ดูแบบคำตอบเดียว
  #77  
เก่า 02-01-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default


ภัยธรรมชาติกับอนาคตของมวลมนุษย์



เริ่มต้นปีใหม่ พ.ศ. 2555 ตามพุทธศักราช หรือ 2012 ตามคริสต์ศักราช ปีนี้สำหรับกลุ่มคนที่เชื่อในทฤษฎีวันโลกาวินาศ คงเริ่มใจเต้นตุ้ม ๆ ต่อม ๆ นับถอยหลัง เพราะเหลืออีกประมาณ 51 สัปดาห์ ก็จะถึงวันดับสูญของโลก จากการทำนายของชนเผ่ามายา ชนเผ่าอารยธรรมรุ่งเรืองยุคโบราณ ทางใต้ของประเทศเม็กซิโก

จารึกบนแผ่นหินเก่าแก่อายุ 1,300 ปี ของชาวมายา กำหนดวันสุดท้ายในปฏิทินของชนเผ่า ไว้ที่วันที่ 21 ธ.ค. ปี ค.ศ. 2012 พร้อมกับระบุว่า จะเป็นวันที่โลกมนุษย์ถึงจุดสิ้นสุด

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ก็จริง แต่เราท่านควรใช้สติไตร่ตรอง และไม่ใส่ใจหรือหวาดวิตกจนเกินไป เพราะนี่เป็นแค่คำทำนาย ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักเหตุผล อาจจะไม่เกิดขึ้นเหมือนกับอีกหลายคำทำนายแบบเดียวกัน คิดดูว่าขนาดพิสูจน์ได้ตามวิทยาการสมัยใหม่ ยังผิดพลาดไม่เป็นจริง เช่นคำเตือนของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับปัญหาวายทูเค ที่เคยสร้างกระแสแตกตื่นไปทั่วโลก สุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นต้น

ภัยอันตรายใหญ่หลวงต่อโลกที่เกิดได้ตลอดเวลา ยังมีอยู่อีกมากมาย เพียงแต่ไม่สามารถระบุวันเวลาล่วงหน้าได้แน่ชัด อย่างเช่น สงคราม โรคระบาด หรือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น

ในรอบปี 2554 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นมา ภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงสุด ต้องยกให้เหตุการณ์แผ่นดินไหว 9.0 ริคเตอร์ และคลื่นยักษ์สึนามิความสูง 14–40.5 เมตร กระหน่ำพื้นที่ชายฝั่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 15,842 ราย บาดเจ็บ 5,890 ราย และสูญหาย 3,485 คน



ส่วนความเสียหายต่อเศรษฐกิจ รวมถึงงบสำหรับการฟื้นฟูบูรณะ ตัวเลขยังไม่ลงเอย แต่คาดว่าน่าจะสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

อันดับรองคือ มหาอุทก ภัยที่ภาคใต้ของปากีสถาน ช่วงก่อนและหลังเดือน ก.ย. ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 9.5 ล้านคน บ้านเรือนกว่า 1.5 ล้านหลัง และที่ดินเพาะปลูกราว 17 ล้านไร่ เสียหายยับ

ในส่วนของแผ่นดินไหวญี่ปุ่น 11 มี.ค. หรือที่เรียกกันว่า “แผ่นดินไหวโตโฮกุ 2011” มีความพิเศษตรงส่วนหนึ่งของผลกระทบ ซึ่งมันได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ของโลก เกือบจะสิ้นเชิง

ก่อนถึง 11 มี.ค. หลายประเทศที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต่างเลือกการสร้างพลังงานจากนิวเคลียร์ แทนการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่หลังจากแผ่นดินไหวรุนแรง และสึนามิถล่ม สร้างความเสียหายแก่เตาปฏิกรณ์ ที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของบริษัทเทปโก ที่จังหวัดฟูกูชิมา ริมฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

บริษัทเทปโกระดมคนงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เสี่ยงภัยการสัมผัสกัมมันตรังสี เข้าแก้ไขปัญหา ใช้น้ำทำให้เตาปฏิกรณ์เย็นลง แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายไฮโดรเจนระเบิดทั่วโรงงาน ทำให้สารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลฟุ้งกระจาย ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

เจ้าหน้าที่ทางการต้องอพยพประชาชนราว 150,000 คน ออกพ้นรัศมี 20 กม. โดยรอบโรงงานฟูกูชิมะ ไดอิจิ

เหตุการณ์เกิดขึ้น 25 ปี หลังเหตุการณ์แบบเดียวกัน ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครน ทำให้ญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าขีดขั้นเทคโนโลยีอยู่ระดับหัวแถวของโลกในปัจจุบัน เสียชื่อเสียงไปเยอะ รวมทั้งเสียความน่าเชื่อถือ จากการที่กว่าเจ้าหน้าที่ทางการจะกล้ายอมรับ ระดับความร้ายแรงของเหตุการณ์ เวลาก็ล่วงเลยไปนาน

ถึงสิ้นเดือน พ.ค. รัฐบาลเยอรมนีประกาศจะปิดเตาปฏิกรณ์ 17 แห่งทั่วประเทศ ภายในไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า สวิตเซอร์แลนด์จะปิดทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2577 ขณะที่เบลเยียมจะค่อย ๆ ลดการพึ่งพาพลังงานจากนิวเคลียร์ จนกว่าจะเลิกทั้งหมด แต่ไม่ระบุกรอบเวลา เช่นเดียวกับอิตาลี ซึ่งทำประชามติในเดือน มิ.ย. ผลประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ล้มเลิกอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมดในประเทศ

ฝรั่งเศสซึ่งพลังงาน 75% ที่ใช้ในประเทศ มาจากการแตกตัวของนิวเคลียสอะตอม อนาคตของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ได้กลายเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปีนี้

เหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องหาทางเรียกคืนความศรัทธาเชื่อมั่นจากประชาชน ส่งคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไปทดสอบโรงงานพลังงานทั่วโลก ปิดเตาปฏิกรณ์ในประเทศเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ยังเหลือเดินเครื่องแบบปิด ๆ เปิด ๆ แค่ 9 เตา อีกหลายเดือนกว่าจะเห็นแนวโน้ม ในอนาคตญี่ปุ่นจะเดินหน้าพลังงานจากนิวเคลียร์หรือไม่

แต่ที่แน่ ๆ ที่ยังดำเนินการอยู่ขณะนี้ จำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งหมายถึงราคาพลังงานจากนิวเคลียร์จะสูงขึ้น และศักยภาพการแข่งขันลดลง

กรณีของฟูกูชิมะ ไดอิจิ นับเป็นหายนะภัยจากนิวเคลียร์ ร้ายแรงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเกาะทรีไมล์ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2522 และเชอร์โนบิลในยูเครนในปี 2529

บริษัทยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของโลกในปัจจุบันมีไม่กี่บริษัท ระดับหัวแถวประกอบด้วย จีอี-ฮิตาชิ, โตชิบา-เวสติงเฮาส์, โรซาตอม (รัสเซีย) และอารีวาของฝรั่งเศส อนาคตข้างหน้าของบริษัทเหล่านี้ยังไม่แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญยังแตกความเห็น บ้างก็ว่าอีกไม่นานก็ล้มหายตายจากกันหมด ส่วนหนึ่งเห็นว่ายังอยู่ได้อีกนาน แต่ธุรกิจจะค่อย ๆ ถดถอย มีเวลาปรับตัวหันเหสู่ธุรกิจอื่น

แต่สถานการณ์ล่าสุด จากข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ก็คือ วิกฤติฟูกูชิมะ ไดอิจิ ส่งผลให้โครงการใหม่พลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลก ถูกยกเลิกแล้ว 50% กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่มีการก่อสร้างเพิ่ม สถานีพลังงานนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั่วโลกถูกลดจำนวนลง 15%

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังมีการสร้างเตาปฏิกรณ์รวม 62 เตา 3 ใน 4 ของจำนวนดังกล่าวอยู่ในเอเชีย ซึ่งการบริโภคพลังงานเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง โดยจีนและอินเดียเป็น 2 ประเทศผู้บริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่าใครเพื่อน และยังไม่มีทางเลือกราคาถูกกว่านิวเคลียร์มากพอต่อความต้องการในขณะนี้

วิกฤตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ทำให้หลายประเทศในยุโรป ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป โดยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเพดานการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตน ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฟินแลนด์ สวีเดน และโปแลนด์ เป็นต้น

ถ้าขาดพลังงานนิวเคลียร์ กลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องดิ้นรนหาทางเลือกใหม่ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ความเป็นไปได้มากที่สุดในอนาคตอันใกล้คือ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งราคากำลังถูกลงเรื่อย ๆ แต่ข้อเสียคือยังขาดแคลน ไม่เพียงพอหากมีการปรับเปลี่ยนไปใช้ในเร็ววัน

ที่สำคัญ พลังงานลมและพลังงานแสงแดด โดยภาพรวมอนาคตไม่แน่นอน

ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่า ก๊าซธรรมชาติน่าจะเป็นทางเลือกยอดนิยม ผู้ชนะตัวจริง หากท้ายที่สุดกาลอวสานของยุคพลังงานนิวเคลียร์มาถึง

(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม