เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 14-04-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2565

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีอากาศร้อนจัดในภาคเหนือ และภาคกลางบางแห่ง ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและร้อนขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 16-18 เมษายน 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มได้รับผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 14 - 15 เม.ย. 65 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อยในระยะนี้

ส่วนในช่วงวันที่ 16 - 19 เม.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "มาลากัส" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มเคลื่อนที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 16 - 19 เม.ย. 65 ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 16-18 เมษายน 2565)" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 14 เมษายน 2565

ในช่วงวันที่ 16-18 เมษายน 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มได้รับผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ฃไม่แข็งแรง และขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางสัญจรผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนองซึ่งอาจเกิดอันตรายจากลมกระโชกแรงและฟ้าผ่าได้ สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 14-04-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


หวั่นกระทบหญ้าทะเลบ้าน "น้องมาเรียม" ชะลอขุดลอกร่องน้ำกันตังปี 65-66



ตรัง - ชะลอขุดลอกร่องน้ำกันตังปี 65-66 หวั่นกระทบหญ้าทะเลบ้าน "น้องมาเรียม" ระดมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม-ประมงพื้นบ้าน-นักอนุรักษ์ ร่วมศึกษาผลกระทบ ด้าน ผอ.บำรุงรักษาทางน้ำฯ อยากให้กระจ่างสาเหตุหญ้าทะเลตาย เพราะที่สตูล-กระบี่ก็เป็น ด้าน "มูลนิธิอันดามัน" เผยตัวเลขเดินเรือแค่วันละเที่ยวเดียว

ภายหลังจากที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความในเพจส่วนตัว ?TOP Varawut-ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา? ระบุว่า กรมเจ้าท่าได้ระงับการดำเนินงานโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรัง เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินเรือ และการพัฒนาภาคธุรกิจแถบภาคใต้ โดยขยายพื้นที่เพิ่มขนาดความกว้างของร่องน้ำจากเดิมที่กำลังดำเนินการในปี 2565 นี้ พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายราชการ-ประชาชน เพื่อศึกษาผลกระทบต่อหญ้าทะเล แหล่งอาหารพะยูนก่อนดำเนินการ ผลมาจากการออกมาเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ และนักอนุรักษ์

อีกทั้งเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทีมงานได้ลงพื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อแก้ปัญหาแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม โดยคณะของ น.ส.กัญจนา ได้ลงสำรวจพื้นที่และประชุม พบว่า สาเหตุเนื่องมาจากผลกระทบโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณเกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูนที่สำคัญของเมืองไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของพะยูน และเป็นจุดเดียวกันกับกรณีของพะยูน ?น้องมาเรียม? ที่โด่งดังไปทั่วโลก จนเกิดกระแสอนุรักษ์พะยูนในระดับประเทศนั้น ปัจจุบันมีการสำรวจพบว่าแหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบงได้ถูกตะกอนดินจากโครงการขุดลอกร่องน้ำกันตัง ที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2562 ทับถมจนเกิดความเสียหายหลายพันไร่ หญ้าคาทะเลที่เคยมีความสูง 1 เมตร ตอนนี้มีความสูงเหลือแค่ 10 เซนติเมตร เสี่ยงต่อการคุกคามการดำรงชีวิตของพะยูน เสี่ยงเจ็บป่วยและล้มตาย อาจส่งผลให้มีการอพยพย้ายถิ่น เนื่องจากพะยูนขาดแหล่งอาหารที่เหมาะสม และยังส่งผลกระทบต่อการทำประมงของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากสัตว์ทะเลหลายชนิดที่อาศัยแหล่งหญ้าทะเลเป็นพื้นที่อนุบาลได้ลดจำนวนลงอย่างมาก ชาวบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำมาขายได้ จึงควรมีการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดก่อนดำเนินการ

ล่าสุด นายจรัญ ดำเนินผล ผอ.สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อศึกษาผลกระทบโครงการขุดลอกร่องน้ำทะเลตรังว่า ตอนนี้ได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพะยูนจังหวัดตรัง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เพื่อร่วมรวบรายชื่อคณะกรรมการร่วม แล้วส่งให้กรมเจ้าท่าตามลำดับ ซึ่งจริงๆ แล้วมีผลการศึกษาการขุดลอกอยู่แล้ว แต่เมื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพะยูนจังหวัดตรัง ได้มีข้อสงสัยอีกหลายประเด็น และทางกลุ่มอนุรักษ์เรียกร้องให้ไปศึกษาเพิ่มเติม เช่น เรื่องการเคลื่อนย้ายของตะกอนในหน้ามรสุมว่าไปในทิศทางใด การฟุ้งกระจายของตะกอน หากมีการขยายร่องน้ำจะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง การนำหินสายสมอในร่องน้ำออก

"ในปี 2565-2566 จะไม่มีการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อให้ทุกอย่างตกผลึก มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าหากขุดแล้วจะไม่มีผลกระทบ การจะเข้ามาดำเนินการได้นั้นต้องดูว่าจะมีผลกระทบต่อหญ้าทะเลหรือไม่ การกำหนดจุดทิ้งตะกอนว่าจะทิ้งในทะเลหรือทิ้งบนบก ต้องกำหนดจุดที่ชัดเจน ปริมาณต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้ตะกอนกระทบต่อหญ้าทะเล และสิ่งแวดล้อม" นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วการขุดลอกร่องน้ำกันตัง มีการขุดมาตลอดตั้งแต่ปี 2509 และมามีปัญหาเมื่อราวปลายปี 2562 ซึ่งยังฟันธงไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุของมรสุม คลื่นลมแรง หรืออะไรกันแน่ และปัจจุบันไม่มีการขุดมาตั้งแต่ปี 2563 แต่ปัจจุบันยังพบว่าหญ้าทะเลยังมีตายเพิ่มเติม ไม่ได้เฉพาะที่เกาะลิบง จากข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่า หญ้าทะเลบริเวณหาดเจ้าไหม อ่าวหยงหลำ อ.สิเกา รวมถึง จ.สตูล และ จ.กระบี่ ก็ตายจำนวนมากเช่นกัน หรือแม้แต่ปะการังใน จ.ภูเก็ต ก็ตายเช่นเดียวกัน จึงต้องศึกษาให้ชัดว่าหญ้าทะเลตายเพราะอะไร เพราะภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเล ซึ่งต้องหาคำตอบและตกผลึกให้ได้ ดังนั้น คณะกรรมการร่วมนอกจากจะมีคณะอนุกรรมการพะยูนแล้ว ยังต้องมีนักวิชาการสิ่งแวดล้อมภาคส่วนอื่นมาร่วมด้วย เช่น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนักวิชาการจากมูลนิธิอันดามันด้วย

ด้านนายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามันจังหวัดตรัง กล่าวว่า คาดว่าทางฝ่ายวิชาการของมูลนิธิอันดามัน รวมถึงกลุ่มประมงพื้นบ้าน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม จะเข้าเป็นคณะกรรมการร่วมด้วย เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการขุดลอก เพราะมองว่าการเดินเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำตรังก็เป็นเรื่องจำเป็น เมื่อแม่น้ำตื้นเขินก็ต้องมีการขุดลอก ตามหลักที่ตกลงกันไว้ว่าจะขุดลอกเฉพาะที่จำเป็น และกรมเจ้าท่าไม่ควรขยายร่องน้ำให้ลึก หรือกว้างเกินที่ได้รับประกันความลึกร่องน้ำไว้ที่ 55 เมตร หากจะขุดลึกกว่านี้ ปากร่องน้ำที่จะขยายให้กว้างก็ต้องทุบหินสายสมอออกบางส่วน ฉะนั้นจะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปริมาณหิน ทราย จากการขุดลอกมีจำนวนมหาศาล โดยแนวหินสายสมอเป็นแนวหินที่ต่อเนื่องตั้งแต่เกาะลิบง อ.กันตัง ไปจนถึง อ.หาดสำราญ และ อ.ปะเหลียน ที่สำคัญแนวหินสายสมอจะเป็นตัวชะลอน้ำในช่วงฤดูมรสุม ชะลอตะกอนดินไม่ให้ไหลอย่างรวดเร็วไปทับหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และชาวประมงพื้นบ้านใช้หินสายสมอเป็นที่หลบพายุ ดังนั้น การทุบหินสายสมอจะกระทบต่อระบบนิเวศ

นายภาคภูมิ กล่าวอีกว่า หากจะดำเนินการตามกรมเจ้าท่าที่จะขุดให้ลึกถึง 65 เมตร ขยายความกว้าง 90 เมตร เป็นแนวคิดความลึกที่อยากได้ช่วงน้ำลงต่ำสุด แต่จะทำให้เกิดตะกอนจากการขุดลอกที่เป็นดินกับทรายกว่า 2.6 ล้านคิว และเป็นหินกว่า 6.3 แสนคิว หากเอาไปทิ้งในทะเลจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน และการขุดลอกตามความจำเป็นต้องมาดูกันว่าจำเป็นแค่ไหน และการเดินเรือแนวแม่น้ำตรังสามารถเดินเรือได้อยู่แล้วในช่วงน้ำขึ้น โดยกายภาพแม่น้ำตรังจะมีการขึ้นลงของน้ำทะเล ในช่วงน้ำขึ้นความลึกใช้ได้อยู่แล้ว สามารถเดินเรือได้ตามช่วงเวลา

"แล้วปริมาณการจราจรการขนส่งทางน้ำมันมีความถี่ มีการสัญจรตลอด 24 ชั่วโมงหรือเปล่า ซึ่งข้อมูลที่ทราบในปัจจุบันไม่ได้มีความหนาแน่น วันหนึ่งมีแค่ขบวนเดียว บางวันก็ไม่มีเลย ฉะนั้นสามารถบริหารจัดการการเดินเรือได้อยู่ หากการขนส่งทางน้ำต้องรอน้ำขึ้นบ้าง 2-3 ชั่วโมง ก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง การขุดลอกและการเดินเรือไม่มีใครขัดข้อง แต่จำเป็นต้องศึกษาหารือกันอย่างรอบคอบ ทำตามจำเป็น ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากร เพราะปากแม่น้ำตรัง และเกาะลิบงที่ได้รับผลกระทบจากตะกอนทราย เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง เป็นแหล่งอาศัยของพะยูนที่มีความหนาแน่นนับร้อยๆ ตัว และที่สำคัญไม่สามารถหาพื้นที่ไหนทดแทนแหล่งหญ้าทะเลบริเวณนั้นได้อีกแล้ว" นายภาคภูมิ กล่าวในที่สุด


https://mgronline.com/south/detail/9650000035521

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 14-04-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ไทยติด 1 ใน 5 ของโลก อนุบาลลูกเต่ามะเฟืองวัยอ่อน สำเร็จ

ไทยประสบความสำเร็จ ติด 1 ใน 5 ของโลกการอนุบาลลูกเต่ามะเฟืองวัยอ่อนในบ่อเลี้ยงเกิน 1 ปี เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มประชากรสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์จากโลก



วันนี้ (13 เม.ย.2565) นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน แหลมพันวา จ.ภูเก็ต ประสบความสำเร็จการอนุบาลเต่ามะเฟืองวัยอ่อนในบ่อเลี้ยงเกิน 1 ปี จนประเทศไทยอยู่ 1 ใน 5 ของโลกที่ทำสำเร็จแล้ว คือ ศรีลังกา อเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา

นายโสภณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยใช้ความพยายามทดลองเลี้ยงเต่ามะเฟืองในบ่อเลี้ยง แต่ยังไม่สามารถอนุบาลเป็นเวลานานได้ เพราะเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์จากโลก (Critically endangered) และเป็นสัตว์สงวนของไทยที่เป็นเต่าทะเลน้ำลึกต่างกับเต่าทะเลสายพันธุ์อื่นๆ เมื่อนำมาอนุบาลในบ่อเลี้ยงเต่าจะว่ายชนบ่อเลี้ยงจนติดเชื้อและตาย


เต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่ พังงา-ภูเก็ต

เต่ามะเฟืองมีบทบาทสำคัญในการควบคุมปริมาณแมงกะพรุน แล้วอาศัยอยู่ในทะเลลึกเกือบตลอดชีวิตและจะกลับมาชายหาดเฉพาะตอนวางไข่เท่านั้น โดยปี 2561 - 2564 พบเต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่ที่พังงาและภูเก็ตอีกครั้ง มีโดยมีลูกเต่ามะเฟืองฟักตัวจากไข่ออกสู่ทะเลมากกว่า 1,000 ตัว ตามสถิติลูกเต่า 1,000 ตัวจะมีเพียง 1 ตัว เท่านั้นจะมีชีวิตรอดไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้


อนุรักษ์-เพิ่มประชากรสัตว์ทะเลหายาก

สำหรับผลพลอยได้จากโครงการทดลองอนุบาลเต่ามะเฟืองครั้งนี้ คือ ความสำเร็จการเพาะขยายพันธุ์แมงกะพรุนหนังลายจุดและแมงกะพรุนลอดช่อง การสร้างระบบเลี้ยงสำหรับลูกเต่ามะเฟือง โดยเฉพาะคอกป้องกันไม่ให้เต่าเกิดบาดแผล และสุดท้าย งานวิจัยการอนุบาลเต่ามะเฟืองในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอย่างน้อย 1 เล่ม

สิ่งสำคัญการศึกษาวิจัยเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติของเต่ามะเฟืองยังเป็นการเพิ่มโอกาสการมีชีวิตรอดท่ามกลางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนี้ด้วย


https://news.thaipbs.or.th/content/314521

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:27


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger