เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > Main Category > ห้องรับแขก

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #131  
เก่า 08-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


‘ดู-ดม’ ก่อนรบกับ ‘รา’ หลังน้ำลด!!


คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า เมื่อน้ำที่ “เอาไม่อยู่” บุกเข้าท่วมขังในบ้านนานเกินกว่า 2 วันขึ้นไป ย่อมมีโอกาสเกิดเชื้อรา กำจัดไม่ถูกวิธีส่งผลเสียสุขภาพ

ผู้ประสบอุทกภัยซึ่งต้องอพยพออกจากที่พักอาศัยของตนเอง เพราะถูกน้ำท่วมขังหรือน้ำล้อมบ้านจนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกปลอดภัย ตลอดจนต้องเผชิญกับการเดินทางที่แสนลำบาก ต่างก็รอคอยเวลาที่น้ำลดหรือแห้งไป เพื่อที่จะได้เดินทางกลับเข้าบ้านที่รักเสียที

คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า เมื่อน้ำที่ “เอาไม่อยู่” บุกเข้าท่วมขังในบ้านนานเกินกว่า 2 วันขึ้นไป ย่อมมีโอกาสเกิดเชื้อรา ทั้งแบบที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เหตุนี้ “กรมควบคุมโรค” จึงเผยข้อมูลควรรู้ เตือนประชาชนก่อนที่จะกลับบ้านไปเก็บกวาดทำความสะอาดครั้งใหญ่ เนื่องจาก “เชื้อรา” ประหนึ่งข้าศึกที่ไม่ยอมถอยร่นกลับไปกับน้ำ อาจส่งผลต่อสุขภาพแบบไม่รู้ตัว

เชื้อรา มีทั้งชนิดก่อให้เกิดโรค และไม่ก่อให้เกิดโรค โดยมี “สปอร์” เป็นส่วนประกอบหนึ่งเพื่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งสปอร์นี้มีขนาดเล็กเพียง 3 ไมครอน มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ล่องลอยอยู่ในอากาศ จึงไม่มีใครหลีกพ้นการหายใจเอาสปอร์เข้าไปได้ แต่กระนั้นก็ไม่ต้องตกใจเกินไป เพราะร่างกายของคนเรา มีภูมิคุ้มกันหรือระบบต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม อีกทั้งไม่ใช่เชื้อราทุกชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

แต่ผู้ที่ต้องระวังเชื้อราตัวร้ายเล่นงาน คือ ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ คนที่มีอาการภูมิแพ้ คนที่ภูมิต้านทานไม่ดี เช่น ป่วยเบาหวาน กินยาสเตียร์ลอยด์ ผู้ติดเชื้อ HIV หากผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้เข้าไปในบริเวณที่มีเชื้อรา เช่น ภายในตัวบ้านที่เพิ่งถูกน้ำท่วมขัง หรือทำความสะอาดแล้วแต่กำจัดเชื้อราไม่หมด เชื้อราที่ยังอยู่มักทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูลไหล ระคายเคืองทำให้ตา จมูก หลอดลมเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน เป็นผื่นลมพิษ ปอดอักเสบจากภูมิแพ้ ส่วนคนเป็นโรคหอบหืดจะเป็นรุนแรงมากขึ้น ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะถึงขั้นคลื่นไส้อาเจียน เลือดออกในปอดและจมูก

เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อรา คนอ่อนแอเข้าลักษณะข้างต้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเป็นทัพหน้าทำความสะอาดบ้าน ส่วนผู้ที่ต้องทำความสะอาดบ้าน ไม่ว่าจะแข็งแรงดีหรือสุขภาพไม่แกร่งเต็มร้อย “จำเป็นต้องสวมเครื่องป้องกัน” ประกอบด้วย รองเท้าบูทยาง ถุงมือยางหรือถุงมือทำงานบ้านเพื่อป้องกันเชื้อรามาสัมผัสผิวหนัง โดยเฉพาะคนที่มีบาดแผลที่มือและเท้า, แว่นป้องกันตา ชนิดครอบตาแบบไร้รูระบาย ป้องกันเชื้อรากระเด็นเข้าตา, และหน้ากาก ชนิดเอ็น95 ป้องกันการหายใจเอาเชื้อราเข้าไป โดยหน้ากากผ้าหรือแบบฟองน้ำไม่เพียงพอต่อการป้องกัน

ขณะที่วิธีสำรวจว่ามีเชื้อราหลังน้ำท่วมหรือไม่ ทำได้ 2 วิธี คือ “ดูด้วยตา” หารอยเชื้อราที่ขึ้นเปื้อนตามผนังหรือเฟอร์นิเจอร์ และ “ดมกลิ่น” ลักษณะกลิ่นเชื้อราจะเหม็นอับทึบ เหม็นคล้ายกลิ่นดิน ทั้งนี้ในภาวะหลังน้ำท่วมจะทำให้ภายในบ้านมีความชื้นสูง อากาศไม่ค่อยถ่ายเท จึงเกิดเชื้อราได้ง่าย บริเวณที่พบเชื้อราได้บ่อย มีทั้งผนัง ฝ้าเพดาน พื้นไม้ ใต้พรม วอลล์เปเปอร์ ผ้าม่าน ผนังด้านในของท่อแอร์ โครงผนังเครื่องปรับอากาศ ตู้เสื้อผ้า เสื้อผ้า หนังสือ ฟูก เตียง หมอน เครื่องหนัง ภายในห้องน้ำ ห้องครัว ร่องยาแนวกระเบื้องและยาแนวต่างๆ ม่านพลาสติก กระจกเงา ซิลิโคน ปลอกไฟเบอร์ เสื่อน้ำมัน และกระเบื้องยาง เป็นต้น

เมื่อสงสัยว่าสิ่งของใดมีเชื้อรา ต้องยึดหลักที่ว่า When in doubt, take it out หรือสิ่งของใดที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมดจดให้ทิ้งไป โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุนซึ่งไม่สามารถชะล้างและทำให้แห้งได้ มักจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อราอยู่ต่อไป อาทิ พรม รองพื้นพรม ฝ้าเพดานยิปซัม ฝ้าผนังผลิตภัณฑ์ไม้ที่บดอัดขึ้นรูป กระดาษ และฉนวน ทั้งนี้เชื้อราที่ตายแล้ว ก็ยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ได้

สำหรับวิธีทำความสะอาดบ้านให้ปลอดเชื้อราที่พึงปฏิบัติ ควรรีบทำความสะอาดพื้นและผนังด้วยการขัดล้างให้เร็วที่สุด ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังน้ำลด แยกพื้นที่ที่จะทำให้อยู่ในวงจำกัดทีละมุมของบ้าน ขณะทำความสะอาดให้เปิดประตูและหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ พร้อมทั้งเปิดพัดลม หรือใช้ไฟสปอร์ตไลท์ส่อง เพื่อช่วยให้แห้งเร็วไม่อับชื้น หากเป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรล้างทำความสะอาดไปพร้อมกันด้วย

สู่ขั้นตอนและสูตรน้ำยากำจัดเชื้อรา เริ่มแรกให้ล้างด้วยน้ำและสบู่เพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อน ไม่แนะนำให้ใช้ผงซักฟอกเพราะมีแป้งและซัลเฟต เป็นอาหารของเชื้อรา จากนั้นขัดล้างต่อด้วยน้ำยา 0.5% โซเดียม ไฮโปคลอไรท์ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา หรือสามารถผสมน้ำยาใช้เอง จากผงฟอกขาว สัดส่วน 1 ถ้วยตวง ผสมกับน้ำ 1 แกลลอน สำหรับสารฆ่าเชื้อราหาซื้อได้จากร้านยา ร้านเคมีภัณฑ์ ร้านขายอุปกรณ์เกษตร ร้านเคมีภัณฑ์ทำความสะอาดสระว่ายน้ำ หรือห้างสรรพสินค้า

นอกจากนี้ยังมีน้ำยาฆ่าเชื้อรา สูตรแบบอ่อน ใช้น้ำส้มสายชู สูตรกลั่นหรือหมัก (ควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย 7%) ใช้กับกระดาษดีกว่าผ้าเพราะไม่ต้องซัก หรือใส่ขวดสเปรย์ก็ได้ สเปรย์ทิ้งไว้ราว 5-10 นาทีแล้วเช็ด กำจัดได้ในระดับน่าพอใจ 80% แต่ไม่สามารถฆ่าสปอร์ได้

กรณีที่ขัดผนังปูนหรือพื้นผิวที่หยาบ แนะขัดด้วยแปรงอย่างแข็ง ส่วนการขัดพื้นผิววัสดุที่ขึ้นรา มีสภาพแห้ง รามีลักษณะฟูจนเห็นเส้นใยโผล่ออกมา ระวังห้ามใช้ผ้าแห้งเช็ด เพราะสปอร์ของเชื้อราอาจฟุ้งกระจาย รวมไม่ควรเปิดพัดลมด้วย โดยให้ใช้ทิชชูเนื้อเหนียวแผ่นหนาใหญ่ หรือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำเปียกหมาด เช็ดพื้นผิววัสดุจากล่างขึ้นบน หรือซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย โดยเลือกเอาทางเดียว ห้ามเช็ดย้อนไปมา ทิชชูหรือหนังสือพิมพ์ที่ใช้เช็ดครั้งเดียวต้องทิ้งโดยบรรจุถุงปิดปากมิดชิด เพราะการนำกลับมาเช็ดซ้ำไปซ้ำมาจะทำให้เชื้อราที่หลุดแล้วกลับไปติดใหม่

สุดท้าย เมื่อเก็บกวาดเช็ดถูและกำจัดเชื้อราไปแล้ว หากไม่มั่นใจ สามารถทำซ้ำได้ ทั้งนี้ควรเฝ้าระวังการเกิดเชื้อราขึ้นใหม่ ด้วยการลดกิจกรรมที่ทำให้มีความชื้นในอากาศนานๆ อาทิ การตากผ้าในบ้าน การต้มน้ำหรือทำอาหารในบ้าน การปิดเครื่องปรับอากาศแล้วเปิดหน้าต่างทันที

มีทั้งสูตรน้ำยาเป็นอาวุธ และวิธีทำความสะอาดสู้เชื้อราแล้ว คงเหลือเพียงแต่ตัวท่านลงแรงไปรบกับรา.




จาก ....................... เดลินิวส์ วันที่ 8 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:07


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger