เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 12-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณพื้นราบของประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า ในตอนกลางวันมีแสงแดดจัด โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ ยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 2-14 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนน้อย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 12 - 17 ม.ค. 63 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 1-14 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยมีฝนบางแห่งทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในตอนกลางวันมีแสงแดดจัด ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนน้อย ตลอดช่วง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 11 - 12 ม.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย



__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 12-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


มหาไฟป่าผลาญทวีปออสเตรเลีย ปลาสูญพันธุ์ในแยงซี นับถอยหลังภูเขาไฟฟูจิระเบิด

)
ทัศนียภาพอันแสนงามของภูเขาไฟฟูจิยามสงบ (ภาพเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ /Flight Centre Hong Kong)

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าววิปริตธรรมชาติต่างประเทศที่น่าตระหนกและตระหนักรู้ 3 ข่าวแยกหน้ากัน คือ ไฟป่าที่กำลังผลาญทวีปออสเตรเลีย การสูญพันธุ์ปลาสำคัญในแม่น้ำแยงซีเกียง และคณะกรรมการการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รอบคอบเตรียมรับมือหากภูเขาไฟฟูจิปะทุระหว่างการแข่งขันมหกรรมกีฬามนุษยชาติที่โตเกียวกลางปีนี้ ไว้แล้วตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน

หากมองในแง่ข่าวสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ข่าวเหล่านี้อาจแยกเป็นข่าวในประเทศ - ต่างประเทศสุดแต่ว่าประเทศไหนรับไป แต่ธรรมชาติวิทยาไม่มีการแบ่งแยกประเทศ ทุกเรื่องที่เกิดคือที่และเรื่องเดียวกันหมด เพราะระบบนิเวศน์ธรรมชาติมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่เหมือนระบบย่อยที่มนุษย์สร้างกันเอง

ไฟป่าในบราซิล หรือป่าออสเตรเลีย ส่งผลธารน้ำแข็งในนิวซีแลนด์ หมอกพิษในอินโดนีเซีย ก็ย่อมเป็นเรื่องหมอกพิษเดียวกันในสิงคโปร์ แผ่นดินไหว หรือสึนามิที่หนึ่ง ย่อมส่งสัญญาณถึงอีกฝั่งหนึ่ง

ชาร์ล ดิกแมน นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์อธิบายกับ HuffPost ว่า ไฟป่าที่กำลังผลาญทวีปออสเตรเลีย วอดแล้วกว่า 10 ล้านเฮคเตอร์ เทียบขนาดพื้นที่เกือบเท่าประเทศอังกฤษ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 คน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานว่าสัตว์เกือบครึ่งล้านตายในกองเพลิง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา HuffPost รายงานว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นพันล้าน และ 800 ล้าน ในนิวเซาธ์เวลส์เพียงลำพัง"

ดิคแมน กล่าวเสริมว่า หากนับรวมค้างคาวกบและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แมลง ฯลฯ ที่ไม่เหลือซากให้พบ จำนวนสัตว์ป่าที่เสียชีวิต "ไม่ต้องสงสัยเลย" ว่าเกิน 1 พันล้าน ตัวเลขนี้ได้รับการยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งคือ สจ๊วต แบลนช์ Stuart Blanch ขอ งWorld Wildlife Fund Australia ซึ่งบอกกับ HuffPost ว่าจำนวนสัตว์ที่เสียชีวิต ประมาณ 1 พันล้าน ก็ยังต่ำไป สัตว์ป่าบางชนิดที่อยู่ในสถานะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ทั้งหมด อันเป็นผลมาจากไฟป่า

เช่นเดียวกับอีกประเทศ ข่าวโลมาแม่น้ำแยงซีเกียง "เทพธิดาแห่งแยงซีเกียง" สูญพันธุ์แล้ว (Functionally Extinct) เหมือนชะตากรรมของฉลามปากเป็ดซึ่งมีฉายา "ราชาแห่งลุ่มน้ำแยงซีเกียง" สายพันธุ์ดึกดำบรรพ์ที่ปรากฏขึ้นบนโลกมานาน 15 ล้านปี สูญพันธุ์แล้วเช่นกัน ด้านผู้เชี่ยวชาญจีนได้แต่กล่าวอย่างหดหู่ว่า "มันเป็นความสนใจที่สายไปเสียแล้ว"

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ถึงขั้นออกมาชี้วิกฤตเลวร้ายอย่างแทบจะพูดได้ว่า "ไม่มีปลา" เหลืออยู่ในแยงซีเกียง

ไฟป่า ปลาสูญพันธุ์ ล้วนเกิดจากทั้งการแทรกแซงธรรมชาติด้วยมือมนุษย์ใต้คำว่าพัฒนาเทคโนโลยี จนเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นสะท้อนไปมา ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ไร้หมุดยึดแผ่นเปลือกโลก ทำแผ่นดินไหว แมกม่าใต้ดินไหลเคลื่อนรวมตัว ... และคงไม่เกินเลยไป หากมีนักวิทยาศาสตร์เริ่มออกมาพูดถึงเรื่องภูเขาไฟทั่วโลกจะระเบิด! เร็วขึ้น

"ภูเขาไฟฟูจิ" ที่นิ่งนาน แต่ก็ไม่ได้สงบ (Active volcano) แม้ฟูจิ อาจจะไม่ได้อยู่ในรายการติดตามฯ ที่มีความเสี่ยงในการระเบิดตามความเห็นของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง แต่กลุ่มนั้นก็ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าระเบิดเมื่อใด ยิ่งเมื่อจะมีการนำปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีนี้มาคำนวน จึงยังต้องพยายามศึกษาตามขีดจำกัดของความรู้ ติดตามและหาทางรับมือกับความน่าสะพรั่นพรึง

ผู้เชี่ยวชาญสำนักอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มความเสี่ยงของไฟป่าในออสเตรเลีย โดยการเพิ่มความยาวนานของฤดูไฟป่าจนผิดปกติ และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิง (พืชแห้ง) และลดปริมาณฝน ลดปริมาณน้ำที่มีอยู่เนื่องจากการระเหยที่สูงขึ้น?

นักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จะนำไปสู่การเกิดแผ่นดินไหวที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกและภูเขาไฟระเบิด!!

นี่คือเหตุที่ปัญหาโลกร้อน กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาชะตากรรมร่วมของมนุษย์และทุกสิ่งในโลก

ตั้งแต่ปี 2518 โลกร้อนขึ้นอย่างน่าตกใจโดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นประมาณ 0.15-0.20 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ในขณะที่ตัวเลขนี้ดูเหมือนจะค่อนข้างต่ำ แต่ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบอย่างไม่น่าเชื่อกับน้ำแข็งขั้วโลกซึ่งยังคงละลาย ตั้งแต่ปี 2522 ปริมาณน้ำแข็งในแถบอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือลดลง 80% อย่างน่าวิตก แม้นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าจะยังไม่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

แต่ตอนนี้นักวิจัยรับรู้ถึงวิกฤตน้ำแข็งที่ละลายเพิ่มขึ้นว่า อาจทำให้เกิดภัยคุกคามที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือ "การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกใต้พื้นผิวเพิ่มมากขึ้น" ซึ่งปลดปล่อย "แรงดันมหาศาล" ที่สั่งสมมานานนับพันปี และทำให้ "เกิดแผ่นดินไหว" สิ่งที่ตามมาคือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวมากๆ บ่อยๆ ทั่วโลก ก็ย่อมส่งผลให้แมกม่าใต้ดินเลื่อนไปรวมกันตามจุดต่างๆ ของ "ภูเขาไฟ" จนแรงดันมากพอย่อมต้องหาทางออกด้วยการปะทุ และระเบิดแรงกดดันมหาศาลออกมา

เว็บไซต์ Science Focus กล่าวว่า ?แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อแผ่นเปลือกโลกขนาดใหญ่ที่ประกอบเป็นแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่และบดทับกันตามแนวรอยเลื่อน"

"แผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งสามารถช่วยรักษาโครงสร้างของภูเขาไฟและภูเขาต่างๆ ในพื้นที่ของแผ่นดินที่มีน้ำแข็งปกคลุมหนา เช่น กรีนแลนด์หรือแอนตาร์กติกา น้ำหนักมหาศาลกดทับของชั้นน้ำแข็งที่หนาไม่กี่พันเมตรอาจป้องกันการขยับของแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ได้ แต่หากน้ำแข็งเหล่านี้ละลาย แผ่นเปลือกโลกย่อมอาจเลื่อนเคลื่อนอย่างสะเปะปะ และปล่อยพลังงานที่เคยถูกกักปิดไว้กระจายออกมารอบๆ ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวมากขึ้น"

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงส่งผลต่อการปะทุของภูเขาไฟด้วยเหตุนี้

จีออชิโน โรแบร์ตี นักศึกษาปริญญาเอกจาก University of Clermont Auvergne กล่าวว่า ?ให้จินตนาการน้ำแข็งเหมือนชั้นป้องกันบางอย่าง - เมื่อน้ำแข็งละลายไปภูเขาจะยุบตัวอย่างไร้การควบคุม หากเป็นภูเขาไฟ ก็มีปัญหาอื่นตามมาอีก"

"ภูเขาไฟเป็นระบบธรณีที่มีปัจจัยแรงดันและถ้าแรงกดจากน้ำแข็งคลายตัวเพราะการละลาย และดินถล่มจะมีปัญหาอื่นทางธรณีตามมาแน่นอน"

ศาสตราจารย์เดวิด รอธรี นักธรณีวิทยาที่ The Open University กล่าวว่า"งานวิจัยใหม่นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากคุณเปลี่ยนแรงกดทับที่ส่งผลต่อเปลือกโลก ย่อมส่งผลกับภูเขา และ ภูเขาไฟ

"การปะทุของภูเขาไฟเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายประการที่ซับซ้อน ผมสงสัยว่าการปะทุหลายครั้งที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งอาจเกิดขึ้นได้ในที่สุดโดยอาศัยระยะเวลาที่นานพอ แต่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนอาจเพิ่มโอกาสของการปะทุของภูเขาไฟให้เกิดขึ้นเร็วขึ้น" ศาสตราจารย์เดวิด รอธรี


(มีต่อ)

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 12-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


มหาไฟป่าผลาญทวีปออสเตรเลีย ปลาสูญพันธุ์ในแยงซี นับถอยหลังภูเขาไฟฟูจิระเบิด ........... ต่อ


ไฟป่าที่กำลังผลาญทวีปออสเตรเลีย วอดแล้วกว่า 10 ล้านเฮคเตอร์ เทียบขนาดพื้นที่เกือบเท่าประเทศอังกฤษ (ภาพเอเจนซี)

แนวโน้มว่าไฟป่าออสเตรเลียจะควบคุมได้เมื่อใดนั้นยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ออสเตรเลียกำลังเข้าสู่ช่วงสภาวะแห้งแล้งที่สุดของปี ก็คือช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถึงตอนนั้นวิกฤตไฟป่าอาจจะเลวร้ายกว่าเดิมอีก หากประเมินจากสภาพการตอนนี้ การจะควบคุมสภาวะไฟป่าได้ คงจะยังไม่ใช่ในช่วงก่อนเดือนกุมภาพันธ์

อากาศ ป่า น้ำ ใต้ดิน ล้วนเกี่ยวข้องกัน สถานการณ์ไฟป่าไม่ว่าจะเกิดที่ใด บราซิล หรือออสเตรเลีย จะส่งผลถึงสภาวะอากาศโลกให้เลวร้าย เป็นผลกระทบถึงทุกประเทศบนโลก เพราะไฟไม่เพียงเผาไหม้ต้นไม้และพุ่มไม้และปล่อยควันก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นอากาศ แต่ยังเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นดินและการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็มีผลกระทบย้อนกลับมาต่อสภาพอากาศเช่นกัน

ในช่วงเวลาหลายทศวรรษ หลังจากเกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ทั่วโลก การปล่อยก๊าซจากการย่อยสลายของไม้ที่ตายแล้วมักจะสูงกว่าการปล่อยโดยตรงจากไฟ

สก๊อต เดนนิ่ง นักวิทยาศาสตร์ชั้นบรรยากาศที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโดกล่าวว่า การศึกษาเฉพาะพื้นที่แสดงให้เห็นว่าผลการระบายความร้อนในป่าทางเหนือสามารถคงอยู่ได้นานหลายทศวรรษ ในทางตรงกันข้ามป่าฝนเขตร้อนท้องฟ้ามืดสามารถงอกใหม่ภายในไม่กี่ปี

เมื่อต้นไม้ใหม่งอกโตได้เร็ว จะสามารถเริ่มเก็บคาร์บอนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว แต่งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่า"ภาวะโลกร้อนกำลังยับยั้งไม่ให้เกิดการงอกใหม่ของป่า" อาทิ หลังเหตุการณ์ไฟป่าบริเวณแนวเทือกเขาโคโลราโดและในป่าของเซียร่าเนวาดา

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าป่าไม้มีปริมาณน้อยกว่าที่จะนำซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากชั้นบรรยากาศ จากที่เคยประมาณว่าป่าไม้ช่วยดูดซับได้ถึงร้อยละ 30 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่าระดับการเกิดไฟไหม้ทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นร้อนหรือเย็นลงโดยรวม ส่วนหนึ่งของเหตุผลที่พวกเขาไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเพราะนอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไฟป่ายังผลิตอนุภาคอินทรีย์ระเหยอื่น ๆ อีกมากมายที่เรียกว่าละอองลอย รวมถึงสารเช่น คาร์บอนแบล็ค หรือเขม่าควันดำและก๊าซที่ก่อตัวเป็นโอโซน

การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่าไฟป่าปล่อยมลพิษอนุภาคละเอียดมากกว่าสามเท่าโดยหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ระบุว่ามลพิษนี้ก่อปัญหาสุขภาพและนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังทำงานเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบที่มีต่อสภาพอากาศ

อนุภาคและละอองเหล่านี้บางอย่างสามารถทำให้บรรยากาศสะท้อนกลับและปิดกั้นแสงแดดเหมือนกระจกมากยิ่งขึ้น และยังแผ่กระจายลอยตามลมจากไฟป่าไปได้ไกลจากแหล่งที่มา

ไฟป่าขยายพื้นที่มากกว่า 100,000 เอเคอร์ หรือที่เรียกว่าเป็น Megafires ล้วนเพิ่มการปล่อยและส่งมลพิษเหล่านี้ให้สูงขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในสัปดาห์นี้พบว่าไฟป่าในแคนาดาในปี 2560 ส่งผลให้เกิดละอองลอยในระดับสูงทั่วยุโรปสูงกว่าที่วัดหลังจากการปะทุของ ภูเขาไฟปินาตูโบ ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2534

มาร์ก แพร์ริงตัน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากศูนย์พยากรณ์อากาศในระดับกลางของยุโรปกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของไฟป่าระดับ megafires เพราะปัจจัยภาวะโลกร้อน สามารถเปลี่ยนวัฏจักรก๊าซคาร์บอน ส่งผลซ้ำเติมปัญหาก๊าซเรือนกระจก

ในบางปีนักวิทยาศาสตร์ได้ติดตาม เศษเล็กเศษน้อยของพืชที่ถูกไฟไหม้ยังสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ เมื่อคลุมธารน้ำแข็งบนภูเขาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนหิมะและน้ำแข็งในแถบอาร์กติก

ตอนนี้ไฟป่าในออสเตรเลีย กระจายความร้อนส่งผลให้หิมะและธารน้ำแข็งในนิวซีแลนด์เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหลังจากถูกฝุ่นจากพุ่มไม้ของออสเตรเลีย โดยผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งกล่าวว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ธารน้ำแข็งละลายเพิ่มขึ้นในฤดูกาลนี้ได้มากถึง 30%

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว (2562) นักวิทยาศาสตร์จาก 153 ประเทศทั่วโลก จำนวนกว่า 11,000 คน ร่วมกันลงนามสนับสนุนรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกฉบับล่าสุด รวมทั้งออกแถลงการณ์ประกาศ "ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ" (Climate emergency)

รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Bioscience อันเป็นที่มาของการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศในครั้งนี้ ได้รวบรวมข้อมูลการวิจัยที่ยาวนานกว่า 40 ปี ซึ่งครอบคลุมตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย

ดร. โทมัส นิวซัม นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย หนึ่งในแกนนำของกลุ่มผู้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศบอกว่า "จากข้อมูลที่เรามีอยู่นั้น ชัดเจนว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ หากมนุษย์ไม่เร่งแก้ไข มีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าที่เคยพบเจอกันมาอย่างมาก เช่นบางพื้นที่ของโลกอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป" ดร. นิวซัมกล่าว

ภูเขาไฟฟูจิ จะระเบิดหรือไม่ เมื่อไหร่ไม่มีใครบอกได้ แต่ในความวิปริตต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติทั่วโลก ย่อมเกี่ยวพันและมีความเป็นไปได้ว่าจะเร่งนับถอยหลัง "ระเบิดเวลาของภูเขาไฟทั่วโลก ไม่เพียงแต่ฟูจิ"


https://mgronline.com/china/detail/9630000002046

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 12-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


เผาอ้อยทำ 'หิมะดำ' ตกโปรยปราย ซ้ำเติมภัยฝุ่นพิษ PM2.5 พื้นที่กลาง-อีสาน

หลายชุมชนในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยกำลังประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขี้เถ้าจากการเผาอ้อยที่ถูกลมพัดลอยไปตกทั่วบริเวณ ดูคล้ายกับหิมะสีดำปกคลุมไปทั่ว สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในท้องที่ ซ้ำเติมความเสี่ยงต่อสุขอนามัยจากมลพิษทางอากาศ ภายหลังเกษตรกรไร่อ้อยจำนวนมากยังคงใช้วิธีการเผาไร่อ้อยในการเก็บเกี่ยว แม้ว่าภาครัฐได้ออกหลายมาตรการเพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้แล้วก็ตาม

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ดร.พิมพ์พร ภูครองเพชร อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า จากการเผาอ้อยขนานใหญ่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพื่อเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันภายในทันฤดูปิดหีบอ้อยนี้ ทำให้หลายชุมชน รวมถึงชุมชนบ้านเกิดของเธอใน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนจากเศษขี้เถ้าสีดำจำนวนมหาศาลจากการเผาอ้อยขนานใหญ่ในพื้นที่ ที่ปลิวลงมาปกคลุมบ้านเรือน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก


เศษขี้เถ้าจากการเผาอ้อย //ขอบคุณภาพจาก: Bernetty Aek

"นับตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลหีบอ้อย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ราวเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือนมีนาคม ชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากขี้เถ้าจากการเผาอ้อยเป็นอย่างมาก เพราะลมจะพัดเศษขี้เถ้าปกคลุมบ้านเรือน สร้างความสกปรกไปทั่ว ฝุ่นขี้เถ้าที่ฟุ้งกระจายตามลมยังปนเปื้อนอาหารและน้ำดื่มของชาวบ้าน จนทำให้ตอนนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านไม่สามารถใช้โอ่งน้ำฝนในการอุปโภคบริโภคได้อีกต่อไปเพราะฝุ่นขี้เถ้าปนเปื้อน" ดร.พิมพ์พร กล่าว

"ฝุ่นขี้เถ้ายิ่งซ้ำเติมปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นควันการเผาอ้อย ทำให้คุณภาพอากาศในพื้นที่เลวร้ายลง ทวีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนป่วยและคนชรา"

เธอให้ข้อมูลว่า ชุมชนที่เธออาศัยเพิ่งเริ่มได้รับผลกระทบจากขี้เถ้าจากการเผาอ้อยในช่วง 2 ? 3 ปีมานี้เท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้พื้นที่บ้านเกิดของเธอยังมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอุตสาหกรรมไม่มากนัก และเกษตรกรไร่อ้อยในพื้นที่ใช้วิธีเก็บเกี่ยวอ้อยสดด้วยแรงงาน

"อย่างไรก็ดีจากนโยบายส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้เกษตรกรไร่อ้อยไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อยสดในพื้นที่เพาะปลูกที่ขยายตัวขึ้นมากได้อีกต่อไป อีกทั้งเกษตรกรยังต้องเร่งเก็บเกี่ยวแข่งกับเวลาเพื่อให้ทันระยะเวลาปิดหีบอ้อย เป็นสาเหตุให้เกษตรกรไร่อ้อยส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังคงเลือกที่จะใช้วิธีการเผาอ้อยในการเก็บเกี่ยว แม้ว่าอ้อยไฟไหม้ หรืออ้อยที่เก็บเกี่ยวเกี่ยวด้วยวิธีการเผา จะขายได้ราคาต่ำกว่าอ้อยสดก็ตาม" ดร.พิมพ์พร อธิบาย


ควันไฟลอยหนาจากการเผาไร่อ้อยแห่งนี้ที่ จ.สระบุรี เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

ไม่เพียงแต่ประชาชนใน อ.ห้วยเม็ก เท่านั้นที่กำลังเดือดร้อนจากปรากฎการณ์ 'หิมะสีดำ' ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า ชาวบ้านหลายพื้นที่ในภาคกลางและภาคอีสาน ที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่เพาะปลูกอ้อย ก็กำลังประสบกับปัญหาจากขี้เถ้าจากการเผาอ้อยเช่นกัน เพราะเกษตรกรชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีการเผาอ้อยในการเก็บเกี่ยว

"อ.ด่านช้าง สุพรรณบุรี ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เผาอ้อยหนักมาก เผามาตลอดเป็นเดือนแล้ว ชาวบ้าน เด็กนักเรียนเดือดร้อนหนัก การเผาอ้อยนอกจากทำให้เกิดอากาศพิษ ฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 ไฟจากเผาอ้อยยังไหม้บ้านของชาวบ้านด้วย ขณะที่โรงเรียน หิมะดำตกเกลื่อน" ดร.ไชยณรงค์ กล่าว

เขาชี้ว่า การส่งเสริมเพาะปลูกอ้อยขนานใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อผลิตวัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลให้การส่งเสริมอย่างเป็นระบบ เป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว เพราะแม้ว่ารัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเคยบอกว่าจะลดการเผาอ้อยด้วยการไม่ซื้ออ้อยที่เผา แต่ความจริงคือการเผาอ้อยยังคงมีต่อไปไม่หยุด

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกนโยบายตั้งเป้าเลิกการเผาอ้อยภายในปี พ.ศ.2565 เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเผาอ้อย โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ได้แก่

1. กำหนดให้โรงงานน้ำตาลทยอยลดสัดส่วนโควต้ารับซื้ออ้อยไฟไหม้ลงทีละน้อย จนกระทั่งลดโควต้าการรับซื้ออ้อยไฟไหม้จนหมดภายในปี พ.ศ.2565
2. ขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกรไร่อ้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยเป็นจำนวนรวม 6,000 ล้านบาท
3. ขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย เพื่อลดละเลิกการเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยการเผา

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และยังไม่เพียงพอที่จะสามารถแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน

ดร.ศิวัช ให้เหตุผลว่า ปัญหามลพิษทางอากาศที่เรากำลังประสบอยู่นี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีสาเหตุหลักมาจากการวางยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ จนละเลยการปกป้องสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมือง ด้วยเหตุนี้หลายๆนโยบายของรัฐบาลจึงก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์ของประเทศอีกครั้ง

"นโยบายการส่งเสริมการเกษตรของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนอุตสาหกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตมลพิษฝุ่น PM2.5 ในขณะนี้ ดังนั้นภาครัฐจึงควรปรับปรุงนโยบายด้านการเกษตรเสียใหม่ โดยส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืชในที่ที่เหมาะสม มีการใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้รัฐบาลควรที่จะออกนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการเปลี่ยนผ่านวิถีการผลิตให้มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น" ดร.ศิวัช เสนอ

อนึ่ง จากข้อมูลในรายงานของ ThaiNGO เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ออกแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำตาลอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2557คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 116/2557 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี (พ.ศ.2558-2569) อันมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูก 6 ล้านไร่ และโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน จาก 20 โรงงาน เป็น 30 โรงงาน หรือมากกว่านั้น ภายในปี พ.ศ.2569 จนทำให้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยในเขตเหมาะสมในการปลูกอ้อยโรงงานในพื้นที่ 48 จังหวัดทั่วประเทศ (ภาคเหนือ 11 จังหวัด, ภาคอีสาน 20 จังหวัด, ภาคกลาง 11 จังหวัด, และภาคตะวันออก 6 จังหวัด) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอุตสาหกรรมทั้งหมด 3.78 ล้านไร่ ในปีพ.ศ.2556 ขยายเป็น 4.4 ล้านไร่ ในปี พ.ศ.2558


https://greennews.agency/?p=20064

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:14


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger