เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 15-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 15 - 16 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 20 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ทำให้ด้านรับมรสุมของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลางตลอดช่วง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 15 - 16 มิ.ย. 63 ขอให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 20 มิ.ย. 63 ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณประเทศไทย" ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2563

บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ประกอบกับยังคงมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้


จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้


ในช่วงวันที่ 15 มิถุนายน 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา


วันที่ 16 มิถุนายน 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหารชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 15-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


คลายล็อกทะเล 'ดร.ธรณ์' แนะกติกาดูวาฬ สัตว์หายาก ดูแบบไหนถึง New Normal ทะเลไทย



ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางทะเล ให้ข้อแนะนำถึงการปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ หรือ New normal ทะเลไทย โดยเฉพาะเมื่อเปิดอุทยานแห่งชาติ ในวันที่ 1 ก.ค.2563 เป็นต้นไป จะมีนักท่องเที่ยวออกมาชมท้องทะเลไทยมากขึ้น

เพจเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โพสต์ว่า หลังจากคลายล็อก เพื่อนธรณ์เริ่มออกทะเล มีรายงานเจอวาฬบรูด้า/ฉลามวาฬ/โลมารัวๆ จึงอยากฝากไว้สักนิดเพื่อให้ New Normal ทะเลไทยเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะเมื่อเจอวาฬ ฉลามวาฬ หรือสัตว์หายาก ควรปฏิบัติตามกติกา ดังนี้

-ลดความเร็วเรือ 4 น็อต-เมื่อเข้าใกล้ในระยะ 100 เมตร หยุดเดินเรือ ลอยลำ เพื่อป้องกันอันตราย/รบกวนพฤติกรรม

-หากสัตว์เข้ามาหา เธอจะมาเอง ไม่ต้องห่วง

-สามลำคือตัวเลขในการเข้าชมวาฬ อย่ามุง อย่าเข้าไปเยอะ รอสักนิดให้เรือลำอื่นออกไปก่อนนะครับ

-อย่าให้อาหาร (โดยเฉพาะเต่า/โลมา)

-สังเกตุพฤติกรรมสัตว์ตลอดเวลา หากสัตว์แสดงออกว่าโดนรบกวน รีบหยุดทำทุกอย่าง

-หากเจอสัตว์บาดเจ็บ/ติดขยะ รีบแจ้งกรมทะเล (เบอร์โทรอยู่ในคอมเมนต์)

-ดูแลการเที่ยวตามมาตรการโควิด เก็บขยะให้เรียบร้อยและนำกลับมาแยกและจัดการ

-ลดขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้มากที่สุด

-ไม่ควรลงน้ำไปว่ายกับวาฬ/โลมา ในกรณีฉลามวาฬ อาจลงไปลอยคอดู แต่อย่าจับแตะเกาะ อย่าว่ายไล่ไปเป็นพรวน

-กรมทะเลไม่อนุญาตให้นำพาหนะอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมในการเข้าชมสัตว์หายากโดยเด็ดขาด

-การกระทำที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลต่อสัตว์หายาก และจะส่งผลต่อการประกอบกิจกรรมในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต

ว่าง่ายๆ คือทำไม่ดี ซวยยกแก๊ง ต้องช่วยกันดู ช่วยกันเตือนนะฮะ ตอนนี้กระทรวงทรัพยากรฯ เฮี้ยบสุดๆช่วยกันสร้างการเที่ยวยุคใหม่ให้ทะเลยิ้มคนยิ้มนะครับ




https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000061576


*********************************************************************************************************************************************************


การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง "อ่าวบ้านดอน"

โดย รศ.ดร.กรกฎ ทองขะโชค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ



จากที่ผู้ประกอบการหรือผู้ที่อ้างสิทธิในการครอบครองพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมายบริเวณอ่าวบ้านดอน มีการปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำกับผู้ที่ครอบครองพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคอกหอย ขนำ บริเวณอ่าวบ้านดอนมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่แหลมซุย อำเภอไชยา ถึงแหลมกุกา อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีลัษณะเป็นเวิ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ มีพื้นที่รอบอ่าวรวมประมาณ 477 ตารางกิโลเมตร ลักษณะแนวชายฝั่งมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอพุนพิน อำเภอเมือง อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสัก

อ่าวบ้านดอนมีลักษณะเป็นท้องกระทะรับน้ำจากคลองน้อยใหญ่ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์จากตะกอนปากแม้น้ำต่างๆ ที่ไหลลงสู่อ่าวบ้านดอน โดยเฉพาะแม่น้ำตาปี จึงเป็นศูนย์รวมของความสมบูรณ์และแหล่งรวมความหลากหลายในระบบนิเวศท้องทะเล อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ และเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิด ทำให้พื้นที่อ่าวบ้านดอนมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ไม่ว่าการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ลักษณะชายฝั่งทะเลตลอดทั่งอ่าวเป็นบริเวณน้ำตื้น

พื้นที่อ่าวบ้านดอนถูกใช้เป็นแปลงเลี้ยงหอยนางรม หอยแครง และหอยแมลงภู่ พื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์อาจจะด้วยการจับสัตว์น้ำหรือทำประมงพื้นบ้านเพื่อเลี้ยงชีพ สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรทะเลสาธารณะได้แปรเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ที่ให้บุคคลสามารถถือกรรมสิทธิ์พื้นที่สาธารณะได้ ในช่วงต้นมีการจัดสรรพื้นที่ในทะเลให้บางส่วน และจากนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว ทำให้มีกลุ่มนายทุนกว้านซื้อ หรือซื้อทะเลจากชาวบ้านเพื่อนำมาทำเป็นคอกหอยแครงเลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดใหญ่

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยภาครัฐก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้แก่ ปัญหาการบุกรุกเพื่อทำคอกหอยแครงของนายทุน การรุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ทะเลสาธารณะ ส่งผลให้พื้นที่หากินของชาวประมงพื้นที่บ้านมีจำกัด หากินได้เพียงพื้นที่ร่องเดินเรือ และไม่สามารถรุกล้ำเข้าเขตคอกหอยนายทุนได้ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมโดยการถูกทำลาย การตักตวงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากเกินไป จนทรัพยากรลดลงอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร การบุกรุกผู้มีอิทธิพลเข้ามายึดครองพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงขัดขวางการรื้นถอนของเจ้าหน้าที่ และเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ในพื้นที่อ่าวบ้านดอน

ทรัพยากรธรรมชาติมีความสำคัญและจำเป็นต่อมนุษย์เราเป็นอย่างมาก อีกทั้งอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ในด้านต่างๆ กล่าวคือ สามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร หากขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ก็จะก่อให้เกิดปัญหากับมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่ดี ย่อมแสดงให้เห็นถึงความลำบากยากไร้ของประชาชนในท้องถิ่น เนื่องจากประชาชนได้อาศัยทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อประกอบอาชีพ

ทรัพยากรชายฝั่งที่มีอยู่ในชุมชนมีความสำคัญมาก สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในหลายด้าน การจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติที่ดีต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน โดยการมีส่วนรวมในการตัดสินใจ (Decision Making) การดำเนินงาน (Implementation) การรักษาผลประโยชน์ (Benefit) และการประเมินผล (Evaluation) เป็นกระบวนการที่คนในชุมชนจะเข้ามาร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นเกิดความยั่งยืนและสืบทอดให้ลูกหลานต่อไป

อย่างไรก็ดี ภาครัฐในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 กฎหมายเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมถึงกิจกรรมทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลชายฝั่ง โดยให้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรียกโดยย่อว่า ?ศรชล.? ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ มีหน้าที่และอำนาจและรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล นอกจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง แต่ก็ไม่สามารถจัดการความขัดแย้งในบริเวณอ่าวบ้านดอนได้

การบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งทางทะเลในปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการบูรณาการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ยังดำเนินการโดยภาครัฐ และยังมีส่วนร่วมน้อยจากภาคส่วนอื่นในสังคม ประกอบกับเครื่องมือและกลไกเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง จึงเป็นผลให้ไม่สามารถสนับสนุนให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งได้อย่งเต็มที่ และไม่สามารถสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคมให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อทรัพยากรร่วม (Common Pool resources) ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์จากทรัพยากรมาเป็นของตนเองและพวกพ้อง

การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรบนฐานอย่างยั่งยืน เป็นมิติสำคัญอย่างหนึ่งที่วางรูปแบบและมีการดำเนินงานที่ทำให้สมาชิกในชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญต่อมิติการทำงานที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมในการทำงานได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน การรับรู้ ได้นำไปสู่การยกระดับของกิจกรรมที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟู การแก้ไขปัญหา กติกา ข้อกำหนด สู่การเอื้อประโยชน์ การจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ที่เชื่อมโยงเข้ากับความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านอาชีพของชุมชนชายฝั่ง

รวมทั้งสร้างความตระหนัก การป้องกัน และการตั้งรับปรับตัวจากภัยธรรมชาติ การปรับเปลี่ยนกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่สะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยในลักษณะที่เป็นข้อตกลงร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ซึ่งมีลักษณะเฉพาะไปตามทรัพยากรแต่ละประเภท สิทธิชุมชนยังก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน การตรวจสอบถ่วงดุล การเปลี่ยนแปลงและการเจรจาต่อรองอย่างต่อเนื่อง ระหว่างสมาชิกชุมชน และระหว่างชุมชนกับอำนาจภายนอก


https://mgronline.com/south/detail/9630000061434

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 15-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


"ทิเบต" หลังคาโลกไม่ธรรมดา คว้าตำแหน่งเมืองสิ่งแวดล้อมดีที่สุดระดับโลก ................ โดย ปิ่น บุตรี


ทิเบต เมืองสิ่งแวดล้อมดีที่สุดระดับโลกปี 2019

ทิเบต ดินแดนหลังคาโลกสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจีน คว้าตำแหน่งเมืองคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในระดับโลกประจำปี 2019 โดยมีระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่สัตว์ป่าหายากอย่างแอนทิโลป-จามรีป่าก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ล่าสุดทิเบตยังเดินหน้าปลูกป่าทางอากาศขนานใหญ่เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้มีมากยิ่งขึ้น

ลาซา, ซินหัว ? สำนักข่าวซินหัวสื่อทางการของประเทศจีนรายงานว่า เขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนยังคงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในระดับโลกประจำปี 2019 โดยมีระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นที่มีเสถียรภาพ

รายงานนี้เผยแพร่โดยสำนักนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของทิเบตระบุว่าคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักและทะเลสาบที่สำคัญ รวมถึงคุณภาพอากาศในทิเบต ในปี 2019 ยังคงดีอยู่

ทั้งนี้จนถึงสิ้นปี 2019 ทิเบตได้จัดตั้งเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ 47 แห่ง ภายในพื้นที่รวม 412,200 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 34.35 ของพื้นที่ทั่วทิเบต


แอนทิโลปในทิเบตมีจำนวนเพิ่มขึ้น

สำหรับสัตว์ป่าหายากในทิเบตมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น โดยแอนทิโลปทิเบตมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนอยู่ที่ราว 200,000 ตัว ขณะที่จามรีป่ามีประชากรมากกว่า 10,000 ตัว

ขณะที่สถิติท้องถิ่นชี้ว่าทิเบตได้ส่งเสริมการปกป้องสัตว์ป่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยทิเบตได้ลงทุนมากกว่า 1.3 พันล้านหยวน (ประมาณ 5.76 พันล้านบาท) ในการสร้างฐานเพาะพันธุ์ เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ สถานีสังเกตการณ์ และสถานีช่วยเหลือสัตว์ป่า

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา เขตปกครองตนเองทิเบต ยังเดินหน้าปฏิบัติภารกิจปลูกป่าทางอากาศระดับใหญ่เป็นครั้งแรก

ภารกิจโปรยเมล็ดพันธุ์ทางอากาศเพื่อปลูกป่าจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 มิ.ย. และคาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่กว่า 90,800 ไร่ รวมถึงนครลาซา เมืองเอกของภูมิภาค และเมืองซานหนาน โดยใช้เมล็ดพันธุ์รวมทั้งหมด 119.3 ตัน

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ระบุว่าการปลูกป่าทางอากาศเป็นภารกิจที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และเหมาะสมกับภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ทั้งยังกระตุ้นประสิทธิภาพในการปลูกป่าและลดต้นทุนด้วย



ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทิเบตผลักดันแผนการปลูกป่าระดับใหญ่ ส่งผลให้ในปัจจุบันมีป่าไม้ครอบคลุมพื้นที่กว่าร้อยละ 12 ของภูมิภาค

สำหรับ "เขตปกครองตนเองทิเบต" ตั้งอยู่บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต แห่งเทือกเขาหิมาลัย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน "หลังคาโลก" โดยทิเบตมีความสูงเฉลี่ยของพื้นที่อยู่ที่ 4,572 เมตร

เขตปกครองตนเองทิเบต แบ่งเป็น 7 จังหวัด มีเมือง "ลาซา" หรือ "นครลาซา" เป็นเมืองเอก หรือ เมืองหลวง โดยคำว่า "ลาซา" ในภาษาทิเบตหมายความว่า "สถานที่ศักดิ์สิทธิ์" หรือ "พุทธสถาน"

เมืองลาซามีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่บนความสูงกว่า 3,650 เมตร จากระดับน้ำทะเล เมืองนี้เป็นหนึ่งในแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญที่มีการผสมผสานทั้ง ทิเบต ฮั่น มองโกล อินเดีย และเนปาล อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ คมนาคม พุทธศาสนา และการท่องเที่ยวที่สำคัญของทิเบต



สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ในทิเบตนั้นก็นำโดย "พระราชวังโปตาลา" และ "วัดโจคัง" ซึ่งสถานที่ทรงคุณค่าทั้งสองได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกพร้อมกันในปี ค.ศ.1994

นอกจาก 2 มรดกโลกสำคัญแล้ว ทิเบตยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันสวยงามชวนทึ่งอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ที่ราบสูงชิงไห่ ทะเลสาบตังฉยงชั่ว ทะเลสาบนัมโซ ทะเลสาบเส้อหลิน แม่น้ำฉาอวี๋

และ แม่น้ำยาร์ลุงซางโปที่มี "นกกระเรียนคอดำ" หนึ่งในสัตว์คุ้มครองสำคัญของจีนออกหากิน เป็นต้น ซึ่งวันนี้หลังจากทิเบตได้เปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งหลังจากต้องปิดเมืองชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก


https://mgronline.com/travel/detail/9630000061513

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 15-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


นักดำน้ำเกาะเต่าตาโตพบฉลามวาฬใหญ่ว่ายอวดโฉมที่หินใบ

สุราษฎร์ธานี-นักดำน้ำเกาะเต่าตื่นตาตื่นใจพบ"พี่จุด"ฉลามวาฬขนาดใหญ่ ลำตัวยาวประมาณ 3-4 เมตร ว่ายน้ำเคียงข้างฝูงปลาช่อนทะเลบริเวณ จุดดำน้ำหินใบ เป็นตัวที่สองในรอบปี


ภาพ Ban's Diving Koh Tao

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณจุดดำน้ำหินใบ (Sail Rock)เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็น 1 ในแหล่งดำน้ำที่สวยงามยอดนิยมอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเต่ากับเกาะพะงัน ครูสอนดำน้ำแบนส์ไดร์วิ่งเกาะเต่า ได้พบฉลามวาฬ (Whale Shark)ขนาดใหญ่ ลำตัวยาวประมาณ 3-4 เมตร ว่ายเล่นน้ำอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 18 เมตร โดยมีฝูงปลาช่อนทะเลว่ายเคียงข้างตามสร้างความดีใจและตื่นเต้นให้กับกลุ่มนักดำน้ำเป็นอย่างมาก ซึ่งฉลามวาฬตัวนี้นักดำน้ำเกาะเต่าตั้งชื่อให้ว่า " พี่จุด " หรือ พี่ฉลามวาฬ เนื่องจากตามลำตัวมีลายจุดจำนวนมาก

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทีมนักดำน้ำเกาะเต่า(KTDT)ลงสำรวจสภาพแนวปะการังได้พบฉลามวาฬ ความยาว 4-6 เมตรที่บริเวณจุดดำน้ำหินเขียว(Green Rock)ที่ระดับความลึก 16.3 เมตร แต่เป็นคนละตัวกับพี่จุด สำหรับจุดดำน้ำหินใบ มีลักษณะเด่นเป็นภูเขาใต้น้ำที่เป็นกองหินโผล่พ้นน้ำสูงประมาณ 15 เมตร มีความลึก 9 ? 30 เมตร เป็นจุดดำน้ำที่มีฝูงปลามากทั้งฝูงปลาข้างเหลือง ปลาหูบาง ปลาสาก ปลาช้าง ส่วนปลาเดี่ยว มีปลาหมอยักษ์ และฉลามวาฬ เข้ามาเยือนบ่อยครั้ง

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า การพบฉลามวาฬใหญ่ที่เกาะเต่าไม่ต่ำกว่า 2 ตัว เป็นการยืนยันถึงความสมบูรณ์ทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเลเกาะเต่าได้ฟื้นฟูกลับคืนมา ประกอบกับฉลามวาฬ เป็นสัตว์ป่าสงวนทางทะเล 1 ใน 4 ที่ได้รับการประกาศคุ้มครองและมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ จึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวช่วยกันดูแลด้วย

ข่าวแจ้งว่า ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เรือนักท่องเที่ยวดำน้ำเกาะเต่า ได้พบ " เจ้าแหว่ง " ฉลามวาฬใหญ่ ความยาวประมาณ 4 เมตร มีสัญลักษณ์รอยแหว่งที่หางด้านบน ว่ายน้ำเล่นที่บริเวณจุดดำน้ำกองชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำสวยที่สุดอีกแห่งของเกาะเต่าด้วย


https://www.posttoday.com/social/local/625964#cxrecs_s


*********************************************************************************************************************************************************


ปลาแซลมอนเป็นพาหะโคโรนาไวรัสหรือไม่?


ภาพ Sockeye salmon จาก US Fish and Wildlife Service

มันอยู่ในแซลมอนหรืออยู่ในเขียง? จับตาโควิดรอบใหม่ในปักกิ่ง

หลังจากที่มีรายงานข่าวการพบการระบาดกระจุกตัวของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ตลาดอาหารทะเลซินฟาตี้ ในกรุงปักกิ่ง มีการตรวจพบเชื้อไวรัสที่เขียงซึ่งใช้แล่ปลาแซลมอนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดความหวาดกลัวกันในประเทศจีนว่าปลาแซลมอนอาจจะไม่ปลอดภัย

เบื้องต้นสาขาซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในจีน เช่น Wumart และ Carrefour ได้สั่งหยุดขายปลาแซลมอนและนำสต็อคออกไปจากคลังสินค้าแล้ว ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลการตลาดของปักกิ่งสั่งตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารทั่วเมืองโดยมุ่งเน้นไปที่เนื้อสัตว์ใหญ่ เนื้อสัตว์ปีก และปลา ทั้งแบบสดและแช่แข็งในซูเปอร์มาร์เก็ต คลังสินค้า และบริการจัดเลี้ยง

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ดูแลซูเปอร์มาร์เก็ตปักกิ่งกล่าวว่าปลาแซลมอนที่ขายในร้านนั้นนำเข้าจากต่างประเทศหลังจากทราบไวรัสถูกตรวจพบในเขียงของแซลมอนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงเริ่มนำเอาปลาแซลมอนทั้งหมดออกจากร้าน

ผู้บริหารอีคอมเมิร์ซอาหารสดเหม่ยถวน (Meituan) ยังกล่าวว่าได้ลบผลิตภัณฑ์ปลาแซลมอนออกทั้งหมดจากแพลตฟอร์มซื้อขายและเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารสด

ไม่เพียงเท่านั้นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นจำนวนมากในปักกิ่งที่มีลูกค้าจำนวนมากยกเลิกการจำหน่ายปลาแซลมอนและอาหารที่มีส่วนผสมของแซลมอนอย่างเร่งด่วนและควบคุมการติดเชื้อในร้านอาหารอยา่งเข้มงวดอีกครั้ง

การพบเชื้อโรคบนเขียงแล่ปลาแซลมอนทำให้เกิดความวิตกในหมู่ประชาชน แต่ทางการจีนยังไม่เปิดเผยข้อมูลว่าเชื้อมาจากที่ไหนกันแน่โดยบอกเพียงว่าอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่คนในรัฐบาลจีนหลายคนอธิบายชัดว่าโอกาสที่จะติดเชื้อจากเนื้อปลานั้นน้อยมาก

1. สำนักข่าว Sihua Daily News ได้สอบถามจินตงเหยียน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาไวรัสและศาสตราจารย์แพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งกล่าวว่าอาหารทะเลไม่น่าจะเป็นแหล่งที่มาของการติดเชื้อ เพราะปลาไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีองค์ประกอบทางชีวภาพที่ซับซ้อนเหมือนมนุษย์ และการติดเชื้อไวรัสจากปลาสู่มนุษย์แทบไม่เคยเกิดขึ้น โอกาสที่แซลมอนจะเป็นพาหะนำไวรัสมีอยู่น้อยมาก

2. ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาไวรัสรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CBN ในจีนว่าพาหะของโคโรนาไวรัสใหม่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนปลาแซลมอนและอาหารทะเลไม่ใช่พาหะและจะไม่ติดไวรัส ดังนั้นไวรัสจะไม่แฝงอยู่ในเนื้อปลา แต่อาจจะติดอยู่บนพื้นผิวได้

3. นอกจากนี้ยังมีข้อแตกต่างด้านกายภาพระหว่างปลากับมนุษย์อีกอย่างคือ ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นแฃะอุณหภูมิในร่างกายของปลาจะเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ส่วนมนุษย์มีอุณหภูมิคงที่ เป็นเรื่องยากที่ไวรัสจะกระโดดข้ามจากสัตว์ที่มีอุณหภูมิต่างกัน

4. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมปีนี้ทีมวิจัยของ University College London ตีพิมพ์บทความบนแพลตฟอร์ม bioRxiv เกี่ยวกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่โดยระบุว่าไวรัสสามารถรวมตัวเข้ากับโปรตีนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ไม่สามารถรวมกับปลา, นก และสัตว์เลื้อยคลานได้

5. จากการทดสอบโดยนักวิจัยพบว่าในจำนวนปลา 72 ประเภทที่นำมาทดสอบการติดเชื้อ มีเพียงปลานิล (Nile tilapia) เท่านั้นที่มีเงื่อนไขเหมาะที่สุดที่จะติดเชื้อ (แต่ไม่ได้หมายความว่าปลานิลจะเป็นพาหะ)

6. ผู้นำวิจัยสรุปว่า "การคาดการณ์ของเราชี้ให้เห็นว่าในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมากมีความไวต่อการติดเชื้อโดย SARS-CoV-2 นก ปลา และสัตว์เลื้อยคลานไม่น่าจะเป็นไปได้"

7. นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารการประมงแห่งเอเชีย (Asian Fisheries Sciences) ยังชี้ให้เห็นว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่ในวงศ์ Coronaviridae สกุล ?-coronavirus โดยที่ ?-coronavirus นั้นจะติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

8. อีกประเด็นคือโคโรนาไวรัสส่วนใหญ่จะติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างทำให้เกิดอาการของผู้ป่วยในปอด แต่ปลาส่วนใหญ่ไม่มีปอดดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อไวรัส


https://www.posttoday.com/world/625956

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 15-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


อวดโฉมโลกใต้ทะเลตะรุเตา ฟื้นเต็มอิ่ม ปิดโควิด-19 ไร้รบกวน

สตูล 14 มิ.ย.- โควิด-19 ทำทุกสิ่งอย่างชะงักนานหลายเดือน แต่ดีต่อธรรมชาติได้ฟื้นฟูเต็มที่ ไร้สิ่งรบกวน อุทยานฯ ตะรุเตาลงสำรวจใต้ทะเลพบปะการังสุดสมบูรณ์ อย่างปะการังอ่อน 7 สี ร่องน้ำจาบัง รวมถึงพงไพร นกแก๊กเพิ่มจำนวน


ภาพ : อช.ตะรุเตา

นายกาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า เกาะตะรุเตาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ แต่ช่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งปิดแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 ปรากฏว่าทรัพยากรธรรมชาติได้ฟื้นตัวสมบูรณ์เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นความงามของผาชะโด ภูเขาป่าทึบ ประชากรนกแก๊กเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาฟื้นฟูเกือบ 100 %



นายกาญจนพันธ์ กล่าวว่า เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ดำน้ำลงสำรวจปะการังพบความสมบูรณ์มากทั้งปะการังอ่อน 7 สี ที่ร่องน้ำจาบัง ซึ่งเป็นปะการังที่สวยงามเป็นจุดดำน้ำยอดนิยมของนักท่องเที่ยว รวมถึงปะการังอีกหลายเกาะ อาทิ เกาะตาลัง อ่าวแม่ม่าย เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะอาดัง ส่วนการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ นั้นต้องรอประกาศจากกรมอุทยานฯ ซึ่งอุทยานฯตะรุเตา ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วทั้งบ้านพักและเส้นทางชมธรรมชาติ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหากเปิดพื้นที่ได้.


https://www.mcot.net/viewtna/5ee5c11fe3f8e40af144e15f


*********************************************************************************************************************************************************


ยินดี! ประจวบฯ พบเต่าตนุขึ้นวางไข่ครั้งแรกในรอบ 50 ปี



ประจวบคีรีขันธ์ 14 มิ.ย.- ชุมชนชายฝั่งแม่รำพึงช่วยกันทำคอกล้อมหลุมไข่เต่าหาดบ้านอ่าวเทียน ป้องกันรบกวนการฟักตัว หลังพบแม่เต่าตนุขึ้นวางไข่เกือบ 100 ฟอง นับเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และเป็นผลจากการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นายปราโมทย์ ชุ่มเชื้อ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ชาวประมงพื้นบ้าน และชาวบ้านในชุมชนช่วยกันดูแลกั้นคอกล้อมบริเวณหลุมไข่เต่าชายหาดบ้านอ่าวเทียน ใกล้ท่าเรือน้ำลึกบางสะพาน เพื่อป้องกันการรบกวน หลังพบว่าแม่เต่าตนุ อายุประมาณ 10 ปี ขึ้นมาวางไข่ 80 ฟอง

พร้อมกันนี้ ยังติดป้ายให้ข้อมูลของเต่าตนุ และแนวทางการปฏิบัติ นับจากวันที่แม่เต่าวางไข่เป็นต้นไป จนกว่าลูกเต่าจะฟักตัว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 50-55 วัน

สำหรับการวางไข่ของเต่าตนุโดยธรรมชาติบริเวณหาดบ้านอ่าวเทียนในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี หลังจากชาวบ้านร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.


https://www.mcot.net/viewtna/5ee5b30de3f8e40af94569b8


*********************************************************************************************************************************************************


ปิดอ่าวไทยรูปตัว ก. 15 มิ.ย.-15 ส.ค.63



สมุทรสาคร 14 มิ.ย. - เรือประมง จ.สมุทรสาคร ระบุการปิดอ่าวรูปตัว ก. ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ช่วยให้สัตว์น้ำขยายพันธุ์ ยกเว้นปลาทูที่ยังมีปัญหาเรืออวนจมที่อาจทำให้ปลาทูสูญพันธ์ได้

กรณีกรมประมงประกาศปิดอ่าวไทยตอนใน หรืออ่าวไทยรูปตัว ก. ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน-15 สิงหาคม 2563 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน


เรือประมงชี้ปิดอ่าวไทยตัว ก. แต่ปลาทูยังอาจสูญพันธุ์ได้

นายศาวงศ์ จุ้ยเจริญ ไต้ก๋งเรือประมงจับปลาทูรายใหญ่ของสมุทรสาคร เปิดเผยว่า การปิดอ่าวจะทำให้สัตว์น้ำต่างๆ เช่น กุ้งหอยปูปลาได้มีโอกาสพักวางไข่ขยายพันธุ์ ยกเว้นปลาทูที่ยังมีปัญหา เนื่องจากยังมีการอนุญาตให้เรือประมงประเภทที่มีเครื่องมือทำลายล้างพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาทู คือเรืออวนจม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เรือช็อต ซึ่งมีขีดความสามารถในการลากถึงหน้าพื้นผิวดินในท้องทะเล จนทำให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาทูที่กำลังวางไข่ถูกจับไปขายด้วย อาทำให้ปลาทูสูญพันธุ์ในอนาคต หากกรมประมงไม่เร่งแก้ไขเรื่องเครื่องมือในการทำประมงประเภทนี้

นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า เป็นห่วงผู้ประกอบการเรือประมงชายฝั่งที่มีขนาดเล็กที่จะต้องออกไปทำการประมงไกลจากฝั่งมากกว่าเดิมคือ15 ไมล์ทะเล ในช่วงที่ปิดอ่าว อาจเกิดอันตรายได้เพราะเป็นเรือเล็ก นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือแก้ไขเรื่องคุณภาพน้ำจากต้นน้ำที่จะลงสู่ปลายน้ำ คือ จากแม่น้ำลงสู่อ่าวตัว ก. ตอนบน ซึ่งคุณภาพของน้ำไม่ดี เช่นในช่วงฤดูฝน เมื่อน้ำลงมาที่อ่าวตัว ก.ตอนบน ทำให้สัตว์น้ำลอยตายเป็นจำนวนมากทุกๆ ปี แม้จะเป็นช่วงปิดอ่าวก็ทำให้การอนุรักษ์พันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ มีปัญหาหากไม่มีการแก้ไขเรื่องนี้ควบคู่กับการปิดอ่าว.


https://www.mcot.net/viewtna/5ee62a14e3f8e40af9456d0e
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 15-06-2020 เมื่อ 04:42
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:34


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger