เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #101  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


คม ชัด ลึก
8-07-15


ต้องหยุดประมงทำลายล้างเด็ดขาด ...................... สัมภาษณ์พิเศษ บรรจง นะแส



บนสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมประมงไทยกำลังเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ ด้านหนึ่งถูกกดดันจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่บังคับให้เราต้องทำประมงตามกฎเกณฑ์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งกลับถูกต่อต้านจากกลุ่มเรือประมงที่ยังปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จนกลายสภาพเป็นเรือผิดกฎหมาย ทำให้คนไทยต้องจมอยู่กับความตื่นตระหนกว่าอาหารทะเลจะขาดแคลนมานานกว่า 1 สัปดาห์ ในมุมมองของนักอนุรักษ์ธรรมชาติ มองวิกฤตินี้อย่างไร บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเล ถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์ไว้น่าสนใจยิ่ง


0 มองสถานการณ์ประมงไทยภายใต้กฎหมายใหม่อย่างไร

ผมว่าเป็นกลไกการต่อรองปกติที่ทุกสาขาอาชีพพยายามรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ที่ผ่านๆ มากลุ่มประมงพาณิชย์เคยชนะมาแล้วอย่างน้อยก็ 5 ครั้ง ในการกดดันให้รัฐต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของตัวเอง คือนิรโทษกรรมให้แก่การทำการประมงผิดกฎหมาย ประเทศเราเลยแก้ปัญหาการทำการประมงที่เกินศักยภาพของทะเล (over fishing) ไม่ได้เสียที ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเล ความล่มสลายของอาชีพชุมชน ประมงชายฝั่งจึงปรากฏแก่สายตาของเราอยู่ทุกวันนี้

แต่ครั้งนี้มีปัจจัยที่เหนือกว่ากลไกการเมืองและระบบราชการ คือการกดดันจากมาตรการของอียู ซึ่งกระทบต่ออีกกลุ่มที่มีผลประโยชน์ที่ก้ำกึ่งกัน คือธุรกิจส่งออกอาหารทะเลไปตลาดอียู ซึ่งบางกลุ่มไม่ได้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มประมงพาณิชย์ เพราะพวกเขาจะสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลหากอียูให้ใบแดงและพวกเขาจะไม่ยอมเด็ดขาด นี่ต่างหากที่ทำให้กลุ่มประมงพาณิชย์ที่กำลังหยุดเรือประท้วงอยู่อาจจะไม่มีกำลังมากพอที่จะกดดันรัฐบาลได้เหมือนในอดีตที่ผ่านๆ มา และอาจจะต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด


0 เครื่องมือทำลายล้างแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อทรัพยากร แต่อีกแง่มุมอาจมองว่า มันคือ “เศรษฐกิจ”

เราต้องมองให้กว้างว่า ”เศรษฐกิจ” ในระดับไหน และมองไปในอนาคตว่า เราจะเอาอย่างไร จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด หรือผ่าตัดเพื่อสิ่งที่ดีและยั่งยืน สำหรับประเทศในอนาคต ปัญหาหนึ่งที่สำคัญสำหรับสังคมเราคือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ว่านั้น มันได้กระจายอย่างเป็นธรรมต่อผู้คนในสังคม

กรณีเรื่องประมงที่ใช้ฐานทรัพยากรจากทะเลร่วมกัน เราจะพบว่า 85% คือชาวประมงพื้นบ้าน ส่วนที่ประท้วงกันอยู่เป็นประชากรแค่ 15% ของชาวประมง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยพวกเขา เพียงแต่โอกาสนี้เป็นโอกาสของการปฏิรูปประเทศที่สังคมไทยมีปัญหาหมักหมมหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นต้องเอาข้อมูล ข้อเท็จจริงที่รอบด้านออกมาหงาย ไม่ว่าข้อมูลทางฐานทรัพยากร สถิตการนำเข้า ส่งออก ธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการประมง เมื่อทุกอย่างถูกหงายขึ้นมาก็จะทำให้เราตัดสินใจได้ว่าการคำนึงถึงเศรษฐกิจเฉพาะหน้ากับการจะต้องเสียสละเพื่อการตั้งหลักสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนจะเลือกอย่างไหน


0คุณค่าของประมงพื้นบ้านกำลังถูกเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น เครือข่ายประมงพื้นบ้านควรรักษาตัวตนของเขาอย่างไร

อาชีพประมงพื้นบ้านก็เหมือนกับเกษตรกรอื่นๆ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน แต่สังคมให้ความสำคัญน้อยและถูกรุกคืบ แย่งพื้นที่ หรือความอยู่รอดในการสืบทอดวิถีของตัวเองให้เข้มแข็ง ให้มีศักดิ์ศรี มันถดถอยลงไปทุกวัน การจัดตั้งคือหัวใจที่จะทำให้อาชีพของตัวเองอยู่ได้

ในชุมชนประมงพื้นบ้าน สมาคมรักษ์ทะเลไทยร่วมทำงานกันมากว่า 30ปี เราพบว่าการจัดตั้งองค์กรของเขาให้เข้มแข็ง ให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด ให้ผู้นำสามารถนำเสนอปัญหาและทางออกของปัญหาที่เขาเผชิญหน้าอยู่ต่อส่วนต่างๆ ในสังคมได้ ในขณะเดียวกันก็มีปฏิบัติการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร การทำบ้านปลา ธนาคารปู ปลูกป่าชายเลน สร้างเขตอนุรักษ์ เป็นต้น

ตอนนี้ประมงพื้นบ้านขยับตัวสู่การเชื่อมต่อกับผู้บริโภคจากจุดเล็กๆและขยายพื้นที่มากขึ้น เรามีร้านคนจับปลาหลายสาขา มีแพปลาชุมชนที่เกิดจากระดมทุนกันเองภายในชุมชน การรักษาตัวตนของอาชีพประมงพื้นบ้านที่กำลังก่อตัวและขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ การรักษาตัวตนของเขาก็คือการรักษาฐานอาชีพและพัฒนาองค์กรของเขาให้เข้มแข็งและขยายพื้นที่ออกไปให้ครอบคลุมพี่น้องชุมชนชายฝั่ง ซึ่งมีหัวอกเดียวกันในทั่วชายฝั่ง นี่คือทิศทางครับ


0 อียูมีอิทธิพลต่อทิศทางการประมงไทย เห็นอะไรอยู่ในเรื่องนี้

อียู ด้านหนึ่งเขาก็พยายามสร้างอิมเมจว่าตลาดเขาต้องคลีน มีธรรมาภิบาล ดังนั้นมาตรการนี้ก็มีสองด้าน ทั้งในแง่การกีดกันทางการค้าหรือการเมืองในระดับสากล เพราะก็มีเสียงนินทาให้ฟังอยู่บ่อยเช่น สมาชิกอียูอย่างสเปน แอฟริกาใต้ ก็ไปทำการประมงแบบทำลายล้าง แต่กรณีที่เขานำมาตรการ ไอยูยู ฟิชชิ่ง ใช้กับประมงบ้านเรา ผมมองว่าเป็นผลบวกต่อการแก้ไขปัญหาทรัพยากรในทะเลไทยมากกว่าด้านลบ เพราะเราเผชิญปัญหานี้มานาน จนการเมืองไทยไม่สามารถแก้ไขได้

"ผมมองว่า งานนี้ถ้าอียูไม่ออกมาตรการนี้ สังคมไทยก็คงไม่มีโอกาสรับรู้กันกว้างขวางถึงขนาดนี้ว่าประเทศนี้ปล่อยปละละเลยให้มีการทำการประมงแบบทำลายล้างมาอย่างยาวนานแค่ไหน"


0รัฐบาลควรดำเนินการต่อไปอย่างไร

ตอนนี้รัฐบาลยังมองแค่ปรับกลไกในการทำการประมงเพียงแค่การปลดล็อกจากอียูเป็นหลัก เพราะพลังของธุรกิจส่งออกมีอำนาจเหนือพี่น้องประมงพาณิชย์ที่กำลังจอดเรือประท้วงอยู่มากนัก โดยเฉพาะรัฐก็กลัวลุกลามไปสู่ธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ไม่ว่าธุรกิจอาหารสัตว์ที่นำปลาเล็กปลาน้อยที่จับด้วยเครื่องมืออวนลาก/อวนรุนที่ผิดกฎหมายและจะถูกแบนลุกลามไปยังไก่ หมู หรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องกันกับการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ยังไม่ได้มองถึงปัญหาเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเลที่อยู่ในภาวะที่เรียกว่า โอเวอร์ ฟิชชิ่ง ออกทะเบียนให้เรือเถื่อน/เรือสวมทะเบียน แล้วเรือก็ออกทำการประมงแบบทำลายล้างดังเดิม วิกฤติทะเลก็จะดำรงอยู่

คิดว่ารัฐจะต้องบริหารบนฐานของข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ถ้าเพื่อความยั่งยืนของอาชีพประมงและความมั่นคงทางอาหาร รัฐบาลต้องหาทางยกเลิกการทำการประมงแบบทำลายล้าง 3 ชนิด คือ อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ทันที เราอาจจะต้องหาทางชดเชยในบางระดับต่อเรือที่ถูกกฎหมาย ผมเชื่อว่า ถ้าเราหยุดเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้าง 3 ชนิดนี้ภายในไม่เกิน 1 ปี ทะเลไทยจะฟื้นตัวและเป็นทั้งแหล่งอาหาร/อาชีพให้คนในสังคมในปริมาณที่มากกว่าที่มีกันอยู่ในปัจจุบันนี้แน่นอน


0 ประมงขนาดใหญ่ควรทบทวนการทำประมงของตัวเองไหม

ประมงขนาดใหญ่ที่ไม่ทำการประมงด้วยเครื่องมือลาก รุน หรือ ปั่นไฟ ก็ปรับตัวมาจับสัตว์น้ำที่โตเต็มวัยชนิดต่างๆ ได้ปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ในระยะแรกอาจต้องรอให้พันธุ์สัตว์น้ำเติบโตก่อน เพราะที่ผ่านๆ มาเราทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนตัวเล็กๆ ทุกชนิดมายาวนาน

อีกส่วนหนึ่งคือ พี่น้องที่ออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำ รัฐบาลอาจจะต้องแสวงหาแหล่งทำการประมงกับประเทศอื่นๆ ให้มากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ประมงพาณิชย์ต้องช่วยตัวเองเช่นที่ผ่านมา เช่น กรณีไปติดสินบนทหารในอินโดนีเซีย ไปร่วมลงทุนทำประมงแบบลวกๆ เมื่อเขาเอาจริงเพื่อรักษาทะเลของเขา เราก็ไปไม่ได้ ขาดทุนล้มละลายกันอยู่นี่ไง ส่วนหนึ่งก็เบนหัวเรือมาถล่มทะเลไทย ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤติอยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก โดยสรุปรัฐบาลอย่ามีแต่มาตรการปราบปราม แต่หนุนช่วยให้เขาได้มีโอกาสไปทำการประมงแบบถูกต้องในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่ทะเลไทยด้วย


0สมาคมรักษ์ทะเลไทย เป็นกำลังหลักของประมงพื้นบ้าน ขอความมั่นใจให้แก่พี่น้องว่าเราจะอยู่กับประมงพื้นบ้านต่อไป

สมาคมรักษ์ทะเลไทยเป็นองค์กรเล็กๆ แต่มีประสบการณ์มากว่า 30 ปี แต่เรามีจุดอ่อนเหมือนองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ คือ ต้องอาศัยงบประมาณจากหน่วยงานของรัฐบ้าง ต่างประเทศบ้าง และมีระยะการทำงานไม่ต่อเนื่อง หลายๆ ครั้งเจ้าหน้าที่ไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าเดินทาง แต่เราก็ทำงานกันเท่าที่ศักยภาพที่เรามี เป้าหมายหลักของเราคือ สร้างองค์กรของพี่น้องประมงให้เข้มแข็ง เมื่อแต่ละพื้นที่มีองค์กรของพวกเขาแล้ว บทบาทของสมาคมก็จะลดลงหรือเจ้าหน้าที่ของเราก็ปรับตัวไปเป็นลูกจ้างของพี่น้องชาวประมงในอนาคตก็ได้

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #102  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


ผู้จัดการออนไลน์
9-07-15


“สมยศ” ฮึ่มอิทธิพลประมงเถื่อน ขวางเรือประมงถูกกฎหมายออกหาปลา




ผบ.ตร.สั่งตรวจสอบกลุ่มเรือประมงเถื่อนขัดขวางการทำประมงถูกกฎหมายออกหาปลาในทะเล หากผิดต้องดำเนินคดี ลั่นต้องบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามที่ประชาคมโลกยอมรับ

วันนี้ (8 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนเรือประมงรวมตัวปิดอ่าวขัดขวางไม่ให้กลุ่มเรือประมงที่ถูกกฎหมายออกหาปลาในทะเลในช่วงนี้ว่า หากมีผู้อยู่เบื้องหลังหรือใช้อิทธิพลบังคับเรือประมงไม่ให้ออกจับปลาถือว่าไม่ถูกต้อง หากตรวจสอบพบว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้ตำรวจในพื้นที่ต้องดำเนินการ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายการข่าวต้องติดตามหาข้อมูล ความชัดเจน พิสูจน์ทราบว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นใคร หากพบว่าการกระทำเข้าข่ายความผิดต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยต้องดูว่าสิ่งที่คนเหล่านั้นทำ ทำให้ใครเดือดร้อน หรือเกิดความเสียหายต่อภาพรวมหรือไม่ หรือทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบอย่างไรหรือไม่ ถ้าไปบังคับขู่เข็ญไม่ให้เรือประมงออกหาปลา แล้วเรือประมงเหล่านั้นมาร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลว่ากลุ่มที่ออกมาขัดขวางเป็นกลุ่มสมาคมเรือประมง ต้องมีการพูดคุยกับกลุ่มนี้หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีจุดประสงค์เรื่องนี้ชัดเจนว่าต้องการทำให้ถูกกฎหมาย ให้เป็นไปตามที่ประชาคมโลกยอมรับ มีกติกาชัดเจน หากไม่ยอมรับตรงนี้เราก็ไม่สามารถอยู่ในสังคมโลกกับเขาได้ หากฝืนอีกหน่อยธุรกิจการประมงและที่เกี่ยวเนื่องจะขายให้ประเทศอื่นไม่ได้ ถึงเวลานั้นความเดือดร้อนผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศ การกระทำใดหากให้ผู้อื่นเดือดร้อนไม่ควรทำ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับตัว แรกๆ อาจอึดอัดกับกฎหมาย กฎระเบียบที่ออกมา แต่นี่คือกติกาของสังคมโลกยอมรับถือปฏิบัติกัน ไม่เช่นนั้นเราอยู่ร่วมกับเขาไม่ได้

“ผมว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ทำก็ต้องการทำให้สังคมชาวโลกเห็นว่าเรามีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ หรือที่เกี่ยวข้อง เรามีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมาเป็นระยะเวลายาวนานให้มีมาตรฐานเช่นประเทศเจริญแล้ว ผมว่าการบังคับใช้กฎหมายที่ทำอยู่ขณะนี้กำลังถูกต้องแล้ว เราต้องทำ” พล.ต.อ.สมยศกล่าว

__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 21-07-2015 เมื่อ 20:32
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #103  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


GREENPEACE
9-07-15


กรมประมงยืนยันมาตรการขจัด IUU fishing ไม่มีการนิรโทษกรรมเครื่องมือประมงทำลายล้างและผิดกฏหมาย



เครือข่ายประมงพื้นบ้านและภาคประชาสังคม ประกอบด้วย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความชื่นชมหลังจากกรมประมงส่งหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการเรื่องมาตรการในการต่อสู้การประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม (IUU) โดยระบุว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมเครื่องมือประมงทำลายล้าง 3 ชนิด คือ อวนลาก อวนรุน และเครื่องมือจับปลากระตักประกอบแสงไฟล่อในเวลากลางคืน

การยืนยันจากกรมประมงนี้ถือเป็นจังหวะก้าวสำคัญในการฟื้นฟูทะเลไทยจากวิกฤตการทำประมงเกินศักยภาพที่ดำเนินสืบเนื่องมาหลายทศวรรษ และการยกเลิกเครื่องมือประมงทำลายล้างเหล่านี้ยังจะส่งผลให้พันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทยมีโอกาสเติบโตและขยายพันธุ์ และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภคและสังคมไทยในระยะยาว

กรมประมงได้ส่งหนังสือลงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ตอบรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายประมงพื้นบ้านและภาคประชาสังคมต่อกรณีใบเหลืองประมงจากสหภาพยุโรป โดยกรมประมงได้จัดทำร่างนโยบายการบริหารจัดการประมงทะเลไทยที่มีแผนระดับชาติในการป้องกันและยับยั้ง IUU fishing และมีการเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสมาคมประมง ผู้ประกอบการ และประมงพื้นบ้าน เข้าร่วมให้ข้อมูล และข้อคิดเห็นต่อการจัดการในเรื่องนี้

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าวว่า

“การตอบรับและตัดสินใจเรื่องไม่นิรโทษกรรมเครื่องมือประมงผิดกฏหมายทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่ภาครัฐมีความใส่ใจนำข้อคิดเห็นจากประชาชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลระดับชาติ และในอนาคตหวังว่าจะเกิดการจัดการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมเช่นนี้ต่อไป”

การที่กรมประมงได้นำข้อคิดเห็นเหล่านี้มาปรับปรุงในร่างนโยบายการจัดการดังกล่าว โดยเนื้อหาสำคัญคือไม่มีการนิรโทษกรรมเครื่องมือทำลายล้างทั้ง 3 ชนิด เป็นเรื่องที่น่ายินดีซึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันและรณรงค์ร่วมกันของประชาชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ต่อสู้เรียกร้องประเด็นนี้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมาอย่างยาวนาน โดยความสำเร็จจากการรณรงค์ร่วมกันในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูทะเลไทยซึ่งเป็นทรัพยากรร่วมกันของชาติ อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #104  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


ผู้จัดการออนไลน์
12-07-15

“หยุดประมงล้างผลาญ” แนวโน้มดีใน “รัฐบาลท็อปบูต” ..................... โดย ศูนย์ข่าวหาดใหญ่


บรรจง นะแส

หากประเทศไทยไม่ถูกสหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองอย่างเป็นทางการเมื่อ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ประชาชนทั่วไปก็คงยังไม่มีโอกาสได้รู้ว่า ที่ผ่านๆ มาในน่านน้ำไทยมีเรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายออกทำการประมงอยู่กว่า 1 หมื่นลำ และเกือบจะทั้งหมดเป็นเรืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ซึ่งกรมเจ้าท่าสำรวจพบว่าเป็นเรือที่ไม่มีทะเบียนถึง 16,900 ลำ ส่วนเรือที่ตรงตามทะเบียนจริงมี 28,000 ลำ จากจำนวนเรือที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 42,051 ลำ

เรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายกว่า 16,900 ลำดังกล่าวคือ ประจักษ์พยานของ “ความล้มเหลว” ในนโยบายการแก้ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เป็นปัญหาเรื้อรังมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2503 ที่เริ่มนำเครื่องมืออวนลากที่จับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้นมาใช้ทำประมง

ทว่า จากการศึกษาวิจัยในปี 2513 พบว่า การทำประมงด้วยอวนลากส่งผลให้มีการจับสัตว์น้ำหน้าดินจนเกินศักยภาพการผลิตของทะเล โดยในปี 2525 ผลผลิตของประมงอวนลากอยู่ที่ 990,000 ตัน เกินกว่ากำลังการผลิตของทะเลกว่า 30% เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรทะเลเกิดความเสื่อมโทรมอย่างมหาศาล

สะมะแอ เจ๊ะมูดอ ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 23 จังหวัดของไทย ซึ่งมีสัดส่วนถึง 85% ของชาวประมงในประเทศ ต้องได้รับความเดือดร้อนจากเรือประมงพาณิชย์อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟอย่างสาหัสสากรรจ์

“ปี 2515 กระทรวงเกษตรฯ ห้ามทำประมงอวนลาก และอวนรุนในเขต 3,000 เมตรจากชายฝั่ง ป้องกันความขัดแย้งต่อชุมชน และไม่ให้ทำลายทรัพยากรมากเกินไป แต่ปรากฏว่า กลุ่มทุนจำนวนมากยังคงบุกรุกเข้ามาจับปลาในเขตหวงห้าม 3,000 เมตร เรือประมงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจของนักลงทุน พวกเขาลงทุนใช้เครื่องมือชั้นเลว เพื่อหวังกอบโกยทำร้ายทรัพยากรทะเลและชาวประมงอื่นๆ มาโดยตลอด แม้ว่าไทยจะมีนโยบายควบคุมเครื่องมือประมงเหล่านี้ไม่ให้เพิ่มขึ้น พวกเขาก็ใช้วิธีการลักลอบทำอย่างผิดกฎหมาย เมื่อถูกจับกุมมักวิ่งเต้นจ่ายค่าปรับ แล้วกลับมาทำผิดต่ออีก”



จากการศึกษาของ ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิจัยอิสระด้านการจัดการประมง พบว่า การแก้ปัญหาประมงของไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง หลังพบว่าเครื่องมืออวนลากได้ส่งผลกระทบหลายด้าน โดยในปี 2523 กรมประมงประกาศไม่ออกใบอนุญาตทำประมงให้แก่เรือประมงอวนลากใหม่ เพื่อลดจำนวนในระยะยาว

แต่ด้วยความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการ และกลุ่มประมงอวนลากในขณะนั้น ทำให้กรมประมงอนุญาตให้เรืออวนลากผิดกฎหมายที่ไม่มีทะเบียน ได้ไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน ซึ่งการแก้ปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้น 3 ครั้ง คือ ในปี 2525 ปี 2532 และปี 2539 เป็นนโยบายการแก้ปัญหาแบบไม่ฟังเสียงท้วงติงของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ

ล่าสุด คือปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสนอแก้ปัญหาประมงพาณิชย์ผิดกฎหมาย ด้วยการนิรโทษกรรมเรือเถื่อนเช่นกัน ซึ่งนโยบายการแก้ปัญหาลักษณะนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหา และควบคุมเรือประมงผิดกฎหมายได้จริง

บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้ความเห็นว่า ผลประโยชน์จากเรือประมงพาณิชย์อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟผิดกฎหมาย ล้วนเกี่ยวโยงต่อกลุ่มข้าราชการ และนักการเมืองเกือบทุกพรรค และพบว่า สัตว์น้ำที่เรือเหล่านี้จับขึ้นจากทะเลคือ สัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิด

“แล้วส่งขายให้แก่โรงงานปลาป่นในเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ระดับ ‘เจ้าสัว’ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับข้าราชการ และนักการเมืองทุกพรรคและทุกรัฐบาล” บรรจง กล่าวก่อนเสริมว่า

สัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมหาศาลถูกจับไปส่งโรงงานปลาป่น เพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงหมู ไก่ กุ้ง และปลาในฟาร์มเพาะเลี้ยงของบริษัทยักษ์ใหญ่ แหล่งอาหารโปรตีนของคนไทยจึงถูกแย่งชิงไปใช้ทำอาหารเลี้ยงสัตว์ กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของคนทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน ธุรกิจเรือประมงอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ยังก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งการค้ามนุษย์ แรงงานทาส แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนกล้าจัดการเพราะผลประโยชน์มันมหาศาล

แต่หลังจากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ประกาศบังคับใช้กฎระเบียบการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ไม่มีการรายงาน และที่ไม่มีกฎข้อบังคับ หรือ IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU) อย่างเป็นทางการเมื่อ 29 ก.ย.2551 และกฎข้อบังคับนี้เริ่มมีผลต่อไทยในวันที่ 1 ม.ค.2553 การแก้ปัญหาเรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายของไทยก็ได้ถูกจับตามองอย่างลับๆ จากคณะทำงานที่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปแต่งตั้งให้ติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

แล้วก็พบว่า การแก้ปัญหาเรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายของไทยไม่มีอะไรพัฒนาไปในทางที่ดีเลย จนนำมาสู่การให้ “ใบเหลือง” แก่ไทย



นับจากวันที่ได้รับใบเหลืองจาก EU รัฐบาลไทยมีเวลา 6 เดือนเพื่อแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยได้ออกมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย 1.การปรับปรุง พ.ร.บ.การประมงและกฎหมายลำดับรอง 2.การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU 3.การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง 4.การพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะการควบคุมการเข้า-ออกท่าของเรือประมง 5.การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ และ 6.การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ให้ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ดำเนินการภายใน 60 วัน มีผลเมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

ส่งผลทำให้เรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายกว่า 1 หมื่นลำ พากันมาจอดเทียบท่าไม่กล้าออกทะเล

มาตรการแก้ปัญหาครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้ประกอบการที่มีเรือประมงผิดกฎหมายอยู่ในครอบครอง รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการทำประมงล้วนได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน นักการเมืองบางคนจึงต้องออกโรงนำเสนอทางแก้แบบเดิมๆ คือ ให้นิรโทษกรรมเรือเถื่อนเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านๆ มา

ขณะที่เครือข่ายประมงพื้นบ้าน และภาคประชาสังคม ประกอบด้วย สมาพันธ์สมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย และกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการนิรโทษกรรมเรือเถื่อน พร้อมเสนอให้รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ยุติการทำลายล้าง แล้วหันมาฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ภาคประชาชนเสนอแนะต่อรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐแต่อย่างใด

ล่าสุด 9 ก.ค.กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมประมงได้ส่งหนังสือตอบรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายประมงพื้นบ้านและภาคประชาสังคมต่อกรณีใบเหลืองประมงจากสหภาพยุโรป โดยกรมประมงได้จัดทำร่างนโยบายการบริหารจัดการประมงทะเลไทยที่มีแผนระดับชาติในการป้องกันและยับยั้ง IUU fishing และมีการเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสมาคมประมง ผู้ประกอบการ และประมงพื้นบ้านเข้าร่วมให้ข้อมูล และข้อคิดเห็นต่อการจัดการในเรื่องนี้ โดยระบุว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมเครื่องมือประมงทำลายล้าง 3 ชนิดคือ อวนลาก อวนรุน และเครื่องมือจับปลากระตักประกอบแสงไฟล่อในเวลากลางคืน

กรีนพีซ ระบุว่า การยืนยันจากกรมประมงนี้ถือเป็นจังหวะก้าวสำคัญในการฟื้นฟูทะเลไทย จากวิกฤตการทำประมงเกินศักยภาพที่ดำเนินสืบเนื่องมาหลายทศวรรษ และการยกเลิกเครื่องมือประมงทำลายล้างเหล่านี้ยังจะส่งผลให้พันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทยมีโอกาสเติบโต และขยายพันธุ์ และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ผู้บริโภค และสังคมไทยในระยะยาว

ส่วนนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย มองว่า การที่กรมประมงได้นำข้อคิดเห็นเหล่านี้มาปรับปรุงในร่างนโยบายการจัดการดังกล่าว โดยเนื้อหาสำคัญคือ ไม่มีการนิรโทษกรรมเครื่องมือทำลายล้างทั้ง 3 ชนิด เป็นเรื่องที่น่ายินดี ซึ่งเป็นผลมาจากการผลักดัน และรณรงค์ร่วมกันของประชาชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ต่อสู้เรียกร้องประเด็นนี้ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมาอย่างยาวนาน โดยความสำเร็จจากการรณรงค์ร่วมกันในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูทะเลไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรร่วมกันของชาติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

“การตอบรับ และตัดสินใจเรื่องไม่นิรโทษกรรมเครื่องมือประมงผิดกฎหมายทั้ง 3 ชนิด เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่ภาครัฐมีความใส่ใจนำข้อคิดเห็นจากประชาชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการแก้ปัญหา และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลระดับชาติ และในอนาคตหวังว่าจะเกิดการจัดการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมเช่นนี้ต่อไป”

ปรากฏการณ์นี้ทำให้หลายคนมองเห็นว่า การแก้ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมายของไทยที่เรื้อรังมานานกว่า 40 ปี เริ่มมีเค้าลางของความสำเร็จปรากฏให้เห็นบ้างแล้วในวันนี้

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #105  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


คม ชัด ลึก
12-07-15


เปิดพื้นที่อนุรักษ์ 'วาฬบรูด้า' สัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ ..................... รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม โดย ธนชัย แสงจันทร์



ปัจจุบันสถานการณ์ทะเลไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ทรัพยากรทางทะเลเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เต่าทะเล พะยูน วาฬ และโลมา ซึ่งต่างตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ที่น่าสนใจ ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้พบเห็นสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล พะยูน วาฬ และโลมา บาดเจ็บ เกยตื้นตายตามชายหาด หรือติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการเก็บและรวบรวมข้อมูลสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากในประเทศไทยรอบ 12 ปี (พ.ศ.2546- 2557) พบว่า สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นตาย รวม 2,201 ตัว ประกอบด้วย เต่าทะเล 1,209 ตัว โลมาและวาฬ 851 ตัว และพะยูน 141 ตัว โดยในแต่ละปีมีแนวโน้มของการบาดเจ็บและเกยตื้นตายเพิ่มสูงขึ้น จึงถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะ "วาฬบรูด้า" ที่มีอัตราการเกิด และการตาย เท่ากันในอัตราร้อยละ 4-5 น้อยกว่าสัตว์ทะเลกลุ่มเสี่ยงชนิดอื่นๆ

“ก่อนหน้านี้ (ช่วงปี 2557) เกิดกระแส ‘บรูด้า ฟีเวอร์’ โดยนักท่องเที่ยวน้อยใหญ่ ทั้งที่เป็นชาวไทย และชาวต่างชาติ ต่างแห่ออกไปเฝ้าชมวาฬบรูด้าที่เข้ามาหาอาหารในบริเวณอ่าวไทยตอนบน หรือ อ่าวไทยรูปตัวกอ กลายเป็นการท่องเที่ยวทางเลือก สร้างรายได้ให้แก่ชาวเรือ ที่หยุดหาปลา มาพานักท่องเที่ยวชมวาฬไปไม่น้อย และจากความสวยงามของวาฬบรูด้าในยามที่โฉบเฉี่ยวปรากฏตัวเหนือน้ำทะเล เพื่อขึ้นมากินปลาเล็กปลาน้อย ถูกฉาบไว้ด้วย สถานการณ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจของมนุษย์ ก็นับว่าน่าเสียดาย”

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวด้วยว่า กรมเตรียมเสนอให้ “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งหากมีการขึ้นทะเบียนสำเร็จ “บรูด้า” จะเป็นสัตว์ทะเลตัวที่ 2 ต่อจากพะยูน ที่จะได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวนในรอบ 23 ปี ทั้งนี้เพื่อยกระดับความสำคัญของวาฬบรูด้า และเป็นการผลักดันให้การอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เสนอข้อมูลต่อกรมประมง เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของสัตว์น้ำ ก่อนที่จะเสนอให้กระทรวงทัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นชอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน นับจากปลายเดือนมิถุนายน

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์นั้น กรมให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งด้านวิชาการและภาคประชาชน โดยในส่วนของเครือข่ายด้านวิชาการจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และฐานข้อมูลทางวิชาการ ด้านแหล่งการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลหายากแก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยต่างๆ

นอกจากนี้ กรมยังให้ความสำคัญกับเครือข่ายภาคประชาชน และชุมชนท้องถิ่น เพราะกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสพบเหตุการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน ด้วยการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้การช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้นอย่างถูกต้อง ก่อนประสานแจ้งเหตุมายังหน่วยงานของกรม ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของสัตว์เหล่านี้ได้มากขึ้น

ด้าน สุรศักดิ์ ทองสุกดี นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการรักษาสัตว์หายากให้อยู่คู่ท้องทะเลไทยต่อไป อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยเนื้อหา พ.ร.บ.ได้กำหนดบทบาทให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้

สำหรับพื้นที่ที่จะประกาศต้องมีสภาพสมบูรณ์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชตามธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ ดูแล และช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากแล้ว ยังสนับสนุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากที่มีอยู่ในท้องถิ่น

ส่วนสาระสำคัญของประกาศ เป็นการป้องกันการสูญพันธุ์ของวาฬบรูด้า ทั้ง 52 ตัว ที่เข้ามาหาอาหารในบริเวณอ่าวไทยตอนบน หรือ อ่าวไทยรูปตัว กอ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีปลาตัวเล็กอาศัยอยู่อย่างสมบูรณ์ เพราะเป็นปากแม่น้ำ 4 สาย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลอง และท่าจีน ทำให้วาฬบรูด้าปรากฏโฉมให้เห็นอยู่เป็นประจำ กระทั่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บริเวณอ่าวไทยรูปตัวกอ

“และการปรากฏตัวของเจ้าวาฬบรูด้าในบริเวณน่านน้ำไทยนั้น บงบอกถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล แต่น่าเสียดายความสมบูรณ์ และความงดงามของธรรมชาติลดลง จากจำนวนขยะใต้ท้องทะเลที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 52 ตัน เมื่อสัตว์ทะเลกินเข้าไปก็ส่งผลต่อร่างกายและต้องเกยตื้นตาย รวมทั้งการประมงที่ผิดประเภทเช่นกัน”

“ในขณะนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เร่งสำรวจและเก็บดีเอ็นเอของวาฬ พร้อมกับการฝังชิพติดตามพฤติกรรม และการย้ายถิ่นอาศัย นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ที่มีน่านน้ำติดกับไทย ให้เกิดความร่วมมือในการดูแลวาฬร่วมกัน” นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กล่าว

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหว ในการผลักดันให้วาฬบรูด้า เป็นสัตว์สงวน เกิดขึ้นโดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย โดยการนำเสนอกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น การประกวดภาพวาดและภาพถ่าย สัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครอง 24 ชนิด เพื่อชิงรางวัลมูลค่ามากกว่า 3 แสนบาท

ที่สำคัญมีการรณรงค์ให้มีการตระหนักถึงความสำคัญของวาฬบรูด้า และลงชื่อสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนวาฬบลูด้าเป็นสัตว์สงวน ผ่านเว็บ http://www.change.org/SaveOurWhale โดยแจ้งวัตถุประสงค์บางส่วนว่า “การผลักดันวาฬบรูด้าให้เป็นสัตว์สงวน จะช่วยยกระดับความสำคัญของวาฬ ทำให้เกิดมาตรการต่างๆ ในการดูแลและช่วยเหลือวาฬ เช่น ศูนย์วิจัยและช่วยเหลือวาฬ การให้ความรู้และสร้างการท่องเที่ยวชมวาฬอย่างยั่งยืน เช่น พิพิธภัณฑ์วาฬ เครือข่ายท่องเที่ยวชมวาฬ ฯลฯ ตลอดจนยกระดับให้วาฬบรูด้าเป็น "สัตว์สัญลักษณ์แห่งอ่าวไทย" ช่วยส่งเสริมให้กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงกลายเป็นแหล่งดูวาฬเชิงอนุรักษ์ระดับโลก และเกิดพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ในอ่าวไทยไว้ให้จงได้” ซึ่งตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 25,000 คน

อย่างไรก็ตาม นอกจากวาฬบรูด้าแล้ว ยังมีสัตว์ทะเลหายากกว่า 20 ชนิด ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากระบบนิเวศทางทะเล เช่น วาฬบรูด้า โลมา เต่ามะเฟือง กลุ่มปลาโรนัน ปลาโรนิน ซึ่งเกิดจากขยะ ท่องเที่ยว และประมง ที่เราทุกคนต่างมีส่วนกระทำทั้งสิ้น

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #106  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


greennewstv
12-07-15

ประมงพื้นบ้าน-พาณิชย์ประสานเสียง ต้องหยุดเรือประมงทำลายล้าง ปีหน้ามีปลา 20 ล้านตัน



เวทีราชดำเนินเสวนา นายกสมาคมประมงพื้นบ้านรับ มาตรการหยุดเรือประมงทำลายล้างกระทบเรือประมงพื้นบ้านด้วย ที่ปรึกษาสมาคมเรือประมงไทยขอรัฐเพิ่มขนาดตาอวนลาก-จัดโซนนิ่งขนาดเรือ เผยโรงแรมดังบอยคอร์ตอาหารทะเลไทยมานานแล้ว ระบุหยุดเรือประมงทำลายล้าง ปีหน้าเพิ่มปริมาณปลาน่านน้ำไทย 20 ล้านตัน มูลค่า 2 ล้านล้านบาท

วันนี้ (13 ก.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนาเรื่อง “แบนประมงผิดกฎหมายเด็ดขาด…คนทั้งชาติยังมีปลากิน?” ที่ชั้น 3 ห้องอิศรา อมันตกุล โดยมีตัวแทนจากประมงพื้นบ้าน องค์กรภาคประชาชน ตัวแทนประมงพาณิชย์ และตัวแทนจากกรมประมง เป็นผู้ร่วมเสวนา

“นายสะมะแอ เจะมูดอ” นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวทำความเข้าใจต่อประมงพื้นบ้านว่า มีองค์ประกอบหลายๆอย่าง ทั้งเรื่องของตัวเรือ เครื่องมือประมง หรือแม้กระทั่งแรงงานบนเรือ ซึ่งยอมรับว่าเรือประมงพื้นบ้านส่วนหนึ่งก็มีเครื่องมือประมงทำลายล้างเช่นกัน ซึ่งการออกมาตรการหยุดเรือประมงทำลายล้างก็กระทบกับประมงพื้นบ้านเช่นเดียวกัน ประมงพื้นบ้านเองก็ไม่สามารถขออาชญาบัตรได้ทุกเครื่องมือ

นายสะมะแอระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาดช่วงนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับเรือประมงพื้นบ้านมากนัก เพราะเป็นช่วงเดือนหงายที่ไม่ค่อยมีสัตว์น้ำ และยังมีมรสุม แต่ยังพอจับปลาได้ในทุกพื้นที่ตั้งแต่สตูลจนถึงภูเก็ต ต่างจากเมื่อก่อนที่ออกเรือประมงทุกประเภท ทำให้สัตว์น้ำค่อนข้างหายาก ซึ่งการที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เรือประมงพาณิชย์หยุดทั้งหมด เพราะเราเองก็ต่างประกอบอาชีพประมงเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต้องทำคือทบทวนเครื่องมือที่ใช้ ว่านั่นคือเครื่องมือทำลายล้างหรือไม่ ก็เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยยังฝากทางหน่วยงานรัฐบาลว่า ขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมทำงานอย่างบูรณาการ เพราะการทำการประมงนั้นมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างมีกฎหมายของแต่ละแห่ง บางแห่งก็ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวประมง อย่างเช่นห้ามเด็กออกเรือไปพร้อมกับพ่อแม่ หรือการที่เรือประมงหลบมรสุมมาขึ้นเกาะ กลับโดนเล่นงานจากกรมอุทยานฯ เป็นต้น



ด้าน “นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล” ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะยอมรับถึงปัญหาการประมงว่าเราละเลยกันมากว่า 20 ปี ซึ่งในวันนี้เราจะละเลยต่อไปไม่ได้ แต่การบังคับใช้แบบรุนแรงและกะทันหันเช่นนี้เรียกได้ว่าล้มทั้งยืน ซึ่งการที่เรือประมงพาณิชย์ต้องหยุดเรือกันที่ผ่านมานั้นมิใช่เพื่อการประท้วงหรืออย่างใด ที่จริงต่างอยากออกไปจับปลาด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ต้องหยุดเพราะกฎระเบียบเข้มข้นของราชการนั้นหนักหนาสาหัส และการจัดการแบบปุบปับเช่นนี้ก็ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทัน

ซึ่งข้อเสนอที่อยากฝากถึงรัฐบาลคือ ให้บังคับใช้กฎเกณฑ์บางประเภทที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น เปลี่ยนขนาดตาอวนลากให้ใหญ่ขึ้น, ลดเครื่องมือประกอบการประมงเช่นเรือปั่นไฟล่อปลา, การขึ้นทะเบียนซั้งล่อปลา ควบคุมและมีการจัดการทางสถิติ, การทำโซนนิ่งให้เหมาะกับขนาดเรือ กำลัง แรงม้า และขนาดเครื่องมือ, การกำหนดเวลาในการทำการประมง, การกำหนดโควตาตามชนิดเครื่องมือการทำการประมง, การกำหนดโควตาปริมาณการจับสัตว์น้ำ, การพัฒนาเพื่อกระจายพื้นที่การทำการประมงเพื่อลดการทำลายพื้นที่เติบโต ไปทำประมงน้ำลึก, การพัฒนาระบบการติดตาม ควบคุม และการเฝ้าระวัง MCS, การพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับให้เข้าถึง ฐานข้อมูลมากขึ้น และนำไปใช้ในการประเมินปริมาณสัตว์น้ำในอนาคต Stock assessment, การจัดการเพื่อยกระดับการดำรงชีพของชาวประมง การให้ชาวประมงเข้าถึงแหล่งความรู้ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปสู่อาชีพใหม่ทั้งในท้องถิ่นเดิม และการไปสู่ท้องถิ่นใหม่ Raise up Livelihood and development

“นายมาโนช รุ่งราตรี” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง กล่าวว่า หากเราย้อนดูตั้งแต่เริ่มแรกจะเห็นได้ว่าทางกรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขการประมงผิดกฎหมายมาตั้งแต่ พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 ก่อนหน้าที่จะเกิดกระแสเรื่องของความยั่งยืนที่ทาง FAO ได้เริ่มเข้ามาร่างกฎระเบียบ แต่กฎดังกล่าวนั้นใช้วิธีดำเนินการด้วยความสมัครใจและร่วมมือ เมื่อไม่มีการบังคับก็ไม่เป็นที่สนใจ

หลังจากนั้นทางสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นผู้ซื้ออาหารทะเลรายใหญ่เกิดความกังวลว่าอาหารทะเลที่ส่งไปขายนั้นเกิดจากการประมงที่มีความรับผิดชอบหรือไม่ จึงต้องประกาศกฎการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ ไอยูยูฟิชชิ่ง ที่ต้องสามารถรับรองได้ว่าอาหารทะเลที่ได้มาจากการประมงที่ไม่ผิดกฎหมาย ปฏิบัติตามระเบียบ มีการรายงาน ควบคุม และตรวจสอบได้

ซึ่งทางกรมประมงเองก็ได้ดำเนินการป้องกันประมงผิดกฎหมายดังกล่าว มีทั้งการตรวจสอบย้อนกลับ มีการขึ้นทะเบียน มีอาชญาบัตร มีการทำรายงานบันทึก นอกจากนี้ยังรวมถึงการควบคุม มีการประกาศกฎระเบียบต่างๆ เช่นการห้ามทำประมงบริเวณแหล่งวางไขหรือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ หรือการประกาศห้ามเครื่องมือประมงทำลายล้าง ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ถ้ากลับไปดูแล้วจะดำเนินการไว้ค่อนข้างคลอบคลุมทุกด้าน

“แต่ในขณะเดียวกันการควบคุมที่ผ่านมาก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทางกรมประมงเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก ด้วยกรมประมงเองก็เป็นกรมวิชาการ การดำเนินงานที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องของวิชาการโดยตลอด เมื่อเกิดเรือที่ผิดกฎหมายจำนวนมากมาย พอเกิดปัญหาขึ้นก็ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน”



ส่วน “น.ส.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ” ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบริหารทรัพยากรประมงเจอปัญหา ก็เพราะลักษณะทางธรรมชาติของทรัพยากรประมงนั้นบริหารจัดการได้ยาก ดำเนินการเหมือนแมวไล่จับหนู เมื่อแมวไม่อยู่หนูก็ร่าเริง จึงเป็นเรื่องที่ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่เมื่อคนหนึ่งใช้มากแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นที่มีส่วนใช้ทรัพยากร เพราะฉะนั้นเราจึงประสบกับจุดวิกฤตเมื่อประมาณปี พ.ศ.2535-2536 แต่ก็ดีขึ้นเมื่อถึงปี 2538 เพราะหลายคนเริ่มปรับพฤติกรรมเมื่อรู้ว่าสุดท้ายแล้วในอนาคตต้องพึ่งพาทรัพยากร และต้องปล่อยให้ฟื้นฟู แต่หากมองในมิติของการประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เมื่อเขามองว่าต้องหากินในวันนี้ หากปลาที่จับได้วันนี้แล้วอย่าคิดว่าพรุ่งนี้ปลาเหล่านั้นจะมาให้จับอีก นี่คือลักษณะมุมมองต่อการใช้ทรัพยากรที่ต่างกัน

นอกจากนี้ในด้านของผู้บริโภคเองไม่มีทางรู้ว่าอาหารทะเลที่เลือกมาจากการประมงทำลายล้างหรือไม่ เมื่อมาถึงตลาดลักษณะก็เหมือนกันหมด ปัญหาคือระบบตลาดในประเทศมีการผูกขาด เมื่อปลาทุกตัวจะต้องไปเวียนตามสะพานปลาขนาดใหญ่ก่อน กว่าจะมาถึงผู้บริโภคจึงไม่ปลอดภัยต่อสารเคมี รวมถึงผู้กำหนดราคากลางกลับไม่ใช่พ่อค้าแต่เป็นตลาดปลา เรามีระบบที่เพี้ยนมาตลอด เราจึงต้องสร้างทางเลือกเส้นทางปลาใหม่ อย่าผูกขาดว่าจะต้องประมูลที่สะพานปลา

“จริงๆแม้เราจะไม่ได้โดนไอยูยูในวันนี้ แต่เราก็โดนฝรั่งแบบอาหารทะเลในประเทศมานานแล้ว โรงแรมห้าดาวหลายแห่งไม่เลือกซื้อปลาไทย หลายรายเลิกซื้อปลาไทยจนกระทั่งได้มาเจอกับตลาดปลาพื้นบ้าน เขาก็ถามว่าจับมาจากไหน มีสารเคมี มีการใช้แรงงานทาสหรือเปล่า จะเห็นได้ว่าคนต่างชาติเองเขาก็สงสัยว่าทำไมเรามีชายฝั่งที่ยาวไกลแต่กลับมีผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ และอยากจะเห็นหน้าตาของการประมงไทยเปลี่ยนจากการส่งออกกุ้งราคาถูก มาเป็นปลาคุณภาพที่มีราคาแพง”



ขณะที่ “นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี” กรรมการสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า พื้นที่จับสัตว์น้ำไทยนั้นมีลักษณะที่โดดเด่นกว่าทั่วโลก ตามข้อมูลแล้วเราจับปลาได้กว่าล้านตันจากน่านน้ำในประเทศ อีกกว่าล้านตันนอกน่านน้ำไทย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ว่าคนไทยกินอาหารทะเลรวมกันประมาณ 2 ล้านตันหรือ 28-31 กก.ต่อคน/ปี เทียบกับคนอเมริกันที่ 50 กก.ต่อคน/ปี และคนญี่ปุ่นที่ 69 กก.ต่อคน/ปี เมื่อดูปริมาณการส่งออกก็อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตัน เพราะฉะนั้นจึงสามารถอนุมานได้ว่าหากจะให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศและส่งขายต่างประเทศ เราจึงต้องมีปลาในระบบจากทั้งผลผลิตในประเทศ ส่วนที่นำเข้า และการเพาะเลี้ยง ประมาณ 4 ล้านตัน

หากดูในส่วนข้อมูลของสัตว์น้ำที่จับได้ในประเทศประมาณ 1.1-1.2 ล้านตัน กว่า 80% หรือคิดเป็น 8-9 แสนตันมาจากการประมงพาณิชย์ หากในจำนวนนั้นกว่า 50% หรือประมาณ 4-5 แสนตันเป็นปลาเป็ด หรือลูกปลาที่จะผลิตเป็นปลาป่นป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลปลาเป็ดในระบบจากกรมประมง และในจำนวนนั้นกว่า 30% หรือประมาณ 1.5-2 แสนตันคือปลาเป็ดเทียมหรือปลาเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเป็นปลาทูซึ่งหากปล่อยให้โตหนึ่งปีจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า นั่นเท่ากับว่าหากเราหยุดการประมงทำลายล้างได้ ในหนึ่งปีข้างหน้าเราจะมีจำนวนปลาในท้องทะเลเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านตัน

“เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าหากเราหยุดอวนลากอวนรุนแล้ว คนในชาติจะยังมีปลากินหรือไม่ อย่าว่าแต่กินเลย ผมขอใช้คำว่าเรามีอาบได้เพราะมันมากมาย หากคิดราคาปลาทูที่กิโลกรัมละ 100 บาท เราจะมีทรัพย์สินของการประมงที่สต็อกอยู่ในท้องทะเลเท่ากับ 2 ล้านล้านบาทในหนึ่งปี แม้การเทียบอย่างนี้จะไม่ถูกนักเพราะยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมาก แต่ต่อให้ลดตัวเลขลงไปอีก 70-80% นั่นก็ยังเป็นจำนวนมหาศาลอยู่ดี”

“นายวรพงศ์ สาระรัตน์” เจ้าหน้าที่ประมงอาวุโสปฏิบัติหน้าที่นิติกร กรมประมง กล่าวว่า เครื่องมือหลักจัดการทรัพยากรในเวลานี้คือกฎหมาย ซึ่งอันเดิมถูกออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2490 ที่ทรัพยากรในเวลานั้นยังมีมากมาย โดยหลักคิดในเวลานั้นคือการจัดการยังเป็นของรัฐ ต่อมากรมประมงเริ่มทำกฎหมายฉบับใหม่ตั้งแต่ปี 2543 จนมาสำเร็จในปี 2558 ซึ่งความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบ เพราะในมุมของกฎหมายกับการบังคับใช้นั้น หากเรามีตัวกฎหมายที่ดีการบังคับใช้ก็จะดีไปด้วย แต่หากกฎหมายไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นจริงก็จะเกิดปัญหา การที่เราจะทำให้กฎหมายสอดคล้องก็คือการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่ฉบับนี้ จะต้องมีการตรากฎหมายลำดับรองอีก 70-80 ฉบับ ซึ่งก็อาจไม่ทันกับความเร่งด่วนในปัจจุบัน จึงมีการออกประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 10 เพื่อใช้แก้ปัญหาไปพลางๆก่อน โดยเน้นการมีส่วนร่วมที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันของชาวประมง แล้วมาขึ้นทะเบียนเพื่อสิทธิที่จะสามารถส่งผู้แทนมาเป็นคณะกรรมการประมงจังหวัด สามารถออกแบบกฎในระดับพื้นที่ได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องของคณะกรรมการประมงจังหวัดที่ผ่านมายังไม่เคยมี

“บทบาทที่สำคัญคือการมาช่วยกันออกกติกาเรื่องการจับสัตว์น้ำทั้งหลายให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมาออกโดนส่วนกลางที่ขาดความเหมาะสมไปบ้าง รวมทั้งความล่าช้า เพราะฉะนั้นในกฎหมายประมงฉบับใหม่เป็นจึงเป็นกฎหมายที่เกิดการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น การจัดที่ทำสอดคล้องกับพื้นที่ ตอบโจทย์ต่างๆตามที่เราคาดหวังไว้มากขึ้น”

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #107  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


greennewstv
15-07-15


พ.ร.บ. ประมงฉบับใหม่ ยังไม่ปลดล็อคใบเหลือง EU



หลังจากที่มีการผลักดันมาอย่างยาวนานในที่สุด พ.ร.บ.ประมง 2558 ก็ถูกประกาศใช้ไปแล้ว เพื่อแก้ปัญหาประมงในน่านนํ้าไทยที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อสำรวจรายละเอียดก็ยังไม่สามารถปลดพันธการจากคำเตือนของสหภาพยุโรปในการป้องกันและยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมายได้

ตั้งแต่ปี 2543 ได้มีความพยายามจากภาครัฐและประชาสังคม เพื่อร่างแก้ไขกฎหมายประมงใหม่จากเดิมที่ใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประมง 2490 ซึ่งได้ผ่านกระบวนขั้นตอนอย่างยาวนาน จนในที่สุดฉบับใหม่คือ พ.ร.บ.ประมง 2558 นี้ก็ได้ประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา เพราะมีการกดดันจากสหภาพยุโรป (EU) ที่ให้ใบเหลืองอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย เนื่องจากพบมีการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) แต่ทั้งนี้สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ที่เร่งให้ผ่านมาฉบับนี้ในสายตาของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านยังมองว่าไม่ตอบโจทย์ และครอบคลุมประเด็นที่ถูกกดดันจาก EU นัก เพราะยังขาดมิติการแก้ปัญหาที่สอดคล้องระหว่างประเทศ การทำประมงนอกน่านน้ำที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ EU จับตามองอยู่ รวมทั้งการที่ยังไม่มีกฎหมายลูกครบถ้วน จึงยังไม่อาจหวังได้ว่าจะแก้ปัญหาประมงได้อย่างยั่งยืน

โดย IUU Fishing ที่ทางสหภาพยุโรปได้ตั้งมานั้น นอกจากการทำผิดกฎหมายขาดการควบคุมและรายงานแล้ว ยังรวมไปถึงการทำประมงในเขตน่านน้ำของประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบและกฎหมาย และการทำประมงที่ไม่สอดคล้องกับความรับผิดชอบของรัฐเพื่อการเพิ่มจำนวนปลาด้วย ซึ่งหลังจากไทยได้ใบเหลืองจาก EU ซึ่งขณะนั้นอยู่ในห้วงเดือนเมษายน พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ยังไม่ประกาศใช้ ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย และให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (สปมผ.) และรัฐบาลก็พยายามออกมาตรการเร่งด่วนมาแก้ไข เช่น การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง รวมถึงการปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรองด้วย ทำให้กระบวนการพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ยืดเยื้อมายาวนานได้รับการพิจารณาภายใน 7 เดือน จึงทำให้มีข้อพกพร่องไม่ครอบคลุมทุกประเด็นเท่าที่ควร



ในเวทีราชดำเนินเสวนา “แบนประมงผิดกฎหมายเด็ดขาด…คนทั้งชาติยังมีปลากิน?” ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา นายวรพงศ์ สาระรัตน์ เจ้าหน้าที่ประมงอาวุโสปฏิบัติหน้าที่นิติกร กรมประมง ได้ชี้แจงสาเหตุที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์ว่าอาจเป็นเพราะกระบวนการร่างกฎหมายที่ที่มานานกว่า 15 ปี ทำให้ยังไม่สอดรับกับประเด็นใหม่ที่เข้ามาเช่น การลงทุนจับปลานอกน่านน้ำไทยซึ่งมีมิติที่เปลี่ยนไป

“ก็ได้มาระดับหนึ่งแต่ก็ยังขาดเรื่องของความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะตอนที่กฎหมายนี้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2543 มาเสร็จปี 2558 เราก็ไปเน้นเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชน แต่ว่ามิติระหว่างประเทศเรายังไปไม่ถึง เราก็เลยใส่ได้น้อย อีกอย่างหนึ่งก็คือหากไปแก้เยอะจะมีปัญหา เพราะร่างเดิมเราทำมาอย่างนี้ ในเวลานั้นมิติของกฎหมายระหว่างประเทศมันยังเข้ามาไม่เยอะ เรือที่ไปจับปลานอกน่านน้ำมันก็มีหลายเรื่องที่เปลี่ยนไปเยอะ เช่น การไปลงทุนจับปลากับต่างประเทศโดยที่ไม่ได้ใช้เรือของเรา แล้วทีนี้เกิดไปจับปลาผิดกฎหมาย คนนั่งอยู่บ้านก็สบายใจ ลงทุนอย่างเดียว มิติของกฎหมายทำแบบนี้ไม่ได้ เหมือนรัฐไม่รับผิดชอบ”



ทั้งนี้นิติกรของกรมประมงเห็นว่ายังมีข้อดีของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่จะเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยผ่านคณะกรรมการจังหวัด เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายยังด้อยอยู่มาก เพราะเป็นการดำเนินงานจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเดิมการตรวจการทำประมงผิดกฎหมายนั้น มีหน่วยงานหลักที่ดูแลคือหน่วยตรวจการของกองบริการจัดการด้านการประมง ซึ่งมีเจ้าหน้าอยู่เพียง 700 คนเท่านั้น ดูแลทั้งน้ำจืดและทะเล ไม่สามารถดูแลได้เพียงพอ

“เดิมรัฐกำหนดฝ่ายเดียว แล้วชาวบ้านไม่ได้ร่วมกันคิด เขาก็ไม่ยอมรับ ฝ่าฝืน เขาบอกว่าเป็นทรัพยากรของรัฐเขาก็เข้าไปจับ ใครได้มากก็ได้ประโยชน์ แต่คอนเซ็ปใหม่ก็คือเป็นทรัพยากรร่วมกัน กติกานี้เพื่อที่จะรับผิดชอบอนาคตของพวกเรา ถ้าเราจับปลามาเยอะ วันหน้าจะเอาปลาที่ไหนกิน ถ้าคิดร่วมกันแล้วการฝ่าฝืนมันก็จะน้อยลง การบังคับใช้มันก็จะราบรื่นขึ้น” นายวรพงศ์กล่าว

อย่างไรก็ตามนายวรพงศ์กล่าวว่า ภายหลังจากนี้จะมีการเสนอร่างใหม่เพื่อแก้ไขเพิ่มมิติเรื่องระหว่างประเทศให้ครอบคลุม และมีการออกกฎหมายลูกมารองรับซึ่งอาจต้องใช้มากกว่า 70 ฉบับเพื่อแก้ปัญหาประมงไทยให้มีการยอมรับจากสหภาพยุโรป และเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่งทะเลไทยอีกต่อไปด้วย



ขณะที่ น.ส.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ หัวหน้างานจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ได้ให้ความเห็นต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้เช่นเดียวกันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญที่เรื่องการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง แต่ยังขาดเรื่องของการจัดการกับการทำประมงนอกชายฝั่งและนอกน่านน้ำที่เกินออกไปจากระยะ 3 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข อีกทั้งยังไม่มีได้พูดถึงเรื่องการจับปลาเกินศักยภาพซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เชื่อมโยงกับปัญหาความยั่งยืนของทรัพยากรไทยอีกด้วย

“เรื่องน่านน้ำและประมงนอกชายฝั่งถูกพูดถึงน้อยมากซึ่งมันเป็นเป็นประเด็นที่ EU กังวลว่าเราจะจัดการเรือใหญ่อย่างไร เพราะว่า พ.ร.บ.2558 นี้พูดถึงเรื่องอำนาจจังหวัดที่จะดูแลเรื่องเขต 3 ไมล์ทะเล แต่ว่าพอหลังจากนั้นไม่ได้ให้รายละเอียด แล้วก็เรื่องนอกน่านน้ำไม่ได้พูดว่าจะถูกจัดการด้วยกฎหมายอย่างไร พูดแต่ว่าเป็นอำนาจของส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งก็ต้องไปออกกฎหมายลูกอีกทีว่าจะทำอย่างไร แต่ว่ากฎหมายใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ได้มีนโยบายชัดเจนว่าจะทำอย่างไร คิดว่าตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่สหภาพยุโรปตั้งคำถาม และ พ.ร.บ.ประมง 2558 ไม่ได้พูดถึง overfishing นัก คือเรื่องของการจับปลาตัดตอนหรือเรื่องอวนลาก อวนรุน ซึ่งสัตว์น้ำ 70 เปอร์เซ็นต์มันถูกจับไปเป็นอาหารสัตว์จำนวนมาก พ.ร.บ.2558 การควบคุมดูแลบริหารจัดการไม่ให้เกิด overfishing มันไม่ได้ถูกพูดถึง ไม่มีการแก้ปัญหา พูดแต่ห้ามเครื่องมือชนิดไหนบ้าง แต่ไม่ได้พูดถึงปลาที่จับได้ขึ้นมา” น.ส.สุภาภรณ์กล่าว

พ.ร.บ.ประมง 2558 ที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็น “ดาบอาญาสิทธิ์” ที่จะถูกนำไปแก้ปัญหาประมง และช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของประเทศอย่างยั่งยืน และยังโฆษณาว่าเป็นกฎหมายประมงฉบับแรกที่สร้างความมีส่วนร่วมจากประชาชนและท้องถิ่นให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาประมงในระยะยาว แต่ถึงขณะนี้ก็ยังขาดอีกหลายมิติที่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ นั่นจึงทำให้ยังไม่อาจความเชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถปลดพันธการจากคำเตือนของ EU ได้อย่างแท้จริง

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #108  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


ผู้จัดการออนไลน์
17-07-15

คนกินปลาเฮ! มติ ศปมผ.ยกเลิกเครื่องมือประมงทำลายล้าง คาดออกประกาศกฎกระทรวงเร็วๆนี้


(ภาพ : Greenpeace)

ศูนย์ข่าวภาคใต้ - นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยเผยคนกินปลาเตรียมเฮหลังที่ประชุม ศปมผ.มีมติให้ให้ออกประกาศยกเลิกเครื่องมือประมงที่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ อวนรุน ไอ้โง่ อวนล้อมปลากะตักปั่นไฟและโพงพาง คาดออกประกาศเป็นกฎกระทรวงเหมือนอินโดฯ ชี้ถือเป็นชัยชนะของคนกินปลาทั่วประเทศที่ตื่นตัวจนมีแรงขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดี

วันนี้ (16 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้โพสต์ภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเป็นภาพหน้าของการประชุมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายในที่ประชุมของศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) โดยในภาพระบุข้อความว่า “มติที่ประชุม ศปมผ.ครั้งที่ 11/2558”

“2.ให้ สน.กม.ศปมผ.ออกประกาศยกเลิกเครื่องมือการทำประมงที่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ ได้แก่อวนรุน (ยกเว้นอวนรุนเคย) ไอ้โง่ อวนล้อมปลากะตักปั่นไฟและโพงพาง”

“3.ให้ กปม.กำหนดจำนวนและขนาดเครื่องมือการทำประมงที่จะใช้กับเรือประมงแต่ละประเภท โดยรายงานให้ที่ประชุมร่วมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป”


(ภาพ : บรรจง นะแส)

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ได้เปิดเผย ‘ASTVผู้จัดการภาคใต้’ ว่าถือเป็นมิติที่ดีมากๆ ของการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายของประเทศไทยแต่ในทางปฏิบัติยังต้องรอดูเพราะเกินศักยภาพของกรมประมงเพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องบูรณาการ ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ มีในพื้นที่ไหน หัวหน้าส่วนนั้นๆ ต้องร่วมรับผิดชอบมาตรการแก้ไขให้สำเร็จถึงจะเป็นจริง

“เพราะตัวอย่างอวนรุนในทะเลสาบสงขลามีกฎหมายห้ามชัดเจนแต่ก็มีอวนรุนกว่า 100 ลำเป็นตัวอย่าง ส่วนแนวโน้มความเป็นไปได้คาดว่าเพื่อความรวดเร็วคงออกมาเป็นประกาศกระทรวง เหมือนกับประเทศอินโดนีเซียที่ออกประกาศกฎกระทรวงยกเลิกเครื่องมือพวกนี้ไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมมีข้อสังเกตเรื่องมติคืออ้วนล้อมปั่นไฟมีกฎหมายห้ามอยู่แล้วอยากให้กรมประมงไปดูประกาศกระทรวงที่อดีต รมช.เกษตรฯ นายมณฑล ห้ามไว้ชัดเจนแต่เลี่ยงบาลีให้เรือปั่นไฟใช้อวนช้อน ครอบ ยก เจตนารมณ์คือให้กลับไปใช้ประกาศของอดีตรมช.บุญเอื้อ คือยกเลิกการทำการประมงด้วยเรือปั่นไฟ”

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามหากมองในมิติของการต่อสู้กับการทำประมงที่ผิดกฎหมายมายาวนานไม่ต่ำกว่า 30 ปี ถือว่าเป็นชัยชนะของคนกินปลาทั่วประเทศที่ตื่นตัวจนมีแรงกดดันสูงมากพอจนสามารถผลักดันเรื่องนี้ได้

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #109  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


แนวหน้า
17-07-15

มติ 'ศปมผ.' ยกเลิก 4 เครื่องจับปลา ยึดเวลาบริการประมงถึง 24 ก.ค.นี้



16 ก.ค.58 พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นประธานในการประชุม การติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ตามข้อสังเกตในการตรวจเยี่ยมของคณะสหภาพยุโรป ของ ศปมผ.ครั้งที่ 11 ณ ห้องประชุมกองบัญชาการกองทัพเรือ วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดยในวันนี้มีหัวหน้า ผู้แทน ส่วนราชการใน ศปมผ.และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

โดยมติที่ประชุมมีดังนี้

1.ให้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) โดยศูนย์การแจ้งเรือเข้า/ออก (PIPO) ร่วมกับกรมประมง กรมเจ้าท่า และ กสทช.ขยายช่วงเวลาการออกหน่วยบริการด้านการประมงเคลื่อนที่ จนถึงวันที่ 24 ก.ค.58 โดยให้สมาคมการประมงต่างๆ ประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงได้รับทราบต่อไป

2.ให้ส่วนกฎหมายและจัดระเบียบเรือประมง (สน.กม.ศปมผ.) ออกประกาศยกเลิกเครื่องมือทำการประมงที่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำได้แก่ อวนรุน (ยกเว้นอวนรุนเคย) ไอ้โง่ อวนล้อมปลากระตักปั่นไฟ และโพงพาง

3.ให้กรมประมงกำหนดจำนวน และขนาดเครื่องมือทำการประมงที่ใช้กับเรือประมงแต่ละประเภท โดยรายงานให้ที่ประชุมร่วมพิจารณาในการกระชุมครั้งต่อไป

4.ให้สำนักงานเลขานุการ ศปมผ.(สล.ศปมผ.) ร่วมกับกรมประมง และกรมเจ้าท่า ดำเนินการกำหนดพื้นที่ทำการประมงของเรือประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ ให้มีความชัดเจน และรายงานให้ที่ประชุมร่วมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป และ

5.ให้ส่วนกฎหมายและจัดระเบียบเรือประมง (สน.กม.ศปมผ.) และคณะทำงานจัดทำนโยบาย จัดการด้านการประมงทะเล ชี้แจงรายละเอียดตามข้อคิดเห็นในการประชุมครั้งต่อไป

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #110  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


แนวหน้า
17-07-15

ส่องแผนเซฟชีวิต ‘วาฬบรูด้า’ อีก 2 ขั้น ดันสู่ ‘สัตว์สงวน’ เป็นจริง



สถานการณ์ท้องทะเลไทย ณ ปัจจุบัน ถือได้ว่าอยู่ในขั้น “วิกฤติ” เพราะทรัพยากรที่เคยสมบูรณ์ นับวันจะยิ่งทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะ “กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก” ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการ “สูญพันธุ์”

ระยะหลังๆ ภาพการ “เกยตื้นตาย” ตามชายหาดของกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก เช่น “วาฬ-โลมา-พะยูน-เต่าทะเล” ปรากฏให้เห็นมากขึ้นและต่อเนื่อง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากในประเทศไทยรอบ 12 ปี หรือตั้งแต่ปี 2546-2557 ของ “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” หรือ ทช. พบว่า มีสัตว์ทะเลเกยตื้นตาย รวม 2,201 ตัว ประกอบด้วย เต่าทะเล 1,209 ตัว คิดเป็น 55%, โลมาและวาฬ 851 ตัว คิดเป็น 39% และพะยูน 141 ตัว คิดเป็น 6% และในแต่ละปีมีแนวโน้มของการเกยตื้นเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ.....

“วาฬบรูด้า”!!!

ที่ “เป็น-ตายเท่าๆกัน” เพราะมีอัตราการเกิดและการตายเท่ากันในอัตรา 4-5% น้อยกว่าสัตว์ทะเลกลุ่มเสี่ยงชนิดอื่นๆ จึงถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นในอนาคต “วาฬบรูด้า” ที่กลุ่มนักอนุรักษ์ยกให้เป็น “สัญลักษณ์แห่งอ่าวไทย” คงเหลือไว้เพียงชื่อ



นี่จึงกลายเป็นที่มาของการผลักดันให้มีการ “ขึ้นบัญชีวาฬบรูด้า” ในฐานะ “สัตว์สงวน” ของกลุ่มนักวิชาการ “คนรักวาฬบรูด้า” ที่ลุกขึ้นมารณรงค์-เรียกร้องผ่านเว็บไซต์ www.change.org/saveourwhale ซึ่งเมื่อพลิกดูรายชื่อ “บัญชีสัตว์” ที่ได้รับการประกาศเป็น “สัตว์สงวน” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พบว่า ประเทศไทยมีการขึ้นบัญชีสัตว์ไว้ 15 ชนิด ได้แก่ 1.นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร 2.แรด 3.กระซู่ 4.กูปรี หรือโคไพร 5.ควายป่า หรือมหิงสา 6.ละอง หรือละมั่ง

7.สมัน หรือเนื้อสมัน 8.เลียงผา 9.กวางผา 10.นกแต้วแล้วท้องดำ 11.นกกระเรียน 12.แมวลายหินอ่อน 13.สมเสร็จ 14.เก้งหม้อ โดยชนิดที่ 15 ลำดับสุดท้ายที่ได้มีการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนไว้ คือ“พะยูน” หรือ “หมูน้ำ” ที่ถูกเสนอเป็นสัตว์สงวนในปี 2503

ถ้า “วาฬบรูด้า” ได้รับการขึ้นบัญชี จะเป็น “สัตว์สงวนชนิดที่ 16” ของประเทศไทย จะถือเป็นการทลายกำแพงที่กั้นขวางการขึ้นบัญชี “สัตว์สงวน” เป็นครั้งแรกในรอบ 55 ปี!!!

ข้อมูลของ “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” นักวิชาการด้านทะเล และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันในเรื่องนี้ ระบุว่า “วาฬบรูด้า”เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล มีความยาวเกิน 15 เมตร น้ำหนักมากกว่า 20 ตัน จึงถือเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่เป็นประจำในประเทศไทย ปกติ “วาฬบรูด้า” จะเข้ามาหากินในพื้นที่ชายฝั่ง จ.ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ ทำให้ไทยถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่มี “วาฬบรูด้า” เข้ามาหากินใกล้กับเมืองหลวงมากที่สุด

นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์ทะเลชนิดเดียวที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ คือ “สายสมุทร และสมสมุทร” แต่ปัจจุบันมีเพียง 50 ตัว ในอ่าวไทย จึงสมควรต้องอนุรักษ์ไว้

ทั้งนี้ ปริมาณสัตว์ทะเลหายากลดน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ “วาฬบรูด้า” เหลือเพียง 50-70 ตัว และในรอบ 4 ปี วาฬตายมากถึง 15 ตัว ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น โดยจากการศึกษาจำนวนประชากรวาฬในประเทศไทย ระหว่างปี 2553-2557 พบจำนวนประชากรวาฬบรูด้าในอ่าวไทย 50 ตัว เป็นแม่วาฬบรูด้าที่มีลูก 13 ตัว และพบลูกวาฬเกิดใหม่ 21 ตัว ในแต่ละปีมีลูกเกิดใหม่ 2-5 ตัว

อย่างไรก็ตาม ยังมีการตายของวาฬบรูด้าอยู่ระหว่างปีละ 1-4 ตัว ตายสะสมรวม 14 ตัว ในจำนวนนี้เป็นลูกวาฬบรูด้ามากถึง 3 ตัว อัตราการตายเฉลี่ยที่มีมากกว่า ร้อยละ 5 ต่อปี ทำให้กลุ่มประชากรวาฬบรูด้าในอ่าวไทยกลุ่มนี้อยู่ในภาวะความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

“พฤติกรรมหากินของวาฬชนิดนี้ ปกติชอบจับกลุ่มกันออกหาอาหาร โดยแหล่งอาหารของวาฬบรูด้ายังใช้เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของทะเลในบริเวณดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งการพบวาฬบรูด้าในอ่าวไทยตอกย้ำว่าทะเลไทยสมบูรณ์
แค่ไหน จึงถึงเวลาที่จะให้วาฬบรูด้าถูกจัดให้เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 เพื่อหยุดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของวาฬบรูด้า สัตว์ประจำถิ่นขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยชนิดนี้” ธรณ์ กล่าว

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ภารกิจผลักดัน “วาฬบรูด้า” เป็น “สัตว์สงวน” ได้ผ่านขั้นตอนที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อที่ประชุม “กรมประมง” เห็นควรให้นำเสนอวาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง เพื่อเป็นสัตว์สงวน

ขั้นตอนต่อไป คือ ส่งผ่านให้คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพิจารณา จากนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่ออนุมัติออกเป็นรายชื่อแนบท้ายพระราชกำหนดต่อไป

เท่ากับเหลือ “บันได” อีกเพียง 2 ขั้น “วาฬบรูด้า” และสัตว์ทะเลหายากในกลุ่มเดียวกัน จะขยับขึ้นสู่การเป็น “สัตว์สงวน” ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงโอกาสที่มันจะอยู่รอดมีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจาก “วาฬบรูด้า” แล้ว ยังมีสัตว์ทะเลหายากกว่า 20 ชนิด ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากระบบนิเวศทางทะเลที่เสื่อมโทรมเช่นกัน ซึ่ง ทช. หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบไม่ได้นิ่งนอนใจ.....

“ชลธิศ สุรัสวดี” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งด้านวิชาการและภาคประชาชน ในส่วนของเครือข่ายด้านวิชาการจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และฐานข้อมูลทางวิชาการ ด้านแหล่งการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลหายากแก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยต่างๆ

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเครือข่ายภาคประชาชนและท้องถิ่น ด้วยการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้การช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้นอย่างถูกต้อง กรณีพบสัตว์เหล่านี้ให้ประสานมายังหน่วยงานของกรม นั่นจะทำให้สัตว์เหล่านี้มีโอกาส “รอดชีวิต” ได้มากขึ้น

การนำเสนอ “วาฬบรูด้า” วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง เป็น “สัตว์สงวน” ถือเป็นการยกระดับความสำคัญของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งเป็นสัตว์ที่นักท่องเที่ยวและนักดำน้ำทั่วโลกให้ความสนใจ ถ้าประเทศไทยมีแผนการอนุรักษ์และการจัดการที่ชัดเจน จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านการศึกษาวิจัย การอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมได้

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:03


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger