เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #71  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

มติชน
29-05-2015




นายมนูญ ตันติกุล ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมประมงได้ออกประกาศปิดอ่าวไทยตอนใน หรืออ่าวไทยรูปตัว "ก" ครอบคลุมทะเลบางส่วนในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-31 กรกฎาคมนี้ เพื่ออนุรักษ์แหล่งอาหารและแหล่งเลี้ยงตัวของสัตว์น้ำหลายชนิด ให้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยตามประกาศดังกล่าวห้ามการใช้เครื่องมือประมงต้องห้าม เช่น เครื่องมืออวนล้อม อวนลาก อวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือกล แต่ไม่มีผลถึงการทำประมงที่ใช้เครื่องมือประมงที่ได้รับการยกเว้น เช่น เครื่องมืออวนติดตาปลาทู ที่มีขนาดช่องตาไม่ต่ำกว่า 3.8 เซนติเมตร ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร

"ขอให้ชาวประมงปฏิบัติตามกฎระเบียบ เพราะการวิจัยพบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน ปลาทูขนาดเล็กยังไม่สามารถวางไข่ได้ หากปล่อยปลาทูเจริญเติบโตต่อไปอีก 2 เดือนจะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น และยังทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กสามารถเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างมหาศาลด้วย"
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #72  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

GREENPEACE
30-05-2015

นิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนไม่ได้ช่วยปลดล็อกใบเหลืองอียู แต่กลับซ้ำเติมวิกฤตทะเลไทย

รัฐบาลกำลังปลดล็อคใบเหลืองอียูเพื่อใคร? เป็นประเด็นที่สังคมกำลังจับตามอง พร้อมกับมีข้อกังขาที่เกิดขึ้นถึงมาตรการแก้ไขวิกฤตปัญหาทะเลไทยอย่างไร ให้ยั่งยืนและเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมธิการยุโรป (European Commission) แจ้งเตือนต่อรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ กรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing) โดยให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินตามมาตรการต่างๆ เพื่อถอดถอนใบเหลือง

แต่ในมาตรการการจัดการปัญหาภายใต้แผนระดับชาตินั้น กรมประมงมีแผนการ “นิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน” จำนวน 3,199 ลำโดยจะออกอาชญาบัตรเครื่องมือประมงอวนลากให้กับเรือประมงอวนลากที่ผิดกฏหมายเหล่านี้

งานวิจัยหลายชิ้นสนับสนุนว่าการทำประมงอวนลากในประเทศไทยส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว รวมทั้งยังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของทรัพยากรสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการัง หญ้าทะเล ระบบนิเวศพื้นท้องทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านในทะเลเพื่อดักจับปลาให้เสียหายอยู่เสมอ ซึ่งกรมประมงก็ตระหนักในปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี

“ประมงอวนลากได้ทำร้ายทะเลไทยและชุมชนประมงชายฝั่งอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน การแก้ปัญหา IUU Fishing ต้องไม่ผลักสถานการณ์ประมงไทยให้เลวร้ายไปกว่านี้ ด้วยการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน ในทางกลับกันรัฐควรจะพลิกวิกฤตที่ EU ให้ใบเหลืองประมงไทยเป็นโอกาสต่อมาตรการกำจัดเครื่องมือประมงทำลายล้างเหล่านี้ให้หมดไป” ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดินกล่าว

ปัญหาวิกฤตทะเลไทยที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่อุตสาหกรรมการประมงของไทย แต่ยังส่งผลต่อชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นผู้ทำประมงอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์ท้องทะเลไทย รวมถึงต่อผู้บริโภคอาหารทะเลที่พึ่งพาความมั่นคงทางอาหารของไทย



ในวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2558 พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจาก สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง สมุทรสงคราม และสงขลาและเครือข่ายภาคประชาสังคมรวมกว่า 80 คน ได้รวมตัวกันหน้าศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมเรียกร้องมาตรการการจัดการปัญหาใบเหลืองประมง ในแผนการจัดการปัญหาประมงระดับชาติซึ่งยังไม่นำไปสู่การจัดการปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

ป้ายข้อความ “ใบเหลืองอียูปลดล็อคเพื่อใคร” ถูกชูขึ้นเบื้องหน้าศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย พร้อมกับความหวังที่พี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน และภาคประชาสังคมฝากไว้ให้กับภาครัฐให้หยุดการนิรโทษกรรมเรือประมงผิดกฎหมายและทำลายล้าง ซึ่งรวมถึง เรืออวนลาก อวนรุน อวนล้อมปั่นไฟปลากะตักกลางคืน และอวนล้อมปลากระตักกลางวัน

นอกจากจะตอกย้ำให้ภาครัฐรับรู้ถึงวิกฤตทะเลที่เกิดจากการเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ภาคประชาสังคมร่วมกันเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการคือ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนประมงพื้นบ้าน ชาวประมงชายฝั่ง และภาคประชาชนอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการร่างแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPOA-IUU) รวมถึงการร่างกฏหมายลูกที่จะมารองรับกฏหมายประมง พ.ศ.2558



“EU Yellow Card. People Before Profit” คืออีกหนึ่งข้อความที่ส่งถึงคณะกรรมการอียู ด้วยข้อกังวลว่า ภาครัฐจะคำนึงถึงเฉพาะผลประโยชน์ทางธุรกิจของอุตสาหกรรมการประมงที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม โดยที่มองข้ามวิกฤตปัญหาทางทรัพยากรที่เกิดขึ้น และละเลยผลประโยชน์ของประชาชนในระยะยาว เพราะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นไม่ใช่มีแค่อุตสาหกรรม แต่มีชาวประมงพื้นบ้านที่อนุรักษ์และฟื้นฟู รวมถึงผู้บริโภคที่มีส่วนในการกินอาหารทะเลที่เป็นธรรม และเป็นเจ้าของทะเลด้วยเช่นกัน

“การใช้ใบเหลืองอียูเป็นข้ออ้างในการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อนของกรมประมงนี้ถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรปในการออกมาตรการ IUU Fishing เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และยังจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในการบริหารจัดการประมงและทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทยอย่างมหาศาล ตลอดจนสร้างความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรประมงของประชาชนในประเทศเป็นวงกว้างอีกด้วย” บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว

อนาคตของทะเลไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกำหนดมาตรการครั้งนี้ของรัฐเท่านั้น แต่เราชาวไทยทุกคนสามารถร่วมกันผลักดันทางออกที่ยั่งยืนของทะเลไทยได้ ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคและเป็นเจ้าของทะเล เพราะทะเลไทยไม่ใช่สมบัติของอุตสาหกรรมการประมงบริษัทใดที่มุ่งกอบโกยผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว การปกป้องทะเลไทยด้วยการหยุดนิรโทษกรรมเรือประมงแบบทำลายล้างของภาครัฐในครั้งนี้ จะช่วยให้ทะเลไทยฟื้นตัว และสามารถผลิตอาหารทะเลให้เราและลูกหลานได้มีกินมีใช้กันไปอีกนาน

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #73  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

greennewstv
30-05-2015

กลุ่มประมงพื้นบ้านเดินขบวนมอบปลายักษ์ให้เจ้าสัวซีพี จี้เลิกจับปลาเล็กทำปลาป่นป้อนอาหารสัตว์



เครือข่ายประมงพื้นบ้านเดินขบวนไปเยี่ยมตึก ซี.พี.ทาวเวอร์ ถ.สีลมหิ้วปลาตัวใหญ่มาให้เจ้าสัวธนินท์ เรียกร้องให้หยุดสนับสนุนการประมงทำลายล้าง

วันนี้ (29 พ.ค.) เวลา 12.00 น. นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และนายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านกว่า 80 ชีวิต เข้าพบคณะผู้แทนจาก บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ที่อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ ถนนสีลม เพื่อนำปลาขนาดใหญ่หลายตัวมามอบให้แก่ “นายธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) พร้อมจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ทางซีพีเลิกสนับสนุนการทำประมงแบบทำลายล้าง



ซึ่งการนำปลาขนาดใหญ่มามอบให้กับนายธนินท์ในครั้งนี้ เพื่อให้ได้ตระหนักว่าปลาที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงเช่นนี้ คือผลิตผลที่เกิดจากท้องทะเลไทย และกำลังจะหายไปหากยังมีการทำประมงแบบทำลายล้าง ที่ไม่มีโอกาสให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ได้เติบโต แต่ต้องมาจบชีวิตเพียงแค่ปลาป่นและกลายเป็นอาหารสัตว์

“นายสะมะแอ เจะมูดอ” เปิดเผยว่า การเดินทางมาในวันนี้ก็เพื่อที่จะเรียนให้ท่านเจ้าสัวได้ทราบว่า ชาวประมงพื้นบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบอาชีพรุนแรงขึ้นทุกวัน หลายชุมชนถึงขั้นล่มสลายในการทำอาชีพประมง ต้องอพยพถิ่นฐานไปขายแรงงานที่อื่น เนื่องมาจากทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลลดลงอย่างรุนแรง จากการทำประมงแบบทำลายล้างด้วยเครื่องมือ 3 ชนิดที่เรียกว่า อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ



ซึ่ง “ธุรกิจปลาป่น” ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ มีส่วนสนับสนุนให้การทำประมงแบบทำลายล้างดำรงอยู่ได้ เพราะเหล่ากุ้ง หอย ปู ปลา ตัวเล็กตัวน้อยที่รอวันโตเหล่านี้ จะถูกกวาดจับด้วยเครื่องมือประมงดังกล่าว กลายเป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อส่งเข้าโรงงานปลาป่น และผู้ที่ใช้ปลาป่นในการประกอบธุรกิจมากที่สุด ก็คือบริษัทต่างๆในเครือเจริญโภคภัณฑ์นั่นเอง

นอกจากนี้สิ่งที่ทางกลุ่มรับรู้คือ ธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นใหญ่โต มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย และมีอิทธิพลเหนือระบบราชการและการเมืองภายในประเทศ รวมถึงอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจต่างๆแทบทุกชนิดที่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ “ธุรกิจปลาป่น” นั้นมีส่วนทำร้ายอาชีพการทำประมงชายฝั่งอย่างแท้จริง



ในวันนี้จึงอยากขอร้อง ขอความเห็นใจ และขอความร่วมมือจากบริษัทในเครือ CP หยุดการสนับสนุนการทำประมงแบบทำลายล้าง ด้วยการยุติการรับซื้อวัตถุดิบหรืออื่นใดจากการทำประมงรูปแบบดังกล่าว ซึ่งทางกลุ่มเชื่อว่าหากทางบริษัทรับรู้เหตุผลและสามารถทำได้ จะมีส่วนช่วยให้การทำลายล้างทรัพยากรในทะเลลดลง และช่วยให้การประกอบอาชีพประมงชายฝั่งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ด้าน “นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์” ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ CPF กล่าวยืนยันว่า ทางบริษัทฯไม่มีโรงงานผลิตปลาป่น แต่ได้รับซื้อมาอย่างถูกต้องตามหลักการของ IUU Fishing และมีแรงงานที่ถูกต้อง แต่ถึงอย่างไรทาง CP ก็รับปากว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องของทางกลุ่มฯอย่างแน่นอน

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #74  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

greennewstv
03-06-2015

แนะคนกรุงกินปลาแบบช่วยรักษาทะเล



อาหารทะเลตามท้องตลาดมาจากประมงแบบทำลายล้าง ตัดวงจรลูกปลา สูญเสียแนวปะการัง – แนะผู้บริโภคทำความรู้จักสัตว์น้ำอินทรีย์ ยื้อชีวิตทะเลไทย ต่อลมหายใจประมงพื้นบ้าน

ทีมข่าวสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมมาเยือนแผงขายอาหารทะเลสด ในพื้นที่กลางกรุงย่านเอกมัย ที่มีชื่อหน้าร้านว่า “โครงการประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำอินทรีย์” สินค้าในวันนี้มีตั้งแต่ปลาทรายจากอวนลอย ปลาเก๋าที่ตกได้จากเบ็ดชาวประมงน่านน้ำทะเลกระบี่ ปลาครูดคราดสัตว์น้ำท้องถิ่นฝั่งอันดามันที่ชื่ออาจไม่คุ้นหู รวมทั้งปลานิลน้ำกร่อยที่ตกได้จากทะเลสาบสงขลา ดูเผิน ๆ แผงขายปลานี้เหมือนทุกที่ทั่วไป แต่สัตว์น้ำที่นำมาจำหน่ายกลับแตกต่างจากท้องตลาดที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าถึง



อาหารทะเลสดตามท้องตลาดส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดมาจากประมงพาณิชย์ ซึ่งนิยมใช้เครื่องมือแบบทำลายล้าง เช่น อวนลาก อวนรุน ที่วิธีการจะกวาดต้อนสัตว์น้ำมาทั้งหมด นอกจากได้สัตว์น้ำขนาดที่ต้องการแล้วยังจับสัตว์เศรษฐกิจวัยอ่อน สัตว์สงวน และปะการังหรือหญ้าทะเลขึ้นมาด้วย สัตว์น้ำที่สภาพดีจะถูกแยกออกไปขายยังท้องตลาด ส่วนปลาที่สภาพไม่ดี ปลาตัวเล็กตัวน้อย ที่เรียกว่าปลาเป็ดจะถูกส่งเข้าโรงงานอาหารสัตว์ทำเป็นปลาป่น ทั้งนี้สัตว์น้ำทะเลที่ถูกอัดอยู่ในถุงอวนเป็นเวลานานตั้งแต่ทะเลถึงชายฝั่งและการขนส่งมาถึงตลาด มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการใช้สารเคมีเพื่อรักษาสภาพความสดให้ยังคงขายได้ราคา

กลายเป็นรูปแบบการประมงแบบไม่รับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้บริโภคก็ยังคงเลือกซื้อเลือกกินสัตว์น้ำจากการทำประมงรูปแบบนี้


ภาพจากคลิป Where does our SEAFOOD come from?? : https://www.youtube.com/watch?v=JB7p2msCcF4

ส่วนสินค้าจากโครงการประมงพื้นบ้านสัตว์น้ำอินทรีย์มีกระบวนการที่แตกต่างกัน โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ภายใต้การสนับสนุนงบของสหภาพยุโรป ที่นำสินค้าจากประมงพื้นบ้านที่มีความรับผิดชอบ และได้การรองรับจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งการทำประมงว่าวิธีการจับและผู้จับเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมทั้งสัตว์ที่ได้จะต้องมีการดูแลคุณภาพให้สดโดยไม่ปนเปื้อนสารเคมีทุกขั้นตอน

“ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ” ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน – สัตว์น้ำอินทรีย์ ระบุว่าสินค้าที่นำมาจำหน่วยมาจากกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ในพื้นที่อยู่แล้ว ได้แก่ 1.กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2. แพปลาชุมชน ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 3. แพปลาชุมชนบ้านหินร่วม ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา 4. แพปลาชุมชนบ้านช่องฟืน ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง 5. แพปลาชุมชนบ้านคุขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา และกำลังขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม

“ประมงพื้นบ้านออกเรือเช้ามาเย็นกลับ หรือไปแค่วันสองวัน เขาใช้เครื่องมือมีลักษณะคัดเลือกจับสัตว์น้ำ เช่น อวนลอย ลอบ หรือไซ ซึ่งระบุชัดเจนว่าจะได้สัตว์น้ำที่มีชนิดและขนาดตามที่ต้องการ ก่อนจะเอาขึ้นมาขาย”

สินค้าคุณภาพเหล่านี้แต่เดิมจะมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อถึงหมู่บ้านก่อนนำไปขายยังต่างประเทศหรือร้านอาคารในโรงแรม อีกส่วนถูกนำไปขายรวมกับปลาที่ได้จากเรือพาณิชย์ การเปิดโอกาสให้สินค้าจากประมงพื้นบ้านมาถึงมือผู้บริโภคโดยตรงจึงทำให้ชาวประมงมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนคนซื้อก็ได้เข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพ ปราศจากสารเคมี และไม่ส่งเสริมการทำลายทรัพยากรในทะเล

“ปลาแป้น จากที่เคยไม่มีมูลค่าเลย มักถูกนำไปทำเป็นอาหารเลี้ยงปลาในกระชัง แต่เมื่อส่งเสริมให้ชุมชนแปรรูป จากกิโลกรัมละไม่กี่บาทก็มีมูลค่าได้ แล้วเราก็จะแนะนำลูกค้าให้รับประทานปลาแป้นที่มีแคลเซียม ซึ่งดีกว่าการทานปลาสายไหมหรือปลาข้าวสารที่เป็นลูกปลากระตักซึ่งไม่ควรรับประทาน” ผู้จัดการโครงการ กล่าว


ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน – สัตว์น้ำอินทรีย์

สินค้าในร้านมีทั้งปลากะพงหิน (ครูดคราด) ปลาเก๋า ปลากะพงแดง เนื้อกะพงขาวแล่ เนื้อปลาน้ำดอกไม้ ปลาอินทรีย์แว่น ปลากุเราแว่น กุ้งแชบ๊วยหลายขนาด กุ้งแห้ง เนื้อปลาสีเสียดแล่ ปลาขี้เก๊ะ หรือเปลี่ยน ไปตามฤดูกาล ทั้งนี้จะคัดสัตว์น้ำท้องถิ่นรสชาติดีที่ไม่มีขายในกรุงเทพ ฯ มาแนะนำให้เลือกซื้อด้วย โดยสามารถสั่งซื้ออนไลน์ หรือเดินทางมาซื้อถึงหน้าแผง ผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ทางเพจเฟสบุ๊ค @เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

ซึ่งนอกจากสินค้าอาหารทะเลที่นำมาจำหน่าย ยังจัดกิจกรรมให้ผู้บริโภคลงพื้นที่สัมผัสการทำประมงพื้นบ้านด้วยตาตนเอง รวมทั้งอีกหนึ่งกิจกรรม “กินปลา-รักษาทะเล” ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ณ ครัวใส่ใจ ซ.วิภาวดี 22 ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะทำให้คนกรุงได้รู้จักการเลือกบริโภคบนแนวทางรับผิดชอบต่อธรรมชาติให้มากขึ้น

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #75  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

ข่าวสด
04-06-2015

หนุ่มสวีเดนโชว์ตกปลายักษ์ 2 เมตร หนักร้อยกว่าโล ขายไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท



อีริค แอ็กซ์เนอร์ ชาวสวีเดนวัน 24 ปี ออกทริปตกปลาพร้อมเพื่อนอีก 2 คน คือโจนาธาน แจนส์สัน และมาร์ติน แบมเบิร์ก ที่เกาะล็อฟเท็น ประเทศนอร์เวย์ และอีริคก็ได้พบกับเรื่องไม่คาดฝัน เมื่อเขาสามารถตกปลาแฮริบัตขนาดยักษ์ไว้ได้ โดยอีริคต้องลากดึงปลาแฮริบัตตัวนี้อยู่นาน และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงปลาตัวนี้ขึ้นมาจากน้ำ

เขาจึงตัดสินใจกระโดดลงไปในน้ำที่หนาวจัด เพื่อถ่ายรูปตัวเองกับปลาแฮริบัตแทนก่อนจะปล่อยปลายักษ์คืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง

อีริคเปิดเผยว่า "ปลาที่ตัวใหญ่ขนาดนี้เอาขึ้นเรือต้องพังแน่ เราเลยเอามันไว้นอกเรือ"

"ผมไม่อยากทำให้มันบาดเจ็บ เลยกระโดดลงน้ำไปถ่ายรูปคู่กับมันเท่านั้น การได้อยู่ในน้ำพร้อมๆกับปลาขนาดยักษ์เป็นประสบการณ์ที่พิเศษมากๆ หลังจากเราถ่ายรูปแล้วเราก็ปล่อยปลาคืนสู่ธรรมชาติ"

โดยปลาแฮริบัตที่อีริคจับได้ตัวนี้ มีความยาวเกือบ 2 เมตร และมีน้ำหนักกว่า 100 ก.ก. ซึ่งจากการคำนวณน้ำหนัก ปลาแฮริบัตตัวนี้จะมีเนื้อส่วนฟิเลประมาณ 250 ชิ้น ตามภัตตาคารชั้นดีจะขายจานหลักที่เป็นปลาแฮริบัตที่จานละประมาณ 25 ปอนด์ หรือราว 1,290 บาท ทำให้ปลาตัวนี้อาจมีมูลค่ารวมมากถึง 6,000 ปอนด์ หรือราว 309,700 บาท เลยทีเดียว

จากการประเมินคร่าวๆปลาแฮริบัตตัวนี้น่าจะมีอายุ 20-30 ปี ขณะที่ปลาแฮริบัตขนาดใหญ่ที่สุดที่มีผู้จับได้มีน้ำหนักมากถึง 234 ก.ก. โดยนักตกปลาชาวเยอรมัน เมื่อปี 2556

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #76  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

เดลินิวส์
05-06-2015


เรือไอซ์แลนด์ขนเนื้อวาฬ 1,700 ตันส่งขายญี่ปุ่น



สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ว่า กองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ (ไอเอฟเอดับเบิลยู) เผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์การเดินเรือมารีนทราฟฟิก ระบุว่า เรือ "วินเทอร์เบย์" ของบริษัทล่าวาฬฮวาลูร์ เอชเอฟ ของไอซแลนด์ ออกเดินทางจากท่าเรือเมืองฮาร์ฟนาร์ฟยอร์ดู ทางตะวันออกของประเทศ เมื่อเวลา 17.30 น. วันพฤหัสบดี ตามเวลาประเทศไทย โดยบรรทุกเนื้อวาฬ 1,700 ตัน เพื่อขนส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น“

แหล่งข่าวเผยว่า เรือลำดังกล่าวมีกำหนดจอดเทียบท่าระหว่างทาง 4 ครั้ง ซึ่งการเดินทางอาจไม่ราบรื่นตามแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจากคาดว่าจะมีกระแสต่อต้านตลอดเส้นทาง โดยการขนส่งเมื่อปีที่แล้ว เรือขนเนื้อวาฬจอดพักระหว่างทางแค่เพียงครั้งเดียวนอกฝั่งมาดากัสการ์ ทั้งที่มีแผนจะเข้าเทียบท่าที่แอฟริกาใต้ แต่กระแสต่อต้านกดดันให้รัฐบาลต้องออกมาประกาศไม่ต้อนรับเรือดังกล่าว“

ปัจจุบัน ไอซ์แลนด์และนอร์เวย์เป็นเพียง 2 ประเทศที่ยังมีการดำเนินธุรกิจล่าวาฬอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นการท้าทายต่อประกาศห้ามของคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศปี 2529 ขณะที่ญี่ปุ่นอาศัยช่องว่างทางกฎหมายใช้การล่าเพื่อการศึกษาวิจัยบังหน้า ทั้งที่เป็นการล่าเพื่อการพาณิชย์“



ซิกูร์สเตนน์ มัสซัน โฆษกของไอเอฟเอดับเบิลยูประจำไอซ์แลนด์ กล่าวว่า การล่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่เช่นนั้นเป็นเรื่องที่ไร้มนุษยธรรม ไม่มีเหตุผลและความความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องนำเนื้อวาฬมาบริโภค อีกทั้งการล่าวาฬยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจประมงของไอซ์แลนด์อีกด้วย“

องค์กรอนุรักษ์วาฬและโลมา (ดับเบิลยูดีซี) เผยว่า อุตสาหกรรมการล่าวาฬของไอซ์แลนด์เมื่อปี 2557 คร่าชีวิตวาฬฟินไป 137 ตัว และวาฬมิงก์อีก 24 ตัว ขณะที่ปี 2556 มีวาฬฟินถูกล่า 134 ตัว และวาฬมิงก์อีก 35 ตัว โดยความนิยมในการบริโภคเนื้อวาฬในญี่ปุ่นลดลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่มีชาวไอซ์แลนด์เพียงบางส่วนที่ยังบริโภคเนื้อวาฬเป็นประจำ.“

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #77  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

ไทยรัฐ
09-06-2015

ปัญหาประมงไทยที่ควรรู้



สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเดินทางเข้ามายื่นหนังสือเรียกร้องให้ ซีพี หยุดรับซื้อปลาป่น เป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของอุตสาหกรรมประมงไทย เพราะต้นเหตุคือ การทำประมงของเรือพาณิชย์ ด้วยเครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย ทั้งอวนลาก อวนรุน อวนล้อมปั่นไฟ ทำลายระบบนิเวศความอุดมสมบูรณ์ของทะเล เนื่องจากความไม่เข้มงวดและเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายประมงไทย

จนกระทั่งปัญหาถูกยกขึ้นมาเป็นระดับชาติ หนทางแก้ไขที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทุกภาคส่วน เริ่มจากภาครัฐที่มีการแก้ไขกฎหมายประมงไทยให้เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล การต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การรายงานและการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU เพื่อแก้ปัญหาที่คณะกรรมาธิการยุโรป หรือ EU วางกรอบจำกัดเวลาในการแก้ปัญหาไว้ 6 เดือน ไม่เช่นนั้นก็จะมีผลกระทบกับสินค้าประมงไทยทั้งหมด

รัฐบาลไทยโดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหอกในการออกมาตรการเร่งด่วน โดยการตั้งทีมเฉพาะกิจควบคุมเรือประมงที่ออกจากท่าในพื้นที่ 22 จังหวัด และออก 6 มาตรการ ในการจัดการปัญหาประมงไทย ได้แก่ การเร่งขึ้นทะเบียนเรือประมง และออกใบอนุญาตการทำประมง การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ การปรับปรุง พ.ร.บ.การประมง กฎหมายลำดับรอง และ จัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันสินค้าที่ทำผิดกฎหมายประมง

นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกประกาศในแผนแม่บทการดำเนินงานแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง คือ นิรโทษกรรมเรือประมงอวน ลากเถื่อน ด้วยการให้อาชญาบัตรเรือประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายเปลี่ยนสภาพเป็นเรือประมงที่ถูกกฎหมายทันที 3,199 ลำ เป็นที่มาของการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มประมงขนาดเล็ก

ถือว่าเป็นการปล่อยผีอย่างไม่ถูกต้อง

ส่งผลให้กลุ่มประมงพื้นบ้านออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐพิจารณามาตรการดังกล่าวให้รอบคอบและโปร่งใส ที่จะต้องทบทวนถึงมาตรการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านในระยะยาวด้วย

ในขณะที่ กฎหมายประมงไทย อยู่ระหว่างการแก้ไข ปลายเหตุของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ควรจะร่วมกันแก้ปัญหา และยึดหลักการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาคประชาสังคมและภาครัฐ ถ่วงดุลความเป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่ม

ภาคเอกชน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ในฐานะผู้ใช้วัตถุดิบรายใหญ่ ยืนยันจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องทุกประการ เพราะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาประมงไม่สามารถทำได้ด้วยคนใดคนหนึ่ง แต่จะต้องจัดระบบและระเบียบ มีตัก ก็ต้องมีเติม ให้ชุมชนและสังคมสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนตลอดไป.
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #78  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

GREENPEACE
09-06-2015


มหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ คือโลกที่อุดมสมบูรณ์ ..................... โดย มาร์ค เดีย หัวหน้าโครงการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้คนส่วนมากใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ได้นึกถึงมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ แม้ว่าในความเป็นจริง มหาสมุทคคือแหล่งผลิตออกซิเจนที่เราหายใจ ณ ขณะนี้ คำกล่าวที่ว่า “ทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงกัน” นั้น เป็นทั้งความจริงและยังเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำบนผืนดินนั้นในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทรที่สรรพชีวิตต่างพึ่งพิง



ความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกอาจมีแนวโน้มทำให้รู้สึกว่าตัวเราช่างไร้ความสำคัญ หรือเป็นเพียงคนตัวเล็กๆที่ไม่อาจทำอะไรได้ หากมีคนบอกกับคุณว่าบ้านที่คุณอาศัยร่วมกับคนอื่นกำลังโดนไฟไหม้ แน่นอนว่าคุณคงจะไม่นิ่งเฉยนั่งคุยกับเพื่อนร่วมบ้านเพื่อถกว่าใครได้รับถังน้ำดับไฟถังแรกในขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้อยู่รอบตัวคุณ แต่นั่นกำลังเกิดขึ้นในการประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศของเหล่านักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายระดับโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเราก็กำลังรอดูว่าการประชุมสำคัญที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ที่กรุงปารีส ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกหรือไม่


แต่ช้าก่อน…การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวข้องอย่างไรกับความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร?

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า 1 ใน 3 ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์นั้นจะถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทร และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในน้ำ ทำให้อุณหภูมิของท้องทะเลสูงขึ้น และทำให้น้ำทะเลมีภาวะเป็นกรด ซึ่งจะมีผลไปยั้บยั้งในกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นหินปูนหรือกระบวนฟอร์มตัวเพื่อการเจริญเติบโตของประการังและเป็นการสร้างเปลือกและโครงสร้างของร่างกายเพื่อความอยู่รอดของสัตว์ทะเล (calcification) แต่ประการังโชคร้ายเป็น 2 เท่า คือ นอกจากสภาพมหาสมุทรที่มีความเป็นกรดจะส่งผลต่อการสร้างโครงร่างที่เป็นเปลือกแข็งของพวกมันแล้ว ยังไปฟอกสีสาหร่ายซึ่งเจริญเติบโตอยู่ในโครงสร้างของประการังซึ่งพวกมันต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันเพื่อความอยู่รอด และอุณหภูมิของน้ำที่ร้อนจัดจะส่งผลให้ประการังเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือที่เราเรียกว่าประการังฟอกขาวและจะตายในที่สุด ทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลแปรปรวนทั้งระบบ

ปัญหาที่กล่าวมานี้อาจทำให้คุณหันไปให้ความสนใจในเรื่องอื่นที่คุณสามารถทำได้ แต่จริงๆ แล้วหากลองคิดดีๆ คุณก็สามารถมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกัน


คุณช้อปปิ้งหรือเปล่า

เรามักซื้อสินค้าในเกือบทุกวัน และส่วนใหญ่ของที่ซื้อจะถูกบรรจุในถุงพลาสติกเพื่อถือกลับบ้าน คุณทราบหรือไม่ว่าเกือบทั้งหมดนั้นถูกผลิตมาจากพลาสติกราคาถูกที่ออกแบบมาเพื่อการใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ท้ายสุดแล้ว ถุงพลาสติกเป็นจำนวนมากถูกทิ้งลงในมหาสมุทรและถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ

จากนั้นพลาสติกจะสลายตัวไป? ไม่เลย.. พลาสติกจะอยู่ในมหาสมุทรเป็นเวลายาวนาน สร้างความเสียหายและทำร้ายมหาสมุทรตลอดอายุของพวกมัน มีพื้นที่บางจุดของมหาสมุทรเต็มไปด้วยพลาสติกที่กองสะสมเป็นอ่างน้ำวนขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดมลพิษในท้องทะเลอย่างถาวร ใครจะคิดว่าพฤติกรรมการซื้อของของคุณจะก่อให้เกิดผลกระทบและบาดแผลต่อมหาสมุทรได้มากมายขนาดนี้



ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวทั่วโลกที่จะหยุดการใช้พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ในหลายเมืองสามารถทำได้แล้ว ร้านค้าจำนวนมากปฎิเสธที่จะให้ถุงพลาสติกโดยการให้คุณนำถุงใส่ของมาเอง ดังนั้นหากครั้งต่อไปที่คุณซื้อสินค้าแล้วพนักงานขายพยายามที่จะใส่สินค้าที่คุณซื้อลงถุงพลาสติก คุณสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงบอกเขาว่า “ไม่รับถุงพลาสติก” และยื่นถุงใส่ของที่คุณเตรียมมาจากบ้านให้กับพนักงานแทน


คุณทานปลามั้ย?

เราสามารถช่วยกันลดความตึงเครียดของปัญหาในมหาสมุทรลงได้ด้วยตัวคุณเอง โดยการเลือกทานอาหารทะเลอย่างรับผิดชอบและไม่ทำร้ายท้องทะเล บางทีแซลมอนจานโปรดของคุณอาจเดินทางมาจากฟาร์มที่อยู่ห่างจากคุณถึงครึ่งค่อนโลก นั่นหมายความว่าคุณได้มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการทานอาหารในครั้งนี้ นอกเหนือจากนี้ เป็นไปได้ที่ปลาหนึ่งกิโลกรัมที่คุณกำลังทานอยู่นั้นมาจากการเลี้ยงโดยใช้ปลาป่นถึงสามกิโลกรัม ซึ่งเป็นปลาที่ถูกจับจากธรรมชาติ นำมาบดและอัดเม็ดกลายเป็นอาหารปลาสำเร็จรูปเพียง 1 กิโลกรัมเพื่อนำมาเลี้ยงปลาที่คุณชอบกินใส่สารเคมี และยาสำหรับสัตว์น้ำ ซึ่งสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่เราควรถามไถ่ถึงแหล่งที่มาของปลาที่คุณกิน



ปลาทะเลตามธรรมชาติจำนวนมากถูกจับมาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง จำนวนมากถูกจับด้วยเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง การทำประมงเบ็ดราวที่ใช้จับปลาทูน่าบางชนิดทำให้แต่ละปีมีสัตว์อื่นๆที่ไม่ใช่เป้าหมายนับพันตัว เช่น เต่า ฉลาม และนกทะเล ต้องมาติดกับดักนี้ เพราะเรือประมงเบ็ดราวขนาดใหญ่สามารถวางเบ็ดราวยาวหลายกิโลเมตร ใช้เบ็ดหลายพันตัว ที่สามารถจับสัตว์น้ำขนาดใหญ่ทุกตัวที่ว่ายผ่าน

แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง? มีคู่มือแนะนำอาหารทะเลจำนวนมากซึ่งสามารถให้คำแนะนำได้ หากทำได้ควรซื้ออาหารทะเลที่มาจากประมงพื้นบ้าน อาจจะฟังดูยาก แต่เราต้องเริ่มถามผู้ขายทุกครั้งที่ซื้อ เราจะต้องร่วมกันสร้างเทรนด์การทานอาหารทะเลอย่างมีจิตสำนึก รู้แหล่งที่มาของอาหารทะเลว่าทำร้ายท้องทะเล ชาวประมงพื้นบ้าน หรือสุขภาพของคุณเองหรือไม่ และผู้บริโภคสามารถเลือกทานอย่างชาญฉลาดได้

มีวิธีอื่นๆอีกไหม? แน่นอนมีอีกหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้….ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดบนโลกใบนี้ การเลือกบริโภคและเลือกทานอาหารทะเลของคุณสามารถเป็นพลังเพื่อช่วยฟื้นฟูให้มหาสมุทรมีความอุดมสมบูรณ์เพื่อเกื้อหนุนสรรพชีวิตอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ด้วยกัน โลกที่เป็นบ้านใบเดียวของเรา

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #79  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

มติชน
15-06-2015

ธุรกิจประมงป่วน! เรือออกหาปลาไม่ได้-โรงงานแห่ปิด หลังถูกรัฐจัดระเบียบ



นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า หลังการจัดระเบียบประมงไทย ทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ผู้ประกอบการอาจได้รับผล กระทบบ้างเพราะจับปลาน้อยลง แต่เมื่อผลิตสินค้าน้อยลงราคาก็ย่อมขยับขึ้นตาม ถือว่าเป็นเรื่องดี ส่วนการทำประมงพื้นบ้านที่มีเรือ กว่า 30,000 ลำ คงไม่ได้รับผลกระทบเพราะตามหลักการของประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการทำประมงพื้นบ้าน เพียงแค่ต้องมาจดทะเบียนเข้าออกหรือเทียบท่าตามท่าเรือที่กำหนดเท่านั้น

นายพจน์กล่าวว่า ในวันที่ 16 มิถุนายน ทางสภาหอการค้าฯและสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย (ทีเอฟพีซี) ที่ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, สมาคมกุ้งไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป, สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย, สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย, สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จะจัดกิจกรรมประกาศจุดยืนสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการบังคับใช้ พ.ร.บ.การประมง พ.ร.บ.ต่อต้านการค้ามนุษย์ฯ และแนวทางแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูของไทยที่โรงแรมดุสิตธานี

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวว่า หลังการจัดระเบียบ ทำให้การประมงไทยมีปัญหาบ้าง โดยมีเรือประมงออกทะเลได้เพียง 40% เท่านั้น ที่เหลืออีก 60% ไม่สามารถออกไปทำประมงได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องเอกสารการแจ้งที่ศูนย์แจ้งท่าเรือเข้าออก (Port in-Port out) ส่งผลให้ปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนโรงงานแปรรูปลดลงอย่างมาก ทำให้โรงงานแล่เนื้อปลา โรงงานผลิตปลา และปลาบด (ซูริมิ) ปิดกิจการจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.สงขลา คิดเป็นปลาที่หายไป 1 พันตัน/วัน หรือคิดเป็นมูลค่า 20 ล้านบาท/วัน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ชาวประมงยังไม่เลิกทำ ประมง เพียงแต่ไม่สามารถออกทะเลได้เท่านั้น ทางสมาคมอยากให้ภาครัฐและศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เข้ามาดูแลเรื่องต่างๆ ด้วย คือ

1.อำนวยความ สะดวกการออกเอกสารของเรือประมงเพื่อให้ ออกทำประมงได้ตามปกติโดยเร็ว และให้ทัน กับที่ ศปมผ.กำหนดให้แล้วเสร็จภายในสิ้น เดือนมิถุนายนนี้ หากไม่ทันก็อยากให้มีมาตรการอื่นช่วยเหลือชาวประมง

2.อยากให้ กระทรวงแรงงานดูแลเรื่องการจดทะเบียน แรงงานต่างด้าวให้สามารถทำได้ตลอดปี จาก ที่ปัจจุบันเปิดรับครั้งละ 3 เดือน ทำให้ภาคประมงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน

3.อยากให้กรมเจ้าท่าอำนวยความสะดวกเรื่องการออกใบนายท้ายเรือให้แก่คนขับเรือ และควรเปิดสอบใบนายท้ายเรือใหม่ให้ตรงกับประเภทเรือ เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้ใบนายท้ายเรือ ผิดประเภท

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #80  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

มติชน
17-06-2015

สลด!! ประมงไทยชำแหละกระเบนแมนต้าสุดโหด ทั้งที่เหลือเพียง 50 ตัวในอันดามัน



ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก ภาพซากปลากระเบนแมนต้า ซี่งเป็นกลุ่มปลากระเบนที่ใหญ่ที่สุดในโลก บนท้ายรถกระบะ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการคุ้มครองปกป้อง สัตว์ในกลุ่มนี้อย่างจริงจัง โดยเสนอให้กำหนดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามกฎหมาย

จากกรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง ดร.ธรณ์ ซึ่งดร.ธรณ์ ได้ให้ความกระจ่างมาดังนี้

ภาพซากปลากระเบนบนท้ายรถกระบะนั้น เป็นภาพที่เพื่อนของ ดร.ธรณ์ ส่งมาให้ดู ซึ่งเป็นปลากระเบนที่ถูกล่าในจังหวัดระนอง โดยผ่านมาทางท่าเรือขึ้นปลาที่จังหวัดระนอง ซึ่ง ดร.ธรณ์ บอกว่า เป็นท่าขึ้นปลาที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งอันดามันอยู่แล้ว อีกทั้งปลาชนิดนี้มีรายงานว่า พบในแถบจังหวัดตรัง สตูล ระนอง และภูเก็ต

ปัจจุบัน ปลากระเบนแมนต้า ยังไม่ได้เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองจากกฎหมายทางฝั่งกรมประมง ว่าด้วยการห้ามทำการประมง หรือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จาก พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ.2535 จากทางฝั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การที่จะผลักดันปลากระเบนแมนต้าให้ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย ก็อาจจะต้องผลักดันไปพร้อมๆ กับ การเสนอวาฬบรูด้า ให้เป็นสัตว์สงวน ซึ่งจะมีความเข้มข้นกว่าสัตว์คุ้มครอง เนื่องจากสัตว์สงวน จะห้ามล่า ห้ามมีไว้ในครอบครองทุกกรณี

และจากภาพที่มีคนจับฉลามวาฬ ไว้บนเรือประมง ดร.ธรณ์ กล่าวว่า นั่นก็น่าจะผิดกฎหมายเต็มๆ เนื่องจากฉลามวาฬ นอกจากจะอยู่ในความคุ้มครองตามกฎหมาย ให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นสัตว์ห้ามทำการประมง ตามประกาศของกรมประมงอีกด้วย )


(ภาพจากเฟซบุ้ก Pongwat Datchtaradon ที่ระบุว่า ฉลามวาฬตัวนี้ ถูกจับมาจากการทำประมงแบบอวนลาก และเรียกร้องให้การประมงลักษณะนี้ หมดไปจากประเทศไทย)

ทั้งนี้ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า การพยายามผลักดัน ปลากระเบนแมนต้าให้เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครอง นี้ อาจจะเป็นเรื่องยากในแง่ที่ว่า ปัจจุบันเรามีข้อมูลเกี่ยวกับปลาตัวนี้ค่อนข้างน้อย ไม่ค่อยมีใครได้พบ จากแวดวงนักดำน้ำ คาดว่า ทางฝั่งทะเลอันดามัน มีอยู่เพียง 50 ตัวเท่านั้น ซึ่งจำนวนที่มีน้อยขนาดนี้ ก็สมควรที่จะได้รับความคุ้มครองโดยเร็ว

นอกจากนี้ ดร.ธรณ์ ยังได้โพสต์ภาพ การล่าปลากระเบนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก Thailand Manta Project เพจที่ส่งเสริมการวิจัยกระเบนราหูในประเทศไทย




*********************************************************************************************************************************************************


"ดร.ธรณ์" โพสต์เฟซบุ๊ก กระเบนแมนต้า ใหญ่ที่สุดในโลก ยังทยอยถูกฆ่า เสนอให้เป็นสัตว์คุ้มครอง



ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก ภาพซากกระเบนแมนต้า ซี่งเป็นกลุ่มปลากระเบนที่ใหญ่ที่สุดในโลก บนท้ายรถกระบะ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการคุ้มครองปกป้อง สัตว์ในกลุ่มนี้อย่างจริงจัง โดยเสนอให้กำหนดเป็นสัตว์คุ้มครอง ตามกฎหมาย ดังนี้


"ภาพอันน่าเศร้าที่เพื่อนธรณ์เห็นเกิดขึ้นที่ท่าเรือแห่งหนึ่งในประเทศไทยสัตว์ที่นอนตายกองกันอยู่ท้ายกระบะคือหนึ่งในกลุ่มปลากระเบนใหญ่ที่สุดในโลก และสัตว์ที่เป็นเพื่อนรักของนักดำน้ำทุกราย กระเบนกลุ่มนี้ทำรายได้ให้การท่องเที่ยวมหาศาล เป็นความประทับใจแห่งอันดามันที่ผู้มาเยือนไม่เคยลืมเลือน

น่าเสียดายที่ในทะเลมีเครื่องมือประมงบางอย่างที่สามารถจับแมนต้าและญาติกลุ่มนี้ที่น่ารักได้น่าเสียดายที่มีความตายเกิดขึ้นอย่างโหดร้ายในทะเล

การอนุรักษ์แมนต้าและญาติเป็นเรื่องยาก การห้ามการประมงกระเบนกลุ่มนี้เหมือนที่เคยใช้กับฉลามวาฬเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาอย่างไรก็ตามการปล่อยให้แมนต้าและญาติตายไปเรื่อยๆเป็นสิ่งที่คนรักทะเลยอมรับไม่ได้ทางออกสุดท้าย...สัตว์คุ้มครอง

ปลากระเบนกลุ่มแมนต้าและญาติเป็นสัตว์สงวนเช่นบรูด้าไม่ได้เพราะเรามีข้อมูลน้อยมากแต่เราอาจมีช่องทางในเรื่องสัตว์คุ้มครองแม้มันจะยากแสนสาหัสแต่อย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย

ผมจึงลองเสนอแผนง่ายๆดังนี้

- พวกเราช่วยกันผลักดันวาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน หากสำเร็จ กระทรวงทรัพยากรฯ จะจัดประชุมเพื่อพิจารณา หากเป็นไปได้ เราจะพยายามผลักดันแมนต้าและญาติให้เป็นสัตว์คุ้มครองเข้าไปในการประชุมครั้งนี้ด้วย

- แมนต้าและกระเบนกลุ่มนี้เป็นปลาที่ออกลูกน้อยมาก หากแมนต้ารุ่นนี้ถูกฆ่าหมด โอกาสที่ปลากลุ่มนี้จะสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำบริเวณนี้เป็นเรื่องง่าย

- เรามีบทเรียนกับปลาฉนากกับปลาโรนินมาแล้ว ปัจจุบัน เราไม่เจอปลาฉนากอีกเลยและแทบไม่เจอโรนินอีกแล้ว (ที่นักดำน้ำพอเจออยู่บ้างคือโรนัน)

- แมนต้าและเพื่อนบางชนิดอยู่ใน CITES บัญชี 2 ถือเป็นสัตว์ที่ทั่วโลกให้การคุ้มครอง โอกาสนำเสนอเป็นสัตว์คุ้มครองในไทยเป็นไปได้

- ระหว่างนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอาจกรุณาศึกษาความเป็นไปได้ของปลากระเบนกลุ่มนี้ก่อนครับ

เอาเป็นว่าเรามาเริ่มต้นกันตรงนี้ก่อนเพื่อนธรณ์ช่วยกันได้โดยโหวตสนับสนุนให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนทำให้เกิดการประชุมเราจะช่วยกันผลักดันแมนต้าและญาติๆเป็นสัตว์คุ้มครองครับ"

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:41


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger