ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 09-01-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ทำลายสถิติแม่เต่ามะเฟืองพาเหรดขึ้นวางไข่พังงา-ภูเก็ตแล้ว 14 รัง



พังงา - ทำลายสถิติการขึ้นวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง ล่าสุด ในพื้นที่พังงา-ภูเก็ต พบมาวางไข่แล้ว 14 รัง มากกว่าช่วงเดียวกันกับฤดูกาลที่ผ่านมา ขณะที่ลูกเต่ามะเฟืองรังที่ 3 ฟักออกจากไข่อีก 90 ตัว

สำหรับสถานการณ์การขึ้นวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง ที่พาเหรดกันขึ้นมาวางไข่ในช่วงฤดูกาลนี้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ประมาณเดือน พ.ย.63 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้พบว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก แม่เต่ามะเฟืองทยอยขึ้นมาวางไข่อย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้พบว่ามีแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่แล้ว จำนวน 14 รัง ทั้งในพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต โดยขณะนี้มีไข่เต่ามะเฟืองที่ฟักออกจากไข่แล้วจำนวน 3 รัง

อย่างไรก็ตาม สำหรับการพบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่รังที่ 14 ซึ่งเป็นรังล่าสุด นั้น ทางเจ้าหน้าที่กรม ทช. โดยศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองหาดบางขวัญ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยจุดที่วางไข่อยู่ห่างจากหลุมไข่รังที่ 1 ไปทางทิศใต้ประมาณ 120 เมตร นับเป็นรังที่ 14 ของฤดูกาลนี้ และเป็นรังที่ 9 ของหาดบางขวัญแห่งนี้



เจ้าหน้าที่ได้วัดขนาดรอยพบความยาวจากพายซ้ายไปพายขวา 210 ซม. ความกว้างช่วงอก 100 ซม. คาดว่าเป็นแม่เต่ามะเฟืองตัวเดิมที่เคยขึ้นวางไข่ที่หาดบางขวัญแล้วหลายครั้ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ขุดตรวจสอบหลุมวางไข่ พบที่ระดับความลึก 70 ซม. อยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม จึงไม่มีการย้ายรัง จากนั้นจึงติดตั้งเครื่องมือวัดอุณหภูมิ จัดทำคอกไม้ไผ่ และเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัย รอลูกเต่ามะเฟืองฟักในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟืองในพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ตพบว่า ฤดูกาลนี้ได้มีการทำลายสถิติการวางไข่เกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูกาลการวางไข่ของเต่ามะเฟืองของปีที่ผ่านมา พบว่ามีเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ จำนวน 13 รัง แต่ปีนี้มีแม่เต่าขึ้นมาวางไข่แล้ว จำนวน 14 รัง และคาดว่าจะยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น



นอกจากนั้น ในช่วงวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา มีเรื่องที่น่ายินดีเกิดขึ้น เนื่องจากลูกเต่ามะเฟืองรังที่ 3 ที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่บริเวณหาดบางขวัญ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 63 ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ขุดหาจุดที่แม่เต่าวางไข่ไม่พบ จึงได้แต่ล้อมรั้วไว้ จนครบ 58 วัน ได้ฟักออกจากไข่แล้วทยอยเดินลงทะเลรวม 90 ตัว ส่วนไข่ที่เหลือในรังเป็นไข่ที่มีจำนวนไม่ได้รับการผสม 19 ฟอง และไข่ลมอีก 25 ฟอง รวมไข่รังนี้ 134 ฟอง


https://mgronline.com/south/detail/9640000001663


*********************************************************************************************************************************************************


งานวิจัยพลาสติกที่น่าสะพรึง! พบไมโครพลาสติกในรกของหญิงตั้งครรภ์



เมื่อไม่นานนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบไมโครพลาสติกอยู่ในรกของหญิงตั้งครรภ์ ถึงแม้ยังไม่ทราบผลกระทบที่แน่ชัด แต่ก็เป็นการค้นพบที่น่าวิตกกังวลมาก

เพราะอนุภาคเล็กๆ ของไมโครพลาสติกอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในระยะยาว เช่นอาจไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของทารกในครรภ์ ไม่ว่าคนเป็นแม่บริโภคหรือหายใจเข้าไปก็ตาม

จากการศึกษาพบอนุภาคไมโครพลาสติกในหญิงตั้งครรภ์ทั้ง 4 คนที่ตั้งครรภ์และคลอดลูกตามปกติ โดยพบอนุภาคในรกของทั้งฝั่งเด็ก และคุณแม่ รวมถึงพังผืดที่พัฒนาตัวเด็กตอนยังอยู่ในครรภ์

ด้วยขนาดของไมโครพลาสติกที่เล็กเพียง 10 ไมครอน หรือเท่ากับ 0.01 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้มันสามารถแทรกซึม และไหลเวียนไปกับกระแสเลือดของมนุษย์เราได้

จากงานวิจัยที่พบไมโครพลาสติกนั้น นักวิจัยทำการศึกษาไปเพียง 4% ของแต่ละรกเท่านั้น แต่คาดว่าจำนวนไมโครพลาสติกทั้งหมดอาจะอยู่ในปริมาณที่สูงกว่านั้น

ข้อสรุปจากงานวิจัยล่าสุด กล่าวว่า "เนื่องจากรกมีความสำคัญต่อการพัฒนาของทารกขณะตั้งครรภ์ และยังทำหน้าที่เชื่อมต่อทารกกับสิ่งเเวดล้อมภายนอก การค้นพบอนุภาคไมโครพลาสติกนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างมาก แต่ยังจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ว่าไมโครพลาสติกจะส่งผลต่อระบบร่างกาย หรือเป็นอันตรายอย่างไร"

ปีที่ผ่านมา งานวิจัย No Plastic in Nature: Assessing Plastic Ingestion from Nature to People ที่ WWF ร่วมทำกับมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย พบว่า :

"มนุษย์บริโภคพลาสติกขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ คิดเป็นปริมาณพลาสติกกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 21 กรัมต่อเดือน หรือ 250 กรัมต่อปี"

ปัจจุบัน ชีวิตประจำวันของเรานั้นรายล้อมไปด้วยผลิตภัณฑ์พลาสติก เราบริโภค และหายใจเอาอนุภาคเล็กๆ ของไมโครพลาสติกเข้าร่างกายโดยไม่รู้ตัว นอกจากการช่วยกันลดใช้พลาสติกแล้ว การกำจัดและรีไซเคิลพลาสติกหลังใช้งานอย่างถูกต้องก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน




https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000001912

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม