เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรรพชีวิตแห่งท้องทะเล

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 28-11-2009
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,204
Default อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลเกาะมันใน ในพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ


อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลเกาะมันใน ในพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ



“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยที่เต่าทะเล ทรงตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทยนับวันมีแต่จะลดน้อยลง มีสัตว์หลายชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยเฉพาะเต่าทะเล เช่น เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าตาแดง ซึ่งในอดีตเคยมีเป็นจำนวนมาก บัดนี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราษฎรนิยมเก็บไข่เต่าทะเลไปซื้อขายเพื่อประกอบอาหาร แม้กรมประมงจะขอแก้ไขกฎหมายประมง เมื่อพ.ศ.2493 กำหนดให้ผู้ครอบครองเต่าทะเลมีความผิดตามกฎหมายแต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยได้พระราชทานเกาะมันใน จังหวัดระยอง ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นถวายให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จัดเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล พระราชทานชื่อว่า โครงการสมเด็จฯอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เริ่มเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2522ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนจากกรมประมง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เต่าทะเล เพื่อนำไปใช้ในการแพร่ขยายพันธุ์ศูนย์อนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล นี้” ข้างต้นคือแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.) นำโดยหม่อมหลวง จิรพันธุ์ ทวีวงศ์ รองเลขากปร. คุณศศิพร ปาณิกบุตร หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์นำสื่อมวลชนไปสัมผัสโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล


พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลอยู่ที่เกาะมันใน ลงเรือเพื่อไปเกาะมันในที่ท่าเรือบริเวณอนุสรณ์เรือรบหลวงประแส ใช้เวลา 45 นาที ในการเดินทางไปที่เกาะด้วยเรือของกรมทรัพยากรทางทะเล

เริ่มแรกการดำเนินโครงการมีระยะเวลาแต่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เมื่อโครงการชื่ออนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลสิ้นสุดลง ได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล” สังกัดกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ห่างจากชายฝั่งอ่าวมะขามประมาณ 6 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 137 ไร่

พื้นที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นชายฝั่งยาว 1,200 เมตร กว้าง 550 เมตร ประกอบด้วยหาดทรายและโขดหินน้อยใหญ่จำนวนมาก เป็นแหล่งที่เต่าทะเลชอบขึ้นมาวางไข่ ทั้งเต่ากระและเต่าตนุ ขณะเดียวกันก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยห้ามจับและมีไว้ในครอบครองอีกด้วย



ขณะที่นั่งเรือเจ้าหน้าที่ของศูนย์ได้เล่าเกร็ดความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกาะมันที่มีอยู่ 3 เกาะ มันใน มันนอก มันกลาง

3 เกาะมัน ประวัติเล่าสืบกันมาแบบนิทานพื้นบ้านเกี่ยวข้องกับปลากระเบน เลยเกี่ยวเกาะไปโยงเข้ากับอ่าวคุ้งกระเบนเข้าจนได้ ฟังแล้วก็สนุกดี

เกร็ดความรู้เรื่องเรือหลวง (เรือรบ) ประแสที่ใช้ในราชการตั้งแต่เมื่อครั้ง สงครามโลกครั้งที่สอง เพิ่งจะมาปลดระวางเมื่อสิบปีที่แล้วมานี่เอง การปลดระวางเรือหลวงประแส ไม่ได้ชักลากเข้ามาเหมือนทั่วๆไป แต่ลอยเข้ามาเอง พอจะขึ้นบกก็ใช้ขุดร่องให้ลอยเข้ามา

ฟังไปดูทะเลไป 45 นาทีจึงเหมือนลัดนิ้วมือ นั่งยังไม่ทันก้นร้อนถึงแล้ว ไปถึงเกาะก่อนเที่ยง จุดหมายคือที่เพาะพันธุ์เต่าทะเล

นายนิคมินทร์ จารุจินดา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก บรรยายถึงวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯว่าเพื่อศึกษาวิจัยชีววิทยาของเต่าทะเล อนุรักษ์ และ เพิ่มจำนวนโดยการเพาะขยายพันธุ์ปล่อยสู่ทะเลตามธรรมชาติ โดยวิธีนำไข่เต่าทะเล ซึ่งส่วนใหญ่ได้ จาก เกาะคราม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ในความดูแลของกองทัพเรือ นำมาเพาะฟัก และอนุบาล เมื่อลูกเต่ามีอายุประมาณ 6 เดือน จะติดเครื่องหมายเพื่อติดตามผล นำปล่อยลงสู่ทะเล

“ลูกเต่าส่วนหนึ่งนำไปเลี้ยงไว้เป็นแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ต่อไป กรมประมงประกาศขอให้ผู้พบเต่าทะเลที่ติดเครื่องหมายนำส่งคืนศูนย์ฯ เพื่อเป็นข้อมูลศึกษาค้นคว้าวิจัย และยังทดลองเลี้ยงเต่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อให้ผสมพันธุ์และวางไข่ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถขยายพันธุ์ลูกเต่าให้มีจำนวนมากขึ้น นำมาอนุบาลแล้วปล่อยคืนสู่ท้องทะเล” ผอ.ศูนย์ฯเล่า

นายนิคมินทร์บอกว่าสถานที่ดำเนินการอนุรักษ์เต่าทะเล มี 2 แห่ง คือ เกาะมันใน ดำเนินการเลี้ยงเต่าทะเลตั้งแต่แรกเกิดจนโตขึ้น วัดขนาดตามที่กำหนดแล้วนำไปเลี้ยงไว้ในคอกในทะเลซึ่งมีเนื้อที่ขนาด 30 ไร่ แล้วศึกษาเก็บข้อมูล

อีกแห่งหนึ่งที่ผอ.ศูนย์ฯบอกคือเกาะคราม อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ ศึกษาวิจัย เก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของเต่าทะเลตามธรรมชาติ โดยติดเครื่องหมายที่แม่เต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ประมาณเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พบว่าแม่เต่าตัวเดิมจะกลับมาวางไข่ห่างกัน 2-3 ปี หรืออาจจะ ถึง 5 ปี และ เก็บข้อมูลแม่เต่าใหม่ที่ขึ้นมาวางไข่ และ ศึกษาพบว่ามีประชากรเต่าทดแทนกันพอสมควร

“ปัจจุบัน สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในชื่อ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล อยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ ที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี เปิดให้ประชาชนนักท่องเที่ยวเข้าชม และ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เต่าทะเล และ ขายเต่าให้แก่ผู้ประสงค์จะปล่อยเต่า นำรายได้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเพาะขยายพันธุ์และ ศึกษาวิจัยเต่าทะเลต่อไป รวมทั้งรับบริจาคด้วย” นายนิคมินทร์เล่า

เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯอีกคนหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมคือ นายสมชาย มั่นชำนาญทรัพย์ บอกว่าสถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กรมประมง ที่จังหวัดระยองนี้ นอกจากดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะฟักไข่เต่าทะเล การผสมพันธุ์ การวางไข่ การอนุบาล การเลี้ยง ศึกษาพฤติกรรม ดูแลรักษาและ ป้องกันโรคของเต่าทะเลแล้ว ยังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับปะการังชนิดต่างๆ การแพร่กระจายเติบโตของแนวปะการัง การอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการัง รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์การเจริญเติบโต การแพร่กระจายของหอยมือเสือ การปล่อยหอยมือเสือลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และ ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัยของพยูน การกระจายและ แพร่พันธุ์ การเจริญเติบโตของพยูน ตลอดจนศึกษาและ สำรวจแหล่งหญ้าทะเลชนิดต่างๆที่เป็น อาหารของพยูน สัตว์น้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทยด้วย



“นอกจากโครงการในสมเด็จพระบรมราชินีนาถอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลจะได้ดำเนิน โครงการสนองพระราชปณิธานเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเต่าทะเล เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติแล้วโครงการฯ ยังได้นำเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ให้ออกประกาศห้ามส่งกระดองเต่าทะเลเป็นสินค้าส่งออก ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2523) พร้อมทั้งเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับมาตรการอนุรักษ์เต่าทะเลโดยห้ามครอบครองกระดองเต่าทะเลและผลิตภัณฑ์จากเต่าทะเล ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทรปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสมชาย อธิบาย

นายสมชายบอกว่าโครงการ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลที่เกาะมันในประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์เต่าทะเลได้เอง โดยวิธีการนำไข่เต่าจากธรรมชาติมาฟักแล้วไปเพาะเลี้ยงในบ่ออนุบาล เมื่อเติบโตพอจะดำรงอยู่ด้วยตัวเองได้ก็จะปล่อยกลับลงสู่ทะเล เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ ต่อไป

นายสมชาย เน้นอีกว่า พระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์เต่าทะเลนี้ได้ ก่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่ประชาชนในด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำ เพื่อให้ดำรงอยู่คู่ท้องทะเลไทย ซึ่งจะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย และแสดงให้สังคมโลกประจักษ์ในบทบาทของไทย และความมุ่งมั่นมานะพยายามในการอนุรักษ์ธรรมชาติ สรรพสัตว์ และความสามารถในการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์และ สิ่งแวดล้อม พร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย

“ในบรรดาสัตว์ดึกดำบรรพ์แห่งท้องทะเลนั้น “เต่าทะเล” นับเป็นหนึ่งในผู้อาวุโสที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์มายาวนานถึงราว 220 ล้านปีล่วงมาแล้ว เรียกว่าเป็นประชากรอาวุโสแห่งท้องทะเลเลยก็ว่าได้ สาเหตุที่เต่าทะเลสามารถมีชีวิตสืบสายเผ่าพันธุ์มายาวนาน ขนาดเพื่อนฝูงสัตว์ดึกดำบรรพ์รุ่นราวคราวเดียวกันต่างสูญพันธุ์ไปแล้วหรือ ไม่ก็เหลือเพียงเป็นซากฟอสซิลเท่านั้นก็เพราะเต่าทะเลมีโครงสร้างที่ธรรมชาติออกแบบมาเป็นอย่างดี มีกระดองแข็งเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัย จึงไม่ค่อยมีศัตรูหรือผู้ล่าชนิดใดสามารถล่าเต่าทะเลที่เติบโตและมีความแข็ง แกร่งเต็มที่ได้ง่ายๆ เต่าทะเลที่เติบโตพ้นวัยกระดองอ่อนๆบางๆมาแล้ว จึงมักมีอายุยืนยาวสืบสานเผ่าพันธุ์ได้จวบจนอายุขัยราว 80-120 ปีทีเดียว หรืออาจจะยืนยาวถึง 160 ปี ก็ยังมีสถิติรายงาน” นายสมชาย กล่าวติดตลก

ฟังบรรยายพอได้รู้ที่มาที่ไปพอสมควรแล้วเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯจึงพาผู้บริหาร สำนักงานกปร. และสื่อมวลชนไปดูบ่อเพาะพันธุ์เต่าทะเลไม่ว่าจะเป็นเต่าตะนุ เต่ามะเฟือง เต่าหญ้า เต่ากระ เต่าหัวฆ้อนที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในโลก ดูพัฒนาการเจริญเติบโตของเต่าตั้งแต่เล็กสุดจนปล่อยลงทะเลได้ไปจนถึงใหญ่สุด ไปดูปะการังหลากหลายแบบที่นำมาโชว์ไว้ในตู้ แล้วก็ถึงเวลาไปลงดำน้ำดูประการังกันต่อไปจึงเดินทางกลับเข้าฝั่ง



จาก : สยามรัฐ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:46


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger