เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 21-02-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,300
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนผ่านภาคเหนือด้านตะวันออกเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน คาดว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นนี้ จะแผ่เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือ ในวันนี้(21 ก.พ. 65) ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นโดยอุณหภูมิจะลดลงในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4-6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคอื่นๆ อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกัน และระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 20 - 21 ก.พ. 65 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 5-9 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง

ส่วนในช่วงวันที่ 22 ? 26 ก.พ. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 24 ? 26 ก.พ. 65 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียวเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 20 ? 21 ก.พ. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนในวันที่ 22 -26 ก.พ. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย และชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565)" ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565

คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนได้เคลื่อนผ่านภาคเหนือด้านตะวันออก เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน คาดว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นนี้จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือในวันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2565) ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบน มีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ โดยมีอุณหภูมิจะลดลง ในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระวังอันตรายจากลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 21-02-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,300
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


นักวิทยาศาสตร์เตือน ก๊าซมีเทนพุ่งสูงในอัตราความเร็วที่อันตราย ท้าทายเป้าหมายลดโลกร้อน




Summary

- เมื่อปีที่ผ่านมา ความเข้มข้นของก๊าซมีเทนที่สะสมในชั้นบรรยากาศที่พุ่งทะลุ 1,900 ส่วนในพันล้านส่วนโมเลกุลอากาศ (1,900 ppb) ทำให้เกิดความกังวลเรื่องโลกร้อนที่กำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราความเร็วในระดับที่นักวิทยาศาสตร์มองว่า 'อันตราย'

- อัตราการปล่อยก๊าซมีเทนเคยลดลงในปี 2000 แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร มีความพยายามศึกษาหลายๆ แบบ และมีการสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นภาวะโลกร้อนเองทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับที่ทำให้มีเทนถูกปล่อยออกมามากขึ้น

- นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ระดับก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเป้าหมายของโลกที่จะควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม


เวลาพูดถึงปัญหาโลกร้อน เรามักได้ยินการพูดถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะมันเป็นตัวสำคัญที่สุดในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ขณะที่ทั่วโลกกำลังตั้งเป้าหมายที่จะลดคาร์บอน ก็ยังมีก๊าซชนิดอื่นที่ประกอบกันเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้นๆ ซึ่งอีกตัวที่กำลังสร้างความกังวลก็คือก๊าซมีเทน

เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนกันเกี่ยวกับความเข้มข้นของก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศที่พุ่งทะลุ 1,900 ส่วนในพันล้านส่วนโมเลกุลอากาศ (1,900 ppb) เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเรื่องสถานการณ์โลกร้อนที่กำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราความเร็วในระดับที่นักวิทยาศาสตร์มองว่า 'อันตราย'

ข้อมูลจากองค์การด้านมหาสมุทรและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (US National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า อัตราความเข้มข้นของมีเทนดังกล่าวนั้นสูงกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเกือบ 3 เท่า

นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของคำมั่นสัญญาเรื่องการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP 26) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา



อัตราการปล่อยก๊าซมีเทนเคยลดลงในปี 2000 แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไร มีการสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นภาวะโลกร้อนเองที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับที่ทำให้มีเทนถูกปล่อยออกมามากขึ้น ซึ่งจะยากต่อการควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิของโลก

อวน นิสเบต (Euan Nisbet) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรอยัลฮอลโลเวย์แห่งลอนดอน (Royal Holloway, University of London) สหราชอาณาจักรกล่าวว่า ระดับก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเป้าหมายที่จะควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

เป็นเวลามากกว่าทศวรรษที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาข้อมูลต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ก๊าซมีเทนเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถระบุต้นตอของมันได้อย่างแน่ชัด ซึ่งเหตุผลที่เป็นไปได้มีทั้งการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น การถมขยะ และการปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในพื้นที่ชุ่มน้ำ

นักวิทยาศาสตร์พยายามใช้ความรู้เกี่ยวกับไอโซโทปโมเลกุลของก๊าซมีเทนเป็นกุญแจไขข้อสงสัย

ก๊าซมีเทนนั้นประกอบด้วยคาร์บอนและไฮโดรเจน โดยองค์ประกอบในส่วนที่เป็นคาร์บอน ส่วนใหญ่เป็นไอโซโทปคาร์บอน-12 และอีกเล็กน้อยเป็นคาร์บอน-13

ทั้งนี้ ก๊าซมีเทนที่เกิดจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในพื้นที่ชุ่มน้ำและมูลสัตว์จากการปศุสัตว์จะมีค่าคาร์บอน-13 น้อยกว่ามีเทนที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิล



เมื่อนำความรู้เหล่านี้ไปศึกษาเปรียบเทียบการสะสมของก๊าซมีเทนในแกนน้ำแข็งและหิมะในช่วงหลายสิบหรืออาจหลายจะร้อยปีที่ผ่านมา รวมถึงการสะสมมีเทนในชั้นบรรยากาศ ซึ่งพบว่าในช่วง 2 ศตวรรษหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม สัดส่วนก๊าซมีเทนที่มีค่าคาร์บอน-13 เพิ่มขึ้น แต่ช่วงหลังจากปี 2007 ที่การปล่อยก๊าซมีเทนกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก กลับพบก๊าซมีเทนที่มีค่าคาร์บอน-13 ในสัดส่วนลดน้อยลง ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งสมมติฐานว่า ในช่วงหลังปี 2007 ที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซมีเทนส่วนใหญ่มาจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์มากกว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ชิน หลาน (Xin Lan) นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์เฝ้าสังเกตโลกของ NOAA ใช้ข้อมูลค่าคาร์บอน-13 ประเมินคาดการณ์ว่า จุลินทรีย์เป็นสาเหตุหลักถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของการเพิ่มก๊าซมีเทนในช่วงหลังปี 2007 และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุรองลงมา

อย่างไรก็ตาม การค้นหาต้นตอที่ก่อให้เกิดการย่อยสลายของจุลินทรีย์ได้มากขนาดนี้ไม่ใช่งานง่าย หลานและทีมงานจึงต้องพยายามตั้งสมมติฐานหลายๆ แบบเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และคำถามสำคัญที่ลืมไม่ได้เลยคือว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนเองหรือเปล่า ที่เป็นตัวเร่งการเกิดก๊าซมีเทน

แต่ถึงอย่างนั้น มนุษย์ก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้น การศึกษาแนวโน้มไอโซโทปของก๊าซมีเทน โดยทีมงานของหลานพบว่า ก๊าซมีเทนที่เกิดจากการปศุสัตว์ ของเหลือจากการเกษตร การถมขยะ และการเผาผลาญพลังงานฟอสซิล คิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุการเกิดก๊าซมีเทนทั้งหมดในช่วงปี 2007- 2016



ไรลีย์ ดูเรน (Riley Duren) จากหน่วยงานเพื่อการกุศล Carbon Mapper ในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งใช้ดาวเทียมเพื่อระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซมีเทนกล่าวว่า ด้วยสาเหตุของการเกิดก๊าซมีเทนที่มาจากมนุษย์ แสดงว่ายังมีหลายอย่างที่มนุษย์เราสามารถทำได้เพื่อชะลอปรากฏการณ์โลกร้อน และนักวิทยาศาสตร์เองก็พร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลต่างๆ ในการชี้เป้าแหล่งที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา Carbon Mapper และ Environmental Defense Fund หน่วยงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมจากมหานครนิวยอร์ก ได้ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลที่ระบุว่า แหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 30 แห่งในทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซมีเทนรวมกันสูงถึง 100,000 ตัน ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับผลกระทบจากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลของรถยนต์ถึง 500,000 คัน ซึ่งแหล่งผลิตน้ำมันเหล่านี้สามารถลดก๊าซมีเทนได้ง่ายๆ โดยการป้องกันไม่ให้มีก๊าซรั่วไหลออกมา

ในที่ประชุม COP26 ที่นครกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ผ่านมา กว่า 100 ประเทศได้ร่วมลงนามใน แผนลดการปล่อยก๊าซมีเทนของโลก (Global Methane Pledge) ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซมีเทนราว 30 เปอร์เซ็นต์ ในระหว่างปี 2020-2030 ดูเรนแห่ง Carbon Mapper กล่าวเน้นย้ำเรื่องนี้ว่า ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน รวมทั้งประเทศยากจนและประเทศที่มีฐานะปานกลางด้วย

"การแก้ปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซมีเทนอาจจะเป็นโอกาสเดียวที่จะช่วยให้เราซื้อเวลาต่อไป" เพื่อจะแก้ปัญหาที่ท้าทายและยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อ้างอิง : Nature, NOAA


https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/101130

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:16


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger