เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 10-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 10 มกราคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาว ถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 6-13 องศาเซลเซียส ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-17 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นในตอนเช้าและเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12 - 15 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียสในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงค่อนข้างมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง และมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วน กับมีหมอกในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-15 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 10 - 11 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 ? 2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงเหนือในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5 - 12 องศาเซลเซียส และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11 - 17 องศาเซลเซียส

ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 15 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียสในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4 - 11 องศาเซลเซียส และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10 - 16 องศาเซลเซียส

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ในช่วงวันที่ 9 ? 12 ม.ค. 67 หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13 ? 15 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 10 ? 11 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 12 ? 14 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่จะเกิดขึ้น ส่วนประชาชนในภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนัก สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 10-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


ชาวโซเชียลฮือฮา หนุ่มออสซี่โพสต์ภาพปลาประหลาดติดเบ็ด หน้าตาสุดสะพรึง

นักตกปลาหนุ่มจากนิวเซาท์เวลส์ โพสต์ภาพปลาขนาดใหญ่ หน้าตาน่ากลัว ที่มีคนตกได้ลงบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดข้อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันคือปลาอะไรกันแน่


เครดิตภาพ : Facebook / Trapman Australia

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา เจสัน มอยซ์ นักตกปลาหนุ่มใหญ่จากออสเตรเลีย เจ้าของเฟซบุ๊กคือ "Trapman Australia" ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความเล่าประสบการณ์ที่ได้เห็นปลาหน้าตาสุดสะพรึงตัวใหญ่ หน้าตาคล้ายปลาไหล โดยระบุว่าเป็นปลาที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งที่เขาเองมีประสบการณ์การตกปลาในเชิงพาณิชย์มากว่า 50 ปีแล้ว?

"ผมไม่เคยเห็นปลาแบบนี้มาก่อน มันไม่ใช่ปลาไหลหอกหรือปลาไหลเงิน ฟันของมันเหมือนฟันปลาหลดหิน แต่หน้าของมันดูทู่ ๆ ตัวมันยาวประมาณ 9 ฟุต" มอยซ์ โพสต์ข้อความบอกรายละเอียดของปลาบนโซเชียลมีเดียของเขา

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าใครคือผู้ที่ตกปลาตัวนี้ได้ บอกแต่ว่าบริเวณที่ตกได้คือแถวปากน้ำพิตต์วอเตอร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย?

มอยซ์ โพสต์ภาพปลาประหลาดตัวนี้หลายภาพ เทียบความยาวของมันกับลำเรือ แสดงให้เห็นสีของลำตัวของมันซึ่งเต็มไปด้วยกล้ามเนื้ออยู่ในโทนสีน้ำตาลอ่อน และฟันเรียงรายเต็มปาก?

ภาพชุดนี้เรียกผู้เข้าชมได้เป็นจำนวนมาก นอกจากมีผู้กดถูกใจและแสดงความรู้สึกอื่น ๆ มากกว่า 1,350 ครั้ง ก็มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นหลายร้อยคน โดยส่วนหนึ่งวิจารณ์ว่ามันเป็นปลาที่มีหน้าตาดุร้ายน่ากลัว "เหมือนมาจากหนังสยองขวัญ" และแนะนำให้ผู้ที่ตกมันได้ ปล่อยมันไปเสีย เพราะว่า "มันดูเหมือนปิศาจ"?

ขณะเดียวกันก็มีชาวเฟซบุ๊กอีกพวกหนึ่ง ที่พยายามหาคำตอบว่ามันคือปลาอะไรกันแน่ โดยคาดเดาถึงปลาไหลพันธุ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ ปลาไหลทะเลคองเกอร์, ปลาไหลมอเรย์ หรือปลาหลดหินหางยาว ไปจนถึงปลาไหลมอเรย์สีเขียว แต่ มอยซ์ ก็แย้งว่าลักษณะของมันไม่ตรงกับปลาไหลพันธุ์ต่าง ๆ ที่ชาวเฟซบุ๊กกล่าวถึงเลย

อย่างไรก็ตาม ท้องทะเลของออสเตรเลียได้ชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของปลาหลดหิน หรือปลาไหลมอเรย์มากกว่า 60 สายพันธุ์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แม้กระทั่งนักตกปลามากประสบการณ์จะไม่รู้จักปลาไหลครบทุกชนิด?

ตามข้อมูลของเว็บไซต์ Fishes of Australia ระบุว่า ปลาไหลส่วนใหญ่เป็นปลากินเนื้อที่หากินตอนกลางคืน มีขนาดลำตัวตั้งแต่ 8 นิ้วจนถึง 13 ฟุต ฟันของมันมีลักษณะแหลมคม คนมักจะกลัวปลาไหลมอเรย์ เพราะมันเป็นสายพันธุ์ที่มีลำตัวใหญ่และยาว มีฟันแหลมคม แต่โดยปกติแล้ว มันเป็นปลาที่ไม่มีนิสัยก้าวร้าว ยกเว้นแต่ว่าจะโดนรบกวน ก็อาจกัดเอาได้

ที่มา : miamiherald.com


https://www.dailynews.co.th/news/3068384/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 10-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


จ้างศึกษาออกแบบแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง "หาดทรายแก้ว ภูเก็ต" หลังถูกกัดเซาะเหลือแค่ 50 เมตร

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการงานจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบ พื้นที่หาดทรายแก้วภูเก็ต



เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (9 ม.ค.) ที่โรงเรียนท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการงานจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบในระบบกลุ่มหาดหลักทะเลอันดามันตอนบน (T7) พื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดทรายแก้ว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยมี นายจารุวิทย์ เสถียรรังสฤษดิ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต นายสุรัฐ พงษ์สนิท ผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายจารุวิทย์ เสถียรรังสฤษดิ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้สืบเนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท บุญปัญญา เทคโนโลยี จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการงานจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด

เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบในระบบกลุ่มหาดหลักทะเลอันดามันตอนบน (T7) พื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดทรายแก้ว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อนำพื้นที่ที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในกรณีเร่งด่วนให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาก่อน ในระบบกลุ่มหาดหลักทะเลอันดามันตอนบน (T7)

เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในลักษณะการบูรณาการเป็นระบบกลุ่มหาดพื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดทรายแก้ว ช่วงมรสุมคลื่นลมแรงได้รับความเสียหายจากแรงคลื่นจากฝั่งทะเลอันดามันกัดเซาะชายฝั่งหาดทรายแก้วเรื่อยมา จากเดิมแนวชายหาดห่างจากถนนประมาณ 300-400 เมตร ปัจจุบันคงเหลือประมาณ 50 เมตร เนื่องจากคลื่นลมแรง จนทำให้มวลน้ำทะเลถูกคลื่นซัดขึ้นมาท่วมถึงถนนจนไม่สามารถสัญจรได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต้องปิดกั้นการจราจร ส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

"สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์ และแนะนำโครงการ นำเสนอแนวทางการป้องกันชายฝั่งเบื้องต้น โดยนำเสนอข้อมูลทางเลือกการป้องกันชายฝั่งที่เหมาะสมอย่างน้อย 3 ทางเลือก เสนอรายละเอียดของแต่ละทางเลือก ข้อเด่น-ข้อด้อยของทุกทางเลือก และแนวทางการศึกษาออกแบบและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาโครงการ

นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนต่างๆ ในการสนับสนุนการศึกษาโครงการ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และตัวแทนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมการประชุม


https://mgronline.com/south/detail/9670000002205

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 10-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


'อ.ธรณ์'แจ้งข่าวดี แม้สำรวจไม่พบ'วาฬเผือก' แต่เจอญาติพี่น้อง'วาฬโอมูระ'อีก 4-6 ตัว



9 ม.ค.67 จากกรณีพบพิกัด"วาฬเผือก"ที่เกาะคอรัล จ.ภูเก็ต จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก ซึ่งต่อมาเฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า เป็นวาฬเผือกรายงานแรกของไทย และน่าจะเป็นวาฬโอมูระเผือกรายงานแรกของโลกด้วย ก่อนที่มีการนำโดรนขึ้นบินสำรวจเป็นครั้งแรกนั้น ( อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'อ.ธรณ์'เผยคลิปการสำรวจวาฬในวันแรก กับภารกิจตามหา'น้องถลาง'วาฬเผือก)

ความคืบหน้าเรื่องนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้โพสต์ข่าวดีล่าสุดว่า "ไม่มีวาฬเผือก ก็ไม่มีข้อมูลดีๆ แบบนี้ กรมทะเลสำรวจพบวาฬโอมูระอย่างน้อย 4 ตัวในพื้นที่เกาะภูเก็ต-ราชา-พีพี นับเป็นการพบวาฬโอมูระมากที่สุดในการสำรวจหนเดียวในไทย

ข้อมูลเบื้องต้นที่พอบอกได้ก่อนสำรวจคือเรารู้ว่าวาฬโอมูระในอันดามันมีน้อยมาก ที่ได้เป็นสัตว์สงวนก็เพราะเรื่องนี้แหละ

เรายังเข้าใจว่าวาฬโอมูระกลุ่มนี้อยู่แยกจากกลุ่มอื่นๆ ในอ่าวไทย น่าจะเป็นกลุ่มวาฬท้องถิ่นในอันดามัน แต่เราแทบไม่รู้อะไรมากกว่านั้นเลย แต่ตอนนี้เราเริ่มก้าวหน้าแล้วครับ น้องวาฬเผือกและกระทรวงทรัพยากรที่ลงมือเต็มที่

ข้อมูลอัตลักษณ์จะช่วยให้เราระบุวาฬแต่ละตัวได้แน่ชัด นำไปสู่การตั้งชื่อและติดตามพื้นที่อยู่อาศัย ข้อมูลพฤติกรรม เช่น ว่ายน้ำ หาอาหาร ฯลฯ ช่วยให้เราเข้าใจวาฬหายากชนิดนี้มากขึ้น มากๆ

หากทำการสำรวจครั้งใหญ่เช่นนี้เป็นระยะ เราอาจพัฒนาการศึกษาไปจนถึงขั้นอนุรักษ์วาฬได้ในระดับใกล้เคียงกับวาฬบรูด้าในอ่าวไทย จะช่วยให้เราสามารถอยู่ร่วมกับวาฬ ช่วยยกระดับการท่องเที่ยว จนอาจถึงขั้น whale watching ที่ประสบความสำเร็จในอ่าวไทยมาแล้ว สำคัญมากต่อการเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวแถบนั้น ยกระดับเป็น green tourism ของแท้

ทำให้เกิดประโยชน์มากมายต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวด้านอื่นๆ ซึ่งได้ผลแน่นอน เพราะน้องวาฬน่ารัก ไม่เชื่อดูคลิปสิครับ ว่ายฟิ้วๆ เลย เย้ !

หมายเหตุ - สังเกตสันกลางหัว บรูด้ามี 3 สัน โอมูระมี 1 สัน เห็นชัดเลยครับ

ขณะที่เฟซบุ๊กของ Kongkiat Kittiwatanawong โพสต์ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จบภารกิจ 3 วัน ตามแผนการค้นหา "น้องถลาง" วาฬโอมูระเผือก เรายังไม่พบน้องเค้า แต่ก็ได้ข้อมูลของญาติพี่น้องวาฬโอมูระอีก 4-6 ตัว ในบริเวณอ่าวพังงาตอนล่าง การสำรวจครั้งนี้ต้องขอขอบคุณการบูรณาการของทีม อส ทช และภาคประชาชน โดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือ สรรพกำลังทุกอย่างที่เรามีอยู่อย่างเต็มที่ ข้อมูลที่ได้นำไปต่อยอดความรู้ความเข้าใจอันจะนำไปสู่แนวทางการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ ผมดูภาพวิดิโอน้องถลางที่บันทึกโดยคุณก้อยซ้ำไปซ้ำมา แน่ใจว่าเราต้องมีโอกาสเจอน้องเค้าในวันนึง แจ้งการพบเห็นวาฬทั่วไทยได้ที่ ThaiWhales

ขอบคุณข้อมูล Thon Thamrongnawasawat,Kongkiat Kittiwatanawong


https://www.naewna.com/likesara/779719

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 10-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


โลกเดือด ชะตากรรมของมหาสมุทร (ตอนที่ 1) ............... Earth Calling โดย เพชร มโนปวิตร

"ถ้าคุณคิดว่ามหาสมุทรไม่สำคัญ อยากให้ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีมหาสมุทร โลกของเราคงไม่ต่างจากดาวอังคาร แห้งแล้งไร้ชีวิต เพราะไม่มีมหาสมุทรก็ไม่มีระบบค้ำจุนชีวิต"

? Sylvia Earle





ถ้าคิดว่าทะเลเป็นเรื่องไกลตัว อยากให้ทุกคนลองหลับตา แล้วสูดหายใจลึก ๆ รู้ไหมว่าครึ่งหนึ่งของออกซิเจนที่เราสูดเข้าไปมีที่มาจากท้องทะเล จากแพลงก์ตอนพืชจำนวนมหาศาลที่สร้างออกซิเจนไม่แพ้ป่าดงดิบ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ใกล้หรือไกลจากทะเลก็ตาม ทะเลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของทุกคน ตั้งแต่อากาศที่เราหายใจ น้ำสะอาดที่คุณดื่ม อาหารที่วางอยู่บนโต๊ะ เราทุกคนเชื่อมโยงกับทะเลโดยไม่รู้ตัว และความอยู่รอดของเราก็ขึ้นอยู่กับความอยู่รอดของท้องทะเลเช่นกัน

แต่บทสนทนาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตอนนี้ถูกเปลี่ยนจากภาวะโลกร้อนมาเป็นภาวะโลกเดือด กลับไม่ค่อยพูดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับมหาสมุทรเท่าไหร่ ลองมาไล่เรียงดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับมหาสมุทรที่กำลังจะเป็นทะเลเดือด

ขอเริ่มต้นด้วยความจริงที่ว่ามหาสมุทรช่วยควบคุมสภาพอากาศของโลกอย่างไร หลายคนคงไม่รู้ว่ามหาสมุทรเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sink) ที่สำคัญไม่น้อยกว่าระบบนิเวศป่าไม้เลย มหาสมุทรช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในแต่ละปีไว้ถึง 30% แต่ผลลัพธ์ก็คือตอนนี้มหาสมุทรมีความเป็นกรด (Ocean acidification) สูงขึ้นแล้วถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

มหาสมุทรยังช่วยดูดซับความร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกไว้มากถึง 93% ถ้าไม่ได้ทะเลช่วยเอาไว้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงกว่าปัจจุบันถึง 36 องศาเซลเซียส! ซึ่งเราคงจะอยู่กันไม่ได้แล้ว เมื่อกักเก็บความร้อนไว้มากขนาดนี้ก็ไม่น่าแปลกใจที่มหาสมุทรก็เริ่มอุ่นขึ้นเช่นกัน โดยมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้นแล้ว 0.88 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี ค.ศ.1900 เป็นต้นมา

การที่มหาสมุทรอุ่นขึ้นส่งผลกระทบหลายประการ

1) ทำให้พายุที่ก่อตัวในทะเลมีกำลังแรงขึ้น มีพลังงานมากขึ้น อันตรายมากขึ้น

2) ปริมาณน้ำที่ระเหยมากขึ้นทำให้เกิดฝนตกโดยรวมมากขึ้น และมักนำไปสู่อุกทกภัยรุนแรง

3) มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง

4) มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อนิเวศวิทยาทางทะเล โดยเฉพาะปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว

และ 5) เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นจะขยายตัวมากขึ้น นั่นหมายความว่าจะยิ่งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น นอกจากการละลายของน้ำแข็งจากความร้อนในอากาศ การขยายตัวของน้ำทะเลที่อุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำทะเลสูงขึ้นในปัจจุบัน (Contributing factor: การขยายตัวของน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น 42% เมื่อเทียบกับการละลายของธารน้ำแข็ง 21% และการละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ 15%)

รายงานการประเมินฉบับล่าสุดของ IPCC (Sixth Assessment Report) คาดว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างน้อย 0.5 ? 1 เมตรภายใน ปี ค.ศ.2100 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิ่งที่น่าตกใจคืออัตราการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นไปอย่างก้าวกระโดดจากที่เคยเพิ่มขึ้นปีละ 2.1 มิลลิเมตรเมื่อปี 1993 ปัจจุบันน้ำทะเลสูงขึ้นปีละ 4.5 มิลลิเมตรหรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วงเวลา 30 ปี (ภาพประกอบที่ 1) เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตอนนี้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแล้วประมาณ 20 เซนติเมตรและได้ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับพายุฝนที่มีความรุนแรง เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนต่าง ๆ รวมทั้งอัตราการละลายของมวลแผ่นน้ำแข็ง IPCC เตือนว่าเป็นไปได้เหมือนกันที่ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงถึง 2 เมตรภายในศตวรรษนี้ หรือแม้แต่เพิ่มขึ้นถึง 5 เมตรภายใน ค.ศ. 2150

อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนทำให้ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบนบกอีกแล้ว แต่ได้เกิดคลื่นความร้อนใต้น้ำอีกด้วย และที่น่ากังวลคือความถี่ในการเกิดคลื่นความร้อนในทะเลสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เท่าในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคือปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงตามไปด้วย ทำให้ปะการังจำนวนมากไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ทัน

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเราจะสูญเสียแนวปะการังราว 70 ? 90% และหากอุณหภูมิเฉลี่ยพุ่งสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสอย่างที่แนวโน้มในปัจจุบันกำลังมุ่งหน้าไปนั้น เราอาจสูญเสียแนวปะการังเกือบทั้งหมด (99%) บนโลกนี้ไปภายในปลายศตวรรษนี้ นั่นหมายถึงนิเวศบริการต่าง ๆ ที่เราเคยได้รับจากระบบนิเวศปะการังก็จะหายไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตราวหนึ่งในสี่ของมหาสมุทร ปราการใต้น้ำที่ช่วยลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ยังไม่นับรายได้มหาศาลที่เกิดจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการัง ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการังสูงถึงปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท

มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นยังส่งผลให้การแพร่กระจายของปลามีแนวโน้มขยับเข้าหาขั้วโลกทั้งสองฝั่งมากขึ้นตามรูปแบบอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและการประมงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อุณหภูมิของน้ำทะเลยังส่งผลกระทบต่อแพลงตอนพืช ผู้ทำหน้าที่ผลิตออกซิเจนราวครึ่งหนึ่งของโลก งานวิจัยพบว่าปริมาณออกซิเจนที่แพลงตอนพืชผลิตออกมากำลังลดลงอย่างต่อเนื่องในอัตรา 1% ต่อปีอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นแล้ว ลักษณะทางเคมีของน้ำทะเลก็กำลังเปลี่ยนไปอย่างน่ากังวล เมื่อมหาสมุทรดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำทะเลเกิดเป็นกรดคาร์บอนิก แม้กรดคาร์บอนิกจะเป็นเพียงกรดอ่อน ๆ แต่ก็มากพอที่ส่งผลให้มหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้นแล้ว

นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ของน้ำทะเลที่พื้นผิวมหาสมุทรลดลงไปแล้ว 0.1 หน่วย แม้จะดูเหมือนเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว 0.1 หน่วยที่ลดลง หมายความว่า น้ำทะเลทั่วโลกมีค่าความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 30

ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อมาคือความเข้มข้นไฮโดรเจนไอออนที่เพิ่มขึ้นจะไปจับตัวกับคาร์บอเนตไอออน เกิดเป็นไบคาร์บอเนตไอออน (ดูภาพประกอบที่ 3) สัตว์ทะเลที่สร้างเปลือกและโครงสร้างแข็งอาทิ หอย กุ้ง ปู หรือแม้แต่ปะการัง จำเป็นต้องใช้คาร์บอเนตไอออนจับกับแคลเซียมไอออน เพื่อสร้างเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (เปลือกและโครงสร้างแข็ง) สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่สามารถใช้ไบคาร์บอเนตไอออนได้ นั่นหมายความว่าสัตว์เปลือกแข็งจำนวนมากจะประสบกับความยากลำบากในการสร้างเปลือกและโครงสร้างแข็ง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ปะการังก็จะยิ่งโตได้ช้าขึ้นเมื่อคาร์บอเนตไอออนมีปริมาณน้อยลง ตัวอ่อนของกุ้ง หอย ปู อาจอ่อนแอลง เปลือกบางลง โตช้าลง และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น

ผลกระทบของภาวะความเป็นกรดในมหาสมุทรอีกด้านคือทำให้ปลาสับสน เนื่องจากปลาล่าเหยื่อและหลบเลี่ยงสัตว์ผู้ล่าด้วยการดมกลิ่น ค่าความเป็นกรดด่างที่เปลี่ยนไปจะรบกวนประสาทสัมผัสส่วนนี้โดยตรง ปลาจำนวนหนึ่งอาจมีสภาพเป็นกระทงหลงทาง หาทางกลับบ้านไม่ได้ด้วยสภาพแวดล้อมทางเคมีที่เปลี่ยนไปอย่างที่เราคาดไม่ถึง

รายงานประเมินผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาคาดว่าภายในปี ค.ศ.?2050 ร้อยละ 86 ของมหาสมุทรทั่วโลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น และเมื่อถึงปี 2100 ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำทะเลที่พื้นผิวมหาสมุทรอาจลดต่ำลงกว่า 7.8 หรือเป็นกรดขึ้นมากกว่า 150% เมื่อเทียบกับระดับในปัจจุบัน ซึ่งนับได้เป็นภาวะความเป็นกรดที่สูงสุดในรอบ 20 ล้านปี ในระบบนิเวศที่อ่อนไหว เช่น มหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) ภาวะความเป็นกรดอาจรุนแรงกว่าค่าเฉลี่ยหลายเท่าตัว

ลักษณะทางเคมีที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลันของมหาสมุทรเช่นภาวะเป็นกรดเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์หวั่นเกรงที่สุดประการหนึ่ง เพราะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศกว้างไกลเกินจินตนาการ ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วอย่างแพลงตอน ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่เช่น วาฬและโลมา ประวัติศาสตร์โลกสอนให้เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตในอดีต หรือเรากำลังมุ่งหน้าสู่เส้นทางอันมืดมิด

ตอนหน้าจะพาไปดูว่าเราจะพลิกมหาวิกฤตทะเลเดือดให้กลายเป็นโอกาสในการปกป้องมหาสมุทร และกอบกู้โลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร


https://decode.plus/20231226-global-...-warming-ocean

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:15


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger