|
|
Share | คำสั่งเพิ่มเติม | เรียบเรียงคำตอบ |
#1
|
||||
|
||||
มหัศจรรย์บรูด้า ในทะเลกรุงเทพฯ กับคำถามรู้ได้อย่างไร ว่าวาฬตัวไหน เป็นตัวไหน ???
มหัศจรรย์บรูด้า ในทะเลกรุงเทพฯ กับคำถามรู้ได้อย่างไร ว่าวาฬตัวไหน เป็นตัวไหน ??? ตื่นเต้น และน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ทราบข่าวการปรากฏตัวของวาฬบรูด้า มากถึง 30 ตัว ในทะเลกรุงเทพฯ ว่ากันว่า เป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่ หนึ่งเดียวในโลก ที่มีวาฬบรูด้า มากมายขนาดนี้ ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง วาฬและโลมา ของประเทศไทย บอกว่า วาฬบรูด้า หากินในน่านน้ำไทยมานานกว่า 100 ปีแล้ว หลักฐานหนึ่งคือ โครงกระดูกวาฬบรูด้า ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ที่เก็บรักษามาตั้งแต่ พ.ศ.2452 และยังสามารถพบโครงกระดูกวาฬบรูด้า และวาฬโอมูรา จำนวนมากตามวัด หรือสถานศึกษาตลอดชายฝั่งทะเล ทั้งบริเวณอ่าวไทย และอันดามัน "บริเวณที่เรามักจะพบบรูด้าคือ อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลตั้งแต่ 4-30 กิโลเมตร แต่บางครั้งก็จะว่ายเข้ามาใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยามาก เช่นปัจจุบัน เราพบที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่แหลมฟ้าผ่า บางขุนเทียน ไปถึงบริเวณ สมุทรปราการ นับรวมแล้ว น่าจะราวๆ 30 ตัว แต่เราไม่ได้พบพร้อมกันทั้ง 30 ตัวนะ เคยพบมากที่สุดน่าจะ 16 ตัว ด้วยกัน ในฐานะนักวิชาการที่ทำเรื่องนี้ ก็ตื่นเต้นพอสมควร" ดร.กาญจนาบอก แล้วรู้ได้อย่างไร ว่าวาฬตัวไหน เป็นตัวไหน ดร.กาญจนาบอกว่า ความแตกต่างของวาฬแต่ละตัว สังเกตได้ไม่ยากนัก เมื่อเจอ นักวิจัยก็จะทำเป็นโค้ตเอาไว้ แต่การทำเป็นโค้ต หรือตัวเลข อาจจะจำยาก จึงต้องตั้งเป็นชื่อที่เรียกง่ายๆ "หลักการเรียกชื่อนั้น เนื่องจากวาฬเป็นสัตว์ใหญ่ในทะเล ชาวบ้าน ชาวประมงให้ความเคารพ ถือว่าพวกเขาเป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเล การตั้งชื่อต้องให้เกียรติ ไม่มีคำหยาบ หรือเอาลักษณะด้อย เช่น ค่อม หรือ แหว่ง มาตั้ง แต่จะนำเอาลักษณะเด่น หรือสถานที่ที่พบมาตั้ง" ในจำนวน 30 ตัว ของบรูด้าที่โลดแล่นอยู่ในทะเลกรุงเทพฯยามนี้ ดร.กาญจนาบอกว่า 27 ตัวนั้น เป็นบรูด้าที่เห็นกันอยู่เป็นประจำ และถูกตั้งชื่อเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือเป็นพวกที่เพิ่งมาใหม่ ยังไม่ได้ให้โค้ต หรือตั้งชื่อ "อย่างหนึ่งคือ เราไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ตัวไหนตัวผู้ ตัวไหนตัวเมีย ดังนั้น จึงใช้ข้อสังเกตเบื้องต้นไว้ก่อนว่า วาฬตัวเมีย คือวาฬที่มีลูกอ่อนอยู่ข้าง เวลาตั้งชื่อ เราก็จะใช้แม่ นำหน้า ส่วนตัวอื่นๆ ที่ระบุเพศไม่ได้ เราจะใช้คำว่า เจ้า นำหน้า เป็นการเรียกที่สุภาพ และให้เกียรติเทพเจ้าแห่งท้องทะเล" บรูด้า 27 ตัว ที่พบและให้โค้ตเรียบร้อยแล้วเวลานี้ คือ เจ้าเฟิร์ส เจ้าสามมุข ตัวนี้เจอที่เขาสามมุก เจ้าสิงหา เจ้าเมษา เจ้าบางแสน เจอครั้งแรกที่ทะเลบางแสน เจ้าสมุทร ตัวนี้ขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาที่เจอมาทั้งหมด แม่กันยา แม่สดใส แม่สีคราม แม่ข้าวเหนียว เจ้าส้มตำ เจ้าท่าจีน เจ้าสุขใจ เจ้าสมหวัง เจ้าชัดเจน เจ้าบันเทิง เจ้าเพชร เจ้าวันดี เจ้าจ้ะเอ๋ เจ้าสีฟ้า เจ้าแตงไทย แม่แตงอ่อน แม่สาคร แม่วันสุข เจ้าธันวา เจ้าตรัย เจ้านำโชค "บรูด้าแต่ละตัว จะมีนิสัยและความน่าสนใจที่แตกต่างกันไป ในฐานะนักวิจัย ถ้าถามว่า ตัวไหนน่าสนใจที่สุด ตอบว่า น่าสนใจทุกตัว รู้สึกว่าประเทศไทยโชคดี ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีสิ่งมีชีวิตที่น่ามหัศจรรย์เช่นนี้ให้ได้ดูได้ชมกัน ดังนั้น สิ่งที่เราควรจะตระหนักก็คือ ต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด" ดร.กาญจนากล่าว เธอบอกทิ้งท้ายว่า ช่วงเวลานี้ ลมฟ้าแปรปรวน การออกไปดูบรูด้าในทะเลไม่สะดวกเพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ แต่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ลมฟ้าฝนสงบ ทัวร์ดูบรูด้าอาจจะคึกคักขึ้น ข้อควรปฏิบัติในการไปชมบรูด้าคือ หลังจากถึงจุดที่จะชมแล้ว ต้องดับเครื่องยนต์ หรือถ้าจะวิ่ง ต้องวิ่งในความเร็วต่ำ ไม่เข้าใกล้เกิน 100 เมตร กรณีมีลูก ต้องให้ห่างถึง 300 เมตร และไม่ควรให้อาหาร หรือลงไปดำน้ำเล่นกับวาฬเด็ดขาด จาก ...................... มติชน วันที่ 19 กรกฎาคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
|||
|
|||
รับทราบครับ แต่ถ้ามีโอกาสก้อยากไปชมให้เห็นกับตามาก
|
#3
|
||||
|
||||
วันหน้า...ถ้ามีโอกาส...จะชวนไปนะคะ น้อง gaf...
__________________
Saaychol |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|