เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 26-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังปานกลาง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 26 - 27 พ.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมปกคลุมประเทศลาวตอนบน ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 28 ? 31 พ.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย โดยเฉพาะในช่วง 28 ? 31 พ.ค.









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 26-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


โควิดเป็นเหตุ!! ฝูงปูก้ามดาบนับหมื่นตัว โผล่โชว์สีสันที่อ่าวน้ำ

ภาพของฝูงปูก้ามดาบหลากหลายสีสัน โผล่ออกมาจากรู หลังน้ำทะเลลด บริเวณอ่าวน้ำ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีสาเหตุจากล็อกดาวน์ทำให้ชายหาดไม่ถูกรบกวน



เมื่อเร็วๆ นี้ นิวัฒน์ วัฒนยมนายม กรรมการที่ปรึกษาหน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ ได้ลงสำรวจบริเวณชายหาดอ่าวน้ำ เพื่อเก็บภาพนำเสนอด้านการท่องเที่ยวของท้องถิ่นให้ผู้คนได้ชื่นชม กล่าวว่า

"ปัจจุบันปูก้ามดาบ หรือปูทหารที่ชาวบ้านเรียกกันนั้น พบเห็นได้ไม่กี่ชายหาดแล้ว สาเหตุมาจากการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ได้ไปรบกวนฝูงปูจนไม่มีที่อยู่ จนเหลือเพียงแค่ชายหาดในท้องถิ่นที่ยังไม่ถูกรบกวน"

ถือว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ที่ยังมีปูก้ามดาบออกมาหากิน ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยพบพวกมัน เพราะคนเข้าไปรบกวนฝูงปูจนไม่มีที่อยู่ ซึ่งทำให้เห็นว่าการอนุรักษ์สามารถทำได้ไปพร้อมกับการท่องเที่ยวได้ คาดว่าหลังคลายล็อกโควิดจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น จำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการให้ดีเพื่อให้คนได้เห็นภาพของธรรมชาติที่งดงามแบบนี้



ปูก้ามดาบคือตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน

หากที่ใดมีความสมดุลทั้งดิน น้ำ และพรรณไม้ ก็จะมีปูก้ามดาบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ถ้าจะเปรียบ "นกเงือก" คือดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ทางชีวภาพของผืนป่า "ปูก้ามดาบ" ก็คือตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน เพราะหากที่ใดมีความสมดุลทั้งดิน น้ำ และพรรณไม้ก็จะมีปูก้ามดาบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ปูก้ามดาบ หรือ ปูเปี้ยว (Fiddler crabs, Ghost crabs) เป็นปูทะเลขนาดเล็ก มีลักษณะกระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ก้านตายาว กระดองมีสีสันสวยงาม เช่นสีแดง สีฟ้า สีเหลือง สีเทาอมดำ โดยเฉาะตัวผู้จะมีก้ามข้างหนึ่งใหญ่มาก บางชนิดมีขนาดใหญ่และยาวพอๆ กับกระดองเลยทีเดียว ลักษณะเด่นดังกล่าวเลยกลายที่มาของชื่อเรียก ปูก้ามดาบ ซึ่งก้ามของปูตัวผู้เหล่านี้ จะใช้เป็นอาวุธโบกไปมาเพื่อข่มขู่ศัตรูหรือผู้บุกรุกที่เข้ามาในเขตอาณาเขตของมัน และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเอาไว้เรียกร้องความสนใจจากตัวเมียในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ขณะที่ปูตัวเมียก้ามทั้ง 2 ข้างจะมีขนาดเล็กเท่ากัน

ปูก้ามดาบ แม้ไม่ถูกจัดให้เป็นเมนูอาหารทะเลเช่นปูชนิดอื่น แต่ก็เสี่ยงที่จะถูกคุกคามเนื่องจากมีคนนิยมจับไปเลี้ยงกันมากเพราะความสวยงามแปลกตา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ จึงต้องเข้ามาบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างจิตสำนึกและอนุรักษ์ปูก้ามดาบเหล่านี้ให้คงอยู่ โดยเฉพาะการรักษาสภาพป่าโกงกางให้ให้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด เพราะปูก้ามดาบ คือหนึ่งในดัชนีชีวัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลนที่สำคัญ

ข้อมูลอ้างอิง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000054175

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 26-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


"ศักดิ์อนันต์" แนะ ทช. ระงับการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นม่วงงาม จ.สงขลา

ชี้ มีอำนาจตาม พรบ. บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง



อาจารย์ศักอนันต์ ปลาทอง ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในฐานะที่ปรึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้โพสต์เฟสบุ๊คอธิบายถึงอำนาจในการระงับโครงการฯ ว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 3 ได้บัญญัติคำว่าหาดไว้ ในนิยามของ"ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" และมาตรา 17 ได้ระบุว่า หากมีบุคคลใดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย มีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นระงับการกระทำหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรฯ นั้นเป็นการชั่วคราวตามความเหมาะสม

ในกรณีของโครงการเขื่อนกันคลื่นบริเวณหาดม่วงงาม อ. สิงหนคร จ. สงขลา อาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าวว่า ผู้รับเหมาดำเนินการสร้างกำแพงคอนกรีตกันคลื่นแบบขั้นบันได ซึ่งในทางวิชาการถือว่า มีการขุดทำลายชายหาดให้สูญสภาพไปทั้งโครงสร้างสัณฐานชายหาด ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในเชิงนิเวศในการปกป้องชายฝั่งและการสันทนาการ จึงถือเป็นการสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อหาด ซึ่งจัดเป็นทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามที่กฎหมายบัญญัติ

อาจารย์ศักดิ์อนันต์แสดงความคิดเห็นว่า อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ย่อมมีอำนาจสั่งการให้ผู้รับเหมานั้นระงับการกระทำดังกล่าว และแจ้งประสานงานกรมโยธาธิการและผังเมืองโดยมิชักช้า เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

"คำถามของผม คือ การดำเนินการดังกล่าว สร้างความเสียหายร้ายแรงเพียงพอที่ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะใช้อำนาจหรือยัง" อาจารย์ศักดิ์อนันต์ตั้งข้อสังเกต




โครงการเขื่อนกั้นคลื่นหาดม่วงงาม

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนกั้นคลื่นบริเวณหาดม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ได้มีการเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่ต้นปี 2561 เพื่อรวบรวมข้อมูลรายงานต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการให้รับรู้ถึงปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมทั้งข้อมูลในเชิงพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ และเพื่อหาข้อสรุปผลการศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นตลอดแนวชายหาดป้องกันปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อนำไปประกอบการจัดทำแผนโครงการก่อสร้างฯ

นายผดุงเดช ลือปิยะพาณิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลาเคยกล่าวในการประชุมว่า โครงการดังกล่าว จะสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีและกินพื้นที่หาดเข้ามาเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังจะช่วยป้องกันอาคารบ้านเรือนและส่วนราชการที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว และช่วยเสริมให้ทัศนียภาพของหาดมีความสวยงามมากขึ้นเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ

จากข้อมูลของกรมฯ รูปแบบของการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นในบริเวณดังกล่าว จะเป็นเขื่อนคอนกรีตแบบขั้นบันไดเสริมเหล็กความยาว 630 เมตร โดยมีสันเขื่อนกว้าง 3.5 เมตร ซึ่งจะก่อสร้างบนชายฝั่งตลอดแนวชายหาดของพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม

นอกจากนี้ นายผดุงเดชได้กล่าวผ่านสื่ออีกว่า จะมีการปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ พร้อมกับออกแบบให้มีบันไดขึ้นลงชายหาด ทางลาดสำหรับผู้พิการ และทางลาดให้เรือขนาดเล็กขึ้นลงชายหาด ซึ่งจะทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ อีกทั้งยังจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ ใช้ออกกำลังกาย หรือพัฒนาให้เป็นที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย




คัดค้าน

อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่บางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับโครงการ และมีการยกระดับการคัดค้านเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา โดpตัดสินใจจะจัดกิจกรรมเพื่อเเสดงพลังของประชาชนม่วงงามในการคัดค้านโครงการดังกล่าวในวันที่เสาร์ที่ผ่านมา

แต่เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางตำรวจภูธรม่วงงามไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม ทำให้ตัวเเทนฯ ประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรม ก่อนที่แนวร่วม Beach for life สานต่อกิจกรรมทางโลกออนไลน์ โดยเชิญชวนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ร่วม mob from home ในช่วงวันอาทิตย์แทน เนื่องจากเห็นว่า การเเสดงออกในสิทธิเเละเสรีภาพของประชาชนในการป้องกันหาดทรายนั้น ถือเป็นการสิทธิที่สามารถกระทำได้ และการอ้างการใช้ พรก.บริหารราชการฉุกเฉิน เพื่อจำกัดสิทธิของประชาชนในการปกป้องฐานทรัพยากร ตามเจตนารมณ์เเห่งรัฐธรรมนูญนั้น ถือการเป็นคุกคามสิทธิเเละเสรีภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ ได้มีประชาชนในพื้นที่บางส่วนได้ออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญญลักษณ์ อาทิ การติดตั้งงานศิลปะและป้ายคัดค้าน ซึ่งเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยบริเวณชายหาด โดยมีตำรวจคอยดูแลสถานการณ์

เครือข่ายประชาชนรักหาดม่วงงาม ได้ออกแถลงการณ์โดยกล่าวว่า เครือข่ายฯ และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงมีความประสงค์ในการรักษาชายหาดม่วงงามให้คงเป็นหาดทราย เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

แต่จากการดำเนินโครงการฯ ประชาชนในพื้นที่ม่วงงามมีความห่วงกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านเหนือโครงการ การสูญเสียพื้นที่หาดทรายไปอย่างถาวรหลังจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น รวมไปถึงกังวลว่าโครงการดังกล่าว จะทำให้วิถีชีวิตประมงริมชายฝั่งม่วงงามและการพักผ่อนหย่อนใจริมชายหาด ไม่สามารถดำเนินได้ตามปกติ

ทางเครือข่ายฯ อ้างอิงถึงบทเรียนการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ชายฝั่งทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งพบว่า ที่ใดมีกำแพงกันคลื่น จะทำให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในด้านเหนือ และประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดได้

ความห่วงกังวลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประชาชนม่วงงาม ได้ร้องเรียนความกังวลและความเดือดเสียหายไปยังหน่วยงานเจ้าของโครงการ ผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านศูนย์ดำรงธรรม และได้ยืนฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อให้ยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว แต่ยังไม่ปรากฎความคืบหน้าตามประสงค์

ประชาชนม่วงงามจึงรวมตัวกันเพื่อแสดงพลังคัดค้านการดำเนินโครงการ แม้จะไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ แต่ตัวแทนเครือข่ายฯ ยืนยันที่จะแสดงพลัง รวมทั้งการดำเนินการผ่านสื่อออนไลน์เพื่อแสดงเจตจำนงในการรักษาหาดทรายม่วงงามต่อไป




นโยบายล่าสุด

ในช่วงเวลาไล่ๆกัน คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ได้จัดประชุมโดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) โดยที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับ ร่างรายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2561, ร่างระบบกลุ่มหาดประเทศไทย, หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง, และร่างประกาศกระทรวงกำหนดพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ตามมาตรา 21 ของ พรบ. บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จากการเปิดเผยของ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หนึ่งในคณะกรรมการฯ, ทาง กก. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการควบคุมดูแลการสร้างสิ่งก่อสร้างป้องกันชายหาด ซึ่งเริ่มปรากฏการก่อสร้างอย่างแพร่หลายในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา โดยในอดีตจะมีการประเมินผบกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คอยกำกับการก่อสร้างริมฝั่งหรือในทะเลที่มีความยาวเกิน 200 เมตร แต่ในปี 2556 ได้ถูกยกเลิกไปโดย ทส. ในสมัยนั้น แม้จะเกิดผลกระทบตามมา ดั่งที่ถูกรายงานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การก่อสร้างเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ลุกลามไปเรื่อย เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ฯลฯ

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีการหยิบยกการกำกับดูแลการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง จนเกิดเป็นมติในการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งอาจารย์ธรณ์ ระบุว่า "คือการรื้อระบบทั้งหมด"

โดยในช่วงปี 2561 ทางครม. ได้มีมติรับทราบแนวทางป้องกันและแก้ไขกัดเซาะที่ได้มีการลงพื้นที่ไปสำรวจของคณะทำงานด้านวิชาการ รวมทั้งอาจารย์ศักดิ์อนันต์ นำมาสู่การจัดทำกลุ่มหาด และที่สำคัญคือ ร่างประกาศกระทรวงให้พื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งเป็นเขตมาตรการป้องกันการกัดเซาะ อาจารย์ ธรณ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการห้ามมิให้มีการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่น/เขื่อนป้องกันตลิ่ง เว้นแต่จัดทำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมคือ การทำ Enviromemtal Checklist เพื่อขออนุญาตจากอธิบดีกรม ทช.

"หมายถึงว่า เรากำลังจะมีอะไรบางอย่างมาดูแลการก่อสร้างประเภทนี้ทั้งหมด ไม่ใช่ให้สร้างไปก่อน พอบางแห่งเกิดปัญหาก็มาวุ่นวาย เหมือนที่่เคยเกิดมาตลอดในช่วง 6-7 ปี และพอสร้างไปแล้วก็ยากต่อการแก้ไขหรือหยุดยั้ง เพราะกม.ไม่เปิดช่อง หรือเปิดไว้ก็นิดเดียว ยากที่จะเกิดผลปฏิบัติได้"

"และยังมีอีกหลายกระบวนการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ต้องไปใช้เป็นแนวทางต่อเนื่องถึงสำนักงบประมาณ ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าห้ามสร้าง แต่ก่อนสร้างต้องมีการพิจารณาว่าควรไหมโดยทำอย่างรอบคอบ และ ทช. จะมีอำนาจในการพิจารณา นี่คือการแก้ไขแบบมองไปข้างหน้าจนครบ ปิดแก๊ปที่เราเคยมีมาในอดีต"

"การวิ่งวุ่นไปทุกทิศทาง เป็นข่าวหาดนี้ ต่อไปหาดนั้นหาดโน้น มันมองไม่เห็นจุดจบ แต่ตอนนี้เรากำลังจะมีประกาศฉบับนั้น กำลังจะมีจุดจบ" ดร.ธรณ์ กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะเป็นกระบวนการนำเข้าพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี ก่อนจะออกมาเป็นประกาศกระทรวงบังคับใช้ต่อไป


https://www.bangkokbiznews.com/news/...paign=hotclips

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 26-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


แม้ฝุ่น PM 2.5 ในหลายเมืองทั่วโลกลดลงในช่วง Lockdown แต่วิกฤตมลพิษทางอากาศอาจกลับมาหลังช่วง Covid -19

จากสถานการณ์การปิดเมืองลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์คุณภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงครั้งที่ใหญ่ที่สุดเลยทีเดียว เนื่องจากมีการรายงานถึงสภาพอากาศที่ดีขึ้น หลังอุตสาหกรรมในเมืองหลาย ๆ เมืองหยุดชะงักไปรวมทั้งการคมนาคม

รายงานวิจัยโดย IQAir ได้เปรียบเทียบการวัดมลพิษทางอากาศในหลายประเทศที่มีคุณภาพอากาศเป็นพิษมากที่สุดในโลก โดยการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ใน 10 ประเทศทั่วโลกที่มีคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุด


เนื้อหาโดยสรุป

- รายงานวิจัยโดย IQAir ระบุว่ามลพิษทางอากาศใน 10 เมืองทั่วโลกลดลงในช่วงที่มีมาตรการ Lockdown

- รายงานวิเคราะห์ถึงระดับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ถูกวัดระดับจากสถานีใน 10 เมือง ข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บรวบรวมในช่วง 3 สัปดาห์ในระหว่างที่เมืองต่าง ๆ ถูกปิด และเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2562, 2561, 2560 และ 2559 ตามลำดับ

- เมืองที่เคยถูกบันทึกไว้ว่ามีปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 สูง มีปริมาณฝุ่นละอองลดลงอย่างชัด เช่น ในกรุงเดลีมีปริมาณ PM2.5 ลดลง -60% กรุงโซลลดลง -54% และอู่ฮั่นลดลง -44%

- ข้อมูลดาวเทียมของนาซ่าและองค์การอวกาศยุโรปชี้ชัดว่า หากเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในช่วงเดือนมกราคม ? มีนาคมที่ผ่านมา ระดับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่มีสาเหตุมาจากการปล่อยควันของท่อไอเสียรถยนต์ รถโดยสาร และกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด

- แม้ว่าผลของรายงานจะระบุถึงคุณภาพอากาศในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หลังจากการฟื้นตัวหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มลพิษทางอากาศกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งเช่นในจีน ที่มีรายงานว่าคุณภาพอากาศแย่ลงอีกครั้งหลังผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้นักวิจัยแสดงความกังวลว่าหลังจากเศรษฐกิจที่ซบเซาลงเนื่องจากวิกฤตไวรัส หลังจากนี้จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าเดิมและอาจทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

- หลังจากวิกฤตไวรัสครั้งนี้คือโอกาสที่จะทำให้เราทบทวนกันอีกครั้งถึงการสร้างเศรษฐกิจที่ดีบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเรา
การตรวจวัดในรายงานฉบับนี้เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่ง 10 เมืองในประเทศทั่วโลกนี้ได้แก่ กรุงเดลี, กรุงลอนดอน, ลอส แองเจลิส, มิลาน, มุมไบ, มหานครนิวยอร์ก, โรม, เซาท์ เปาโล, กรุงโซล และอู่ฮั่น การวิจัยครั้งนี้พบว่าฝุ่นละออง PM 2.5 ลดลงในปริมาณมากในหลายเมืองทั่วโลกระหว่างที่ปิดเมือง


บรรยากาศของทัชมาฮาลที่ถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษทางอากาศ ? Vinit Gupta / Greenpeace

รายงานวิเคราะห์ถึงระดับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ถูกวัดระดับจากสถานีใน 10 เมืองดังกล่าว ข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บรวบรวมในช่วง 3 สัปดาห์ในระหว่างที่เมืองต่าง ๆ ถูกปิด จากนั้นก็ได้เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2562, 2561, 2560 และ 2559 ตามลำดับ โดยเหตุผลที่มีการเปรียบเทียบกับปีต่าง ๆ นั้นเนื่องจากการวัดคุณภาพอากาศมักมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องเปรียบเทียบเช่นสภาพอากาศ ฤดูกาล เป็นต้น สำหรับระยะเวลาที่กำหนดไว้ 3 สัปดาห์สะท้อนถึงช่วงเวลาที่มาตรการการปิดเมืองในแต่ละเมืองมีเข้มข้นมากที่สุด หรือเป็นช่วงระหว่างการปิดเมืองอย่างเช่นในอู่ฮั่นที่เป็นช่วงพีคที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก


ข้อสรุปของรายงานมีดังนี้

? 9 ใน 10 เมืองที่มีการสำรวจพบว่าปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ.2562

? เมืองที่เคยถูกบันทึกไว้ว่ามีปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 สูง มีปริมาณฝุ่นละอองลดลงอย่างชัด เช่น ในกรุงเดลีมีปริมาณ PM2.5 ลดลง -60% กรุงโซลลดลง -54% และอู่ฮั่นลดลง -44%

? ระหว่างที่เมืองอู่ฮั่นถูกปิดเป็นเวลา 10 สัปดาห์ รายงานระบว่าเมืองมีคุณภาพอากาศดีที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม เท่าที่เคยบันทึกมา

? ผลจากการปิดเมืองในช่วงที่ 1 ระดับความอันตรายของคุณภาพอากาศในกรุงเดลีที่วัดค่ารายชั่วโมงลดลงจาก 68% ในปี 2562 เป็น 17% ในปีนี้

?ลอส แองเจลิส มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้

ทั้งนี้ จากข้อมูลดาวเทียมของนาซ่าและองค์การอวกาศยุโรปชี้ชัดว่า หากเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในช่วงเดือนมกราคม ? มีนาคมที่ผ่านมา ระดับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่มีสาเหตุมาจากการปล่อยควันของท่อไอเสียรถยนต์ รถโดยสาร และกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด


นักกิจกรรมของกรีนพีซ อินเดีย ถือป้ายที่มีข้อความ "Our lungs need a clean air action plan" เพื่อเรียกร้องกับภาครัฐในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในอินเดีย ? Saagnik Paul / Greenpeace

แม้ว่าผลของรายงานจะระบุถึงคุณภาพอากาศในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หลังจากการฟื้นตัวหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มลพิษทางอากาศกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งเช่นในจีน ที่มีรายงานว่าคุณภาพอากาศแย่ลงอีกครั้งหลังผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งมลพิษทางอากาศกลับมามีแนวโน้มมาจากกิจกรรมของอุตสาหกรรม นักวิจัยแสดงความกังวลต่อสิ่งที่เกิดนี้เพราะหลังจากเศรษฐกิจที่ซบเซาลงเนื่องจากวิกฤตไวรัส หลังจากนี้จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าเดิมและอาจทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มยกเลิกประกาศปิดเมือง ทำให้ผู้คนกลับมาสัญจรใช้รถยนต์และระบบขนส่งมวลชนกันตามปกติ Paul Monks ศาสตราจารย์ด้านมลพิษทางอากาศของ University of Leicester กล่าวว่า ในช่วงการประกาศล็อคดาวน์ไม่แปลกที่คุณภาพอากาศทั่วโลกจะดีขึ้น แต่ในเวลาต่อมาเมื่อทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ทำให้มลพิษทางอากาศกลับมาเข้าขั้นวิกฤตเหมือนเดิม ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเร่งแก้ไข และไม่สามารถเพิกเฉยได้


ประชาชนถือป้ายที่มีข้อความว่า "Need Fresh Air" เรียกร้องให้รัฐบาลลงมือจัดการกับปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยอย่างจริงจังและเร่งด่วน ? Wason Wanichakorn / Greenpeace

ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควร "กลับไปสู่ความปกติเดิม" อย่างที่เคยเป็นได้อีกต่อไป เพราะความ "ปกติ" ที่เราเคยใช้ชีวิตอยู่นั้นอันตรายต่อเราและสิ่งแวดล้อม หลังจากวิกฤตไวรัสครั้งนี้คือโอกาสที่จะทำให้เราทบทวนกันอีกครั้งถึงการสร้างเศรษฐกิจที่ดีบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเรา

จะดีกว่าหรือไม่หากเราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจากรากฐานชุมชน สนับสนุนผู้คนแทนการสนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นผู้ก่อมลพิษหลัก


https://www.greenpeace.org/thailand/...ckdown-cities/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 19:44


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger