เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 04-12-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบน และประเทศจีนตอนใต้แล้ว ในขณะที่มีลมตะวันตกพัดพาความหนาวเย็นจากประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป คลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก1วัน


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศเย็น กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.


คาดหมาย0

ในช่วงวันที่ 4 - 6 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่จะมีลมตะวันตกพัดพาความหนาวเย็นจากประเทศเมียนมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นลง กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 7 - 9 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ยังคงมีกำลังแรง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 4 ? 7 ธ.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงด้วย






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 04-12-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


เมื่อภาวะโลกร้อน กลายเป็นความปกติใหม่ ............... โดย มนนภา เทพสุด สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม



สภาพการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การละลายตัวของน้ำแข็งขั้วโลก ภัยพิบัติต่างๆ ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า และพายุ ที่ล้วนทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบเชื่อมโยงมาสู่ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความมั่นคงทางอาหาร การลี้ภัยเนื่องจากสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนน้ำจืด และการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เป็นต้น เป็นสภาพซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์ กำลังกลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดเพิ่มมากขึ้นในทุกแห่งหน จนเหมือนเป็น "ความปกติใหม่" ของโลกใบนี้ที่ทุกคนคุ้นเคย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหลักของการเกิดวิกฤตการณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน มหันตภัยร้ายระดับโลก ที่กำลังดำเนินไปด้วยอัตราเร่ง จนก้าวมาถึงครึ่งทางของขีดอันตรายที่บรรดานักวิทยาศาสตร์เคยเตือนไว้แล้วว่า จะเป็นจุดพลิกผันที่จะทำให้ระบบนิเวศของโลกถึงคราวล่มสลายได้ ทั้งที่ความพยายามลดขนาดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนนั้น ได้มีการดำเนินกันมาตั้งแต่พิธีสารเกียวโต จนมาถึงข้อตกลงปารีสแล้วก็ตาม

ผลการบันทึกสถิติค่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกในช่วงปี พ.ศ.1543-2543 (ค.ศ.1000-2000) ได้แสดงให้เห็นว่า สภาวการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเกินกว่าค่าเฉลี่ยในเกณฑ์ปกติ เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2404 เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมา และเพิ่มสูงมากสุดสิบปีในช่วงปี พ.ศ.2553-2562 โดยเมื่อในรอบปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกร้อนขึ้นจากยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นปีที่ร้อนสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากปี พ.ศ.2559 ที่ร้อนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งที่หากภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติ อันเนื่องมาจากผลการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลก (Variations in The Earthžs Orbital Characteristics) โลกซึ่งเคยเปลี่ยนผ่านช่วงยุคน้ำแข็งสลับกับยุคโลกร้อนมาแล้ว 7-8 ครั้งในรอบหนึ่งล้านปีที่ผ่านมา โตยผ่านยุคโลกร้อนครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว จะต้องอยู่ในช่วงเวลาของการปรับสมดุลให้อุณหภูมิค่อยๆ ลดต่ำลง เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้งตามวัฏจักร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานราวแสนปี แต่สิ่งที่ปรากฏกลับกลายเป็นว่า โลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกร้อนด้วยช่วงเวลาเพียง 200 ปีเท่านั้น

ยิ่งเมื่อสังคมโลกก้าวเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ส่งเสริมให้ก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ ถูกผลิตแล้วปล่อยออกมาสะสมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศได้อย่างไม่หยุดนิ่ง ประเทศทั่วโลกต่างมุ่งระดมเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานกระแสหลักกันอย่างมหาศาล เพื่อผลิตพลังงานมาใช้ทั้งในภาคส่วนอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การคมนาคม และการผลิตไฟฟ้า ประสานกับมีการเผาทำลายผืนป่า เพื่อขยายพื้นที่อุตสาหกรรม การเกษตร และสร้างชุมชนที่อยู่อาศัย รองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 351 ppm ในปี พ.ศ.2531 ซึ่งนับว่าสูงเกินกว่าระดับความปลอดภัยเป็นครั้งแรก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดไว้ที่ 350 ppm และถึงที่ระดับ 409.8 ppm แล้วในปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังนับเป็นค่าความเข้มข้นที่สูงมากสุดยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ ที่ชั้นบรรยากาศเหนือโลกเคยมีมาในรอบ 800,000 ปีด้วย เนื่องจากตลอด 800,000 ปีที่ผ่านมา ภายในชั้นบรรยากาศเหนือโลก ไม่เคยปรากฏมีปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเกินกว่าที่ระดับ 300 ppm และนับว่าเพิ่มสูงจากยุคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 46.36 เลยทีเดียว

ในด้านสภาพภูมิอากาศที่ภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลร้ายให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เลวร้ายลงทุกขณะ ภาวะอากาศร้อนรุนแรงที่แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก นอกจากจะส่งผลโดยตรงให้จำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูง (อากาศร้อน) มากขึ้น และจำนวนวันที่มีอุณหภูมิต่ำ (อากาศเย็น) น้อยลง จนฤดูกาลแปรปรวนแล้ว ความวิปริตแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ยังส่งผลให้บางประเทศต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ขัดแย้งในช่วงเวลาเดียวกัน ดังเช่น ที่ประเทศออสเตรเลียต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกากลับต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวจัด เมื่อในช่วงต้นปี พ.ศ.2560

นอกจากนี้แล้ว การระเหยของน้ำจากแผ่นดินและผืนน้ำที่เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น ก็ส่งผลให้พื้นที่เขตร้อน เขตกึ่งร้อน และบางส่วนของเอเชียใต้ ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในทวีป ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงและไฟป่าลุกลามได้บ่อยครั้ง ส่วนพื้นที่ซึ่งถูกมวลเมฆเคลื่อนตัวเข้ามาแล้วกลั่นตัวเป็นฝน ก็ประสบกับฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและรุนแรงจนเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ส่วนมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น ก็เป็นเหตุปัจจัยที่กระตุ้นให้ให้ลมพายุก่อตัวเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น และพายุเหล่านี้ก็ทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) ตามมามากขึ้นด้วย

โลกที่กำลังร้อนขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการละลายตัวของน้ำแข็งขั้วโลก ให้ดำเนินไปด้วยอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติ (National Snow and Ice Data Center-NSIDC) ได้เปิดเผยผลการสำรวจขั้วโลกเหนือด้วยดาวเทียมให้ทราบว่า แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมผืนโลกบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อภาวะโลกร้อนนั้น เคยมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่เฉลี่ยถึง 7.7 ล้านตารางกิโลเมตรเมื่อในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ.2522-2543 ได้เกิดการละลาย จนมีขนาดพื้นที่ลดลงเหลือเพียง 4.15 ล้านตารางกิโลเมตรในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ.2562 ซึ่งนับว่าละลายเร็วกว่าปกติ และละลายมากเป็นอันดับสองรองจากปี พ.ศ.2555 ที่เคยละลายมากสุดจนมีขนาดพื้นที่หดเล็กเหลือเพียง 3.39 ล้านตารางกิโลเมตร

ยิ่งไปกว่านั้น น้ำแข็งที่อาร์กติกซึ่งปกติจะละลายตัวในช่วงฤดูร้อน แล้วก่อตัวกลับมาเป็นน้ำแข็งอีกครั้งในช่วงฤดูหนาว กลับไม่สามารถแข็งตัวขยายขอบเขตขึ้นมาได้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ เป็นเพราะในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ คลื่นความร้อนซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5-10 องศาเซลเซียสจากไซบีเรีย ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาทำให้ผืนน้ำแข็งแห่งนี้มีอัตราการละลายของน้ำแข็งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอัตราการแข็งตัวของน้ำแข็งลดต่ำลง อีกทั้งยังมีการประเมินจากคณะสำรวจอาร์กติกของบริเตน (BAS) ด้วยว่า มหาสมุทรอาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งภายในปี พ.ศ.2578

และในปีนี้ ภาวะโลกร้อนได้เข้าคุกคามธารน้ำแข็งทั่วโลก ให้เกิดการละลายตัวเร็วขึ้นจนเกิดแตกหักแล้วหลายแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ธารน้ำแข็งที่ใหญ่และเก่าแก่ที่กรีนแลนด์ ซึ่งได้แตกหักลงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนธารน้ำแข็ง ไพน์ ไอส์แลนด์Ž (Pine Island) กับธารน้ำแข็ง ธเวตส์Ž (Thwaites) ที่ทวีปแอนตาร์กติกา ก็กำลังอยู่ในสภาวการณ์ที่แตกตัวมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

ที่สำคัญอีกประการคือ การละลายตัวของน้ำแข็งขั้วโลกละลายและการขยายตัวของน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ยังส่งผลกระทบเชื่อมโยงให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นตามมาอีกด้วย ปัจจุบันระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี พ.ศ.2423 ประมาณ 21-24 เซนติเมตรแล้ว โดยระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างช้าๆ ในระยะแรก แต่เมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 เมตร ก็จะเพิ่มขึ้นต่อไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเมื่อใดที่น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ถูกละลายจนหมด ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูง 7 เมตร และหากผืนน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกละลายจนหมด ระดับน้ำทะเลจะมีโอกาสเพิ่มสูงได้ถึง 57 เมตร

แน่นอนว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ย่อมนำพาปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งปัญหาพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะจนต้องสูญเสียผืนแผ่นดินไปบางส่วน ปัญหาการลดลงของพืชผลทางการเกษตร ประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กต่างๆ ดังเช่น มัลดีฟส์ และเมืองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำหลายแห่ง เช่น นิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่มีการทำการเกษตรในพื้นที่เขตร้อนอย่างสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จะถูกน้ำทะเลเข้าท่วมจนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงภายในสิ้นศตวรรษนี้ นอกจากนี้ การสูญเสียผืนน้ำแข็งยังนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อชีวิตของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในขั้วโลกเหนือ ทั้งแมวน้ำ หมีขั้วโลก แพลงตอน และสาหร่ายทะเล ซึ่งการลดลงของแพลงตอนและสาหร่ายทะเล ยังส่งผลให้ความสามารถในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศลดต่ำลงด้วย

ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ทั้งไฟป่า น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และการละลายตัวของชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) คงตัว ถือเป็นปัจจัยป้อนกลับที่ซ้ำเติมให้โลกร้อนยิ่งขึ้นได้ เหตุเพราะเมื่อไฟป่าลุกไหม้ จะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกผลิตออกมาสู่ชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น ส่วนการละลายตัวของน้ำแข็งขั้วโลก ก็จะส่งผลให้ผืนน้ำแข็งสีขาวที่เหลือมีศักยภาพสะท้อนความร้อนสู่อวกาศได้น้อยลง แต่ปริมาณน้ำซึ่งมีศักยภาพดูดซับความร้อนไว้ได้ดีกลับเพิ่มมากขึ้น โลกจึงร้อนยิ่งขึ้นได้อย่างเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ และร่วมกันเร่งแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจัง โอกาสที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นบรรยากาศจะเพิ่มสูงต่อไป จนถึงขีดอันตรายที่ระดับ 450 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส (จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม) ก็จะมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น โลกก็จะก้าวเข้าสู่จุดพลิกผัน อันนำมาซึ่งการพังทลายของระบบภูมิอากาศ ความล่มสลายในส่วนต่างๆ ของระบบสิ่งแวดล้อมโลก และสภาพการณ์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นความปกติใหม่ของโลกใบนี้ ที่ทุกคนต้องเผชิญหน้า


https://www.matichon.co.th/article/news_2467590
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 04-12-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


ปี 2020 ติดโผ 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

องค์การสหประชาชาติเตือนโลกกำลังอยู่ในหายนะ โดยปีนี้เป็นหนึ่งในปีที่ร้อนที่สุดในรอบร้อยกว่าปี


Photo by JOSH EDELSON / AFP

เอเอฟพี รายงาน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เตือนว่าโลกกำลังอยู่ในช่วง "หายนะของสภาพภูมิอากาศ" โดยปีนี้เป็น 1 ใน 3 ปีที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกตั้งแต่ปี 1850 หรือเมื่อ 170 ปีที่แล้ว

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเผยรายงานปี 2020 ระบุว่าโลกกำลังเข้าใกล้ภัยพิบัติจากสภาพอากาศ โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไฟไหม้ น้ำท่วม พายุไซโคลน และเฮอริเคนกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเรื่อยๆ

"มนุษย์กำลังทำสงครามกับธรรมชาติซึ่งนี่ถือเป็นการฆ่าตัวตายเพราะธรรมชาติมักจะโต้กลับเสมอ และมันก็กำลังทำเช่นนั้นด้วยพลังและความโกรธที่เพิ่มมากขึ้น" กูเตอร์เรสกล่าว

เพตเตรี ทาลัส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2020 เพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีโอกาสอย่างน้อย 1 ใน 5 ที่จะเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2024

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่าในปีนี้เป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 2 เท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยในช่วงปี 2015 ถึง 2020 อุณภูมิโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 6 ครั้ง และอุณภูมิเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

ก๊าซเรือนกระจกทำสถิติสูงสุดในปีที่แล้วและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้แม้จะมีมาตรการระงับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม เช่นเดียวกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ดังนั้นมาตรการจากโควิด-19 นั้นแทบจะไม่มีผล โดยจะต้องมีการผลิตน้ำมันก๊าซและถ่านหินลดลง 6% ต่อปีเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2020 เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าในออสเตรเลีย ไซบีเรีย ชายฝั่งทางตะวันตกของสหรัฐ และอเมริกาใต้, น้ำท่วมในแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เกิดพายุอย่างน้อย 30 ครั้ง, ความร้อนทางตอนเหนือของไซบีเรียสูงถึง 38 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดที่เคยพบทางตอนเหนือของอาร์กติกเซอร์เคิล, 80% ของพื้นที่มหาสุมรประสบกับคลื่นความร้อนทางทะเลอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ รวมถึงระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเนื่องจากแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย

อย่างไรก็ตามรายงานอุณหภูมิดังกล่าวเป็นเพียงฉบับชั่วคราวโดยอ้างอิงจากอุณหภูมิตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม ซึ่งรายงานฉบับสุดท้ายของปีนี้จะเผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2021


https://www.posttoday.com/world/639505
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 04-12-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


สหประชาชาติเรียกร้องนานาชาติผนึกกำลังกอบกู้สิ่งแวดล้อมโลก


เลขาธิการยูเอ็นเตือนว่า "ธรรมชาติมักจะโต้กลับด้วยสัพพะกำลังและความโกรธเกรี้ยว"

"โลกของเรากำลังพัง" นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวเตือนว่ามนุษยชาติกำลังทำสงคราม "ฆ่าตัวตาย"กับธรรมชาติ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์อย่างแท้จริง

เลขาธิการยูเอ็น กล่าวเรื่องนี้ในงานพิเศษด้านสิ่งแวดล้อมของบีบีซีว่า "ธรรมชาติมักจะโต้กลับด้วยสัพพะกำลังและความโกรธเกรี้ยว"

นอกจากนี้เขายังต้องการให้การต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวใจสำคัญในภารกิจโลกขององค์การสหประชาชาติในปีหน้านี้

ในสุนทรพจน์ที่มีชื่อว่า "สภาพการณ์โลก" นายกูเตอร์เรสประกาศว่า เป้าหมายหลักในปี 2021 ของยูเอ็นคือการสร้างความร่วมมือระดับโลกเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์หมายถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และสร้างภาวะสมดุลระหว่างก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยออกมาในอนาคตกับการลดปริมาณก๊าซดังกล่าวที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก

นายกูเตอร์เรสกล่าวว่า ทุกประเทศ เมือง สถาบันการเงิน และบริษัทต่าง ๆ "ควรต้องดำเนินแผนการสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050" ซึ่งในมุมมองของเขา องค์กรเหล่านี้จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อมุ่งสู่วิถีทางที่ถูกต้อง นั่นคือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกลง 45% จากระดับในปี 2010 ให้ได้ภายในปี 2030


ส่วนข้อเรียกร้องอื่น ๆ ของเลขาธิการยูเอ็นได้แก่

- ตั้งราคาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

- ยุติการให้เงินช่วยเหลือและการอุดหนุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล

- เปลี่ยนภาระภาษี (tax burden) จากภาษีเงินได้ไปเป็นภาษีคาร์บอน และเปลี่ยนสถานะจากผู้เสียภาษีไปเป็นผู้ก่อมลพิษ

- ให้บรรจุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ไว้ในนโยบายและการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจและการคลังต่าง ๆ

- ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับผลกระทบรุนแรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ภัยธรรมชาติล้างโลก

นายกูเตอร์เรส ยอมรับว่าจำเป็นต้องดำเนินมาตรการสุดโต่งเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน

"ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงชัดเจนว่า ถ้าโลกไม่ลดการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลลง 6% ทุกปี ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงปี 2030 อะไร ๆ ก็จะเลวร้ายลงอย่างมาก"

เลขาธิการยูเอ็น ชี้ว่า นโยบายด้านสภาพอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะใช้รับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่า "หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม เราก็อาจมุ่งสู่หายนะ นั่นคือ การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้"

ซึ่งผลกระทบดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก

"ไฟป่าและน้ำท่วม พายุไซโคลนและเฮอร์ริเคนที่รุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ในปัจจุบัน" เขากล่าว

"ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังล่มสลาย ทะเลทรายกำลังแผ่ขยายอาณาเขต มหาสมุทรกำลังเต็มไปด้วยขยะพลาสติก ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีพลาสติกมากกว่าปลาในทะเล"

นายกูเตอร์เรส เรียกร้องให้ประชาคมโลกให้คำมั่นอันทะเยอทะยานที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในเดือน พ.ย. ปีหน้า

นอกจากนี้เขาจะกดดันให้มีการดำเนินการเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก และเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันแก้วิกฤตการสูญพันธุ์ ซึ่งกำลังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และดำเนินความพยายามเพื่อลดมลพิษ โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องหยุดทำสงครามกับโลก "เราต้องประกาศสงบศึกอย่างถาวรและกลับมาปรองดองกับธรรมชาติอีกครั้ง"


https://www.bbc.com/thai/international-55160422

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:12


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger