เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรรพชีวิตแห่งท้องทะเล

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 05-05-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default พะยูน พูนสุข


พะยูน พูนสุข



"อยากให้คนหันมา เห่อพะยูน เหมือนเห่อแพนด้าบ้าง" นักวิชาการประมงคนหนึ่งเปรยออกมา ขณะที่สถานการณ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวนี้ ดีขึ้นมานิดหน่อย

อย่างน้อยก็ที่...ไข่มุก อันดามัน



...............................

คนภูเก็ตแบ่งเวลาพิเศษกว่าคนจังหวัดอื่น


อย่างเวลาสนทนาถึงทะเลและสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้านป่าคลอก อ.ถลาง พวกเขามักแบ่งเวลาออกเป็นสองช่วง คือ ก่อนสึนามิ และหลังสึนามิ

"ก่อนสึนามิหญ้าทะเลเยอะมาก พอสึนามิมาหญ้าก็หายไปหมด" ป้าน้อย พยานปากเอกที่รู้เห็นท้องทะเลแถวบ้านมาตั้งแต่เกิด พูดกระมิดกระเมี้ยนไม่เต็มปาก เพราะเพิ่งใส่ฟันชุดที่สามจึงยังไม่คุ้นชิน

ชายหาดน้ำตื้นหน้าโรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์และบ้านป่าคลอก หญ้าทะเลเขียวแกว่งไกวอย่างอ่อนโยนใต้พื้นน้ำเค็ม มันเป็นระบบนิเวศวิทยาหญ้าทะเลที่สัตว์น้ำอย่าง ปูขน ปูเทศบาล หอยชักตีน หอยโป่ง ปลาทะเล ปลาโทง กุ้งขาว กุ้งตีนแดง และอีกสารพัดชนิดใช้เป็นที่ดำรงชีวิต ชวนให้นึกถึงทุ่งหญ้าสวันนาห์ในแอฟริกา ผืนทะเลหน้าหาดป่าคลอกยังเป็นแหล่งยังชีพของชาวบ้านแถบนั้นด้วย

ชาวบ้านคนหนึ่งยกข้องให้ดูปลาตัวอวบขาวยาวสักฝ่ามือทำตาแป๋วแหววนอน เบียดกันอยู่ในข้อง มันคือปลากระบอก ที่ขายกันกิโลกรัมละ 60 บาท วันไหนจับได้ปลาทรายที่ขายกันกิโลกรัมละ 100 บาท ถือว่าพวกเขาโชคดีแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชายหาดได้หญ้าทะเลกลับคืนมาแล้ว

หญ้าทะเลหน้าหาดหมู่บ้านป่าคลอกยังเป็นที่แวะเวียนของของพะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เหลือจำนวนประชากรน้อยลงทุกวัน ถึงขั้นถูกจัดให้อยู่ในบัญชีสัตว์สงวน ตามพระราชบัญญัติสัตว์สงวน พ.ศ.2535 อาหารเหลาชั้นเลิศของพวกมันคือหญ้าทะเล และเป็นพืชชนิดเดียวที่ยังชีพและเผ่าพันธุ์ของพวกมันไว้

"มาดู มาดู นี่ไงรอยพะยูนกินหญ้า" ลุงต๋อย ชาวบ้านนักอนุรักษ์ซึ่งยืนคอยอยู่นานแล้วตะโกนเรียกให้มาดูร่องรอยของหญ้าทะเลที่หายไปเป็นทาง ยืนยันว่าพะยูนยังคงแวะเวียนแอบมาหาอาหารอยู่เสมอ


พะยูนใช้ปากของมันดูดหญ้าทะเลจนชาวบ้านเรียกพวกมันว่า หมูน้ำ หรือหมูดูด จากพฤติกรรมการกินที่คล้ายหมู ดูจากร่องรอยการกินแล้วลุงต๋อยสวมบทนักสืบเชอร์ล็อค โฮมส์ บอกว่าน่าจะมีสัก 3 ตัว เป็นพ่อ แม่ และลูก เนื่องจากบางรอยมีขนาดเล็ก

ปี 2535 ลุงต๋อย และอาสาสมัครชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมกลุ่มกันเป็นชมรมนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยดูแลสอดส่องสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นป่าบนบก หรือสินในน้ำ หากพบเห็นกลุ่มคนฉกฉวยประโยชน์ตัดโค่นถางป่า หรือลงอวนจับปลาชนิดไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม อาสาสมัครชาวบ้านพร้อมปฏิบัติการต่อต้าน

"เมื่อก่อนเยอะกว่านี้ แต่พอมีเครื่องมือประมง มีเรืออวนลง สัตว์น้ำหายหมด" ลูกน้ำเค็มเล่าถึงเหลือบ

การทำงานของนักอนุรักษ์ชาวบ้านอาศัยการออกหาข่าวตามตลาด หากพบพ่อค้านำสัตว์สงวนมาขายตามตลาด อาสาชาวบ้านจะไปเจรจาและห้ามปราม โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดี




-2-

ชายทะเลหน้าหาดป่าคลอกเป็นเลนนุ่มพอเหยียบจมฝ่าเท้า แต่ไม่ถึงกับมิดท่วม พื้นข้างล่างค่อนข้างแน่น เวลาเดินเท้าเปล่าควรระวังและเจริญสติไปพร้อมกับท่อง "ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ" เพราะใต้พื้นชายเลนเป็นที่หลบซ่อนหน้าของหอยชักตีน เงี่ยงคมของมันคอยสกัดผู้บุกรุก หากบุ่มบ่ามก้าวเท้าสวบๆลงไปอาจต้อง "ชักตีน" ออกแทบไม่ทัน

หญ้าทะเลมีลักษณะเป็นใบเรียวยาวปลายมน ผิวออกลื่น และนุ่มมือ สัตว์น้ำหลายชนิดใช้เป็นที่คุ้มกะลาหัว หญ้าทะเลจึงเป็นแหล่งชุมนุมของปู กั้ง ปลาชนิดต่างๆ รวมถึง "หลัด" สัตว์ทะเลที่ชาวประมงเอาไว้เป็นเหยื่อตกปลา

หญ้าทะเลหรอมแหรมเริ่มเขียวชะอุ่มเป็นผลพวงจากโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลบ้านปากคลอกด้วยลูกบอลอีเอ็ม โดยโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตร่วมกับมูลนิธิมรรคาวาณิช ดำเนินกิจกรรมนำประโยชน์จากจุลินทรีย์มาช่วยปรับสภาพพื้นดินหน้าหาดให้อุดมสมบูรณ์

ต้นความคิดจุดประกายลูกบอลอีเอ็มพลิกผืนป่าชายฝั่งป่าคลอกให้เขียวชะอุ่มเป็นชายชาติทหารคนหนึ่งที่หัวใจเขียวขจีไม้แพ้กัน

"หญ้าขึ้นหรือยัง" พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาค 4 ลงจากเฮลิคอปเตอร์ยังไม่ทันฝุ่นสนามฟุตบอลจางจากแรงใบพัดแมงปอ ส่งเสียงถามไถ่ออกมา ระหว่างเดินตรงมาถามความคืบหน้ากับ ปารียา จุลพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจสาธารณะโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และนนทลี มรรคาวาณิช ประธานมูลนิธิมรรคาวาณิช

หลังจากสองสาวรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ขาดคำ แม่ทัพภาคสี่บอกอย่างกระตือรืนร้นว่า "ไปดูกัน"

เสียงย่ำเท้าของทหาร พรึ่บพั่บพร้อมตรงไปหาดทราย ฝ่าอากาศกำลังสบายยามเช้าของชายทะเลภูเก็ตฝั่งตะวันออก

นอกจากดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ด้ามขวานทองแล้ว แม่ทัพภาคสี่มีภารกิจพิเศษถ่ายทอดประสบการณ์นำเอา "เทคโนโลยีอีเอ็ม" มาเผยแพร่ให้กับเกษตรกรหลายพื้นที่ โดยเริ่มจากภาคอีสาน และขยายต่อมายังภาคใต้ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคสี่

พลท.พิเชษฐ์ เดินย่ำสำรวจหญ้าทะเลพลางร่วมกิจกรรมโยน "ลูกบอลอีเอ็ม" เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นดินด้วยสีหน้าแจ่มใส

"มันขึ้นเยอะเลย" เขายังคงเดินลุย และกวาดตามองพื้นไม่หยุด "เมื่อก่อนยังไม่ขึ้นอย่างนี้เลย"

อีเอ็ม (Effective Microorganism) หรือเทคโนโลยีอีเอ็ม เป็นผลงานคิดค้นโดย เทรูโอ ฮิกะ นักวิชาการด้านพืชสวนจากมหาวิทยาลัย Ryukyus ของญี่ปุ่น หลังจากสังเกตความอุดมสมบูรณ์ของดินในป่าที่ทำให้ต้นไม้งอกงามโดยไม่ต้อง ดูแลให้ปุ๋ย ฮิกะจึงนำดินป่ามาศึกษาและพบว่ามีจุลินทรีย์อยู่หลายชนิดที่ช่วย "พลิกฟื้น" ความสมบูรณ์กลับคืนให้กับดิน

แม่ทัพภาคสี่เล่าความสำเร็จมากมายจากการนำอีเอ็มไปช่วยฟื้นฟูสภาพดิน ลดภาระค่าปุ๋ยให้เกษตรกร และช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างเห็นชัดกับตา

"เมื่อก่อนคนต่อต้านผม ถามผมวิจัยมาหรือยัง ผมบอกว่าผมมีชาวบ้าน เขาทำแล้วเขาเห็นกับตา ชาวบ้านเขาไม่โง่ "

นอกจากชาวบ้านเป็นพยานแล้ว พลท.พิเชษฐ์ ยังมีพยานวัตถุภาพถ่ายอีกมากมายที่พร้อมให้ท้าพิสูจน์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวที่ออกรวงเป็นกอบเป็นกำ ลูกมะพร้าวที่เบียดกันแน่นต้น ลูกทุเรียนที่แย่งกันขึ้นดกจนมองแทบไม่เห็นกิ่ง

ทีเด็ดเรียกเสียงฮือฮาจากชาวบ้านทุกครั้งที่แม่ทัพภาคสี่ไปบรรยายสรรพคุณของอีเอ็มคือ คลิปวิดีโอโชว์ชาวบ้านกรีดยางให้เห็นกันกลางวันแสกๆ น้ำยางไหลพรากลงภาชนะรอง

แม่ทัพเล่าว่า ตอนไปบรรยายให้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ฟัง ตอนแรกชาวบ้านทำหน้าไม่ยินดีปราศรัย แต่พอเห็นวิดีโอโชว์เด็ดน้ำยางขาวทะลักออกจากต้นยางราวกับเปิดก๊อก ใบหน้าเปลี่ยนกลับมาเป็นมิตรทันที

"ผมทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ ไม่ต้องออกหากินไกล ช่วยพวกเขาได้ก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ที่ผ่านมาเราทำกันแต่เชิงรับ แต่นั้นไม่พอ เราต้องทำเชิงรุกด้วย" แม่ทัพภาคสี่บอกด้วยว่า กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือให้ทหารและชาวบ้านได้คุยกัน

แม่ทัพภาคสี่กับภารกิจเผยแพร่เทคโนโลยีอีเอ็มเห็นว่า มนุษย์หาประโยชน์จากธรรมชาติมาตลอด แต่ไม่เคยให้ธรรมชาติกลับไปบ้าง ตัวอย่างง่ายๆ... มนุษย์ตัดไม้ทำลายป่ามากกว่าปลูกป่า

"ที่ผ่านมาเรามักรณรงค์ไม่ให้คนตัดไม้ทำลายป่า แต่ทำไมไม่พูดถึงการรักษาของเก่า" พลท.พิเชษฐ์ พูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง มุมมองดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เขาทำหน้าที่เผยแพร่และชักชวนให้ชาวบ้าน ทดลองบำรุงดินด้วยมือ และประจักษ์ด้วยตาตัวเองถึงประสิทธิภาพของอีเอ็ม

"ผมไม่ได้บอกให้เชื่อ แต่ลองดูนะครับ" ทหารหัวใจสีเขียวเชิญชวน




-3 -

ภูเบศ จอมพล นักวิชาการประมงจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนภูเก็ตฯ บอกว่า จำนวนประชากรพะยูนในประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 200 กว่าตัวเท่านั้น สาเหตุสำคัญคือ พะยูนตกลูกน้อยมากไม่ต่างจาก แพนด้า

"ธรรมชาติของพะยูนออกลูกรอบละตัวเดียวเอง ตกลูกรอบหนึ่งต้องรอไปอีก 3-5 ปี แบบเดียวกับช้างเลย" เขาบอก และเห็นด้วยว่า อยากให้คนหันมาเห่อพะยูนเหมือนเห่อแพนด้าบ้าง


ภูเบศ เข้ามาร่วมโครงการฯเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของลูกบอลอีเอ็มต่อการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเล ขอบเขตพื้นที่ศึกษากินอาณาเขตราว 50 ไร่ แบ่งเป็นสถานีเก็บตัวอย่าง 10 สถานี โดยซอยย่อยออกเป็น 8 สถานีที่ปรับสภาพดินด้วยลูกบอลอีเอ็ม และแปลงนอก 2 สถานี เป็น control group

นอกจากนักวิชาการประมงแล้วยังมี ป้าแต๋ว ชาวบ้านอีกคนหนึ่งจะคอยเดินดูหญ้าทะเลเป็นประจำ จากคำบอกเล่า ป้าแต๋วบอกว่าหลังจากหญ้าทะเลเริ่มฟื้นตัว สัตว์น้ำก็เข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้น

"เมื่อก่อนเหลือแต่ตอ ตอนนี้ดูเห็นเขียวแต่ไกล เยอะขึ้นหนาขึ้น ที่อื่นไม่ค่อยมีนะ ป้าเดินดูประจำเดินขึ้นเดินลง กุ้งขาวเยอะขึ้นจับได้วันละ 10 กิโลกรัม ปลาทรายชอบอยู่ มากินหลัด"

เธอบอกว่าช่วงหน้าร้อนสัตว์น้ำยังมาไม่มาก แต่พอเข้าหน้าฝนจะมีมากันอีก และตอนนี้เริ่มมีกุ้งมีปลาชวนกันมาบ้างแล้ว ผลพลอยได้อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ


น้ำทะเลหน้าหาดป่าคลอกเริ่มขึ้นแล้วตามดวงตะวัน ลูกบอลอีเอ็มที่เตรียมมาหลายถุงจมตัวลงอยู่ใต้เลน กระบวนการฟื้นตัวตามธรรมชาติกำลังเริ่มกระบวนการ

หญ้าทะเลยังคงพริ้วไหวเหมือนกวักมือชวนพะยูนมาลิ้มรส




จาก : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 พฤษภาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 05-05-2010
chickykai chickykai is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: จุดเล็กๆในเมืองหลวงของไทย แต่ระเห็จไปทำงานไกลบ้านเล็กน้อย
ข้อความ: 424
Default

ชอบความคิดท่านแม่ทัพฯมากค่ะ "ที่ผ่านมาเรามักรณรงค์ไม่ให้คนตัดไม้ทำลายป่า แต่ทำไมไม่พูดถึงการรักษาของเก่า" โดนใจ ปรบมือให้ดังๆเลยค่า
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 05-05-2010
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default

อืมมมม.....แต่ การไม่ตัดไม้ทำลายป่า ก็คือ การรักษาของเก่า คือรักษาไม้ที่มีอยู่เดิมไว้ นะคะ หนูไก่



จริงๆแล้วท่านแม่ทัพน่าจะพูดว่า...."ที่ผ่านมาเรามักจะรณรงค์เรื่องการปลูกป่า แต่ทำไมเราไม่พูดถึงการรักษาของเก่าไว้ โดยการรณรงค์ไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่าที่มีอยู่เดิม"
__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 05-05-2010 เมื่อ 09:24
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:13


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger