เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 08-09-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 8 กันยายน 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 8 - 11 ก.ย. 63 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาว เข้าสู่หย่อมควากดาอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก และภาคใต้

ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 13 ก.ย. 63 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 8 - 11 ก.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 13 ก.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 08-09-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ฮือฮา! ประมงนราฯ อวดภาพปลาทูน่าตัวโต ระบุอ่าวไทยตอนล่างยังสมบูรณ์

ชาวเน็ตฮือฮา เหตุกลุ่มชาวประมงจังหวัดนราธิวาส โพสต์อวดภาพการจับปลาทูน่าได้ และปลาในภาพมีขนาดใหญ่โต โดยเชื่อว่าทะเลอ่าวไทยตอนล่างนั้น ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก และวอนให้คนไทยให้ความสำคัญดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลด้วย



เมื่อวันที่ 7 ก.ย. เฟซบุ๊ก "สุไลมาน ดาราโอะ" ได้เผยแพร่ภาพชาวน่าตื่นตาตื่นใจ ที่กลุ่มชาวประมงนราธิวาส ได้จับปลาทูน่า ได้มากมายจากทะเลอ่าวไทย และเชื่อว่าอ่าวไทยตอนล่างนั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่

โดยผู้โพสต์ระบุเนื้อหาว่า "ปลาทูน่า จากทะเลนราธิวาสความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวไทยตอนล่าง นราธิวาส"

ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวมีชาวเน็ตให้ความสนใจ และแสดงความคิดเห็นสอบถามถึงชนิดของปลาทูน่าในภาพที่มีขนาดใหญ่โตมาก และเห็นด้วยกับความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวไทยตอนล่างโดยโพสต์มียอดกดไลก์กว่า 300 ครั้ง และแชร์ไปกว่า 50 ครั้งด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ปลาทูน่า จัดเป็นปลาทะเล มีจำนวนหลายชนิด นิยมนำมารับประทานสด ทำอาหารกระป๋อง และนำมาประกอบอาหาร แต่การจับโดยส่วนใหญ่จะส่งโรงงานแปรรูปเป็นอาหารกระป๋อง และปลาทูน่าที่จับได้ในประเทศไทยจะเป็นทูน่าขนาดเล็ก ได้แก่ ปลาโอแถบ และปลาโอดำ ส่วนปลาทูน่าขนาดใหญ่ต้องออกจับนอกน่านน้ำทะเลสากล หรือนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปลาทูน่าครีบเหลือง และปลาทูน่าครีบยาวที่นิยมนำมาทำเป็นทูน่ากระป๋อง มีวิธีการจับเป็น 2 แบบ คือ การจับโดยอวน และการใช้เบ็ดราว


https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000091696


*********************************************************************************************************************************************************


"กรมเจ้าท่า" ยอมย้ายจุดทิ้งวัสดุจากการขุดลอกร่องน้ำ หลังชาวบ้านโวยหญ้าทะเลแหล่งอาหารพะยูนตายเพียบ

ตรัง - เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านลงพื้นที่ตรวจสอบจุดทิ้งวัสดุจากโครงการขุดลอกร่องน้ำกันตังของกรมเจ้าท่า หลังชาวบ้านตั้งข้อสังเกตพบหญ้าทะเลในแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน-อาหารของพะยูนตายเป็นบริเวณกว้าง เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป



วันนี้ (7 ก.ย.) เจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาน้ำ กลุ่มแผนงานพัฒนาทางน้ำ กรมเจ้าท่า ตัวแทนบริษัท แสงเจริญมารีนเซอร์วิส จำกัด ผู้รับเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง และตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันตรวจสอบจุดทิ้งวัสดุ ทั้งดิน ทราย และตะกอนดิน ที่ได้จากการขุดลอกร่องน้ำกันตัง พื้นที่ระหว่างเกาะเหลาเหลียงกับเกาะลิบง หลังชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า กระแสคลื่นลมพัดพาตะกอนดินในบริเวณดังกล่าวเข้าไปทับถมหญ้าทะเลในอ่าวทุ่งจีน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและอาหารของพะยูน ในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปี 2563 ส่งผลให้หญ้าทะเลในอ่าวทุ่งจีนตายเป็นบริเวณกว้าง

ในการตรวจสอบครั้งนี้ ผู้รับเหมาได้สาธิตการทำงานจริงในการทิ้งตะกอนดินเพื่อประเมินทิศทางการไหลของน้ำและกระแสคลื่นลมทะเล และยืนยันว่า จุดทิ้งตะกอนดินจากการขุดลอกร่องน้ำกันตังดังกล่าวนี้เป็นจุดทิ้งเดิมที่ดำเนินการตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่เคยพบปัญหากระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว โดยจุดทิ้งนี้อยู่ห่างจากเกาะลิบงประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากเกาะเหลาเหลียงประมาณ 3.28 กิโลเมตร แต่ละวันจะนำตะกอนดินมาทิ้งประมาณวันละ 6-7 เที่ยวๆ ละ 3,000 คิว รัศมีครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.5 กิโลเมตร

จากนั้น คณะได้เดินทางไปตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงบริเวณอ่าวทุ่งจีน พบว่า มองเห็นเรือบรรทุกตะกอนดินที่จอดทิ้งตะกอนดินอยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตรได้อย่างชัดเจน และอยู่ในทิศทางตรงกับบริเวณอ่าวทุ่งจีน แหล่งหญ้าทะเลสำคัญ โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง และส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ 7 ได้ใช้โดรนบินสำรวจ เพื่อเก็บข้อมูลพื้นที่ความเสียหายเพื่อนำไปศึกษาและใช้ในการวางแผนร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูต่อไป



ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านที่หากินอยู่บริเวณเกาะลิบง ได้ให้ข้อมูลว่า ในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สภาพอากาศทางทะเลมีความแปรปรวนผิดปกติ ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นช่วงที่คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง ก็จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านสลับไปมาด้วย จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ตะกอนดินดังกล่าวถูกกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงพัดไปเข้าพื้นที่จนยากต่อการคำนวณและควบคุม ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้ร้องขอให้ทางกรมเจ้าท่า ย้ายจุดทิ้งตะกอนดินจากบริเวณดังกล่าวออกไปทิ้งยังระหว่างเกาะตะเกียงกับเกาะกระดาน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นจุดที่ปลอดภัยกับแหล่งหญ้าทะเล หรือนำตะกอนดินไปทิ้งบนฝั่ง โดยเจ้าหน้าที่ก็พร้อมที่จะดำเนินการย้ายจุดทิ้งในปีงบประมาณ 2564 สำหรับโครงการปีนี้ก็ใกล้จะแล้วเสร็จและหมดสัญญาภายในเดือน ก.ย.นี้

ด้านนายสมบัติ ยวนยี่ ผู้ควบคุมงานโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง กรมเจ้าท่า กล่าวว่า ทางกรมจะนำข้อเสนอของคณะตรวจสอบในครั้งนี้ไปเสนอต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า เพื่อย้ายจุดทิ้งตะกอนดินไปในพื้นที่ที่ชาวบ้านต้องการ แต่ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียด แต่สำหรับจุดทิ้งดังกล่าวนี้เป็นจุดทิ้งเดิมที่กรมเจ้าท่าใช้พื้นที่มาโดยตลอดหลายสิบปีที่มีการขุดลอก และมีการติดตามตรวจสอบผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดแต่ไม่เคยพบปัญหา อย่างไรก็ตาม ก็พร้อมดำเนินการตามความต้องการของชาวบ้าน และจะร่วมกับชุมชนในการช่วยฟื้นฟูหญ้าทะเลต่อไป


https://mgronline.com/south/detail/9630000091597

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 08-09-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


กรมประมง เปิดพื้นที่เจรจาประมงพื้นบ้าน 14 ข้อเรียกร้อง



นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ทั้ง 14 ข้อ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อคิดเห็น

ผลการประชุมปรากฏว่า ได้ข้อยุติเป็นที่พอใจของชาวประมงพื้นบ้าน อาทิ ข้อเรียกร้องซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การแก้กฎหมายตามข้อเสนอของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง การขอทราบสถิติการทำการประมงนั้น กรมประมงไม่ได้ขัดข้องและได้ส่งข้อมูลจากการบันทึกการทำการประมง ตั้งแต่ปี 2559 ? 2562 ให้แก่สมาคมสมาพันธ์ฯ ตามที่ร้องขอแล้วหลังเสร็จสิ้นการประชุม การออกใบรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน การขอให้กรมประมงพิจารณาออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านนั้น กรมประมงรับข้อเสนอและจะเร่งรัดการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 โดยกรมประมงจะหารือร่วมกับสมาคมสมาพันธ์ฯ และผู้แทนสมาคมประมงพื้นบ้าน ใน 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อพิจารณาชนิดและขนาดของเครื่องมือทำการประมงพื้นบ้านที่ต้องขออนุญาตภายหลังจากที่กรมเจ้าท่าดำเนินการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้

อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ประมงจังหวัด ประมงอำเภอ รวมถึงเจ้าหน้าที่ในสังกัด เร่งชี้แจงทำความเข้าใจในสิ่งที่ภาครัฐได้ดำเนินการและการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ชาวประมงในแต่ละพื้นที่ได้รับทราบรายละเอียดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้ผลการดำเนินการของรัฐ ตามประเด็นข้อเรียกร้องดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

นอกจากนี้ ในวันที่ 8 กันยายน 2563 กรมประมงยังได้เชิญทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและสมาคมประมงทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งได้มีการยื่นข้อเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ มาหารือถึงแนวทางออกของการแก้ไขปัญหาประมงร่วมกันอีกด้วย


http://thainews.prd.go.th/th/news/de...00907205932573

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 08-09-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


เปิดปม : เปิดแผนคลองไทย 9A



ความพยายามที่จะขุดคลองไทยแนว 9 เอ เชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย เกิดขึ้นท่ามกลางความหวังว่าโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ในระดับโลกนี้จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่ยังมีความกังวลว่า คลองไทยอาจนำมาซึงปัญหาความมั่นคงได้เช่นกัน

การขุดคลองเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทยเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยได้รับรู้รับฟังมานาน

ล่าสุดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการขุดคลองไทยบนเส้นทาง 9 เอ ขึ้นอีกครั้ง มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาขุดคลองไทยและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว



เส้นทางของคลองไทย 9 เอ จะผ่านจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรังและกระบี่ มีระยะทาง 135 กิโลเมตร คาดว่า จะช่วยย่นระยะทางการเดินเรือได้ 1,200 - 3,500 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลองไทยขึ้นบริเวณปากคลองไทย คาดว่าใช้งบประมาณในการดำเนินการ 2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงว่า คลองไทยจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับงินที่ลงทุนหรือไม่

รศ.สถาพร เขียววิมล อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ วุฒิสภา ให้ข้อมูลไว้ในรายงานการศึกษาโครงการขุดคลองไทย พ.ศ. 2547 ระบุว่า เส้นทางเดินเรือระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยมี 3 เส้นทาง ประกอบด้วย
เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ระหว่างแหลมมลายูกับเกาะสุมาตรา
เส้นทางผ่านช่องแคบซุนดา ระหว่างเกาะชวากับเกาะสุมาตรา
เส้นทางผ่านช่องแคมลอมบ็อค ระหว่างเกาะบาหลีกับเกาะลอมบ็อค



นอกจากนี้ รศ.สถาพร เขียววิมล ยังให้ความเห็นว่า คลองไทยจะช่วยย่นระยะทางการเดินทางระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามันได้ 1,200 - 3,500 กิโลเมตร ซึ่งหากคำนวณจากความเร็วมาตรฐานสากลที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรแล่นผ่านช่องแคบได้ไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คลองไทยจะช่วยย่นระยะเวลาได้ 2 ? 7 วัน

"เรือแต่ละลำมีค่าใช้จ่ายมาก อย่างเรือขนาด 2 หมื่นตู้คอนเทนเนอร์ ผมเข้าใจว่าไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านบาทต่อวัน เพราะฉะนั้นเขามาใช้คลองไทยแล้วประหยัด ที่เราได้ประโยชน์มาก ๆ ก็คือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเอาตู้คอนเทนเนอร์จากทั่วประเทศไทยไปส่งที่สิงคโปร์เพื่อไปส่งต่อประเทศอื่น"

ขณะที่ รศ.รุธิร์ พนมยงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาเคยทำงานวิจัยโดยใช้แบบจำลองทำนายสถานการณ์หลังจากขุดคลองไทยพบว่า ประเทศที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดหากคลองไทยเกิดขึ้น คือ ประเทศจีนและเกาหลีใต้ โดยจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 15-20 ปี ส่วนประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะได้รับผลประโยชน์ไม่มากเพราะเป็นเพียงประเทศทางผ่านเท่านั้น

ส่วนเรื่องของเวลาในการเดินเรือ รศ.รุธิร์ พนมยงค์ วิเคราะห์ว่าคลองไทยจะช่วยย่นระยะเวลาได้ไม่ถึง 2 วันเพราะระหว่างที่เรือแล่นผ่านคลองไทยจะไม่สามารถแล่นด้วยความเร็ว นอกจากนี้ยังต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอ ทำให้เมื่อเทียบกับต้นทุนที่เรือแต่ละลำต้องจ่ายค่าผ่านคลองแล้ว การเดินเรือผ่านคลองไทยอาจมีต้นทุนที่สูงกว่าการใช้เส้นทางเดิม


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 08-09-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


เปิดปม : เปิดแผนคลองไทย 9A .............. ต่อ

"คำถามแรกคือความคุ้มค่าของการประหยัดได้ 2-3 วัน ซึ่งในหลักด้านโลจิสติกส์ เรามักพูดตลอดว่าต้องดูต้นทุนรวม การที่เราประหยัดได้ 2-3 วัน มันลดค่าใช้จ่ายได้จริงหรือไม่ ประเด็นที่สองคือการเข้าไปในคลองก็ต้องรอคิว แล้วก็จะมีลักษณะที่เป็นขั้นบันได ไม่ใช่อยู่ดี ๆ อยากจะเข้าก็เข้า เพราะฉะนั้นอาจประหยัดได้แค่ครึ่งวันหรือ 1 วันเท่านั้น"

ความมั่นคงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง พล.ร.ต.จตุพร ศุขเฉลิม อนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สภาความมั่นคงแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า การขุดคลองไทยจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเคลื่อนกำลังพลไปสู่ภูมิภาคอื่น และ อาจเป็นปัจจัยชักจูงให้ประเทศมหาอำนาจพยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือคลองไทยเพื่อควบคุมเส้นทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ โดยยกตัวอย่าง สถานการณ์ที่ประเทศจิบูติซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงกับคลองสุเอซ ซึ่งเป็นภูมิศาสตร์ที่เรือทุกลำที่ใช้คลองสุเอซต้องเดินทางผ่าน

ปัจจุบันประเทศขนาดเล็ก ที่มีเนื้อที่ประมาณ 23,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร 9 แสนคน อย่างประเทศจิบูติ กลายเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือจากประเทศมหาอำนาจทั้งญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และล่าสุดปี 2560 ประเทศจีนก็เลือกประเทศจิบูติเป็นที่ตั้งของฐานทัพต่างแดนแห่งแรกเช่นกัน



จึงมีการคาดการณ์ว่าหากในอนาคตคลองไทยซึ่งช่วยย่นระยะทางในการเดินทางผ่านคาบสมุทรอินโดจีนไปสู่ภูมิภาคอื่น อาจกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ต่างชาติต้องการเข้ามามีอิทธิพลเพื่อกุมความได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์

"เวลามีปัญหาทางตะวันออกกลาง อิหร่านประกาศเสมอว่าจะปิดอ่าวเปอร์เซีย เพราะมันเป็นจุดยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคลองไทยไม่เป็นจุดยุทธศาสตร์ อย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกที่อ่าวมะนาว จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งกำลังไปที่พม่าและอินเดีย ดูประเทศที่อยู่ปากคลองสุเอซอย่างประเทศจิบูติ ซึ่งเรือผ่านแน่ ๆ ตอนนี้เต็มไปด้วยกองกำลังต่างชาติ เราจะยอมเป็นอย่างนั้นไหม"

แต่ในมุมของผู้สนับสนุนโครงการคลองไทย รศ.สุเมต สุวรรณพรหม รองประธานมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ กลับมองว่าการที่ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดคลองไทย เป็นเพราะทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่นานาชาติจะได้รับร่วมกัน

"เรื่องมหาอำนาจจะมาแย่งชิงกันไม่ต้องพูด มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าการลงทุนมันคล้าย ๆ อีอีซี ทุกชาติต้องมาเข้าร่วม จะมีบริษัทของทุกประเทศเป็นผลประโยชน์มันร่วมกัน แล้วใครจะทะเลาะกับใคร"

เดือนมกราคม 2563 สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาขุดคลองไทย และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายค้านและรัฐบาลจำนวน 49 คน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้



ฝ่ายสนับสนุนคลองไทยนำโดยสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ออกมาเรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัยเชิงลึกถึงความเป็นไปได้ในการขุดคลองไทยแนว 9 เอ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาแม้มีการศึกษามาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ละเอียดเพียงพอเพื่อประกอบการพิจารณาว่าการขุดคลองไทยสามารถทำได้หรือไม่ แต่ข้อเรียกร้องนี้ก็มีอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการศึกษาโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ อาจต้องใช้เงินทุนนับพันล้านบาทเพื่อให้ได้ผลออกมาอย่างครบถ้วนทุกมิติ ซึ่งอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน




https://news.thaipbs.or.th/content/296224

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:35


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger