เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 10-09-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังโดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564 เนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง

อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง "โกนเซิน" (CONSON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนประมาณวันที่ 13 กันยายน 2564 ส่งผลทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 9 ? 10 ก.ย. 64 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 15 ก.ย. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก และภาคใต้

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงตลอดช่วง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

อนึ่ง พายุโซนร้อน "โกนเซิน" (CONSON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่อ่าวตังเกี๋ย ในช่วงวันที่ 13-14 กันยายน 2564


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 9 - 10 ก.ย. 64 ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจน ถึงวันที่ 14 กันยายน 2564



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุโซนร้อนกำลังแรง "โกนเซิน"" ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 10 กันยายน 2564

เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (10 ก.ย. 64) พายุโซนร้อนกำลังแรง "โกนเซิน" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.3 องศาตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นและเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนประมาณวันที่ 13 กันยายน 2564 ส่งผลทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 10-09-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าทะเลไม่มีสัตว์น้ำวัยอ่อน? .................. Songwut Jullanan

"เคยไปยืนชายทะเลไหม มองไปที่ทะเลกว้างใหญ่ไพศาลเลยใช่ไหม แล้วมันจะจับปลาที่มีในนั้นได้หมดเหรอ" อาจารย์มุกถามขึ้นระหว่างอธิบายถึงความเชื่อที่ว่า "ปลาทะเลไทย กินเท่าไรก็ไม่หมด"

"เชื่อไหมว่าชาวประมงหลายพื้นที่เชื่อว่าสัตว์น้ำมีให้จับไม่มีหมด เคยไปยืนอยู่ชายทะเลคุยกับชาวประมงว่า มองดูทะเลแล้วคิดไม่ออกใช่ไหมว่าเราอาจจับปลาทะเลจดหมดเกลี้ยง เขาก็หัวเราะ" อาจารย์กล่าวต่อ

แต่ทะเลไทยที่ครั้งหนึ่งเคยมีปลาชุกชุม ผลิตอาหารให้คนไทยมาหลายต่อหลายรุ่น จนนำไปสู่ความคิดที่ว่า "ปลาทะเลไทย กินเท่าไรก็ไม่หมด" มาวันนี้ชักไม่แน่เสียแล้ว

การจับสัตว์น้ำเกินขีดความสามารถของทรัพยากรกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปลาทะเลไทยลดลงอย่างรวดเร็ว สถิติกรมประมงชี้ว่าตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ปริมาณการจับปลาทะเลโดยเฉลี่ยลดลงถึงร้อยละ 1.20 ต่อปี

การทำประมงเกินความสามารถของทรัพยากรแบ่งได้หลายประเภท โดยหนึ่งในปัญหาที่ไทยเผชิญอย่างหนักคือ Growth Overfishing หรือการจับสัตว์น้ำที่ยังอยู่ในวัยอ่อน


สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ถูกจับขึ้นมาด้วยอวนลากหน้าดินที่อ่าวไทย | ? Athit Perawongmetha

เรือประมงไทยบางส่วนนิยมใช้อวนลากและอวนรุนตาถี่ขนาด 20 มิลลิเมตรและ 10 มิลลิเมตร ทั้งที่ขนาดอวนที่เหมาะสมอยู่ที่ 40 มิลลิเมตร ทำให้ติดปลาขนาดเล็กขึ้นมาจำนวนมาก

ปลาวัยอ่อนเหล่านี้กลับยังมีตลาดรองรับที่ชัดเจน ทั้งโรงงานปลาป่นอาหารสัตว์ ช่องทางออนไลน์ หรือแม้แต่ห้างร้านชื่อดัง ส่วนผู้บริโภคจำนวนมากยังไม่รู้ว่าที่บริโภคไปคือสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำให้ยังมีการจับ-ซื้อ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อนต่อไป


คำถามคือ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับทะเล?

"สมดุลของห่วงโซ่อาหารจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเราไม่เหลืออะไร" อาจารย์มุก หรือ ผศ. ดร. จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ อาจารย์ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบาย

อาจารย์มุกเริ่มอธิบายถึงผลกระทบของการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเปรียบเทียบความแตกต่างของห่วงโซ่อาหารสัตว์บกและสัตว์ทะเล

ในสัตว์บก สิ่งมีชีวิตหนึ่งๆจะอยู่ในตำแหน่งของตนเองในห่วงโซ่อาหาร เช่น วัวกินหญ้า เสือกินวัว และจะคงอยู่อย่างนี้ แตกต่างจากสัตว์น้ำที่จะอยู่ในหลายระดับในห่วงโซ่อาหาร เมื่อเกิดมาปลาเล็กเป็นอาหารให้ปลาใหญ่ แต่บางส่วนก็ค่อยๆไต่ระดับขึ้นไปเป็นผู้ล่า


สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ถูกจับขึ้นมาด้วยอวนลากหน้าดินที่อ่าวไทย | ? Athit Perawongmetha

แต่เมื่อปลาเล็กจำนวนมากโดนจับขึ้นมาจำหน่าย เท่ากับเป็นการตัดตอนโอกาสที่พวกมันจะเติบโตมาเป็นปลาทรัพยากรประมง ก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล จำนวนอาหารของผู้ล่าลดลง ขณะเดียวกัน ปลาใหญ่ที่เป็นผู้ล่าและมีหน้าที่จำกัดพันธุ์สัตว์น้ำบางชนิดยังคงถูกกวาดขึ้นจากท้องทะเลอย่างต่อเนื่อง ทำให้สมดุลของท้องทะเลเปลี่ยน

"ความต้องการสัตว์ทะเลสูงขึ้น การบริหารจัดการประมงยังตามไม่ทันการจับของชาวประมง เราจับปลาตัวเล็กลงเรื่อยๆ จับจนกระทั่งแม้แต่ลูกเล็กลูกน้อยวัยอ่อน นี่คือเหตุผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะว่าส่วนประกอบของแต่ละสปีชีส์ที่เคยคงสภาพให้เกิดสมดุลมันเปลี่ยน" อาจารย์มุกอธิบาย

"เปลี่ยนแล้วเกิดอะไรขึ้น มันก็เข้าสู่สมดุลแบบใหม่ องค์ประกอบในสิ่งมีชีวิตของสมดุลใหม่มันไม่เหมือนของเดิม สัตว์น้ำบางชนิดถึงเหลืออยู่ก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาเป็นทรัพยากรประมง เป็นแค่ตัวเล็กตัวน้อยอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เราจับลูกเล็กเด็กแดงเราก็ไม่เหลือที่มันจะโตไปสืบพันธุ์ แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อชาวประมง มันก็ไม่เหลือปลาให้จับต่อไป"


ความกังวลของชาวประมงรุ่นใหม่

ถ้าจะพูดถึงความ "เปลี่ยนแปลง" ที่ว่านี้ให้เห็นภาพชัดที่สุด คงต้องเล่าผ่านสายตาของชาวประมงที่อาศัยอยู่กับทะเลนับสิบปี


กิตติเดช เทศแย้ม ชาวประมงรุ่นใหม่จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กิตติเดช เทศแย้ม หรือ นิสสัน เป็นชาวประมงรุ่นใหม่ที่เริ่มออกเรือตั้งแต่ ป.6 ปัจจุบันเขาอายุ 25 สิบกว่าปีที่นิสสันใช้ชีวิตอยู่กับทะเล เขาได้เห็นฝูงปลาที่ครั้งหนึ่งเคยชุกชุมค่อยๆหายไป

"สัตว์น้ำทั้งปลาปูกุ้งลดน้อยลง ทุกอย่างลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อก่อนเรามีเครื่องมือสามมัดแต่สามารถจับปลาได้มากมาย พอผมโตขึ้นเราต้องใช้เครื่องมือเป็นสิบๆมัดเพื่อให้จับปลาได้เท่าเดิม มันแสดงให้เห็นว่าปลามันน้อยลงแล้ว"

"เมื่อก่อนพอถึงฤดูของมัน ปลาทูหรือปลาต่างๆ จะขึ้นฝูงให้เราเห็น ให้ปลาวาฬหรือปลาใหญ่ขึ้นมากินมัน แต่ตอนนี้เราไม่เห็นแล้ว เมื่อก่อนเดินตามชายหาดเราเจอลูกปูม้า ตอนนี้เราก็ไม่เห็นแล้ว"

นิสสันเติบโตในครอบครัวชาวประมง และมุ่งมั่นจะยกระดับอาชีพประมงควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม เขาเล่าด้วยความกังวลว่า ถ้าชาวประมงยังไม่ปรับเปลี่ยนความคิดและจับสัตว์น้ำวัยอ่อนต่อไป อนาคตอาจไม่มีอาชีพประมงอีกต่อไป และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจชุมชนทั้งระบบ

"ถ้าเกิดหมู่บ้านใครหรือจังหวัดใครไม่ปรับตัวไม่เปลี่ยนแปลง ยังจับสัตว์น้ำวัยอ่อน อาชีพเราก็จะหมดไป เพราะมันจะไม่มีปลามาทดแทนรุ่นสู่รุ่น"

"และที่กังวลมากคือเรื่องระบบเศรษฐกิจ พอชาวประมงไม่มีอาชีพพอไปซื้อของอย่างอื่น ไม่มีเงินไปซื้อผักผลไม้ คนที่ขายผักผลไม้ก็ไม่มีคนซื้อ ทุกคนจะได้รับผลกระทบหมด"

เสียงเตือนจากชาวประมงวัย 25 นี้ จึงควรเป็นเครื่องปลุกให้เราเริ่มเปลี่ยนเพื่อทะเลอย่างจริงจัง แต่การจะรักษาให้มีปลาทะเลอยู่คู่ทะเลไทยต่อไปต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งบริโภค ผู้ขาย และผู้จับ

ชาวประมงควรเลือกจับสัตว์น้ำที่โตเต็มวัย ให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสสืบพันธุ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนถูกจับ เปิดโอกาสให้สัตว์น้ำโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และได้มีโอกาสแพร่พันธุ์ ส่วนห้างร้านควรเลิกขาย เพราะหากไม่มีช่องทางการขายแล้ว คนจับก็จะหยุดจับ

ผู้บริโภคเองก็มีส่วนช่วยในการปกป้องทะเลด้วยการเลิกสนับสนุนสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยสามารถตรวจสอบขนาดที่เหมาะสมของสัตว์น้ำแต่ละชนิด ทั้งนี้อาจไม่ถึงกับต้องใช้ไม้บรรทัดวัด แค่ลองกะเอาง่ายๆด้วยสายตา หรือจะโหลดคู่มือเลือกอาหารทะเลเก็บไว้ใช้เลือกซื้ออาหารทะเล



นอกจากนั้นยังสามารถช่วยกันส่งเสียงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ที่ https://www.change.org/babyseafood

เสียงของผู้บริโภคจะส่งไปถึงห้างร้านเพื่อเรียกร้องให้หยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อน และในวันที่ไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนขาย ปริมาณการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนก็จะลดลง เหมือนการส่งสัญญาณทางอ้อมให้รู้ว่า เราต้องการอาหารทะเลที่มาจากผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม


https://www.greenpeace.org/thailand/...venile-fishes/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:24


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger