เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 06-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 6 กันยายน 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังอ่อนลง

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

อนึ่ง พายุโซนร้อน "ยุนยาง" (YUN-YEUNG) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 8?9 กันยายน 2566 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 6 ? 9 ก.ย. 66 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 10 ? 11 ก.ย. 66 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคตะวันออก

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนในช่วงวันที่ 5 - 6 ก.ย. 66 มีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 11 ก.ย. 66 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กในบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 6 ก.ย. 66






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 06-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ทร. เร่งขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล ส่งเรือ อากาศยาน โปรยน้ำยากลางทะเลชลบุรี



"ทัพเรือ" เร่งขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมัน ลงสู่ท้องทะเลศรีราชา พร้อมตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันฯ หรือ ศอปน.ทร. จัดกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และอากาศยานบินสำรวจ และถ่ายภาพคราบน้ำมัน โดยนำ ฮ.ปราบเรือดำน้ำ บรรจุน้ำยาขจัดคราบ ไปโปรยจุดที่พบคราบน้ำมันรั่วไหลในทะเล

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ พร้อมด้วย พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ภาค 1 นายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า และนายณัฐพล มีฤทธิ์ ผู้แทนบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแถลงข่าว กรณีน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จากเหตุน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมัน รั่วไหลขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล หมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์

โดยเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย. เวลา 21.00 น. โดยภายหลังเกิดเหตุ ทางบริษัทฯ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์โดยได้ทำการปิดวาล์วท่อน้ำมันที่เกิดปัญหาและวางทุ่นล้อมคราบน้ำมันเพิ่มเติม เพื่อป้องกันและจำกัดการแพร่กระจายตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากล ทำให้ขณะนี้ไม่มีน้ำมันรั่วไหลเพิ่มเติมแล้ว และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามได้มีน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลจำนวนหนึ่งซึ่งอาจก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน อันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเล

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้ประสานมายังกองทัพเรือ ดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมัน หรือเรียกโดยย่อว่า ศอปน.ทร. โดย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการให้ ทัพเรือภาคที่ 1 จัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 (ศคปน.ทรภ.1)

ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาคที่ 1 กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับจังหวัดชลบุรี และบริษัทไทยออยล์ จำกัด มหาชน จัดกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์ เร่งขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จากเหตุน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมัน รั่วไหล ลงสู่ทะเลในพื้นที่อำเภอศรีราชา ขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล หมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ โดยภายหลังเกิดเหตุ ทางบริษัทฯ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ ได้ทำการปิดวาล์วท่อน้ำมันที่เกิดปัญหาและวางทุ่นล้อมคราบน้ำมันเพิ่มเติม เพื่อป้องกันและจำกัดการแพร่กระจายตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากล ทำให้ขณะนี้ไม่มีน้ำมันรั่วไหลเพิ่มเติมแล้ว และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

กองทัพเรือ โดย ทัพเรือภาคที่ 1 และ ศรชล. ภาค 1 ได้ส่งอากาศยานขึ้นบินสำรวจ และถ่ายภาพคราบน้ำมัน เพื่อนำมาวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของน้ำมันบางส่วน และคาดการณ์ว่าคราบน้ำมันจะมีการเคลื่อนตัวจากทางทิศใต้ของเกาะท้ายค้างคาว จ.ชลบุรี และมีแนวทางการเคลื่อนตัวขึ้นลงตามกระแสน้ำไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และ เริ่มมีคราบน้ำมันเข้าสู่ทางตอนใต้ของเกาะท้ายค้างคาว จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 4 กันยายน 2566 เวลา 23.00 น. /ส่วนในค่ำวันนี้ คาดว่าอาจจะมีคราบน้ำมันบางส่วน เคลื่อนที่ผ่านเกาะค้างคาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และจะมีคราบน้ำมันบางส่วน ถูกพัดเข้าสู่ชายฝั่งของเกาะค้างคาว ซึ่งทัพเรือภาคที่ 1 และ ศรชล.ภาค 1 ได้จัดส่งกำลังพลจากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ไปประจำที่เกาะท้ายค้างคาวแล้ว เพื่อเตรียมการจัดเก็บคราบน้ำมัน หากมีการขึ้นฝั่ง โดยจะดำเนินการขั้นตอนและวิธีการเดียวกับกรณีที่มีน้ำมันรั่วใน จ.ระยอง

สำหรับการปฏิบัติที่สำคัญ ในห้วงที่ผ่านมา วานนี้ (4 ก.ย.) เวลา 15.00 น. เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ (ฮ.ปด.1) พร้อม Helibucket บรรจุน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน 900 ลิตร ได้ยกตัวในเที่ยวแรก จากฝูงบินทัพเรือภาคที่ 1 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อนำไปโปรยจุดที่พบคราบน้ำมันรั่วไหลในทะเล จ.ชลบุรี พร้อมกันนี้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ได้มีการยกระดับเหตุที่เกิดขึ้นเป็น Tier 2 แล้ว ซึ่งกองทัพเรือ โดยทัพเรือภาค ที่ 1 ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและศูนย์ควบคุมการปฏิบัติ การขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน เพื่อทำหน้าที่ในการอำนวยการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขจัดคราบน้ำมัน ควบคู่ในการทำงานร่วมกับเอกชน ซึ่งกองทัพเรือ จะส่งเรือหลวงตาชัย และเรือหลวงแสมสาร ไปช่วยขจัดคราบน้ำมัน

นอกจากนั้นจะส่งเรือ ต.235 เพื่อตรวจการณ์ ร่วมกับเรือของกรมเจ้าท่า กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตำรวจน้ำ รวมถึงอากาศยาน ของกองทัพเรือ และกำลังพล จากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อีกจำนวน 100 นาย เพื่อร่วมกัน ขจัดคราบน้ำมัน

โดยล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันนี้ จากการเดินเท้าสำรวจตามแนวชายฝั่ง บริเวณเกาะสีชังและพื้นที่ใกล้เคียงของกำลังพล สอ.รฝ. ยังไม่พบคราบน้ำมัน โดยจะมีการนำข้อมูลไปประเมินสถานการณ์ในการปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายในอีก 2-3 วัน


https://www.thairath.co.th/news/local/east/2722718

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 06-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


บุกจับผู้ใหญ่บ้านแสมสาร จ.ชลบุรี คุมงานก่อสร้างรุกพื้นที่ทะเลกว่า 4 ไร่ พบนำรถใหญ่ติดสติกเกอร์ "ไร่ภูพญากรุ๊ป" เข้าทำงาน



ศูนย์ข่าว?ศรีราชา -? บุกจับผู้ใหญ่บ้าน ม.3 ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี คุมงานก่อสร้างรุกพื้นที่ทะเลเนื้อที่กว่า 4 ไร่ มีรถแบ็กโฮ และรถบรรทุกหลายคันติดสติกเกอร์ "ไร่ภูพญากรุ๊ป" เข้าขุดปรับและถมดิน คาดทำแลมป์ขึ้นลงเรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตนเอง ตำรวจเร่งขยายผลเป็นเจ้าของที่เองด้วยหรือไม่

วานนี้ (4 ก.ย.)? นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้มอบหมายให้ นายชูศักดิ์ นันทิธัญญธาดา ปลัดอาวุโส รักษาการแทนนายอำเภอสัตหีบ และนายนิเวศน์ กุศล ปลัดฝ่ายความมั่นคง นำกำลังร่วมเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กรมเจ้าท่า ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่กองอสังหาริมทรัพย์ฐานทัพเรือสัตหีบ และ อบต.แสมสาร ลงพื้นที่ตรวจสอบด้านหลังรีสอร์ตในพื้นที่ ม.1 ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีการบุกรุกพื้นที่ชายทะเลเพื่อดำเนินการก่อสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

จากการตรวจสอบพบทั้งรถแบ็กโฮ และรถบรรทุกจำนวนหลายคันติดสติกเกอร์ ?ไร่ภูพญากรุ๊ป? ที่หน้ารถที่กำลังทำการขุด ปรับ และถมดินในทะเลบนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เพื่อก่อสร้างทางเดินหน้ากว้าง 4 เมตร และเขื่อนหินกั้นพื้นที่ซ้ายขวาเป็นทางยาวลงไปในทะเล ประมาณ 135 เมตร โดยมีผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่งกำลังยืนควบคุมงาน

โดยหลังจากที่หน่วยงานที่ร่วมกันลงพื้นที่ได้สั่งการให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวยุติการทำงานในทันทีแล้ว นายณัฐพงศ์ พิทักษ์กรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน ต.แสมสาร ม.1 ในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สินทางราชการ ได้เดินทางเข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.กมล อัปการัตน์ รอง ผกก.สอบสวน สภ.สัตหีบ

เพื่อให้ดำเนินคดี นายอภิชาติ อร่ามรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน ต.แสมสาร ม.3 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างดในความผิดฐาน "บุกรุกที่สาธารณะ" ส่วนจะมีความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณด้วยหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการสอบสวนหาข้อเท็จจริง

และหากพบว่ามีความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานดังกล่าวจะดำเนินคดีตามกฎหมายเพิ่มเติมโดยไม่มีข้อยกเว้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่ทะเลแสมสารเช่นนี้จึงสามารถดำเนินการมาได้ในโดยไม่มีหน่วยงานใดในพื้นที่เข้ามาท้วงติง หรือตรวจสอบ และยังได้รับรายงานเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวในพื้นที่อีกว่า การดำเนินการในครั้งนี้น่าจะเป็นการถมพื้นที่หาดทรายและแลมป์ หรือทางขึ้นลงเรือเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตนเอง


https://mgronline.com/local/detail/9660000079868


******************************************************************************************************


แห่ชื่นชม! ชาวเกาะมุกด์ร่วมใจกันช่วยชีวิต "ไอ้ลาย" พะยูนเพศผู้เกยตื้น คืนสู่ทะเลปลอดภัย



ตรัง - ชื่นชมชาวบ้านเกาะมุกด์ อ.กันตัง จ.ตรัง ที่ร่วมใจกันช่วยชีวิต "ไอ้ลาย" พะยูนเพศผู้ ที่หนักถึง 300 กก. ขณะกำลังเกยตื้นอยู่ที่ชายหาดของหมู่บ้าน จนสามารถนำกลับคืนสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัย

ชาวบ้านเกาะมุกด์ หมู่ 2 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ได้ถ่ายคลิปวิดีโอพะยูน สัตว์อนุรักษ์คู่จังหวัดตรัง แบบตัวเป็นๆ อย่างชัดเจน และสุดน่ารัก ความยาวประมาณ 5 นาที ขณะที่ชาวบ้านเกาะมุกด์ประมาณ 10 คน พยายามเร่งหาวิธีช่วยชีวิต "ไอ้ลาย" พะยูนเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 300 กก. ยาวประมาณ 3 เมตร ที่กำลังนอนเกยตื้นอยู่ที่ชายหาดของหมู่บ้าน

ทั้งนี้ เนื่องจากพะยูนเพศผู้ตัวนี้มีรอยแผลเป็นลักษณะขีดข่วนจากการต่อสู้กับตัวอื่นมาที่บริเวณแผ่นหลัง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า "ไอ้ลาย" และเป็นพะยูนตัวที่อาศัยหากินหญ้าทะเลอยูในบริเวณทะเลหน้าเกาะมุกด์ รวมทั้งที่สะพานเป็นถิ่นประจำ ซึ่งมีหญ้าทะเลอาหารของพะยูนอุดมสมบูรณ์ ทำให้นักท่องเที่ยวพบเห็นได้ทุกวัน คุ้นเคยกับคนและเรือ จนเป็นที่รักและหวงแหนของชาวบ้าน ร่วมกันดูแลสอดส่อง

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่คลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง โดยเชื่อว่าเมื่อน้ำทะเลขึ้นสูง ไอ้ลาย หากินหญ้าทะเลไปเรื่อยๆ แต่พอน้ำทะเลลดลง พะยูนเพศผู้ตัวนี้กลับกินหญ้าจนเพลิน ลงกลับตามน้ำทะเลไม่ทัน เป็นผลทำให้เกยตื้น โชคดีที่ชาวบ้านในหมู่บ้านเกาะมุกด์ไปพบเห็น จึงได้พยายามช่วยกันนำไอ้ลายลงกลับคืนสู่ทะเลอย่างทุลักทุเลด้วยความปลอดภัย

ทั้งนี้ ผู้คนที่เห็นคลิปดังกล่าวซึ่งมีการแชร์กันบนโลกออนไลน์ ต่างชื่นชมชาวบ้านเกาะมุกด์ ที่รู้วิธีการช่วยเหลือพะยูนเกยตื้น ด้วยการไม่ลาก ไม่ยกหาง ไม่ดึงครีบ แต่พยายามหาอุปกรณ์มาช่วย คือการนำอุปกรณ์ หรือวัสดุมารองตัวของพะยูน ซึ่งคือสแลนกันแดด และใช้วิธีตักน้ำราดรดตัวพะยูนตลอดเวลาเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น

จากนั้นพยายามให้ไอ้ลาย เข้าไปอยู่ในสแลนดังกล่าว โดยที่พะยูนเพศผู้ตัวนี้ไม่ดิ้นรนมากนัก เพราะคงรับรู้ว่าชาวบ้านกำลังช่วยชีวิต และปกติคุ้นชินกับคนอยู่แล้ว จนสามารถหามนำไอ้ลายไปปล่อยลงทะเลได้อย่างปลอดภัย ซึ่งวิธีการช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นนั้น เป็นวิธีที่ชาวบ้านที่อยู่กับทะเล และอยู่กับพะยูน ได้เรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นในท้องทะเลตรังบ่อยครั้ง ทำให้ทุกคนที่เห็นคลิปดังกล่าวเข้าไปแสดงความชื่นชมชาวบ้านเกาะมุกด์เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับบ้านเกาะมุกด์ นอกจากไอ้ลายแล้ว ขณะนี้ยังมีพะยูนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นประจำเพิ่มขึ้น รวมแล้วประมาณ 4-5 ตัว ทำให้ชาวบ้านต้องช่วยกันดูแล และสอดส่องพะยูน เพราะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวเกาะมุกด์มากยิ่งขึ้นด้วย โดยชาวบ้านต่างช่วยกันดูแลรักษาความปลอดภัย ทั้งการรักษาหญ้าทะเล อาหารของพะยูน การไม่วางอวนจับสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งที่พะยูนหากิน

นอกจากนั้น ยังมีการงดการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายกับพะยูน การระมัดระวังในการเดินเรือ การวางทุ่นกำหนดเขตเดินเรือ รวมทั้งการเก็บขยะ การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลให้มากขึ้น รวมทั้งช่วยกันตรวจตราเรือประมงไม่ให้เข้าไปหากินใกล้แหล่งพะยูน จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปเที่ยวเกาะมุกด์ เพื่อไปดูพะยูน สร้างรายได้เข้าพื้นที่เป็นจำนวนมาก


https://mgronline.com/south/detail/9660000079998


******************************************************************************************************


กรมอนามัยเฝ้าระวังผลกระทบน้ำมันรั่ว ขอชาวประมงงดจับสัตว์น้ำรอบจุดเกิดเหตุ

กรมอนามัยส่งทีมเฝ้าระวังน้ำมันดิบทุ่นเทียบเรือรั่ว ยังไม่พบคราบที่ชายฝั่ง รอผลตรวจคุณภาพน้ำทะเล เฝ้าระวังโลหะหนักปนเปื้อนในตลาดอาหารทะเล ย้ำชาวประมงเลี่ยงจับสัตว์น้ำบริเวณเกิดเหตุ นักท่องเที่ยวเลี่ยงลงน้ำพื้นที่ตรวจพบคราบน้ำมัน



เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีน้ำมันดิบจากทุ่นเทียบเรือ รั่วไหลลงทะเล เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า ได้มอบหมายให้กองอนามัยฉุกเฉินติดตามสถานการณ์ พร้อมให้ทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชลบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ เฝ้าระวังการปนเปื้อนสารโลหะหนักจากน้ำมัน เช่น สถานที่จำหน่ายอาหาร ตลาดสด-อาหารทะเล บริเวณใกล้เคียง เพื่อลดความเสี่ยง ควบคุม กำกับ จัดการด้านสุขาภิบาลอาหารสุขลักษณะของผู้ประกอบการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข และเร่งสื่อสารประชาชนในการเลือกซื้ออาหารและวัตถุดิบทางทะเลอย่างปลอดภัย

นพ.สุทัศน์ ไชยยศ ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี กล่าวว่า ช่วงเช้าวันที่ 5 ก.ย. ได้รับแจ้งข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการในการขจัดมลพิษทางน้ำของทัพเรือภาคที่ 1 ตรวจไม่พบคราบน้ำมันในทะเลและบริเวณชายฝั่ง ทั้งนี้ ต้องรอผลการตรวจคุณภาพน้ำทะเลจากห้องปฏิบัติการของกรมควบคุมมลพิษว่า พบการปนเปื้อนหรือไม่ เพื่อประเมินสถานการณ์ที่อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารโลหะหนักจากน้ำมันดิบในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมง ดังนั้น ระยะนี้ขอให้ชาวประมงควรหลีกเลี่ยงการจับสัตว์น้ำในบริเวณที่ตรวจพบคราบน้ำมัน เพราะสัมผัสสารพิษเข้าสู่ร่างกายในขณะทำงาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลันได้ เช่น หายใจลำบาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะผู้มีอาการภูมิแพ้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น หากสัมผัสทางดวงตาและผิวหนังโดยตรง อาจระคายเคือง หรือกระทบเรื้อรังและระยะยาว หากมีความจำเป็นควรสวมถุงมือจับสัตว์ทะเลที่สงสัยว่ามีการปนเปื้อนคราบน้ำมัน

"สำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำในพื้นที่ตรวจพบว่ามีคราบน้ำมันปนเปื้อน เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจากการสัมผัสสารพิษโลหะหนัก ควรสังเกตลักษณะของอาหารทะเล หากพบความผิดปกติมีการปนเปื้อนคราบน้ำมัน ควรหลีกเลี่ยงการซื้อมารับประทาน และติดตามข้อมูลสถานการณ์การจัดการคราบน้ำมันและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวในการรับประทานอาหารที่ปลอดภัย จากร้านอาหารหรือสารประกอบการที่ได้มาตรฐาน" นพ.สุทัศน์ กล่าว


https://mgronline.com/qol/detail/9660000080167

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 06-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก .............. โดย เสาวณี จันทะพงษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)



ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว หลายประเทศทั่วโลกประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงทั้งไฟป่า พายุฝน น้ำท่วม
เช่น ในสหรัฐฯ เกิดไฟป่าบนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย ในแคนาดาเผชิญกับไฟป่าที่เลวร้ายที่สุด ในสเปนและกรีซเกิดไฟป่ารุนแรงต่อเนื่อง ขณะที่เอเชียเผชิญกับฝนตกหนักในฤดูมรสุม เช่น น้ำท่วมหนักครั้งประวัติศาสตร์ที่เกาะคิวชู ญี่ปุ่น และน้ำท่วมปักกิ่งหนักสุดใน 140 ปี

บทความนี้จะนำเสนอสถานการณ์และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และการรับมือปัญหาดังกล่าวของประชาคมโลก


สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน?สู่โลกเดือด

หน่วยวิจัย The Copernicus Climate Change Service ของ EU ชี้ว่าอุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยรายวันทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 3-31 ก.ค. เป็น 29 วันที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

โดยวันที่ร้อนที่สุดคือ 6 ก.ค. มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง 17.08?C ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือระหว่างปี 1850 - 1900 คือสูงเกิน 1.5?C ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris agreement)

ภาวะโลกร้อนข้างต้นทำให้ Mr. Ant?nio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ แถลงเตือนว่า "ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว" และ "ยุคโลกเดือด (Era of global boiling) มาถึงแล้ว" โดยสภาพอากาศสุดขั้ว จะกลายเป็นภาวะปกติใหม่ และเรียกร้องให้แต่ละประเทศทั่วโลกลงทุนด้านการปรับตัว เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศต้องทำทันทีและยุติธรรม (Climate action and climate justice) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G20 ซึ่งรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 80 ทั่วโลก


สภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือดส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร?

ปัญหาโลกร้อน โลกเดือดส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในหลายมิติดังนี้ (UN-Thailand)

(1) อุณหภูมิสูงขึ้น เมื่อความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิพื้นผิวของโลกก็จะเพิ่มสูงด้วย ไฟป่าก็จะเกิดง่ายขึ้นและลุกลามเร็วกว่าเดิม

(2) พายุรุนแรงและเกิดถี่ขึ้น เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม

(3) ภัยแล้งสาหัสขึ้น ความแห้งแล้งจะยิ่งทำให้พายุฝุ่นและพายุทรายรุนแรงขึ้น ทะเลทรายที่ขยายตัวทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง

(4) น้ำทะเลร้อนและสูงขึ้น มหาสมุทรต้องดูดซับความร้อนส่วนใหญ่ ส่งผลให้น้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นภัยต่อชุมชนริมชายฝั่งและบนเกาะต่างๆ และมหาสมุทรยังต้องดูดซับก๊าซ CO2 ทำให้น้ำทะเลเป็นกรดและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล

(5) สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งบนบกและในน้ำ ขณะนี้โลกกำลังสูญเสียสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ในอัตราที่เร็วกว่าช่วงเวลาใด ๆ ในอดีต

(6) อาหารขาดแคลน สภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงสร้างความเสียหายต่อการประมง การเพาะปลูก และปศุสัตว์

(7) ปัญหาสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น เช่น โรคมาลาเรีย ส่งผลให้ผู้คนเจ็บป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก จนระบบสุขภาพไม่อาจรองรับได้ และ

(8) ความยากจนและการพลัดถิ่น เช่น อุทกภัยที่สร้างความเสียหายแก่ชุมชนแออัดในตัวเมือง บ้านเรือน ตลอดจนชีวิตของผู้คน และความร้อนยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานกลางแจ้ง


แนวโน้มการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกยังไม่มีสัญญาณของการหดตัว

ในอดีตเราได้บทเรียนจากการแก้ปัญหา "ฝนกรด" ในยุค 1970, 1980 และ 1990 ปัญหา "รูรั่วโอโซน" ในยุค 1980 และปัญหา "มลพิษจากน้ำมันผสมสารตะกั่ว" ในยุค 1920-2020 ว่า

เมื่อภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลต่าง ๆ ร่วมมือกันก็สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคามระดับโลกได้ถูกแก้ไขได้เกือบสำเร็จแล้ว แต่ในครั้งนี้ปัญหาโลกร้อน โลกเดือดนี้มีความซับซ้อนกว่าปัญหาโอโซนมาก

รายงานล่าสุดปี 2023 ของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกของ UN มีบทบาทประเมินทางวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีสมาชิก 195 ประเทศ ระบุว่า

ในช่วง 2011-2020 กิจกรรมของมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้นถึง 1.1?C เหนือช่วงปี 1850-1900 หรือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

ในด้านของผลกระทบพบว่า ประชากรโลก 3.3-3.6 พันล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น

ในช่วงปี 2010-2020 ประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงเสียชีวิตจากภัยพิบัติน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุสูงเป็น 15 เท่า เมื่อเทียบกับภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่ำ

ข้อมูลการวิเคราะห์โดยคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติภายใต้ Global Carbon Project ชี้ว่าในปี 2022 คาดว่าการปล่อยก๊าซ CO2 ทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มสูงอยู่ที่ 41.1?3.3 billion tonnes of CO? (GtCO?) และการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มสูงขึ้นเหนือระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด 19

ในมิติของประเทศ พบว่า หกประเทศหลักที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงสุดคิดเป็น 67% ของทั้งหมด คือ จีน (31%) สหรัฐฯ (14%) EU-27 (8%) อินเดีย (7%) รัสเซีย (5%) และญี่ปุ่น (3%)

จากข้อมูลล่าสุดแนวโน้มการปล่อยก๊าซ CO2 ดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนคาดว่าคงเป็นภารกิจที่ยากยิ่งของประเทศที่กำหนด (National Determined Contributions: NDCs) ที่จะบรรลุเงื่อนไขตามความตกลงปารีสที่กำหนดว่า

"รักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้ต่ำกว่า 2 ?C และในขณะเดียวกันกำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่าจะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 ?C"

และเป็นทางแยกสำคัญอีกครั้งของการรับมือกับภารกิจกู้โลกใบนี้ ดังเช่นคำกล่าวของเลขาธิการบริหารของ UNFCCC ในการประชุม COP26 (31 Oct 2021) ที่กรุงกลาสโกว์ว่า

"เราจะเลือกที่จะบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้โดยเร็วเพื่อรักษาเป้าหมายการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5?C หรือเราจะยอมรับว่ามนุษยชาติต้องเผชิญหน้ากับอนาคตที่สิ้นหวังของโลกใบนี้"

ในท้ายนี้ หน้าต่างแห่งโอกาสในการแก้ปัญหาโลกร้อนยังเปิดอยู่บ้าง หากทุกภาคส่วนทั้งนักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ร่วมกันลงมือทำทันทีเป็นองค์รวมในบทบาทของตนเองใน 5 ข้อหลัก คือ

(1) การลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนรวมถึงเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS)

(2) การปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศอื่น ๆ เนื่องจากธรรมชาติเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ดีที่สุด

(3) การจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบการผลิตอาหาร

ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก

(4) ขยายการแยกกักกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตร และ

(5) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น ลดความต้องการบริโภคลง ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของบ้านเรือนและธุรกิจ และลดขยะ เป็นต้น

หากเราทำสำเร็จ ก็จะสามารถรักษ์โลกใบนี้ให้แก่คนรุ่นปัจจุบัน และยังเพื่อส่งต่อโลกที่ดีกว่าให้คนรุ่นต่อๆ ไปอีกด้วย

Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท. และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้อง


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1086904

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 06-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ทส.เฝ้าระวัง 5 จุดเสี่ยง "น้ำมันรั่วชลบุรี" ห่วงปะการังเกาะค้างคาว

ทส.เฝ้าระวัง 5 จุดเสี่ยงผลกระทบน้ำมันรั่วลงทะเล จ.ชลบุรี ครอบคลุมเกาะสีชัง อ่าวอุดม เกาะลอย หาดบางพระ และหาดวอนนภา นักวิจัยทช.ห่วงปะการังเกาะค้างคาว ซึ่งมีความสมบูรณ์มากสุดได้รับผลกระทบ



วันนี้ (5 ก.ย.2566) น.ส.ลลิตา ปัจฉิม นักวิจัยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำทะเลตั้งแต่บริเวณเกาะลอย เกาะสีชัง เกาะค้างคาว และเกาะท้ายตาหมื่น เน้นจุดฝั่งตะวันออกของเกาะที่ติดกับชายฝั่ง อ.ศรีราชา ซึ่งเป็นเส้นทางที่คราบน้ำมันพัดผ่าน เพื่อนำตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาสารเคมีที่อาจจะปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม


ห่วงกระทบปะการังสมบูรณ์เกาะค้างคาว

น.ส.ลลติกา บอกว่า รอบเกาะค้างคาวเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางปะการังสูงสุดของ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยปะการังของโครงการต่างๆ ด้วย เพราะแนวปะการังก่อตัวหนาแน่นประมาณ 77 ไร่ กว่า 70% เป็นปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่ จัดว่าอยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ดีมาก เช่น ปะการังโขด ปะการังลายดอกไม้ และปะการังเขากวาง จึงนำยานสำรวจใต้น้ำ (ROV) ดำน้ำสำรวจ

ส่วนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชัง หน้าชายหาด อ.บางพระ เป็นฟาร์มเลี้ยงหอยแมลงภู่กว่า 1,000 ไร่ จึงมีความกังวลว่าสารเคมีที่ทำให้น้ำมันกระ จายตัวไปในน้ำทะเลอาจจะเกิดการปนเปื้อนกับสัตว์ที่หากินบนพื้นทะเลหรือสัตว์ตระกูลหอย

นักวิจัย ทช.บอกว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ชัดเจนเรื่องผลกระทบของวิธีการขจัดคราบน้ำมันแบบนี้ แต่ก็มีความกังวลเช่นกัน ซึ่งต้องดูในระยะยาว แต่ที่ผ่านมาที่มีการรั่วไหลของน้ำมันในจังหวัดระยอง ยังไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีในตัวสัตว์ทะเล


ปลัดทส.รายงาน "พล.ต.อ.พัชรวาท"- เฝ้า 5 จุด

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ทาง ทส.ลงพื้นที่สำรวจ และสนับสนุนหน่วยงานต่างๆเก็บกู้คราบน้ำมันที่รั่วไหล พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำทะเลและตะกอนดินเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน (baseline) มาเปรียบเทียบกรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลของ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และเฝ้าระวังทั้งหมด 5 จุด คือ เกาะสีชัง อ่าวอุดม เกาะลอย (บริเวณสวนสุขภาพศรีราชา) หาดบางพระ และหาดวอนนภา

"พบคราบน้ำมันมีลักษณะเป็นฟิล์มน้ำมันบางๆ กระจายตัวกันเป็นกลุ่มบริเวณทางด้านทิศตะวันออกของเกาะสีชัง แต่ไม่พบกลุ่มน้ำมันที่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนเข้มหนา"

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้รายงานสถานการณ์ให้กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทส.รับทราบแล้ว ทั้งนี้ คาดการณ์คราบน้ำมันได้เคลื่อนตัวไปใกล้แนวเกาะล้าน แต่ขึ้นอยู่กับกระแสลมทะเลและคลื่นทะเลเป็นปัจจัยประกอบด้วย โดยให้ คพ.ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์เป็นระยะ

ส่วนการบริหารจัดการขจัดคราบน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทาง คพ.อนุญาตให้มีการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันชนิด Super Dispersant 25 จำนวน 4,500 ลิตรตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ

"ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ทะเลได้จนกว่าจะเก็บกู้คราบน้ำมันแล้วเสร็จก่อน หากเกิดความเสียหายกับสิ่งแวดล้อมจะดำเนินคดีทางกฎหมาย"


https://www.thaipbs.or.th/news/content/331323

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 06-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


ไอซ์แลนด์กลับมาอนุญาตให้ 'ล่าวาฬ' ได้เหมือนเดิม...เพิ่มเติมเงื่อนไข



จะถึงตอนอวสานกี่โมง? ไอซ์แลนด์กลับมาอนุญาตให้ล่าวาฬได้อีกครั้ง หลังระงับชั่วคราวนาน 2 เดือน เพิ่มเงื่อนไขเข้มงวดเพื่อให้วาฬไม่เผชิญความทรมานจนเกินไป

เกิดเป็นคำถามว่า เมื่อไหร่การล่าวาฬจะหมดไปจากมหาสมุทร? ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา บรรดากลุ่มคนรักวาฬต่างดีใจที่สวัสดิภาพของสัตว์ใหญ่แห่งท้องทะเลได้รับการปกป้อง จนหลายคนมองโลกในแง่ดีว่าอาจเป็นสัญญาณของการห้ามล่าวาฬตลอดไป ทว่า ท้ายที่สุดรัฐบาลไอซ์แลนด์ได้ออกประกาศให้สามารถ "ล่าวาฬ" ได้อีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขใหม่

โดยทางการไอซ์แลนด์ได้ประกาศกลับมาให้อนุญาตล่า "วาฬฟิน" ซึ่งเป็นวาฬขนาดใหญ่ในวงศ์วาฬอกร่อง (Balaenopteridae) อีกครั้ง หลังจากหยุดล่าไป 2 เดือน เนื่องจากการล่าวาฬด้วยวิธีการยิงด้วยฉมวกจะใช้เวลานานกว่าที่วาฬจะตาย โดยบางครั้งอาจใช้เวลานานหลายชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ ทำให้ทางการไอซ์แลนด์กำหนดให้มีการปรับปรุงวิธีการล่าเพื่อลดความทรมานของวาฬ

รายงานก่อนหน้าชี้ให้เห็นว่ามีวาฬเพียง 59% เท่านั้นที่ตายในทันที ขณะที่วาฬอีก 41% ต้องใช้เวลานานกว่าจะตาย บางตัวนานถึง 2 ชั่วโมงกว่าจะตายแม้จะล่าระยะใกล้ก็ตาม ดังนั้น มันจึงสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับกลุ่มสิทธิสัตว์

ทั้งนี้ องค์กรอาหาร การเกษตร และประมงของไอซ์แลนด์ ระบุว่ามีการออกกฎระเบียบ ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดโดยละเอียดและเข้มงวดยิ่งขึ้น สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ล่าและวิธีการล่า ตลอดจนมีการควบคุมดูแลที่เพิ่มขึ้น โดยชาวประมงจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการล่าด้วยฉมวกเพื่อให้แน่ใจว่าวาฬจะตายในเวลาอันรวดเร็ว

สวานดิส สวาวาร์สดอตตีร์ รัฐมนตรีกระทรวงอาหาร การเกษตร และการประมงของไอซ์แลนด์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะอนุญาตให้ล่าวาฬได้อีกครั้งว่า ฤดูกาลล่าวาฬครั้งนี้เริ่มต้นโดยมีเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ สำหรับอุปกรณ์และวิธีการล่า ตลอดจนการควบคุมดูแลที่เพิ่มขึ้น กฎระเบียบนี้จะเป็นเงื่อนไขที่ผู้ถือใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตาม จะมีมาตรการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีการควบคุมเข้มงวดมากขึ้นด้วย ทั้งหมดจะถูกเฝ้าระวังและบันทึก รวมถึงวิเคราะห์ต่อไป

สำหรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมขึ้นคือ นักล่าวาฬจะต้องล่าวาฬภายในระยะ 25 เมตรจากเรือเท่านั้น เพื่อลดโอกาสทำให้วาฬบาดเจ็บแต่ไม่ถึงตาย นอกจากนี้ จะไม่อนุญาตให้ฆ่าวาฬที่มีลูกอยู่ด้วย รวมถึงการใช้ไฟฟ้าก็ถูกห้าม ถึงอย่างนั้นวาฬก็ "ยังไม่ปลอดภัย"

ทางด้านโฆษกสาธารณะของไอซ์แลนด์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักล่าวาฬจะต้องสำเร็จหลักสูตรชีววิทยาวาฬ การรับรู้ความเจ็บปวด และความเครียด และต้องได้รับคำแนะนำโดยละเอียด เกี่ยวกับวิธีการยิงฉมวกใส่วาฬ เพื่อให้แน่ใจว่า พวกมันจะตายอย่างรวดเร็วด้วย

การประกาศเงื่อนไขข้างต้นเพื่อให้กลับมาล่าวาฬได้อีกครั้ง ทำให้สถาบันสวัสดิภาพสัตว์ (The Animal Welfare Institute) รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของรัฐบาลไอซ์แลนด์ที่อนุญาตให้การล่าวาฬเชิงพาณิชย์ ขณะที่นักรณรงค์ต่อต้านการล่าวาฬจากศูนย์อนุรักษ์วาฬและโลมาเสริมว่า "ไม่มีวิธีใดที่มีมนุษยธรรมต่อการฆ่าวาฬในทะเล พวกมันจะยังคงต้องทนทุกข์ทรมาน"

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังล่าวาฬเชิงพาณิชย์อยู่ เช่น ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ โดยไอซ์แลนด์เหลือบริษัทล่าวาฬเพียงแห่งเดียวคือ Hvalur ซึ่งมักล่าวาฬฟิน (Fin Whales) สัตว์ใหญ่อันดับสองของโลกรองจากวาฬสีน้ำเงิน และอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN (องค์การอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ) อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังอยู่บ้างว่าการล่าวาฬในไอซ์แลนด์จะจบลงตลอดกาล เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าบริษัท Hvalur จะไม่ได้รับอนุญาตต่อสัญญาการล่าวาฬจากรัฐบาลในปีหน้า แต่ตอนนี้พวกเขาสามารถฆ่าวาฬฟินได้ 209 ตัวและวาฬมิงค์อีก 217 ตัวตามโควตา


https://www.nationtv.tv/gogreen/378929173

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:34


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger