เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 23-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ทำไมมหาสมุทรของโลกกำลังเปลี่ยนสี ?
.............. โดย แฟรงกี แอดกินส์


ที่มาของภาพ,ESA

ความสมดุลของประชากรแพลงก์ตอนพืชในทะเลกำลังเปลี่ยนไป อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์

ยามที่คุณนึกภาพมหาสมุทร คุณอาจจินตนาการถึงน้ำทะเลสีฟ้าครามระยิบระยับ แต่งานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ บ่งชี้ว่ามหาสมุทรในโลกของเรานั้นอาจกำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวมากขึ้น และตัวการสำคัญของเรื่องนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่แหล่งน้ำบางแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร กำลังกลายเป็นสีเขียว แต่แหล่งน้ำอื่น ๆ กลับกำลังกลายเป็นสีน้ำเงินมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น

แม้ความเปลี่ยนแปลงนี้มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จากการศึกษาผ่านภาพถ่ายทางดาวเทียม ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงบนแผนที่อย่างเห็นได้ชัด

"สีไม่ใช่สิ่งที่อธิบายได้ง่าย ๆ ในภาษามนุษย์ หรือคุณมองเห็นมันได้ไม่ดีนัก" บีบี คาเอล นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์มหาสมุทรแห่งชาติในเซาท์แธมป์ตัน สหราชอาณาจักร กล่าว และเสริมว่า สัตว์จำพวกกั้งหรือผีเสื้ออาจมองเห็นสีต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนกว่ามนุษย์

จากรายงานล่าสุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐในยุโรป ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ เม.ย. 2024 โดยบริการทางสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป ได้เผยให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในมหาสมุทรมากเพียงใด

รายงานฉบับนี้พบว่า เม็ดสีสังเคราะห์แสงที่เรียกว่าคลอโรฟิลล์ซึ่งอยู่ภายในแพลงก์ตอนพืช และทำให้พวกมันมีสีเขียวด้วยนั้น มีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ย 200-500% ในทะเลนอร์เวย์และมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือของสหราชอาณาจักรในช่วงเดือน เม.ย. 2023

ขณะที่มหาสมุทรทางตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรีย พบว่า แพลงก์ตอนพืชมีคลอโรฟิลล์ลดลง 60-80%

ส่วนทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีระดับคลอโรฟิลล์สูงกว่าค่าเฉลี่ย 50-100% ในเดือน มิ.ย. 2023 โดยทั้ง 2 กรณีนำค่าเฉลี่ยที่ได้จากการวัดในช่วงระหว่างปี 1998-2020

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสีเหล่านี้รุนแรงกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทุกปี และนี่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามหาสมุทรของเรากำลังร้อนมากขึ้น

ข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่ทางโคเปอร์นิคัสรวบรวมไว้ เผยให้เห็นว่ามหาสมุทรของโลกกำลังประสบกับภาวะโลกร้อนเป็นประวัติการณ์ และเมื่อบีบีซีนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ต่อก็พบว่าอุณหภูมิของมหาสมุทรโลกทำลายสถิติทุกวันในช่วงปีที่ผ่านมา

คาเอลเป็นผู้เขียนนำในการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ โดยเขาทำแผนที่ข้อมูลระยะเวลา 2 ทศวรรษโดยใช้ดาวเทียมของนาซา ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์หรือเอ็มไอที (MIT)

พวกเขาพบว่า พื้นที่มหาสมุทรกว่าครึ่งโลกหรือประมาณ 56% กำลังเปลี่ยนสี พื้นที่นี้มีขนาดใหญ่กว่าผืนดินทั้งหมดของโลก


บทบาทของแพลงก์ตอนพืช

แม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่แน่ใจเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่พวกเขาเชื่อว่าปริมาณและการแพร่กระจายของแพลงก์ตอนพืชมีส่วนสำคัญ

แพลงก์ตอนพืชเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สังเคราะห์แสงได้ และเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของเครือข่ายอาหารทางทะเล ช่วยค้ำจุนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในห่วงโซ่อาหาร ตั้งแค่คริลล์ไปจนถึงวาฬ

แพลงก์ตอนพืชประกอบไปด้วยคลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นเม็ดสีสีเขียวชนิดเดียวกันกับที่พืชใช้เก็บเกี่ยวพลังงานจากแสงแดดเมื่อเกิดกระบวนการสังเคราะห์แสง

แพลงก์ตอนพืชยังมีส่วนสำคัญในการถ่ายโอนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศสู่มหาสมุทรด้วย

โดยปกติแล้ว สีของมหาสมุทรจะเกิดจากสิ่งที่อยู่ภายในชั้นบนของมัน ในมหาสมุทรแบบเปิดนั้น มันคือระบบนิเวศของแพลงก์ตอนพืช หากน้ำมีสีน้ำเงินเข้ม หมายถึงมีแพลงก์ตอนพืชน้อยกว่า ขณะที่น้ำสีเขียวนั้นส่งสัญญาณว่ามีแพลงก์ตอนพืชมากขึ้น

จากการศึกษาความยาวคลื่นของแสงแดดที่สะท้อนจากพื้นผิวมหาสมุทร นักวิทยาศาสตร์สามารถประเมินปริมาณคลอโรฟิลล์ได้

"แพลงก์ตอนพืชที่แตกต่างกันจะมีส่วนผสมของเม็ดสีที่ใช้ในการสังเคราะห์แสงแตกต่างกัน เม็ดสีเหล่านี้สามารถดูดแสงได้ในความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน" คาเอล กล่าว

"แก้วน้ำที่มีสีย้อมอาหารที่ดูเป็นสีแดง เป็นเพราะมันมีบางอย่างในนั้นที่ดูดซับความยาวคลื่นที่ไม่ใช่สีแดง เช่นเดียวกับแพลงก์ตอนพืช เพราะพวกมันเป็นถือว่าเป็นอนุภาคหนึ่งในน้ำ ที่ช่วยกระจายแสงออกไป" เขากล่าวเสริม


"โลกเสมือน"

โมดิสซึ่งเป็นเครื่องมือบนดาวเทียมอควาของนาซา ได้ทำการวัดความยาวคลื่นที่มองเห็นได้ 7 ช่วง ซึ่งเป็นสเปกตรัมสีที่สมบูรณ์กว่าการศึกษาก่อนหน้านี้ที่อิงจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์

ด้วยสิ่งนี้ คาเอลจึงสร้างแบบจำลองได้ "เราจำลองโลกเสมือนจริงที่ซึ่งเราสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้ 2 รูปแบบ คือ กรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกรณีที่มีสภาวะดังกล่าว" เขากล่าว

"เราสามารถดูได้ว่าโลกเสมือนทั้งสองนั้นแตกต่างกันอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป และสิ่งที่เราเห็นมันก็คล้ายคลึงกับสิ่งที่เราเห็นในมหาสมุทรจริง" เขากล่าวเสริม

การทดลองนี้เองที่ค้นพบว่าสีใน 56% ของมหาสมุทรโลกกำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณมหาสมุทรเขตร้อนใกล้กับเส้นศูนย์สูตรได้กลายเป็นสีเขียวอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากคลอโรฟิลล์ที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณของแพลงก์ตอนที่เพิ่มขึ้น

"เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในแอ่งมหาสมุทรที่สำคัญทั้งหมด มันไม่ได้จำกัดอยู่ที่มหาสมุทรแปซิฟิค แอตแลนติค หรือมหาสมุทรอินเดียเท่านั้น มันคือการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก จากที่เราเห็น" คาเอลกล่าว

งานศึกษานี้ช่วยยืนยันทฤษฎีของสเตฟานี ดุตคีวิคซ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านมหาสมุทรจาก MIT และศูนย์วิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงโลก

ในปี 2019 ดุตคีวิคซ์ ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อทำนายการเปลี่ยนแปลงสีของมหาสมุทรในอนาคต อย่างไรก็ตาม มันยากที่จะระบุได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือรูปแบบมหาสมุทรปกติอย่างที่สังเกตได้ในช่วงเอลนีโญและลานีญา

"ความแปรปรวนตามธรรมชาตินั้นมีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นไม่ว่าสิ่งนี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจริง จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะบอก" ดุตคีวิคซ์ บอก

การศึกษาของคาเอลซึ่งเพิ่มข้อมูลทางดาวเทียมเข้าไปได้ขยายขอบเขตเหนือจากคลอโรฟิลล์ออกไปอีก เพราะมันดูความยาวคลื่นแสงที่แตกต่างกันทั้งสีแดงและน้ำเงิน เนื่องจากแสงสะท้อนจากอนุภาคและตะกอนต่าง ๆ โดยดุตคีวิคซ์ ผู้ที่ทำงานศึกษาร่วมกับคาเอลด้วย บอกว่า งานศึกษาชิ้นล่าสุดนี้ยืนยันการคาดการณ์ทางสถิติของเธอ

"การวัดผ่านดาวเทียมในโลกแห่งความเป็นจริง สอดคล้องกับสิ่งที่เราเห็นในแบบจำลอง" เธอกล่าว "ดังนั้นจากการอนุมาน การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นในโลกแห่งความเป็นจริงจึงมีความเป็นไปได้มากว่ามันเป็นผลอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์"

ผลกระทบที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลต่อมหาสมุทรนั้นมีแนวโน้มที่รุนแรง นักวิจัยบางคนคาดการณ์ว่าแพลงก์ตอนพืชจะเคลื่อนตัวไปทางตอนเหนือด้วยความเร็วประมาณ 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในแต่ละช่วงทศวรรษ เนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่เริ่มอุ่นขึ้น

สิ่งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการกระจายตัวของแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดเล็กที่กินแพลงก์ตอนพืชเช่นกัน โดยคาดว่าความอุดมสมบูรณ์ของสายพันธุ์จะลดลงในเขตร้อนและเพิ่มขึ้นอย่างมากในเขตอบอุ่น รวมถึงน่านน้ำในขั้วโลกใต้ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบทางห่วงโซ่อาหารที่เชื่อมต่อกันรวมถึงปลาที่ต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตเหล่านี้

อ่าวสีมรกตและทะเลเปิดโล่งสีน้ำเงินเข้มไม่ได้เปลี่ยนสีภายในข้ามคืน แต่การเปลี่ยนแปลงเผยให้เห็นแนวโน้มที่อาจเพิ่มมากขึ้นได้ หากอุณหภูมิอุ่นมากขึ้น

"มันไม่ใช่แค่สีที่เราสนใจจริง ๆ" คาเอล บอก "สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนสีกำลังสะท้อนถึงระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป"


https://www.bbc.com/thai/articles/cprrzplqyp3o

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 03:26


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger