เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 28-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอุณหภูมิลดลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมช่องแคบมะละกา และเกาะสุมาตรา คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลอันดามันในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วน โดยอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 28 ? 29 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1 ? 3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงจะเคลื่อนลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. ? 3 ธ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 ? 3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื่นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกฝั่งจนถึงวันที่ 29 พ.ย. 66 นี้ไว้ด้วย












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 28-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


กรม ทช. ส่งหน่วยบินสำรวจ ติดตาม "พะยูน" หลังเกยตื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง



มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจากคุณทิพย์อา จันทกุล กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง ว่าเวลาประมาณ 04.30 น. พบพะยูนเกยตื้นติดแห้งมีชีวิต บริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ห่างจากฝั่งประมาณ 500 ม.

กรมทะเลและชายฝั่ง ส่งหน่วยบินสำรวจติดตาม "พะยูน" ที่เกยตื้นบริเวณเกาะลิบง จ.ตรัง เพื่อเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำ จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น พบว่าเป็นพะยูนตัวเต็มวัย มีความยาวประมาณ 250 ซม. สภาพอ่อนแรง เนื่องจากติดแห้ง เป็นระยะเวลานาน พบบาดแผลถลอกจากการเกยตื้นเล็กน้อย แต่พะยูนยังมีการตอบสนองดี พยายามตีหางว่ายลงทะเล

ทางเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ร่วมกับชาวบ้าน และกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเบื้องต้น จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำการช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นดังกล่าว โดยการขนย้าย และนำพะยูนปล่อยลงสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัย

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้ลงพื้นที่ไปยังเกาะลิบงเพื่อสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำของพะยูนตัวดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2566 โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) แบบ Multi-rotor บินสำรวจบริเวณหน้าสะพานหอชมพะยูน และหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ ซึ่งใกล้กับจุดที่พบการเกยตื้น

โดยผลการสำรวจพบพะยูนขนาดโตเต็มวัย 1 ตัว กำลังแสดงพฤติกรรมหาอาหาร ว่ายน้ำและทรงตัวปกติ การหายใจปกติ วัดอัตราการหายใจได้ 3 ครั้ง/ 5 นาที ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้าน และเครือข่ายในพื้นที่ คาดว่าเป็นพะยูนตัวเดียวกัน ซึ่งสาเหตุการเกยตื้นนั้น เนื่องจากพะยูนตัวดังกล่าวเข้ามากินหญ้าทะเลใกล้ชายฝั่ง และว่ายน้ำลงทะเลไม่ทันในช่วงน้ำทะเลลง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ชุมชนชายฝั่ง และกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ให้เฝ้าระวังการกลับมาเกยตื้นซ้ำของพะยูนตัวดังกล่าว นอกจากนี้ หากใครพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นให้รีบแจ้งมายังกรม ทช. ที่เป็นหน่วยงานหลัก ในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูสัตว์ทะเลเหล่านี้ หรือแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่า และรักษาทะเล โทร.1362


https://www.thairath.co.th/news/local/2743852

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 28-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


โรงแรมกินหาด? ปิดตายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ............. โดย พรองค์อินทร์ ธาระธนผล



หาดไม้ขาว อำเภอถลาง เป็นชายหาดที่ยาวที่สุดของจังหวัดภูเก็ต แนวหาดจะต่อจากหาดในยางผ่านสนามบินเรื่อยมาจนจรดหาดทรายแก้วติดต่อกันตลอดแนว บริเวณนี้พื้นทะเลค่อนข้างลึกและลาดชัน นักท่องเที่ยวจึงไม่นิยมเล่นน้ำ หาดไม้ขาวเป็นหนึ่งในชายหาดของจังหวัดภูเก็ตเพียงแห่งเดียวที่เต่าทะเลโดยเฉพาะเต่ามะเฟืองใช้ทำรังและเป็นแหล่งวางไข่ พื้นที่หาดไม้ขาวบริเวณโต๊ะหินลูกเดียว เป็นจุดนัดหมายของชาวเลมอแกลน กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลแห่งอันดามัน ใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ


ล้อมลวดหนามปิดตายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ในวันที่พื้นที่นี้กำลังจะกลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงแรมต่างชาติ 504 ห้อง บนที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ และมีสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี มีการกั้นรั้วลวดหนามส่วนหนึ่งของโรงแรม ปักปิดทับพื้นที่จัดประเพณีนอนหาดชาวเล

เมื่อมีการกั้นแนวเขตรั้ว เครือข่ายชาวเลอันดามันได้ทำหนังสือถึงว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล ช่วยให้มีการร่วมตรวจสอบและชะลอการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียของวัฒนธรรมและระบบนิเวศพื้นที่แหล่งวางไข่เต่าทะเล รวมทั้งให้เร่งประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน และประเพณีนอนหาดชาวเลอย่างเร่งด่วน

งานวิจัยเรื่อง ชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มคนพื้นเมืองที่ยังหลงเหลืออยู่ในจังหวัดภูเก็ต โดย จารุณี คงกุล อธิบายถึงกลุ่มชาวเลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณเกาะน้อยใหญ่อันเป็นดินแดนของประเทศไทยทางภาคใต้ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของคนทางภาคใต้ในประเทศไทย มีชีวิตความเป็นอยู่ยาวนานนับร้อยปี โดยมีความเชื่อว่ากลุ่มคนนี้ได้เดินทางมาจากหมู่เกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก และหมู่เกาะพารามีเซียน ก่อนที่จะกระจายตัวไปอยู่ยังประเทศต่าง ๆ ทั้งสิงคโปร์ อินโดนีเซีย พม่าและไทย เป็นต้น

ในประเทศไทยสามารถพบชาติพันธุ์ชาวเลได้ในภาคใต้ เช่น สตูล กระบี่ พังงา ตรัง ระนอง และภูเก็ต แบ่งชาติพันธุ์ชาวเลออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.มอแกน 2.มอแกลน และ 3.อูรักลาโว้ย มีภาษาพูดเป็นของตนเองแต่ไม่มีภาษาเขียน บริเวณหาดไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทั้ง 30 ชุมชน ในจังหวัดพังงา และภูเก็ตกว่า 9,000 คน ที่ใช้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ดำรงประเพณี และทำมาหากิน มานานมากกว่า 300 ปี


รอดจากคลื่นยักษ์สึนามิ แต่ไม่รอดคอนกรีตกินหาด

อรวรรณ หาญทะเล หรือหญิง ชาวเลเชื้อสายมอแกลน เล่าถึงชีวิตของเธอว่าเกิดมาในสังคมชาวเลเป็นลูกหลานของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ที่หมู่บ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันในท้องทะเลอันดามัน จังหวัดพังงาและภูเก็ต บริเวณท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาว ส่วนใหญ่เป็นเครือญาติ สมัยก่อนช่วงที่เธอยังเป็นเด็ก ทันที่จะเห็นทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ในชุมชน

คำบอกเล่าจากรุ่นทวดที่เล่าต่อ ๆ กันมา ในสายตระกูลผู้นำชาวเลเชื้อสายมอแกลน ครอบครัวของเธอ มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มมอแกลนที่อยู่ นครศรีธรรมราช ที่มาอยู่ที่เมืองนครฯ คือ การถูกใช้เป็นแรงงานในการไปก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ชาวเลมอแกลนอีกกลุ่มที่อพยพออกมาจากเมืองนครศรีธรรมราช มาขึ้นฝั่งสะพานสารสิน ท่าฉัตรไชย หาดไม้ขาว และพื้นที่ริมหาดจังหวัดพังงา กระจายในพื้นที่บริเวณ หินลูกเดียว ภูเก็ต ยาวไปถึงคุระบุรี จังหวัดพังงา

เรื่องราวของชาติพันธุ์ชาวเลที่บรรพบุรุษเล่านั้นมีมากมาย ตั้งแต่เรื่องในอดีตในสมัยก่อนรุ่นทวดเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ?ดินแดนแถบถิ่นท้องทะเลอันดามัน เป็นที่อยู่ของชาวเลกับชาวซาไก เงาะป่า (มันนิ) สองชนเผ่าเป็นเกลอกัน (เกลอหมายถึงเพื่อนรักมิตรสหายที่ผูกพันกันมาก) มีอาหารอะไรก็จะนำมาแบ่งปันกัน ชาวเลจะเชี่ยวชาญทางน้ำเก่งและชำนาญในการหา กุ้ง หอย ปู ปลา ส่วนซาไก หรือเงาะป่าจะชำนาญเรื่องป่า โดยเฉพาะเรื่องยาสมุนไพร การเข้าป่าออกล่าสัตว์ หาของมาได้ก็มาแบ่งปันกันกิน รวมทั้งเรื่องราวของธรรมชาติ ป่าดงดิบ เสือ ฝูงควายป่า ช้างป่า แม้ความทรงจำบางอย่างที่เกิดขึ้นในวัยเด็กที่ยังจำได้ เช่น ถนนที่มีรอยควายป่า เดินเป็นทางยาว เธอโตทันได้เห็นภาพเหล่านั้น

บรรพบุรุษของชาวเลส่งต่อวัฒนธรรมความเชื่อผ่านการดำเนินชีวิตที่อาศัยหลักการเคารพต่อธรรมชาติ มีการดำเนินชีวิตแบบแบ่งปันมีน้ำใจ ไม่ยึดติด ไม่ครอบครอง สร้างการเรียนรู้ ผ่านศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น เช่น การร่ายรำ ร้องเพลง เล่นดนตรีพื้นเมือง มีการบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยการถ่ายทอดบอกเล่า ให้ลูกหลานฟัง พ่อของเธอเล่าเรื่องทำนองเย้าหยอก ว่าขนาดตัวของเต่าทะเลสมัยก่อน ช่วงที่ไม่มีการรุกล้ำของผู้คนและนักท่องเที่ยวนั้น ตัวจะใหญ่มากเท่ากับตัวเธอ เต่าพวกนี้จะขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดไม้ขาว แนวชายหาดของพังงาและภูเก็ตอีกหลายที่

ยัอนเวลากลับไปในวัยเยาว์ ประมาณ 7 ขวบ เธอเล่าเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมเก่าแก่ ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้พิทักษ์กลุ่มชนชาวเลที่หาดบางสัก เธอเห็นพ่อใช้คาถาเรียกจระเข้ตัวใหญ่ให้ขึ้นมาจากน้ำ ในช่วงค่ำ ทวดจะออกมาทำพิธีกรรมสร้างขวัญกำลังใจให้กับกลุ่มพี่น้องชาวเล หรือในช่วงเหตุการณ์ที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ปี 2547 ช่วงที่เธอยังเป็นวัยรุ่น รู้เรื่องคลื่นยักษ์มาก่อนล่วงหน้าหนึ่งเดือน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ จากร่างทรงในหมู่บ้าน ทำนายทายทักว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นกับชนเผ่าชาวเลของเรา

หมู หมา กา ไก่ จะตื่นตระหนกตกใจร้องเสียงดัง และหมู่บ้านชาวเลจะหายไป เหลือแค่ต้นมะพร้าว ในระหว่างนั้นเธอได้ไปบอกเล่าพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน ทุกคนหัวเราะเยาะ กระทั่งตัวของเธอเองก็ยังหัวเราะกับคำทำนายนี้ ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เมื่อคลื่นยักษ์สึนามิมาถึง โดยไม่ทันจะตั้งตัว ความสูญเสีย ในชีวิตหลาย ๆ ชีวิต รวมทั้งโรงแรมที่พักพังพินาศ หมู่บ้านริมทะเลหายไปหมด ผืนทรายชายหาด เหลือเพียงต้นมะพร้าวตามคำทำนาย

เมื่อถามถึงเรื่องที่โรงแรมจะมาสร้างที่หาดไม้ขาว "รู้สึกเป็นกังวลมาก แต่ไม่กลัว เพราะชีวิตได้ผ่านเรื่องราวร้าย ๆ มามากแล้ว เธอเกิดมาเป็นคนสองยุคทันเห็นยุคการขุดแร่ ใช้ทรัพยากรและธรรมชาติในชุมชน เห็นธรรมชาติและสิ่งสวยงามรอบ ๆ ตัว ค่อย ๆ เสื่อมสลายและถูกทำลายไปจนเกือบหมด วันแล้ววันเล่า ทั้งต้นไม้ ผืนป่า สัตว์น้ำในทะเล ฝูง กุ้ง หอย ปู ปลาร่อยหรอลงจนแทบจะไม่มีให้จับ ซ้ำร้ายที่สุดคือเรื่องที่ดินของชาวเล " สมัยก่อนไม่เคยมีใครมายุ่งกับที่ดินหรือที่สุสานของพวกเราเลย มาถึงยุคที่เอกชนมาทำท่องเที่ยวมีรัฐส่งเสริม ทำให้พวกเราชาวเล กลับถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายเป็นผู้บุกรุก ทั้ง ๆ ที่ ที่ดินบางแห่งเป็นผืนดินที่ฝังศพบรรพบุรุษของชาวเลด้วยซ้ำ เขาเข้ามาออกเอกสารบนพื้นที่สุสานฝังศพบรรพบุรุษของเรา ออกเอกสารในที่สาธารณะ เข้ามาทำถนน ทำร้านค้าขายของ

เมื่อเธอลุกขึ้นมาเรียกร้องกลับกลายเป็นการถูกเพิกเฉยจากภาครัฐ มีแต่ความเงียบ พูดอะไรไป ไม่มีใครรับฟัง สื่อมวลชนที่ออกข่าวก็เสนอข่าวว่า พวกเราเป็นพวกก้าวร้าวชอบประท้วงเป็นตัวปัญหา ทั้งที่พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่มีคุณค่าทางจิตใจของพวกเรา? เธออยากบอกให้ทุก ๆ คนรู้ว่า "อย่ามาเอาที่ดินของพวกเราไปเลย กระดูกของบรรพบุรุษ ของเราอยู่ที่นี่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจของชาวเล"


ลวงเซ็นยกกรรมสิทธิ์ "?เอาปืนมาจี้ที่หัว"

คำสั่งสอนของบรรพบุรุษชาวเลสอนว่า "เรามีที่ดินเพียงเพื่อที่จะอยู่อาศัยไม่ใช่เพื่อที่จะครอบครอง ครอบครองในที่นี้ หมายถึงการนำเป็นของส่วนบุคคล เราเกิดมาเพื่อมาอาศัยแค่นั้น เมื่อเราตายไปที่ดินก็จะเป็นที่ซึ่งลูกหลานอาศัยต่อ ชาวเลมีความเชื่อว่า ที่ดินเป็นของส่วนรวมเป็นของทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ มีสิทธิที่จะได้อยู่ได้อาศัย ได้ปลูกพืชผักสร้างอาหารหรือทำมาหากินแต่ไม่มีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของดินที่เราจะครอบครองได้ที่เดียวคือที่ดินที่เป็นสุสานฝังร่างตัวเอง" บรรพบุรุษชาวเล สอนให้ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น พื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ร่วมกันให้แบ่งปันกัน ถ้ามีที่ดินเยอะให้แบ่งปันให้คนอื่นมาใช้ประโยชน์ด้วย อาจจะด้วยความใจดีของบรรพบุรุษของเธอก็ได้ ในอดีตเคยให้ที่อยู่อาศัยคนมาขุดแร่ ใครมาทำเหมืองแร่ก็เปิดทางให้ที่พักพิง ใครเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ ข้าราชการย้ายมาใหม่จากต่างจังหวัด ทวดของพวกเธอก็แบ่งที่ให้ไป สุดท้ายพวกคนเหล่านั้น ก็เอาที่ดินไปออกเอกสารสิทธิ์

ชาวเลหลายคนถูกมอมเหล้า ให้เซ็นเอกสารยกกรรมสิทธิ์ที่ดิน อีกหลายคนถูกหลอก ถูกทำร้ายข่มขู่ สารพัดวิธี ความชั่วร้ายกลโกง ชาวเลเป็นกลุ่มคนรักความสงบ ไม่อยากมีปัญหา ไม่อยากมีเรื่อง กลับกลายเป็นว่าจากที่เคยเป็นเจ้าของผืนดิน มีที่อยู่อาศัยทั้งพื้นที่ชายหาดและท้องทะเล วันหนึ่งต้องกลับกลายมาเป็นผู้เช่าที่ดินบรรพบุรุษของตัวเอง พร้อมกับการถูกเบียดขับอย่างเข้มข้น ครั้งหนึ่งช่วงที่เธอทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองชาติพันธุ์ชาวเล มีคนมาข่มขู่เอาปืนมาจี้ที่หัว ขู่ว่าให้หยุดการเป็นผู้นำกระบวนการต่อสู้ ให้ชาวเลยอมจำนน "หญิงไม่เคยกลัวตายเลย"


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 28-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


โรงแรมกินหาด? ปิดตายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ...... ต่อ



สร้างพื้นที่ปลอดภัย

ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด 19 ชาวเลจำนวนหลายครอบครัว จำเป็นต้องขายเรือนับจำนวนแล้วเกือบร้อยลำ นั่นหมายความว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น วันนี้ชาวเลหลายครอบครัวไม่มีเรือเป็นของตัวเอง ไม่มีพาหนะที่จะใช้ ออกไปทำมาหากินในท้องทะเล เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น การซื้อเรือกลับมาเป็นเรื่องยาก กลุ่มชาวเลที่ออกเรือหาปลา ซื้อเรือกลับมาได้แค่สิบกว่าลำเท่านั้นเอง หนทางแก้ปัญหาของชาวเลช่วงนี้พยายามทำเรื่องท่องเที่ยวในวิถีวัฒนธรรมของชุมชนชาวเล อยากให้นักท่องเที่ยว รู้ถึงวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ชาวเล ว่าเป็นผู้รักสงบ รักธรรมชาติ มีวัฒนธรรมของตนเอง เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นดูแลพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ดูแลอนุรักษ์ชายหาดไม้ขาว ให้เป็นแนวชายหาดยาว มีความเป็นธรรมชาติเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่ให้เต่ามะเฟืองมาวางไข่

ประเพณีนอนหาด ความเชื่อบนผืนทราย พื้นที่หาดไม้ขาว บริเวณโต๊ะหินลูกเดียว หรือพ่อตาหินลูกเดียว จะมีการจัดประเพณีนอนหาด ภาษามอแกลนเรียกว่า "อีดูนเอาดะ" เธอเล่าเรื่องประเพณีนี้ว่า "การนอนหาด จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วง 13 ? 15 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณเดือนมีนาคม) ประเพณีเริ่มต้นก่อนเข้าสู่เดือนสี่ เป็นการนัดพบกันของชาวเลเชื้อสายมอแกลน มาหุงข้าวหุงปลากินด้วยกัน พูดคุยทักทาย ร้องเพลง บริเวณหาดไม้ขาวจังหวัดภูเก็ต เป็นจุดนัดหมายของชาวเลที่จะแสดงออกถึงความเคารพธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ ชาวมอแกลนถือปฏิบัติเป็นประเพณีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จะมีพิธีสำคัญคือการเสี่ยงทายทำนายอนาคต ความเป็นอยู่ของชาวเลในแต่ละปี ถ้าหากมีการสร้างโรงแรมพื้นที่นอนหาดก็จะหดสั้นลงแคบลง เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาที่หาดไม้ขาวมากมาย สภาพคงจะโกลาหลและวุ่นวาย ทุกวันนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ไข่แดงอยู่ตรงกลางถูกแวดล้อมด้วยโรงแรมความเจริญและถูกเบียดให้ตกขอบไปจากชุมชน"

หาดไม้ขาว ชายหาดแสนสวยที่มีแต่ความเงียบสงบ มีความทรงจำที่งดงามของครอบครัวชาวเล ริมหาดยามค่ำคืนมองท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวระยิบระยับหลายล้านดวง ฟังเสียงสายลมพัดเห่เกลียวคลื่น นอนฟังนิทานเรื่องราวเรื่องเล่าของบรรพบุรุษชาวเล มีผืนทรายเป็นผ้าห่ม เธอจดจำเม็ดทรายได้แทบทุกเม็ดที่เคยฝังตัวลงนอนที่หาดไม้ขาว หรือช่วงที่เหล่าลูกหลานชาวเลจะลุ้นเฝ้าดูเต่าทะเล ขึ้นมาวางไข่ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทุกคนจะพยายามอนุรักษ์ให้พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด เพื่อให้แม่เต่ามะเฟืองจะได้ขึ้นมาวางไข่ณ ที่เดิมเหมือนเช่นเคยเป็นมา


เบรกทุนต่างชาติเช่าที่ 30 ปี สร้างโรงแรม

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า หากมีการก่อสร้างโรงแรมต่างชาติ บริเวณหาดไม้ขาวขึ้น รั้วลวดหนามส่วนหนึ่งที่จะกลายเป็นกำแพงโรงแรมปิดทับพื้นที่จัดประเพณีนอนหาดชาวเล ความเงียบสงบในการประกอบประเพณีนอนหาดจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

กลายเป็นของเอกชนทุนต่างชาติประเทศสเปนร่วมกับทุนไทยในพื้นที่ เป็นเขตที่ดินราชพัสดุที่อาศัยนโยบาย BOI (Borad of Investment) หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนให้ชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทย และการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ จึงได้เช่าระยะยาว 30 ปีจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

มีข้อสังเกตุว่า ก่อนปักเสาลวดหนามแสดงการครอบครองยังไม่มีการศึกษาแหล่งอนุรักษ์เต่าวางไข่ ผลกระทบที่เกิดกับทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบกับกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล อีกทั้งไม่คำนึงถึงหลักสิทธิชนพื้นเมืองสากล หลักรัฐธรรมนูญไทย นโยบายต่างๆ เช่น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง United Nations Declaration on thr Rights of Indigenous Peoples หรือ UNDRIP ตั้งแต่ปี 2007 โดยสาระสำคัญระบุว่า ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากร ซึ่งพวกเขาครอบครอง และเป็นเจ้าของตามประเพณี หรือเคยใช้ หรือเคยได้รับมาก่อน รัฐจักต้องให้การยอมรับและคุ้มครองในทางกฎหมาย

เครือข่ายชาวเล อันดามัน จึงมีข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเร่งทบทวนการอนุญาตให้เอกชนเช่าที่เพื่อสร้างโรงแรม เพราะจะส่งผลกระทบกับพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพื้นที่วางไข่ของเต่ามะเฟือง และเขตพื้นที่นอนหาดตามวิถีวัฒนธรรมชาวเลผืนสุดท้าย และมีคำสั่งให้โรงแรมที่ได้เช่าพื้นที่ที่ต้องรื้อถอนเสารั้วลวดหนามออก และชะลอการดำเนินการใดๆ จนกว่าการจะมีแนวทางการแก้ปัญหาเสร็จสิ้น

พื้นที่หาดไม้ขาวทะเลชายหาดของอันดามันเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม ความเชื่อ จิตวิญญาณของชาวเลมาตั้งหลายร้อยปี และชาวเลก็ส่งต่อความเชื่อเหล่านี้มาถึงปัจจุบัน

ถ้า "หาดไม้ขาว" ถูกรบกวน ถูกเช่าสร้างโรงแรมระยะยาวจากทุนต่างชาติ ที่นี่คงไม่ใช่ที่เกิดของเต่ามะเฟืองอีกแล้ว? ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ก็จะเกิดขึ้น

วันนี้อาจไม่ต่างจากการถูกคลื่นลมโหมกระหน่ำ เมื่อครั้งที่เกิดผลกระทบจากสึนามิที่ว่ามีความรุนแรงแล้ว แต่คลื่นยักษ์ลูกที่สองนี้อาจจะร้ายแรงกว่าสึนามิ หากเป็นคลื่นทุนกลุ่มนายทุนและกลุ่มต่างชาติทำให้ชาวเลต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในที่ดินของตนเองรวมถึงการปกป้องและฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมชาวเลให้คงอยู่ไม่ให้สูญสลายไป


https://decode.plus/20231111-save-ma...mai-khao-beach

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 28-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


รู้หรือไม่? ปลาแซลมอน ที่นิยมทานมีกี่สายพันธุ์ หากกินมากก็มีโทษต่อร่างกาย



รู้หรือไม่? ปลาแซลมอน ที่นิยมทานมีกี่สายพันธุ์ แล้วปลาแซลมอน มีคุณค่าทางโภชนากินแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง? แต่หากกินมากไปทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ด้วยนะ

เจ้าปลาส้ม ขวัญใจใครหลายๆคนเพราะเนื้อมีความฉ่ำน้ำทานดิบก็ได้ทานสุกก็ดี อร่อยจนหยุดทานไม่ได้ นำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย แต่หากไปดูวงจรชีวิตของเจ้าปลาแซลมอน สิ่งนี้ส่งผลให้เนื้อของมันอร่อยแตกต่างจากปลาอื่นๆ เจ้าปลาส้มมีการใช้ชีวิตที่แปลกประหลาดกว่าปลาชนิดอื่นๆมาก ปลาแซลมอนเกิดในแม่น้ำหรือน้ำจืด แต่กลับไปใช้ชีวิตในทะเลหรือน้ำเค็ม ซึ่งการที่ปลาแซลมอนต้องว่ายทวนกระแสน้ำจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูสืบพันธุ์ที่พวกมันจะต้องกลับไปผสมพันธุ์และวางไข่ในแหล่งน้ำจืดหรือแม่น้ำที่พวกมันจากมา โดยลำตัวจะเปลี่ยนสีจากสีเงินกลายเป็นสีแดงเมื่อถึงเวลาวางไข่ แต่เมื่อแซลมอนรุ่นใหญ่เหล่านี้ได้วางไข่ในรังเสร็จสิ้น ก็ถึงเวลาที่พวกมันจะสิ้นอายุขัย โดยร่างกายของพวกมันจะค่อย ๆ เสื่อมลงไปจนตายในที่สุด ด้วยลักษณะการดำเนินชีวิตเหล่านี้ทำปลาแซลมอนมีเนื้อที่ไม่เหมือนปลาชนิดใดแถมยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ อย่างมากมาย


คุณค่าทางโภชนาการจากปลาแซลมอน กินแล้วร่างกายได้ประโยชน์อะไรบ้าง?

ช่วยเพิ่มพลัง กระปรี้กระเปร่า บรรเทาอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ขจัดความอ่อนเพลีย และอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักหรือเล่นกีฬาได้เป็นอย่างดี

? กรดไขมันโอเมก้า 3
? โปรตีน 19.93 กรัม
? ไขมัน 3.65 กรัม
? ฟอสฟอรัส 39%
? ไทอะมีน 5%
? วิตามิน B12 177%
? เซเลเนียม 59%
? ไนอะซิน 48%
? พลังงาน 118 กิโลแคลอรี
? วิตามิน D 64%


แหล่งกรดไขมัน โอเมก้า 3

ปลาแซลมอนมีโอเมก้า 3 จำนวนมาก ซึ่งเป็นไขมันดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีส่วนช่วยบำรุงประสาท พัฒนาสมองและการจดจำ ป้องกันโรคความจำเสื่อม โรครูมาตอยด์ และลดระดับคอลเลสเตอรอลในร่างกาย


บำรุงสายตา
ปลาแซลมอนอุดมไปด้วย วิตามิน A และ DHA ซึ่งเป็นกรดในจอประสาทตา ช่วยบำรุงสายตา บรรเทาอาการตาแห้ง


เสริมภูมิคุ้มกัน
วิตามิน D ในปลาแซลมอนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค โดยวิตามินดี จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม รวมไปถึงสารอาหารอื่น ๆ ได้ดี นอกจากนี้ วิตามิน D ยังมีส่วนในการช่วยลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหาย และ สามารถลดความรุนแรงของอาการโคลิด 19 ได้อีกด้วย


มวลกล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง
ปลาแซลมอนมีวิตามิน D และโปรตีนสูง ช่วยให้กล้ามเนื้อความแข็งแรง กระชับ และเสริมสร้างกระดูก โดยในแซลมอน 100 กรัม มีโปรตีนเกือบ 20 กรัม


รู้หรือไม่? ปลาแซลมอน ที่นิยมทานมีกี่สายพันธุ์

ปลาแซลมอน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ สายพันธุ์ที่มาจากมหาสมุทรแปซิฟิค และ สายพันธุ์ที่มาจากมหาสมุทรแอตแลนติก

ปลาแซลมอน ที่ขายในตลาด และนิยมทานกันมากที่สุด คือ Atlantic Salmon โดยแหล่งที่มาจากประเทศนอร์เวย์เป็นแหล่งที่มาที่นิยมมากที่สุด เรามักเรียกว่า Norwegian Salmon แต่นอกจากสายพันธุ์นี้แล้ว ในตลาดยังมีอีก 2 สายพันธุ์ Salmon ที่นิยมทาน พาไปรู้จักกับทั้ง 3 สายพันธุ์ Salmon ที่นิยมทาน ตามไปดูกันเลย

สายพันธุ์ยอดนิยม พบได้มากในมหาสุมทรแอตแลนติก และทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันนอกจากการเจริญเติบโตทางธรรมชาติของแซลมอนในพื้นที่เหล่านี้แล้ว ยังมีฟาร์มแซลมอนจำนวนมากในบริเวณนี้อีกด้วย โดยในประเทศไทยนิยมนำเข้า Atlantic Salmon จากประเทศนอร์เวย์มากที่สุด หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ Norwegian Salmon

จุดเด่น เนื้อปลามีสีส้มนวล สัมผัสนุ่ม แน่น ไม่เละ มีชั้นไขมันสวย ชัดเจน ก้างน้อย


King Salmon หรือ Chinook Salmon สายพันธุ์แซลมอนที่หายาก และราคาแพง พบในแม่น้ำแมกเคนซี เกาะอาร์กติก ประเทศแคนาดา และแถบแคลิฟอร์เนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

จุดเด่น เนื้อสีส้มเข้มสลับไขมันปลาเป็นลายหินอ่อน ไปจนถึงมีเนื้อสีขาว เนื้อนุ่ม น้ำมันปลาสูง


Trout Salmon

แซลมอนเทราต์ หรือปลาเทราต์ เป็นปลาสายพันธุ์ใกล้เคียงกับปลาแซลมอน จึงทำให้เป็นอีกสายพันธุ์ที่นิยมทาน

จุดเด่น เนื้อสีส้มเข้มออกแดง สัมผัสนุ่ม รสหวาน ไขมันน้อย


แต่รู้ไหมว่ากินแซลมอนมากเกินไป ทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย!

ต้องบอกว่าเจ้าไขมันจากแซลมอนมีกรดไขมันอิ่มตัว ถ้าหากกินเป็นประจำในปริมาณที่มากเกินไป สามารถทำให้ไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร ไม่ควรบริโภคเกินสัปดาห์ละ 340 กรัม แต่หากรับประทานบ่อยจนปริมาณสารปรอทในเลือดสูงเกิน 5.8 ไมโครกรัมต่อลิตร อาจทำให้ระบบประสาทถูกทำลาย กล้ามเนื้ออ่อนแรงมีปัญหาการหายใจ อารมณ์แปรปรวน การเคลื่อนไหวผิดปกติ การมองเห็นและการสื่อสารบกพร่องได้

นอกจากนี้ ควรระวังเรื่องการรับประทานปลาดิบไม่ผ่านการปรุงสุก ซึ่งอาจมีพยาธิ ปรสิต ที่อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ และอาหารเป็นพิษได้ ส่วนปลาแซลมอนที่เพาะจากฟาร์ม อาจมีสารไดออกซิน และยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้เกิดมะเร็งได้ ดังนั้นควรเลือกปลาจากธรรมชาติแล้วปรุงให้สุกจะดีกว่า

โดยอันตรายจากการทานเนื้อปลาแซลมอนดิบที่ไม่มีคุณภาพ เนื่องด้วยกระบวนการเลี้ยง การเก็บรักษา และการเตรียมปลาแซลมอน หากกระบวนการต่าง ๆ ที่กล่าวมาไม่สะอาด หรือไม่ได้คุณภาพ อาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในเนื้อปลา ทำให้เนื้อปลากลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่างๆ ได้


https://www.nationtv.tv/lifestyle/food/378936511

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 28-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


คู่มืออย่างง่าย ในการทำความเข้าใจ "โลกร้อน"



อุณหภูมิโลกกำลังสูงขึ้นเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดโต่งอื่น ๆ

สถานการณ์มีแนวโน้มจะแย่ลงอีกในทศวรรษถัด ๆ ไป แต่มาตรการที่เร่งด่วนก็สามารถจำกัดผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คืออะไร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากในภาษาไทยว่า "โลกร้อน" คือการที่อุณภูมิเฉลี่ยโลกและสภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว โดยในตอนนี้โลกอุ่นขึ้นโดยเฉลี่ย 1.1 องศาเซียลเซียสแล้ว เทียบกับช่วงปลายศตวรรษที่ 19


มนุษย์เป็นตัวการของโลกร้อนหรือไม่

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมาตลอดประวัติศาสตร์ของดาวเคราะห์โลก แต่สาเหตุทางธรรมชาติไม่สามารถอธิบายการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเร็วเป็นพิเศษในศตวรรษที่ผ่านมาได้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ มีสาเหตุมาจากมนุษย์

สาเหตุหลักก็เนื่องมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในบ้าน โรงงาน และยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ

เมื่อมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล พวกมันจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา โดยก๊าซที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุดคือคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจกดูดซับคลื่นรังสีความร้อนในชั้นบรรยากาศใกล้กับพื้นผิวโลกเอาไว้ และเป็นสาเหตุให้โลกของเราร้อนขึ้น

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นจุดที่มนุษย์เริ่มเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมหาศาล ประมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 50%

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีโครงสร้างทางเคมีเฉพาะตัว ซึ่งมีการตรวจพบร่องรอยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนี้เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ


ผลกระทบจากโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้วคืออะไรบ้าง

การที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสอาจจะฟังดูไม่มาก

อย่างไรก็ตาม มันส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม เช่น

- เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดคลื่นความร้อน และฝนตกหนัก

- ธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็ง (ice sheet) ที่ปกคลุมรอบพื้นทวีปละลายอย่างรวดเร็ว และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

- น้ำแข็งทะเลในขั้วโลกเหนือละลายและหดตัวอย่างมาก

- มหาสมุทรอุ่นขึ้น

-วิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากกำลังเปลี่ยนไป

ยกตัวอย่างเช่น บางพื้นที่ของแอฟริกาตะวันออกเพิ่งจะประสบกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ทำให้ผู้คนกว่า 20 ล้านคนต้องเสี่ยงกับภาวะอดอยาก ในปี 2022 คลื่นความร้อนในยุโรปทำให้อัตราการตายพุ่งสูงกว่าปกติ


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตจะกระทบโลกอย่างไร

ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้นมากเท่าไหร่ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ระบุว่า การจำกัดไม่ให้อุณภูมิในระยะยาวเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสถือว่ามีความสำคัญมาก

แม้ว่าวิทยาศาสตร์อาจไม่สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นได้ แต่ความต่างของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น 1.5 องศาเซลเซียส มีดังนี้ เช่น

- วันที่ร้อนอย่างมาก จะร้อนขึ้นโดยเฉลี่ย 4 องศาเซลเซียส สำหรับประเทศที่อยู่ในบริเวณละติจูดกลาง (mid-latitudes ซึ่งหมายถึงภูมิภาคที่ไม่ได้อยู่ในเขตขั้วโลกและไม่ได้อยู่ในเขตร้อน) ทั้งนี้ หากอุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส วันที่ร้อนอย่างมากจะร้อนขึ้นเพียง 3 องศาเซลเซียส

- ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 10 เซนติเมตรเมื่อเทียบกับกรณีที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และทำให้คนมากขึ้นอีกกว่า 10 ล้านคนได้รับผลกระทบ

- มากกว่า 99% ของปะการังจะตาย เทียบกับ 70-90% ในกรณีที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่ม 1.5 องศาเซลเซียส

- ทุก ๆ 10 ปี จะเกิดเหตุที่มหาสมุทรอาร์กติกในขั้วโลกเหนือไม่มีน้ำแข็งทะเล (sea-ice) อยู่เลยในช่วงฤดูร้อน ทั้งนี้ หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศา เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพียงทุก 100 ปี

- จะมีพืชและสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสมต่อการมีชีวิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

- ผู้คนอีกหลายร้อยล้านคนจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ รวมถึงอาจร่วงหล่นลงสู่ความยากจนภายในปี 2050

การจำกัดอุณภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการไปถึงสิ่งที่เรียกว่า "จุดที่ไม่อาจหวนกลับ" ด้วย

หากเลยจากจุดดังกล่าวไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะยิ่งเร่งขึ้นและไม่อาจแก้ไขย้อนกลับได้ อย่างเช่น การล่มสลายของพืดน้ำแข็งรอบเกาะกรีนแลนด์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่าอุณหภูมิที่จะทำให้ถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับดังกล่าวนี้อยู่ตรงไหน

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า ผู้คนทั่วโลก 3.3-3.6 พันล้านคน มีความเสี่ยงอย่างสูงว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป็นที่คาดกันว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ยากจนจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากพวกเขามีทรัพยากรสำหรับการปรับตัวน้อยกว่า

นี่ทำให้เกิดคำถามเรื่องความเป็นธรรมขึ้นมา เพราะว่าผู้คนในประเทศเหล่านั้นมีส่วนเพียงน้อยนิดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโลกร้อนนั้นสามารถรับรู้และรู้สึกได้ในพื้นที่วงกว้าง ตัวอย่างเช่น การทำฟาร์มเกษตรที่ล้มเหลวอันเนื่องมาจากสภาพอากาศสุดขั้ว อาจทำให้ราคาอาหารของทั้งโลกสูงขึ้นได้


รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้ทำอะไรแล้วบ้างเพื่อรับมือโลกร้อน

รัฐบาลเกือบ 200 ประเทศได้ลงนามร่วมกันในความตกลงปารีสในปี 2015 โดยให้คำมั่นว่าจะพยายามรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เป้าในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า เน็ตซีโร่ (net zero) ควรจะบรรลุให้ได้ภายในปี 2050 เน็ตซีโร่หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ รวมถึงการขจัดมลพิษทางอากาศที่เหลืออยู่จากชั้นบรรยากาศด้วย

ประเทศส่วนใหญ่ได้โอบรับ หรือไม่ก็กำลังพิจารณา เป้าหมายเน็ตซีโร่นี้อยู่

อย่างไรก็ตาม ระดับของก๊าซเรือนกระจกยังคงกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และก็ "มีแนวโน้มอย่างยิ่ง" ที่อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามการให้ข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม มีความก้าวหน้าอยู่บ้างในบางเรื่อง เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า

ผู้นำจากทั่วโลกพบปะกันทุกปีเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับพันธสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศครั้งต่อไป (COP28) จะจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในเดือน พ.ย. - ธ.ค. 2023


ปัจเจกบุคคลอย่างเรา ทำอะไรได้บ้าง

การเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ จำเป็นต้องมาจากภาครัฐและภาคธุรกิจ แต่การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยปัจเจกก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

- ใช้พลังงานน้อยลง

- ยกระดับฉนวนกันความร้อนภายในบ้าน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

- เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือเลิกขับรถยนต์ไปเลย

- สำหรับประเทศเขตหนาว เปลี่ยนจากระบบการให้ความร้อนที่ใช้แก๊ส ไปเป็นระบบที่ใช้ไฟฟ้าแทน

- กินเนื้อแดงน้อยลง (ปศุสัตว์ อย่างเช่น วัว ปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งถือเป็นก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน)


https://www.bbc.com/thai/articles/cn4p6y31qgeo

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:45


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger