เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 16-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 15 - 16 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้าปกคลุมภาคตะวันอออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 21 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังออนลง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ตลอดช่วง บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 15 - 16 ส.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 16-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


จากสารคดีวาฬอเมริกาถึงกะเหรี่ยงบางกลอย คำถามท้าทายถึงสมดุลการอนุรักษ์ ............. โดย ณิชา เวชพานิช



"Entangled" แปลว่า พัวพัน ในบริบทประมง หมายถึงปลาที่ติดตาข่ายและถูกเชือกพัน และในความของคน หมายถึงการพันพัวอยู่ในสถานการณ์ซับซ้อนยากจะปลดตัวเองออกมา

"Entangled" เป็นชื่อสารคดีที่กำลังเปิดให้ชมฟรีอยู่ ณ ขณะนี้ทางออนไลน์ โดยความร่วมมือของ Documentary Club และกรีนพีซ ประเทศไทย ภาพยนตร์ความยาวราวหนึ่งชั่วโมงสร้างจากเรื่องจริงเกี่ยวกับประเด็นถกเถียงใหญ่โตในวงการอนุรักษ์ เมื่อวาฬไรต์แอตแลนติกเหนือ วาฬสายพันธุ์ท้องถิ่นในน่านน้ำอเมริกาเหนือกำลังจะสูญพันธุ์ จนเกิดความพยายามอนุรักษ์วาฬตัวนี้มากมายจากทั้งภาครัฐและนักอนุรักษ์ ทว่าแผนเซฟวาฬนี้กลับต้องแลกมาด้วยการเสียรายได้มหาศาลของชาวประมงอุตสาหกรรมล็อบสเตอร์

วาฬไรต์แอตแลนติกเหนือ (North Atlantic right whales) ถูกจัดเป็นสัตว์สถานะใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันมีจำนวนน้อยกว่า 400 ตัว คำถามที่ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้วาฬสายพันธุ์นี้หายไปอาจตอบได้ด้วยชื่อของมัน มีเรื่องเล่าว่า เพราะวาฬพันธุ์นี้มีพฤติกรรมชอบลอยตัวบนผิวน้ำ ทำให้เป็นเป้าล่านำไขมันไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ง่าย จึงเป็นที่มาของชื่อ "Right Whale" (วาฬที่ใช่) ในการล่า

ในช่วงศตวรรษที่ 20 สมัยที่ทุกคนยังใช้ตะเกียงน้ำมันส่องสว่างในยามมืด การล่าวาฬเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ คาดว่าก่อนหน้านั้นมีวาฬมากกว่า 20,000 ตัว แต่พวกมันก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศห้ามล่าวาฬ

แต่แม้วันนี้ จะไม่มีใครหยิบฉมวกขึ้นไปไล่แทงวาฬอีกต่อไปแล้ว ทว่า "การล่า" ทำร้ายวาฬอาจจะยังดำเนินอยู่ ในรูปแบบใหม่ เพราะการประมงกุ้งยักษ์ "ล็อบสเตอร์" ซึ่งเป็นรายได้หลักและวิถีที่สืบทอดกันมาหลายรุ่นของชาวประมงริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ถึงแคนาดา

การทำประมงกุ้งล็อบสเตอร์ ชาวประมงจะหย่อนลอบดักที่ผูกเชือกไนลอนลงไปที่ก้นมหาสมุทร เชือกที่ห้อยโยงเป็นแนวดิ่งเหมือนม่านเหล่านี้กลายเป็นอาวุธที่เฉือดเฉือนวาฬไรต์ที่ว่ายหากินอยู่ในอ่าว จนได้แผลและติดเชื้อตาย



แม้จะช่วยปลดวาฬที่ถูกอุปกรณ์ประมงเหล่านี้มัดไว้ได้ แต่ช่วงเวลาที่ถูกเชือกรัดจะสร้างภาวะตึงเครียด ที่เป็นสาเหตุหลักที่วาฬตัวเมียออกลูกน้อยลง จนจำนวนวาฬไรต์ที่เกิดใหม่แตกต่างกับจำนวนที่เสียชีวิตอย่างลิบลับ

ด้วยวิกฤตนี้ นักอนุรักษ์และองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐฯ (NOAA) ที่มีภารกิจบริหารจัดการทะเล จับมือหาทางปกป้องวาฬ เริ่มต้นด้วยการประกาศปิดอ่าวไม่ให้ทำประมงเป็นเวลาสามเดือนต่อปี แต่นั้นเหมือนจะไม่พอ จึงเริ่มเดินหน้าดันมาตรการที่เข้มข้นขึ้น อย่างการปิดอ่าวนานยิ่งขึ้น สร้างความไม่พอใจกับชาวประมงล็อบสเตอร์

"วาฬไรต์เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่ชาวล็อบสเตอร์ก็ใกล้สูญพันธุ์เหมือนกัน!"

เรื่องกลายเป็นเรื่องใหญ่ กลายเป็นการงัดข้อระหว่างนักอนุรักษ์กับชาวประมง พร้อมแรงสนับสนุนจากนักการเมืองหลากขั้ว จนกระทั่งถึงขั้นขึ้นศาล แต่ท่ามกลางความเห็นต่าง ทุกคนต่างมีคำถามเดียวร่วมกัน "เราจะอนุรักษ์วาฬยังไงให้คนไม่สูญพันธุ์ไปด้วย"

มองกลับมาบ้านเรา คำถามนี้ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่ แต่คงเป็นสิ่งที่ก้องอยู่ในใจของใครหลายคนมาตลอด เห็นได้จากตัวอย่างข่าวสิ่งแวดล้อมร้อนแรงประจำปีนี้ อย่างกรณีผืนป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเพื่อรักษาป่าต้นน้ำและถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์นานาชนิด แต่รางวัลนี้ไม่ใช่ความดีใจของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกไล่รื้อจากพื้นที่บรรพบุรุษ และมีความเป็นอยู่แร้นแค้นด้วยกฎหมายอนุรักษ์ต่างๆ นานาที่ไม่เปิดให้ใช้ชีวิตตามวัฒนธรรมพึ่งพิงธรรมชาติ

"#saveบางกลอย" ทีมอยากคุ้มครองชาวกะเหรี่ยง และ "#saveแก่งกระจาน" ทีมอยากปกป้องจระเข้น้ำจืดและความหลากหลายทางชีวภาพ กลายเป็นเหมือนนักมวยที่ยืนอยู่คนละฟากของสังเวียน ?แต่หากคิดดูดีๆ แล้ว มันจำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นไหม ถ้าทั้งสองฝ่ายเลิกมองว่าอีกฝ่ายเป็นฝั่งตรงข้าม แต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องเดียวกันที่จะต้องมาหารือหาทางออกร่วม

ไคลแม็กซ์ของสารคดีวาฬนี้อาจเป็นฉากห้องประชุม เมื่อองค์การบริหารสมุทรฯ จัดเวทีเชิญชาวประมงและนักอนุรักษ์มาหาทางออกร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างเล่าว่าธุรกิจล็อบสเตอร์และการอนุรักษ์วาฬสำคัญอย่างไร ท้ายที่สุด จึงได้มาตรกาที่ทั้งสองฝ่าย "รับได้" ออกมา คือ การลดการตายของวาฬให้ได้ 60% ลดการใช้เชือกผูกลอบราวครึ่งหนึ่งและใช้เชือกที่มีลักษณะอ่อนลงที่วาฬสามารถหลุดออกมาได้โดยไม่รัดจนบาดเจ็บ

ความขัดแย้งแก่งกระจานเป็นมหากาพย์หลายสิบปี และยิ่งเวลาผ่านไป ปัญหาและความไม่พอใจกันก็ยิ่งสะสม เราแทบไม่เห็นเวทีที่มีคนความคิดเห็นต่างมาคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อหาทางออก เมื่อธันวาคมปี 2563 เครือข่ายกะเหรี่ยงธรรมชาติและวัฒนธรรม ภาคตะวันตก ได้จัดเวที "สุนทรียเสวนา โค้งสุดท้ายแก่งกระจานขึ้นมรดกโลก" โดยได้เชิญหน่วยงานรัฐด้านป่าไม้มาร่วมเวที แต่กลับไม่มีตัวแทนมาเข้าร่วมแม้แต่เพียงคนเดียว

หรือตอนช่วงเมษายนระหว่าง "ปฏิบัติการต้นน้ำเพชร" เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานพาชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่เดินเท้ากลับขึ้นไปใจแผ่นดินลงมายังพื้นที่จัดสรรข้างล่างและดำเนินคดี การเจรจาที่เกิดขึ้น ณ ศาลาพอละจี กลับไม่ได้เป็นการเจรจาที่เปิดประตูสู่ความเข้าใจกันด้วยกำแพงภาษาและทัศนคติ ตัวแทนชาวบ้านตัดสินใจ "วอล์กเอาท์" เดินออกจากการคุย



มันคงจะดี ถ้าในประเด็นสีเทาแบบบางกลอยหรือวาฬไรต์ องค์การของภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นคนตรงกลาง แทนการทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

"เรื่องของเรื่องคือ การประมงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้วาฬไรต์สูญพันธุ์ มันกลายเป็นว่าหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กลับขัดแย้งในภารกิจของตัวเองอย่างยิ่ง"

เพราะความเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณกำลังเจอโจทย์หินในการหาสมดุลในสมการอนุรักษ์ คุณจะให้น้ำหนักอย่างไรระหว่างคนกับธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุด คือ คุณจะทำอะไร

หรือในความเป็นจริงแล้ว หากเปลี่ยนมุมมอง คนกับธรรมชาติอาจไม่ได้อยู่คนละฟากของสมการ คนที่เป็นภัยคุกคามธรรมชาติ อาจเป็นฮีโร่ให้ธรรมชาติได้ด้วยเช่นกัน เพราะพวกเขาคือคนในพื้นที่ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติตรงนั้น เช่น ชาวประมงที่ช่วยนักวิทยาศาสตร์ติดตามพฤติกรรมวาฬ ชาวประมงที่ตั้งใจใช้ลอบดักกุ้งสีแสบตาด้วยหวังว่าวาฬจะเห็นและเลี่ยงการถูกอุปกรณ์ประมงทำร้าย หรือตัวอุตสาหกรรมล็อบสเตอร์เอง ที่ตัดสินใจลงชื่อเห็นด้วยกับมาตรการอนุรักษ์ฉบับใหม่ที่จะช่วยรักษาชีวิตสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์นี้

หนังจบ ความเป็นจริงยังไม่จบ ปัจจุบัน ข้อถกเถียงเรื่องการอนุรักษ์วาฬไรต์ยังไม่จบ เพราะมาตรการที่ชาวประมงยอมถอยให้ก้าวหนึ่งยังถูกตั้งคำถามว่าอาจจะไม่ได้ช่วยรักษาวาฬให้ไม่สูญพันธุ์ได้ทันเวลาและเทคโนโลยีประมงใหม่ๆ อย่างการวางลอบกุ้งแบบไร้สายผ่านสัญญาณคลื่น ก็น่าสงสัยว่าจะใช้งานได้จริงและเข้าถึงได้สำหรับชาวประมงมากเพียงไหน

เรื่องราวของการอนุรักษ์คนและธรรมชาติคงเป็นหนังปลายเปิด ที่เราคงต้องชั่งน้ำหนักและหาสมดุลของสมการอยู่เรื่อยๆ เพื่อรับมือกับโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน


https://greennews.agency/?p=24917

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:42


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger