#1
|
||||
|
||||
ซับน้ำตาให้ "ม้าน้ำ"
ซับน้ำตาให้ "ม้าน้ำ" เรื่อง : นิภาพร ทับหุ่น ......... ภาพ : SOS SaveOurSea.net "ม้าน้ำ" เป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ในบัญชี CITES แต่เพราะเหตุอะไร "ไทย" จึงกลายเป็นผู้ส่งออกม้าน้ำตากแห้งรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ข้อมูลการค้าม้าน้ำตากแห้งของกรมประมง ปี 2552 ปริมาณขออนุญาตส่งออก จำนวน 12 ตัน, ปี 2553 ปริมาณขออนุญาตส่งออก จำนวน 8.5 ตัน, ปี 2554 ปริมาณขออนุญาตส่งออก จำนวน 5.4 ตัน, ปี 2555 ปริมาณขออนุญาตส่งออก จำนวน 1.5 ตัน แม้ปริมาณการส่งออกจะลดลงทุกปี แต่ใช่ว่านี่จะเป็นข่าวดี เพราะที่จริงแล้ว "ความต้องการ" (Demand) ของตลาดยังสูงเท่าเดิม หรืออาจจะมากกว่า แต่ทว่า "ปริมาณสินค้า" (Suply) ที่หร่อยหรอลงไปนั้นเอง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การส่งออกม้าน้ำไม่เติบโตเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นๆ ภาพปลาที่มีหัวเหมือนม้า มีกระดูกเป็นเกราะหุ้มตัวอยู่โดยรอบ แล้วชอบม้วนหางเกี่ยวเกาะสรรพสิ่งไม่ต่างจากลิงทั่วไป คงไม่น่ารักหรือชวนพึงพอใจเมื่อเทียบกับสรรพคุณที่ใครๆ ต่างถวิลหา "ยาโด๊ป" คือคำจำกัดความง่ายๆ ของ "ม้าน้ำตากแห้ง" ซึ่งเชื่อกันว่ามีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาได้ตั้งแต่โรคหอบหืด กระดูกหัก ไปจนถึงภาวะไร้สมรรถภาพทางเพศ สรรพคุณเด็ดขาดขนาดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ "ม้าน้ำ" จะกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของ "มนุษย์" ........................... อาจจะเหลือเชื่อสักนิด แต่รู้หรือไม่ว่า “ม้าน้ำ” เป็นปลาชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกับปลาที่ว่ายน้ำไปมาทุกประการ ม้าน้ำเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง หายใจทางเหงือก และมีผิวหนังที่พัฒนามาจากเกล็ด ส่วนครีบเล็กๆ ที่อยู่ด้านหลังและครีบด้านข้างคล้ายหูนั้นเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้ม้าน้ำเคลื่อนตัวไปมาได้ดี ม้าน้ำไม่มีครีบหางแบบปลา เพราะมันได้วิวัฒนาการมาเป็นหางที่สามารถม้วนจับวัตถุต่างๆ ได้ แต่ที่น่าสนใจคงจะเป็นการดำรงชีวิตตามแนวตั้งฉากกับพื้นโลก ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลังอย่าง “มนุษย์” เลย ใครๆ ก็รู้ว่า ม้าน้ำเป็นนักอำพรางตัวชั้นยอด มันจะชอบดำรงชีวิตอยู่อย่างสงบในสังคมที่หลากหลาย เช่นตามแนวหญ้าทะเล ปะการัง และหมู่กัลปังหา หรือบางชนิดก็อาศัยอยู่ลึกลงไปที่พื้นท้องทะเลประมาณ 50 เมตร อาศัยอยู่ตามกองหิน เปลือกหอย กัลปังหาน้ำลึก โดยมีแพลงตอน หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เป็นอาหาร แน่นอนว่า ม้าน้ำไม่ใช่นักล่าที่ดุดัน ในทางกลับกัน พวกมันกลับต้องหลบเลี่ยงการเป็นเหยื่ออันโอชะของสัตว์อื่นๆ รวมทั้งมนุษย์ด้วย ไม่เพียงแค่การเป็นสัตว์ที่หน้าตาน่ารักสวยงามเท่านั้น หากแต่ม้าน้ำยังมีคุณค่ามากพอที่จะเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ เพราะมีการใช้ประโยชน์จากม้าน้ำในหลายแง่มุม ทั้งการจับมาเลี้ยงไว้ในตู้ปลาสวยงาม หรือการนำมาแปรสภาพเป็นของที่ระลึกอีกหลายอย่าง กระทั่งพฤติกรรมที่มนุษย์คิดตามๆ กันไปว่า ม้าน้ำเป็นสัตว์ที่รักคู่ครอง และจะรักเดียวใจเดียวจนกว่าอีกฝ่ายจะตายจากไปนั้น ทำให้มีการจับม้าน้ำมาตากแห้งและทำเป็นของขวัญมอบแก่บ่าวสาวในวันแต่งงาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการครองคู่นิรันดร์ แต่ที่สุดแล้วก็คงไม่มีพฤติกรรมไหนที่จะทำให้ประชากรม้าน้ำลดลงอย่างรวดเร็วได้ เท่ากับการจับม้าน้ำไปสังเวยความเชื่อเรื่องการรักษาโรค จีนเป็นเจ้าตำรับยาที่นิยมเอาอวัยวะต่างๆ ของสัตว์มาพิจารณาเพื่อหาสรรพคุณในการรักษา และหนึ่งในสัตว์เหล่านั้นก็คือ ม้าน้ำ เชื่อกันว่าในสมัยราชวงศ์หมิง มีการใช้ม้าน้ำในการรักษาโรคอย่างเป็นทางการ กล่าวคือเป็นสูตรยาเฉพาะที่ใช้แก้ไขปัญหาความบกพร่องของผู้หญิงที่มีลูกยาก แต่ต่อมาก็กลายมาเป็นยาหลากสรรพคุณ ตั้งแต่ยาบำรุงไตไปจนถึงยาที่ใช้บำรุงทางเพศ และเหตุแห่งความต้องการก็ขยายปริมาณขึ้น “ม้าน้ำถูกนำไปเป็นสินค้าในยาเเผนโบราณ หรือยาจีน ส่งออกไปในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ในระยะ 10 ปี เฉลี่ยส่งออกประมาณปีละ 5 ล้านตัว ซึ่งมีเเนวโน้มลดลงเล็กน้อย ไม่ใช่ความต้องการ แต่เป็นปริมาณที่สินค้าน้อยลง” สหภพ ดอกแก้ว นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยเเละถ่ายทอดเทคโนโลยีปลาสวยงามเเละพรรณไม้น้ำประดับ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว นักวิชาการคนเดิมเสริมว่า ไทยเป็นประเทศส่งออกม้าน้ำรายใหญ่ เพราะมีการรวบรวมม้าน้ำจากชาวประมงทั้งในเเละต่างประเทศ จึงทำให้มีปริมาณสูง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มีม้าน้ำสายพันธุ์เเปลกๆ จากตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เข้ามามากมาย สันนิษฐานว่าน่าจะมาพร้อมกับเรือที่ออกไปในน่านน้ำต่างประเทศ แม้ม้าน้ำจะเป็นสัตว์ที่มีการขยายพันธุ์รวดเร็ว แต่ถ้าเทียบกับความต้องการที่ไม่มีวันหยุดยั้ง คำว่า “สูญพันธุ์” ก็อาจเกิดขึ้นกับสัตว์น่ารักน่าชังตัวนี้ได้ ดังนั้นจึงมีข้อตกลงระหว่างประเทศ จัดม้าน้ำเข้าสู่อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (Convention on International trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora,CITES) บัญชี 2 (AppendixII) ที่ว่าด้วยชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ คือทำการค้าต้องอยู่ในความควบคุม หรือจำกัดปริมาณ เพื่อไม่ให้มีผลเสียหาย หรือจำนวนประชากรลดลงรวดเร็วจนใกล้คำว่า “สูญพันธุ์” “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามีการตื่นตัวกับมาตรการอนุรักษ์ม้าน้ำมากขึ้นเนื่องจาก CITES นั่นเอง จึงมีการสำรวจเพื่อทราบถึงประชากรม้าน้ำ การใช้ประโยชน์ การค้าทั้งตากเเห้งเเละมีชีวิต รวมถึงมีการพัฒนาการด้านวิชาการของการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ” สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่มีการศึกษาค้นคว้าและทดลองเพาะพันธุ์ม้าน้ำ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2526 ที่สุดแล้วก็ประสบความสำเร็จ แต่ทว่า อัตราการรอดชีวิตของม้าน้ำก็ยังไม่สูงพอที่จะพัฒนาให้เป็นการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ การเพาะเลี้ยงเพื่อการศึกษาและอนุรักษ์จึงเป็นเป้าหมายหลัก สำหรับม้าน้ำพบประมาณ 47 ชนิดทั่วโลก ในประเทศไทยพบ 7-8 ชนิด ม้าน้ำดำเป็นม้าน้ำที่พบเห็นได้ทั่วไป อาศัยอยู่ตั้งเเต่ปากเเม่น้ำจนถึงริมชายฝั่ง ลึกลงมาหน่อยจะเป็นม้าน้ำหนามขอ แต่ม้าน้ำที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลที่ลึกที่สุดคือ ม้าน้ำหนาม ม้าน้ำสามจุด และม้าน้ำยักษ์ “ม้าน้ำหลายๆ ชนิดสามารถเพาะพันธุ์ได้เเล้ว เช่นม้าน้ำดำ ม้าน้ำหนาม ม้าน้ำหางเสือ ม้าน้ำเเคระ เเต่เป็นเพียงเเค่สินค้าในการค้าปลาทะเลสวยงามเท่านั้น...ยังไม่มีหน่วยงานเอกชนที่เพาะเลี้ยงในเชิงการค้า เพราะต้นทุนสูง” อาจารย์สหภพ บอกว่า ผู้นิยมปลาสวยงามสามารถเลี้ยงม้าน้ำได้ เพราะไม่มีกฎหมายใดในการจัดการ ที่สำคัญม้าน้ำไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง จึงสามารถซื้อขายและเลี้ยงได้ ซึ่งลักษณะโดดเด่นของม้าน้ำนอกจากการเป็นปลาที่มีรูปร่างหน้าตาและการดำรงชีวิตที่แตกต่างจากสัตว์ในวงศ์เดียวกันแล้ว การสืบพันธุ์ที่ใช้ตัวผู้เป็นผู้ให้กำเนิดลูกน้อย ยังเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้คนทั้งโลกหลงรักม้าน้ำ “ม้าน้ำเป็นสัตว์ที่เพศผู้เป็นผู้ให้กำเนิด โดยตัวเมียจะฝากไข่ที่ได้รับการผสมเเล้วลงในถุงหน้าท้องของตัวผู้ จากนั้น 2-4 สับดาห์ ไข่จะพัฒนาการเป็นตัวอ่อน พ่อม้าน้ำก็จะคลอดออกมา ลูกม้าน้ำที่เกิดใหม่สามารถว่ายน้ำเเละกินอาหารได้เลย” ความลำบากเพียง 2-4 สัปดาห์ของพ่อม้าน้ำที่ต้องอุ้มท้องลูกของตัวเองอาจเทียบไม่ได้เลยกับเวลา 36-42 สัปดาห์ที่มนุษย์ผู้หญิงต้องทำหน้าที่เดียวกัน แต่เท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะมีสิ่งมีชีวิต "เพศผู้" สักชนิดหนึ่ง เข้าใจภาวะความเป็นแม่ได้ “ม้าน้ำมันเป็นสัตว์ที่น่ารักมากนะ ดวงตามันจะแป๋วแหว๋วมาก” แน่งน้อย ยศสุนทร ครูสอนดำน้ำ และนักอนุรักษ์ผู้ก่อตั้ง SOS SaveOurSea.net บอกอย่างสดใส ก่อนจะเล่าถึงม้าน้ำในประเทศไทยว่าอยู่ในข่ายของคำว่า “วิกฤต” แล้วจริงๆ “เราอยากให้มีมาตรการมาดูแล แต่สิ่งที่เราทำได้คือแค่นำภาพเขามาแสดงให้คนเห็นว่า เขาน่ารัก เขาควรอยู่ในธรรมชาติ ม้าน้ำเป็นๆ มันมีคุณค่ามากกว่าม้าน้ำตาย มันมีคุณค่า และมันก็สามารถดึงนักท่องเที่ยวได้” นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมประมง และสถาบันการศึกษาแล้ว องค์กรเอกชน รวมถึงอาสาสมัครหลายๆ ภาคส่วนก็กระโดดเข้ามาร่วมปกป้องสัตว์สุดมหัศจรรย์ตัวนี้ SOS SaveOurSea.net ก็เช่นกัน “พี่คิดว่าเราควรมีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ที่ผ่านมาเราทำกิจกรรมปล่อยหอยมือเสือ ปล่อยปลาสวยงามอยู่แล้ว ตอนหลังจึงเริ่มปล่อยม้าน้ำที่เพาะพันธุ์ได้ด้วย” ความพยายามของกลุ่ม SOS ในการดำน้ำลึกเพื่อนำลูกม้าน้ำที่แข็งแรงจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ ไปปล่อยตามจุดต่างๆ ที่คิดว่าน่าจะปลอดภัย ทำให้จำนวนประชากรม้าน้ำในทะเลไทยเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่มากเพราะไม่มีการเก็บข้อมูลในเชิงสถิติชัดเจน แต่ทุกครั้งที่นักดำน้ำกลับไปสำรวจโลกใต้ทะเลก็มักจะกลับขึ้นมาพร้อมกับรอยยิ้มทุกครั้ง “คนทั่วไปยากนะที่จะเจอ แต่ในวงการดำน้ำเราจะบอกกันตลอดว่า อย่าไปแตะเขา คนที่ชอบตู้ปลาเห็นความน่ารักของมันก็อยากซื้อ แต่มันเลี้ยงยาก เลี้ยงได้ไม่นานก็ตาย สู้ปล่อยให้มันอยู่ในธรรมชาติจะดีกว่า...บางอย่างเราอยากอนุรักษ์ แต่ไม่มีอะไรที่คุ้มครองเลย สัตว์บางตัวพี่ทำมานานกับอาจารย์ธรณ์(ธำรงค์นาวาสวัสดิ์) ซึ่งม้าน้ำก็อยู่ในนั้นด้วย เราพยายามผลักดันให้เป็นสัตว์อนุรักษ์ แต่ก็ไม่สำเร็จ เคยเสนอตัวใหญ่ไปไม่ได้ ก็เสนอตัวเล็กบ้างก็ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นพี่ถึงบอกว่า สำคัญอยู่ที่กรมประมง คนสำคัญคือภาครัฐ” ด้าน สหภพ ดอกแก้ว ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการอนุรักษ์ บอกว่า กรมประมงมีมาตรการที่เป็นข้อตกลงกับผู้ค้า แต่ไม่ใช่กฎหมาย คือห้ามค้าม้าน้ำที่มีความยาว 10 เซนติเมตร ทว่าความจริงแล้วมาตรการนี้ไม่ช่วยให้จำนวนการจับม้าน้ำลดลง เพราะม้าน้ำส่วนใหญ่ถูกจับด้วยความไม่ตั้งใจของชาวประมงอยู่แล้ว “ต้องอธิบายก่อนว่าม้าน้ำเป็นสัตว์น้ำพลอยจับ(by-catch species) ม้าน้ำส่วนมากจะถูกจับด้วยความไม่ตั้งใจของชาวประมง เช่นออกไปหาปลา เเล้วได้ม้าน้ำเป็นของเเถม โดยเฉพาะอวนลากซึ่งเป็นอุปกรณ์ประมงที่มีข้อมูลว่าได้ม้าน้ำมามากที่สุด แต่ไม่มีเรือลำใดออกล่าม้าน้ำอย่างเดียว เพราะไม่คุ้ม” หากเป็นแต่ก่อน ม้าน้ำที่ถูกจับได้อาจถูกโยนทิ้งกลับไปในทะเล ทว่า ในห้วงเวลาที่ “ราคา” มีผลต่อความเป็นอยู่ของทุกคนนั้น ม้าน้ำที่จับได้จึงเหมือนเป็นผลพลอยได้ที่สร้างกำไรให้กับชาวประมงมหาศาล “ความต้องการม้าน้ำไม่ได้อยู่ที่ชนิดเเต่อยู่ที่ขนาด ชนิดใดก็ได้ตลาดต้องการหมด ขนาดเล็กประมาณ 10 เซนติเมตร ราคาประมาน 4,000-5,000 บาท ส่วนตัวใหญ่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป ราคาจะสูงถึง 20,000-50,000 บาทเลยทีเดียว” อาจารย์สหภพ ให้ข้อมูล อย่างไรก็ดี มาตรการหลายๆ อย่างของกรมประมงก็ส่งผลต่อการลดการจับม้าน้ำลง เช่น การปิดอ่าว และการทำเเนวปะการังจำลอง ซึ่งเป็นปราการอย่างดีที่จะช่วยลดการใช้อวนลาก ณ บริเวณนั้นได้ สุดท้ายแล้ว แม้จะมีมาตรการห้ามปรามอย่างไร หากไม่เริ่มต้นที่การสร้าง “จิตสำนึก” ให้มนุษย์รู้จักลดการเบียดเบียนธรรมชาติลงบ้าง ถึงโทษจะหนักเข้าขั้น “ประหาร” ก็คงไม่อาจทัดทานความต้องการของมนุษย์ได้ จากคอลัมน์ Life Style น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 กรกฎาคม 2557 http://www.bangkokbiznews.com/home/d...%E0%B8%B3.html
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 18-11-2014 เมื่อ 16:44 |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|