ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 07-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,326
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


ยูเอ็นชี้ "ทะเล-มหาสมุทรโลก" โดนขุดทรายออก 6 พันล้านตันต่อปี

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ทรายและตะกอนอื่น ๆ ในทะเลและมหาสมุทรของโลก ถูกขุดออกประมาณ 6,000 ล้านตันต่อปี พร้อมกับเตือนถึงความเสียหายร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และชุมชนชายฝั่ง


เครดิตภาพ : AFP

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ว่า โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) เปิดตัวแพลตฟอร์มข้อมูลระดับโลก เกี่ยวกับการแยกตะกอนในสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยเตือนว่า ระดับของการขุดลอกกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งมันส่งผลกระทบร้ายแรง

"ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ของกิจกรรมการขุดในทะเลน้ำตื้น และการขุดลอกนั้น อยู่ในระดับที่น่าตกใจ" นายปาสคาล เปดุซซี หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ "กริด-เจนีวา" ของยูเอ็นอีพี ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เช่นเดียวกับความขุ่นของน้ำ และผลกระทบทางเสียงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล

แพลตฟอร์มข้อมูลใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า "มารีน แซนด์ วอทช์" ใช้สัญญาณจากระบบแสดงตนอัตโนมัติ (เอไอเอส) ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อระบุการดำเนินงานของเรือขุดลอก ตลอดจนติดตาม และตรวจสอบกิจกรรมการขุดลอกทราย, ดินเหนียว, ตะกอน, กรวด และก้อนหิน ในสิ่งแวดล้อมทางทะเลของโลก

แม้กระบวนการดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และจนถึงขณะนี้มีการติดตามเรือประมาณ 50% ของจำนวนทั้งหมด แต่แพลตฟอร์มข้างต้นประเมินว่า ทรายและตะกอนอื่น ๆ ในทะเล ราว 4,000-8,000 ล้านตัน ถูกขุดออกจากสภาพแวดล้อมทางทะเล ระหว่างปี 2555-2562 ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 ล้านตันต่อปี

นอกเหนือจากการนำเสนอตัวเลข ยูเอ็นยังคาดหวังว่า แพลตฟอร์มใหม่นี้จะนำไปสู่การหารือกับภาคส่วนการขุดลอก ผลักดันให้ธุรกิจต่าง ๆ ดำเนินไปในทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการขุดของพวกเขาให้ดีกว่านี้

ขณะที่ ยูเอ็นอีพี ระบุเสริมว่า มันมีความจำเป็นเร่งด่วน ในการจัดการทรัพยากรทรายในทะเลให้ดีขึ้น และลดผลกระทบของการทำเหมืองในทะเลน้ำตื้น.


https://www.dailynews.co.th/news/2693223/


******************************************************************************************************


รู้จักกรมโลกร้อน



รู้หรือไม่! ประเทศไทยมี "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "กรมโลกร้อน" หลังจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดปรับโครงสร้างจาก "กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม" โดยโครงสร้างของกรมฯ ใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการกรม, กองยุทธศาสตร์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ, กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ ยังมีกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และมีหน่วยงานกลุ่มตรวจสอบภายในและกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร มีอัตรากำลัง ประกอบด้วย ข้าราชการ 219 คน พนักงานราชการ 309 คน และลูกจ้างประจำ 19 คน มีนายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล เป็นอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงฯ คนแรก

หน้าที่กรมที่เกิดขึ้นใหม่ มีหน้าที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนภารกิจรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายด้าน เช่น เสนอแนะและจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน มาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ การลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดทำและให้บริการข้อมูลและข้อสนเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ศึกษา วิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นศูนย์เทคโนโลยีสะอาดและศูนย์ปฏิบัติการอ้างอิงด้านสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งดูแลภารกิจ เพื่อให้ไทยดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ เสนอแนะแนวทาง และท่าทีในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และรายงานข้อมูลตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย

"วราวุธ ศิลปอาชา" รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ผลักดันกรมฯ ใหม่ขึ้น เคยระบุว่า ที่ต้องปรับโครงสร้างกรมฯ ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือปัญหาภาวะโลกร้อน กำลังเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ทั่วโลกต่างกำลังเร่งสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเลขาธิการสหประชาชาติได้ออกมาชี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าอุณหภูมิของพื้นผิวโลก และอุณหภูมิของมหาสมุทรในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในปีนี้อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นสัญญาณเตือนว่า เรากำลังเริ่มต้นสิ้นสุดยุคของ "ภาวะโลกร้อน" และกำลังเข้าสู่ยุค "ภาวะโลกเดือด" แล้ว ดังนั้นการตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมครั้งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ประเทศไทยมีหน่วยงานรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยตรง


https://www.dailynews.co.th/news/2688216/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม