เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 26-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาว และเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงฝนต่อเนื่อง และฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในวันที่ 26 ? 28 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 29 มิ.ย. ? 1 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 26-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


คนเลี้ยงหอยพังงาเดือดร้อนประมงห้ามใช้ยางรถเลี้ยงหอย ยันไม่มีสารตกค้าง

พังงา - คนเลี้ยงหอยที่พังงาโวย ร่างประกาศกรมประมงฉบับใหม่ห้ามใช้ยางรถเลี้ยงหอย ทำชาวบ้านเดือดร้อนหนัก พร้อมยืนยันจากการวิจัยไม่พบสารพิษตกค้าง



วันนี้ (25 มิ.ย.) นายสมพร สาระการ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา นำสื่อมวลชนตรวจสอบข้อเท็จจริงการเลี้ยงหอยนางรมในกระชัง

หลังจากกรมประมงได้เตรียมร่างประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงหอยทะเล ซึ่งเป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมภายในเขตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อประโยชน์ให้การเพาะเลี้ยงหอยทะเลซึ่งเป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมให้มีคุณภาพไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรืออันตรายต่อผู้บริโภคหรือต่อกิจการของบุคคลอื่น โดยห้ามใช้ยางรถ เสาคอนกรีต กระสอบปุ๋ย หรืออุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำมาใช้ในกิจการการเพาะเลี้ยงหอยทะเล ทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนของชาวประมงพื้นบ้านรอบๆ อ่าวพังงา ที่เลี้ยงหอยนางรมเป็นอาชีพหลัก

นายสมพร สาระการ เปิดเผยว่า ชาวประมงพื้นบ้านรอบๆ อ่าวพังงา ได้นำยางรถจักรยานยนต์มาผ่าซีก ไปแขวนไว้กับหลักไม้ในทะเลมานานมากกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นการดักลูกหอยนางรมให้มาเกาะกับยางรถ พอโตได้ระดับหนึ่งก็ย้ายไปเลี้ยงให้โตขึ้นในกระชัง หากร่างประกาศของกรมประมงบังคับใช้ จะส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน สร้างความเดือดร้อนพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านทั้งจังหวัดพังงา เมื่อดูจากร่างประกาศแล้วทางกรมประมงเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของผู้บริโภคหอยนางรมจากสารตกค้าง

ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับชุมชนบ้านโคกไคร ทำงานวิจัยโดยการเก็บตัวอย่างหอยเป็นเวลา 1 ปี พบว่า มีความปลอดภัยไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชาวบ้านอยากให้ชะลอ หรือยกเลิกร่างฉบับนี้ไปก่อน เพราะถ้าประกาศแล้วจะสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวประมงพื้นบ้านทันที และควรจะหาทางออกว่าจะใช้วัสดุแบบไหนมาทดแทน ก่อนจะออกประกาศบังคับ


https://mgronline.com/south/detail/9630000065562

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 26-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


ฉลามปะทะนักโต้คลื่น คลิปนาทีสุดหวาดเสียว ฉลามขาวยักษ์เวียนรอขย้ำ



ฉลามปะทะนักโต้คลื่น - วันที่ 25 มิ.ย. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า หน่วยกู้ภัยแอฟริกาใต้เรียกร้องให้บรรดานักโต้คลื่นใช้ความระมัดระวัง หลังมีผู้พบเห็นฉลามขาวยักษ์แหวกว่ายอยู่ใกล้บริเวณแนวหาดเซาเทิร์น เคป และอีสเตอร์ เคป โดยโดรนกู้ภัยสามารถถ่ายติดนาทีเผชิญหน้าไว้ได้ด้วย

หน่วยกู้ภัยทางทะเลแอฟริกาใต้ หรือเอ็นเอสอาร์ไอ ระบุว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพบเห็นฉลามขาวยักษ์เข้ามาแหวกว่ายในพื้นที่แนวชายฝั่งดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นช่วงที่ฉลามเข้ามาหากินนกนางนวลและแมวน้ำใกล้ชายฝั่ง

"สิ่งสำคัญที่บรรดานักเล่นน้ำต้องระลึกไว้เสมอ คือ ฉลามขาวยักษ์นั้นเป็นสัตว์นักล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร (เอเพ็กซ์ พรีเดเตอร์) และแม้เหตุฉลามกัดนั้นหาได้ยาก แต่ความเสี่ยงนั้นมีอยู่เสมอ จึงควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับฉลามชนิดนี้" แถลงการณ์ระบุ

ข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเล่นน้ำทะเลอย่างปลอดภัย อาทิ การไม่ลงเล่นน้ำหากพบว่ามีนก แมวน้ำ และโลมาจำนวนมากในทะเล (อาหารโปรดของฉลาม) ห้ามลงเล่นน้ำขณะมีการประมง หรือมีบาดแผล โดยเฉพาะขณะกำลังเลือดไหล (กลิ่นเลือดดึงดูดปลานักล่า) หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำบริเวณปากอ่าว และเขตน้ำลึก



นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังไม่แนะนำให้ลงเล่นน้ำเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน และขณะที่มีปลาวาฬอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ส่วนนักโต้คลื่นควรใช้อุปกรณ์ป้องกันฉลาม เช่น เครื่องปล่อยสัญญาณรบกวนฉลาม และหมั่นสังเกตรอบๆ ตัวอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกันกับนักพายเรือคายัก ควรพายเรือเป็นกลุ่ม และใช้รูปขบวนเพชร หรือไดมอนด์ ฟอร์เมชั่น แบบประชิด

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วฉลามไม่ล่ามนุษย์เป็นอาหาร และการโจมตีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการที่ฉลามเกิดความสับสน นอกจากนี้ ฉลามยังเป็นสัตว์ขี้สงสัย และมีอุปนิสัยชอบขย้ำเคี้ยวเหยื่อเพื่อพิจารณาว่าเป็นอาหาร หรือพอกินได้หรือไม่ด้วย โดยพิพิธภัณฑ์การโจมตีจากฉลามที่รัฐฟลอริดาของสหรัฐ ระบุว่า มีเหตุฉลามโจมตีมนุษย์เพียง 64 ครั้งเท่านั้นทั่วโลก เมื่อปี 2562


https://www.khaosod.co.th/around-the...s/news_4382371

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 26-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


ปลาทูคืนสู่ท้องทะเลไทย



กระบี่ 25 มิ.ย. - หลายปีแล้วที่ชาวประมงจับปลาทูได้น้อยลงจนเกิดความกังวลว่าปลาทูจะหายไปจากทะเลไทย แต่ช่วงปิดอ่าวฤดูปลาวางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนปีนี้ ชาวประมง จ.กระบี่ พบฝูงลูกปลาทูชุกชุมอย่างมาก จึงร่วมมือกับกรมประมงปกป้องเพื่อให้ลูกปลาทู เติบโตเป็นตัวเต็มวัย แพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ คืนความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องทะเลไทยอีกครั้ง

ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงเขต 3 ออกตรวจการชายฝั่งที่อ่าวบ่อม่วง อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ถี่ขึ้น เมื่อชาวประมงพื้นบ้านรายงานพบฝูงลูกปลาทูจำนวนมากในรอบหลายปี ห้วงนี้ควบคุมการทำประมงชายฝั่งตามมาตรการปิดอ่าวฤดูปลามีไข่วางไข่และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่แหลมพันวา อ.เมืองภูเก็ต ถึงปลายแหลมหัวล้าน เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ไปยังเกาะบิดานอก อ.เมืองกระบี่ และปลายแหลมเกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ต่อเนื่องปลายแหลมเกาะตะลิบง อ.กันตัง เกาะสุกร ถึงแหลมหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง รวมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร เริ่มเมื่อ 1 เมษายน และจะสิ้นสุด 30 มิถุนายนนี้

ปีนี้อากาศร้อนและฝนน้อย นักวิชาการประมงพบว่าลูกปลาทูโตช้า ปกติในเดือนนี้ต้องเกือบโตเต็มวัยแล้ว ดังนั้นจึงขอความร่วมมือชุมชนประมงช่วยกันดูแลรักษาฝูงลูกปลาทูต่อไป แม้จะสิ้นสุดประกาศมาตรการปิดอ่าว เพื่อให้เติบโตและขยายพันธุ์ต่อไป

กรมประมงเร่งสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านให้เลิกใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ทำให้บางชุมชนกลับมาร่วมมือรื้อถอนโพงพางซึ่งเป็นเครื่องมือประมงตาถี่ ป้องกันไม่ให้ลูกสัตว์น้ำไปติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกปลาทู



ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 นำลูกพันธุ์ปลากระพงไปมอบให้เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนอาชีพ เลิกวางโพงพางซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างสูง แล้วมาเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม

เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ประเภทโป๊ะน้ำตื้นและยอแดง 20 ปาก ที่ชายฝั่งทะเลบ้านทุ่งครก และบ้านท่ามะพร้าว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ได้เข้ารื้อถอนทำลายและตรวจยึด ในขณะรื้อถอนพบฝูงลูกปลาทูจำนวนมากติดเครื่องมือประมงดังกล่าว ขนาดลำตัว 10 -12 เซนติเมตร จึงปล่อยคืนสู่ทะเล และจะขอความร่วมมือจากชาวประมงยังไม่จับจนกว่าจะโตเต็มวัยขนาด 15 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า ที่สำคัญเป็นการรักษาให้ปลาทูอยู่คู่ทะเลได้อย่างยั่งยืน.


https://www.mcot.net/viewtna/5ef4c730e3f8e40af14548b8

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 26-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


ดีมานด์ "ปูม้า" ตลาดใน-นอกพุ่ง "ประมง" รุกปล่อย 2 หมื่นแม่พันธุ์ลงทะเล

ดีมานด์ "ปูม้า" ตลาดใน-นอกพุ่ง "ประมง" รุกปล่อย 2 หมื่นแม่พันธุ์ลงทะเล ฟื้นชีพสู่ "อ่าวไทย-อันดามัน"



"ปูม้า" หนึ่งในอาหารทะเลยอดนิยมหรือที่หลายคนนิยมนำมาทำเป็นเมนู "ปูไข่ดอง" อาหารขึ้นโต๊ะจานเด็ด แต่ทราบกันหรือไม่ว่า จำนวนปูในท้องทะเลไทยกำลังลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งกรมประมงได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 แก้ไข พ.ศ. 2560 ทำให้ระบบการจับปูม้าในเชิงอุตสาหกรรมอาหารถูกปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น และเกิด "ธนาคารปูม้าประมงพาณิชย์" เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูจำนวนประชากรปูม้าคืนสู่ทะเล แต่กระแสการบริโภคยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนคาดการณ์ยากถึงความยั่งยืนของทรัพยากรปูม้าในอนาคต

"เพราลัย นุชหมอน" ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงทะเล กรมประมง ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก ยิ่งในภาวะวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสให้ประเทศไทยส่งออกได้มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสุขอนามัยสูง ส่งผลให้สินค้าอาหารทะเลหลายชนิดได้รับความนิยม รวมถึงการส่งออกปูม้าสดแช่เย็น-แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์เนื้อปูม้าพาสเจอไรซ์บรรจุกระป๋อง ซึ่งมีตลาดส่งออกหลักไปประเทศสหรัฐอเมริกา จีน ไต้หวัน และฮ่องกง

"ความต้องการปูม้าในตลาดมีมาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มตั้งแต่ปี 2556-2557 ซึ่งมีผลให้จับปูม้ามากที่สุดปี 2557 มีปริมาณการจับ 44,000 ตัน ปี 2558 จับได้ 41,000 ตัน ปี 2559 จับได้ 31,000 ตัน จนกระทั่งประเทศไทยประกาศใช้พระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 แก้ไข พ.ศ. 2560 ซึ่งไทยได้ให้ความร่วมมือกับมาตรการสากล และให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เพื่อแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินกว่าปริมาณที่ธรรมชาติสามารถผลิตได้ ซึ่งปูม้าก็เป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่ถูกควบคุมตามมาตรการดังกล่าวด้วย"

หลังจากนั้นปริมาณการจับปูม้าก็ลดลง ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การจำกัดจำนวนเรือประมง มาตรการควบคุมวันทำการประมงและเครื่องมือทำประมง ส่งผลให้ในปี 2560 มีการจับปูม้าเหลือเพียง 29,000 ตัน และเริ่มสนับสนุนการจัดทำ "ธนาคารปูม้า" ขึ้นในประเทศไทย ผ่านโครงการคืนปูม้าสู่ทะเลไทยของรัฐบาล จำนวน 520 แห่ง แบ่งเป็นของกรมประมง 191 แห่ง และของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 329 แห่ง ทำให้สถานการณ์ทรัพยากรปูม้าเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น โดยในปี 2561 จับได้ 24,000 ตัน และปี 2562 จับได้ 28,000 ตัน

จากการประเมินทรัพยากรปูม้าในอ่าวไทยปัจจุบันพบว่า มีปริมาณผลผลิตสูงสุด 30,000 ตัน/ปี โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันมีปริมาณถึง 7,484 ตัน/ปี เป็นภาพการฟื้นคืนของปูม้าแบบยั่งยืนและจับได้ตลอดทั้งปี

"ภาพรวมล่าสุดผลผลิตปูม้าที่จับได้ เข้าสู่ตลาดภายในประเทศประมาณ 70% ส่งออกประมาณ 30% เห็นได้จากตัวเลขส่งออกปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 5,000 ตัน มูลค่า 1,650 ล้านบาท ในปี 2562 ส่งออกประมาณ 4,700 ตันมูลค่า 1,465 ล้านบาท โดยบริเวณที่สามารถจับปูม้าได้มากที่สุด คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจันทบุรี รวมไปถึงอ่าวพังงาบางส่วน"

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีการทำโรงงานแปรรูปปูม้าเชิงอุตสาหกรรมส่งออกจำนวนมาก รวมถึงแนวโน้มการบริโภคปูม้าของผู้บริโภคในประเทศมีมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณเนื้อปูที่จับได้ภายในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้น โรงงานแปรรูปผู้ประกอบการหลายแห่งจึงนำเข้าเนื้อปูสดแช่เย็นแช่แข็งจากประเทศแถบตะวันออกกลาง อาทิ บาห์เรน ปากีสถาน เป็นกลุ่มประเทศที่ไม่นิยมบริโภค โดยปี 2561 มีการนำเข้าประมาณ 2,500 ตัน ปี 2562 มีการนำเข้าประมาณ 2,800 ตัน แต่ปูที่นำเข้ามีราคาสูง และคุณภาพสู้เนื้อปูภายในประเทศไทยไม่ได้



"เพราลัย" บอกว่า ปูม้าถือเป็นสัตว์ทะเลที่สามารถเพาะและขยายพันธุ์ได้ แต่เลี้ยงทดแทนการจับจากธรรมชาติยากมาก จึงยังไม่สามารถพัฒนาการเลี้ยงในบ่อได้เหมือนกุ้ง จึงไม่สามารถเพิ่มปริมาณให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและการส่งออก

"การทำธนาคารปูม้าส่วนใหญ่มีการสนับสนุนให้ดำเนินการโดยชุมชนพื้นบ้านเป็นหลัก โดยการนำแม่ปูที่มีไข่นอกกระดองมาเพาะเลี้ยงในโรงเรือน ปล่อยให้ไข่ฟักกลายเป็นลูกปูขนาดเล็ก ซึ่งแม่ปู 1 ตัว จะให้ลูกปูประมาณ1 ล้านตัว หลังจากนั้นจึงนำลูกปูไปปล่อยในธรรมชาติ แต่อัตราการรอดชีวิตของลูกปูมีเพียงแค่ 1% และจะเติบโตเป็นแม่ปูที่สามารถฟักไข่ได้ประมาณแค่ 160 ตัวเท่านั้น"

ดังนั้น กรมประมงได้มีการขอความร่วมมือจากชาวประมงพาณิชย์ หากจับได้ปูไข่นอกกระดองให้ปล่อยลงทะเล ตัวอย่างเช่น สมาคมประมงอวนลาก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีเรือทำประมงพาณิชย์อยู่ประมาณ 40 กว่าลำ ขอให้กรมประมงเข้าไปสอนโครงการธนาคารปูม้าและช่วยกันอนุรักษ์ปูม้ากลับคืนสู่ทะเล และนับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

แนวคิดการอนุรักษ์นี้ได้ถูกขยายไปสู่สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้ให้ความร่วมมือในมีการปล่อยแม่พันธุ์ปูม้าลงทะเลไปแล้วกว่า 20,000 ตัว โดยมีระบบการจดบันทึกข้อมูลและสื่อสารกับกรมประมงตลอดมา

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแปรรูป "เพราลัย" บอกว่า กรมประมงได้ทำความร่วมมือกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และภาคเอกชน ทำโครงการ Fishery Improvement Project เกี่ยวกับแผนปรับปรุงการประมงปูม้าของไทยควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ความรู้ในการทำธนาคารปูม้ากับชุมชนเป็นหลัก โดยการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการใช้เครื่องมือทำการประมงพบว่า 50% ของผลการจับปูม้ามาจากการทำประมงพื้นบ้าน และอีก 50% มาจากการประมงพาณิชย์

"สำหรับทิศทางตลาดปูม้าในปี 2563 นี้ ชาวประมงสามารถกระจายปูม้าผ่านระบบตลาดออนไลน์ได้มากขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนวิธีขายมาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งรูปแบบการตลาดและแพ็กเกจ การที่รัฐบาลควบคุมโควิด-19 ได้ถือว่าเป็นแรงบวกอย่างมาก เห็นได้จากเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการในสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยทั้งจากโรงงานที่สุราษฎร์ธานีและสมุทรสาคร โดยเฉพาะบริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ผลิตเนื้อปูม้าพาสเจอไรซ์บรรจุกระป๋อง ปูนิ่มแช่แข็งและสินค้าเนื้อปูแปรรูปต่าง ๆ ส่งขายทั้งตลาดภายในประเทศ และส่งออก ซึ่งมีธนาคารปูม้าเป็นของตัวเองก็ยังดำเนินธุรกิจได้ดีอยู่ แม้การส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังทำได้ไม่เต็มที่"

ดังนั้น ในอนาคตปูม้าในท้องทะเลไทยจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพื่อเป็นอาหารให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคหรือไม่ คงอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าของไทย โดยเฉพาะการรณรงค์ไม่กิน "ปูไข่นอกกระดอง" และ "ปูขนาดเล็ก" เพื่อชาวประมงจะได้ไม่จับมาขาย และให้ปูม้าได้ขยายพันธุ์ในท้องทะเลให้มีการใช้ประโยชน์กันอย่างยั่งยืนตลอดไป


https://www.prachachat.net/local-economy/news-482028

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 26-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวอิศรา


โครงการสร้างเขื่อนทำลายป่า พาไทยติดกับดักประเทศกำลังพัฒนา
โดยดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ

"...หากหน่วยงานพัฒนาในประเทศ ขาดความตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศ อยู่เช่นนี้ ก็ยังถือว่าประเทศเรายังคงติดกับประเทศรายได้ปานกลาง ที่หน่วยงานของรัฐด้านพัฒนาคิดโครงการทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยไม่แยแสต่อคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค และช่วยรักษาสมดุลย์ความชื้นในภาวะโลกร้อน..."



การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ถือเป็นต้นทุนทางสังคมด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรักษาพื้นที่ป่าไม้อย่างจริงจัง เพราะเศรษฐกิจที่เข้มแข็งต้องอยู่บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีพื้นที่ป่าไม้ ประมาณ 36% ของประเทศ, แคนาดา 40%, ญี่ปุ่น 67% เกาหลีใต้ 64% เป็นต้น

รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันมีการตั้งเป้าอย่างชัดเจนว่าจะนำพาประเทศให้ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว และได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ที่ปรากฎในทั้งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับ นโยบายป่าไม้แห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 ให้ถือเป็นนโยบายหลักด้านป่าไม้ของประเทศ ได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศมีพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ 40% ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอยู่เพียง 31% ของพื้นที่ประเทศ และในป่าที่เหลืออยู่นี้ เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพียง 20% ของพื้นที่ประเทศ ดังนั้นนโยบายป่าไม้แห่งชาติ จึงกำหนดให้เพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ ให้ได้ตามเป้าหมายภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดในแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งเป็นแผนหลักประกอบนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งคณะทำงานกำลังดำเนินการร่างแผนแม่บทฯกันในขณะนี้

การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เช่นนี้ จึงทำให้เกิดความหวังของสังคมในหลายภาคส่วนที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ กระแสสังคมเรื่องนี้ปรากฎชัดเจนมากใช่ช่วงไวรัสโควิด 19 ที่ผลสำรวจความคิดเห็นคนไทยกว่า 80% สนับสนุนนโยบายการปิดอุทยานแห่งชาติบางช่วงในแต่ละปี เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวที่เสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา หลังจากปรากฎชัดว่าในพื้นที่ที่ปิดการท่องเที่ยวช่วงโควิด สัตว์ป่าและสัตว์ทะเล ที่มีสถานภาพถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ของโลก เช่น ช้างป่า กระทิง ค่างแว่นถิ่นใต้ เต่ากระ เต่ามะเฟือง พยูน ออกมาปรากฎตัวในพื้นที่ที่เคยคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน และเป็นข่าวโด่งดังไปในสื่อนานาชาติหลายสำนัก

แต่เป็นที่น่ารันทดใจว่า หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาบางหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมชลประทาน ให้ความสำคัญแต่ด้านการพัฒนาด้านเดียว ได้พยายามผลักดันโครงการสร้างเขื่อนที่จะท่วมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการในระดับชาติหลากหลายคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือจะท่วมพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1A ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ต้องเสนอผ่านคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อขออนุมัติเพิกถอนจากความเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยขอยกตัวอย่างโครงการที่สำคัญๆ ที่กรมชลประทานพยายามผลักดันในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ถูกระงับหรืออยู่ในระหว่างให้กรมชลประทาน นำข้อเสนอกลับไปพิจารณา เพราะเป็นโครงการที่คณะกรรมการสรุปว่าจะทำความเสียหายต่อพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่า ดังนี้

1. โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เสนอคณะกรรมการสงวนคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ขอเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เป็นเนื้อที่ 1,280 ไร่ ในปี 2560 และจะกระทบต่อการสูญเสียไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ กว่า 10,000 ต้น ซึ่งโครงการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในในรัฐบาลประยุทธ 1 คือ พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ได้แสดงภาวะผู้นำ โดยนำหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านในพื้นที่ สำรวจตำแหน่งที่ตั้งสันเขื่อนใหม่ เพื่อไม่ให้ท่วมป่าภูเขียว จนกระทั่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

2. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยบอน จังหวัดอุบลราชธานี เสนอคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในปี 2560 เพื่อขอเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เป็นเนื้อที่ 280 ไร่ และจะทำให้สูญเสียไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ กว่า 4,600 ต้น ซึ่งคณะกรรมการฯ ไม่พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ

3. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขะยูง ตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เสนอคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ในปี 2560 ขอเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรักเพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำ เป็นเนื้อที่ 1,611 ไร่ โดยมีไม้ขนาดใหญ่กว่า 10,000 ต้น ต้องถูกตัดออกหากได้สร้าง และยังทำให้สัตว์ป่าที่สำคัญ เช่น ชะนีมงกุฎ และลิ่นชวา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ของโลกต้องสูญเสียถิ่นอาศัย ซึ่งคณะกรรมการฯ ไม่พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ

4. โครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ อำเภอปง จังหวัดพะเยา เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในปี 2562 ขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง 243 ไร่ โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ต้องสูญเสียกว่า 4,400 ต้น และบริเวณน้ำท่วมยังเป็นแหล่งอาศัยหลักของนกยูงไทย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพถูกคุกคามในระดับโลก ซึ่งคณะกรรมการฯ อนุมัติในหลักการ และให้กรมชลประทานฯ กลับไปพิจารณาเสนอแนวทางลดกระทบต่อนกยูงไทย ให้ชัดเจนก่อน

5. โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในปี 2562 ขอใช้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จำนวน 2,097 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพป่าสมบูรณ์ และจะท่วมหมู่บ้านกะเหรี่ยงพุระกำ ที่ถือเป็นหมู่บ้านที่รักษาวัฒนธรรมกะเหรี่ยงดั้งเดิม ซึ่งชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมการสรุป ให้กรมชลประทานกลับไปพูดคุยกับชาวบ้านให้เข้าใจก่อนนอกจากนี้ ยังมีโครงการอ่างเก็บน้ำ ที่กรมชลประทาน กำลังเสนอ เพื่อก่อสร้างในพื้นที่อนุรักษ์ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพิ่มเติม เช่น อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่จังหวัดจันทบุรี ที่จะท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นกว่า 7,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ได้รับการฟื้นฟูเพื่ออนุรักษ์ช้างป่าอย่างประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน ที่จังหวัดสระแก้ว ที่กำลังเสนอให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นเนื้อที่ ประมาณ 4,000 ไร่ ทั้งๆที่พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และคณะกรรมการมรดกโลกเคยมีมติขอให้รัฐบาลระงับการสร้างเขื่อนนี้

โครงการเหล่านี้ มักอ้างถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการเก่าแก่ที่ถูกคิดไว้ตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยยังมีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก ถูกนำมาปัดฝุ่นเสนอใหม่ โดยมิได้คำนึงว่าปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก ป่าไม้เหลือน้อย สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลกเหลือพื้นที่ป่าที่เป็นที่พึ่งพิงเพียงเล็กน้อยเพื่อดำรงชีวิต แต่แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ไม่ได้ถูกปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกในปัจจุบัน

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนในสังคมในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ จะมีความตระหนักและเห็นคุณค่าของพื้นที่อนุรักษ์และคุณค่าทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ที่คงเหลืออยู่น้อยนิดเหล่านั้นอย่างมาก และจะพยายามร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า ให้คงอยู่คู่สังคม และเอื้อประโยชน์คนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพิงระบบนิเวศ คนไทยทั้งประเทศด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตโดยรวม ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป พยายามฟื้นฟูระบบนิเวศลำน้ำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยการรื้อทำลายเขื่อนที่มีอายุเก่าแก่ และมีผลกระทบชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมกันกว่าหลายร้อยเขื่อน และหน่วยงานของรัฐด้านพัฒนาจะมีความตระหนัก โดยไม่เสนอโครงการพัฒนาที่ทำลายพื้นที่อนุรักษ์ที่ประกาศจัดตั้งแล้ว เพราะถือเป็นการผิดกฎและกติกาของสังคมอย่างรุนแรง และอาจถูกต่อต้านจากคนในสังคมจนกระทั่งฟ้องร้องกันเป็นทางการจนเสียภาพลักษณ์ของหน่วยงานพัฒนาเหล่านั้น

สำหรับในประเทศไทย พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่กรมชลประทานพยายามเสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้รับการอนุรักษ์มากว่า 20-50 ปี จึงทำให้ธรรมชาติ ทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ พื้นที่หลายแห่งกลายเป็นสวรรค์ของ ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า ตลอดจนกระทั่งเสือโคร่ง หากหน่วยงานพัฒนาในประเทศ ขาดความตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศ อยู่เช่นนี้ ก็ยังถือว่าประเทศเรายังคงติดกับประเทศรายได้ปานกลาง ที่หน่วยงานของรัฐด้านพัฒนาคิดโครงการทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยไม่แยแสต่อคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค และช่วยรักษาสมดุลย์ความชื้นในภาวะโลกร้อน และแสดงถึงความไม่แยแสต่อคุณค่าของการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก พื้นที่มรดกโลก ที่คนทั่วโลกห่วงใย ซึ่งแนวทางการพัฒนายังเป็นอยู่เช่นอาจทำให้นโยบายป่าไม้แห่งชาติ คงเป็นเสมือนเพียงกระดาษที่ขาดพลังขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย ให้ประเทศไทยเป็นพัฒนาแล้วบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มั่งคั่งและเข้มแข็ง แต่ประเทศจะตกอยู่ในวังวันแห่งกับดักประเทศกำลังพัฒนาตลอดไป

ฝูงวัวแดง สัตว์ป่าใกล้สูญพันธ์ของโลก ถ่ายโดยกล้องดักถ่ายภาพในอุทยานแห่งชาติตาพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลก บริเวณโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน เสนอโดยกรมชลประทาน


https://www.isranews.org/article/isr...89885-dam.html

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:01


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger