เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #11  
เก่า 23-01-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,846
Default


สารพัดภัยพิบัติทุกมุมโลก : กรณีศึกษาที่คนไทยควรใส่ใจ ตอนที่ 1



เหตุการณ์ธรณีพิโรธ “แผ่นดินไหว” ระดับ 7 ริคเตอร์ ซึ่งเกิดที่ประเทศเฮติ โดยมีศูนย์กลางการเกิดอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์เมืองหลวง ทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 16 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ไร้ที่อยู่อาศัย ขาดแคลนอาหาร เป็นแสนๆ คน .....นี่ไม่เพียงเป็นภัยรุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปีของเฮติ แต่ยังเป็นแผ่นดินไหวที่เขย่าขวัญผู้คนทั่วทุกมุมโลกและสำหรับเมืองไทย-คน ไทยก็อย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว !!

ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการองค์กรศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย หรือเอดีพีซี ได้ออกมาเตือนสติคนไทยว่า เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำคัญสำหรับประเทศไทย ในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาแผ่นดินไหว โดย ดร.พิจิตตยังได้ระบุถึงเรื่อง “รอยเลื่อน” ซึ่งเกี่ยวโยงกับแผ่นดินไหว-กับเขื่อน ที่อาจสร้างโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในไทย รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาของผู้สันทัดกรณีด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้ชี้เตือนไว้ เช่น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยระบุไว้หลังการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงประมาณ 7.8 ริคเตอร์ เขย่ามณฑลเสฉวนและพื้นที่ใกล้เคียงในประเทศจีน เมื่อบ่ายวันที่ 12 พ.ค. 2551 ซึ่งเพียงถึงเช้าวันที่ 13 พ.ค. ก็มีรายงานตัวเลขพบร่างผู้เสียชีวิตกว่า 9,200 ศพ สูญหายกว่า 60,000 คน อาคาร-ที่พักอาศัยพังถล่มกว่า 500,000 หลังสะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว แม้จุดศูนย์กลางจะห่างจากไทย แต่การสั่นของรอยเปลือกโลกก็ส่งผลทำให้เกิดการกระตุ้นที่ตะแกรงรอยเลื่อนของเปลือกโลก หรือที่เรียกกันว่าแอ๊คทีฟ ฟอลท์ (Active Fault) ย่อมส่งผลกระทบกับภูมิศาสตร์กายภาพของหลายประเทศได้ด้วย ซึ่งสำหรับไทยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ คือพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นดินอ่อน มีโอกาสยุบตัวง่าย และลักษณะทางกายภาพดังว่านี้...ก็รวมถึง “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงของไทยด้วย ดังนั้น เหตุแผ่นดินไหวในประเทศอื่นๆ ไทยจึงต้องให้ความสนใจ!

ในด้านลักษณะของบ้านเรือน หรือตึกอาคารต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันอันตรายจากเหตุแผ่นดินไหว แต่ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ค่อยมีการคำนึงถึงระเบียบปฏิบัติในการออกแบบก่อสร้างเพื่อต้านแรงแผ่นดินไหวมากนัก เพราะในไทยมีประวัติเกิดแผ่นดินไหวไม่มาก ดังนั้นในเมืองไทย “บ้านยุคเก่า-ตึกยุคเก่า” จึง อยู่ในข่ายที่ต้องระวัง รวมทั้งอาคารสูงยุคใหม่ถ้ามีการคอร์รัปชั่นงบก่อสร้างก็น่าห่วงเช่นกัน !! และปัจจุบัน วิศวกรที่จบปริญญาตรีกว่า 95% ก็ไม่ได้เรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหวลึกซึ้ง ความรู้เรื่องนี้จะบรรจุอยู่ในหลักสูตรระดับปริญญาโทเท่านั้น

ซึ่งเรื่องนี้ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีก่อสร้าง-การก่อสร้างยุคใหม่ อย่างนายชาติชาย สุภัควนิช บอกว่า การก่อสร้างโครงสร้างอาคารในบ้านเราที่ผ่านๆมา มักใช้ความรู้ความชำนาญที่เป็นการคำนวณด้วยมือ จากการดูแบบพิมพ์เขียว ซึ่งการรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั้นจะใช้แต่ประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ของวิศวกรอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการคำนวณโครงสร้างอาคารด้วย จึงจะมีประสิทธิภาพ

นายชาติชายยัง ระบุด้วยว่า หากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในเมืองไทย อาคารที่เป็นตึกสูงที่ออกแบบโดยวิศวกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มักจะไม่ค่อยมีปัญหา

“ในเมืองไทยนั้น ที่มักได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมาก มักจะเป็นอาคารหรือที่อยู่อาศัยที่เป็นตึกไม่สูง สรุปก็คือโครงสร้างอาคารบ้านเรือนคนไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมรับแรงสั่นสะเทือนการเกิดแผ่นดินไหวอย่างมีประสิทธิภาพ”

ความน่าเป็นห่วงนี้ ยังอาจรวมถึง “สึนามิจากแผ่นดินไหว” อย่างที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เคยเผยแพร่เป็นบทความเกี่ยวกับ “แผ่นดินไหว-สึนามิ” ไว้ในเว็บไซต์ของศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติบางช่วงบางตอนว่า...

“ได้ทำการวิเคราะห์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด ใหญ่ (9 ริคเตอร์) ในทะเลอันดามัน (บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์) และอ่าวไทย (บริเวณทิศตะวันตกหมู่เกาะฟิลิปปินส์) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิด ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ชายฝั่งอันดามันจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547”

แต่สิ่งที่ผู้สันทัดกรณีฝากเตือนกับคนไทยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรจะมีการเตรียมการที่ดี มีแผนจัดการในภาวะฉุกเฉินรองรับภัยธรรมชาติ...และสิ่งที่คนไทยควรจะทำคือ ต้องเตรียมรับมือไว้ให้พร้อม โดยศึกษาจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ควรเป็นไปในลักษณะการตื่นตัวแต่ไม่ใช่ตื่นตระหนกตกใจจนเกินไป และ“แผ่นดินไหว”ที่เฮติ...ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาของไทยได้เป็นอย่างดี

ในตอนหน้าติดตามการพยากรณ์แผ่นดินไหวในภาวะปัจจุบัน และการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่ต้องพึงระวัง



จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 22 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #12  
เก่า 24-01-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,846
Default


สารพัดภัยพิบัติทุกมุมโลก : กรณีศึกษาที่คนไทยควรใส่ใจตอนที่ 2



ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งเรื่องตำแหน่ง ขนาด และเวลาเกิด ด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้มีความพยายามอย่างยิ่งในการศึกษาวิเคราะห์ถึงคุณลักษณะต่างๆของบริเวณแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพยากรณ์แผ่นดินไหว โดยอาศัยทั้งที่เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับหลายปัจจัยดังต่อไปนี้

คุณลักษณะทางกายภาพของเปลือกโลกที่เปลี่ยนแปลงจากปกติก่อนเกิดแผ่นดินไหว
- แรงเครียดในเปลือกโลกเพิ่มขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงสนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก สนามโน้มถ่วง
- การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก
- น้ำใต้ดิน (ชาวจีน สังเกต การเปลี่ยนแปลง ของน้ำในบ่อน้ำ 5 ประการ ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ น้ำขุ่นขึ้น มีการหมุนวนของน้ำ ระดับน้ำเปลี่ยนแปลง มีฟองอากาศ และรสขม)
- ปริมาณก๊าซเรดอน เพิ่มขึ้น
- การส่งคลื่นวิทยุความยาวคลื่นสูงๆ

การสังเกตพฤติกรรมของสัตว์หลายชนิดที่มีการรับรู้ถึงภัยก่อนเกิดแผ่นดินไหว
- แมลงสาบจำนวนมากวิ่งเพ่นพ่าน
- สุนัข เป็ด ไก่ หมู หมี ตื่นตกใจ
- หนู งู วิ่งออกมาจากรู
- ปลา กระโดดขึ้นจากผิวน้ำ ฯลฯ

สัญญาณบ่งบอกเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆในบริเวณเดียวกันหลายสิบครั้งหรือหลายร้อยครั้งในระยะเวลาสั้นๆ เป็นวันหรือในสัปดาห์ อาจเป็นสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่าตามมาได้ หรือในบางบริเวณที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่มีขนาดเท่าเทียมกัน หากบริเวณนั้นว่างเว้นช่วงเวลาการเกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปีหรือหลายร้อยปี ยิ่งมีการสะสมพลังงานที่เปลือกโลกในระยะเวลายาวนานเท่าใด การเคลื่อนตัวโดยฉับพลันเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงก็เพิ่มมากขึ้น

ถึงแม้การพยากรณ์แผ่นดินไหวในภาวะปัจจุบัน จะยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อการคาดหมายที่แม่นยำและแน่นอนขึ้น แต่การมีมาตรการป้องกันและบรรเทาพิบัติภัยแผ่นดินไหว เช่นการก่อสร้างอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรงในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงการเตรียมพร้อมที่ดีของประชาชน เช่นให้คำแนะนำถึงวิธีการเอาตัวรอดที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญควบคู่กันไปด้วย

เมื่อหันมองถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐเฮติมีผู้แสดงความเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดมหันตภัยครั้งนี้กันอย่างหลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคลที่จะหยิบยกเหตุผลมาประกอบการอธิบาย นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อธิบายถึงสัญญาณผิดปกติจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ ว่าเคยมีนักวิทยาศาสตร์ที่คิดแตกต่างกัน มองว่าการเกิดแผ่นดินไหวบนโลกทุกวันนี้เกิดจากการสะสมพลังงานจากใจกลางโลกและนอกโลก ซึ่งเป็นพลังงานที่ปลดปล่อยมาจากระบบสุริยะ คล้ายกับปรากฏการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ที่เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากความผิดปกติของการเคลื่อนตัวของระบบสุริยะที่สร้างแรงกระตุ้นให้ดาวเคราะห์ต่างๆรวมถึงโลก โดยการปลดปล่อยพลังงานแสงพลังงานสนามแม่เหล็กมายังดาวเคราะห์หลายดวง กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแสงสว่าง ทำให้โลกได้รับสนามแม่เหล็กจากการเกิด "พายุสุริยะ" หรือ "จุดดับ" ก็ส่งพลังงานจากภายนอกเข้ามามีผลต่อการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกได้

"ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ที่โลกได้รับพลังงานจากระบบสุริยะหรือจักรวาลอื่นๆ ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก อย่างกรณีที่เฮติก็เชื่อว่าเกิดจากการเรียงตัวของดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาล ที่กระตุ้นให้ดวงอาทิตย์เกิดสันดาป ปลดปล่อยสนามแม่เหล็กมาสู่โลก"

ทั้งนี้ เฮติเป็นประเทศที่ยากจนในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ต้องเผชิญกับหายนภัยครั้งรุนแรงหลายครั้งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2551 เกิดเฮอริเคน 3 ลูก และพายุโซนร้อนลูกหนึ่งถล่ม มีคนตาย 793 คน สูญหายอีกกว่า 300 คน ในปีเดียวกันนั้นยังเกิดการจลาจลเพราะราคาอาหารแพงลิบอีกด้วย

และแผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 200 ปี ที่เกิดขึ้นในเฮติ แถมยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงตามมาอีกถึง 24 ครั้ง ถือเป็นโศกนาฏกรรมกลางเมืองหลวง และเป็นปรากฏการณ์ที่รุนแรงที่สุดของมวลมนุษยชาติอีกครั้งหนึ่งได้เลยทีเดียว



จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 24 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #13  
เก่า 25-01-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,846
Default


สึนามิครั้งใหม่! คำพยากรณ์ที่ต้องรับฟัง



พลันที่คำทำนายของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ พรั่งพรูสู่สาธารณะ บอกกล่าวให้คนทั้งประเทศรับรู้ว่า มหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิจะบังเกิดขึ้นอีกครั้งในชายฝั่งอันดามันของไทย ด้วยระดับความรุนแรงที่เลวร้ายกว่าเมื่อครั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2547 อย่างเทียบกันไม่ติดนั้น

ภาพความสูญเสียของชีวิตนับไม่ถ้วนที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพรากลมหายใจไปโดยไม่ทันตั้งตัว ก็กลับมาฉายชัดย้ำเตือนคนไทยทั้งประเทศอีกครั้ง พร้อมคำถามจากประชาชนที่มีต่อประสิทธิภาพของทุ่นเตือนภัย ซึ่งเกิดปัญหาแบตเตอรี่หมด กลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ลอยเท้งเต้งอยู่กลางทะเล ซึ่งนับเป็นภาพที่ชวนสลดสังเวชไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหม่กำลังก่อตัวขึ้นจริงตามคำทำนาย


พยากรณ์คลื่นยักษ์ถล่มไทย



“สำหรับดวงเมืองของประเทศไทยในปี 2553 นี้ ถ้าดูจากการทำมุมตรึงกันของหมู่ดวงดาว ก็เป็นไปได้ที่เรื่องของอุบัติภัยนั้นย่อมเกิดขึ้นและเกิดอย่างรุนแรงด้วย”

ใช่เพียงการทำนายจากนักวิชาการในแวดวงวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา ถึงการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหม่ แต่คำทำนายทายทักจาก ภิญโญ พงศ์เจริญ นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ที่บอกกล่าวให้ทราบถึงดวงชะตาเมืองก็นับว่าสอดคล้องกันอย่างน่าตระหนก ก่อนโหรคนเดิมอธิบายเพิ่มเติมว่า อุบัติภัยร้ายแรงนั้น เกิดจากอิทธิพลของอุปราคาหรือการที่ดาวพระเคราะห์เรียงบังกัน

“โดยเฉพาะดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ ซึ่งเป็นดาวแห่งการเปลี่ยนแปลง หากดาวคู่นี้เล็งกันก็จะเกิดความโกลาหล เพราะฉะนั้นเรื่องของแผ่นดินไหวหรืออะไรต่างๆ จึงมักจะเกิดในช่วงที่ดาวพฤหัสบดีกับเสาร์ทำมุมเล็งกัน

เพราะฉะนั้นมันก็เป็นไปได้ที่ปี 2553 นี้ มันก็จะเกิดอุบัติภัยแรงๆหลายครั้ง ”

ภิญโญบอกว่า ส่วนใหญ่แล้วจะตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับการเกิดอุปราคา

“อย่างในปีนี้ จะมีอุปราคาเกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน ระวังไว้ ตอนช่วงนั้นเป็นช่วงที่อาจจะเกิดอุบัติภัยได้ ผมบอกเป็นวันเลย หรืออาจจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังก็ได้ และวันที่ 19-20-21 กรกฎาคม ตอนช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ต้องระวังให้มาก ด้วยเหตุที่ดาวอังคารไปกุมกับดาวเสาร์ ในช่วงกลางเดือน หรือมันอาจจะครอบคลุมไปถึงช่วงกลางสิงหาคมถึงต้นกันยายน”

หลังจากทราบถึงดวงชะตาเมืองที่สอดคล้องกับคำทำนายทายทักของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ซึ่งออกมาเผยว่า เห็นด้วยกับคำทำนายของกลุ่มนักวิชาการแห่งสถาบันวิจัยนิเวศวิทยาแห่งมหา วิทยาลัยอัลส์เตอร์ ไอร์แลนด์เหนือ ที่ส่งคำเตือนมาว่า อาจจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีระดับความรุนแรงที่มากกว่าเมื่อปี 2547

โดยสึนามิครั้งใหม่นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณเกาะสุมาตรา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ครั้นสอบถามไปยัง ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เราก็ได้รับคำตอบว่า

“ผมแค่กล่าวว่า เห็นด้วยกับคำเตือนของศาสตราจารย์สถาบันวิจัยนิเวศวิทยาแห่งมหาวิยาลัยอัลส์เตอร์ ไอร์แลนด์เหนือ ที่ว่าจะเกิดสึนามิในประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากว่าเปลือกโลกจุดเดิมยังมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวได้อีก” ซึ่งหากเกิดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนอีกครั้งหนึ่ง ประเทศไทยจะต้องเสียหายมากกว่าเดิม

ส่วนแนวทางการป้องกันนั้น อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวว่า

“ไม่มีใครสามารถหยุดธรรมชาติได้ สิ่งที่เราทำได้มีเพียงแต่การเตรียมพร้อมรับมือให้ดีที่สุด เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา กรมอุตุฯ เพิ่งโทร.มาหาผม ว่าไม่ควรพูดแบบนี้ เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความตระหนก แต่ผมไม่ได้พูดอะไร ผมแค่บอกว่า ผมสนับสนุนงานวิจัยของไอร์แลนด์เหนือ และทางกรมอุตุฯ ก็ออกมาบอกกับผมว่า ทางกรมนั้นมีการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเกิดเหตุขึ้นอย่างไรก็สามารถเตรียมการรับมือได้ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ทันการหากว่าไม่ระวังตัว คราวที่แล้วกรมอุตุก็ออกมาบอกแบบนี้ แล้วเป็นไง”

หลังจากตั้งถามอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ดร.สมิทธก็ย้ำทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยต้องมีระบบเตือนภัยที่ดี ซึ่งจะช่วยยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ แต่ทว่า

“ผมได้ยินมาว่า คนในพื้นที่บอกว่าทุ่นเตือนภัยก็แบตฯหมด หอเตือนภัยก็ใช้การได้ไม่หมด ทั้งนี้ ผมคงพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะโดนรัฐเขาฟ้องอยู่ ข้อหาหมิ่นประมาท”


รวมพลังต้านคลื่นลม

ไม่ว่าใครจะทำนายทายทักว่าคลื่นยักษ์กำลังจะมา หรือออกแรงคัดค้านว่าคลื่นยักษ์คงไม่เกิดขึ้นจริง แต่ความจริงประการหนึ่งก็คือ ในคราวที่สึนามิมาเยือนทะเลอันดามันของไทยเมื่อปลายปี 2547 พื้นที่ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับความเสียหายไม่น้อย และนั่นเองเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านที่นั่น เป็นกลุ่มคนที่ 'พร้อมที่สุด' ที่จะเผชิญกับสึนามิในครั้งต่อไป

ดังคำบอกกล่าวของ ชัยณรงค์ มหาแร่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่เอ่ยว่า

“สิ่งที่เราทำได้เพียงอย่างเดียว ถ้าหากจะมีการเกิดสึนามิก็คือ เราต้องอพยพให้ทัน ซึ่งจากที่เตรียมการมา คือหลังจากได้รับข่าวแล้ว เราจะใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที นำเอาคนออกจากพื้นที่ให้ได้ทั้งหมด ในคราวที่แล้วที่เกิดสึนามิมีชาวบ้านหลายคนอพยพไม่ทัน เพราะหวังจะเก็บของมีค่าออกมากับตัวด้วย แต่จะไม่เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว เรามีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี”

ชัยณรงค์ยืนยันว่า ชาวบ้านในตำบลบางม่วงได้มีการเตรียมความพร้อมกันทุกปีอยู่แล้ว โดยตั้งงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ เช่น มีการซ้อมแผนอพยพปีละสองครั้ง ซึ่งชัยณรงค์บอกว่า อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) ในพื้นที่ตำบลบางม่วงนั้นมีความเข้มแข็งมาก



“ตอนนี้เราไม่สามารถหวังพึ่งเครื่องเตือนภัยได้ เพราะที่ผ่านมาเคยมีการทดลองใช้แล้วปรากฏว่า มันไม่ดัง แต่ตอนที่ไม่ได้ทดลองมันเกิดดังขึ้นมา จนชาวบ้านไม่ได้คาดหวังแล้ว ตอนนี้ก็ต้องพึ่งตัวเองโดยการสังเกตธรรมชาติ เช่น ถ้าน้ำทะเลแห้งเร็วกว่าปกติก็คิดได้ว่าจะมีสึนามิมา

“ถามว่าเรากลัวหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าทุกคนคงกลัวหมด แต่ขั้นแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ภัยธรรมชาตินั้น เราไม่สามารถห้ามไม่ให้มันเกิดได้ แต่ถ้ามันเกิดแล้ว ก็ต้องมีแผนป้องกันตัวที่ดี ให้ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุด และสิ่งที่จะบอกเราว่า จะมีสึนามิมา นอกจากการสังเกตโดยชาวบ้านแล้ว เครื่องเตือนภัยที่ใช้การได้ก็จะเป็นสิ่งที่บอกเราอีกทางหนึ่ง”

เป็นความเห็นที่คล้ายจะสวนทางกับสภาพความเป็นจริงของหอเตือนภัยที่ใช้การไม่ได้ รวมถึงเครื่องเตือนภัยที่แบตเตอรี่หมด ทำให้ลอยเท้งเต้งอยู่บนผิวน้ำอย่างไร้ความหมาย

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #14  
เก่า 25-01-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,846
Default


สึนามิครั้งใหม่! คำพยากรณ์ที่ต้องรับฟัง (ต่อ)

เสียงจากศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ



หลังจากรับฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ที่ทุ่นเตือนภัยสึนามิแบตเตอรี่หมดและหอ เตือนภัยก็ใช้การไม่ได้รวมทั้งไม่มีผู้สนใจเข้ามาดูแลนั้น เมื่อสอบถามไปยัง วิริยะ มงคลวีระพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็ได้รับคำอธิบายว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด และตอนนี้ทางศูนย์ฯก็ได้มีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดจากที่แบตเตอรี่หมด แต่เกิดจากการที่ชาวประมงไปแกะทำให้บางส่วนของทุ่นเตือนภัยส่งสัญญาณไม่ได้ ทำให้ระบบขัดข้อง

“ตอนนี้ทางศูนย์ก็ได้เอาทุ่นตัวใหม่ไปทดแทนตัวเก่าที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 ส่วนหอเตือนภัยที่อยู่ตาม 6 จังหวัดภาคใต้ได้มีการตรวจเช็คทุกวัน และตอนนี้ผมก็ได้ลงไปตรวจแล้ว สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยได้ตามปกติทุกหอทุกจังหวัด”

นอกจากนี้ เรื่องที่มีผู้คาดการณ์ว่าอีกไม่ช้าจะเกิดสึนามิรอบสองและจะส่งผลร้ายแรงกว่าสึนามิในปี 2547 นั้น วิริยะบอกว่า ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัด เพราะแม้แต่การเกิดแผ่นดินไหวก็ยังไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และสึนามิก็เกิดจากแผ่นดินไหว เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลก รวมทั้งเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ไม่สามารถตรวจล่วงหน้าได้เลย

“การเกิดสึนามิขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลและการยุบตัวหรือยกตัวมากน้อยขนาดไหนแค่นั้นเอง ทางศูนย์ฯได้เตรียมความพร้อม คือ เมื่อเกิดสึนามิแล้ว เราเตือนประชาชนให้อพยพก่อน และถ้าอยู่นอกน่านน้ำประเทศไทยอย่างช้าที่สุดที่เราสามารถเตือนให้ประชาชนรับรู้ล่วงหน้าก่อนที่คลื่นจะถึงฝั่ง ก็คือ ภายใน 1 ชั่วโมง”


คลื่นยักษ์ที่ไร้เหตุผล



ด้วยความใคร่รู้ว่า การเกิดสึนามิ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลและการยุบตัวหรือยกตัวของเปลือกโลก เช่นที่ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวไว้หรือไม่

เราจึงหยิบข้อสงสัยนี้ไปถามไถ่กับนักธรณีวิทยาอย่าง ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ อาจารย์คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ. สงขลา หนึ่งในทีมวิจัยที่กำลังเก็บข้อมูลตะกอนในท้องทะเลไทย เพื่อค้นหาว่า ในอดีตเคยเกิดสึนามิขึ้นในไทยแล้วกี่ครั้ง ซึ่งนำไปสู่การอนุมานหาระยะเวลา ความน่าจะเป็นที่สึนามิครั้งใหม่จะเกิดขึ้น นับเป็นองค์ความรู้จากภาพอุบัติซ้ำในอดีต ที่ในเมืองไทยยังไม่มีการศึกษาวิจัยแพร่หลายนัก

และคำตอบที่ได้รับจากนักธรณีวิทยาท่านนี้ ทำให้รู้ว่าการเกิดสึนามินั้น ช่างแปรปรวนและยากจะคาดเดา

“สึนามิไม่จำเป็นต้องเกิดจากแผ่นดินไหวเสมอไป เช่น เหตุการณ์สึนามิครั้งรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นมาจากการเคลื่อนตัวหรือ 'แลนด์สไลด์' ซึ่งหมายถึงการที่ มวลภูเขาลูกหนึ่งเกิดสไลด์ลงไปในทะเลโดยฉับพลัน แบบนี้น่ากลัวมาก เพราะมันจะเกิดเป็นเมกกะสึนามิ คือ เป็นสึนามิคลื่นใหญ่มาก ซึ่งเท่าที่เคยมีในประวัติศาตร์ก็คือ การเกิดคลื่นเมกะสึนามิที่รัฐอะแลสกา ตอนนั้นมีคลื่นสึนามิสูงประมาณ 500 เมตร

"ประจักษ์พยานตอนนั้นคือชาวประมงที่กำลังตกปลาอยู่ แล้วถูกคลื่นพัดจากเขาลูกหนึ่งไปอยู่บนยอดเขาอีกลูกหนึ่งเลย สาเหตุของการเกิดสึนามิครั้งนั้น ก็เกิดจาการที่ภูเขาสไลด์ตัวลงไปในทะเล มันเป็นความเปราะบางทางชั้นธรณีของภูเขาที่ถูกแรงโน้มถ่วงของโลกฉุดดึงลงไปในฉับพลัน”

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของสึนามิยังมีที่มาจากลักษณะการเคลื่อนตัวของตะกอนใต้ทะเล ในบริเวณที่เรียกว่าไหล่ทวีป เมื่อเกิดการทับถมตัวนานๆแล้วชั้นตะกอนต้านทานแรงโน้มถ่วงไม่ไหวก็จะจมลงไป ซึ่งมวลของมันมหาศาลมาก สามารถสร้างให้เกิดคลื่นสึนามิได้เช่นกัน ยังไม่นับถึงลูกอุกกาบาต ที่ถ้าหากวันดีคืนดีมีลูกอุกาบาตตกลงไปในท้องทะเล ก็ย่อมทำให้เกิดสึนามิได้เช่นเดียวกัน

สึนามิจึงเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยทางธรรมชาติ แต่เมื่อแผ่นดินไหวก็ถือเป็นสาเหตุประการหนึ่ง การทุ่มเทเครื่องมือเพื่อตรวจหาแรงสั่นสะเทือนใต้พิภพจึงเป็นวิธีที่ใน ระเทศซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนำมาใช้สำหรับการเฝ้าระวัง ดังคำบอกเล่าจากศิวัช กระนั้นก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำ

“ทุกวันนี้ ยังไม่มีใครสามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ในต่างประเทศจะมีวิธีการทดสอบการเกิดคลื่นยักษ์โดยฝังท่อโลหะลงไปในพื้นดิน แล้วกระจายเครือข่ายและจับสัญญาณคลื่นแผ่นดินไหวจากใต้พิภพ เมื่อจับสัญญาณที่มีอยู่เพียงนิดเดียวได้แล้ว ก็จะใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์การเกิดสึนามิ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่

“เพราะฉะนั้น คำพยากรณ์ที่ว่าจะมีสึนามิรอบใหม่เกิดขึ้นนั้น ผมมองว่า มันย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คำถามที่ว่า เรามีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับมันอย่างไรต่างหาก”

ไม่ว่าสิ่งกำบังในการป้องกันสึนามิ หรือเครื่องมือในการเตือนภัย สิ่งเหล่านี้ในความเห็นของศิวัช คือ

“การรับมือด้วยวิธีที่ว่ามา ถ้าถามผม ผมว่าเรายังคงขาดหมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การฝึกให้คนทุกคนพร้อมที่จะรับมือกับสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ให้คนรู้จักระวังภัย รู้จักสังเกตระบบเตือนภัย ให้คนหนีเข้าชายฝั่งให้เร็วที่สุด เหล่านี้จะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงไปได้เยอะเลย

“นอกจากนี้ ผมอยากให้มีการบรรจุเรื่องการหนีภัย การเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติต่างๆลงไปในหลักสูตรการศึกษาของเมืองไทย เพราะทุกวันนี้เรายังไม่มีหลักสูตรว่าด้วยเรื่องของการศึกษาภัยพิบัติทางธรรมชาติสักเท่าไหร่ และไม่จำเป็นจะต้องเป็นสึนามิอย่างเดียว ควรจะมีเรื่องของแผ่นดินไหวและภาวะโลกร้อนด้วย เพราะเราจะต้องอยู่กับธรรมชาติไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ”

………......



"หากดูจากวงโคจร การตรึงและดึงดูดกันของดวงดาว ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ในปี 2553 นี้จะมีอุบัติภัยครั้งร้ายแรงเกิดขึ้น ในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม เพราะฉะนั้นแล้ว คนที่รับผิดชอบก็ฟังๆไว้บ้าง คนเขาทัก จะได้มีการเตรียมการรับมือกันได้ทัน จากที่หนักจะได้เป็นเบา"

ว่าไปแล้ว เสียงทักท้วงจากโหรภิญโญก็น่ารับฟังไม่น้อยไปกว่าตรรกะทางธรณีวิทยาหรือศาสตร์แขนงใดๆ ถ้าการรับฟังนั้น มิได้หมายถึงงมงาย แต่คือการเตรียมพร้อมรับมือกับมหันตภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 25 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #15  
เก่า 05-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,846
Default


ผ่าชะตาโลกปี "2012" สารพัดวิบัติภัยจะกระหน่ำจนสิ้นจริงหรือ?


ภาพหายนะวันสิ้นโลก ในภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก"

แม้จะลาโรงไปนานนับเดือนแล้ว แต่กระแสจากภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ยังไม่จางลง ด้วยเรื่องราวของมหันตภัยล้างโลกที่ดูสมจริง ผูกโยงด้วยดาราศาสตร์ และปริศนาคำทำนายตั้งแต่อดีตกาลที่คล้ายกับจะบอกเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ ประกอบกับภัยพิบัติรุนแรงในปัจจุบัน เรื่องนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง จนหลายคนกังวลหรือสงสัยเหลือเกินว่าปี "2012" โลกจะสิ้นจริงหรือ?

เหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ระบุว่าโลกจะถึงกาลดับสิ้นในวันที่ 21 ธ.ค. 2012 จากมหันตภัยนานาชนิดที่ถาโถม เกิดขึ้นในและทำลายล้างโลกในชั่วพริบตา ซึ่งตรงกับคำทำนายของชาวมายาเมื่อหลายพันปีก่อน และมีเหตุปัจจัยมาจากการที่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเรียงตัวเป็นแนวเดียวกัน จนทำให้สนามแม่เหล็กโลกปั่นป่วน

จริงหรือ ปฏิทินมายา ทำนายชะตาโลก?

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิชาการจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ส่วนหนึ่งมีที่มาจากปฏิทินของชาวมายา ที่มีลักษณะเป็นวงรอบซ้อนกันหลายวง โดยมีวงรอบหนึ่งที่เรียกว่า บักตุง (Baktun) แต่ละรอบมีระยะเวลา 400 ปี และวงรอบใหญ่สุดประกอบด้วย 13 บักตุง รวมเป็นระยะเวลา 5,200 ปี และวันครบรอบ 13 บักตุง ครั้งถัดไปตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. 2012

"ในอดีตที่ผ่านมา มักมีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้นกับชาวมายาเมื่อครบรอบ 13 บักตุง และคาดว่าในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน จึงมีการนำเอาไปผูกโยงเข้ากับภาพยนตร์ โดยเป็นการทำนายว่าในปี 2012 จะเป็นวันสิ้นโลก" ดร.นำชัย กล่าวในระหว่างการเสวนาเรื่อง "2012 โลกจะสิ้นจริงหรือ" ภายในงานมหกรรมหนังสือ มหิดล-พญาไทบุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 5 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 53 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

อย่างไรก็ดี ดร.นำชัย บอกอีกว่า ชาวมายาได้สร้างพีระมิดและเก็บรักษาพระศพของกษัตริย์พระองค์หนึ่งไว้ในนั้น ด้วย เพื่อว่าพระองค์จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในปี ค.ศ.4772 ซึ่งหากชาวมายามีการทำนายไว้ว่าปี 2012 เป็นปีสิ้นโลกจริงๆ ก็ไม่น่าจะมีการบันทึกไว้ว่าปี 4772 จะมีการฟื้นคืนชีพของกษัตริย์พระองค์ดังกล่าว เพราะถึงเวลานั้นโลกก็ไม่มีอะไรเหลือแล้ว


โปสเตอร์ภาพยนตร์ดัง "2012 วันสิ้นโลก" ที่ทำเอาหลายคนถึงกับสับสนว่านี่เป็นเรื่องสมมติหรือคำทำนายที่จะเกิดขึ้นจริงกันแน่

จริงหรือ ดาวเคราะห์เรียงกัน ถึงกาลสิ้นโลก?

ในภาพยนตร์ยังอ้างถึงว่า ในวันที่ 21 ธ.ค. 2012 ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจะเรียงตัวกันในแบบพิเศษ และส่งผลให้สนามแม่เหล็กโลกเกิดความปั่นป่วนและผิดปกติ จนเป็นเหตุให้เกิดมหันภัยรุนแรงและล้างโลกไปในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

"จากข้อมูลทางดาราศาสตร์บอกว่าในวันนั้นจะไม่เกิดปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เรียงตัวกันเหมือนอย่างในภาพยนตร์แน่นอน แต่ในวันอื่นๆ ดาวเคราะห์อาจโคจรมาเรียงกันได้ แต่ก็เพียงแค่ 2-3 ดวงเท่านั้น และที่ผ่านมาไม่เคยมีหลักฐานบ่งบอกว่าโลกได้รับผลกระทบจากการที่ดาวเคราะห์เรียงตัวกัน" ดร.นำชัย ชี้แจง

นักวิชาการจากไบโอเทคอธิบายต่อว่า ปกติแล้วโลกเราได้รับอิทธิพลจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นหลัก ไม่ใช่อิทธิพลจากดาวเคราะห์ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ โดยจุดดำบนดวงอาทิตย์ หรือ ซันสปอต (Sunspot) ที่มีรอบการเกิดและดับเฉลี่ยทุกๆ 11 ปี ซึ่งทำให้เกิดพายุสุริยะ และเกิดการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลกได้ และอาจกระทบต่อดาวเทียมและอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนสิ่งมีชีวิตไม่น่าจะได้รับผลกระทบด้วย ยกเว้นนกอพยพที่อาศัยสนามแม่เหล็กโลกในการเดินทาง

จริงหรือ แม่เหล็กโลกสลับขั้วในชั่วพริบตา หายนะมาเยือน?

ส่วนกรณีที่ภาพยนตร์กล่าวถึงการสลับขั้วของสนามแม่เหล็กโลกที่เกิดขึ้นในวันเดียว จนแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่กลับตาลปัตรในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และตามมาด้วยหายนะภัยพิบัติรุนแรงต่างๆ ดร.นำชัย ยืนยันว่านักวิทยาศาสตร์ไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นไปได้ ทว่าโอกาสที่แม่เหล็กโลกจะสลับขั้วกันนั้นมีแน่นอน แต่จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลานานนับแสนนับล้านปี ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นแล้วจากการที่นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานการเรียงตัวของสารแม่เหล็กอยู่ในฟอสซิลต่างๆ แต่ก็ไม่มีการบันทึกไว้ว่ามีผลต่อระบบทางชีววิทยาแต่อย่างใด

"สำหรับแผ่นเปลือกโลกนั้นมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ใช้เวลานานพอๆกัน จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน ไม่ใช่เคลื่อนที่ไปได้นับหมื่นกิโลเมตรภายในไม่กี่ชั่วโมงเหมือนในภาพยนตร์" ดร.นำชัย เผย ซึ่งเขายืนยันชัดเจนหนักแน่นว่า ในความเป็นจริงในปี 2012 โลกจะไม่สูญสิ้นไปด้วยเหตุปัจจัยที่เหมือนในภาพยนตร์อย่างแน่นอน.



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #16  
เก่า 22-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,846
Default


ถึงเวลาที่โลกต้องตระหนัก!!



26 ธันวาคม 2547 แผ่นดินไหววัดความรุนแรงได้ 9.6 ริกเตอร์ บริเวณเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ซัดถล่มชายฝั่งของหลายประเทศที่อยู่รายรอบ มหาสมุทรอินเดีย อาทิ อินโดนีเซีย ไทย อินเดีย ศรีลังกา ฯลฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 165,000 คน

2 พฤษภาคม 2551 พายุไซโคลนนาร์กิส พัดถล่มพื้นที่บริเวณปากน้ำอิระวดีของพม่า ส่งผลให้ เกิดภาวะน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม สร้างความเสียหายอย่างหนัก ตัวเลขอย่างเป็นทางการของพม่า มีผู้เสียชีวิต 22,000 คน และสูญหายอีก 41,000 คน แต่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการคาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 แสนคน

12 พฤษภาคม 2551 เกิดแผ่นดินไหว วัดความรุนแรงได้ 7.8 ริกเตอร์ ในมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้อาคารบ้านเรือนถล่ม ตัวเลขอย่างเป็นทางการซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 68,516 คน บาดเจ็บ 365,399 คน และสูญหาย 19,350 คน

ล่าสุด วันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา เหตุแผ่นดินไหว วัดความรุนแรงได้ 7.0 ริกเตอร์ ในสาธารณรัฐเฮติ เกาะแห่งหนึ่งที่อยู่ในทะเลแคริบเบียน สร้างความเสียหายให้กับประเทศนี้อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า "ล่มสลายหมดทั้งประเทศ" ตัวเลขล่าสุดที่ได้รับก่อนการปิดต้นฉบับ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 170,000 คน และมีการคาดกันว่ายังมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก

เพียง 5 ปีที่ผ่านมา โลกได้ประสบกับหายนภัยอย่างรุนแรงมานับครั้งไม่ถ้วน

4 เหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นเพียงต้วอย่างของหายนภัยที่เกิดในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก่อความเสียหาย และทำให้มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติไปแล้วถึงเกือบครึ่งล้านคน

ไม่นับรวมปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ยากจะหาคำบรรยาย ซึ่งปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ อาทิ

- พายุหลงฤดูที่ซัดกระหน่ำเกาะออสเตรเลีย

- สภาพอากาศหนาวจัดในยุโรปและมณฑลทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน

- น้ำที่ท่วมอย่างหนักจนเกิดแผ่นดินถล่มในหลายประเทศในอเมริกาใต้

- ภูเขาไฟมายอน เกิดปะทุขึ้นที่เกาะทางภาคกลางของฟิลิปปินส์

ฯลฯ

ปรากฏการณ์เหล่านี้เหมือนกับนัดหมายให้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ซึ่งเพิ่งออกฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นในภาพยนตร์หรือเรื่องจริงสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องตระหนัก คือหายนภัยอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมในโลกใบนี้ มาถึงเร็วและรุนแรงกว่าที่หลายๆคนเคยปรามาสเอาไว้

แต่ความตระหนักดังกล่าวแผ่กระจายออกไปเป็นวงกว้างหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิด?

ขณะที่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้มีการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีตัวแทนจาก 192 ชาติ มาร่วมประชุมกันที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

เป็นการประชุมเพื่อหามาตรการรองรับ หลังจากพิธีสารเกียวโตกำลังจะหมดอายุลงในอีก 2 ปีข้างหน้า

แต่ผลการประชุมคราวนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ยังต้องมีการถกเถียงกันต่อ

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมได้แสดงให้เห็นถึงท่าทีของแต่ละ ประเทศ ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกได้พอสมควร

ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกกันขึ้นมาตลอดเวลาที่มีการพูดกันถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก คือเรื่องของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยโดยตรงที่ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาในปริมาณที่มากเกินไป มีต้นเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าจากการขยายตัวของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วเกินไป จนการปลูกป่าขึ้นมาเพื่อทดแทนป่าที่สูญเสียไป ทำได้ไม่ทัน

อีกทั้งการบริโภคพลังงานที่มากเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของสังคมเมืองและเศรษฐกิจ

พลังงานที่ถูกบริโภคมากที่สุด คือพลังงานจากฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน การแสวงหาแหล่งพลังงานเหล่านี้จำเป็นต้องขุดเจาะพื้นโลก ทำให้เกิดโพลงใต้ดินและการเผาผลาญพลังงานเหล่านี้ เพื่อนำมาใช้บริโภค ก็เป็นการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาโดยตรง

หลายปีมานี้แนวคิดที่จะสรรหาแหล่งพลังงานใหม่ๆเพื่อนำมาใช้ทดแทนแหล่งพลังงานเดิมที่มาจากซากฟอสซิล จึงมีการพูดถึงกันมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการพูดเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวชั่วครั้งชั่วคราว อันเป็นผลเนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

แต่น้อยครั้งนักที่จะเป็นการพูดเพื่อสร้างความตื่นตัวในระยะยาวคือ สร้างความตระหนักให้ผู้คนคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการบริโภคพลังงานจากซากฟอสซิล

ดังจะเห็นได้จากทุกครั้งที่ราคาน้ำมันเริ่มลดลง ความตื่นตัวของผู้คนที่จะแสวงหาพลังงานใหม่ๆ ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดมาใช้ก็ลดลงตามไปด้วย

คำถามที่นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ตั้งอยู่ในใจมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ

ทำไม การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสมดุลทางธรรมชาติ และไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชน จึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระหลัก โดยไม่ต้องมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในตลาดโลกมาเป็นตัวแปร?

ทำไม การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆที่สะอาด จึงไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนทั่วโลกควรต้องตื่นตัว เพราะมองเห็นว่าการบริโภคพลังงานที่มาจากซากฟอสซิลเพียงอย่างเดียว กำลังบ่อนทำลายโลกใบนี้ไปทีละน้อยทีละน้อย?

ทำไม การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่ทั่วทั้งโลกต้องตระหนัก เพื่อป้องกัน หรือตั้งรับกับหายนภัยใหญ่ๆที่กำลังคืบคลานใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และนับวันจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น?

3 คำถามที่เกิดขึ้นข้างต้นยิ่งถูกเร่งเร้าให้รีบหาคำตอบให้ได้โดยเร็วขึ้น ทันทีที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ จนเป็นที่มาให้เราต้องเร่งทำเป็นเรื่องจากปกในฉบับนี้

ดังนั้น เรื่องปกของนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับนี้จึงอาจดูเป็นเรื่องเชิงนามธรรมหรือเป็นวิชาการไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่เราตั้งใจจะนำเสนอ แม้ว่าจะมีเวลาในการแสวงหาข้อมูลอย่างจำกัด วัตถุประสงค์ของเราขอเป็นส่วนหนึ่งหรือแค่เสียงหนึ่งที่ออกมากระตุ้นให้ผู้คนต้องตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้และออกมาร่วมกันหาคำตอบ ให้กับ 3 คำถามที่เราได้ตั้งเอาไว้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว..!!!



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #17  
เก่า 27-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,846
Default


ปะการังจะหมดโลกภายใน 100 ปี



ผลศึกษาชิ้นใหม่พบว่าแนวปะการังที่งดงามที่สุดในโลกจะตายลงภายในระยะเวลาเพียงแค่ร้อยปีเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ปริมาณกรดในทะเลที่เพิ่มขึ้น และอุณหภูมิในมหาสมุทรที่สูงขึ้นเป็นตัวการทำลายแนวปะการังอันสวยงามซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักดำน้ำ นักท่องเที่ยว และผู้รักธรรมชาติ

การตายของปะการังยังเป็นหายนะสำหรับพวกปลาและสัตว์ทะเลเขตร้อนอีกด้วย เพราะสัตว์เหล่านี้ใช้แนวปะการังเป็นที่เลี้ยงดูลูกอ่อนและแหล่งหาอาหาร

ดร.เจคอบ ซิลเวอร์แมน จาก สถาบันคาร์เนกี ในกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ บอกว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น

ผลการศึกษาของ ดร.ท่านนี้ชี้ให้เห็นว่า ปะการังจะหยุดเติบโตแล้วเริ่มแตกหักเมื่อปริมาณของก๊าซเรือนกระจกสูงแตะระดับ 2 เท่าของปริมาณที่เคยเป็นในยุคก่อนอุตสาหกรรม แล้วถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็คาดว่าแนวปะการังต่างๆจะตายลงภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้เอง

ดร.ซิลเวอร์แมนยังบอกด้วยว่า ปะการังที่สร้างแนวปะการังใต้น้ำนั้นจะมีความอ่อนไหวต่อความเป็นกรดและอุณหภูมิของน้ำทะเลที่พวกมันเติบโตอยู่สูงมาก แล้วมหาสมุทรก็ดูดซับเอาก๊าซเรือนกระจกมาจากชั้นบรรยากาศเลยทำให้มีความเป็น กรดมากตามไปด้วย

เมื่อปริมาณของกรดสูงเกินไปก็จะไปขัดขวางปะการังไม่ให้สกัดเอาแร่ธาตุจากน้ำทะเลไปสร้างแนวปะการังที่แข็งแกร่งขึ้นนั่นเอง



จาก : คม ชัด ลึก วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #18  
เก่า 28-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,846
Default


รวม 10 เหตุการณ์ ภัยธรณีพิบัติล้างโลก



หลังจากที่ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวที่เฮติ เพิ่งผ่านพ้นไปเพียงเดือนกว่าๆเท่านั้น เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา (ตามเวลาในไทย) เกิดแผ่นดินไหวที่นอกชายฝั่งเกาะโอกินาวา ทางภาคใต้ญี่ปุ่น วัดแรงสั่นทะเทือนได้ 6.9 - 7.0 ริกเตอร์

ไม่เพียงเท่านั้น ขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งที่ประเทศชิลี ก็เกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องไม่ทันข้ามวัน คราวนี้วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 8.8 ริกเตอร์ ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ธรณีพิบัติที่มีระดับความรุนแรงเป็นอันดับ 5 ในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมา ขณะที่ยอดของผู้เสียชีวิตล่าสุดตอนนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 150 รายแล้วและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หลังเกิดเหตุ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการระดมแจ้งเตือนภัยสึนามิไปยังประเทศต่างๆที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางซีกของทวีปอเมริกาเหนือและใต้, ทวีปเอเชีย รวมถึง ทวีปยุโรปบางส่วน กันจ้าละหวั่น เพื่อให้เตรียมพร้อมและรับมือกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ นับตั้งแต่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 1900 เกิดขึ้นที่ประเทศชิลี เช่นกัน โดยคราวนั้น จุดศูนย์กลางอยู่ที่ทางตอนใต้ของชิลี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 9.5 ริกเตอร์ และคร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 1,600 ราย และอีกกว่า 2 ล้านชีวิต ต้องไร้ที่อยู่อาศัย

10 อันดับ เหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่รุนแรงที่สุด ตั้งแต่ปี 1900 (จากซีเอ็นเอ็น)


อันดับ 1



สถานที่ : ทางชายฝั่งตอนใต้ของชิลี
วันที่ : 22 พฤษภาคม 1960
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 9.5 ริกเตอร์
ความเสียหาย : ผู้เสีย 1,655 ราย อีก 3,000 ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ จำนวนยอดผู้ไร้ที่อยู่อาศัย มีกว่า 2,000,000 คน


อันดับ 2



สถานที่ : ปรินซ์ วิลเลียม เซาวด์, อลาสกา
วันที่ : 28 มีนาคม 1964
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 9.2 ริกเตอร์
ความเสียหาย : มีผู้เสียชีวิต 113 ราย จากผลของสึนามิ ขณะที่อีก 15 ราย เสียชีวิตจากแผ่นดินไหว

(มีต่อ)

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #19  
เก่า 28-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,846
Default


อันดับ 3



สถานที่ : บริเวณนอกชายฝั่งตะวันตก ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา
วันที่ : 29 ธันวาคม 2004
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 9.1 ริกเตอร์
ความ เสียหาย : มีผู้เสียชีวิตกว่า 227,898 ราย (รวมผู้สูญหายและคาดว่าน่าจะเสียชีวิต) ขณะที่ ประชาชนกว่า 1.7 ล้านคน ต้องอพยพออกจากพื้นที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว และสึนามิ จากทั้งหมด 14 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ แอฟริกาตะวันออก


อันดับ 4



สถานที่ : คัมชัตกา เพนินซูลา
วันที่ : 4 พฤศจิกายน 1952
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 9.0 ริกเตอร์
ความเสียหาย : ทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต


อันดับ 5



สถานที่ : นอกชายฝั่งของ เมาเล ชิลี
วันที่ : 27 มกราคม 2010
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.8
ความเสียหาย : ยังคงอยู่ในการประเมินสถานการณ์


(มีต่อ)


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #20  
เก่า 28-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,846
Default


อันดับ 6



สถานที่ : นอกชายฝั่งของ เอกวาดอร์
วันที่ : 31 มกราคม 1906
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.8 ริกเตอร์
ความเสียหาย : ไม่มีการบันทึก


อันดับ 7



สถานที่ : เกาะแรท, อลาสกา
วันที่ : 4 กุมภาพันธ์ 1965
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.7 ริกเตอร์
ความเสียหาย : ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตและ ผู้ได้รับบาดเจ็บ


อันดับ 8



สถานที่ : ตอนเหนือเกาะสุมาตรา
วันที่ : 28 มีนาคม 2005
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.6 ริกเตอร์
ความเสียหาย : มีผู้เสียชีวิต 1,400 ราย


อันดับ 9

สถานที่ : อัสซัม, อินเดีย และ ธิเบต
วันที่ : 15 สิงหาคม 1950
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.6 ริกเตอร์​
ความเสียหาย : มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 780 ราย แต่อาจยังไม่รวมข้อมูลภายในธิเบต


อันดับ 10

สถานที่ : เกาะ อันเดรียนอฟ, อลาสกา
วันที่ : 9 มีนาคม 1957
ระดับแรงสั่นสะเทือน : 8.6 ริกเตอร์
ความเสียหาย : ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่มีทรัพย์ได้รับความเสียหายจำนวนมาก



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:38


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger