เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 10-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย ในขณะที่ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และมีการระบายอากาศที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 27-29 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 9 - 10 มี.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในระยะแรก สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 15 มี.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 9 - 10 มี.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 8 (59/2567) (มีผลกระทบบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 10 มีนาคม 2567)


บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ยังคงจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีลักษณะของฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

โดยจะมีผลกระทบดังนี้


วันที่ 10 มีนาคม 2567

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 10-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


กู้เรือหลวงสุโขทัย วันที่ 17 ตัดโซ่สมอเรือข้างซ้ายขึ้นจากน้ำ ไม่พบผู้สูญหาย



เข้าสู่วันที่ 17 ของการค้นหาและปลดอาวุธอันตรายเรือหลวงสุโขทัย ยังไม่พบผู้ที่สูญหาย พร้อมตัดโซ่และยกสมอเรือข้างซ้ายขึ้นจากน้ำได้สำเร็จ

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 9 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่ 17 ของ "ภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัย (แบบจำกัด)" ซึ่งเป็นการปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย

พลเรือตรี วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ ได้มีการเปิดเผยว่า ชุดปฏิบัติการร่วมของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ บนเรือ Ocean Valor ที่จอดเรืออยู่บริเวณอ่าวไทยใกล้จุดที่เรือหลวงสุโขทัยอับปาง มีการดำน้ำ จำนวน 4 เที่ยว โดยมีภารกิจในการค้นหาผู้สูญหายบริเวณรอบตัวเรือ และการตัดโซ่สมอเรือ

โดยผลการปฏิบัติ ไม่พบผู้สูญหาย สามารถตัดโซ่และยกสมอเรือซ้าย นำขึ้นเรือ Ocean Valor เรียบร้อย กำลังพลทุกนายปลอดภัยจากการปฏิบัติการในวันนี้

สำหรับการปฏิบัติการพรุ่งนี้ จะมีการปฏิบัติการดำน้ำร่วมกัน ในการค้นหาผู้สูญหายบริเวณรอบตัวเรือและตัดโซ่สมอเรือขวา


https://www.thairath.co.th/news/local/central/2769309

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 10-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


อ.ธรณ์ เผย "พะยูน" ในเกาะลิบง-เกาะมุก จำนวนลดลง แนะวิธีช่วยที่สำคัญที่สุด



อ.ธรณ์ เผย "พะยูน" ในเกาะลิบง-เกาะมุก มีจำนวนลดลง พร้อมแนะวิธีช่วยที่สำคัญที่สุด สำหรับถ้าคนทั่วไปที่รักษ์สัตว์รักษ์โลก

จากกรณี ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจาก นายวิสุท สารสิทธิ์ เครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก เกาะลิบง จังหวัดตรัง เรื่องพบซากพะยูนเกยตื้นบริเวณปากคลองบ้านพร้าว ต.เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ ศวอล. ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ในการเข้าตรวจสอบและขนย้ายซากเพื่อมาชันสูตรยังศูนย์วิจัยฯ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นซากพะยูน (Dugong dugon) เพศผู้ โตเต็มวัย ความยาวลำตัววัดแนบ 265 ซม. คะแนนความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ผอม (Body condition score, BCS = 1/5) สภาพซากสด ลักษณะภายนอกพบลักษณะแผลหลุมลึก ยาว 7.5 x 4 ซม.บริเวณข้างลำตัวด้านบนครีบข้างซ้าย เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายใน พบก้อนลิ่มเลือดสีขาวอยู่ในหัวใจห้องบนขวา ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตและมีเลือดคั่งในหัวใจ

ขณะที่บริเวณส่วนของทางเดินหายใจ พบฟองอากาศภายในหลอดลมและเนื้อเยื่อปอด คาดว่าเกิดจากการสำลักน้ำ บริเวณม้ามพบจุดเลือดออกกระจายเป็นหย่อม พบปื้นเลือดออกและเลือดคั่งที่เนื้อเยื่อไต ส่วนของทางเดินอาหาร พบเศษหญ้าทะเลเล็กน้อยและพยาธิตัวกลมจำนวนมาก บริเวณลำไส้พบก้อนเนื้อขนาด 2 x 1 ซม. และก้อนหนองขนาด 1 x 1 ซม. และพยาธิใบไม้เล็กน้อย ตับอ่อนพบลักษณะบวมน้ำและมีเลือดคั่ง และพบเศษเชือกไนลอนในกระเพาะอาหาร ซึ่งไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิต สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากพบความผิดปกติหลายระบบ ป่วยเรื้อรังเป็นระยะเวลานานร่วมกับภาวะอ่อนแอจากวัยแก่ จึงทำให้สัตว์เสียชีวิตในที่สุด

ทางด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ข้อมูลเบื้องต้นจากการบินสำรวจสัตว์หายากของกรมทะเล พบว่าพะยูนในเขตเกาะลิบง/เกาะมุก มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน สภาพเช่นนี้อาจสัมพันธ์กับวิกฤติหญ้าทะเลที่มีปริมาณลดลง แต่จำนวนพะยูนที่ตายมีน้อยกว่าจำนวนพะยูนที่หายไป หมายความว่าพะยูนบางส่วน น่าจะมีการอพยพเปลี่ยนแหล่งหากิน เมื่อไม่ค่อยมีหญ้าให้กิน พะยูนก็เคลื่อนย้ายไปที่อื่นซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ในต่างประเทศมีงานวิจัยบอกว่า พะยูนอาจย้ายถิ่นเขยิบไปเรื่อยๆ นับร้อยกิโลเมตรหรือกว่านั้น ผมนำแผนที่บินสำรวจของกรมทะเล (ตรัง) มาให้เพื่อนธรณ์ดู เพื่ออธิบายว่าพะยูนไปไหน อันดับแรก เกาะลิบงและเกาะมุก เป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดในไทย พะยูนจึงมารวมกันอยู่ตรงนี้มากกว่าที่ไหนๆ ข้อมูลสำรวจกรมทะเลปี 66 รายงานว่า พบมากกว่า 180 ตัว เป็นแม่ลูก 12 คู่ แต่การสำรวจปีนี้เบื้องต้นพบน้อยลงมาก และไม่พบแม่ลูกเลย จนถึงตอนนี้ เหลือเวลาสำรวจอีก 2 วัน ติดตามข้อมูลเป็นทางการจากกรมทะเลต่อไป

ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยังได้เผยกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" อีกว่า "ถ้าคนทั่วไปที่รักษ์สัตว์รักษ์โลก สนใจเรื่องพะยูนแล้วอยากจะช่วยสัตว์เหล่านี้ ต้องช่วยกันลดโลกร้อน เพราะสาเหตุมาจากตรงนั้น ที่เหลือก็ลดขยะทะเล น้ำเสีย ฯลฯ แต่สำคัญสุดคือโลกร้อน

ส่วนหญ้าทะเลที่ลดลงทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่ยากเย็นแสนเข็ญในการแก้ ปลูกก็ไม่น่ารอด เพราะในธรรมชาติยังไม่รอดเลย ต้องรอให้มีข้อมูลมากกว่านี้อีกหลายด้าน ตอนนี้ได้แต่รอ เรียกร้องให้มีการสนับสนุนการศึกษาวิจัยมากกว่านี้ ตอนนี้แทบไม่มีเงินงบประมาณครับ".

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat


https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2769291

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 10-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


รู้หรือไม่! ดัชนีความร้อนพุ่ง ส่งผลกระทบแค่ไหน



สภาพอากาศหน้าร้อนของบ้านเราที่ร้อนระอุ ระดับอุณหภูมิเริ่มแตะ 40 องศาเซลเซียสในหลายจังหวัด ล้วนเป็นผลจากค่าดัชนีความร้อนที่พุ่งสูงขึ้น ค่าความชื้นในดินที่ต่ำลง สภาวะอากาศที่แปรปรวนและปิด สภาวะโลกร้อนที่คืบคลานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ให้ข้อมูลว่าเราจะต้องเฝ้าระวังในหลากหลายด้าน เพราะสิ่งที่จะตามมาล้วนแต่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ทั้งด้านสุขภาพอนามัย และด้านสิ่งแวดล้อม


????ด้านสิ่งแวดล้อม ค่าดัชนีความร้อนที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ไฟป่าที่ยังครุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเกิดจุดความร้อนขึ้นสูงมากจนบางประเทศขึ้นแตะนิวไฮในช่วงที่มีการเก็บข้อมูลจุดความร้อนของแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เกิดจุดความร้อนภายในประเทศสูงสุดถึง 3,013 จุด นับตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลในช่วงฤดูกาลไฟป่าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จนถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเองอย่างพม่าก็พุ่งสูงเช่นกันถึง 6,332 จุด

นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศโดยรอบอีกด้วย ซึ่งก็คือในเรื่องของ PM 2.5 ทำให้หลายพื้นที่มีค่าคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจในระดับสีแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง


????ด้านสุขภาพอนามัย PM 2.5 ที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจโดยตรง ค่าดัชนีความร้อนที่สูงขึ้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายมากขึ้น เป็นตะคริว เพลียแดด หรืออาจจะมีความรุนแรงถึงขึ้นฮีทโสตรก Heat Stroke จนอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะคนทำงานในกลุ่มเสี่ยง เช่น เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อากาศที่ร้อนบวกกับควันไฟอาจจะทำให้เป็นลมหมดสติได้ หรือแม้แต่กลุ่มคนที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้ง ตลอดเวลา จำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษมากขึ้นเช่นกัน

ทีมนักภูมิสารสนเทศของ GISTDA ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในการติดสถานการณ์รายวัน อาทิ ดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี ระบบเวียร์ ดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียมฮิมาวาริ ดาวเทียม Sentinel-2 เป็นต้น รวมถึงระบบเซนเซอร์ต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว รวมทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง กลุ่มอาสาสมัคร ภาคประชาชน เป็นต้น ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้งานได้ทั้งในรูปแบบ Web Service และ แอปพลิเคชัน ได้อย่างแม่นยำ อนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูลและการติดตามสถานการณ์มากยิ่งยิ่งขึ้น ทำให้สามารถตัดสินใจในการแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นและทันท่วงที


ดัชนีความร้อน หรือ Heat Index คือ?

ดัชนีความร้อน (Heat Index) คืออุณหภูมิที่ร่างกายคนเรารู้สึกตามความสัมพันธ์กันระหว่าง อุณหภูมิ และ ความชื้น กล่าวคืออุณหภูมิที่มนุษย์รู้สึกได้ว่าสภาวะอากาศขณะนั้นร้อนหรือเย็น ซึ่งไม่ตรงกันกับอุณหภูมิที่เกิดขึ้นแต่รวมถึงความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เช่นหากอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส แต่มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 60 % ในดัชนีความร้อนนี้เราจะรู้สึกว่าอยู่ในอุณหภูมิถึง 56 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นความร้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

อ้างอิง https://www.facebook.com/gistda
https://inno.co.th/heat-index/



https://mgronline.com/greeninnovatio.../9670000020584
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 10-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'หญ้าทะเลที่หายไป' ความเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศ .............. โดย ปาริชาติ บุญเอก


KEY POINTS

- หญ้าทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และยังมีส่วนช่วยในการกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ

- ปัจจุบัน 'หญ้าทะเล' กลับพบว่า เสื่อมโทรม ทั้งจากธรรมชาติ และจากกิจกรรมของมนุษย์ ตัวอย่างใน พื้นที่เกาะลิบง หญ้าทะเลหายไปมากกว่า 50% และส่งผลต่อสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น หอยชักตีน หอยตลับ ปลิงทะเล รวมถึงปลาหน้าดิน

- นอกจากนี้ หญ้าทะเล ยังเป็นอาหารของสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างเต่า และ พะยูน ใน 1 วัน พะยูนกินหญ้าทะเล 5-10% ของน้ำหนักตัว และพะยูนตัวเต็มวัย สามารถหนักได้ถึง 250-420 กิโลกรัม




ปัจจุบัน หญ้าทะเล บางพื้นที่ เช่น เกาะลิบงมีพื้นที่หญ้าทะเลหายไปมากกว่า 50% และยังพบว่าสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลหายไป เช่น หอยชักตีน หอยตลับ ปลิงทะเล รวมถึงปลาหน้าดินหลายชนิด

นอกจากมีความสำคัญต่อสัตว์เล็กๆ แล้ว ยังมีความสำคัญต่อสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างเต่า และ พะยูน เพราะใน 1 วัน พะยูนกินหญ้าทะเล 5-10% ของน้ำหนักตัว และพะยูนตัวเต็มวัย สามารถหนักได้ถึง 250-420 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม ชุมชนส่วนใหญ่ซึ่งมักตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล แหล่งหญ้าทะเลจึงเป็นระบบนิเวศแรกๆ ที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนแผ่นดิน ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและจากมนุษย์ เช่น การพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่างๆ ทั้งเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ กุ้งทะเล ล้วนมีผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลทั้งสิ้น

เมื่อดูสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลในปี 2564 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สำรวจและติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล ทั้งในพื้นที่ที่เป็นแหล่งหญ้าทะเลในปัจจุบัน แหล่งที่เคยมีรายงานการสำรวจพบ และแหล่งใหม่นอกเหนือจากที่เคยสำรวจพบ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นแหล่งใหญ่ก็ตาม

รายงานพบ หญ้าทะเล มีพื้นที่ รวม 99,325 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลของประเทศ (160,628 ไร่) ครอบคลุม 17 จังหวัดชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย


ฝั่งอ่าวไทย 11 จังหวัด ได้แก่

- จังหวัดตราด
- จังหวัดจันทบุรี
- จังหวัดระยอง
- จังหวัดชลบุรี
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- จังหวัดชุมพร
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- จังหวัดนครศรีธรรมราช
- จังหวัดสงขลา
- จังหวัดปัตตานี
- จังหวัดนราธิวาส


ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่

- จังหวัดระนอง
- จังหวัดพังงา
- จังหวัดภูเก็ต
- จังหวัดกระบี่
- จังหวัดตรัง
- จังหวัดสตูล


แหล่งหญ้าทะเลโดยภาพรวมของประเทศไทย พบว่า แหล่งหญ้าทะเล มีสถานภาพสมบูรณ์ดี ? ดีมาก 28% สถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง 52% และมีสถานภาพสมบูรณ์เล็กน้อย 20%


รู้จัก ระบบนิเวศหญ้าทะเล

ระบบนิเวศหญ้าทะเล ประกอบด้วย กลุ่มของพืชดอกที่ปรับตัวเติบโตอยู่ได้ในทะเล และสามารถเจริญได้ดีในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง โครงสร้างของใบที่ซับซ้อนมีความสำคัญในด้านเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจอัน ได้แก่ ปลา กุ้ง ปู หอยหลายชนิด และยังมีส่วนช่วยในการกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ

ด้วยเพราะหญ้าทะเลมีระบบรากที่คอยยึดจับ เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นสามารถพบสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ อย่างเช่น เต่าทะเลบางชนิด และพะยูน ได้ในพื้นที่หญ้าทะเลบางแห่ง โดยสัตว์ทะเลทั้งสองชนิดนี้จะกินหญ้าทะเลเป็นอาหารโดยตรง

รวมถึงยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ จากการทำประมงในแหล่งหญ้า เช่น การรวบรวมลูกปลาเก๋าเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อในกระชัง การทำประมงอื่น ๆ เช่น อวนจมปู แร้วปู และลอบ เป็นต้น


แหล่งหญ้าทะเลสำคัญอย่างไร ?

หญ้าทะเล มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเลี้ยงตัวอ่อนและแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะปลาทะเลกุ้งทะเล และปูม้า มีความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ

ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ จะมีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มสัตว์น้ำขนาดเล็กที่กล่าวถึง แต่ยังมีสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น เต่าทะเล และ พะยูน อีกด้วย


สัตว์หน้าดินและสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ในพื้นดิน

สำหรับ สัตว์หน้าดินและสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ในพื้นดินบริเวณแหล่งหญ้าทะเลในน่านน้ำไทย พบมากกว่า 95 ชนิดสัตว์ทะเลส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มไส้เดือนทะเลกลุ่มหอยทะเลได้แก่หอยชักตีน (Strombuscanarium) หอยคราง (Scapharcainaeguivalvis) กลุ่มกุ้งและกั้งทะเลได้แก่กุ้งกุลาลาย (Peneaussemisulcatus) และกุ้งตะกาดขาว (Metapeneausmoyebi) กั้งทะเล (Orlosquillanepa) กลุ่มปูทะเลได้แก่ปูม้า (Portunuspelagicus) และปูดาว (PortunusSanguinolentus) ปูทะเล (Scyllaserrata) กลุ่มฟองน้ำทะเล กลุ่มดอกไม้ทะเล กลุ่มแมงกะพรุนทะเล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบปลิงทะเล (Holothuriascabra) ดาวทะเลและสัตว์อื่นๆ ซึ่งสัตว์เหล่านี้ มีทั้งกลุ่มที่ตลอดช่วงชีวิตอาศัยอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเลบางชนิดเข้ามาอาศัยในแหล่งหญ้าทะเลในช่วงหนึ่งของชีวิตเช่นช่วงเป็นวัยอ่อนหรือวัยก่อนเจริญพันธุ์


ปลาในแหล่งหญ้าทะเล

บริเวณฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยซึ่งพอจะสรุปได้ว่าพบปลาอย่างน้อย 67 ชนิด นอกจากนี้ ยังพบความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกันระหว่างปลาในแหล่งหญ้าทะเลป่าชายเลนและแนวปะการัง โดยพบว่า ปลาหลายชนิดเป็นปลาที่อยู่ในแนวปะการังแต่มาอาศัยเลี้ยงตัวในแหล่งหญ้าทะเลและปลาหลายชนิดพบมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างป่าชายเลนบริเวณใกล้เคียง


ภาวะคุกคามแหล่งหญ้าทะเล

ปัจจุบัน ทรัพยากรชายฝั่งทะเล มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงมาก โดยระบบนิเวศหญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศแรกๆ ที่ได้รับกระทบจากกิจกรรมต่างๆ และการพัฒนาชายฝั่งทะเลเช่นเดียวกับป่าชายเลนและแนวปะการัง ทั้งนี้ การเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลนั้น เกิดได้ทั้งจากปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากสิ่งที่กระทำโดยมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม


ความเสื่อมโทรมจากปัจจัยธรรมชาติ

1) ภาวะโลกร้อน (Greenhouse effect)

ภาวะโลกร้อนส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นด้วย โดยอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงมากกว่าภาวะปกติของแหล่งหญ้าทะเลนั้นๆ จะมีผลต่อวงจรชีวิตของหญ้าทะเล มีผลต่อการเจริญเติบโต การออกดอกและเมล็ดของหญ้าทะเล

อีกทั้ง ความเครียดจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ทำให้การกระจายตัวของหญ้าทะเลเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ การโผล่พ้นน้ำทะเลนานๆ อุณหภูมิและแสงแดดที่เพิ่มขึ้นทำให้หญ้าแห้งความร้อนมีผลทำให้หญ้าตายได้


2) ภัยธรรมชาติอื่นๆ

เหตุการณ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 นั้นได้ส่งผลกระทบต่อแนวหญ้าทะเลในฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร โดยแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากได้แก่ บริเวณบ้านทุ่งนางดำและด้านเหนือของเกาะพระทอง จังหวัดพังงา ในบางพื้นที่พบว่าตะกอนที่ถูกกวนให้ฟุ้งกระจายและพัดพาไปตามแรงคลื่นมีผลทำให้หญ้าทะเลช้ำและกลายเป็นสีน้ำตาลและใบเน่าตายไปในเวลา 2-3 สัปดาห์ถัดมาในขณะที่การฟื้นตัวของแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน

นอกจากนี้ ความารุนแรงจากพายุต่างๆ ส่งผลกระทบต่อแหล่งหญ้าทะเลเช่นกัน เช่น พายุไซโคลน ที่ทำให้หญ้าทะเลที่อ่าวเฮอร์วีในประเทศออสเตรเลียตายทั้งหมด หรือไต้ฝุ่นลินดา ที่เกิดทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามทำให้แหล่งหญ้าทะเลที่เกาะคอนเดาเสียหายและมีการเปลี่ยนแหล่งหญ้าทะเลในเวลาต่อมา


ความเสื่อมโทรมจากน้ำมือมนุษย์

1) การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นท้องทะเลต่างๆ เช่น การขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ และการก่อสร้างท่าเรือ เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่หญ้าทะเลถูกทำลายโดยตรง

2) การพัฒนาชายฝั่งทะเลเช่นการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล โดยตะกอนดังกล่าวจะปกคลุมใบหญ้าและปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของหญ้าทะเล

3) การเดินเรือ และการสัญจรทางน้ำ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแหล่งหญ้าทะเล ทำให้ใบหญ้าทะเลถูกตัดขาด หน้าดินถูกคุ้ย เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนในน้ำ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล

4) การทำประมงบางประเภท เช่น คราดหอย เรืออวนลากขนาดเล็ก เรืออวนรุน เรืออวนทับตลิ่งขนาดใหญ่ ที่ทำการประมงในแหล่งหญ้าทะเล ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่แหล่งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเล

5) น้ำเสียตามชายฝั่งทะเล เช่น การทำเหมืองแร่ ท่าเทียบเรือ สะพานปลา โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนบ้านเรือน และการทำนากุ้ง ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 10-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'หญ้าทะเลที่หายไป' ความเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศ .............. ต่อ


การดำเนินงานที่ผ่านมา

การอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล ?กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม? ระบุว่า ที่ผ่านมา ใช้แนวทางการจัดการแหล่งหญ้าทะเลแบบผสมผสาน โดยเน้นการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ซึ่งประกอบด้วย 4 แผนงาน ดังนี้


1) สำรวจและประเมินสถานภาพ

ติดตามตรวจสอบสถานภาพและปัญหาของแหล่งหญ้าทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเล เกี่ยวกับที่ตั้งและความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเลทั่วประเทศ ตลอดจนวิเคราะห์ประเด็นปัญหาความเสื่อมโทรมว่ามีสาเหตุจากธรรมชาติหรือจากกิจกรรมของมนุษย์

ข้อมูลดังกล่าว สามารถใช้เพื่อรองรับการกำหนดแนวทางการจัดการและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เหมาะสมกับสถานการณ์โดยร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชุมชนและกับนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ความสำคัญด้านระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอันควรค่าแก่การอนุรักษ์ รวมถึงกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์สำหรับการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมตามกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน


2) เผยแพร่ข่าวสารความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหญ้าทะเลสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกระดับ

เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักเกี่ยวกับลักษณะ ถิ่นอาศัย ประโยชน์ และปัจจัยที่มีผลกระทบทั้งในทางบวก และทางลบของหญ้าทะเล เพื่อหยุด/ลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อสภาพแวดล้อมของคุณภาพน้ำและดินซึ่งมีผลถึงหญ้าทะเล ตลอดจนแนวทางป้องกันการเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์หญ้าทะเล

โดยจัดทำสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ชาวประมง หรือผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ รวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นให้ทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของแหล่งหญ้าทะเล เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและตระหนัก รัก และหวงแหน ในที่สุดก้าวเข้ามามีบทบาท หรือมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเลของตนเอง


3) การคุ้มครองและฟื้นฟู

มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลให้กลับคืนมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเน้นการจัดการกับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล การควบคุมการระบายน้ำเสีย สนับสนุนการลงทุนก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนหนาแน่นและบริเวณใกล้เคียง

การควบคุมผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตามรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) จากการพัฒนาชายฝั่งและในทะเลรูปแบบต่าง ๆ บริเวณแหล่งหญ้าทะเล


4) กำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่งทะเล

ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งของชุมชน โดยการวางทุ่นเป็นสัญลักษณ์แสดงพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล กวดขันผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือข้อบังคับ การห้ามใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม สนับสนุนองค์ความรู้ การจัดหาพันธุ์และวิธีการปลูกหญ้าทะเลทดแทนแก่องค์กรและประชาชนในท้องถิ่น และทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติ เพื่อนำผลของการศึกษาวิจัยมาประกอบการพิจารณาสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรม คือ การป้องกันและลดผลกระทบต่อพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่เหมาะสม โดยกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ แบ่งเป็นเขตรักษาพืชพันธุ์ และเขตอนุญาตสำหรับกิจกรรมประมงพื้นบ้าน และการฟื้นฟูโดยย้ายปลูกหญ้าทะเล


เร่งฟื้นฟูหญ้าทะเล

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เปิดเผยขณะตรวจสอบสาเหตุพะยูนเกยตื้นตาย ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง วานนี้ (8 มีนาคม 2567) ว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีการเร่งแก้ไขปัญหาวิกฤตของหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ ซึ่งที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ ร่วมมือทีมนักวิจัย ด้านสมุทรศาสตร์ระดับประเทศหลายท่าน เร่งลงพื้นศึกษาวิจัยเพื่อหาสาเหตุการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล

ซึ่งเบื้องต้นพบแนวโน้มสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้ระดับน้ำทะเลแห้งลงต่ำกว่าปกติ เป็นผลให้หญ้าทะเลต้องตากแห้งเป็นพื้นที่กว้างและนานกว่าปกติ หญ้าทะเลจึงเกิดความอ่อนแอซึ่งทีมวิจัยยังอยู่ระหว่างการศึกษาปัจจัยอื่น ได้แก่

- การทับถมของตะกอนจากการขุดลอกปากแม่น้ำ

- โรคระบาดในหญ้าทะเล

- การถูกกินโดยสัตว์น้ำ

- หรือประเด็นเรื่องสารพิษ ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีภาวะความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพ
แย่ลงไป


ปัจจุบัน พบว่า หญ้าทะเลบางพื้นที่ เช่น เกาะลิบง มีพื้นที่หญ้าทะเลหายไปมากกว่า 50% และยังพบว่าสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลหายไป เช่น หอยชักตีน หอบตลับ ปลิงทะเล รวมถึงปลาหน้าดินหลายชนิด

อีกทั้ง การกำหนดแนวทางการฟื้นฟูจำเป็นต้องทราบสาเหตุที่ชัดเจนก่อน หากเป็นเรื่องของการทับถมของตะกอนจากการขุดลอกร่องน้ำ ก็ต้องมีแนวทางลดผลกระทบจากการขุดลอกให้ได้ก่อนทั้งในระยะดำเนินการ

สถานการณ์หญ้าทะเลเกาะลิบงและพื้นที่ใกล้เคียง ข้อมูล ณ ธันวาคม 2566 พบว่า

- พื้นที่หญ้าทะเล 15,547 ไร่

- พื้นที่หญ้าคาทะเลเสื่อมโทรม ประมาณ 7,997 ไร่ (51% ของพื้นที่สำรวจ)

- การปกคลุมพื้นที่เฉลี่ยลดลงจาก 224% เป็น 9% (ธ.ค. 66 เทียบกับ ก.พ. 66)

อนึ่ง หญ้าทะเลมีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราสามารถช่วยกระบวนการฟื้นตัวได้ โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม


อ้างอิง :
- คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

- กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



https://www.bangkokbiznews.com/environment/1116955

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 10-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


"ปะการังฟอกขาว" วิกฤตความร้อน! เตรียมรับมือกับทะเลเดือด ส่งผลกระทบร้ายแรง


SHORT CUT

- "ปะการังฟอกขาว" เกิดจากภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเล

- สัตว์ที่อาศัยอยู่ในปะการังขาดแหล่งที่พัก ถูกล่าได้ง่ายขึ้นเป็นผลให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลดลง

- อนุรักษณ์แนวปะการังได้ เช่น ลดการใช้รถโดยไม่จำเป็น , ลดการเผาสิ่งปฏิกูล , ไม่ทิ้งขยะตามชายฝั่งทะเล เป็นต้น




ความร้อนทำโลกรวน สภาพอากาศแปรปรวน เกิดจากกิจวัตรประจำวันของผู้คน ที่ส่งผลกระทบไปถึงใต้ท้องทะเล หนึ่งในนั้นคืออุณหภูมิของน้ำทะเลที่จะสูงถึง 31 องศา ในช่วงเมษายน-กรกฎาคม นี้

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) แจ้งข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ รวมถึง ภาวะโลกรวน อาจทำให้เกิดเหตุปะการังฟอกขาวได้ในปีนี้

ปัจจุบันวิกฤตการณ์ใต้ทะเลที่เป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เนื่องมาจากน้ำมือของมนุษย์ กำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างหนักโดยเฉพาะกับปะการังที่พบการเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวขึ้นเป็นวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลที่ใช้ประโยชน์จากแนวปะการังให้ขาดที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลลูกปลา และที่หลบภัย ทำให้ถูกล่าได้ง่ายขึ้นเป็นผลให้ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลดลงเป็นอย่างมาก

มนุษย์เองก็เช่นกัน เรามีประชากรมากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกที่พึ่งพาอาศัยแนวปะการังธรรมชาติเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้หลัก ทั้งจากการทำประมงและการท่องเที่ยว การสูญเสียแนวปะการังยังรวมไปถึงการสูญเสียประโยชน์ของระบบนิเวศด้านอื่นๆ เช่น การชะลอคลื่น และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลมในมหาสมุทรอีกด้วย


"ปะการังฟอกขาว" เกิดจากอะไร?

ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) เกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่นอุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป มีน้ำจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาดก็ล้วนมีผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอด

ต้องบอกก่อนว่าปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมในมหาสมุทร และในช่วงกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยโดยกิจกรรมของมนุษย์ กำลังส่งผลให้อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศโลกสูงขึ้น เกิดภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวนที่สร้าง ความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อสภาพของท้องทะเล โดยเฉพาะอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเพียง 1 ? 2 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ สามารถทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้นได้


น้ำทะเลจะร้อนถึง 31 องศา

ด้าน อาจารย์ ธรณ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้ออกมาบอกว่า นี่คือคำเตือนจากอาจารย์ธรณ์ อุณหภูมิน้ำทะเลกำลังร้อนขึ้น ขอให้เพื่อนธรณ์ช่วยกันติดตามดูปะการังฟอกขาวที่อาจจะใกล้เริ่มแล้วครับ 4 สาเหตุที่ต้องเตือน

- น้ำทะเลในช่วงกุมภาปีนี้ ร้อนกว่าปีที่แล้วประมาณ 1 องศา (กราฟที่เกาะล้าน ข้อมูลกรมทะเล)

- ระบบเรียลไทม์ที่ศรีราชา เตือนว่าน้ำร้อนถึง 31 องศา (สสน./คณะประมง) เมื่อลองดูกราฟย้อนหลัง อุณภูมิน้ำช่วงปลายกุมภา-ต้นมีนา ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว

- คาดการณ์ว่าจะมีปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน (NOAA - ในแผนที่ทำนายปะการังฟอกขาวเห็นเป็นสีแดงและแดงเข้ม)

- เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่แล้วที่ Great Barrier Reef การบินสำรวจพบพื้นที่ฟอกขาวยาวกว่า 1,000 กม. (AIMS)


จึงฝากเพื่อนธรณ์ช่วยดูปะการังสีซีด น้ำร้อนจัด ความผิดปรกติของทะเล ฯลฯ หากพบเจอแจ้งกรมทะเลหรือแจ้งมาที่ผมได้ครับ ผมคาดว่าเมษา-พฤษภา จะเป็นช่วงที่เกิดฟอกขาวรุนแรงครับ นอกจากปะการังแล้ว น้ำร้อนจัดจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอื่นๆ เช่น หญ้าทะเล แพลงก์ตอนบลูม ยังส่งผลกระทบต่อการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ


อนุรักษ์แนวปะการังได้ดังต่อไปนี้

- ลดการใช้รถโดยไม่จำเป็น

- ลดการเผาสิ่งปฏิกูล

- หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นการทำลายแนวปะการัง ด้วยการทำระบบบำบัดน้ำเสีย

- ระมัดระวังการใช้ปุ๋ยในการเกษตร เพราะเมื่อถูกชะล้างลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อสาหร่ายในแนวปะการัง

- ไม่ทิ้งขยะตามชายฝั่งทะเล


ที่มา : โครงการพัฒนาการเกิดปะการังฟอกขาว


https://www.springnews.co.th/keep-th...ronment/848470

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #8  
เก่า 10-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


พบวาฬเพชฌฆาตออกล่าฉลามขาวเพียงลำพัง "ฉีกทึ้งครีบ" และ "กินตับ" ............ โดย วิคตอเรีย กิลล์


วาฬออร์กาเพียงตัวเดียว (ปรากฏทางขวาของภาพ) "ฉีกทึ้งอวัยวะ" ของฉลามออกมาได้ภายใน 2 นาที
ที่มาของภาพ,IMAGE SOURCE,CHRISTIAAN STOPFORTH/DRONE FANATICS



การออกล่าและฆ่าปลาฉลามขาวยักษ์โดยลำพังของวาฬเพชฌฆาต หรือวาฬออร์กา ถูกบันทึกภาพไว้ได้ เผยให้เห็น การโจมตีอันเด็ดเดี่ยวที่ ?น่าอัศจรรย์? ของนักล่าแห่งท้องทะเล

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ภาพที่ปรากฏและมีการบันทึกไว้ได้ ถือว่า "ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" แสดงให้เห็นทักษะการล่าที่ยอดเยี่ยมของวาฬเพชฌฆาต

ก่อนที่จะเกิดภาพการสังหารอันน่าทึ่งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นวาฬออร์กา 2 ตัว บริเวณชายฝั่งของแอฟริกาใต้ จากนั้นก็พบว่า พวกมันกำลังร่วมมือกันออกล่าและฆ่าปลาฉลามหลายตัว ซึ่งในจำนวนนั้น รวมถึงปลาฉลามขาว นักล่าเหยื่อขั้นสุดแห่งท้องทะเล

"สิ่งที่เกิดขึ้น เราแทบไม่ทันได้ตั้งตัวเลย" ดร.อลิสัน ทาวเนอร์ นักชีววิทยาฉลาม กล่าว

ดร.ทาวเนอร์ ซึ่งมาจากมหาวิทยาลัยโรดส์ในเมืองเกรแฮมส์ทาวน์ ของแอฟริกาใต้ ได้ศึกษาวาฬเพชฌฆาตและฉลามขาวมาหลายปีแล้ว โดยเธอและเพื่อนร่วมงานได้ตีพิมพ์เรื่องราวการไล่ล่าอันน่าสะพรึงอย่างละเอียดในวารสารวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งแอฟริกา

วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกภาพไว้ได้ในปี 2023 แสดงให้เห็นการโจมตี "อันเด็ดเดี่ยวและรวดเร็ว" ของวาฬเพชฌฆาตตัวผู้ที่ฆ่าปลาฉลามขาว และกินตับของมันในเวลาเพียง 2 นาที

อันที่จริง นักวิทยาศาสตร์เคยใช้โดรนบันทึกภาพวาฬออร์กาตัวผู้ 2 ตัวร่วมกันออกล่าปลาฉลามขาว มาได้แล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกด้วย เมื่อปี 2022

นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อเล่นให้วาฬเพชฌฆาตทั้งสองตัวว่า พอร์ต และ สตาร์บอร์ด โดยเรียกตามลักษณะของครีบหลังที่งอไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน พวกมัน "แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ชื่นชอบการฉีกทึ้งตับฉลามออกมากิน"

ดร.ทาวเนอร์ เล่าย้อนไปถึงภาพโดรนเมื่อปี 2022 ว่า "กลุ่มฉลามขาวว่ายวนรอบวาฬเพชฌฆาตอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นความพยายามหลีกหนีการถูกล่าอย่างสิ้นหวัง"

แล้วในการล่าและฆ่าปลาฉลามขาวครั้งล่าสุดนี้ วาฬออร์กาชื่อ "สตาร์บอร์ด" ออกไล่ล่าเพียงลำพัง เริ่มจากงับครีบอกด้านซ้ายของฉลามขาววัยรุ่น ความยาว 2.5 เมตร พร้อม "ดึงทึ้งไปด้านหน้าหลายครั้ง จนครีบฉีกหลุดออกมา"

ดร.ลุค เรนเดลล์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์บรรยายว่า มันเป็นการสังเกตพฤติกรรมที่ "สวยงามจริง ๆ"

"น่าสนใจมากที่วาฬเพชฌฆาตตัวนี้ทำได้โดยลำพัง" เขาบอกกับบีบีซี พร้อมอธิบายว่า การที่เจ้า "สตาร์บอร์ด" พุ่งกระแทกฉลามขาวข้างลำตัว และกัดครีบอก เพื่อหลีกเลี่ยงการตกอยู่ในรัศมีคมเขี้ยวที่ใหญ่และอันตรายของฉลามขาว แสดงให้เห็นถึงทักษะการไล่ล่าอันยอดเยี่ยม

"ปลาฉลามขาวคือแหล่งอาหารชั้นเยี่ยม ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมประชากรวาฬออร์กาบางส่วนที่อาศัยอยู่ในแหล่งปลาฉลาม จึงเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์ทำเลนี้ (เพื่อล่าฉลามขาว)"

แต่พฤติกรรมอันเด็ดเดี่ยวของวาฬเพชฌฆาตนี้ ก่อให้เกิดคำถามว่า จะส่งผลกระทบต่อประชากรฉลามในพื้นที่อย่างไร

ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าแรงจูงใจของพฤติกรรมนี้ว่าเกิดจากอะไร แต่ดร.ทาวเนอร์ บอกกับบีบีซีว่า มันเป็นหลักฐานสะท้อนให้เห็นว่า "กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประมงเชิงพาณิชย์ กำลังสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อมหาสมุทรของเรา"

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจไม่ใช่ผลดีต่อสุขภาพวาฬเพชฌฆาตเท่าไหร่นัก เพราะการกินฉลาม หมายความว่า วาฬออร์กาได้กลืนสารพิษและสารโลหะจากเนื้อฉลามเข้าไปด้วย

"สมดุลที่เปลี่ยนไปของสัตว์นักล่าขั้นสุดแห่งท้องทะเล ยังอาจกระทบไปถึงสปีชีส์อื่น ๆ ด้วย" ดร.ทาวเนอร์ อธิบายต่อว่า "เพนกวินแอฟริกันที่ใกล้สูญพันธุ์อาจเผชิญกับการถูกล่าโดยแมวน้ำแอฟริกาใต้มากขึ้น เพราะแมวน้ำถูกฉลามล่าเป็นอาหารน้อยลง"

ดร.เรนเดลล์ ชี้ว่า เราไม่มีทางรู้เลยว่าพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องใหม่ หรือเพิ่งสังเกตพบได้เป็นครั้งแรก "แต่สิ่งที่โดดเด่นจริง ๆ คือความชำนาญของสัตว์เหล่านี้ในฐานะนักล่า"

ดร.ทาวเนอร์ กล่าวเสริมอีกว่า ทุกการค้นพบที่เกี่ยวกับปฏิสัมพันธุ์ระหว่างวาฬออร์กาและฉลามนั้น "มันช่างน่าทึ่ง"


https://www.bbc.com/thai/articles/ckd8xp9yg11o

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 19:27


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger