เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 02-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็น โดยมีฝนบางแห่งบริเวณประเทศไทยตอนบน ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย สำหรับร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ส่งผลทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะนี้

อนึ่ง เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (2 พ.ย. 2563) พายุโซนร้อน "โคนี" (พายุระดับ 3) บริเวณประเทศฟิลิปปินส์เคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางแล้ว และมีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลงก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ในช่วงวันที่ 4 - 5 พ.ย. 2563


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 1 - 2 พ.ย. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นลงเล็กน้อย ในขณะที่ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ให้ภาคใต้มีฝนน้อย

ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 7 พ.ย. 63 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น (พายุระดับ 5) "โคนี" บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ จะเคลื่อนสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางในวันที่ 2 พ.ย. 2563 และมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าอ่าวตังเกี๋ย และใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 4 - 5 พ.ย. 2563 ส่งผลทำให้ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมแรง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 3 - 7 พ.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย และขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุโซนร้อน "โคนี" (พายุระดับ 3) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2563)" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 02 พฤศจิกายน 2563

เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2563) พายุโซนร้อน "โคนี" บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ได้เคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 14.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 119.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2563 ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 02-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


พัทยาก็ไม่รอด! กระทง-ขวดเครื่องดื่มถูกทิ้งเกลื่อนชายหาดหลังคืนลอยกระทง

ศูนย์ข่าวศรีราชา - พัทยาก็ไม่รอด! พบทั้งเศษกระทง ขยะ ขวดเครื่องดื่ม อาหารถูกทิ้งเกลื่อนชายหาดหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมคืนวันลอยกระทง ที่มีการจัดงานใหญ่ในพื้นที่พร้อมกันอีก 2 งาน คือ กิจกรรมวิ่งในชุดบิกินี และฮาโลวีน ด้านนายกเมืองพัทยา สั่ง จนท.เร่งจัดเก็บตั้งแต่เที่ยงคืน



จากกรณีที่เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (1 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณชายหาดวอนนภา และหาดบางแสน จ.ชลบุรี หลังช่วงคืนที่ผ่านมา ได้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาจับจองพื้นที่ริมชายหาดเพื่อนั่งสังสรรค์ พักผ่อน และทำกิจกรรมลอยกระทง ซึ่งผลปรากฏว่า เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้คือ พบทั้งซากกระทง พลุ ดอกไม้ไฟ และขยะที่เกิดจากการนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทานถูกทิ้งเกลื่อนชายหาด

ทำให้พนักงานทำความสะอาดของเทศบาลเมืองแสนสุข รวมทั้งประชาชนจิตอาสาต้องช่วยกันเก็บกวาดขยะทั้งบนชายหาด และริมทางเท้าตั้งแต่ในช่วงเช้ามืด เพื่อให้พื้นที่ชายหาดทั้ง 2 แห่ง สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ทันในวันนี้นั้น

ล่าสุด จากการลงสำรวจพื้นที่ชายหาดพัทยา ซึ่งมีการจัดงานวันลอยกระทง รวมถึงกิจกรรมวิ่งในชุดบิกินี และงานฮาโลวีน จนทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้าพื้นที่เป็นจำนวนมากตั้งแต่ช่วงเย็นวานนี้ ขณะที่เมืองพัทยา ได้ปรับพื้นที่บริเวณชายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับการเข้ามานั่งปูเสื่อสังสรรค์ของนักท่องเที่ยว

พบว่า หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมสืบสานประเพณีลอยกระทง บริเวณชายหาดพัทยา มีทั้งขยะจำพวกขวดเครื่องดื่ม จานโฟม ถุงพลาสติก ซึ่งนักท่องเที่ยวทิ้งไว้เกลื่อน โดยที่นักท่องเที่ยวไม่ยอมนำไปทิ้งยังถังขยะที่เมืองพัทยา จัดเตรียมไว้ให้ แต่เลือกที่จะกองทิ้งไว้บนพื้นที่หาดทรายอย่างไร้จิตสำนึก



นอกจากนั้น ในท้องทะเลยังพบซากกระทงที่ถูกคลื่นซัดกระจายอยู่ตามแนวชายหาด และยังพบขยะที่เกิดจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้านำกระทงเข้ามาจำหน่ายและทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ ตลอดแนวฟุตปาธ ถือเป็นการทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของเมืองพัทยาเป็นอย่างมาก

ขณะที่ นายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา เผยว่า หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมต่างๆ บนชายหาดพัทยา เจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา ได้ลงพื้นที่กระจายกำลังกันเก็บกวาดขยะต่างๆ รวมทั้งกระทงตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา เพื่อเร่งทำความสะอาดตลอดแนวชายหาด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาของ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ที่ได้กำหนดแนวทางพัฒนา เมืองพัทยา สู่การเป็น NEO PATTAYA ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน จึงสามารถจัดเก็บขยะได้เป็นไปตามแผน


https://mgronline.com/local/detail/9630000113126


*********************************************************************************************************************************************************


ฮือฮา! พบร่องรอยเต่าทะเลขึ้นวางไข่หาดบางขวัญ จ.พังงา

พังงา - ฮือฮา! พบร่องรอยเต่าทะเลขึ้นวางไข่หาดบางขวัญ จ.พังงา ล่าสุด ยังไม่พบหลุมไข่ เจ้าหน้าที่ยังเร่งค้นหา คาดเป็นแม่เต่ามะเฟืองที่เคยขึ้นวางไข่ก่อนหน้านี้



เมื่อเวลาประมาณ 07.00 น. วันนี้ (1 พ.ย.) ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่า นายปรีดา อานนท์ ชาวบ้านท่านุ่น ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา แจ้งพบร่องรอยการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณชายหาดบางขวัญ ขณะกำลังกลับจากตกปลา

หลังรับแจ้งทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ เข้าตรวจสอบ พบเป็นร่องรอยของเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ ห่างจากหลุมเดิมที่พบเมื่อวันที่ 21 ต.ค.63 ประมาณ 100 เมตร ลงมาทางทิศใต้



จากการตรวจสอบพบรอยมีความกว้างของอก 100 ซม. ความกว้างพาย 190 ซม. ระยะทางจากรอยขึ้นถึงชายน้ำ 9.95 เมตร ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบหาหลุมไข่เต่าที่คาดว่าแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ แต่ยังไม่พบ อย่างไรก็ตาม คาดว่าแม่เต่าที่ขึ้นมาในครั้งนี้น่าจะเป็นตัวเดียวกับที่เคยขึ้นมาวางไข่เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับช่วงนี้กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูกาลวางไข่ของเต่ามะเฟือง ซึ่งจะมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคมของทุกปี คาดว่าตลอดฤดูกาลจะมีแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่อีกหลายตัว ในส่วนของเจ้าหน้าที่จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในพื้นที่ต่อไป


https://mgronline.com/south/detail/9630000113127

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 02-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'เสริมทราย' ป้องกันกัดเซาะชายฝั่ง ชุบชีวิต"หาดท่องเที่ยว"แจ้งเกิดใหม่


ชายหาดจอมเทียน ก่อนเริ่มงานเสริมทรายป้องกันกัดเซาะชายหาด

ชายฝั่งของประเทศไทยมีความยาวกว่า 3,100 กิโลเมตร แต่พบว่า ชายหาดกว่า 830 กิโลเมตร เผชิญปัญหากัดเซาะชายฝั่งจนสภาพเสื่อมโทรม สาเหตุหลักเกิดจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ อันตรายต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งกระทบการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวร้อยละ 90 เลือกท่องเที่ยวชายหาด นี่คือ ทรัพยากรธรรมชาติและต้นทุนท่องเที่ยวที่สำคัญ สร้างรายได้เข้าประเทศ

กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีภารกิจแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ปัจจุบันมีคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ มีรองนายกฯ เป็นประธาน ตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานและโครงการแก้ปัญหา ล่าสุด กรมเจ้าท่าเดินหน้าต่อกับโครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองพัทยา เป็นแห่งที่สอง เริ่มตั้งแต่บริเวณครัวลุงไสวถึงซอยนาจอมเทียน 11 ความยาว 3,575 เมตร หลังนำร่องฟื้นฟูชายหาดพัทยาระยะทาง 2,800 เมตร ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือ บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี จนถึงชายหาดพัทยาใต้ บริเวณวอล์คกิ้ง สตรีท จนได้ชายหาดกลับมาสวยงามเหมือนเดิม

วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยมีมาโดยตลอด ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน บางพื้นที่กัดเซาะ 5-10 เมตรต่อปี แล้วแต่บริบทและพลังคลื่นของแต่ละพื้นที่ กรมเจ้าท่ามีแนวทางแก้ปัญหาตั้งแต่กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน พื้นที่ไม่ซับซ้อน จะออกแบบกำแพงป้องกันกัดเซาะชายฝั่ง ดำเนินการได้ทันที กรณีปัญหาซับซ้อนอยู่ในพื้นที่คุ้มครอง จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำโครงการที่เหมาะสม จัดทำรายงานอีไอเอก่อนก่อสร้าง ส่วนกรณีชายหาดทรายที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ประสบปัญหากัดเซาะ ใช้วิธีเสริมทรายชายหาดดีที่สุดและเหมาะกับหาดแหล่งท่องเที่ยวของบ้านเรา

สำหรับสภาพปัญหาการกัดเซาะชายหาดของหาดจอมเทียน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของไทย วิทยากล่าวว่า จากรายงานการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทแก้กัดเซาะชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ปี 2552 พบว่า ชายหาดจอมเทียนเผชิญปัญหากัดเซาะอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเช่นเดียวกับชายหาดพัทยา ทำให้ชายหาดถดถอยและลดขนาดลงไปทุกปี จนเหลือพื้นที่ทรายชายหาดจอมเทียนไม่เพียงพอรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนบนชายหาดได้ บางช่วงชายหาดเมื่อน้ำขึ้น ชายหาดจะจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลทั้งหมด จะส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีแนวโน้มลดลงในอนาคต หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ถึง 10 ปี ชายหาดจอมเทียนจะไม่มีทรายเหลืออยู่เลย จึงมีโครงการเสริมทรายในระยะที่ 1 รวมกว่า 3.5 กิโลเมตร เริ่มวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เมื่อเสร็จแล้ว จะเข้าสู่ระยะที่ 2 อีก 2.4 กม. เพื่อเสริมทรายต่อไป

อธิบดีกรมเจ้าท่า ระบุว่า ปี 2558 กรมเจ้าท่าได้จ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระยะยาว และสามารถฟื้นฟูสภาพชายหาดจอมเทียนให้กลับมาสวยงามดังเดิม พร้อมทั้งจัดทำรายงานการวิเคราะห์กระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนำเสนอ และขอรับการอนุมัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการศึกษาโครงการเห็นชอบปี 2562 ก่อนว่าจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการงานเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน ระยะที่ 1 พื้นที่โครงการอยู่ในเขตชุมชนหนาแน่น อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ประกอบกิจกรรมหลากหลายประเภทในพื้นที่โครงการ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบ และสอดคล้องตามมาตรการผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏในรายงาน คณะกรรมการกำกับ ดูแล และติดตามการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จึงจัดประชุมสัมมนาระดับประเทศครั้งนี้ขึ้น

"หลังฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนเสร็จ ชายหาดจะมีขนาดความกว้างเฉลี่ย 50 เมตร สวยงาม มีพื้นที่พักผ่อน เล่นกีฬาชายหาดได้มากกว่าเดิม ผลศึกษาพบว่าโครงการคุ้มค่า เงิน 1 บาทที่ลงทุนไป จะสร้างเม็ดเงินกลับคืนมาในระบบ 3.20 บาท สำหรับงานเสริมทรายนอกจากแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำหลบคลื่นลม การท่องเที่ยววิถีใหม่ชายหาดจะสร้างรายได้ให้ชุมชนและการท่องเที่ยวของประเทศ คาดหวังให้เสริมทรายชายหาดจอมเทียนเป็นต้นแบบชายหาดที่ยั่งยืน โดยมีแผนจะเสริมทรายชายหาดบางแสน ชลบุรี, ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี และชายหาดเขาหลัก จ.พังงา ทุกพื้นที่ต้องศึกษาและออกแบบอย่างเหมาะสม กระทบสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ส่วนฝั่งอันดามันตั้งแต่ระนอง สตูล ตรัง ก็มีปัญหากัดเซาะเช่นกัน กรมเจ้าท่ามีบทบาทดูแลรักษาชายหาดจึงต้องดำเนินการในระยะต่อไป" วิทยา กล่าว


ชายหาดพัทยาที่กรมเจ้าท่าได้ดำเนินโครงการเสริมทรายระยะทาง 2.8 กม. จนสำเร็จหาดสวยงามกลับมา

ด้าน ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ผู้ออกแบบโครงการเสริมทราย กล่าวว่า โครงการก่อสร้างเสริมทรายป้องกันกัดเซาะชายหาด ข้อดีเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ ใช้โครงสร้างน้อย และมีความยั่งยืน นอกจากป้องกันชายหาดยังเติมทรายให้ชายหาดใกล้เคียงเหมาะสมกับชายหาดเพื่อการท่องเที่ยว อย่างหาดไมอามี สหรัฐ หรือหาดสเปน กว่า 90% ใช้วิธีเสริมทราย วิธีนี้ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรกลับมา แต่ข้อเสียไม่สามารถใช้แก้ปัญหาในทุกพื้นที่ได้เพราะค่าใช้จ่ายสูง ต้องดูแลเสริมทรายทุก 10 ปี ตามกรอบที่ออกแบบไว้ ใช้เวลาดำเนินการ 1-2 ปี ไม่สามารถนำข้อมูลจากการออกแบบในหาดหนึ่งไปใช้กับหาดอื่นๆ ได้ ต้องศึกษาออกแบบใหม่เฉพาะหาดเท่านั้น โครงการนี้สอดรับยุทธศาสตร์ที่ 2 และยุทธศาสตร์ที่ 5 ของแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี ด้านสร้างการเติบโตบนคุณภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า โครงการเสริมทรายหาดจอมเทียนมีความแตกต่างกับหาดพัทยา คือ ไม่มีแนวกระสอบทรายใต้ดิน ความกว้างที่ออกแบบไว้กว้างกว่าพัทยา ซึ่งพัทยากว้าง 35 เมตร ผ่านมา 1 ปีเพิ่มมาเป็น 40 เมตร และมีพื้นที่แหล่งสำรองทรายชายหาด กรณีมีพายุเข้าจะมีสต๊อกทรายไว้ให้กับท้องถิ่นดูแลเสริมทรายได้

"ข้อควรระวังจะต้องแก้ไขปัญหาการระบายน้ำท่วมลงสู่ชายหาด เพราะเราไม่ได้ออกแบบการเสริมทรายไว้รองรับการระบายน้ำ ปัญหาเมืองพัทยา น้ำท่วมเมือง ระบายไม่ทัน จะระบายลงหาด ซึ่งในการออกแบบไม่ได้เผื่อเรื่องน้ำท่วม ทำให้อายุการใช้งานของหาดสั้นลง สิ่งที่ต้องแก้เร่งด่วนกรมเจ้าท่าต้องหารือกับเมืองพัทยาวางแนวทางแก้ปัญหา"

นอกจากนี้ ศ.ดร.ธนวัฒน์ ย้ำการเสริมทรายในครั้งต่อไปต้องดำเนินการโดยกรมเจ้าท่าเท่านั้น และไม่ควรอนุญาตให้ท้องถิ่นและประชาชนขอใช้พื้นที่จากการเสริมทรายผิดประเภท เช่น พื้นที่จอดรถ อาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง เพราะเป็นการถมทะเล หรือแม้กระทั่งการบุกรุกพื้นที่ชายหาดใช้ประโยชน์ กรมเจ้าท่าควรปักขอบเขตที่แน่นอนว่าบริเวณไหนเกิดจากโครงการเสริมทราย การมีโครงการต่างๆ กรมเจ้าท่าต้องดูแลและส่งมอบให้ท้องถิ่นบริหารจัดการต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนเสนอเพิ่มว่า ในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงก็ควรใช้วิธีเสริมทรายเช่นกัน ไม่เพียงหาดท่องเที่ยว เพราะเทคโนโลยีนี้สามารถพัฒนาต่อยอดได้ อนาคตเราอาจขายองค์ความรู้นี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งในภาคตะวันออกแนวโน้มไม่ดีขึ้น บางพื้นที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งพื้นที่ที่มีโครงสร้างป้องกัน ดูภายนอกเหมือนนิ่ง ไม่กัดเซาะแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าหยุด มีการกัดเซาะพื้นท้องน้ำ ดังนั้น วิธีที่ดีสุดคือการเสริมทราย


การประชุมสัมมนาระดับประเทศ กรมเจ้าท่ากับการท่องเที่ยววิถีใหม่ ชายหาดยั่งยืน เมื่อวันก่อน

เวทีสัมมนาระดับประเทศครั้งนี้เปิดให้ทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นต่อโครงการเสริมทรายชายหาด ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ชายหาดพัทยาอดีตพื้นที่หาดกว้างขวาง แต่กัดเซาะชายหาดรุนแรงจนขนาดหาดติดกับพื้นที่ทางเดิน เมื่อมีโครงการเสริมทราย ตนจับตามองและเห็นว่า เกิดประโยชน์ ชายหาดกลับมา เป็นพื้นที่พักผ่อนของครอบครัว ชุมชน ช่วยฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ เหมือนเราได้สวนสาธารณะกลับมา จากที่เคยยับเยินในอดีต เมื่อทำแล้วคุ้มค่าก็เห็นด้วยในการขยายโครงการสู่ชายหาดจอมเทียน คิดว่าจะบรรเทาปัญหากัดเซาะ อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีหาดแสงจันทน์ จ.ระยอง ฝากให้กรมเจ้าท่าที่แก้ปัญหาด้วยการทำโครงสร้างแข็ง แต่หลังแนวกันคลื่นมีชายหาดทรายธรรมชาติ ซึ่งร้านค้าจับจอง แทนที่จะเป็นพื้นที่ชายหาดให้คนพักผ่อนทั่วไป

ดร.ธรณ์ยังชี้ข้อควรระวังว่า จุดดูดทราย แหล่งทรายบริเวณทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ห่างจากหาดจอมเทียนบริวณเสริมทรายไปทางทะเล 15 กิโลเมตร ณ วันนี้การขุด ดูดทราย ตะกอนต่างๆ ยังไม่มีผลกระทบกับแนวปะการัง แต่จะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง หาดพัทยายาวจนถึงชายหาดจอมเทียน เป็นหาดท่องเที่ยวสำคัญ หลังโควิดจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาเกือบ 10 ล้านคนต่อปี ฝากให้เตรียมพร้อมรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ อยากเสนอให้กรมเจ้าท่าจัดทำโรดแมปที่ชัดเจน 5-10 ปี ในการพัฒนาพื้นที่ตะวันออก สร้างผลประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบให้มากที่สุด มนุษย์ได้ประโยชน์โดยกระทบธรรมชาติในระดับที่ยอมรับได้ ความยั่งยืนหมายถึง กิจการอยู่ได้ ธรรมชาติอยู่ได้และคนอยู่ได้ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมากขึ้น ปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจะเข้ามาเพิ่มขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมที่ลงสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

"ผมคิดว่า ตอนนี้เรายังมีปัญหา สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหากัดเซาะรุนแรงเท่านั้น แต่รวมคลื่นลมที่รุนแรงมากขึ้น พายุถี่ขึ้น อยากให้มองทิศทางแก้ไขปัญหาครบทุกมิติ " ดร.ธรณ์ กล่าว


https://www.thaipost.net/main/detail/82385

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 02-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


ผ่าปัญหาขยะคลองกรุงเทพฯ หยุดน้ำเน่า คืนความใส หัวใจอยู่ที่คน


ขยะที่ถูกทิ้งลงคลองลาดพร้าว หนึ่งในคลองสายหลักที่วิกฤติจากขยะ

เราอยากเที่ยวในกรุงเทพฯ เดินถ่ายรูปสวยๆ ริมแม่น้ำ เช็กอินเก๋ๆ ริมคลอง ล่องเรือเที่ยวชมสองฝั่งคลอง ช็อปปิ้งตลาดน้ำกลางเมือง ให้สมกับที่กรุงเทพฯ ได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็นเวนิสแห่งตะวันออก แต่กลับมีขยะลอยเป็นแพในคูคลอง ไปจนถึงมักง่ายทิ้งทุกอย่างลงแม่น้ำลำคลอง เป็นภาพที่สะท้อนถึงคนเมืองไม่ตระหนักว่า วิกฤติขยะในคลองจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

ลองย้อนไปในอดีต คลองมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทยอย่างมาก โดยเฉพาะชุมชนริมคลองพึ่งพาน้ำจากคลองใสในการอุปโภคบริโภค คูคลองมากมายเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคลองล้อมรอบจำนวนมาก ต่างจากปัจจุบัน มหานครแห่งนี้มีความเจริญเติบโต คลองถูกลดความสำคัญ มีการถมคลองสร้างถนนหนทาง หรือเป็นพื้นที่ตั้งของอาคารบ้านเรือนจากประชากรที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งพื้นที่ริมคลองอย่างคลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ หรือคลองเปรมประชากร มีชุมชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีการปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะลงคลอง ทำให้ตื้นเขิน และไม่ใสสะอาดเหมือนก่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนจำนวนมากนึกถึงคลองเป็นเพียงทางระบายน้ำหรือถังขยะ

แม้ชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำจะไม่ได้เหมือนเดิม แต่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มีแนวทางแก้ปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลองเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น ฟื้นเสน่ห์ความเป็นเวนิสตะวันออก

ประเด็นนี้ "สมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์" รองผู้อำนวยการสำนักงานระบายน้ำ กทม. บอกว่า หลังจากได้สำรวจคลองกรุงเทพฯ ที่ตกหล่นร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่ทั้ง 50 เขต จากเดิม 1,682 คลอง ปัจจุบันรวบรวมได้กว่า 1,980 คลอง คิดเป็นระยะทางประมาณ 2,700 กิโลเมตร ในอดีตคลองจะเป็นเส้นทางสัญจรและใช้ในการทำเกษตร ชุมชนตั้งรกรากอยู่ริมคลอง เมื่อมีการพัฒนาเมือง ก็เปลี่ยนจากคลองเป็นถนน บริเวณริมคลองก็ถูกถมสร้างตึก อาคาร บ้าน บ้านริมฝั่งคลองยังมี แต่ส่วนใหญ่เริ่มเป็นคนต่างถิ่นที่เข้ามาเช่าอยู่ พบปัญหาขนาดของคลองที่แคบลงจากการรุกล้ำเข้ามาสร้างบ้านเรือนริมคลอง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพคลอง ยังไม่กล่าวถึงปัญหาขยะและน้ำเน่าเสีย

"คลองเต็มไปด้วยขยะ มีรายงานตั้งแต่ปี 2559 มีขยะประมาณ 69,726 ตัน ปี 2560 มีขยะ 132,374 ตัน ปี 2561 มีขยะประมาณ 41,601 ตัน ปี 2562 มีขยะ 34,640.22 ตัน ส่วนปี 2563 ข้อมูลถึงเดือนตุลาคมนี้ ปริมาณขยะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 27,816 ตัน"


คลองเปรมประชากร คลองใจกลางเมืองที่พบปริมาณขยะมาก

ถ้าเจาะลึกเข้าไปในปัญหาขยะในคลอง รอง ผอ.สำนักงานระบายน้ำบอกว่า ปัญหาของขยะในคลองนับว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อดีตเราก็มีชุมชนริมคลองมา อาบน้ำ ซักผ้า ล้างจานน้ำก็ไหลลงคลอง แต่ด้วยประชากรยังไม่หนาแน่น น้ำก็ยังสามารถที่จะบำบัดฟื้นตัวเองได้ในธรรมชาติ แต่เมื่อมีการขยายของชุมชน บ้านเรือนหนาแน่นมากขึ้น ทำให้น้ำเริ่มบำบัดไม่ทัน กลายเป็นน้ำสีดำ มีกลิ่นรบกวน ขณะที่ผู้คนไม่ตระหนัก แล้วยังทิ้งขยะลงมาเพิ่มความสกปรกอีก

สำหรับคลองสายหลักใจกลางเมือง อย่างคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ คลองสอง คลองบางนา คลองทวีวัฒนา เป็นต้น ที่มีอีกหน้าที่ในการระบายน้ำช่วงฝนตก ดังนั้นน้ำฝนจะชะล้างขยะไหลมายังคลองเป็นจำนวนที่มากกว่าปกติอีก เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการระบายน้ำอย่างมาก ไม่เพียงแค่นั้น ขยะจำพวกเชือก ด้าย หรือยาง ที่สามารถเข้าไปพันกับใบพัดเครื่องระบายน้ำ ส่งผลให้เกิดอุปกรณ์มีความชำรุดเสียหายอีกด้วย ดังนั้นการแก้ปัญหาขยะคนจึงเป็นตัวแปรสำคัญช่วยให้ขยะในคลองลดลง ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ดั้งเดิมหรือคนต่างถิ่น คลองสายหลักมีขยะเยอะเพราะชุมชนหนาแน่น

"สมศักดิ์" เล่าว่า แม้ว่าทาง กทม.จะจัดที่ให้ทิ้งขยะบนบกและตามท่าบ้านริมน้ำ แต่ด้วยเส้นทางสัญจรในชุมชนที่เป็นตรอกแคบ ชาวบ้านอาจจะไม่สะดวกเดินนำขยะมาทิ้ง อย่างคลองลาดพร้าวที่มีระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร มีปัญหาชุมชนรุกล้ำเข้ามาสร้างบ้าน ทำให้คลองมีความแคบ และคนทิ้งขยะลงแม่น้ำ ทำให้เราเก็บขยะได้ถึงวันละ 3-5 ตัน ช่วงฝนตกบางวันเก็บได้ถึง 10 ตัน แต่หลังจากที่จัดสร้างบ้านมั่นคง สถานการณ์ดีขึ้น ปริมาณขยะในคลองลดลงไปได้ถึง 30% คลองที่แคบลง 15-20 เมตร จากที่บ้านรุกล้ำ กลับมากว้างประมาณ 35-38 เมตร การขุดลอกคลองทำได้ง่าย และการสร้างเขื่อน ทำให้การระบายน้ำดีขึ้น

เช่นเดียวกับคลองเปรมประชากร เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ความยาวคลอง 22 กิโลเมตร ชุมชนริมคลองทิ้งขยะ เก็บได้วันละ 7-8 ตัน ส่วนคลองบางเขน ยาว 10 กิโลเมตร มีขยะที่เก็บได้วันละ 1-2 ตัน ก็กำลังดำเนินการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาต่อไป "นอกจากเก็บขยะ ประเด็นสำคัญคือ การรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชนริมคลอง มุ่งส่งเสริมผู้นำชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อนำไปพัฒนาในพื้นที่ชุมชนของตนเอง"

เก็บขยะในคูคลองกรุงเทพฯ งานหนัก "สมศักดิ์" ให้ภาพว่า กทม.แบ่งระดับความสำคัญของคลอง โดยเฉพาะคลองสายหลักระบายน้ำจะต้องมีเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บวันละ 2-3 รอบ 4-5 คนต่อเรือหนึ่งลำ แบ่งเป็นโซนละ 5-10 กิโลเมตร ส่วนคลองที่รองลงมาจัดเก็บเป็นรอบประมาณเดือนละครั้ง นอกจากนี้มีแพไม้ไผ่ไว้ดักขยะลอยน้ำประจำคลองต่างๆ ซึ่งมีมากกว่า 100 แพทั่วคลองกรุงเทพฯ ที่มีปัญหาขยะ ช่วยแบ่งเบาการเก็บขยะได้เยอะ พนักงานเราไม่พอ ที่ผ่านมาพยายามรณรงค์เรื่องการทิ้งขยะให้ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ บ้านริมคลองก็แขวนขยะไว้ที่บ้าน เพราะต้องเข้าไปเก็บขยะทุกวัน หรือพัฒนาเป็นไลน์กลุ่มแจ้งว่า ช่วงเวลาจัดเก็บขยะ แต่ยังไม่ครอบคลุม

"ปัจจุบันมีชุมชนตัวอย่างที่รักษาคลองให้สะอาด อย่างชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย ที่มีบ้านเรือนประมาณ 30 หลัง เพราะผู้นำที่มีความเข้มแข็ง ทำให้ไม่มีขยะลงมาในแม่น้ำ 100% สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเชื่อใจ เมื่อมีกิจกรรมจะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ ส่วนนี้ต้องสนับสนุนขับเคลื่อนต่อไป" สมศักดิ์ กล่าว


แพไม้ไผ่ติดตั้งตามคลองต่างๆ ใน กทม. ช่วยดักขยะ จนท.จัดเก็บง่าย

คนกรุงเทพฯ เป็นฟันเฟืองสำคัญลดขยะในคลอง วรรณา แจ้งหิรัญ ประธานชุมชนร่วมใจพิบูล 2 เล่าว่า พื้นที่ชุมชนทอดยาวริมฝั่งคลองลาดพร้าวประมาณ 1 กิโลเมตร มี 245 ครัวเรือน จำนวนประชากรกว่า 1,200 คน ครอบครัวตนอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า สมัยเด็กจำได้ว่าตอนนั้นยังไม่มีน้ำประปา ก็ใช้น้ำในคลองลาดพร้าว ซึ่งใสสะอาดจนเราสามารถเล่นน้ำ อาบน้ำได้เลย เมื่อโตขึ้นเมืองก็ขยายขึ้นด้วย เริ่มมีคนเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเรามากขึ้น มีการปลูกสร้างโรงแรม โรงงานต่างๆ บ้านบางหลังที่อยู่ริมคลองขายต่อให้คนอื่นทำบ้านเช่า สร้างบ้านใหม่บ้าง แม้จะมีข้อกำหนดให้สร้างบ้านได้ โดยวัดจากชายคลองเข้ามา 6 เมตร แต่ก็มีการสร้างล้ำเข้าไปในคลอง คลองแคบลง ขยะเริ่มถูกทิ้งลงคลองมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงฝนตก ขยะใต้ถุนบ้านลอยออกมา ขวางการระบายน้ำ

จากปัญหานี้ เราทำงานรณรงค์หยุดทิ้งขยะลงคลอง จัดที่ทิ้งตามท่าทุกบ้าน เพราะจะมีเรือเก็บขยะมารับทุกวัน และจัดตั้งขยะบนบกด้วย เพิ่มจุดทิ้งให้มากขึ้น ส่งผลให้ขยะน้อยลง ทุกคนหวังให้คลองลาดพร้าวกลับมาใสกว่านี้ แม้จะไม่สามารถกลับไปใสสะอาดเหมือนเมื่อก่อนได้

อีกต้นแบบเป็นชุมชนริมคลองเปรมประชากร บุญศรี สุวรรณดี ประธานชุมชนสตรีเหล็กพัฒนา บอกว่า เราเป็นชุมชนแออัดริมคลองเปรมฯ ทั้งสองฝั่งคลองมี 115 หลังคาเรือน ประชากร 470 คน แต่มีประชากรแฝงอยู่มาก ด้วยพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับดอนเมือง สภาพบ้านเปลี่ยนเป็นบ้านเช่า คนที่มาอยู่ขาดความตระหนักและรักในชุมชน มีการทิ้งขยะลงคลอง อีกทั้งขยะที่ลอยมาจากทิศทางอื่นด้วย ทำให้ขยะในคลองมีเยอะมาก น้ำมีสีดำ และมีกลิ่น ทุกวันนี้คนในชุมชนพยายามเป็นหูเป็นตา พบก็ตักเตือน ถ้าไม่ปรับปรุงก็แจ้งกับเจ้าหน้าที่เขตให้ดำเนินการทางกฎหมาย รณรงค์ให้ช่วยกันแยกขยะ และนำขยะไปทิ้งไว้ยังจุดที่จัดให้ ขยะน้อยลงกว่าเดิมมาก การทำงานในชุมชนทุกวันนี้อยากให้คลองเปรมฯ สะอาดขึ้น คนกลับมาใช้ชีวิตกับคลอง อาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว จัดตลาดน้ำ เพราะชุมชนในเขตดอนเมืองมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากมาย

หากคูคลองในเมืองกรุงเกือบ 2,000 แห่ง ขยะลดลง กลับมาสะอาดกว่าเดิม นอกจากลดมลพิษทางน้ำและอากาศแล้ว ยังทำให้กรุงเทพฯ เมืองน้ำ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่สิ่งสำคัญทุกคนต้องมีจิตสำนึก ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง ถ้าไม่ช่วยกันก็คงต้องเจอน้ำเน่า น้ำท่วม วนเวียนตลอดไป.


https://www.thaipost.net/main/detail/82418

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 02-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


กระบี่เปิดจุดชมวิว360 องศา'บนเกาะห้อง' จุดชมวิวสูงสุดแห่งเดียวในอันดามัน

1 พฤศจิกายน 2563 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาเป็นประธานเปิดหอจุดชมวิว 360 องศา เกาะห้อง เขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ต.เขาทอง อ.เมืองกระบี่ มี พ.ต.ท.มล.กิติบดี ประวิตร ผู้ราชการจังหวัดกระบี่ นายฑีฆาวุฒิ ศรีบุรินทร์ หน.อุทยานแห่งชาติธารโบกชขรณี พร้อมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ คอยต้อนรับ



โดยมีนายธัญญ เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวรายงาน ถึงที่มาของจุดชมวิวดังกล่าว เป็นโครงการก่อสร้างของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2562 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 9,737,400 บาท มีเส้นทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสูงสุดรวม 239 เมตร มีบันใดรวม 419 ขั้น ขึ้นไปยังความสูง 109 เมตร นับเป็นหอชมวิว 360 องศาที่สูงที่สุด และมีแห่งเดียวในฝั่งอันดามัน สามรถมองเห็นเกาะลูกโดที่มีอยุ่กว่า 10 เกาะ ในจ.กระบี่ และพังงา

โดยหอชมวิวดังกล่าวเริ่มเปิดให้ นทท.เข้าชมมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่ขึ้นไปเที่ยวชมไม่ต้องจ่ายค่าขึ้นหอชมวิว เนื่องจากรวมในค่าเข้าเที่ยวอุทยานฯ แล้ว ทั้งนี้จุดประสงค์ของการก่อสร้างหอชมวิวดังกล่าว เนื่องจากเมื่อปี 2558 ทางกรมอุทยานฯ เห็นว่าบนเกาะห้อง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับควาใมนิยมจาก นทท.เนื่องจากมีอ่าวที่สวยงาม ทำให้ในแต่ละวันมี นทท.เข้ามาเที่ยวชมกันจำนวนมาก สูงสุดที่วันละ 1,000 คน ทำให้ต้องหาจุดที่เป็นที่หลบภัยกรณีเกิดภัยพิบัติคลื่นสึนามิ จึงเริ่มมีการสำรวจ และทำแบบแปลนก่อสร้างขึ้นมา โดยให้ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง จึงทำให้เกิดแนวคิดทำเป็นจุดชมวิว 360 องศา ขึ้นด้วย



นายวราวุธ กล่าวว่า จุดชมวิว 360 บนเกาะห้อง ในเขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ ถือเป็นจุดชมวิวล่าสุดที่กรมอุทยานฯ เพิ่งสร้างเสร็จ เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นวิวได้โดยรอบ อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ มาเที่ยวกันให้มาก แต่ขอความกรุณาอย่าทิ้งขยะ หากมีขยะติดมือขอให้นำกลับไปด้วย ต้องช่วยกันรักษาเกาะห้องด้วย ในส่วนของพื้นที่ท่องเที่ยวของกรมอุทยานทั่วประเทศ ตอนนี้ทางกรมเปิดเกือบหมดทุกแห่งแล้ว ยกเว้นเพียงบางพื้นที่ ที่เจอปัญหามรสุม ภัยธรรมขาติ แต่ส่วนใหญ่ตอนนี้เปิดให้เข้าเที่ยวได้แล้ว

ในส่วนของพื้นที่กรมอุทยานที่ไม่มีชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวจากสถานการณ์โควิด-19 ทางกรมอยากส่งเสริมให้คนไทยเข้ามาเที่ยวกันให้มาก อยากให้คนไทยช่วยกันเข้ามาเที่ยวกันให้มาก ในส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการ จะมีการพูดคุยกันในการประชุม ครม.สัญจร ว่าจะมีมาตรการใดมาช่วยเหลือผู้ประกอบการได้บ้าง ในส่วนอ่าวมาหยา คิดว่าอีกไม่นานจะเปิดให้เข้าได้

ตอนนี้กำลังสร้างท่าเทียบเรือทางอ่าวโล๊ะซามะ แต่เมื่อเปิดแล้วจะเปิดให้เข้าได้ 350 คนต่อวันเท่านั้น และในบริเวณอ่าว จะไม่อนุญาตให้เรือเข้ามา หรือคนลงไปเล่นน้ำ เป็นแนวทางใหม่ในการท่องเที่ยวอ่าวมาหยา คาดว่าอีกไม่เกิน 6 เดือนจะเปิดได้



นอกจากนี้ทางนายวราวุธ ยังได้เยี่ยมชมการสาธิตการทำซีพีอาร์ หรือการผายปอด คนที่จมน้ำ จากเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานเกาะห้องด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำการสาธิตด้วยความตื่นเต้น นายวราวุธจึง ให้คำแนะนำว่า การทำซีพีอาร์นั้นจะต้องมีการซักซ้อมให้เกิดความชำนาญ จะได้ไม่ไม่ตื่นเต้น เพราะจะทำให้ขาดประสิทธิภาพในการประเมมินช่วยเหลือผู้ป่วย และโอกาสรอดชีวิตมีน้อยลง จึงต้องเพิ่มเวลลาการฝึกซ้อมให้มากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นนกท่องเที่ยว


https://www.naewna.com/likesara/529002

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:26


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger