ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 29-06-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


ตีกลับรอบ 4 "แก่งกระจานมรดกโลก" สอบตกประเด็นเดิม "คนในเขตป่า"

IUCN ตีกลับข้อเสนอไทยดันผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ระบุ ผ่านเกณฑ์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่สอบตกการบริหารจัดการการอยู่ร่วมคนในเขตป่า ยังมีข้อกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมข้อสังเกต "ใช้เวลาเสนอถึง 7 ปี นานกว่าปกติ 2 เท่า" ด้านเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ จี้รัฐแก้ปัญหาบางกลอย-คนในเขตป่าแก่งกระจาน


(ภาพ: IUCN)


ตีกลับอีกครั้ง รอบที่ 4 ปมเดิม "สิทธิมนุษยชน"

เอกสารองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เผยการประเมินการเสนอพื้นที่มรดกโลกปี 2564 ว่าข้อเสนอผืนป่าแก่งกระจานของไทยขึ้นมรดกโลกทางธรรมชาติครั้งที่ 4 ควรเลื่อนไปก่อนด้วยเหตุผลว่า "ผ่านเกณฑ์ด้านคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ความเป็นหนึ่งเดียวและการบริหารจัดการ"

"IUCN พิจารณาว่าพื้นที่เสนอชื่อมีศักยภาพบริหารจัดการและอนุรักษ์อย่างประมีสิทธิภาพตามข้อกำหนด อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลถึงความสัมพันธ์ของชุมชนในพื้นที่กับการขึ้นเป็นมรดกโลก

แก่งกระจานยังเต็มไปด้วยข้อกังวลเรื่องชุมชน การปกครอง และการบริหาร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่การเสนอชื่อคราวก่อนหน้าได้เลื่อนออกไป แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการแก้ข้อกังวลเหล่านี้ ทว่ากลับไม่ได้ถูกแก้โดยสมบูรณ์และเป็นที่พอใจ"

รัฐบาลไทยได้เสนอผืนป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติมาตลอด 7 ปี ตั้งแต่ปี 2557 และถูกคณะกรรมการตีกลับมาแล้วถึง 3 ครั้ง เพื่อให้กลับมาเพิ่มเติมข้อมูลและแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โดยครั้งล่าสุดนี้ได้ส่งข้อมูลให้ทาง IUCN ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ เพื่อส่งเข้าพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 44 ออนไลน์วันที่ 16-31 กรกฎาคม

กลุ่มป่าแก่งกระจานที่เสนอขึ้นเป็นมรดกโลก ประกอบไปด้วย 4 เขตอนุรักษ์ในภาคตะวันตกของไทย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ครอบคลุม 3 จังหวัด (เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์)


พื้นที่ป่าแก่งกระจานเสนอขึ้นมรดกโลก (ภาพ: IUCN)


พื้นที่ป่าลด แต่อาจผ่านเกณฑ์คุ้มครองธรรมชาติ

IUCN อธิบายว่า เมื่อเสนอชื่อเป็นมรดกครั้งแรก ไทยเสนอชื่อพื้นที่ป่า 482,225 เฮกเตอร์ (3,013,906 ไร่) ก่อนจะปรับลดเป็น 411,912 เฮกเตอร์ (2,574,450 ไร่) ในปี 2562 และล่าสุดเมื่อปี 2563-2564 เหลือ 408,940 เฮกเตอร์ (2,555,875 ไร่)

นอกจากนั้น การส่งข้อมูลครั้งล่าสุด กลับไม่มีการระบุถึงพื้นที่กันชน (buffer zone) กว้าง 3 กิโลเมตร กินพื้นที่ 2,555,875 เฮกเตอร์ (15,974,218 ไร่) ซึ่งได้ระบุไว้ในการเสนอชื่อครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม แม้ขอบเขตป่าจะลดลง กระทบกับถิ่นอาศัยของสปีชี่ส์สำคัญซึ่งใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือ (EN : ใกล้สูญพันธุ์) และเสือดาวลายเมฆ (VU: เสี่ยงสูญพันธุ์) แต่ไม่ได้กระทบกับสัตว์บางชนิดอย่างจระเข้น้ำจืดสยาม (CR: เสี่ยงขั้น?วิกฤติต่อการสูญพันธุ์)

องค์การอนุรักษ์ระหว่างประเทศฯ ระบุว่า โดยรวมขอบเขตพื้นที่ป่าที่ลดลงไม่ได้กระทบต่อคุณค่าที่ได้มีการเสนอแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกและเป็นไปได้สูงที่ป่าแก่งกระจานจะผ่านเกณฑ์ข้อ 10 "เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชหายาก" ตามที่เสนอมา เมื่อได้เก็บข้อมูลในพื้นที่เพิ่มเติม


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภาชี (ภาพ: GreenNews)


ยังไม่ผ่าน "สิทธิมนุษยชน-บางกลอย"

IUCN ชี้ว่า ไทยยังไม่ได้แก้ข้อกังวลเรื่องพื้นที่ทำกินและสิทธิมนุษยชนในป่าแก่งกระจานตามที่คณะกรรมการพิจารณามรดกโลกได้ตีกลับไป ซึ่งขอให้ตอบข้อกังวลเกี่ยวกับชุมชนกะเหรี่ยงภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างเต็มที่ บรรลุฉันทามติสนับสนุนการเสนอชื่อของพื้นที่ และแสดงให้เห็นว่าข้อกังวลทั้งหมดได้รับการแก้ไขแล้ว

"รัฐภาคีได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเพิ่มเติมที่รัฐภาคีให้มามีหลักฐานปรากฏว่า ชาวบ้านยังคงกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน การดำรงชีวิตและเรื่องอื่นๆ นอกจากนี้ ไม่ปรากฏว่ามีการแสดงความเห็นเป็นเอกฉันท์เรื่องฉันทามติเสนอชื่อ เนื่องจากอัตราการมีส่วนร่วมน้อยกว่า 10% และมีความจำเป็นต้องพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นในคณะกรรมเขตอนุรักษ์"

แม้ไทยจะปรับปรุงกฎหมายอุทยานฯ เพื่ออนุญาตให้ผู้อยู่ศัยในพื้นที่ยังสามารถคงอยู่ต่อไปได้อย่างถูกกฎหมายโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน พร้อมกับมีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ ทว่ายังไม่ชัดเจนว่ารัฐไทยได้แก้ไขเรื่องนี้เพียงพอ อีกทั้ง ทาง IUCN ยังได้รับข้อร้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา องค์กรอิสระ 120 องค์กได้ยื่นจดหมายเรียกร้องให้รักษาสิทธิในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบางกลอย

เอกสารยังระบุว่า การผลักดันแก่งกระจานขึ้นมรดกโลกยังเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมน้อย ข้อมูลที่ไทยส่งให้ IUCN ระบุว่าหมู่บ้าน 42 แห่งจาก 55 แห่ง เห็นด้วยกับการขึ้นเป็นมรดกโลก ทว่า IUCN ตั้งข้อสังเกตว่า มีเพียงชาวบ้าน 1,412 คนที่เห็นด้วยกับการขึ้นเป็นมรดกโลกจากประชาการกว่า 23,000 คน อีกทั้งยังมีเพียงสองพันกว่าคนที่มีส่วนร่วมกระบวนการดังกล่าว

"ข้อมูลปี 2563 จากประเทศภาคีรายงานว่า ชาวบ้านที่ไม่ได้คัดค้านการเสนอชื่อนั้นจะไม่ต่อต้านการขึ้นเป็นมรดกโลก แต่มีข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการพัฒนาชุมชน ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเสนอให้แก้ปัญหาจัดสรรที่ดินให้เรียบร้อยก่อนกระบวนการเสนอชื่อ ถึงแม้ไทยจะมีการร่างมาตรการเพื่อรับข้อกังวลเหล่านี้ ทว่าไม่ได้ส่งรายละเอียดการทำตามมาตรการเหล่านี้มา"


ใช้เวลาเสนอ 7 ปี นานกว่าปกติ 2 เท่า

ท้ายเอกสาร IUCN ได้เสนอแนะให้รัฐภาคีทำงานอย่างใกล้ชิดและปรึกษาหารืออย่างเต็มที่กับชนพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบและชุมชนท้องถิ่น รวมถึง ทำงานร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR)

"IUCN ย้ำว่า การเสนอชื่อของ พื้นที่ป่าแก่งกระจานจะไม่สามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ จนกว่าจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่มีการรายงานมาช้านานเกี่ยวกับสิทธิของชุมชนท้องถิ่น IUCN แนะนำให้รัฐภาคีจัดตั้งกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นบุคคลที่สาม โดยปรึกษาหารือกับ UNESCO และทำงานอย่างใกล้ชิดกับสาขากระบวนการพิเศษของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อจัดการกับข้อกังวลของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง"

นอกจากนั้น IUCN ยังได้ระบุข้อห่วงกังวลถึงการเสนอชื่อป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกของไทยที่กินเวลาถึง 7 ปี และถูกตีกลับถึงสามครั้ง

"นับว่าใช้เวลามากกว่ากระบวนการเสนอชื่อปกติสองเท่า IUCN เล็งเห็นว่าการประเมินพื้นที่แก่งกระจานเมื่อปี 2557 นั้นห่างไกลข้อเสนอแรกเริ่มเกินไป จึงขาดคำแนะนำที่เพียงพอและทันปัจจุบันเพื่อยื่นเสนอคณะกรรมการพิจารณามรดกโลก สถานการณ์ตอนนี้ดูเหมือนจะอยู่นอกเหนือธรรมเนียมกระบวนการประเมินที่เชื่อถือได้"


กิจกรรมเรียกร้องให้ชาวบางกลอยสามารถกลับใจแผ่นดิน ช่วงต้นปี 2564 (ภาพ: GreenNews)


จี้แก้ปัญหา "บางกลอย-คนในเขตป่าแก่งกระจาน"

ด้านเครือข่ายกะเหรี่ยงเขตตะนาวศรี เกรียงไกร ชีช่วง ตัวแทนเครือข่าย เผยกับกรีนนิวส์ว่า เครือข่ายชนพื้นเมืองในไทยพยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนกับเขตป่าอนุรักษ์มาโดยตลอด พร้อมย้ำว่าการขึ้นผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกนั้นจะไม่ได้กระทบกับชาวบางกลอย เพราะยังมีอีกหลายชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์และขอบรอบข้าง ซึ่งประสบกับปัญหาที่ดินทำกินเช่นกัน

เขาย้ำว่า รัฐไทยไม่ได้พยายามรับฟังคนในพื้นที่และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ เห็นได้จากการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบางกลอยทั้ง 5 ชุด ที่ไม่คืบหน้า โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะสถานการณ์โควิด

"ขณะที่การแก้ไขปัญหาบางกลอยไม่เดินหน้า การดำเนินคดีและปฏิบัติการที่กล่าวหาชาวบ้านยังดำเนินต่อ รัฐจะต้องจริงใจในการแก้ปัญหาแก่งกระจานจริงๆ"


https://greennews.agency/?p=24166

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม