เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 01-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน

สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ ส่วนบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ฝุ่นละอองในระยะนี้ : ประเทศไทยมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปานกลาง เนื่องจากยังคงมีฝนตกในบริเวณดังกล่าวและมีการระบายอากาศดี ยกเว้นภาคเหนือในบางพื้นที่ มีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันในเกณฑ์ค่อนข้างมาก


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 30 เม.ย. ? 1 พ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่


ส่วนในช่วงวันที่ 2 - 6 พ.ค. 66 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้


สำหรับภาคใต้ ในช่วงวันที่ 30 เม.ย. - 2 พ.ค. 66 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ช่วงวันที่ 3 ? 6 พ.ค. 66 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพ และระวังโรคลมแดดเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 30 เม.ย. ? 1 พ.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 30 เม.ย. ? 2 พ.ค. 2566 ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือขนาดเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 8 (128/2566) (มีผลกระทบถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2566)

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน

โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ มีดังนี้


วันที่ 1 พฤษภาคม 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิษถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก: จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์


สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ส่วนบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือขนาดเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 1 - 2 พฤษภาคม 2566






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 01-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


กรมทะเลชายฝั่ง เผย "ปลาวัวไททัน" มีประโยชน์กับท้องทะเล แนะอย่าทำลายสิ่งแวดล้อม

กรมทะเลชายฝั่ง เตือนกรณีครูสอนนักดำน้ำโพสต์ฆ่าปลาวัวไททัน แนะข้อปฏิบัติขณะดำน้ำ พร้อมฝากถึงนักท่องเที่ยวให้อนุรักษ์ทรัพยากร - สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ให้อยู่คู่ประเทศไทย



วันที่ 30 เมษายน 2566 มีรายงานว่า จากกรณีครูสอนดำน้ำรายหนึ่ง โพสต์ลงโซเชียลว่าตนถูกปลาวัวไททันกัดขา บริเวณเกาะร้านเป็ด และได้ฆ่าปลาตัวดังกล่าว โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาไปกัดผู้อื่นอีก เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดังที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ (สรุปดราม่า ครูสอนดำน้ำโพสต์ฆ่า "ปลาวัวไททัน" ล่าสุดขอโทษ บอกโกรธที่โดนกัด)

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า "ปลาวัวไททัน" (Titan triggerfish) Balistoides viridescens เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อน และเขตอบอุ่น ของอินโด-แปซิฟิก ในน่านน้ำไทยเป็นปลาที่พบได้บ่อย และพบได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย กินสัตว์น้ำหน้าดิน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร

จากการวิจัยพบว่ามีขนาดใหญ่สุดประมาณ 75 cm. ส่วนแหล่งที่อยู่อาศัย ชอบอาศัยอยู่บริเวณขอบแนวปะการังและกองหินใต้น้ำ และจะทำรังตามพื้นทราย ใกล้กับแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ลักษณะของรังจะทำเป็นหลุมคล้ายๆ กับแอ่งกระทะ (ลักษณะเหมือนหลุมปลานิล)

ด้านพฤติกรรมนั้น เป็นปลาที่มีนิสัยหวงถิ่น และจะมีนิสัยก้าวร้าว เมื่อเข้าใกล้บริเวณที่เป็นอาณาเขตของมัน มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รวมถึงตัวอ่อนของเม่นทะเลและตัวอ่อนของดาวมงกุฎหนามซึ่งเป็นผู้ล่าของปะการัง ปลาวัวไททัน จึงมีประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสัตว์ในกลุ่มนี้ ให้อยู่ในภาวะสมดุล

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการควบคุมสัตว์จำพวกหอย และหนอนท่อที่เจาะตามก้อนปะการัง ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามสุขภาพปะการังได้อีกด้วย ดังนั้นหากระบบนิเวศแนวปะการัง ขาดปลาวัวไททัน อาจทำให้มีศัตรูคุกคามปะการังมากขึ้น จนขาดภาวะสมดุล

ตนเองได้มอบหมายให้นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าว พบว่าปลาชนิดนี้ไม่ได้เป็นสัตว์น้ำคุ้มครอง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในเขตประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เรื่องกำหนดเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียด เพี่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะเรียกตัวผู้ประกอบการรายดังกล่าว ให้มารับทราบกฎระเบียบในการดำน้ำ และการท่องเที่ยวในทะเลที่ถูกต้อง ซึ่งภายหลังหากตรวจสอบแล้ว ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยกรม ทช. ได้ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ โดยระบุข้อกำหนด และเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวิธีปฏิบัติที่ดีในการดำน้ำ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล

ทั้งนี้ นายอภิชัย ได้ฝากถึงนักดำน้ำ และนักท่องเที่ยว ในการปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากสัตว์ทะเล ควรปฏิบัติต่อสัตว์น้ำด้วยเมตตา อย่ารังแก อย่ารบกวนโดยไม่จำเป็น และระมัดระวังอย่างยิ่ง ขณะดำน้ำในบริเวณที่น้ำขุ่นมาก ในการวางมือ วางเท้า หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับที่ห้อย และสะท้อนแสง ควรใส่ถุงมือ หรือชุดดำน้ำเพื่อป้องกันการทิ่มแทง และบาดเจ็บ ปรับการลอยตัวให้เป็นกลาง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับพื้นใต้ทะเลเคลื่อนไหวช้าๆ ระมัดระวัง และดูให้ดีในพื้นที่ที่จะไป รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ และสัมผัสกับสัตว์ที่ไม่คุ้นเคยทุกชนิด

อย่างกลุ่มปลาวัวนี้ จะมีการวางไข่ไว้บนพื้นทราย และช่วงนี้ปลาวัว จะคอยเฝ้าระวังรัง คอยพ่นน้ำบริเวณรังที่มีไข่ถูกทรายกลบทับ และป้องกันการบุกรุกจากปลาหรือสัตว์อื่นๆ ที่จะเข้ามากินไข่ ช่วงเวลานี้ปลาวัวจึงมีพฤติกรรมหวงกันอาณาเขต และก้าวร้าว

หากนักดำน้ำเรียนรู้พฤติกรรม และพบเห็นว่าปลาวัวแสดงพฤติกรรมพ่นน้ำลงพื้น หรือคอยไล่ปลาที่หากินออกจากพื้นที่ ก็ควรออกห่างจากอาณาบริเวณอาณาเขตของปลา ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกปลากัด

ฝากถึงนักท่องเที่ยวดำน้ำ มัคคุเทศก์ ครูสอนดำน้ำ ตระหนัก พร้อมทั้งเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวดำน้ำด้วยความปลอดภัย แจ้งเตือนนักดำน้ำท่องเที่ยวในทีม และที่สำคัญจะเป็นโอกาสในการสร้างการเรียนรู้ธรรมชาติ/พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ทำให้การดำน้ำมีคุณค่า นอกจากการชื่นชมธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังเกิดองค์ความรู้อีกด้วย

พร้อมทั้งอยากให้ทุกคนช่วยกัน ดูแลรักษาทรัพยากรในท้องทะเลไทย ที่มีความสำคัญต่อประเทศ เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ตลอดจนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้กับประเทศอย่างมากมาย

ปัจจุบันการพัฒนาประเทศ ทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อีกทั้งจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ทะเลเป็นสิ่งสวยงาม สัตว์ทะเลและทรัพยากรใต้ท้องทะเล จึงควรจะอนุรักษ์ไว้ เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเล มีความสวยงาม และอยู่คู่คนไทยตลอดไป การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเล และไม่ทำลายสัตว์ทะเล จะทำให้ทะเลมีความสวยงามมากขึ้น หากทุกคนช่วยกันอนุรักษ์และรักษาดูแล ทะเลของเราก็จะยั่งยืนสืบไป.


https://www.thairath.co.th/news/local/2690128

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 01-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


รู้จัก "ปลาวัวไททัน" ดุดันไม่เกรงใจใคร แต่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ปลาวัวไททัน ปลาทะเลที่พบได้บ่อยในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อนของอินโด-แปซิฟิก ขึ้นชื่อเรื่องความหวงถิ่นอาศัยและดุดันไม่เกรงใจใคร เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักดำน้ำว่าต้องระวัง



ปลาวัวไททัน (Titan triggerfish) กลายเป็นที่สนใจในโลกโซเชียลจากกรณีที่ครูสอนดำน้ำคนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กว่าได้ฆ่าปลาวัวไททันตาย เนื่องจากความโมโหที่ถูกกัดหลังจากว่ายเข้าไปใกล้แนวปะการัง และจะนำปลาตัวดังกล่าวไปทำอาหาร จึงทำให้เกิดกระแสต่อต้านเป็นจำนวนมาก

ปลาวัวไททัน (Titan triggerfish) หรือปลาวัวอำมหิต หรือปลาวัวหน้าลาย เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาวัว (Balistidae) มีรูปร่างที่บึกบึนกว่าปลาวัวชนิดอื่น ปากมีขนาดใหญ่มีเขี้ยวสั้นคมอยู่ภายใน ครีบหางปลายตัดมน ข้างแก้มมีสีน้ำตาลส้ม มีปื้นสีคล้ำคาดบริเวณหน้า ปากมีคาดสีดำสลับขาว ด้านหลังสีน้ำตาลอ่อน ข้างลำตัวมีสีคล้ำลายสีน้ำตาลเข้ม ครีบสีส้มมีขอบสีคล้ำ ครีบหางสีส้มขอบสีดำ

มีความยาวเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร พบยาวที่สุดได้ถึง 75 เซนติเมตร นับเป็นปลาวัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง และเป็นปลาวัวที่มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าวมาก โดยเฉพาะตัวผู้ในฤดูกาลดูแลฟักไข่ จะพุ่งเข้ามาทำร้ายด้วยการกัดสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวเข้ามาใกล้รังหรือถิ่นที่อยู่อาศัย ไม่เว้นแม้แต่สิ่งมีชีวิตที่ใหญ่กว่า คือ มนุษย์ จนเป็นที่เลื่องลือและรู้จักกันดีในหมู่นักดำน้ำ

แม้ว่าจะเป็นปลาที่มีพฤติกรรมดุร้ายเพราะความหวงถิ่น แต่ปลาวัวไททันก็มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เพราะกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รวมถึงตัวอ่อนของเม่นทะเลและตัวอ่อนของดาวมงกุฎหนามซึ่งเป็นผู้ล่าของปะการัง ปลาวัวไททัน จึงมีประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสัตว์ในกลุ่มนี้ ให้อยู่ในภาวะสมดุล

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการควบคุมสัตว์จำพวกหอย และหนอนท่อที่เจาะตามก้อนปะการัง ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามสุขภาพปะการังได้อีกด้วย ดังนั้นหากระบบนิเวศแนวปะการัง ขาดปลาวัวไททัน อาจทำให้มีศัตรูคุกคามปะการังมากขึ้น จนขาดภาวะสมดุล

ปลาวัวไททัน เป็นปลาที่พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่น ของอินโด-แปซิฟิก ในน่านน้ำไทยสามารถพบได้บ่อยและพบได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย

ปลาวัวไททันเป็นปลาที่ใช้บริโภคได้ แต่บางตัวอาจจะมีสารพิษซิวกัวเทรา (Ciguatera Fish Poisoning: CFP) เป็นสารพิษที่สร้างโดยสาหร่ายเซลล์เดียวในทะเลเขตร้อนที่อาศัยแถบแนวปะการัง เมื่อปลากินสาหร่ายเหล่านี้เข้าไปจะสะสมในเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกายปลา เช่น เครื่องใน ไข่ และหัวปลา ปลาที่มีรายงานว่าพบสารพิษ ได้เเก่ ปลาวัว ปลานกเเก้ว ปลาเก๋า ปลาน้ำดอกไม้ ปลาสาก ปลาขี้ตังเบ็ด ปลากะรัง ปลากะพงแดง ปลาไหลทะเล ปลาหมอทะเล และปลาสําลี เป็นต้น

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเผยว่า สารพิษในกลุ่ม ซิวกัวท็อกซิน (ciguatoxin) เป็นสารพิษซึ่งทนความร้อน ทนกรด ละลายได้ดีในไขมัน ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท ออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของ Cholinesterase ของเม็ดเลือดแดง และเพิ่มอัตราการซึมของโซเดียมผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ในเนื้อเยื่อต่างๆ ผู้ป่วยจะเกิดอาการพิษภายหลังจากรับประทานปลาทะเล เนื่องจากเป็นสารพิษซึ่งทนความร้อนได้ดี การทำให้สุกจึงไม่สามารถทำลายพิษได้

แต่ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับการเกิดพิษในกลุ่มอาการของโรคซิวกัวเทรา (Ciguatera) พบเพียงการบอกเล่าว่าการบริโภคปลาทะเลบางชนิดทำให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น


https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2690157

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 01-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


เกาะลันตา นำร่องจัดการ "ขยะและไมโครพลาสติก" ตัวร้ายทำลายระบบนิเวศ มุ่งยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน



ในแต่ละปีขยะพลาสติกกว่า 12 ล้านตันจะถูกปล่อยทิ้งสู่ท้องทะเลและมหาสมุทร ซึ่งร้อยละ 50 ถูกสำรวจว่ามาจากทวีปเอเชีย โดยประเทศจีนถือเป็นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นตัวเลขอาจจะมากถึงร้อยละ 29 ตามมาด้วยประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักเมื่อชื่อของประเทศไทยเองก็ติดอันดับ 1 ใน 10 เช่นเดียวกัน

โดยประเทศไทยมีการปล่อยขยะลงทะเลกว่า 22.8 ล้านกิโลกรัม และกว่า 45,000 ตันนั้นถูกซุกซ่อนไว้ในสถานที่ที่เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ไม่ต่ำกว่า 2 แสนรายต่อปีอย่าง "เกาะลันตา" จ. กระบี่ นั่นเอง

แน่นอนว่า ขยะเหล่านี้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศทางทะเล ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ แต่ยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออาชีพของคนชายฝั่ง ผู้ประกอบการ ตลอดจนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาของประเทศ และที่สำคัญยังส่งผลให้เกิด "ปัญหาสุขภาวะ" ตามมาอีกด้วย

"โฟมและขยะพลาสติกบนฝั่งที่กำจัดไม่ถูกต้องจำนวนมาก เมื่อไหลลงสู่ทะเลจะแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ และถูกเรียกว่า "ไมโครพลาสติก" (Microplastics) ซึ่งจะปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารผ่านการบริโภคอาหารทะเล"

"โดยงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ระบุตรงกันว่า ไมโครพลาสติก หรือเศษพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทะเลเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง และปนเปื้อนในระดับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

"อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร รวมถึงสารประกอบของพลาสติกบางตัว ยังส่งผลถึงระบบสืบพันธุ์ในสิ่งมีชีวิตได้อีกด้วย"

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลระหว่างการลงนามและประกาศ ?ปฏิญญาอ่าวลันตา? ผ่าน 9 หมุดหมายสำคัญ เพื่อพัฒนาและยกระดับ อ.เกาะลันตา สู่การท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นแลนด์มาร์คด้าน Blue & Green Island

โดยการลงนามในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และภาคีเครือข่ายกว่า 48 หน่วยงาน

"ปัญหาขยะพลาสติกหรือไมโครพลาสติกถือเป็นประเด็นสำคัญที่ สสส. ใช้เป็นประเด็นขับเคลื่อนในครั้งนี้ ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า มีผู้คนจำนวนมากเจ็บป่วยจากการกินไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นบทบาทของ สสส. เราเห็นถึงการป้องกันไปพร้อม ๆ กับการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ผ่านการให้ความรู้และการลงนามในครั้งนี้" นายชาติวุฒิ กล่าวถึงจุดประสงค์

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. มองว่า การลงนาม "ปฏิญญาอ่าวลันตา" จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกคนเห็นว่า ปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกเป็นเรื่องใกล้ตัว รวมทั้งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาในมิติอื่น ๆ ด้วย

โดยปฏิญญาอ่าวลันตา จะมีการผลักดัน 9 เจตจำนงและหมุดหมายสำคัญ ดังนี้ 1.การประมงยั่งยืน 2.อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 3.พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจเกื้อกูล 4.การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 5.เชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับชุมชนท้องถิ่น 6.ลดภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล 7.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและใช้พลังงานสะอาด 8.พัฒนาทางสังคมและคุณภาพชีวิต และ 9. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อคุ้มครองรักษา อ.เกาะลันตาควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะและสิ่งแวดล้อม

"งานในวันนี้ทำให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม ซึ่งส่วนใหญ่เราคิดว่า ภาครัฐจะต้องเป็นผู้จัดการนโยบาย เป็นผู้ดำเนินงานขับเคลื่อน แต่ในทางปฏิบัติ จริง ๆ คือทุกคนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเอกชน เพราะฉะนั้นด้วยความตื่นตัวเหล่านี้ เราจึงมาคิดต่อว่า จะทำอย่างไรที่จะใช้โมเดลที่สำเร็จ หรือเรียกได้ว่า สำเร็จนี้ ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขยะพลาสติกและไมโครพลาสติก รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ด้วย" นายชาติวุฒิ กล่าว

ในทุก ๆ วัน บ่อขยะเกาะลันตา ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ บนพื้นที่ 3.5 ไร่ มีขยะใหม่ถูกนำมาทิ้งกว่า 48 ตัน/วัน หรือคิดเป็น 1.34 กิโลกรัม/วัน/คน ซึ่งไม่นับรวมกับขยะที่รอการฝังกลบอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถกำจัดได้ทัน จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะโรคทางเดินทางหายใจและการป่วยเรื้อรังในเด็ก

รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวถึงปัญหาระหว่างการลงพื้นที่บ่อขยะเกาะลันตาไว้ว่า ปัญหาที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเมื่อไม่มีการคัดแยกขยะที่ดี การที่จะทำให้ขยะกลับมามีคุณค่าและสามารถรีไซเคิลได้อีกครั้งก็เป็นไปได้ยาก นอกจากนั้นบริเวณบ่อขยะยังเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นระบบการจัดขยะอย่างไม่ยั่งยืนและเป็นอันตราย

"การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง มันจะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงาน พอจัดการขยะได้อย่างดีแล้วก็จะมีขยะมาสู่บ่อขยะแบบนี้น้อยลง ซึ่งจะเป็นภาระให้ชุมชนน้อยลงด้วย"

อย่างไรก็ดี สำหรับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกอย่างเป็นระบบและรูปธรรม นอกจากการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมปลอดพลาสติกอย่างยั่งยืน ก็เป็นสิ่งที่ รศ.ดร.สมิทธิ์ ให้ความเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"เราต้องการที่จะเป็นกลไกลหนึ่งในการนำสิ่งที่ชุมชนทำได้ดีอยู่แล้ว ไปเป็นต้นแบบ หลังจากนั้นนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากต้นแบบนั้นกำหนดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบมากขึ้น ถ้าเกิดว่าเรานำโครงการที่สำเร็จ นำความรู้ที่ได้จากการทำแต่ละโครงการมาแปลงให้เป็นกฎหมายและทำให้ทุกคนในประเทศยอมรับร่วมกันก็จะเป็นภารกิจที่ สสส. สามารถเรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จ" รศ.ดร.สมิทธิ์ เสนอความคิดเห็น

ด้านอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมอย่าง ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นำเสนอว่า แนวคิดการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกต้องสอดคล้องกับแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรัฐบาลกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565 ? 2570) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่ต้นทางตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเกิดขยะ

ตั้งแต่การออกแบบ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเลือกใช้สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและเรียกคืนกลับไปรีไซเคิลได้ การคัดแยกขยะมูลฝอย ณ ต้นทาง ให้สอดคล้องกับรูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอยปลายทาง เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุด ทั้งในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล (Material recovery) และพลังงาน (Energy recovery) ให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด เป็นการลดขยะทะเลลงอีกทางหนึ่งด้วย

"เราเชื่อว่าการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวสามารถที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ถ้าร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างปัญหามลพิษ น้ำเสียและขยะ ซึ่งการมาร่วมมือลงนามปฏิญญาครั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษก็พร้อมให้คำแนะนำ เพื่อช่วยสนับสนุนจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อลดจำนวนขยะให้ได้มากที่สุด ในส่วนที่ยังมีขยะอยู่ก็จะนำไปรีไซเคิลให้ได้ในประสิทธิภาพดีที่สุด โดยจะเป็นการทำงานร่วมกับท้องถิ่นและจังหวัดต่อไป"

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคอีกครั้ง ซึ่งคงจะดีไม่น้อยหากเราทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน ลดขยะตั้งแต่ต้นทาง งดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า และสุขภาพที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นหลัง


https://mgronline.com/qol/detail/9660000039469

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 01-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'วราวุธ' สวดยับ ครูดำน้ำมือฆ่าปลาวัวไททัน ไล่เข้าคอร์สปรับทัศนคติใหม่

"วราวุธ" จัดหนักครูดำน้ำไล่ฆ่าปลาวัวไททัน ฮึ่ม ถ้าอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานฯเจอคุกแน่ ไม่ปล่อยไว้ ไล่ไปเข้าคอร์สเรียนดำน้ำปรับทัศนคติใหม่



30 เม.ย.2566 ? นายวราวุธศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีครูสอนดำน้ำรายหนึ่ง โพสต์ลงโซเชียลว่าตนเองถูกปลาวัวไททันกัดขา บริเวณเกาะร้านเป็ด และจากนั้นได้ฆ่าปลาตัวดังกล่าว โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาไปกัดผู้อื่นอีก จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ว่า ตนเองได้ทราบข่าวดังกล่าวและขอฝากผู้ประกอบการและครูดำน้ำทุกคนว่า การสอนนักเรียน การเป็นตัวอย่างที่ดีคือหัวใจสำคัญ และที่สำคัญจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการที่เราไปดำน้ำนั้นเราเข้าไปบ้านของคนอื่น เราเข้าไปในโลกที่ไม่ใช่โลกของเรา

นายวราวุธ ระบุว่า ฉะนั้นปลาหรือเจ้าของบ้านเขาจะทำอะไรเป็นสิทธิของเขา และเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเคารพในสิทธิของเจ้าของบ้าน ถ้าเจ้าของบ้านมาไล่ก็แสดงว่าเขาไม่ต้องการให้เราเข้าไป การที่เขามาไล่ แล้วเราไปฆ่าเจ้าของบ้านตายนั้นหากเป็นคน คุณต้องติดคุกแล้ว แต่ไม่มีใครมาเรียกร้องสิทธิให้กับปลา ให้กับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ทะเล ดังนั้นเราเป็นมนุษย์ มีความคิด มีความรู้ และที่สำคัญเป็นถึงครูดำน้ำควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนอื่น

"เรื่องนี้ผมไม่พอใจมาก นี่ยังโชคดีที่อยู่นอกเขตอุทยานฯ เพราะถ้าอยู่ในเขตอุทยานฯ หรือในพื้นที่รับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด ถึงติดคุกเลยคอยดู ปลาชนิดนี้ไม่ได้เป็นสัตว์น้ำคุ้มครอง แต่เป็นปลาที่คอยควบคุมระบบนิเวศแนวปะการัง หากขาดปลาวัวไททัน อาจทำให้มีศัตรูคุกคามปะการังมากขึ้นจนขาดภาวะสมดุลจึงไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์จะไปทำร้ายเขา และหน้าที่ของคุณคือต้องอนุรักษ์ เพราะถ้าไม่มีปลาทะเลนักดำน้ำจะดำลงไปดูอะไร ถ้าไม่มีสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล แล้วจะดำลงไปดูอะไรกัน" นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า ดังนั้นอาชีพครูดำน้ำ เมื่อทำงานแบบนี้ มีสามัญสำนึกเพียงแค่ถูกปลาทำร้ายแล้วไปฆ่าเขาตาย เป็นเรื่องที่ไม่สมควร แล้วออกมาขอโทษ แล้วเรื่องก็จบไป ไม่ง่ายเกินไปหรือ แต่สิ่งมีชีวิตและทรัพยากรที่เสียไป ระบบนิเวศที่หายไปกับปลาตัวหนึ่ง ถ้าทุกคนคิดแบบคุณทั้งหมดคงแย่ ท้องทะเลไทยก็จะไม่เหลืออะไรให้ลูกหลานได้ดู เพราะอย่างน้อย ในละแวกนั้น ปลาไททันก็หายไป 1 ตัว แทนที่คนอื่นจะได้เห็น และเมื่อรู้ว่าปลาเขาปกป้องพิทักษ์พื้นที่ของเขา เขาไม่อยากให้รุกเข้าไป ก็อย่าเข้าไป ทั้งที่รู้อยู่ว่าปลาชนิดนี้เขาปกป้องพื้นที่ เราก็ควรไปดำที่อื่น แต่ถ้าจะเข้าไปก็ต้องรับความเสี่ยงให้ได้ ไม่ใช่ไปทำร้ายจนถึงเขาตายเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง

นายวราวุธ กล่าวว่า ปลาชนิดนี้เป็นปลาสวยงาม พบเห็นได้ทั่วไป เป็นเอกลักษณ์ และทรัพย์สมบัติของท้องทะเลไทยที่เราควรจะต้องหวงแหนเอาไว้ หายากหรือไม่ยากไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือไม่ใช่หน้าที่ของคุณที่จะไปทำร้ายเขา แต่เป็นหน้าที่ของคุณด้วยซ้ำไปที่จะต้องปกป้องเขา

"ในกลุ่มนักดำน้ำด้วยกัน ได้พูดคุยกันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่สมควร เป็นถึงครูดำน้ำด้วย ตอนนี้ทราบว่าในพื้นที่ได้พักใบอนุญาตครูดำน้ำคนดังกล่าวไปชั่วคราว และที่สำคัญเขายังไม่มีใบอนุญาตในการประกอบการ ซึ่งถ้าผมเลือกได้คิดว่าอย่าให้คนแบบนี้ อย่ามาสอนดำน้ำเลย หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็ควรไปเข้าคอร์สเรียนปรับทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องดำน้ำใหม่ดีกว่า" นายวราวุธ กล่าว.


https://www.thaipost.net/x-cite-news/369238/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 01-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


เช็กด่วน! 18 สัตว์น้ำ-ซากสัตว์บัญชี Cites แจ้งครอบครอง 31 พ.ค.

เช็กด่วน! กรมประมงแจ้งให้ผู้ที่ครอบครอง "สัตว์น้ำ-ซากสัตว์น้ำ-ผลิตภัณฑ์ฯ" 18 รายการครอบคลุมเต่า 6 ชนิด ตะพาบ กบลีเมอร์ ซาลาแมนเดอร์ ปลาโรนันทุกชนิด ฉลามทุกชนิด ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนภายใน 31 พ.ค.นี้



วันนี้ (25 เม.ย.2566) กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศให้ผู้ที่ครอบครอง ?สัตว์น้ำ ซากสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์น้ำ? ตามบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ( CITES) จำนวน 18 รายการ ต้องดำเนินการแจ้ง ?การมีไว้ในครอบครอง? กับทางราชการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้

โดยสัตว์น้ำ ซากสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์น้ำ ประกอบด้วย

- เต่ามาตามาตา 2 ชนิด > Chelus fimbriata / Chelus orinocensis
- เต่าไม้ทุกชนิดสกุล Rhinoclemmys spp.
- เต่ากระดองแคบ Claudius angustatus
- เต่าโคลนทุกชนิด ในสกุล Kinostemon spp. (ยกเว้นชนิดที่อยู่ในบัญชี 1)
- เต่าชะมดยักษ์ 2 ชนิด > Staurotypus salvinil / Staurotypus triporcatus
- เต่าชะมดทุกชนิด ในสกุล Sternotherus spp.
- เต่าอัลลิเกเตอร์ 2 ชนิด > Chelydra serpentine / Macrochelys temminckii
- เต่ามิสซิสซิปปี้แมพ หรือ เต่าลายแผนที่ 5 ชนิด > Graptemys barbori / Graptemysernstri / Graptemys gibbonsi / Graptemys pearlensis / Graptemys pulchra
- ตะพาบทุกชนิด ในสกุลApalone spp. (ยกเว้นชนิดที่อยู่ในบัญชี 1)
- กบแก้วทุกชนิด ในวงศ์ Centrolenidae
- กบลีเมอร์ หรือ กบใบลีสกุล Agalychnis lemur
- ซาลาแมนเดอร์ หรือ นิวท์ (Lao warty newt) Laotrition laoensis
- ฉลามทุกชนิดในวงศ์ Carcharhinidae
- ฉลามหัวค้อน ในวงศ์ Sphynidae
- ปลากระเบนน้ำจืด 7 ชนิด: Poyamotrygon albimaculata / Poyamotrygonhenlei / Poyamotrygon jabuti / Poyamotrygon leopoldi / Poyamotrygon marquesi / Poyamotrygon signata / Poyamotrygon wallacei
- ปลาโรนันทุกชนิด ในวงศ์ Rhinobatidae
- ปลาซักเกอร์ม้าลาย Hypancistrus zebra
- ปลิงทะเลทุกชนิด ในสกุล Thelenota spp.

โดยยื่นเรื่องเพื่อแจ้งครอบครองได้ที่

- สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ
- สำนักงานประมงจังหวัด ณ ท้องที่ที่ครอบครอง
- ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน E-mail ของสำนักงานประมงจังหวัด

นอกจากนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำตามอนุสัญญา กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ โทร. 0 2561-1418 (ในวันและเวลาราชการ)


https://www.thaipbs.or.th/news/content/326973

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:56


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger