เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 08-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนาม ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเกิดขึ้น กับมีอากาศเย็น ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาว สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆมาก กับมีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 7 ? 8 พ.ย. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศกัมพูชา ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้

ส่วนในช่วงวันที่ 9 ? 13 พ.ย. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 10-11 พ.ย. 63 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเคลื่อนตัวผ่านบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนไว้ด้วย และประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 08-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


เศร้า!พบพะยูนตายลอยกลางทะเลตรัง ตัวที่4ในรอบปี

พบซากพะยูนวัยรุ่น เน่าลอยตายกลางทะเลตรังบริเวณเกาะเหลาเหลียง ตัวที่ 4 ในรอบปีพบบาดแผลที่โคนหางก่อนนำซากไปผ่าหาสาเหตุ นักวิชาการเผย ประชากรพะยูนในทะเลอันดามันตอนล่าง 3 จังหวัด เหลือเพียง 170-200 ตัวเท่านั้น


?
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐพงษ์ ลิ้มอุจันโน นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตตรัง (มทร.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่ไปยังริมลำคลองบ้านปากรน บริเวณหลังวัดปากปรน ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง เพื่อตรวจสอบซากพะยูนเสียชีวิต หลังได้รับแจ้งจากนายอนุวัฒน์ ตีกาสม อายุ 20 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9/2 หมู่ 4 ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้าน

จากการตรวจสอบซากพะยูนตัวดังกล่าว เป็นเพศเมียอายุประมาณ 5-10 ปี คาดว่ายังไม่โตเต็มวัย ความยาวประมาณ 240 เมตร น้ำหนักประมาณ 200-250 กรัม ส่งกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งทั่วบริเวณ เสียชีวิตมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 วัน ตรวจสอบพบบริเวณโคนหางมีบาดแผลจำนวน 2 แผล รอยบาดแผลยาวประมาณ 4 ซม. ลึกประมาณ 1 ซม. ส่วนบริเวณอื่นของซากไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใด



นายอนุวัฒน์ เล่าว่า เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันนี้เวลาประมาณ 04.00 น. ระหว่างที่ตนเองกำลังวางอวนอยู่กลางทะเลใกล้เกาะเหลาเหลียง ห่างจากชายทะเลหาดสำราญ อ.หาดสำราญ ประมาณ 10 กิโลเมตร บังเอิญได้ส่องไฟฉายไปเห็นสิ่งแปลกปลอมส่งกลิ่นเหม็นอยู่ในทะเล ในขณะนั้นก็ตกใจคิดว่าคงจะเป็นซากศพหรือซากมนุษย์ ประกอบกับความมืดทำให้มองเห็นไม่ชัด ก่อนที่จะแล่นเรือเข้าไปดูแต่ปรากฏว่า เมื่อเข้าไปใกล้กลับกลายเป็นซากพะยูนจึงได้นำขึ้นมาบนเรือ แล้วนำเอากลับเข้าฝั่งและแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบในเวลาต่อมา

ด้านนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบเพียงบาดแผลที่โคนหางเท่านั้น ส่วนบริเวณอื่นไม่พบร่องรอยของการถูกทำร้าย และสาเหตุการเสียชีวิตขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ หลังจากนี้จะนำซากไปผ่าชันสูตร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตตรัง เพื่อหาสาเหตุการตายที่แน่ชัด รวมทั้งผ่าท้องเพื่อตรวจสอบอวัยวะภายใน จากข้อมูลที่ได้รับรายงานพะยูนตัวดังกล่าวได้เสียชีวิตเป็นตัวที่ 4 ในท้องทะเลตรัง ภายในปี 2563 และเป็นตัวที่ 10 ในท้องทะเลอันดามันตอนล่าง ได้แก่ สตูล ตรัง และกระบี่ โดยประชากรพะยูนเหลืออยู่ประมาณ170-200 ตัวในทะเลอันดามันตอนล่าง


https://www.dailynews.co.th/regional/805631

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 08-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ตะลึง! พบโครงกระดูกวาฬขนาดใหญ่ จ.สมุทรสาคร ด้านเจ้าหน้าที่ ทช.เร่งเก็บข้อมูล

เพจ "ThaiWhales" เผยภาพพบโครงกระดูกวาฬขนาดใหญ่ไม่ทราบสายพันธุ์ ในพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ด้านเจ้าหน้าที่ ทข.เร่งตรวจสอบและเก็บข้อมูลเบื้องต้น



วันนี้ (7 พ.ย.) เพจ "ThaiWhales" โพสต์ภาพโครงกระดูกวาฬขนาดใหญ่ไม่ทราบสายพันธุ์ โดยโครงกระดูกที่พบลึกจากผิวดินกว่า 6 เมตร ในพื้นที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยทางเพจระบุว่า "เมื่อบ่ายวันนี้ (6 พ.ย.) เราได้รับแจ้งในเพจว่าพบโครงกระดูกวาฬ ที่ ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

ในใจแว๊บแรกคือ พยายามคิดว่า เราเคยฝังซากวาฬที่มาเกยตื้นตายไว้แถวนั้นบ้างมั้ยนะ แต่บ้านแพ้วมันห่างทะเลนะ คำตอบคือ ไม่เคย ไม่มีแน่นอน

เรารีบแจ้งไปที่ทีมสัตว์ทะเลหายาก ศวบต. ที่หลังจากทราบเรื่องเจ้าหน้าที่ก็รีบลงพื้นที่ทันที อยู่บ้านไม่ติดละทีนี้ ตื่นเต้นมากๆ ต้องไปดูเองแล้วแหล่ะ

โครงกระดูกวาฬที่พบลึกจากผิวดินกว่า 6 เมตร เป็นวาฬขนาดใหญ่ยังไม่ทราบสายพันธุ์ พบส่วนกระดูกสันหลัง (Vertebrate) 5 ชิ้น ที่มีขนาดใหญ่ ดูจะใหญ่กว่าซากวาฬบรูด้าที่เคยพบมา

จากการสังเกต พื้นที่ใกล้กับแม่น้ำท่าจีน ที่พบมีลักษณะเป็นกระซ้า มีซากเปลือกหอยเล็กๆ ทับถม ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่นี้เคยเป็นทะเลมาก่อน

นักวิจัย ทช. กำลังหาวิธีในการเก็บกู้โครงกระดูกที่เหมาะสมที่สุด รวมทั้งหาอายุของพื้นที่และตรวจหาค่าอายุกระดูกด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

โครงกระดูกวาฬที่เก่าแก่ที่สุดในไทยที่เคยพบ คือ โครงกระดูกวาฬฟิน (Fin whale) ที่หมู่บ้านวิจิตราธานี ถนนบางนา-ตราด ที่ค้นพบเมื่อสร้างหมู่บ้าน โครงกระดูกนั้นบางชิ้นเป็น Fossil (กลายเป็นหิน) แล้ว

แอบคิดว่าซากโครงกระดูกวาฬตัวนี้ก็น่าจะเก่ามาก ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งเรื่องวาฬ และ เรื่องโบราณคดีและธรณีวิทยา ที่ควรศึกษาค้นคว้าและทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการมีอยู่ของวาฬไทยมากขึ้น"




https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000115366


*********************************************************************************************************************************************************


ลุยต่อทันที! กรมเจ้าท่าทุ่มเกือบ 600 ล้าน เสริมทรายอ่าวนาจอมเทียน คาดแล้วเสร็จปี 65



ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมเจ้าท่า เดินหน้าเสริมทรายชายหาดอ่าวนาจอมเทียน ชลบุรี เฟสแรก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร งบเกือบ 600 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จปี 65 เชื่อทันรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลาย

จากกรณีที่กรมเจ้าท่า ได้ตรวจพบว่ามีการกัดเซาะอย่างรุนแรงในพื้นที่ชายหาดบริเวณชายฝั่งทะเลในเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขใดๆ เชื่อว่าภายในระยะเวลา 5 ปี การกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งจะขยายวงกว้างไปถึงพื้นที่ถนนเลียบชายหาด ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อภาพรวม และบรรยากาศทางการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา อย่างแน่นอน

และที่ผ่านมา ยังได้อนุมัติงบประมาณจำนวนมากในการดำเนินโครงการเสริมทรายชายหาดอ่าวพัทยา ในระยะทาง 2.8 กิโลเมตร จนแล้วเสร็จ และสามารถเพิ่มพื้นที่ชายหาดให้มีความกว้างขึ้นอีก 30 เมตร สร้างความสวยงามให้แก่ชายหาดพัทยา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญได้เป็นอย่างดีนั้น

วันนี้ (7 พ.ย.) นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพัทยา ได้เปิดเผยถึงการจัดทำโครงการต่อเนื่องจากการเสริมทรายชายหาดอ่าวพัทยา ว่า กรมเจ้าท่ามีแผนที่จะจัดทำโครงการเสริมทรายจากอ่าวพัทยา จนไปถึงอ่าวนาจอมเทียน เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้มากที่สุด

โดยได้รับงบประมาณในการจ้างเหมาก่อสร้างเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดนาจอมเทียน จำนวน 586 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการในเฟสแรก ในระยะทาง 3.5 กิโลเมตร

และหากดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้อ่าวจอมเทียน มีพื้นที่ชายหาดกว้างถึง 50 เมตร ซึ่งขณะนี้ได้ว่าจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้จัดทำโครงการฯ โดยจะเริ่มว่าจ้างสัญญาตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.2563 ไปจนถึง 15 พ.ย.65 รวมระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 900 วัน



"ขณะนี้ผู้รับจ้างได้เข้าพื้นที่ตามแผนงานที่กำหนด ทั้งการสำรวจแหล่งทรายที่จะนำมาเสริม โดยได้มีการสำรวจแหล่งทรายบริเวณทะเลห่างจากฝั่งพัทยา ประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งทรายเดียวกันกับโครงการเสริมทรายอ่าวพัทยา ขณะที่ปริมาณทรายที่จะใช้ในการเสริมทรายอ่าวนาจอมเทียนอยู่ที่ประมาณ 600,000 คิว และได้มีการนำผลที่ได้จากสำรวจไปเข้าห้องแล็บ เพื่อตรวจสอบคุณภาพทรายให้ได้มาตรฐานที่กำหนดไว้ตามสัญญาแล้ว"

ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา ยังเผยอีกว่า จากนี้ผู้รับจ้างจะได้นำเรือดูดทรายเข้ามาในพื้นที่ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานไปยังเรือจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาดำเนินการ

อย่างไรก็ดี กรมเจ้าท่าจะเร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินการเสริมทรายให้แล้วเสร็จตามที่สัญญากำหนดไว้เพื่อคืนสภาพพื้นที่ชายหาดให้สอดคล้องระยะเวลาที่รัฐบาลได้ประกาศปลอดล็อกพื้นที่จากการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังสถานการณ์ได้คลี่คลายลงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ทันเวลา

"ที่ผ่านมา อธิบดีกรมเจ้าท่าได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง พร้อมสั่งการให้แก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถทำงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้" ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา กล่าว


https://mgronline.com/local/detail/9630000115262

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 08-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก


ชาวประมงไต้หวันจับปลาพญานาคยาวเกือบ 5 เมตร วันเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหว 2 ระลอก

ร้านอาหารไต้หวันเผยภาพออร์ฟิช หรือปลาพญานาค ยาวเกือบ 5 เมตร ชาวประมงจับได้ วันเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวสองระลอกทางตะวันออก



ไต้หวัน นิวส์รายงานว่า ชาวประมงไต้หวันจับออร์ฟิช หรือบ้านเราเรียก ปลาพญานาค นอกชายฝั่งตงอ่าว เมืองอี้หลัน ตะวันออกของไต้หวันเมื่อวาน ( 6 พ.ย.) วัดความยาวได้ถึง 490 ซม. หรือเกือบ 5 เมตร น้ำหนัก 45 กก. Chen Kuo-pin เจ้าของภัตตาคารอาหารทะเล Fumei Huo ซื้อปลาตัวนี้ไว้ในราคา 16,000 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 1.6 หมื่นบาท) ชาวประมงอ้างว่ามันยังมีชีวิตอยู่เมื่อมาถึงท่าเรือ แต่เพราะเป็นปลาน้ำลึก มันจึงมีชีวิตรอดอยู่ได้ไม่นานในถังน้ำ เฉินเชื่อว่า นี่เป็นออร์ฟิชใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจับได้ในเมืองอี้หลาน ชาวประมงในพื้นที่หลายคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกัน

ไต้หวันเรียกออร์ฟิช ว่าปลาแผ่นดินไหว ตามตำนานที่เล่าต่อๆกันมาเช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชียว่าเมื่อเห็นปลาชนิดนี้ขึ้นมาจากใต้ทะเลลึกเมื่อไหร่ จะเป็นลางบอกเหตแผ่นดินไหวใหญ่



เฉิน ซึ่งเปิดภัตตาคารอาหารทะเลมานาน 55 ปีกล่าวว่า เนื้อปลาชนิดนี้ สามารถนำไปขายในราคากก.ละ 400 ดอลลาร์ไต้หวัน ( ราว 400 บาท) เนื้อปลานุ่มกว่าเต้าหู้ เหมาะสำหรับนำไปนึ่ง

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไต้หวันแจ้งว่า เมื่อเวลา 2.36 น. วันที่ 6 พ.ย. เกิดแผ่นดินไหว 5.4 ห่างราว 30.3 กม. จากทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองไถ้ถง ศูนย์กลางลึก 25.3 กม. จากนั้น เกิดแผ่นดินไหว 5.4 อีกระลอก เวลา 9.40 น. ห่างจากเมืองไถ้ถง ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 107.8 กม.

ออร์ฟิชโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ เพราะแผ่นดินไหวหรือไม่ เจ้าของร้านอาหาร กล่าวว่า นั่นจะต้องฟังจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ในเมืองอี้หลาน จับปลาชนิดนี้ได้ทุกปี แต่ปกติ เป็นออร์ฟิชขนาดความยาวเพียง 100-200 ซม. ตัวใหญ่และยาวเกือบ 5 เมตร แทบไม่เคยมี


https://www.komchadluek.net/news/foreign/448395

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 08-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ตะลึง! พบกระดูกวาฬโบราณที่บ้านแพ้ว คาดจุดพบเป็นทะเลมาก่อน

พบกระดูกวาฬโบราณที่บ้านแพ้ว สมุทรสาคร เบื้องต้นคาดเป็นเป็นซากโบราณ และบริเวณดังกล่าวน่าจะเคยเป็นทะเลมาก่อน ขณะที่ปัจจุบันห่างจากชายฝั่งอ่าวไทยถึง 15 ก.ม.



วันนี้ (7 พ.ย.2563) เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/thaiwhales รายงานว่า เมื่อบ่ายวันนี้ 6 พ.ย. เราได้รับแจ้งในเพจว่าพบโครงกระดูกวาฬ ที่ ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

"ในใจแว๊บแรกคือ พยายามคิดว่า เราเคยฝังซากวาฬที่มาเกยตื้นตายไว้แถวนั้นบ้างมั๊ยนะ แต่บ้านแพ้วมันห่างทะเลนะ คำตอบคือ ไม่เคย ไม่มีแน่นอน"

เรารีบแจ้งไปที่ทีมสัตว์ทะเลหายาก ศวบต. (ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก) ที่หลังจากทราบเรื่องเจ้าหน้าที่ก็รีบลงพื้นที่ทันที

โครงกระดูกวาฬที่พบลึกจากผิวดินกว่า 6 เมตร เป็นวาฬขนาดใหญ่ยังไม่ทราบสายพันธุ์ พบส่วนกระดูกสันหลัง (Vertebrate) 5 ชิ้น ที่มีขนาดใหญ่ ดูจะใหญ่กว่าซากวาฬบรูด้าที่เคยพบมา

"จากการสังเกต พื้นที่ใกล้กับแม่น้ำท่าจีน ที่พบมีลักษณะเป็นกระซ้า มีซากเปลือกหอยเล็กๆ ทับถม ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่า พื้นที่นี้เคยเป็นทะเลมาก่อน"

นักวิจัย ทช. กำลังหาวิธีในการเก็บกู้โครงกระดูกที่เหมาะสมที่สุด รวมทั้งหาอายุของพื้นที่และตรวจหาค่าอายุกระดูกด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

โครงกระดูกวาฬที่เก่าแก่ที่สุดในไทยที่เคยพบคือโครงกระดูกวาฬฟิน (Fin whale) ที่หมู่บ้านวิจิตราธานี ถนนบางนา-ตราด ที่ค้นพบเมื่อสร้างหมู่บ้าน โครงกระดูกนั้นบางชิ้นเป็น Fossil (กลายเป็นหิน) แล้ว

แอบคิดว่าซากโครงกระดูกวาฬตัวนี้ก็น่าจะเก่ามาก ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งเรื่องวาฬ และ เรื่องโบราณคดีและธรณีวิทยา ที่ควรศึกษาค้นคว้าและทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการมีอยู่ของวาฬไทยมากขึ้น



ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่า สำนักงาน ทช.ที่ 8 (สมุทรสาคร) และศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก รับแจ้งจากกลุ่มวาฬไทย เรื่องการพบซากกระดูกวาฬ ไม่ทราบชนิด ในพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

จึงร่วมกันตรวจสอบในพื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นบ่อของบริษัท ไบรท์ บลู เวอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

จากสภาพที่พบคาดว่า เป็นกระดูกวาฬ ยังไม่ทราบชนิด ซึ่งเป็นสัตว์อยู่ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จึงได้นำหลักฐานไปลงบันทึกประจำวัน ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เก็บกู้ซากและเก็บตัวอย่างเพื่อยืนยันชนิด และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่คาดว่าเป็นกระดูกวาฬโบราณ และบริเวณดังกล่าวน่าจะเคยเป็นทะเลมาก่อน เนื่องจากปัจจุบัน จุดที่พบกระดูกวาฬอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทยถึง 15 กิโลเมตร


https://news.thaipbs.or.th/content/298138

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 08-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


ความท้าทายและวิกฤตมลพิษพลาสติกของประเทศไทย .................. โดย ธารา บัวคำศรี

ดังที่รับรู้กันว่า รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินมาตรการตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 ? 2573 โดยยกเลิกพลาสติกใช้แล้วทิ้งซึ่งรวมถึงถุงพลาสติกหูหิ้วนับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา และมุ่งลดขยะพลาสติกลงร้อยละ 30 ภายในสิ้นปี 2563 นี้

แต่การแพร่ระบาดของ Covid-19 และผลจากมาตรการล็อกดาวน์ได้ผลิกผันสถานการณ์ขยะพลาสติกในประเทศไทยโดยสิ้นเชิง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจาก 2,120 ตันต่อวันในปี 2562 เป็น 3,440 ตันต่อวัน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 เฉพาะเดือนเมษายนอย่างเดียว การเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกคิดเป็นเกือบร้อยละ 62


ขยะพลาสติกจำนวนมากลอยอยู่ในคลองหัวลำโพงบริเวณหลังชุมชนคลองเตย ? Chanklang Kanthong / Greenpeace

ในสถานการณ์เช่นนี้ แม้จะกล่าวกันว่า พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เราต้องไม่ลืมว่า ขยะพลาสติกคือปัญหามลพิษ(plastic pollution) ไม่ใช่ปัญหาขยะ และเราต้องเน้นการแก้ปัญหาตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติกตั้งแต่การผลิตไปจนถึงเมื่อพลาสติกหมดอายุการใช้งาน

บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า มีความท้าทายประการใดและสิ่งที่จะต้องทำคืออะไร หากสังคมไทยต้องการจะปลดแอกจากวิกฤตมลพิษพลาสติก (Break Free From Plastic Pollution)


ความท้าทาย : รัฐบาลขาดความมุ่งมั่นและเจตจำนงทางการเมือง

จริงอยู่ที่รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ตลอดจนนโยบาย แผนแม่บท และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินงานภายใต้กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ในขณะที่อีกหลายภาคเอกชนริเริ่มแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

อย่างไรก็ตาม นโยบายทั้งหลายเหล่านี้อยู่บนฐานความสมัครใจ(voluntary) อาศัยความร่วมมือร่วมใจและจิตสำนึก โดยไม่มีผลบังคับในทางกฏหมาย(legally-binding) ตลอดจนแรงจูงใจเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะชนอย่างแท้จริง ดังที่กรีนพีซมีข้อเสนอต่อ Roadmap การจัดการพลาสติก ที่นี่

ดังนั้น เจตจำนงทางการเมืองอันแรงกล้าของรัฐบาลเพื่อออกแบบระบบกฏหมายสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ต่อยอดจากฐานทางกฏหมายที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงเป็นก้าวแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของทางออกจากวิกฤตมลพิษพลาสติก


ความท้าทาย : นโยบายที่มีอยู่ตามไม่ทันกับวิกฤตมลพิษพลาสติก

สารจากรายงาน "Breaking the Plastic Wave" ของ The PEW Charitable Trust ซึ่งวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองระดับโลกเป็นครั้งแรก ระบุชัดเจนว่า ไม่มีทางออกจากวิกฤตมลพิษพลาสติกหากไม่ให้ความสำคัญต่อการลงมือปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดใช้พลาสติกและการผลิตพลาสติก

ประเด็นสำคัญจากรายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า คำมั่นสัญญาของภาคอุตสาหกรรมและนโยบายรัฐบาลที่มีอยู่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเพื่อจัดการกับมลพิษพลาสติกนั้นไม่เพียงพอ รายงาน Breaking the Plastic Wave ย้ำว่า แผนการขยายอุตสาหกรรมพลาสติกจะยิ่งทำให้เกิดมลพิษพลาสติก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความเสียหายที่ไม่อาจฟื้นคืนได้ต่อระบบนิเวศทะเลและมหาสมุทรมากขึ้น

หลายคนอาจเห็นข่าวล่าสุดที่ระบุว่า สหรัฐอเมริกาสร้างขยะพลาสติก 42 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดในโลก ในขณะที่ไทยขึ้นแท่นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกต่อประชากร(กิโลกรัมต่อปี)สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีขยะพลาสติกในขยะทั่วไปในสัดส่วนมากเป็นอันดับ 3 ของโลกตัวเลขดังกล่าวข้างต้นมาจากงานวิจัยเรื่อง ?The United States? contribution of plastic waste to land and ocean? ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยทำการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลของธนาคารโลกที่เก็บรวบรวมจาก 217 ประเทศ พบว่าในปี พ.ศ. 2559 ปริมาณขยะพลาสติกในสหรัฐอเมริกาที่หลุดออกสู่สิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลในปี พ.ศ.2559 มีมากกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2553 ถือว่าเป็นประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกออกสู่ทะเลมากที่สุดในโลก ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนลงมาเป็นอันดับ 2 จากที่เคยเป็นอันดับ 1 มาก่อน


ตารางแสดงรายชื่อประเทศที่มีการผลิตขยะพลาสติกสูงที่สุด 5 อันดับของโลกในปี พ.ศ.2559 (คำนวณจากฐานข้อมูลใน What a Waste 2.0 ? A Global Snapshot of Solid Waste Management to 2050 ของ World Bank Group) ที่มา : The United States? contribution of plastic waste to land and ocean

กรีนพีซมีข้อสังเกตต่อข้อมูลที่นำมาอ้างอิงในงานวิจัยในวารสาร Science Advances โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกของไทยอยู่ที่ 4,796,494 ตัน/ปี (หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน) เมื่อเทียบกับฐานข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่าการเกิดขยะพลาสติกอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี (หรือราว 29 กิโลกรัม/ปี/คน) ดังนั้น ไทยจะไม่อยู่ในอันดับ 5 ของโลกที่สร้างขยะพลาสติกต่อหัวประชากรมากที่สุด

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร นี่ควรเป็นเสียงปลุกให้ภาคการเมืองและรัฐสภาไทยตื่นขึ้น หากต้องการริเริ่มป้องกันมลพิษพลาสติกที่ปลดปล่อยสู่ระบบนิเวศทะเล/มหาสมุทรและสิ่งแวดล้อมของเรา แนวนโยบายที่จำเป็นคือการยุติการขยายการผลิตพลาสติก


สิ่งที่จะต้องทำ : ออกกฏหมายเพื่อจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติกบนหลักการ "การผลิตที่สะอาด(clean production) และ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility)"


บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายได้เร็ว (Fast-Moving Consumer Goods) ต้องคำนึงถึงวงจรชีวิตของพลาสติกที่ผลิตออกมาไม่ใช่แค่จบที่แค่ชั้นวางขายของ ? Wason Wanichakorn / Greenpeace

บนฐานความคิดที่ว่า เราสามารถประสบความสำเร็จในการจัดการสิ่งแวดล้อมและป้องกันมลพิษควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน กรีนพีซจึงเสนอให้มีการจัดทำ "กฏหมายจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติก(Break Free From Plastic Pollution Act)" ขึ้น

กรอบกฏหมายนี้จะวางอยู่บนแนวคิด ?การผลิตที่สะอาด? ซึ่งประกอบด้วย

(1) หลักการระวังไว้ก่อน (The Precautionary Principle) นิยามว่า "ในการทำกิจกรรมใดๆ (ในที่นี้คือกระบวนการผลิตพลาสติก) ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น ควรนำมาตรการระวังไว้ก่อนมาใช้ แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลกระทบอาจยังพิสูจน์ไม่ได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์" ภายใต้หลักการนี้ความรับผิดชอบจึงตกอยู่กับผู้ประกอบการที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าวิธีประกอบการของตนปลอดภัยที่สุด แทนที่ผู้ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบจะต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าการประกอบกิจกรรมนั้นๆ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ตน

(2) หลักการป้องกัน (The Preventive Principle) การป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพกว่าความพยายามจัดการหรือ "ฟื้นฟู" ความเสียหายนั้น การป้องกันทำได้โดยการตรวจสอบทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบไปจนถึงการกำจัดเมื่อเลิกใช้ หลักการป้องกันกระตุ้นให้เกิดการหาทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดขึ้น

(3) หลักการประชาธิปไตย (The Democratic Principle) การผลิตที่สะอาดเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรมซึ่งได้แก่ คนงาน ผู้บริโภค และชุมชน การเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การผลิตที่สะอาดจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนงานและผู้บริโภคมีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตอย่างแท้จริง

(4) หลักการแบบองค์รวม (The Holistic Principle) รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุ พลังงาน และผู้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าทุกชิ้นที่เราซื้อ การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้จะเอื้อให้เกิดการสร้างแนวร่วมเพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนขึ้นได้ เราจะไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาจากการแก้ปัญหาเดิม หรือนำความเสี่ยงจากคนกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงพลาสติก เราต้องพิจารณาถึงต้นทุนผลกระทบภายนอกที่สังคมโลกต้องแบกรับซึ่งมีการประเมินว่าอยู่ที่ประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน (350 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) จากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นทุนด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการเก็บรวมรวมและมลพิษพลาสติกในทะเล

หัวใจสำคัญของกรอบกฏหมายเพื่อจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติกคือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ในปี 2552 กรีนพีซเสนอผลการวิจัยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตมาประยุกต์ใช้ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ซึ่งต่อยอดไปสู่การยกร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ.?. และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 โดยกรมควบคุมมลพิษ

"การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต" จะต้องเป็นหลักการสำคัญที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายในการจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติกของประเทศไทย ซึ่งเราจะนำมาเสนอในรายละเอียดในโอกาสต่อไป


กิจกรรมตรวจสอบขยะจากแบรนด์ที่กรีนพีซจัดขึ้นเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้ประเทศไทยใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) โดยให้ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน


https://www.greenpeace.org/thailand/...n-in-thailand/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:03


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger