#11
|
||||
|
||||
เอิ้กกกก....ตัวเลขที่ได้มาของเรือที่ควรมี ได้มาอย่างนี้เองหรือคะ เมื่อวานอ่านแล้วก็ยังงงๆอยู่ว่าท่านได้แต่ใดมา ดูเหมือนเป้าหมายในการดูแลควบคุมการประมงในบ้านเรานั้น จะเน้นหนักเรื่องปริมาณการจับสัตว์น้ำ ที่จะได้ในแต่ละปีของเรือประมง ว่าจะได้มากน้อยเท่าไร กับเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ หรือให้ชาวบ้านซื้อไปเลี้ยงเพื่อจำหน่ายและเก็บกิน รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ส่วนการดูแลสัตว์น้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาตินั้น ก็จะมีให้เห็นเพียงมาตรการห้ามจับสัตว์น้ำในระหว่างฤดูผสมพันธุ์ และการห้ามจับสัตว์น้ำคุ้มครองตามประกาศ หรือตามพระราชบัญญัติที่ออกมา ส่วนเรื่องการดูแลแหล่งแพร่พันธุ์ และ ที่อยู่อาศัยหลบภัยของสัตว์น้ำทั้งหลายนั้น ดูเหมือนจะไม่ได้รับการดูแลใส่ใจนัก จะเห็นได้จากการปล่อยปละละเลยให้ทำการประมงที่ทำลายแนวปะการังและพื้นผิวใต้ท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ และที่อยู่อาศัยหลบภัยของสัตว์น้ำที่วิเศษสุด ซึ่่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่กลับไม่ได้รับการดูแลและป้องกันเท่าที่ควรจะเป็น ถึงจะมีการทำปะการังเทียมมากแค่ไหน โอกาสที่จะถูกอวนลากทำลายให้เสียหายก็ยังมีอยู่ ทั้งในลักษณะถูกลากจนกระจัดกระจายเสียหาย และถูกอวนคลุม จนสัตว์น้ำเข้าไปอาศัยหลบภัยไม่ได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมปริมาณสัตว์น้ำในทะเลลดปริมาณลงไปเรื่อยๆ เหตุสำคัญก็เป็นเพราะแหล่งแพร่พันธุ์ และที่อยู่อาศัยหลบภัยของสัตว์น้ำทั้งหลายนั้น หดหายถูกทำลายไปมาก ถึงจะมีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แล้วปล่อยลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือห้ามล่าสัตว์น้ำในฤดูผสมพันธุ์ ก็ไม่ได้ช่วยให้ปริมาณสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นได้มากพอจะทดแทนจำนวนสัตว์น้ำในธรรมชาติ ที่ถูกการทำประมงล้างผลาญ ทำลายซ้ำๆซากๆอยู่ชั่วนาตาปี จนยากที่จะฟื้นฟูให้คืนดีดังเดิมได้... ถึงเวลาหรือยังคะ...ที่ผู้รับผิดชอบเรื่องการประมงของไทย จะเปลี่ยนแนวความคิด นโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ รวมทั้งเป้าหมาย เสียใหม่ ให้มุ่งเน้นเรื่องการทำประมงแบบยั่งยืน ด้วยการเลิกการอนุญาตให้ทำประมงแบบล้างผลาญ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้....แล้วหันมาช่วยฟื้นฟูอนุรักษ์ถิ่นแพร่พันธุ์ ที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำอย่างจริงๆจังๆเสียที ก่อนที่จะไม่เหลืออะไรในทะเล ไว้ให้ลูกหลานของไทยได้เห็นและได้ชื่นชมในอนาคต....
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 29-04-2014 เมื่อ 03:06 |
#12
|
||||
|
||||
ชอบมาก และเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของพี่น้อยครับ ..
นึกถึงสมัยเด็กๆที่เรียนในชั้นเรียนว่า ห้ามจับสัตว์ในฤดูวางไข่ ผมก็รู้และจำอยู่แค่นั้น แต่ไม่ได้คิดต่อเลยครับว่า จริงๆแล้ว การรักษาแหล่งเเพร่พันธุ์และที่หลบภัยของสัตว์น้ำนั้น เป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยรักษาทรัพยากรและทะเลของเราให้ยั่งยืนด้วย วีดีโอคลิปที่โพสไว้ด้านบนน่าสนใจมากๆเลยนะครับ นำเสนอด้วยวิธีการที่เรียบง่ายและน่าจะช่วยสื่อกับสาธารณชนให้เข้าใจในประเด็นได้เป็นอย่างดี น่าจะมีการผลิตสื่อแบบนี้ออกมาและเผยแพร่กันให้มากๆด้วยนะครับ ..
__________________
If we see the hearts of others, peace will follow You may say I'm a dreamer .. but I'm not the only one: John Lennon |
#13
|
||||
|
||||
นิรโทษกรรมเรือประมงอวนลาก เมื่อคืนเขียนแบบไม่มีเวลา เลยนำมาเรียบเรียงใหม่ อ้างถึงรายละเอียดตามที่ปรากฏในลิงค์ข้างล่าง ผมเรียบเรียง สรุป และให้ความคิดเห็น ลองอ่านกันนะครับ ความเป็นมา สหภาพยุโรปหรืออียูได้ออกกฎระเบียบว่าด้วย “การป้องกัน ต่อต้านและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ระเบียบ IUU” (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) เมื่อปลายกันยายน 2551 โดยมีผลบังคับตั้งแต่มกราคม 2553 มาตรการที่ทางอียูนำมาใช้ก็คือ จะไม่รับซื้อสินค้าประมงที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบนี้ เขาให้เวลาในการปรับตัว 15 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้น กรมประมงซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการประมงเรืออวนลากที่เกรงว่าจะขายสินค้าไม่ได้ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวตามคำชี้แจงของรองอธิบดี และนักวิชาการประมงทรงคุณวุฒิ ดังต่อไปนี้ ในปี 2546 เคยมีการศึกษาวิจัยโดยองค์กรด้านอาหารและการเกษตร สหประชาชาติ ร่วมกับกรมประมงพบว่า จำนวนเรืออวนลากของประเทศไทยเกินศักยภาพที่ทรัพยากรจะรองรับได้ไป 33% โดยที่ขณะนั้นมีเรือ 7,968 ลำ (อ่าวไทย 6,793 ลำ ทะเลอันดามัน 1,175 ลำ) จึงต้องลดจำนวนในอ่าวไทยให้เหลือ 4,551 ลำ เมื่อรวมกับในทะเลอันดามันแล้ว ประเทศไทยควรจะมีเรืออวนลาก 5,693 ลำ แต่จากข้อมูลในปี 2552 พบว่าประเทศไทยเรามีเรืออวนลากที่ได้รับอาชญาบัตรไปแล้ว 3,619 ลำ จึงสามารถให้อาชญาบัตรได้อีก 2,074 ลำ ... ความคิดเห็นของผม การอ้างถึงงานวิจัยที่ประเมินศักยภาพของทะเลไทยในการรองรับเรืออวนลาก เป็นงานที่ผมเกิดมาเพิ่งเคยได้ยิน เท่าที่เคยร่ำเรียนมาคือ ปลา 297 กิโลกรัมในพ.ศ.2504 เหลือแค่ 13 กิโลกรัมในพ.ศ.2540+ ผมรู้เพียงว่า ถ้าการลากอวนเป็นการประมงที่เหมาะสม เหตุใดปลาฉนากจึงสูญพันธุ์จากทะเลไทย ทำให้ปลาฉนากกลายเป็นปลาที่ติดอยู่ใน Red List ของไทยในฐานะสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด ทั้งที่แต่ก่อนปลาฉนากมีอยู่ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ผมยังเคยเห็นตัวใหญ่ยาว 2-3 เมตรเมื่อ 30-40 ปีก่อน ปัจจุบันใครเคยเห็นปลาฉนากบ้าง หรือพวกปลาโรนิน โรนัน ฯลฯ เคยเห็นบ้างไหม หากยืนยันจะใช้ตัวเลขนั้นจริง กรุณาหาแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน และเผยแพร่บทความนั้นให้เป็นที่ประจักษ์ทั่วไป ผมจะได้ขอเปลี่ยนข้อมูลที่ใช้สอนนิสิต ไม่ต้องไปสอนว่าปริมาณสัตว์น้ำที่อวนลากจับได้ลดลงขนาดไหน แต่ไปสอนว่าเราควรลากอวนในทะเลไทยมากแค่ไหน ..... กรมประมงย้ำว่า การออกใบอนุญาตครั้งนี้จะตามมาด้วยการออกมาตรการควบคุม เช่น ไม่ให้เข้ามาลากในเขต 3 พันเมตรจากชายฝั่ง ความคิดเห็นของผม มาตรการที่จะออกติดตามมาเมื่อมีการนิรโทษกรรมเรืออวนลาก คือการกวดขันมากขึ้น แต่ด้วยวิธีใด งบประมาณใด และเหตุใดเราต้องรอให้ออกมาตรการถึงค่อยกวดขัน เพราะเป็นกฏหมายอยู่แล้วไม่ใช่เหรอที่อวนลากห้ามทำในพื้นที่นั้น และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานมิใช่หรือที่ต้องพยายามทำให้คนปฏิบัติตามกฏหมาย ทำไมต้องออกมาตรการก่อนแล้วค่อยทำ ??? .... กรมประมงอ้างว่า เจ้าหน้าที่มีน้อย ดูแลเรืออวนลากที่เกเรได้ไม่ทั่วถึง ความคิดเห็นของผม ผมไม่ใช่นักวิชาการอิสระ ผมเป็นข้าราชการ ทำงานระดับดูแลภาควิชาเล็กๆให้อยู่รอด ผมเข้าใจความลำบากของหน่วยงาน ผมเข้าใจในการติดขัดเรื่องงบประมาณและบุคลากร เพราะผมเองก็เจอเช่นกัน และอาจมากกว่าด้วยซ้ำ งบประมาณที่ผมใช้สอนนิสิตเกือบ 400 คนในภาควิชาในแต่ละปี บางทีน้อยกว่าค่ารับรองผู้ใหญ่ในหนึ่งทริปด้วยซ้ำ แต่ผมขอร้องว่า เรามาดูความจริงเถอะครับ นำภาพลวงตาออกไป เอาความจริงมาไว้ตรงหน้า เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ทำให้แค่ปลาลดน้อยลง ฟองน้ำและกัลปังหาตายมากขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านเดือดร้อนมากขึ้น มันไม่ใช่แค่นั้น... มันมากกว่านั้น เพราะมันจะทำให้อาจารย์สงสัยในสิ่งที่เรากำลังจะสอนนิสิต มันทำให้เรางุนงงว่าตกลงจะสอนเรื่องหลักการและเหตุผลกันไปทำไม นิสิตจะต้องท่องตัวเลขนี้วิเคราะห์ข้อมูลนั้น ทำกันไปทำไม ??? ในเมื่อสุดท้ายทุกอย่างกลับไม่ขึ้นกับสิ่งที่เราสอน ??? เราไม่ได้กำลังจะฆ่าเพียงลูกปลา แต่เรากำลังจะฆ่าความมุ่งมั่นของอาจารย์ ความตั้งใจอยากเรียนของนิสิต มันคุ้มกันไหม หากการนิรโทษกรรมครั้งนี้สำเร็จ ผมจะนำมาเป็นกรณีศึกษา ปัจจุบันผมสอนนิสิตเทอมละ 600 เศษ (ทั้งนิสิตในคณะและในมหาวิทยาลัยในส่วนวิชาเลือกเสรี) ผมจะสอนทุกเทอม ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ว่าใคร ไม่ได้ชักจูง ไม่ได้ให้ร้ายใคร เพียงนำความจริงขึ้นมาเสนอแล้วให้เด็กลองคิดเอง ตอบคำถาม ทำรายงาน ฯลฯ ผมยังเหลือเวลาสอนอีก 15 ปี หรือ 30 เทอม จะได้สอนอย่างน้อยก็อีก 18,000 คน ทุกคนมีหน้าที่พึงกระทำ ผมเป็นอาจารย์ ผมจะทำหน้าที่ของผมครับ... จาก ................... Facebook Thon Thamrongnawasawat
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#14
|
||||
|
||||
เรือประมงถูกกฎหมาย
การผ่อนคลายมาตรการแก้ปัญหาไอยูยู ของภาครัฐ สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เรือประมงที่สามารถออกทำการประมงได้ตามมาตรการแก้ปัญหาไอยูยู ของภาครัฐ จะต้องมีเอกสารครบทั้ง 15 รายการ มีอะไรบ้าง ติดตามกับคุณพีระวัฒน์ อัฐนาค ชมคลิป http://www.thairath.co.th/clip/23790
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#15
|
||||
|
||||
greennewstv
"ประยุทธ์"ใช้ ม.44 เบรกจดทะเบียนเรือประมงทุกชนิด-เครื่องมือประมง 6 ชนิด แก้ปัญหาไอยูยู ฝ่าฝืนโทษคุก 5 ปีปรับ 5 แสน ภาพประกอบจาก Ody News หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 สั่งเบรคจดทะเบียนเรือประมง-ประกาศห้ามเครื่องมือ 6 ชนิด แก้ปัญหาไอ.ยู.ยู. ฝ่าฝืนมีโทษปรับ-จำคุก-ยึดเรือ ภายหลังจากเหตุการณ์ที่ประเทศไทยได้ใบเหลืองจากคณะกรรมาธิการยุโรป (EU) อันเป็นการแจ้งเตือนต่อรัฐบาลไทยที่ปล่อยปะละเลยการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยให้เวลา 6 เดือนในการแก้ไขปัญหาก่อนที่ทาง EU จะเข้ามาตรวจสอบและประเมินผลอีกครั้งในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ ล่าสุดวันนี้ (6 ส.ค.) ได้มีการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการแก้ปัญหา IUU Fishing ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา โดยเนื้อหาระบุว่าภายหลังจากการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้พบข้อมูลว่าจำนวนสัตว์น้ำไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากขาดมาตรการจัดการแล้วจะทำให้เกิดภาวะวิกฤติได้ จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยมีคำสั่งให้งดการจดทะเบียนเรือประมงทุกชนิดจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงห้ามการใช้เครื่องมือประมง 6 ชนิดอันได้แก่ อวนรุน, โพงพาง, อวนล้อม, ไอ้โง่, อวนลาก และอื่นๆที่ศูนย์ฯกำหนด ซึ่งหากพบเห็นเรือที่ผิดเจ้าหน้าที่สามารถยึดรวมไปถึงทำลายเครื่องมือได้ โดยมีโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนขั้นสูงสุดอยู่ที่จำคุก 5 ปีหรือปรับ 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ภาพประกอบจาก Ody News โดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติม ซึ่งได้ลงคำสั่ง ณ วันที่ 5 ส.ค. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เนื้อหาดังนี้ ตามที่หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช.ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 เพื่อจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายขึ้น โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการบัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายในภาพรวม ตลอดจนเสนอแนะในการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงที่ผิดกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากลนั้น บัดนี้ได้รับรายงานจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายว่า ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำการประมงที่เกินศักย์การผลิตตามธรรมชาติที่จะทดแทนได้ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้อยู่ต่อไปโดยไม่มีมาตรการในการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดีพอ จะทำให้กิจการประมงของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นเพื่อให้จำนวนเรือไทยสำหรับการประมงอยู่ในภาวะสมดุลกับทรัพยากรสัตว์น้ำ และมิให้มีการใช้เครื่องมือทำการประมงที่เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช.จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย งดการจดทะเบียนเรือไทยสำหรับการประมง หรือเรืออื่นตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนดที่จะขอจดทะเบียนเรือใหม่ทุกประเภทและทุกขนาด หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือจากเรือประเภทอื่นมาเป็นเรือประมง ทั้งนี้จนกว่าจะมีการกำหนดให้มีการจดทะเบียนเรือไทยสำหรับการประมงหรือเรืออื่นเพิ่มเติมได้ตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนด ข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมง ดังต่อไปนี้ (1) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์ เว้นแต่การใช้เครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมงและเงื่อนไขที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนด (2) เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน (3) เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน (4) เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ (5) เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่า 5 เซนติเมตร (6) เครื่องมือทำการประมงอื่นตามรูปแบบของเครื่องมือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมงขนาดของเรือที่ใช้ประกอบการทำการประมง และเงื่อนไขอื่นที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนด ข้อ 3 เครื่องมือทำการประมง เรือที่ใช้ทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่นๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด โดยฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศที่ออกตามคำสั่งนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการยึดและให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง เรือที่ใช้ทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่นๆ ที่ตกเป็นของแผ่นดินตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินนั้นมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ถูกยึด ข้อ 4 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งฉบับนี้ หรือประกาศที่ออกตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อ 5 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศที่ออกตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งฉบับนี้ด้วย ข้อ 6 เพื่อประโยชน์ในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 และคำสั่งนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อ 7 ประกาศของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายที่ออกตามคำสั่งนี้ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป http://www.greennewstv.com/%E0%B8%9B...8%B0%E0%B9%80/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#16
|
||||
|
||||
GREENPEACE
ประมงแบบไหนคือวายร้าย"ทำลายท้องทะเล" รู้ไหมว่าก่อนที่ปลาจะเดินทางมาถึงจานอาหารคุณอาจมีส่วน"ทำลายท้องทะเล"จากวิธีการจับปลาแบบทำลายล้างได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่เราควรถามไถ่ถึงแหล่งที่มาของปลาที่คุณกิน เพราะเราอาจกำลังส่งเสริมให้เกิดวิกฤตในท้องทะเลโดยไม่รู้ตัว ทะเลไทยตลอดพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีความหลากหลายของสัตว์ทะเลสูงมากเมื่อเทียบกับน่านน้ำบริเวณอื่นของโลก แต่ขณะนี้ทะเลไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตและปลาของเรากำลังลดน้อยลงไปทุกที การประมงเกินขนาด การประมงผิดกฎหมาย และการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างนั้นเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ อาทิ จำนวนปลาที่น้อยลงจนใกล้หมดไป ปัญหาแรงงานทาส รวมถึงทำลายระบบนิเวศทางทะเลที่สวยงามของเรา เมื่อปี พ.ศ. 2504 เรืออวนลากสามารถจับสัตว์น้ำในอ่าวไทยได้ชั่วโมงละ 298 กิโลกรัม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2555 ลดลงเหลือชั่วโมงละ 18.2 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งปริมาณปลาที่จับได้ยังเป็นลูกปลาที่ยังโตไม่เต็มวัยถึงร้อยละ 34.47 ทั้งนี้ การที่ปัจจุบันมีปริมาณการจับปลาสูง นั้น ไม่ใช่เพราะปลาในทะเลไทยมีจำนวนมากขึ้น แต่เป็นเพราะใช้วิธีการประมงแบบทำลายล้างที่มุ่งกวาดล้างสัตว์ทุกชนิด ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มสัตว์น้ำเป้าหมาย และส่วนใหญ่ของผลพวงมาจากการประมงแบบทำลายล้างนั้นล้วนเป็นลูกปลาที่ยังโตไม่เต็มวัย ไม่เหมาะกับการนำมาบริโภค จึงถูกนำไปทำอาหารสัตว์เท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศและความยั่งยืนอย่างรุนแรง ปัญหาเหล่านี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบ แต่ผู้บริโภคอย่างพวกเรานี่แหละ คือตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของท้องทะเล เพียงแค่ ปฏิเสธการซื้อและรับประทานอาหารทะเลที่มีที่มาจากการประมงที่เป็นปัญหาเหล่านี้ แล้วหันมาสนับสนุนอาหารทะเลที่มาจากการประมงที่รับผิดชอบ อวนลาก ตัวการทำลายระบบนิเวศทางทะเลมากที่สุด โดยเครื่องมือประมงจะมีลักษณะคล้ายถุง โดยจะใช้เรือลากอวนให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ลากตั้งแต่พื้นทะเลไปจนถึงผิวน้ำ ซึ่ง 2 ใน 3 ของสัตว์น้ำที่จับมาได้ไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย ยังไม่โตเต็มวัย และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ระบบนิเวศหน้าดินเสียหายเหมือนกับถูกรถไถกวาดหน้าดิน บ้างก็ใช้เรือลากคู่ เรียกว่าเรืออวนลากคู่ อวนรุน คล้ายกับอวนลาก แตกต่างกันที่อวนรุนจะดันหน้าดินขณะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า โดยใช้อวนประกบกับคันรุน เนื่องจากไม่สามารถทำการประมงในระดับน้ำลึกกว่า 15 เมตรได้จึงมักพบในน้ำตื้น ทำลายหน้าดินใกล้บริเวณชายฝั่งทะเล นิยมใช้เพื่อจับกุ้ง เคย ปลากะตัก หมึก แต่เนื่องจากปากอวนที่เปิดสูง จึงทำให้จับสัตว์น้ำที่ไม่ใช้เป้าหมายมาด้วย เครื่องมือจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อในเวลากลางคืน เรือจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อปลาในเวลากลางคืน โดยใช้ร่วมกับอวนที่มีขนาดตาถี่ทำให้ปลาเศรษฐกิจชนิดอื่นซึ่งไม่ใช่ปลาเป้าหมายและโดยส่วนใหญ่สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับติดขึ้นไปด้วย เรือปั่นไฟปลากะตักแบ่งได้เป็น 3 ชนิดคือ เรือจับปลากะตักปั่นไฟแบบใช้อวนล้อม เรือจับปลากะตักปั่นไฟแบบอวนช้อน (หรืออวนยก) และเรือจับปลากะตักปั่นไฟแบบใช้อวนครอบ (หรืออวนมุ้ง) เครื่องมือคราดหอยลาย ตัวร้ายที่สร้างบาดแผลให้กับชาวประมงพื้นบ้านมากที่สุด เกิดปัญหาความขัดแย้งบ่อยครั้ง เครื่องมือนี้ทำให้หน้าดินเสียหาย น้ำทะเลเน่าเสีย เนื่องจากทำให้ดินตะกอนมีการฟุ้งกระจายเป็นพื้นที่กว้างมาก เมื่อมีการทำประมงคราดหอยซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะทำให้ดินตะกอนบริเวณพื้นท้องน้ำเหลือเพียงตะกอนดินขนาดใหญ่ ทำให้หอยลายและสัตว์น้ำวัยอ่อนที่อาศัยอยู่ในชั้นดินตะกอนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ยังไม่สายที่จะช่วยท้องทะเล ด้วยการเลือกทานอาหารทะเลอย่างรับผิดชอบ พลังจากผู้บริโภคสามารถกำหนดทิศทางและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการสนับสนุนการประมงอย่างยั่งยืน ที่ไม่ทำร้ายทั้งสุขภาพของคุณและท้องทะเล! ..... จาก เว็บไซท์ของ Greenpeace วันที่ 10 สิงหาคม 2558
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|