เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 04-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 6 มิ.ย. 66 นี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากในช่วงระหว่างบ่ายถึงค่ำ
อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 4 ? 9 มิ.ย. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมชายฝั่งประเทศเมียนมาและมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้น และร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 4 ? 9 มิ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง คลื่นลมแรงและฝนตกหนักถึงหนักมาก ฉบับที่ 9 (169/2566) (มีผลกระทบถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2566)

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2566

สำหรับภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบ
จากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มไว้ด้วย






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 04-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


โลกร้อน "ลานีญา" สลับขั้ว "เอลนีโญ" ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน



โลกร้อนทุบสถิติในรอบ 174 ปี ส่งผลสภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวน "ลานิญา" ลากยาว 3 ปี สลับขั้ว "เอลนิโญ"ที่คาดว่าจะรุนแรงครั้งที่ 6 ในรอบ 73 ปี ไทยเสี่ยงร้อนและแล้งจัด ภาคใต้เสี่ยงสุด แนะจัดสรรน้ำคาดอยู่ยาว 19 เดือน

"ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเกินค่าเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ต่อให้พวกเราพยายามอย่างสุดแรงแล้วก็ยังยากที่มนุษย์จะปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นได้"

นี่ไม่ใช่คำเตือนอีกต่อไป ไม่ใช่แค่ภาพจำจากภาพยนตร์ และไม่ใช่ความรู้สึกที่มนุษยชาติจะเพิกเฉยต่อสิ่งที่ขยับใกล้ตัว แต่เป็นคำยืนยันจากรายงานฉบับที่ 6 ในปี 2022 ของIntergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้การทำงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

คีย์แมสเซส ที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่โลกจะร้อน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 2030-2040 ทำให้ข้อตกลงปารีสที่เรียกร้องให้นานาประเทศประกาศตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายใน2050 เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5- 2 องศาเซลเซียส แต่ข้อเท็จจริงคืออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว

"ปี 2022 เป็นปีที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงทุบสถิติ ทั้งที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญาถึง 3 ปีติดต่อกัน"

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ พร้อมฉายให้เห็นภาพที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน แบบไม่ทันตั้งตัว

รายงานจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) พบว่าในเดือนม.ค.และเดือนเม.ย.ของปีนี้ อุณหภูมิโลกสูงมากขึ้นเป็นอันดับ 1 เกินค่าเฉลี่ยปกติในรอบ 174 ปี เพิ่มขึ้นอยู่ที่ +0.87 องศาเซลเซียส มากกว่าปี 2000 ซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้น +0.34 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่า "โลกของเราร้อนขึ้นมากกว่าเดิม"


โลกร้อน "เอลนีโญ" รุนแรงครั้งที่ 6 ในรอบ 73 ปี

ผู้เชี่ยวชาญภาวะโลกร้อน มก. บอกถึงปัจจัยเร่งของภาวะโลกร้อน ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการที่นักวิทยาศาสตร์ เจาะแกนน้ำแข็งของโลกย้อนหลังกลับไป 800,000 ปี ตอนนั้นความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไม่เกิน 300 ส่วนต่อล้านส่วน แต่ตอนนี้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกพุ่งสูงถึง 422 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เหมือนกับผ้าห่มปกคลุมโลกไว้ในชั้นบรรยากาศ เมื่อนานมากขึ้นจะดักจับความร้อนจากดวงอาทิตย์ทำให้โลกอุ่นขึ้น

เขาย้ำว่า หลักฐานที่เกิดขึ้น ถือว่าไม่ปกตินัก เพราะโลกเพิ่งเผชิญกับลานีญา 3 ปีติดๆ กัน ซึ่งแม้จะทำให้มีปริมาณฝนมาก แต่กลับพบความร้อนแบบสุดเหวี่ยงในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นแรงเหวี่ยงที่รุนแรง

ทำให้ปีนี้ ทั่วโลกกำลังเผชิญ ?เอลนีโญ? ครั้งรุนแรงอีกครั้งในรอบ 73 ปี และถือเป็นครั้งที่ 6 นับจากปี 1950-2023 ข้อมูลของ NOAA พบเส้นกราฟเอล นีโญกำลังรุนแรงเชิดหัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ระดับรุนแรงมากกว่า 1.5 ? 2 องศาเซลเซียส มีความน่าจะเป็น 54% ในช่วงพ.ย.2566-ม.ค.2567 สอดคล้องกับความน่าจะเป็นที่ Met Office (UK) คาดว่ากำลังของเอลนีโญ ถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปสู่ระดับรุนแรงทะลุ 90%

เขาบอกว่า หลักการถ้าค่าเอลนีโญเกิน 2 องศาเซลเซียสเรียกว่ารุนแรงมาก แต่ถ้าอยู่ระหว่าง 1.5-2 องศาเซลเซียส เรียกว่ารุนแรง แต่สำหรับปีนี้ จากแบบจำลองเรากำลังเผชิญเอลนีโญรุนแรงตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย.ปีนี้ ปกติเอลนีโญ จะอยู่สั้นสุดราว 8 เดือน แต่ถ้ายาว 19 เดือนหรือ 2 ปี

"แบบจำลองคาดการณ์เอลนีโญจะรุนแรงมาก ถ้าย้อนสถิติกำลังของ เอลนีโญจากปี 1950 -2023 หรือ 73 ปี ยอดของเอลนีโญที่เกิน 2 องศาเซลเซียสเกิดแค่ 5 ครั้ง และรอบนี้จะเป็นครั้งที่ 6"


น้ำน้อย-ฝนแล้ง-อุณหภูมิสูง พื้นที่เกษตร

รศ.ดร.วิษณุ บอกอีกว่า ในรอบ 73 ปีเกิดเอลนีโญรุนแรง 5 ครั้งปกติค่าเฉลี่ย เอลนีโญ 2-5 ครั้งต่อปี แต่จะมีความถี่ที่ไม่แน่นอน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าเอลนีโญจะมาถี่ขึ้น และอุณหภูมิอาจจะยกกำลังเพิ่มขึ้น หมายถึงมาพร้อมกับความร้อน แล้ง และเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ อินเดีย

"ทุกครั้งที่เป็นปีเอลนีโญ อุณภูมิโลกจะทำสถิติสูงสุดใหม่ ดังนั้นจึงต้องจับตาว่าจากปลายปีนี้ถึงปี 2567 อุณหภูมิของโลกจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงศตวรรษที่ 21 คือแตะมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หมายความว่าจะเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องรอจนสนธิสัญญาปารีส"

ขณะที่ผลกระทบจากเอลนีโญรุนแรง นักวิชาการโลกร้อน บอกว่า จากพลังของลานิญา 3 ปีติด และกลับมาเป็นเอลนีโญแบบรุนแรง จึงน่ากังวลถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น

แน่นอนว่าหากเทียบเอลนีโญปีนี้ น่าจะสูสีกับปี 2559 ซึ่งเกิดมหาภัยแล้งรุนแรง เพราะลากยาวจากปลายปี 2558-59 เพราะชนช่วง 2 ฤดูแล้งจนน้ำเริ่มหมด


"ภาคใต้" เสี่ยงสุด ฝนทิ้งช่วงปลายปี

นักวิชาการ บอกว่า จากแบบจำลองของฝั่งสหราชอาณาจักร ปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับฝนในไทย ฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดือนมี.ค.-ก.ค. และอุณหภูมิจะร้อนกว่าค่าเฉลี่ยปกติในช่วงหน้าร้อน

ขณะที่ NOAA ระบุว่า จะร้อนและแล้งเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จะมีความเสี่ยงมากกว่าทางภูมิภาคอื่น สอดคล้องกับการประเมินค่าเฉลี่ยฝน ที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์จะน้อยกว่า 5% ในปีนี้

"แบบจำลองเชิงพื้นที่พบว่า ภาคใต้เสี่ยงขาดแคลนน้ำสุด ต้องระวังฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนของภาคใต้ เพราะเอลนีโญจะยกกำลังสูงสุดในเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ รองลงมาภาคอีสาน ระบบชลประทานน้อย และมีพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานที่เข้าถึงแหล่งน้ำในระดับครัวเรือนแค่ 26 % ส่วน 74% ยังเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำ"

รศ.ดร.วิษณุ ชี้ว่า เกษตรกร ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในลำดับแรก เพราะ 80% ยังเป็นระบบเกษตรที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำ ดังนั้นกรมชลประทาน ต้องจัดสรรน้ำและรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ควบคุมพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม เพราะถ้ามองย้อนในประวัติศาสตรเอลนิโญ ไม่ได้เกิดแค่ช่วงเวลาสั้นๆ หากลากยาว 2 ปี หากกรมชลประทานไม่จัดสรรน้ำ ความเสี่ยงจะสูง ความเสียหายจะหนักมาก ซึ่งยังไม่รวมภาคอุตสาหกรรม

"คาดการณ์ผลเสียหายทางเศรษฐกิจ จากภาวะโลกร้อนอีก 22 ปีข้างหน้า มูลค่าความเสียหายสะสม 600,000-2.85 ล้านล้านบาท เฉลี่ยปีละ 83,000 ล้านบาท เฉพาะในภาคเกษตร นั่นหมายถึงจีดีพีก็จะหดตัวลงจากผลผลิตเกษตรที่ส่งออกได้น้อย"

นักวิชาการโลกร้อน เสนอว่า ทางออกสำหรับเอลนีโญปีนี้ พื้นที่นอกเขตชล ประทาน เกษตรกรต้องเก็บน้ำให้มากสุด เพื่อฝ่าแล้งหน้าที่จะมาถึงรุนแรง ส่งเสริมทำบ่อจิ๋ว ส่วนแหล่งน้ำสาธารณะ คู คลอง ต้องเพิ่มศักยภาพไม่ให้ตื้นเขิน และลดการทำนาปรัง และปลูกพืชใช้น้ำน้อย เป็นต้น

เพราะถึงเวลาที่ทุกคนต้องปรับตัวกับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถเรียกคืนอุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้คนรุ่นอนาคตเผชิญภัย จากภาวะโลกร้อนให้น้อยลงจากคนรุ่นปัจจุบัน


https://www.thaipbs.or.th/news/content/328433
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 04-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ไขคำตอบ เอลนีโญ-ลานีญา ความต่างที่สุดขั้ว



"เอลนีโญและลานีญา" (El Ni?o , La Ni?a ) ชื่อที่หลายคนได้ยินมานาน แต่ก็ยังเป็นที่สับสนกันอยู่ว่า 2 ชื่อนี้ ทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกแปรปรวนอย่างไรบ้าง

ในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือมหาสมุทรที่กั้นระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา จะมีกระแสลมประจำภูมิภาคที่เรียกว่า "ลมสินค้า" (Trade winds) ซึ่งพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลจากอเมริกาใต้มายังประเทศอินโดนีเซีย และจะเกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ปรากฏการณ์ เอลนีโญและลานีญา จะทำให้กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นที่พัดมานั้นเกิดความแปรปรวน และเกิดภาวะแห้งแล้ง (เอลนีโญ) และ ฝนตกหนัก (ลานีญา)


เอลนีโญ ฝนน้อย-น้ำแล้ง

ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออก อุ่นขึ้นผิดปกติ เพราะลมสินค้า มีกำลังอ่อนกว่าปกติ น้ำทะเลอุ่นจึงถูกพัดไปทางชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกน้อยลง ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ไหลย้อนกลับพัดเข้าแทนที่กระแสน้ำเย็นที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้เกิดเมฆฝนรุนแรง

"ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง
แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น"

ทำให้พื้นที่ฝนตกชุกหรือเกิดอุทกภัยบ่อย จะเผชิญกับความแห้งแล้งเฉียบพลัน อุณหภูมิของอากาศก็สูงขึ้นกว่าปกติ ปริมาณสัตว์น้ำก็ลดลง บางชนิดถึงขั้นอาจสูญพันธุ์ ผลกระทบต่อมนุษย์คือชาวประมงจึงจับสัตว์น้ำไม่ได้

ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ.2540 น้ำมีอุณหภูมิอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยถึง 6 ?C ส่งผลให้เกิดปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในบางพื้นที่ของโลก เช่นในพื้นที่บางส่วนของภาคตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เคยประสบกับน้ำท่วมและดินถล่มในช่วงปี 2540 และในปี 2558 ระดับน้ำทะเลของแคลิฟอร์เนียตอนใต้ สูงกว่าปกติถึง 15 ซม. นำไปสู่กระแสน้ำที่สูงกว่าปกติและน้ำท่วมชายฝั่งที่เพิ่มขึ้น


ลานีญา ฝนมาก-น้ำท่วม

อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออก เย็นลงผิดปกติ เพราะลมสินค้า มีกำลังแรงกว่าปกติ น้ำทะเลอุ่นจึงถูกพัดไปทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น ส่งผลให้ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดเมฆฝนรุนแรง และด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมีความแห้งแล้งกว่าปกติ

"ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและฝนตกหนักมากกว่าปกติ ในทางตรงข้ามก็เกิดภาวะความแห้งแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้"

พื้นที่แห้งแล้งต้องเผชิญกับภาวะฝนตกหนัก จนเกิดภาวะน้ำท่วม อุณหภูมิของอากาศต่ำกว่าปกติในทุกฤดู ในปี พ.ศ. 2531 น้ำที่เย็นผิดปกติทำให้อากาศเย็นลง น้ำจะระเหยน้อยลง อากาศก็แห้ง เย็น และ หนาแน่นขึ้น เนื่องจากอากาศที่หนาแน่นนี้ ไม่สามารถก่อตัวขึ้นเป็นพายุได้ จึงมีฝนตกน้อยลงในบางพื้นที่ของโลก เช่น แปซิฟิกตะวันออก เอกวาดอร์ เปรู และทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา

ลานีญากำเนิดจากภาษาสเปน หมายถึง "เด็กหญิง" ส่วนเอลนีโญหมายถึง "เด็กชาย"


เอลนีโญ และ ลานีญา ความแปรปรวนที่สำคัญ

เอลนีโญและลานีญาเมื่อรวมกันแล้ว จะเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรธรรมชาติ ที่สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ต่อสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และมหาสมุทรทั่วโลก การเกิดพายุ ภัยแล้ง ไฟป่า หรือน้ำท่วม ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทั้งสัตว์ทะเลและมนุษย์และยังรวมถึงการผลิตอาหาร สุขภาพของมนุษย์ และน้ำด้วย ผลกระทบต่อโลกจะอยู่ประมาณ 1-2 ปี และวงจรของ 2 ปรากฎการณ์จะสลับกันทุก 3-7 ปี

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา แต่ในช่วงใดก็ตามที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญขึ้น อุณหภูมิภายในประเทศไทยอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับปกติ และอาจเกิดสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ เช่น ในบริเวณที่เคยมีฝนตกชุกอาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้งฉับพลัน หรือในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำฝนอาจเผชิญกับพายุฝนรุนแรง เป็นต้น


https://www.thaipbs.or.th/news/content/328430


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 04-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


ภาวะคุกคามแนวปะการังที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์



"แนวปะการัง" ป่าผืนใหญ่ใต้ท้องทะเลที่กำลังถูกทำลายเพราะการกระทำของมนุษย์ ชวนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปะการัง ถิ่นที่อยู่ของสรรพสิ่งใต้มหาสมุทร
ทุกวันที่ 1 มิถุนายน เป็นวันแนวปะการังโลก (World Coral Reef Day) ที่ย้ำให้ทุกคนร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของปะการัง บ้านหลังใหญ่ของสรรพสิ่งใต้ทะเลที่กำลังถูกมนุษย์ทำร้าย


รู้จักปะการังให้มากขึ้น

"ปะการัง" เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในทะเล ประกอบด้วยตัวปะการังซึ่งเรียกว่า "โพลิป" (polyp) สร้างหินปูนเป็นแกนแข็งเพื่อค้ำจุนตัวเองไว้ ส่วนใหญ่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มโคโลนีประกอบไปด้วยโพลิฟเดี่ยว ๆ จำนวนมาก เป็นกลุ่มที่สร้างแนวปะการังที่สำคัญพบในทะเลเขตร้อนที่สามารถดึงสารแคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำทะเลมาสร้างเป็นโครงสร้างแข็งเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยได้ โดยโพลิฟจะสร้างโครงสร้างแข็งที่มีลักษณะเฉพาะของปะการังแต่ละชนิด

"แนวปะการัง" เป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนพอกพูนสะสมในแนวปะการัง เช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนต่อไป เนื่องจากแนวปะการังประกอบด้วยปะการังหลายชนิดและปะการังแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกันไป

โครงสร้างของแนวปะการังมีลักษณะซับซ้อน เต็มไปด้วยซอกหลืบเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ กุ้ง หอย ดาวทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น ทำให้แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล เปรียบเสมือนป่าดิบชื้น ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้นทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม ทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชนิดจากแนวปะการังถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ และการท่องเที่ยวในแนวปะการังเป็นที่นิยมมากขึ้น


ความสำคัญต่อชีวิตต่อส่ิงมีชีวิต

แนวปะการังมีความสำคัญต่อชีวิตต่อส่ิงมีชีวิตในทะเลและมนุษย์ สายพันธุ์ทางทะเลกว่า 25% พึ่งแนวปะการังในการอยู่อาศัย เพาะพันธุ์วางไข่ และเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่ปกป้องชายฝั่งจากคลื่นกัดเซาะ เป็นแหล่งประมงอาหารสำหรับมนุษย์ สร้างทรายให้กับชายหาด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในด้านการผลิตยารักษาโรคอีกด้วย ปะการังเป็นระบบนิเวศที่ไวต่อสิ่งต่างๆ ในช่วงปัจจุบันนี้ปะการังเผชิญปัญหาการฟอกขาว และได้รับความเสียหาย ลดลงอย่างมาก จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มลพิษ และความเป็นกรดของน้ำทะเล ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายต่อปะการัง การประมงเกินขนาด และการท่องเที่ยวอย่างไม่มีการจัดการที่ดี ล้วนส่งผลต่อปะการัง ซึ่งถ้าหากปะการังฟอกขา หรือถูกทำลายมหาสมุทรจะสูญเสียระบบนิเวศไปด้วย


ปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวปะการังในท้องทะเลไทย

1. การพัฒนาชายฝั่ง เช่น การก่อสร้างที่มีการเปิดหน้าดิน ขุดลอกพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อกิจการต่างๆ เช่น ทำถนน ก่อสร้างอาคาร ฯลฯ มีหลายแห่งที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องตะกอนถูกชะลงสู่ทะเลในช่วงฤดูฝน หลายแห่งยังมีการจัดการป้องกันไม่ให้ตะกอนถูกพัดพาลงสู่ทะเลไม่ดีพอ เช่น บริเวณอ่าวต่างๆ รอบเกาะภูเก็ต และเกาะสมุย เป็นต้น

2. การปล่อยน้ำเสียลงทะเล เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น อ่าวป่าตองที่จังหวัดภูเก็ตมีชุมชนขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมสำหรับชุมชน แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับน้ำเสียทั้งหมดได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังในจุดที่เห็นได้ชัด คือ บริเวณตอนในของอ่าวป่าตอง พบว่า แนวปะการังตรงจุดนั้นเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ปัญหาที่อาจพบในบางท้องที่เรื่องการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลก็ยังพบอยู่ เช่น กรณีการลักลอบปล่อยน้ำเสียจากโรงแรมขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่ามีระเบียบข้อบังคับให้โรงแรมที่มีขนาดใหญ่ (จำนวนห้องเกินกว่า 80 ห้องขึ้นไป) ต้องมีระบบบำบัด น้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทะเล แต่ยังคงมีการลักลอบปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเล

3. การขุดแร่ในทะเล พื้นที่เขตจังหวัดภูเก็ตและพังงาเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญของประเทศ มีการทำเหมืองแร่ดีบุกทั้งบนฝั่งและในทะเลมาช้านาน มีคำถามว่าการขุดแร่ในทะเลทำให้แนวปะการังเสียหายอย่างไร? อันที่จริงแล้ว การขุดแร่ในทะเลนั้นมิได้ขุดลงบนแนวปะการังโดยตรง แต่เป็นการขุดบนพื้นทะเลนอกแนวปะการังออกไป ปัญหาจึงอาจเกิดขึ้นหากการขุดแร่นั้นอยู่ใกล้แนวปะการัง เนื่องจากเกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนที่เกิดจากการขุดพื้นท้องทะเลและล้างแยกแร่ในเรือขุด ซึ่งมีการปล่อยน้ำล้างแร่ลงทะเลโดยตรง ตะกอนที่ฟุ้งกระจายในมวลน้ำอาจแพร่กระจายไปปกคลุมบนแนวปะการังที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากปัญหาเรื่องตะกอนแล้ว การขุดแร่ในทะเลอาจทำให้สภาพความลาดชันของพื้นดินใต้ทะเลเปลี่ยนแปลงไปด้วย หากมีการขุดใกล้หาด อาจทำให้ชายหาดทรุดตัวลงได้ ดังที่ปรากฏที่หาดในอ่าวบางเทา จังหวัดภูเก็ต ซึ่งชาวบ้านเรียกขานแหล่งนั้นว่า ?เลพัง?จากที่เคยมีการทดลองในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับตะกอนที่มีผลต่อปะการัง ได้ผลสอดคล้องกับผลที่พบในธรรมชาติ กล่าวคือปะการังตายมากขึ้นเมื่อมีอัตราการตกตะกอนสูง ตะกอนที่ทับถมปะการังมีผลโดยตรงต่อการหายใจของปะการัง ซึ่งเป็นผลให้ปะการังตายในที่สุด ผลกระทบนี้เป็นผลกระทบทางด้านกายภาพโดยตรง พบว่าปะการังแต่ละชนิดมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อตะกอนแตกต่างกัน ปะการังโขด (Porites lutea) เมื่อถูกตะกอนตกทับถมจะยังคงมีชีวิตได้ระยะหนึ่ง โดยขึ้นอยู่กับปริมาณตะกอนที่ปกคลุม ปะการังจะสร้างเมือกแผ่นบางๆ ออกมา ซึ่งแผ่นเมือกนี้จะจับตะกอนไว้ กระแสน้ำและคลื่นจะช่วยพัดพาลอกเอาแผ่นเมือกออกไป ปะการังก็จะเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่ในสถานการณ์ที่มีตะกอนมากเกินไป ปะการังไม่สามารถทนได้ ในที่สุดตัวปะการังอาจจะตายไป เพราะขาดอาหารและออกซิเจน ปริมาณตะกอนที่ปกคลุมบนปะการังมักมีชั้นหนาไม่เท่ากัน กล่าวคือ ด้านข้างของหัว เป็นส่วนที่ตะกอนปกคลุมได้น้อย ส่วนด้านบนของหัว (โดยเฉพาะส่วนที่เว้าลงไป) เป็นส่วนที่ตะกอนตกทับถมและสะสมได้ง่าย ส่วนที่ถูกตะกอนทับถมมักจะตายไป ซึ่งต่อมาถ้าหากมีกระแสน้ำหรือคลื่นพัดพาตะกอนออกไป เนื้อเยื่อปะการังส่วนที่อยู่ด้านข้างที่ยังมีชีวิตก็สามารถแตกหน่อแบ่งตัวขยายออกไป ปกคลุมพื้นผิวที่เนื้อเยื่อตายไปแล้วได้ ทำให้เกิดการฟื้นตัวได้ ดังที่พบที่อ่าวกมลาในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งพบว่าปะการังบางส่วนมีการฟื้นตัวหลังจากตะกอนถูกคลื่นทะเลพัดพาออกไปในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ ได้ใช้ปะการัง 4 ชนิดในการทดลอง ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังกิ่งช่องเล็ก (Montipora digitata) ปะการังเขากวาง (Acropora / ormosa) และปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora damicornis) พบว่าปะการัง 2 ชนิดแรกทนทานต่อตะกอนได้มากกว่า 2 ชนิดหลัง

4. การทิ้งขยะลงทะเล ขยะที่เป็นปัญหาใหญ่ต่อแนวปะการัง คือ เศษอวน เกือบทุกท้องที่มักพบเศษอวนปกคลุมอยู่บนปะการัง อวนที่พบมีหลายประเภทและหลายขนาด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น อวนที่ปกคลุมปะการังจะทำให้ปะการังตายไป เพราะปะการังไม่สามารถรับแสงแดดได้ และสาหร่ายที่มีลักษณะเหมือนตะไคร่น้ำขึ้นปกคลุมอวนอีกทีหนึ่ง สาหร่ายเหล่านั้นจับตะกอนในมวลน้ำไว้ ทำให้ปะการังตายเร็วขึ้น แหล่งที่มาของเศษอวนเกิดขึ้นได้หลายทาง เช่น 1) อาจเกิดจากชาวประมงซ่อมแซมอวนและตัดเศษอวนที่ไม่ใช้ทิ้งลงทะเล 2) ชาวประมงวางอวนถ่วงตามแนวปะการัง เมื่ออวนขาดและพันกับปะการัง ก็ไม่ได้เก็บขึ้นมา 3) อวนจากเรืออวนล้อมหรือเรืออวนลากขาด ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ และตกค้างบนแนวปะการัง 4) การลากอวนใกล้ชายฝั่งตามเกาะต่างๆ อาจทำให้อวนติดพันตามกองหิน ทำให้อวนขาดและตกค้างอยู่ในแนวปะการัง อนึ่ง การลากอวนบนแนวปะการัง ตามที่มีการกล่าวถึงกันเสมอนั้น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะชาวประมงไม่เสี่ยงที่จะให้อวนติดพันกับปะการังซึ่งจะทำให้อวนเสียหายด้วย อีกประการหนึ่งปลาส่วนใหญ่ที่พบในแนวปะการังไม่ใช่ฝูงปลาเศรษฐกิจที่ใช้บริโภค ส่วนใหญ่เป็นปลาสวยงาม ส่วนปลาเศรษฐกิจที่พบ เช่น ปลากะรัง ปลาสร้อยนกเขา ฯลฯ มักหลบอยู่ตามซอกปะการัง และไม่ได้อยู่แบบรวมฝูง ส่วนที่มีการกล่าวกันว่าลากอวนในแนวปะการังนั้น แท้ที่จริง น่าจะเป็นพื้นทรายที่มีกองหินปะปนอยู่ซึ่งบางแห่งอาจมีปะการังขึ้นคลุมหินอยู่อย่างประปราย ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องขยะในทะเลมากขึ้นในท้องที่หลายแห่งได้จัดกิจกรรมการเก็บขยะในทะเลเป็นประจำทุกปี เช่น บริเวณหาดป่าตองและเกาะเฮในจังหวัดภูเก็ต บริเวณเกาะกระดาน เกาะมุก เกาะแหวน และเกาะม้า หินแดง หินม่วง ในจังหวัดตรัง และเกาะพีพี ในจังหวัดกระบี่ เป็นต้น

5. การระเบิดปลาในแนวปะการัง ตามกองหินใต้น้ำที่มีปะการังขึ้นเป็นหย่อมๆ มักพบปลาที่อยู่รวมกันเป็นฝูงอยู่ที่ระดับกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ เช่น ปลากล้วยญี่ปุ่น ปลากะพงข้างปาน และปลาโมง เป็นต้น ฝูงปลาเหล่านี้เป็นสิ่งล่อใจให้เกิดการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระเบิดปลา เป็นที่ทราบกันดีว่าการระเบิดปลาเป็นการทำลายปะการังอย่างรุนแรง เพราะแรงระเบิดนอกจากจะเป็นการฆ่าปลาตามเป้าหมายแล้ว ปะการังยังแตกหักเสียหาย ยากต่อการฟื้นตัว ในอดีตการระเบิดปลาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปตามเกาะต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน เช่น หมู่เกาะอาดังราวี ในจังหวัดสตูล เกาะกระดาน และเกาะไหง ในจังหวัดตรัง ฯลฯ แต่การระเบิดปลาในแนวปะการังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันมีการท่องเที่ยวทางทะเลมากขึ้น ทำให้การลักลอบระเบิดปลาทำได้ยากขึ้น เพราะประชาชนและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลมากขึ้น

6. การใช้ยาเบื่อปลาในแนวปะการัง จุดประสงค์หลักในการใช้ยาเบื่อ เช่น ไซยาไนด์ ก็เพื่อจับสัตว์น้ำบางประเภท เช่นปลาสวยงามและกุ้งมังกรที่หลบซ่อนอยู่ตามซอกโพรงปะการัง โดยใช้ปริมาณสารเคมีที่ไม่รุนแรงถึงกับทำให้สัตว์น้ำที่ต้องการนั้นตาย แต่อยู่ในสภาพมึนงง จนถูกต้อนเข้าสวิงได้ สารพิษยังคงสะสมอยู่ในตัวสัตว์น้ำ ทำให้อยู่ในสภาพอ่อนแอและมีชีวิตสั้นลง ปะการังเองก็จะได้รับผลกระทบจากสารเคมีด้วย แต่ยังไม่มีการศึกษากันอย่างจริงจังว่าผลกระทบที่เกิดกับปะการังรุนแรงมากน้อยเพียงไร ปัจจุบันยังพบว่าชาวประมงในบางพื้นที่ลักลอบใช้ไซยาไนด์ในการจับปลาและกุ้งมังกร

7. การลักลอบเก็บปะการัง ปะการังที่มีชีวิตมักมีสีสีสันสวยงาม จึงมักนิยมใช้ประดับตู้ปลา ซากหินปะการังก็เช่นกัน มักถูกนำมาจัดตามตู้โชว์ แต่ในปัจจุบันนี้ปะการังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ประเภทสัตว์น้ำ) ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยห้ามมิให้บุคคลใดครอบครองปะการัง อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีการกระทำผิดในกรณีนี้อยู่บ้าง


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 04-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


ภาวะคุกคามแนวปะการังที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ .......... ต่อ


8. การลักลอบรื้อปะการัง กรณีนี้เป็นการรื้อปะการังที่อยู่ติดหาดออกไป โดยเฉพาะตามหาดที่อยู่หน้าสถานที่พักตากอากาศเพื่อให้เป็นพื้นทรายสำหรับนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ หรือเพื่อให้เรือขนาดเล็กสามารถวิ่งเข้าเทียบชายหาดได้ในช่วงน้ำลง กิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในแนวปะการังเป็นอย่างมาก เพราะปะการังที่ถูกรื้อออกจากที่เดิมมักจะตายไปในที่สุด ในกรณีที่รื้อปะการังแล้วนำไปทับถมเพื่อสร้างเป็นแนวเขื่อนกันคลื่น ก็ยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากขึ้น เพราะเป็นการกั้นการไหลเวียนของกระแสน้ำที่ไหลเลียบฝั่ง อาจทำให้ลักษณะชายฝั่งเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเกิดการกัดเซาะของชายฝั่งด้านหนึ่ง และเกิดการทับถมของตะกอนทรายในแนวปะการังหรือเกิดทรายทับถมหน้าหาดยื่นลงสู่ทะเลในอีกด้านหนึ่งของตัวเขื่อน เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพระบบนิเวศเดิมอย่างสิ้นเชิง กรณีเช่นนี้ พบตามหาดในบางท้องที่ เช่น เกาะสมุย เกาะพะงัน ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี

9. การท่องเที่ยวในแนวปะการัง ผลเสียหายเกิดทั้งจากการท่องเที่ยวประเภทดำที่ผิวน้ำ (skin diving) โดยมีการยืนหรือเดินเหยียบปะการังจนแตกหักเสียหาย และจากการท่องเที่ยวแบบดำน้ำลึก (scuba diving) ซึ่งนักดำน้ำอาจไม่ระมัดระวัง จนตีนกบกระแทกปะการังแตกหักเสียหาย ส่วนการทิ้งสมอลงในแนวปะการังนั้น ปัจจุบันพบน้อยลง เพราะในแนวปะการังหลายแห่งได้มีการติดตั้งทุ่นสำหรับผูกเรือไว้

10. การเดินเหยียบย่ำ พลิกปะการัง ชาวประมงในหลายท้องที่ยังหากินโดยการค้นหา จับ สัตว์น้ำบางประเภทที่หลบซ่อนอยู่ตามแนวปะการังน้ำตื้นหรือแนวปะการังที่โผล่พ้นน้ำเมื่อน้ำลง สัตว์น้ำดังกล่าว เช่น หมึกยักษ์ ปลิงทะเล หอยสวยงาม ฯลฯ การรื้อ พลิกหินปะการังให้หงายขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายกับปะการังโดยตรง และยังทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ที่ขึ้นเคลือบอยู่ใต้หัวปะการัง เช่น ฟองน้ำ เพรียงหัวหอม ไบรโอซัว ฯลฯ ซึ่งชอบขึ้นอยู่ในที่กำบังแดด ต้องตายไปเพราะได้ถูกแดดแผดเผา ซึ่งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ก็มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ

11. การรั่วไหลของน้ำมันลงทะเล อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดเรืออับปางก่อให้เกิดน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล เป็นกรณีที่เกิดไม่บ่อยนัก ส่วนการชะล้างน้ำมันจากเรือประมง เรือท่องเที่ยว และเรือหางยาวลงสู่ทะเล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามอ่าวที่มีท่าเรือ


https://www.nationtv.tv/gogreen/378918131


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:20


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger