|
#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น มีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันค่อนข้างมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน ส่วนภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปานกลาง เนื่องจากมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกตลอดช่วง ประกอบกับในช่วงวันที่ 20 ? 24 มี.ค. 66 จะมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นไว้ด้วย ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
"โรนัน" สัตว์ทะเลหายากหนักกว่า 100 กก. บาดเจ็บเกยตื้นหาดชะอำ เพขรบุรี - เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเร่งช่วยโรนัน สัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ หนักกว่า 100 กิโลกรัม บาดเจ็บเกยตื้นหาดชะอำ พร้อมนำตัวไปอนุบาลต่อที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อรักษาบาดแผลบริเวณท้องยาวกว่า 15 ซม. วันนี้ (18 มี.ค. ) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ได้รับแจ้งจาก นายพิสิษฐ์ เขียวชอุ่ม อายุ 60 ปี ชาวประมงพื้นบ้านว่าพบปลาโรนันขนาดใหญ่หาชมได้ยาก มีรูปร่างคล้ายฉลาม ลอยมาเกยหาดชะอำ จึงประสานเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 เพชรบุรี สำนักงานประมง จ.เพชรบุรี ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จังหวัดเพชรบุรี กู้ภัยสว่างสรรเพชร เข้าช่วยเหลือก่อนเดินทางไปตรวจสอบ ในที่เกิดเหตุเป็นชายหาดหน้าโรงแรมกฤษดานคร พบปลาโรนันสีดำ ขนาดใหญ่ ลำตัวยาว 2.50 เมตร กว้าง 1.20 เมตร น้ำหนักประมาณ 120 กิโลกรัม เป็นปลาที่พบเห็นได้น้อยและมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ ลอยมาเกยชายหาด ก่อนเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือ จากการตรวจสอบพบบริเวณท้องมี 1 แผล คาดว่าจะถูกของมีคมยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ก่อนเจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันพยุงตัวผลักดันปลาโรนันกลับทะเล จำนวน 3 รอบแต่ไม่เป็นผล พร้อมอนุบาลดูอาการในทะเลกว่า 5 ชั่วโมง ก่อนนำปลาโรนันขึ้นรถกลับไปอนุบาลและรักษาบาดแผลที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จังหวัดเพชรบุรี ให้หายดีก่อนนำตัวปล่อยกลับสู่ท้องทะเลต่อไป นายมนตรี หามนตรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 เพชรบุรี กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจึงนำกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือปลาโรนันที่มีขนาดใหญ่ และพบเห็นน้อยมากแถวหาดเพชรบุรี โดยได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยได้ดูแลดูอาการก่อนส่งปลาโรนันให้เจ้าหน้าที่กรมประมงไปดูแลรักษาต่อที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้หายดีก่อนปล่อยกลับลงสู่ทะเลต่อไป https://mgronline.com/local/detail/9660000025523 ****************************************************************************************************** นักวิจัยคาดพบ 'ร่องรอยเต่าว่ายน้ำ' จากยุคไทรแอสซิกตอนปลาย (แฟ้มภาพเอเอฟพี - ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา) คณะนักวิจัยนำโดยสิงลี่ต๋า จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง ได้ค้นพบร่องรอยที่อาจเป็นการว่ายน้ำของเต่าจากหมวดหินซวีเจียเหอของยุคไทรแอสซิก ตอนปลาย ในเมืองเผิงโจว มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รายงานระบุว่า ซากฟอสซิลร่องรอยนี้กว้าง 6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ปรากฏลายนิ้วเท้า 3 นิ้ว และรอยกรงเล็บยาวแหลมจนสุดปลายอย่างชัดเจน โดยคณะนักวิจัยได้ดำเนินการสแกนแบบสามมิติและเปรียบเทียบกับรอยเท้าของสัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์อื่นๆ ผลการวิเคราะห์นำสู่การอนุมานได้ว่าสัณฐานวิทยาของร่องรอยมีความคล้ายคลึงกับรอยเท้าเต่ามากที่สุด และมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้สร้างร่องรอยเหล่านี้เป็นตัวแทนกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารยุคแรก คณะนักวิจัยเสริมว่า เนื่องจากมีตัวอย่างอย่างจำกัด จึงไม่ได้แยกความเกี่ยวพันกับครอโคไดโลมอร์ฟ (Crocodylomorphs) ไดโนเสาร์กลุ่มเทโรพอด (Theropods) หรืออาร์โคซอร์ (Archosaurs) อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง การค้นพบร่องรอยเหล่านี้ช่วยเพิ่มชนิดพันธุ์สัตว์ยุคไทรแอสซิก ตอนปลาย ในเมืองเผิงโจว และบ่งชี้ว่าอาจมีซากฟอสซิลสัตว์มีกระดูกสันหลังรอการค้นพบอีกมากมาย รวมถึงมีคุณค่าต่อการศึกษาสภาพแวดล้อมยุคดึกดำบรรพ์ในท้องถิ่นอีกด้วย อนึ่ง คณะนักวิจัยได้เผยแพร่ผลการวิจัยนี้ร่วมกับคณะนักวิจัยจากออสเตรเลียและสหรัฐฯ ในวารสารฮิสตอริคัล ไบโอโลจี (Historical Biology) https://mgronline.com/china/detail/9660000024915 ****************************************************************************************************** กรมอุตุฯ ออสเตรเลียเผย เตรียมพบ "เอลนีโญรุนแรง" หลังปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีติด ได้สิ้นสุดแล้ว นักวิทยาศาสตร์ได้เผยข้อมูลสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบันว่า ปรากฏการณ์ลานีญา (La Ni?a) ครั้งล่าสุด ซึ่งได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2020 ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกติดต่อกันนานผิดปกติถึง 3 ปี ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศ ได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่าความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในแบบจำลองภูมิอากาศโลกปัจจุบัน ชี้ถึงสภาวะหยุดนิ่งเป็นกลางทางภูมิอากาศ ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นระหว่างการสลับสับเปลี่ยนไปมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ ? ลานีญา สภาวะจำลองนี้ มีหมายความว่าปรากฏการณ์ลานีญาที่ยาวนานถึง 3 ปีซ้อน ได้สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม บรรดานักอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะเกิดสภาพภูมิอากาศแบบขั้วตรงข้ามติดตามมาในไม่ช้า ซึ่งก็คือปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีความรุนแรงกว่าในอดีต โดยมีโอกาสจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ถึงกว่า 50% "แม้ยังไม่อาจทำนายได้อย่างแน่นอนว่า สภาพอากาศทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดหลังจากนี้ แต่แบบจำลองภูมิอากาศส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อาจเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น" ....ดร. นันทินี ราเมศ นักวิจัยอาวุโสด้านภัยธรรมชาติ ประจำองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) กล่าว โดยทั่วไปแล้ว เอลนีโญสามารถผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นได้อีกราว 0.2 องศาเซลเซียส จึงนับว่าเสี่ยงและหมิ่นเหม่ต่อการทำให้โลกร้อนขึ้นจนเกินขีดจำกัด ซึ่งนานาประเทศได้กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นกว่าระดับมาตรฐานในอดีตอยู่แล้วถึง 1.2 องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์เอลนีโญยังทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากน้ำทะเลในตอนกลางและทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเส้นศูนย์สูตรจะอุ่นขึ้น ส่งผลให้กระแสลมกรดในแถบนั้นเคลื่อนตัวพัดลงใต้ นำพาอากาศร้อนและแห้งไปยังแถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น โดยปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 12-18 เดือน ในแต่ละครั้ง สำหรับการเกิดลานีญาถึง 3 ปีซ้อน จัดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หาพบได้ยากมาก โดยเคยมีการบันทึกไว้เพียง 2 ครั้งในประวัติศาสตร์โลก ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1973-1976 และ 1998-2001 งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำการศึกษาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐฯ ชี้ว่าความผิดปกติของปรากฏการณ์ลานีญาเกิดจากการกระทำของมนุษย์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มากกว่าจะเป็นวงจรความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยมองว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาว จะส่งผลเอื้อให้ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งตรงข้ามกับลานีญาเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า โดยคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิกหลังจากนี้ https://mgronline.com/science/detail/9660000025379
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
ออสซี่อึ้ง! ปลาหลายล้านลอยตายเกลื่อนแม่น้ำ เซ่นพิษคลื่นร้อน ส่งกลิ่นเน่า ทำชาวบ้านไร้น้ำใช้ (Photo by Handout / Courtesy of Graeme McCrabb / AFP) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เกิดเหตุฝูงปลาจำนวนหลายล้านตัวลอยตายเกลื่อนที่แม่น้ำดาร์ลิง-บากา ในเมืองเมนินดี รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย สร้างปัญหาให้กับผู้อยู่อาศัยในเมืองดังกล่าวอย่างมาก เจ้าหน้าที่ดูแลแม่น้ำของรัฐนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่าเหตุการณ์ผิดธรรมชาตินี้เป็นผลมาจากคลื่นความร้อนที่เป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง คนท้องถิ่นกล่าวว่านี่เป็นเหตุปลาตายครั้งใหญ่ที่สุดที่เมืองเมนินดีเคยประสบมา ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันมาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน (ดีพีไอ) ของรัฐนิวเซาท์เวลส์โพสต์เฟซบุ๊กว่า คลื่นความร้อนทำให้แรงกดดันเพิ่มขึ้นในระบบที่ประสบกับสถานการณ์ที่รุนแรงจากปัญหาน้ำท่วมเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ คลื่นความร้อนได้กลายเป็นปัญหาที่พบได้ถี่มากขึ้น รุนแรงขึ้น และยาวนานขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ โดยในวันนี้ (18 มี.ค.) อุณหภูมิในเมืองเมนินดีสูงขึ้น 41 องศาเซลเซียส ขณะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเริ่มต้นขึ้น และมีแนวโน้มที่โลกจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เว้นแต่รัฐบาลทั่วโลกจะลดการปล่อยมลพิษลง แกรมี แม็กแครป ชาวเมืองเมนินดีกล่าวว่าเหตุปลาตายหลายล้านตัวครั้งนี้เป็นเรื่องที่ ?เกินจริง? มาก และเตือนว่าชาวบ้านกำลังคาดการณ์ว่าปลาอาจตายมากขึ้น เนื่องจากปลาที่เน่าเปื่อยจะลดปริมาณออกซิเจนในน้ำให้น้อยลง ดีพีไอของรัฐดังกล่าวยังระบุด้วยว่าการตายของปลา "สร้างความทุกข์ใจให้กับชุมชนท้องถิ่น" สอดคล้องกับที่แม็กแครปกล่าวว่า "คุณลองจินตนาการว่าได้ปล่อยให้ปลาตัวหนึ่งในครัวเน่าเสีย โดยที่ปิดประตูทุกบานไว้และไม่มีเครื่องปรับอากาศ แล้วเรามีปลาแบบนั้นจำนวนนับล้านตัว" แม็กแครป กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดผลกระทบต่อแม่น้ำดาร์ลิง-บากา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่คนท้องถิ่นราว 500 คนในเมืองดังกล่าวใช้อุปโภคในชีวิตประจำวัน และยังเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำเมอร์รีย์-ดาร์ลิง ซึ่งเป็นเครือข่ายแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ผู้คนก็ไม่สามารถพึ่งพาน้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าวเพื่อใช้สนองความต้องการพื้นฐาน อย่างการชำระล้างสิ่งต่างๆ รวมถึงร่างกายได้อีก ดีพีไอของรัฐนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่าจะทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลกลางเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ล่าสุด และค้นหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ปลาจำนวนมหาศาลตาย https://www.matichon.co.th/foreign/news_3879915
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
ทั่วโลกเผชิญคุณภาพอากาศแย่ "เอเชีย" ติดอันดับมลพิษรุนแรง ................ วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์ ทั่วโลกเผชิญปัญหาวิกฤตคุณภาพอากาศ แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากคุณภาพอากาศย่ำแย่กว่า 6 ล้านคน ขณะที่ภาพรวมปี 2022 พื้นที่ที่มีฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศส่วนใหญ่กระจุกตัวในแถบเอเชีย ปี 2022 เป็นอีกหนึ่งปีที่ปัญหามลพิษทางอากาศทั่วโลกอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศโลกฉบับล่าสุดที่จัดทำขึ้นโดยบริษัทติดตามคุณภาพอากาศ IQAir พบว่า เมื่อปี 2022 มีประเทศและดินแดนที่มีคุณภาพอากาศตรงตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกเพียงแค่ 13 จากทั้งหมด 131 แห่งเท่านั้น มลพิษทางอากาศยังเป็นภัยคุกคามหลักต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากคุณภาพอากาศย่ำแย่กว่า 6 ล้านคน และมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 270 ล้านล้านบาท คิดเป็นมากกว่า 6% ของ GDP โลก หลายพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ โดยพื้นที่ที่เผชิญปัญหาหนักๆ กระจุกตัวอยู่ในแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจีนและเอเชียใต้ "ละฮอร์" ของปากีสถานกลายเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลกเมื่อปี 2022 กระโดดขึ้นมามากกว่า 10 อันดับจากปีก่อนหน้า วัดความเข้มข้นของ PM2.5 ได้มากกว่า 97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือเกือบ 20 เท่าของเกณฑ์แนะนำ ซึ่งอยู่ที่ไม่เกิน 5 มคก./ลบ.ม. ขณะที่ 50 อันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดของโลก เป็นเมืองที่อยู่ในอินเดียมากถึง 39 เมือง ตามมาด้วยปากีสถาน 4 เมือง จีน 2 เมือง และในอีก 5 ประเทศ ประเทศละ 1 เมือง ส่วนสถานการณ์มลพิษในระดับประเทศ รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2022 ระบุว่า "ชาด" เป็นประเทศในแอฟริกาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ขึ้นแท่นประเทศที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดของโลก ตามมาด้วยอิรักและปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา สาเหตุหลักๆ ของปัญหามลพิษทั่วโลกมาจากปัญหาไฟป่า และการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลจากการคมนาคมขนส่งและการผลิตพลังงานต่างๆ แม้ภาพรวมของปัญหาทั้งโลกจะดีขึ้นเล็กน้อยจากความพยายามของภาครัฐและประชาชน แต่สิ่งหนึ่งที่น่ากังวล คือ โลกอาจยังไม่เห็นถึงสถานการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึงวิกฤตหมอกควันที่เกิดขึ้นในอเมริกาใต้ ตะวันออกกลางและโดยเฉพาะอย่างยิ่งแอฟริกา ว่าอาจมีการเก็บข้อมูลปัญหามลพิษไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันภูมิภาคเหล่านี้ยังขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือ โดยเฉพาะสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ความกังวลนี้สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์ของ IQAir ที่ทุกๆ ครั้งที่มีการเก็บข้อมูลในประเทศใหม่ๆ ประเทศเหล่านั้นมักจะมีมลพิษในปริมาณสูงจนติดอันดับต้นๆ ของตาราง ส่วนสถานการณ์ในอาเซียน อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงเป็นอันดับ 26 ของโลก ซึ่งถือว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน ตามมาด้วยลาว เวียดนาม เมียนมาและไทย นับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาด เป็นเรื่องธรรมดาที่มลพิษจะน้อยลง เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการคุมเข้มต่างๆ แต่ที่น่าสังเกต คือ อินโดนีเซีย เมียนมาและไทย ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้วก็ตาม ต้นตอของปัญหามลพิษในภูมิภาคนี้ หลักๆ เป็นผลพวงมาจากการทำอุตสาหกรรม ผลิตไฟฟ้า การปล่อยมลพิษจากยานพาหนะต่างๆ ไปจนถึงการเผาป่า รายงานคุณภาพอากาศโลก ระบุว่า เมื่อปี 2022 มีเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงแค่ 8 เมืองจากทั้งหมด 296 เมืองเท่านั้น ที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี-ตรงกับเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด หรือคิดเป็นเพียงแค่ 2.7% ของทั้งภูมิภาค ขณะที่ประเทศที่มีอากาศบริสุทธิ์ มีทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เกรเนดา ไอซ์แลนด์ และอีก 7 ดินแดนในแปซิฟิกและแคริบเบียน ซึ่งจากนี้ต้องจับตาว่ายุคหลังโควิด-19 จะทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศกลับมาเลวร้ายเหมือนเดิมหรือไม่ https://www.thaipbs.or.th/news/content/325615
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
หมึกยักษ์ : นักอนุรักษ์ห่วงสวัสดิภาพสัตว์ไอคิวสูง หลังสเปนจะเปิดฟาร์มแห่งแรกของโลก ................. โดย แคลร์ มาร์แชล ที่มาของภาพ,WRANGEL แผนการเปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์เพื่อการค้าแห่งแรกของโลกที่หมู่เกาะคานารีของสเปน ได้เรียกเสียงทักท้วงและคัดค้านต่อต้านอย่างเซ็งแซ่จากบรรดานักวิทยาศาสตร์และคนรักสัตว์ทั่วโลก เนื่องจากหมึกยักษ์นั้นเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาสูง และมีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างไปจากสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว เหล่านักอนุรักษ์และผู้ต้องการปกป้องสวัสดิภาพของหมึกยักษ์ต่างห่วงกังวลว่า ฟาร์มที่เพาะเลี้ยงหมึกยักษ์เพื่อส่งออกเป็นอาหารของคนทั่วโลกนั้นจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมัน ซึ่งตามปกติแล้วหมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่ออกหากินอย่างโดดเดี่ยวและท่องเที่ยวไปอย่างอิสระในทะเลลึก การเลี้ยงหมึกยักษ์นับล้านตัวในพื้นที่แคบ รวมทั้งการฆ่าหมึกยักษ์ด้วยน้ำเย็นจัดที่ทางฟาร์มเตรียมจะนำมาใช้นั้น ถือเป็นสิ่งที่โหดร้ายไร้คุณธรรมอย่างยิ่งในสายตาของพวกเขา บีบีซีได้รับเอกสารลับว่าด้วยวิธีการทำฟาร์มหมึกยักษ์ของบริษัท "นูวา เปสกาโนวา" (Nueva Pescanova) ซึ่งเป็นแผนการที่ยื่นเสนอต่อหน่วยงานกำกับดูแลด้านการประมงของหมู่เกาะคานารี โดยบีบีซีได้เอกสารฉบับนี้มาจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ Eurogroup for Animals ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการทำฟาร์มหมึกยักษ์มานานอย่างไม่ลดละ ก่อนหน้านี้การค้นหาหมึกยักษ์มาเพื่อการค้า จะต้องจับมาจากแหล่งที่อยู่ในธรรมชาติเท่านั้น โดยอาจใช้อุปกรณ์อย่างหม้อดักจับ เบ็ดตกปลา และอุปกรณ์ทำประมงชนิดต่าง ๆ ซึ่งทำกันอย่างแพร่หลายในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ภูมิภาคเอเชีย และลาตินอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างแข่งกันคิดค้นวิธีทำฟาร์มหมึกยักษ์มานานหลายสิบปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากการเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์ทำได้ยากมาก ตัวอ่อนของหมึกยักษ์จะต้องกินอาหารที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ทั้งยังต้องควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม บริษัทนูวา เปสกาโนวา ได้ประกาศความสำเร็จหลังค้นพบวิธีเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์ตั้งแต่ปี 2019 ทำให้เริ่มมีผู้คัดค้านการทำฟาร์มหมึกยักษ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตัวอย่างเช่นกลุ่มสมาชิกรัฐสภาจากรัฐวอชิงตันของสหรัฐฯ ได้เคยเสนอให้แบนการทำฟาร์มหมึกยักษ์ ตั้งแต่ยังไม่มีการก่อสร้างฟาร์มแห่งแรกของโลกเสียด้วยซ้ำ เอกสารลับที่บีบีซีได้มานั้นเผยว่า จะมีการเลี้ยงหมึกยักษ์ถึงคราวละ 1 ล้านตัว ในแทงก์บรรจุน้ำจำนวน 1,000 บ่อ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารสองชั้นของบริษัทที่เกาะแกรนคานารี โดยจะมีการเปิดให้แสงสว่างเป็นระยะ ทั้งที่หมึกยักษ์เป็นสัตว์รักสันโดษ หวงถิ่น ชอบอยู่ในที่มืด และจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่ ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์สำหรับหมึกยักษ์โดยตรง เนื่องจากเพิ่งมีการเพาะเลี้ยงในฟาร์มเป็นครั้งแรก แต่วิธีใช้น้ำเย็นจัด -3 องศาเซลเซียสฆ่าหมึกยักษ์ ก่อนที่ฟาร์มจะนำออกไปขายนั้น อาจมีปัญหาด้านจริยธรรมได้ เพราะเคยมีผลการศึกษาในปลาหลายชนิดชี้ว่า การฆ่าด้วยน้ำแข็งหรืออุณหภูมิเย็นจัดนั้นทำให้ปลาตายอย่างช้า ๆ โดยต้องทนทรมานเป็นเวลานานเกินควร องค์กรเพื่อสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) เคยออกมาระบุว่า การฆ่าด้วยน้ำเย็นจัดเป็นวิธีที่โหดร้ายทารุณซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อสวัสดิภาพของสัตว์น้ำ ด้านสภากำกับควบคุมการประมง (ASC) ซึ่งมีหน้าที่ออกใบรับรองคุณภาพอาหารทะเลก็ออกมาแถลงว่า อาจสั่งห้ามวิธีฆ่าปลาและสัตว์น้ำแบบนี้ เว้นแต่ว่าพวกมันจะถูกทำให้หมดสติเสียก่อน ปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในสหราชอาณาจักรเช่นเทสโก (Tesco) และมอร์ริสัน (Morrisons) ได้สั่งแบนสินค้าอาหารทะเลที่ใช้น้ำแข็งในการฆ่าปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ แล้ว ศ. ปีเตอร์ เซ นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธของสหราชอาณาจักร แสดงความเห็นว่า "เราไม่ควรจะปล่อยให้มีการฆ่าปลาและหมึกยักษ์ด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัด สัตว์ที่มีความเฉลียวฉลาดเหมือนแมวตัวหนึ่ง ควรได้รับการปฏิบัติที่มีมนุษยธรรมมากกว่านี้ โดยอาจเปลี่ยนมาใช้วิธีทุบหัวซึ่งทำให้ตายทันที เหมือนกับที่ชาวประมงทั่วโลกทำกันอยู่" สัตว์โลกที่รู้สุขรู้ทุกข์เหมือนกับมนุษย์ แผนการของบริษัทนูวา เปสกาโนวา ระบุว่าจะเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์เพื่อส่งออกไปยัง "ตลาดระดับสูง" ในนานาประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยจะผลิตเนื้อหมึกยักษ์ 3,000 ตันต่อปี ซึ่งในการนี้จะต้องเลี้ยงหมึกยักษ์ถึงคราวละ 1 ล้านตัวในแทงก์น้ำ ทำให้มีหมึกยักษ์ 10-15 ตัว ต้องเบียดเสียดกันอยู่ในพื้นที่แคบราว 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางบริษัทระบุว่าจะมีอัตราการตายของหมึกยักษ์ในฟาร์มเกิดขึ้นราว 10-15% รศ. โจนาธาน เบิร์ช จากสถาบัน LSE ของกรุงลอนดอนเผยว่า ผลการรวบรวมวิเคราะห์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่า 300 ชิ้น ชี้ว่าหมึกยักษ์สามารถรับรู้ความเจ็บปวดและความรู้สึกเป็นสุขเพลิดเพลินได้เหมือนกับมนุษย์ ซึ่งทำให้มีการระบุในกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ฉบับแก้ไขปี 2022 ว่าหมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิด (sentient being) และต้องได้รับการคุ้มครอง รศ. เบิร์ช แสดงความเห็นว่า "การทำฟาร์มหมึกยักษ์อย่างมีมนุษยธรรมนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เราไม่ควรจะเลี้ยงหมึกยักษ์จำนวนมากไว้ใกล้กัน เพราะจะทำให้พวกมันเครียด เกิดการขัดแย้งต่อสู้กัน ซึ่งจะนำไปสู่อัตราการตายที่สูงมาก แม้แต่อัตราการตายที่ 10-15% ที่ทางฟาร์มเสนอมาก็ยังไม่อาจยอมรับได้" อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทนูวา เปสกาโนวา ได้ออกหนังสือชี้แจงมายังบีบีซีโดยกล่าวแย้งว่า "ระดับของมาตรฐานในการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเราใช้ในการทำฟาร์มหมึกยักษ์นั้น รับประกันได้ว่าจะมีการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างถูกต้องเหมาะสม ส่วนการฆ่าหมึกยักษ์ด้วยน้ำเย็นจัดนั้น จะใช้แนวทางปฏิบัติที่หลีกเลี่ยงไม่ให้มีความเจ็บปวดทรมานเกิดขึ้น" บริษัทผู้ทำฟาร์มหมึกยักษ์แห่งแรกของโลกยังระบุว่า จะใช้อาหารแห้งที่ผลิตโดยโรงงานอุตสาหกรรมมาเลี้ยงพวกมัน ซึ่งอาหารประเภทนี้ล้วนแต่ผลิตจากของเหลือและผลพลอยได้จากการทำประมง และจะมีการสูบน้ำทะเลในบริเวณอ่าวที่อยู่ใกล้เคียงเข้ามาเติมในฟาร์มอยู่เสมอ โดยจะย้ายหมึกยักษ์ไปยังแทงก์น้ำขนาดต่าง ๆ เมื่อพวกมันโตขึ้น หลังจากเริ่มเลี้ยงหมึกยักษ์รุ่นแรกซึ่งประกอบไปด้วยตัวผู้ 70 ตัว และตัวเมีย 30 ตัว ที่มาจากศูนย์วิจัยของบริษัทในเมืองกาลิเซียทางภาคเหนือของสเปน ทางบริษัทยืนยันว่า วิธีเพาะเลี้ยงนี้สามารถทำให้หมึกยักษ์เชื่อง "เหมือนกับสัตว์เลี้ยง" โดยไม่พบการต่อสู้แย่งชิงอาหารหรือการกินพวกเดียวกันเองเกิดขึ้นระหว่างทดลองเพาะเลี้ยงเลย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม องค์กรรณรงค์เพื่อเมตตาธรรมในการทำฟาร์มทั่วโลก (CiWF) และองค์กรพิทักษ์สัตว์ Eurogroup for Animals ยังคงเรียกร้องให้หน่วยงานด้านปกครองของหมู่เกาะคานารียับยั้งโครงการก่อสร้างฟาร์มหมึกยักษ์ในทันที และขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งกำลังทบทวนกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์อยู่ในขณะนี้ พิจารณาประเด็นปัญหาในกรณีของหมึกยักษ์และแก้ไขกฎหมายโดยเร่งด่วน นอกจากนี้ยังมีความห่วงกังวลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดย CiWF เกรงว่าจะมีการปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มหมึกยักษ์ลงสู่ทะเลโดยตรง ซึ่งจะทำให้ไนโตรเจนและฟอสเฟตปริมาณมากที่หมึกยักษ์ขับถ่ายออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม แต่ทางบริษัทผู้ทำฟาร์มรับรองกับบีบีซีว่าจะมีการกรองบำบัดน้ำเสีย จนไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทยังอ้างว่า การทำฟาร์มจะช่วยอนุรักษ์จำนวนประชากรของหมึกยักษ์ในธรรมชาติ ซึ่งปกติจะถูกเรือประมงจับไปปีละราว 350,000 ตัว ซึ่งคิดเป็นปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่าตัว เมื่อเทียบกับสถิติของช่วงทศวรรษ 1950 https://www.bbc.com/thai/international-64979542
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|