไปแขวนระโยงระยางกับต้นไม้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่ให้ความสำคัญกับการจัดฝึกซ้อมหนีภัยสึนามิ และให้ความรู้เอาตัวรอดเบื้องต้นด้วยการจับสัญญาณบ่งชี้ว่า อาจมีสึนามิขึ้นฝั่ง

จากการสอบสวนเบื้องต้น พบว่า ผู้เสียชีวิตในเมนตาไว ส่วนใหญ่เมื่อเห็นสึนามิลูกแรก ขนาดไม่ใหญ่มากซัดสู่ฝั่งแล้วไม่มีอะไร จึงไม่ได้อพยพขึ้นที่สูง ทำให้เมื่อสึนามิขนาดใหญ่ลูกหลังๆไล่ตามมา จึงหนีไม่ทัน

แต่ประเด็นที่ฝ่ายเยอรมนีชี้แจงก็ยังไม่ตรงกับข้อมูลของสำนักข่าวต่างประเทศ อื่นๆซึ่งรายงานว่า ทุ่นเตือนภัยสึนามิ 2 ทุ่นที่ลอยอยู่ในทะเลเสียหาย ใช้การไม่ได้อยู่แล้ว




มาแน่'สึนามิ'ระลอกใหม่

กรณีของทุ่นเตือนภัยสึนามิเยอรมนี ชปีเกลพบข้อมูลด้วยว่า มีอย่างน้อย 1 ทุ่นเสียจริง ภายหลังโดนสาหร่ายรุมเกาะจนทุ่นแตก

ส่วนอีกทุ่น เสียหายเพราะมีเรือประมงแล่นผ่าน

อย่างไรก็ตาม มีทุ่นเตือนสึนามิถึง 5 ทุ่นในมหาสมุทรอินเดีย ถูกโจรกรรมหายไป และคาดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มโจรสลัด

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ต้องคิดวางมาตรการดูแลและเช็กความพร้อมของทุ่นเตือนภัยเสียใหม่

ปีเตอร์ โคลเทอร์แมน เจ้าหน้าที่แผนกเฝ้าระวังสึนามิขององค์การยูเนสโก กล่าวว่า

"ในกรณีเกิดแผ่นดินไหวเขย่ารุนแรง เราแทบไม่ต้องการคำแจ้งเตือนจากทุ่น เพราะต้องรีบหนีขึ้นที่สูงทันที ปัญหาคือทำไมชาวเมนตาไวไม่ทราบวิธีปฏิบัติตัวยามเกิดเหตุ"

ด้าน 'เคอร์รี่ เซียะ' ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวชื่อดัง สังกัดศูนย์สังเกตการณ์โลกของสิงคโปร์ เตือนว่า ตามฐานข้อมูลแล้วพบว่า แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งสุมาตราจะเกิดขึ้นแบบ 'โดมิโน่ เอฟเฟ็กต์' คือ เมื่อจุดใดบนรอยเลื่อนเปลือกโลกเกิดไหวตัวก็จะจุดชนวนให้จุดอื่นๆไหวตัวตามมา

คาดว่าแผ่นดินไหวระดับแรงกว่า 7.7 ริก เตอร์ เมื่อวันจันทร์ 25 ต.ค. จะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า

โดยจุดที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ อาจเกิดธรณีพิโรธถึง 8.8 ริกเตอร์ ได้แก่ พื้นที่แถบ 'เกาะซิเบรุต' ตั้งอยู่ใกล้เกาะสุมาตราเช่นกัน

หนนี้ถ้าพยากรณ์ถูกต้องคลื่น 'สึนามิ' จะใหญ่โตกว่าเดิมและสร้างความเสียหายมากกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแต่ละฝ่ายไม่เลิกยืนอยู่บนความประมาท!



จาก .............. ข่าวสด วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม