เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดในระยะนี้ไว้ด้วย ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมในบริเวณดังกล่าวมีกำลังอ่อนลง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง
โดยมีฝนฟ้าคะนองเล็กน้อยบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. ? 5 เม.ย. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน สำหรับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


เอลนีโญไป..ลานีญามา



การประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนมากขึ้นจากอิทธิพลหลายปัจจัย ทั้งความกดอากาศสูงจากประเทศจีน หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณตอนกลางของประเทศ และลมใต้ที่พัดความชื้นเข้ามา ส่งผลให้มีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปจนถึงภาคตะวันออก โดยเฉพาะ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีปริมาณฝนสะสมสูงสุดในรอบสัปดาห์มากถึง 228 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน

สำหรับภาพรวมของสถานการณ์น้ำในขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีน้ำน้อยได้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ช่วงต้นฤดูแล้ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงพบว่ามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังเกินกว่าแผน ทำให้มีการจัดสรรน้ำเกินแผนที่วางไว้ แต่ยังคงอยู่ในปริมาณที่ควบคุมและบริหารจัดการได้

โดยจะมีการเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในเรื่องการปรับแผนการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีการรณรงค์งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะเพื่อลดผลกระทบต่อแผนจัดสรรน้ำแล้ว ยังมีผลดีในการเว้นระยะสำหรับบำรุงรักษาดินเพื่อใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีในฤดูถัดไป

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะมีการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วยิ่งขึ้น ป้องกันความเสียหายจากปริมาณฝนมากจากสภาวะลานีญาในช่วงฤดูฝนนี้

และขณะนี้ใกล้สิ้นสุดฤดูแล้ง สภาวะเอลนีโญกำลังปานกลางในประเทศไทยจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสภาวะลานีญาในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนประมาณเดือน มิ.ย.

จากการประเมินและคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ลานีญาร่วมกับหน่วยงานที่คาดว่าปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างฯน้ำน้อยต่างๆ ให้มีสถานการณ์ดีขึ้น.


https://www.thairath.co.th/news/loca...0xJnJ1bGU9MA==

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


พังไม่เป็นท่า! ที่จอดเรืออัจฉริยะเมืองพัทยาละลายงบนับร้อยล้าน เสียหาย 15 ปีไม่มีใครรับผิดชอบ



ศูนย์ข่าวศรีราชา - โทษพิษ "หว่ามก๋อ" ทำโครงการที่จอดเรืออัจฉริยะเมืองพัทยาพังพินาศ ขณะผลสอบใครต้องรับผิดชอบ 15 ปีไม่คืบหน้า ทำงบแผ่นดินนับร้อยล้านบาทละลายลงทะเล วันนี้เมืองพัทยาฮึดสู้ร้องศาลปกครองสูงสุด เอาผิดผู้ออกแบบอีกครั้ง

อีกหนึ่งโครงการใหญ่ระดับประเทศที่เมืองพัทยาฝากความหวังในการยกระดับการจัดระเบียบเรือท่องเที่ยวกว่า 800 ลำ ให้เป็นต้นแบบการส่งเสริมท่องเที่ยวทางน้ำ ซึ่งเดิมทีใช้ลานอเนกประสงค์ท่าเทียยบเรือบาลีฮาย พัทยาใต้ เป็นที่จอด แต่กลับประสบปัญหาเรื่องความสกปรกจนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว

กระทั่งในยุค คสช.ได้มีการระดมกำลังพลเข้าจัดระเบียบด้วยการออกคำสั่งให้ย้ายเรือทั้งหมดออกจากลานอเนกประสงค์ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ และผลักดันให้เรือทั้งหมดย้ายไปจอดใน ?โครงการที่จอดเรือพัทยา? ซึ่งเมืองพัทยาตั้งงบประมาณการก่อสร้างดังกล่าว 300 ล้านบาท เพื่อให้เป็นที่จอดเรือแบบไฮดรอริกซึ่งจะสามารถรองรับเรือได้กว่า 300 ลำ

และได้กำหนดแผนงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 โดยว่าจ้างทีมที่ปรึกษา คณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากกิจการร่วมค้า Ping เข้าดำเนินงานและกำหนดสเปกการก่อสร้าง ทั้งแนวกันคลื่น กันลม และที่จอดเรือมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความสวยงามและเป็นระเบียบ รวมทั้งยกระดับให้เป็นท่าเรือที่มีความทันสมัยที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย

โดยเมืองพัทยายังมีแผนที่จะพ่วงการจัดสร้างอาคารที่จอดรถแบบใหม่ขึ้นที่หน้าท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย และกำหนดให้มีลักษณะเป็นไฮดรอริกที่สามารถยกรถขึ้นไปเก็บไว้ด้านบน ซึ่งงบประมาณโดยรวมทั้ง 2 โครงการมีมูลค่ารวมกว่า 733 ล้านบาท และโครงการนี้ได้มีการส่งมอบงานไปแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.2556

แต่สุดท้ายกลับพบว่าจะมีเพียงอาคารจอดรถเท่านั้นที่ยังพอเปิดให้งานได้ ส่วนท่าจอดเรือที่มีแผนให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย กลับยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้จริง อีกทั้งยังปล่อยให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเรือระบุว่า สาเหตุที่ไม่สามารถนำเรือเข้ามาจอดจุดที่เมืองพัทยากำหนดให้ได้ เป็นเพราะก่อนหน้าที่โครงการจะแล้วเสร็จ ได้มีการทดลองนำเรือเข้ามาจอดในท่าและยกเรือด้วยระบบไฮดรอริก แต่กลับไม่สามารถรองรับและใช้งานจอดเรือได้จริง

พร้อมเรียกร้องให้เมืองพัทยาควรศึกษาและสอบถามความคิดเห็นจากผู้ประกอบการก่อนออกแบบ เพราะเป็นผู้ใช้งานจริง นอกจากนั้นยังพบปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวของตะกอนทรายใต้น้ำ ซึ่งได้รับการกล่าวอ้างจากผู้ดำเนินโครงการว่า สาเหตุที่ท่าจอดเรืออัจฉริยะไม่สามารถเปิดใช้งานได้จริงเพราะปัญหาภัยธรรมชาติคือ "พายุหว่ามก๋อ" ที่ได้สร้างความเสียหายต่อโครงการอย่างหนักในช่วงปี 2558 จนทำให้โครงการเกิดการพังเสียหาย และอุปกรณ์ชำรุดเกินกว่า 50%

และสุดท้ายยังไม่มีการแก้ไขปัญหาใดๆ ขณะที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต่างโยนความผิดกันไป จนกลายเป็นปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน กระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งในส่วนของ ป.ป.ช. และ สตง.

ขณะที่สภาเมืองพัทยาเคยนำเสนอเป็นญัตติเพื่อของบปรมาณซ่อมแซม แต่สุดท้ายไม่มีการอนุมัติงบประมาณในการซ่อมแซมท่าเรือที่เสียหาย เพราะเกรงว่าจะถูกสังคมมองว่าใช้งบประมาณไปเอื้อผู้ประกอบการที่ไม่เข้ามาดำเนินการแก้ไขรับผิดชอบโครงการที่เสียหายไป

และแม้ในยุค คสช. ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาบริหารราชการเมืองพัทยา จะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกหนึ่งชุดเพื่อสำรวจความเสียหาย และข้อเท็จจริงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของภัยธรรมชาติ หรือปัญหาเรื่องของหลักทางวิศวกรรม โดยขอความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานหลักด้านวิศวกรรมทะเลและชายฝั่ง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมแกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เข้ามาร่วมตรวจสอบ

และได้มีการเปิดเผยจาก พ.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยาว่า ผลสอบเสร็จสิ้นโดยแยกความผิดออกเป็น 2 ประเด็นคือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายการละเมิด ผิดพลาด ปล่อยปละละเลยโดยไม่เปิดใช้งานจริง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินราชการ และส่วนที่สองคือ ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

แต่จนถึงปัจจุบันเรื่องดังกล่าวเงียบหายเข้ากลีบเมฆเช่นเดิม และยังยังคงมีภาพของเศษวัสดุทุ่นลอยไปถูกกองทิ้งไว้เหมือนกองขยะไม่ต่างจากโครงการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก

ทั้งนี้ มีรายงานว่าปัจจุบันเมืองพัทยาได้ส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเอาผิดกับบริษัทผู้ออกแบบให้กลับมารับผิดชอบกรณีที่เกิดความเสียหาย โดยระบุว่าการออกแบบไม่รัดกุม แต่ล่าสุดศาลปกครองกลางได้พิพากษาออกมาแล้วว่าผู้รับจ้างไม่มีความผิดต่อความเสียหายของโครงการที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดจากการออกแบบโครงสร้างของโครงการตามที่เมืองพัทยาฟ้องร้อง

ทำให้เมืองพัทยาจำเป็นที่จะต้องทิ้งสภาพโครงการและวัสดุไว้ก่อนชั่วคราว เพื่อรอผลการพิจารณาใหม่ โดยเมืองพัทยายืนยันที่จะขอต่อสู้ต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และได้ยื่นอุทธรณ์และส่งเรื่องฟ้องร้องต่อไปยังศาลปกครองสูงสุดแล้ว หลังจากนี้จึงต้องจับตากันให้ดี


https://mgronline.com/local/detail/9670000027983

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


หนุ่มผงะ! เจอตัวปริศนาเกาะอยู่ในหัวกุ้ง โพสต์ถามชาวเน็ต นี่ตัวอะไร



เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงาน ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์รูปภาพกุ้งปรุงสุก ที่บริเวณหัวมีลักษณะปูดบวมผิดปกติ เมื่อลองแกะออกดูพบว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งรูปร่างหน้าตาคล้ายแมลงเกาะอยู่ จึงเกิดความสงสัยว่าสัตว์ที่พบในหัวกุ้งคือตัวอะไรกันแน่ จึงได้ทำการโพสต์ลงในกลุ่ม นี่ตัวอะไร เพื่อให้สมาชิกกลุ่มช่วยไขข้อสงสัย

เมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้มียอดกดไลค์แล้วกว่า 5.8 พันครั้ง และถูกแชร์ออกไปเป็นวงกว้าง อีกทั้งมีผู้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นคลายความกังวลแก่ผู้โพสต์กันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งนอกจากความสงสัยในสัตว์ปริศนาตัวดังกล่าวแล้ว ยังคอมเมนต์ส่วนหนึ่งๆ ที่สงสัยว่าสรุปแล้ว สัตว์ชนิดนี้สามารถรับประทานได้หรือไม่อีกด้วย อาทิ

"ไอโซพอด (Isopod) มีหลายชนิด ในภาพเป็นไอโซพอดประเภทที่เป็นปรสิตในหัวกุ้งครับ"

"ไอโซพอด (isopod) ตัวเล็กเป็นปรสิตของสัตว์ตัวใหญ่กว่า ส่วนตัวใหญ่เป็นอาหารคน (แถมเนื้ออร่อยกว่ากุ้งซะอีกนะ)"

"Bopyrid Isopod ปรสิตกุ้งค่ะ อาศัยอยู่ในเหงือกของกุ้งและค่อยดูดเลือด ทำให้ศักยภาพในการสืบพันธุ์ของกุ้งลดลงอย่างมาก ถ้าทำสุกไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ค่ะ"

"กินได้ครับ สุกแล้ว"

"ในปลาทูก็มีครับ"

"ไอโซพอดครับ เป็นปรสิตคล้ายๆกับที่ชอบเข้าไปอยู่ในปากปลาบางชนิดด้วย ถ้าทำให้สุกด้วยความร้อนสูงๆ เช่น ทอด ก็กินได้ครับ กรอบๆ"

"เราเคยกินด้วย มันอร่อยดีนะ 5555"


https://www.matichon.co.th/social/news_4500197


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'โลมา' มีรูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนไป เพราะ 'มลพิษทางเสียง' จากเรือ



'โลมา' มีรูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนไป เพราะ 'มลพิษทางเสียง' จากเรือ
"มลภาวะทางเสียง" จาก "เรือ" อาจส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารและการเดินทางของ "โลมา" เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าการสัญจรทางทะเลส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างมาก

ด้วยกิจกรรมทางทะเลของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการขนส่งทางทะเล และการท่องเที่ยวทางทะเล ดังนั้นมหาสมุทรจึงเต็มไปด้วย "เรือ" หลากหลายขนาดที่สามารถสร้าง "มลภาวะทางเสียง" ได้ไกลถึง 20 กิโลเมตร และดูเหมือนว่าเสียงเล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ "โลมา"

คณะนักวิจัยทางทะเลจากมหาวิทยาลัยไฮฟา ในอิสราเอล พบว่า เสียงรบกวนจากเรืออาจส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารและการเดินทางของโลมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

นักวิจัยบันทึกเสียงโลมาปากขวดธรรมดาและเสียงรบกวนจากเรือขนส่งในเมืองไอลัตริมฝั่งทะเลแดงของอิสราเอล โดยใช้ระบบเอไอมาช่วยวิเคราะห์เสียงของโลมาขณะที่มีเรืออยู่ใกล้ และตอนที่ไม่มีเรือแล่นผ่าน เนื่องจากนักวิจัยไม่สามารถระบุความแตกต่างของเสียงโลมาได้

อัลกอริทึมเรียนรู้เชิงลึกศึกษา "เสียงหวีด" ของโลมา จนเผยให้เห็นว่าโลมาเปลี่ยนรูปแบบเสียงร้อง เมื่อเจอเสียงรบกวนจากเรือ ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ว่าอุปกรณ์บันทึกเสียงไว้ในความลึกระดับ 50 เมตร บริเวณแนวโขดหินดอฟฟิน ใกล้กับหาดไอแลต ซึ่งเป็นจุดที่พบเห็นโลมาปากขวดเป็นประจำในอิสราเอล

ด้วยการอัดเสียงอย่างยาวนาน ทำให้นักวิจัยได้เสียงจากบันทึกมาทั้งหมด 120,000 ตัวอย่าง ซึ่งระบบเอไอสามารถแยกเสียงของโลมาได้ 2 ชุด คือ เสียงร้องของโลมาตอนที่มีเรืออยู่ในละแวกใกล้ ๆ ประมาณ 60,000 ตัวอย่าง และอีกประมาณ 60,000 ตัวอย่างเป็นเสียงของโลมาในยามปรกติ

นักวิจัยกล่าวว่าเอไอพัฒนาขึ้นเพื่อตรวจจับเสียงโลมามีประสิทธิภาพอย่างมาก โดยมีอัตราความแม่นยำถึง 90% ในการระบุเสียงร้องของโลมาเมื่อมีเรือมาอยู่ใกล้ ๆ พื้นที่ที่โลมาอาศัยอยู่ ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่าการใช้มนุษย์ตรวจจับ

ศ. รอย ไดอามันต์ ผู้นำงานวิจัยนี้ระบุว่า "เอไอสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเสียงโลมาที่เกิดขึ้นเมื่อมีเสียงเรือดังในพื้นที่ แม้ว่ามนุษย์โดยทั่วไปจะไม่ได้ยินก็ตาม"

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเสียงของโลมาแตกต่างกันอย่างไร และมีจุดใดเป็นจุดสังเกตที่ทำให้เอไอสามารถแยกแยะได้

นักวิจัยกล่าวเสริมว่า "การศึกษานี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าโลมาสื่อสารในลักษณะที่แตกต่างออกไป และพฤติกรรมการร้องของพวกมันเปลี่ยนไป เมื่อได้ยินเสียงเรือ ดังนั้นโลมาจึงได้รับผลกระทบจากเสียงของเรืออย่างแน่นอน"

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการสัญจรทางทะเลส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างมาก และเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตอพยพย้ายถิ่น พร้อมเสริมว่ารูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปนี้อาจทำให้โลมาอพยพออกจากพื้นที่ที่มีระดับเสียงรบกวนเพิ่มขึ้น และอาจรบกวนพื้นที่หาอาหารของพวกมัน

ที่มา: The Jerusalem Post, The Print, Xinhua Thai


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1120030

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


เปิด 4 สถานการณ์ปัญหา-ส่องทิศทางออก "ทวงคืนชายหาดสาธารณะไทย" .............. นราวิชญ์ เชาวน์ดี รายงาน



จากกรณี "ฝรั่งเตะหมอ" สู่กระแส "ทวงคืนชายหาดสาธารณะ" และล่าสุดวันนี้ เวทีเสวนากลางกรุง "ไม่มีใครเป็นเจ้าของชายหาด แต่?"

Beach for life เปิด 4 สถานการณ์ปัญหาสำคัญหาดสาธารณะไทยวันนี้ "ปิดทางเข้า-อ้างสิทธิ-ที่ถูกกัดเซาะ-ที่ตกน้ำที่งอก"

นักวิชาการชี้ "ซับซ้อนทั้งปัญหาและแนวทางแก้" เสนอใช้กลไกบอร์ดชาติจัดการ ด้านเครือข่ายทวงคืนชายหาดเสนอใช้หาดปากบาราเป็นกรณีตัวอย่าง เพราะข้อมูลพร้อม สามารถจบได้เลย


จาก "กรณีฝรั่งเตะหมอ" ถึง "ทวงคืนหาดสาธารณะภูเก็ตและปากบารา"

"สถานการณ์ชายหาดสาธารณะในพื้นที่ภูเก็ตเริ่มจะมีปัญหาจนกลายมาเป็นชายหาดส่วนบุคคลราว ๆ หลังจากปี 2529 เป็นต้นมา เนื่องจากการบูมของการท่องเที่ยวในจังหวัด โดยมีปัญหาหลัก ๆ คือการสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำชายหาดทำให้การเข้าถึงชายหาดยากลำบากมากขึ้น จนนำมาสู่เหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้ก็คือเหตุการณ์ชาวต่างชาติทำร้ายหมอที่หาดยามูโดยอ้างว่าหมอเข้ามานั่งในพื้นที่ของตน

เรื่องดังกล่าวทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเหตุใดชายหาดซึ่งถือว่าเป็นสถานที่สาธารณะถึงมีการอ้างสิทธิในการครอบครองได้จนนำมาสู่การตรวจสอบและยืนยันแล้วว่ากรณีดังกล่าวเป็นการรุกล้ำทางสาธารณะจนนำมาสู่การเคลื่อนไหวและเรืยกร้องให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำทั้งในหาดยามูที่เป็นกระแส และบริเวณหาดอื่น ๆ บนเกาะภูเก็ต"

พิเชษฐ์ ปานดำ กลุ่มคนท้องถิ่นดั้งเดิมภูเก็ต กล่าวถึงกรณีฝรั่งเตะหมอที่เป็นที่มาของกระแส ?ทวงคืนชายหาดสาธารณะ? วันนี้ (28 มี.ค. 2567) ในเวที เสวนา "ไม่มีใครเป็นเจ้าของชายหาด แต่?" ซึ่งจัดโดย Beach for life และองค์กรเครือข่าย ณ SEA junction หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

พิเชษฐ์ กล่าวเสริมว่าพื้นที่ชายหาดเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนท้องถิ่นใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อการพักผ่อน การสูญเสียพื้นที่ดังกล่าวทำให้ความตึงเครียดในพื้นที่เกิดขึ้น และถือว่าไม่สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนภูเก็ตเป็นพื้นที่ท้องเที่ยวอย่างที่คนท้องถิ่นต้องการ

นอกจากนั้นอีกหนึ่งชายหาดที่มีปัญหาในเรื่องเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งอาจจะไม่ถูกพูดถึงมากนักในช่วงเวลาที่กระแสทวงคืนชายหาดถูกพูดถึงแต่ก็เป็นกรณีที่น่าสนใจเช่นกัน คือกรณีที่เกิดขึ้นที่หาดปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กลุ่มรักษ์อ่าวปากบารา เลขาธิการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) กล่าวในเวทีเช่นกันว่า หาดดังกล่าวประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์เป็นหาดสาธารณะมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมามีการอ้างสิทธิของเอกชนรายหนึ่งเหนือที่ดินบนชายหาดโดยการนำเสาคอนกรีตมาปักรุกล้ำบริเวณหาดและอ้างว่าตนมีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3ก.

"บริเวณหาดปากบาราเป็นพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะจนกลายสภาพเป็นชายหาดสาธารณะมานานแล้ว จากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวมีสภาพเป็นชายหาดโดยถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนกลายเป็นชายทะเลเป็นเวลา 47 ปี ตั้งแต่ปี 2518

สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ก็ยังคงมีเสาและมีการก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าใครจะต้องเข้ามารับผิดชอบถ้าจะต้องถอนเอกสารสิทธิ์จะทำอย่างไร" วิโชคศักดิ์ กล่าว


4 ปัญหาใหญ่ "หาดสาธารณะไทย" วันนี้

อภิศักดิ์ ทัศนี หรือน้ำนิ่งจาก กลุ่ม Beach for life เครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับชายหาดมาอย่างยาวนานได้สรุปภาพรวมถึงปัญหาชายหาดที่ได้รับผลกระทบจากการอ้างสิทธิของเอกชนว่ามี 4 ประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ

1. ปัญหาการปิดกั้นการเข้าถึงพื้นที่ชายหาดสาธารณะจนกลายเป็นการยึดชายหาดเป็นพื้นที่ส่วนตัว อย่างเช่นในกรณีที่ชายหาดเเหลมหงา จ.ภูเก็ต ทำให้ประชาชนภูเก็ตออกมาทวงคืนหาดเเหลมหงาจนกลายเป็นหาดสาธารณะอีกครั้ง

2. การรุกล้ำชายหาดสาธารณะโดยการสร้างสิ่งก่อสร้าง เช่นกรณีที่ หาดเเหลมยามู จ.ภูเก็ต ที่วิลล่าหรูสร้างบันไดรุกล้ำชายหาดสาธารณะ จนเกิดดราม่าฝรั่งเตะหมออันนำมาสู่กระแสการทวงคืนชายหาด

3. ที่ดินถูกกัดเซาะชายฝั่งจนกลายเป็นชายหาดสาธารณะ น้ำทะเลท่วมถึง ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์เเต่เอกชนยังคงอ้างสิทธิบนชายหาด สร้างสิ่งปลูกสร้าง อาทิ ชายหาดปากบารา จ.สตูล ซึ่งเมื่อก่อนเคยมีที่ดินแต่ก็ถูกกัดเซาะจนเป็นชายหาดมานานกว่า 47 ปี แต่เอกชนที่ถือเอกสารยังอ้างว่าตนมีสิทธิ และเข้าไปดำเนินการในพื้นที่

4. กรณีที่ตกน้ำและที่งอก เนื่องจากบางพื้นที่ที่มีการสร้าง Jetty (เขื่อนกันทรายและคลื่น) ทำให้เกิดการงอกใหม่ของที่ดินริมชายหาดที่ในอดีตอาจจะจมน้ำอยู่ จนนำสู่การขอออกเอกสารสิทธิ์เป็นที่ส่วนบุคคลทำให้ชายหาดกลายเป็นที่ดิน เช่น กรณีหาดสะกอม จ.สงขลา


ซับซ้อนทั้งตัวปัญหาและแนวทางแก้

"ปัญหาการเข้าถึงชายหาดสาธารณะเกิดขึ้นเยอะแยะมากมายไม่ใช่แค่ภูเก็ตที่เดียว และอาจจะมีหลายพื้นที่ที่เรายังไม่รู้

เรื่องนี้ถ้าจะพูดจริง ๆ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ กรมที่ดิน ท้องถิ่น จะทำอย่างไรให้แต่ละหน่วยงานคุยกันได้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา" น้ำนิ่ง กล่าว

"การแก้ไขปัญหาของพื้นที่ชายหาดจะมีความซับซ้อนเนื่องจากตนมองว่า ชายหาดถือเป็นพื้นที่ริมขอบที่ดิน ริมขอบทะเล ซึ่งตัวกฎหมายในการจัดการจะซ้อนกับกันในหลายหน่วยงานซึ่งมีปัญหามาโดยตลอด บางทีถ้ามีข้อพิพาทระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน แต่ละฝ่ายก็จะนำกฎหมายที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์มาใช้

ในกรณีแหลมยามูกฎหมายที่ดินพูดถึงแต่สิทธิของกรรมสิทธิเอกชนแต่ไม่บอกว่าต้องเว้นทางสาธารณะ เลยไม่มีใครคิดเรื่องนี้

เมื่อไร่ที่ออกโฉนด น.ส.4จ. ให้เป็นกรรมสิทธิเอกชนแล้วจะเพิกถอนยาก ปัญหาเรื่องเพิกถอนจะเห็นว่าคนที่ออกให้ตั้งแต่แรกคือกรมที่ดินถ้าจะไปฟ้องศาลสั่งให้ถอนคนที่จะถอนคืออธิบดีกรมที่ดิน ทำให้เราเห็นว่าจะต้องแก้ประมวลกฎหมายที่ดินให้คนที่จะเพิกถอนต้องไม่ใช่คนที่ออก" ธิวัชร์ ดำแก้ว ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว


ชี้ "ขาดบูรณาการหน่วยงานรัฐ" เสนอใช้กลไก "บอร์ดชาติ" จัดการ

ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในเวทีเสวนาว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ปัญหาชายหาดสาธารณะยังไม่สามารถแก้ได้เป็นเพราะว่ายังไม่มีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยตนคิดว่าสามารถใช้กลไกของ คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ให้เข้ามาช่วยดำเนินการได้

"สำหรับการจัดการในเรื่องทรัพยากรและทะเลชายฝั่ง ผมคิดว่าคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ได้เนื่องจากคณะกรรมการฯ มีอำนาจเสนอนโยบายและแผนการบริหารจัดการให้ทั้งหน่วยงานรัฐต่าง ๆ และครม.ได้" ปริญญา กล่าว

พูลศรี จันทร์คลี่ ผู้อำนวยการส่วนแผนบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง กองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แสดงความเห็นด้วยว่าปัญหานี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงหน่วยงานเดียว และเห็นด้วยกับปริญญาว่าจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ

"ในกรณีไม่มีทางลงไปสู่ชายหาดสาธารณะจะทำอย่างไร ผมคิดว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสามารถเสนอแนะไปยังคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เพื่อเวนคืน หรือขอซื้อพื้นที่ทำทางลงได้

สำหรับเรื่องที่ตกน้ำ คำพิพากษาศาลฎีกาวางหลักไว้แล้วว่าถ้าที่ใดถูกกัดเซาะจนเป็นทางน้ำแล้ว และเจ้าของไม่ได้หวงกันโดยหาทางป้องกันอย่างจริงจังที่ดังกล่าวจะตกเป็นที่ของแผ่นดินทุกครั้ง ต่อให้ในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวงอกกลับคืนมาใหม่ก็จะถือว่าสูญเสียไปแล้ว แต่ปัญหาคือบางครั้งศาลพิพากษาแล้วแต่กรมที่ดินไม่มีการเพิกถอนโฉนด

โดยรวมระบบของเราถือว่าดีประมาณ 80% แล้วแต่ปัญหาคือในทางปฏิบัติไม่มีการทำหน้าที่อย่างจริงจัง ซึ่งคิดว่าในทางกฎหมายไม่พอจะต้องมีเครื่องมือทางสาธารณะเข้ามา เช่น ประชาชนจะต้องร้องเรียนได้ ทำให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมการแก้ปัญหาก็จะง่ายขึ้น" ปริญญา กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาในรายกรณี

"อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเสนอคือในพื้นที่ตกน้ำกรณีที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นของชาวบ้านไม่ใช่ที่ของนายทุนก็ควรจะมีการเยียวยาชดเชยด้วย" ปริญญา เสนอ

สำหรับบทบาทของคณะกรรมการธิการฯ ธิวัชร์ กล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะใช้กระบวนการของคณะฯ โดยอาจจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องชายหาดโดยเฉพาะเนื่องจากเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และตนไม่อยากให้จบที่กรณีภูเก็ตแค่ที่เดียว


เสนอใช้หาดปากบารา เป็นกรณีตัวอย่าง

"กรณีปากบาราอาจจะต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง 1. ตรงนั้นเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ 2. การก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างถ้าไม่มีการขออนุญาตจะต้องรื้อถอนแน่นอน ต่อให้มีเอกสารสิทธิแต่การก่อสร้างก็ต้องขออนุญาต การก่อสร้างต้องได้รับอนุญาต ซึ่งหน่ยวงานที่จะอนุญาตคือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

สำหรับเรื่องที่ว่าที่ดังกล่าวถือเป็นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ที่ระบุว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ

จะเห็นว่าไม่มีคำว่าชายหาด แต่ใช้คำว่าที่ชายตลิ่งที่ต้องห้ามออกโฉนด ถ้าออกมาแล้วก็ต้องเพิกถอน แล้วชายหาดเป็นที่ชายตลิ่งหรือไม่ ใช่ มีคำพิพากษาของศาลฎีการับรองมาเต็มไปหมดโดยในการเพิกถอนก็ต้องขออำนาจศาลในการเพิกถอนโดยมีกรมที่ดินเป็นแม่งาน" ปริญญา กล่าว

"ในมุมของผมในกรณีปากบาราที่อ้างว่ามีเอกสาร น.ส.3ก. การเพิกถอนไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากเอกชนมีแค่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งชัดเจนว่าเขาไม่ได้ทำประโยชน์แน่ ๆ เพราะว่าเอกสารจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ชี้ชัดว่าเป็นชายหาดมาแล้ว 47 ปี ทำให้กลับไปสู่หน่วยงานที่ดินซึ่งผมคิดว่าเขามีอานาจในการเพิกถอน ข้อเท็จจริงมันชัดว่า พื้นที่ปากบาราเป็นพื้นที่สาธารณะเรียบร้อยแล้ว การให้เอกชนรายได้รายหนึ่งเป็นเจ้าของก็ย่อมจะต้องถูกเพิกถอนไป

ผมคิดว่ากรณีปากบารามีความพร้อมสามารถแก้ไขปัญหาได้เลยเนื่องจากมีความพร้อมและมีข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอแล้วโดยสามารถใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบได้" อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และเครือข่ายทวงคืนชายหาด กล่าว


https://greennews.agency/?p=37434

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


นักวิชาการเตือนอนาคตคลื่นความร้อนประเทศไทยรุนแรง อาจร้อนจัดเกินครึ่งปี


SHORT CUT

- มนุษย์นั้นเป็นส่วนทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

- ภายใน 10-20 ปี ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงกว่าภูมิภาคอื่นๆ หนุกสุดอาจทำให้ร้อนจัดเกินครึ่งปี




ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ โพสต์เตือนภายใน 10-20 ปี ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงกว่าภูมิภาคอื่นๆ อาจทำให้ประเทศไทยร้อนจัดเกินครึ่งปี!

ปัจจุบันเราจะสังเกตได้ว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนเรารู้สึกได้ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนที่เห็นชัดสุด ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าหลายๆปีที่ผ่านมา ซึ่งมนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ด้วยกิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจก รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ และส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน

ล่าสุด รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ โพสต์ข้อความเตือน เกี่ยวกับอนาคตคลื่นความร้อนของประเทศไทยที่คาดว่าจะรุนแรงมากกว่านี้หากไม่ทำอะไร ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า คลื่นความร้อน (Heat wave) ตามความหมายที่ใช้โดยทั่วไป เป็นเหตุการณ์ที่อุณหภูมิช่วง 3 วันติดกันมากกว่าค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 90 ของอุณหภูมิสูงสุดรายวัน รายงานการประเมิน IPCC ฉบับที่ 5 และ 6 (AR5, AR6) ระบุว่าในระยะอันใกล้ภายใน 10-20 ปี ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงกว่าภูมิภาคอื่นๆ

เมื่อพิจารณา จำนวนวันในรอบปีที่เกิดคลื่นความร้อน (HWF) ตั้งแต่ปัจจุบันจนอนาคตที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 oC - 4.5 oC พบว่าเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 1.5 oC (ปัจจุบัน 1.1-1.2 oC) จะทำให้ประเทศไทยเกิดคลื่นความร้อนประมาณ 20-30 วัน (ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และตอนบน) และ 30-40 วัน (ในภาคกลาง รวม กทม. ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง) ในกรณีที่ อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 2.0 oC จำนวนวันในรอบปีที่เกิดคลื่นความร้อนจะเพิ่มเป็น 50-60 วัน และ 60-80 วันตามลำดับ

สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด หากโลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส (1.5-2.0 oC) อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเพิ่มขึ้น 4.5 oC จำนวนวันในรอบปีที่เกิดคลื่นความร้อนจะเพิ่มเป็น 180-220 วัน และ 220-240 วันตามลำดับ กล่าวคือร้อนกว่าครึ่งปี ภัยคุกคามอื่นๆจะตามมาแบบ 6-6-2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลูกหลาน เหลนจะอยู่กันอย่างไร ถ้ารุ่นเราไม่ทำอะไร ? และต้องทำเดี๋ยวนี้น่ะครับ


https://www.springnews.co.th/keep-the-world/849035

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #8  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


อุณหภูมิน้ำทะเลสูง ทำเชื้อแบคทีเรีย Vibrio เพิ่มขึ้น มักพบในหอยนางรมดิบ


SHORT CUT

- อุณหภูมิที่สูงขึ้นในหน้าร้อนทำให้แบคทีเรีย Vibrio เพิ่มขึ้น ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้มักพบในอาหารทะเลโดยเฉพาะหอยนางรมดิบ

- อาการหลังได้รับเชื้อแบคทีเรีย Vibrio มักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง อาจมีอาการท้องร่วง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะ

- Health Canada แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนควรหลีกเลี่ยงหอยดิบหรือไม่ผ่านความร้อน รวมถึงสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็ก




ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อากาศอุ่นขึ้น ระวังเชื้อแบคทีเรีย Vibrio ในอาหารทะเล โดยเฉพาะหอยนางรมดิบอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางเดินอาหารอย่างรุนแรงได้

Vibrio เป็นแบคทีเรียที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในทะเล มีหลายประเภท จนอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยจากอาหารทะเลหรือที่เรียกว่า Vibrio Parahaemolyticus

เชื้อแบคทีเรีย Vibrio เติบโตได้ในน้ำอุ่น และเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงน้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาณของ Vibrio ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหอยนางรมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสัตว์ที่เรียกว่า filter feeders ซึ่งพวกมันกินโดยการกรองแพลงก์ตอนออกจากน้ำ แต่ตัวกรองของพวกมันยังสามารถดักจับสาหร่ายและแบคทีเรียได้เช่นกัน

ข้อมูลของ Health Canada เผยว่าเราสามารถติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio ได้โดยการรับประทานหอยดิบหรือยังไม่สุก โดยเฉพาะหอยนางรม หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อน รวมถึงได้รับเชื้อ Vibrio ผ่านทางบาดแผล ซึ่งอาการหลังได้รับเชื้อแบคทีเรีย Vibrio มักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง อาจมีอาการท้องร่วง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะ

การกินหอยนางรมดิบมีความเสี่ยงมากกว่าการกินหอยนางรมปรุงสุกมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อแบคทีเรีย Vibrio จะมีแต่งในหอยนางรมเท่านั้น เนื้อสัตว์หลายๆ ชนิดก็มีเชื้อตัวนี้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้นในหน้าร้อน ทำให้เชื้อแบคทีเรีย Vibrio เพิ่มขึ้น โดยอัตราการเจ็บป่วยจากเชื้อไวบริโอคือ 1 ใน 10,000 ของหอยนางรมดิบที่รับประทาน

อย่างไรก็ตาม Health Canada แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนควรหลีกเลี่ยงหอยดิบหรือไม่ผ่านความร้อน รวมถึงสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคตับ หรือกรดในกระเพาะต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหอยนางรมดิบ

ที่มา : CBC News


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/849077

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:39


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger