เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรรพชีวิตแห่งท้องทะเล

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 05-07-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default ในทะเลก็มี “เห็ด"


ในทะเลก็มี “เห็ด"


เห็ดสนิมขอบเขียว (แผ่นวงกลม) ในตู้ปลาการ์ตูน

หลังจากลองเลียบๆเคียงๆถามเพื่อนร่วมงานว่ารู้จัก “เห็ดทะเล” หรือไม่? เสียงสะท้อนกลับมามีทั้งประหลาดใจ บ้างไม่เชื่อ บ้างย้อนว่าทีมข่าววิทยาศาสตร์เพี้ยนไปแล้ว แต่สิ่งมีชีวิตที่ว่านั้นมีอยู่จริงและต่างไปจากเห็ดที่อยู่ในหม้อต้มยำกุ้ง

แม้ชื่อว่าเห็ดและมีรูปร่างคล้ายเห็ดที่เราบริโภคกัน แต่ “เห็ดทะเล” (Muchroom anemone) จัดเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลเดียวกับดอกไม้ทะเลและปะการัง และพบอยู่ตามแนวปะการังน้ำตื้นในเขตร้อนทั่วโลก ลักษณะภายนอกคล้ายดอกไม้ทะเล ซึ่งข้อมูลจากสถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า นักชีววิทยาจึงตั้งชื่อสามัญของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ในความหมายเดียวกับดอกไม้ทะเล

ลักษณะโครงสร้างของเห็ดทะเลมีแผ่นปาก (Pedal dish) อยู่ด้านบน ซึ่งมีช่องปากอยู่ตรงกลาง และรอบๆปากมีหนวดที่อาจสังเกตไม่ได้ในเห็ดทะเลบางชนิด และด้านล่างมีฐาน (Oral dish) ทำหน้าที่ยึดเกาะกับวัสดุใต้น้ำ เช่น ก้อนหินหรือซากปะการังที่ตายแล้วที่เรียกว่า “หินเป็น” ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ เช่น ปะการัง สาหร่ายไปอาศัยอยู่ และจากการศึกษาทางสรีรวิทยาพบว่าเห็ดทะเลคล้ายปะการังมากกว่าดอกไม้ทะเล แต่เห็ดทะเลไม่สามารถสร้างโครงสร้างหินปูนได้เหมือนปะการัง นักวิทยาศาสตร์จึงแยกออกมาเป็นอันดับ* (order) ใหม่

การกินอาหารของเห็ดทะเลนั้นอาศัยสาหร่ายเซลล์เดียวที่ติดอยู่ตามเนื้อเยื่อร่างกายชื่อ “ซูแซนทาลลี” (Zooxanthallae) ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงและให้สารอาหารแก่เห็ดทะเล และบางครั้งหากมีสาหร่ายชนิดนี้เจริญเติบโตมากเกินไป เห็ดทะเลจะจับกินเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าเห็ดทะเลบางชนิดสามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา เป็นต้น เป็นอาหารได้


บ่อเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลระบบปิด

อลงกต อินทรชาติ หัวหน้าสถานีวิจัยประมงศรีราชา ให้ข้อมูลทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เห็ดทะเลเป็นที่รู้จักในวงการสัตว์ทะเลสวยงามมานานแล้ว และเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ไม่ห้ามการเลี้ยงสัตว์ทะเล จึงมีเห็ดทะเลถูกจับจากแหล่งธรรมชาติออกมาจำหน่ายจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจสูญพันธุ์ได้ ดังนั้น ทางสถานีจึงได้ทำโครงการขยายพันธุ์เห็ดทะเลขึ้นมา

“ทำไมเราต้องศึกษาเห็ดทะเล? ตอนนี้มีการนำออกมาจากธรรมชาติเยอะมาก เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ จัดอยู่ในประเภทสัตว์ทะเลสวยงาม และเมื่อนำออกมาแล้วมักมีสิ่งที่เห็ดทะเลยึดเกาะติดมาด้วย ทั้งซากปะการัง ปะการัง และหินเป็น ซึ่งการนำสิ่งเหล่านี้ออกมาด้วยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ล่าสุดเราออกสำรวจที่เกาะกูด บริเวณหน้าผาลึก 8-10 เมตร ต้องดำน้ำถึง 3 ไดฟ์ แต่เจอแค่ 5-6 ดอก ตอนนี้เริ่มหายากมากขึ้น หากไม่อนุรักษ์ไว้ต้องหมดไปแน่ๆ” อลงกตผู้ดูแลโครงการขยายพันธุ์เห็ดทะเลกล่าว

ทั้งนี้ สถานีวิจัยประมงศรีราชาสามารถขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลได้สำเร็จ และยังจัดจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจได้ หลังจากเริ่มโครงการนี้ได้เพียงปีกว่าๆ ซึ่งอลงกตบอกว่าการนำเห็ดทะเลจากธรรมชาติมาขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงนั้นช่วยตอบโจทย์ได้หลายอย่าง ส่วนหนึ่งคือทางสถานีต้องหารายได้เลี้ยงตัวเอง จึงเลือกโครงการที่ใช้พื้นที่ในการเพาะพันธุ์ไม่มาก อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์เห็ดทะเล เพราะจะช่วยลดการนำออกมาจากธรรมชาติลง

การขยายพันธุ์เห็ดทะเลนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดยทีมวิจัยได้นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากทะเลมาผ่าหรือตัดแบ่งเป็นชิ้นส่วนเพื่อขยายพันธุ์ เนื่องจากเห็ดทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งสามารถสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เมื่อถูกตัดออกจึงสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวใหม่ได้ โดยทีมวิจัยได้ตัดแบ่งเห็ดทะเลที่มีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมออกเป็นชิ้นส่วนเหมือนขนมเค้ก ตั้งแต่ 4-8 ชิ้น ขึ้นอยู่กับขนาดของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และเห็ดทะเลจะค่อยๆเจริญเติบโตจนมีรูปร่างเป็นวงกลมอีกครั้ง

ข้อมูลจากสถานีวิจัยประมงศรีราชาระบุว่า เห็ดทะเลสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้ดี ซึ่งส่วนมากจะพบการขยายพันธุ์แบบแตกหน่อ โดยเห็ดทะเลจะย้ายตัวเองจากตำแหน่งเดิมแล้วทิ้งชื้นส่วนเนื้อเยื่อไว้เล็กน้อย และเนื้อเยื่อเหล่านั้นจะค่อยๆพัฒนาเป็นเห็ดทะเลตัวใหม่ หรืออีกวิธีคือการปล่อยตัวเองจากวัสดุยึดเกาะแล้วลอยล่องไปกับกระแสน้ำ เมื่อตกอยู่ในสถานที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็จะเจริญเติบโตต่อไปได้

สาโรจน์ เริ่มดำริห์ นักวิชาการประมง ประจำสถานีวิจัยประมงศรีราชา ผู้มีหน้าที่หลักในการดูแลและเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลในโครงการ เล่าถึงขั้นตอนการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลชนิดนี้ว่า เริ่มจากการออกไปเสาะหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในธรรมชาติ ซึ่งทีมวิจัยได้ดำน้ำสำรวจในทะเลที่มีกองหินหรือมีลักษณะเป็นกองหินลาดชัน ซึ่งจะพบเห็ดทะเลอาศัยอยู่ โดยได้ออกสำรวจที่เกาะแสมสาร จ.ชลบุรี และเกาะกูด จ.ตราด และนำเห็ดขนาดใหญ่ๆกลับมา ซึ่งแต่ละชนิดก็มีขนาดต่างกัน

ขั้นตอนการเก็บเห็ดทะเลออกมาจากแหล่งธรรมชาตินั้น สาโรจน์บอกว่าต้องระมัดระวังไม่ให้บอบช้ำ หากเห็ดทะเลยึดเกาะหินปะการังจะใช้มีดเลาะออกมา แต่หากยึดติดกับก้อนหินหรือเปลือกหอยก็จะเก็บกลับมาทั้งก้อน ซึ่งเห็ดทะเลจะห่อตัวหลังเก็บออกมาจากแหล่งธรรมชาติ จึงต้องพักฟื้นให้พร้อมขยายพันธุ์ 1-2 อาทิตย์ แต่หากไม่ฟื้นตัวก็จะห่อเหี่ยวแล้วตายในที่สุด ทั้งนี้ อัตรารอดหลังนำออกมาจากแหล่งธรรมชาติอยู่ที่ 80%

ทีมเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลได้ผลิต “หินเป็นเทียม” ขึ้นมาเป็นวัสดุสำหรับยึดเกาะ และทดลองเปรียบเทียบการเลี้ยงในระบบปิดซึ่งไม่มีการเปลี่ยนน้ำทะเลที่ใช้เพาะเลี้ยง กับการเพาะเลี้ยงในระบบเปิดซึ่งมีการเปลี่ยนน้ำทะเลที่เพาะเลี้ยง ผลปรากฏว่าการเลี้ยงในระบบปิดมีอัตรารอดมากกว่า โดยพบว่าระหว่างเปลี่ยนน้ำทะเลในระบบเปิดนั้นเห็ดทะเลที่เลี้ยงไว้ตายทั้งหมด อลงกตจึงสรุปว่าการเลี้ยงระบบปิดดีที่สุด นอกจากมีอัตรารอดมากกว่าแล้วยังช่วยประหยัดต้นทุนน้ำทะเลด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลทะเล

ทางสถานีวิจัยประมงศรีราชาได้ศึกษาเห็ดทะเลจากอ่าวไทย 23 ชนิด และสายพันธุ์ต่างประเทศอีก 5 ชนิด และพบว่าเห็ดทะเลสายพันธุ์ไทย 6 ชนิดมีศักยภาพต่อยอดทางการค้า อย่างไรก็ดี อลงกตกล่าวว่ายังไม่มีงานวิจัยจำแนกชนิดเห็ดทะเลอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาอาศัยการอ้างอิงจากลักษณะภายนอก ไม่ได้ลงลึกถึงระดับโมเลกุล แต่สามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้อย่างชัดเจน โดยแบ่งเห็ดทะเลได้เป็น 5 กลุ่มคือ เห็ดขน เห็ดสนิม เห็ดสองปาก เห็ดเรียบ และเห็ดหูช้าง โดยเห็ดกลุ่มหลังนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดและค่อนข้างหายาก แต่จากการเพาะเลี้ยงพบว่าขยายพันธุ์ได้ง่าย


เห็ดหูช้าง (วงกลมใหญ่ๆด้านซ้าย) และ เห็ดสองปากผิวย่น (อยู่ติดกันทางด้านขวา)

ด้าน ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการ สวก.ให้ความเห็นแนะนำต่อโครงการขยายพันธุ์เห็ดทะเล 2-3 แนวทางว่า อยากให้ทางสถานีวิจัยประมงเพาะเห็ดทะเลเพื่อจำหน่ายต่อไป อยากให้มีการอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการขยายพันธุ์แก่ผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลเป็นธุรกิจโดยไม่จำกัดจำนวนผู้เข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และอยากให้มีงานวิจัยที่ศึกษาลึกลงไปในระดับโมเลกุลเพื่อรวบรวมสายพันธุ์เห็ดทะเลพื้นเมืองของไทย

“เห็ดทะเลมีความสำคัญต่อระบบนิเวศเหมือนปะการัง ในบางทีปากะรังขึ้นไม่ได้ แต่เห็ดทะเลขึ้นได้ ก็จะเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำได้ อีกทั้งเห็ดทะเลยังช่วยกรองน้ำโดยธรรมชาติได้เหมือนปะการัง ตอนนี้พบว่าหาเห็ดทะเลในธรรมชาติได้ยากมากขึ้น และจะหมดไปหากเราไม่อนุรักษ์ไว้ ซึ่งโครงการขยายพันธุ์เห็ดทะเลนี้จะช่วยให้มีอยู่ในธรรมชาติตลอดไป เพราะเราจะได้ไม่ต้องนำออกมาจากธรรมชาติ อยากให้มีการศึกษาเห็ดทะเลทุกชนิดแล้วเพาะขยายพันธุ์ต่อไป” ดร.นภาวรรณให้ความเห็น

*อันดับ เป็นการจำแนกสิ่งมีชีวิตตามหลักชีววิทยา โดยแยกสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ (Animalia Kingdom) จากกลุ่มใหญ่ไปกลุ่มย่อย ได้ดังนี้ ไฟลัม (Phylum) ชั้น (Class) อันดับ (Order) วงศ์ (Family) สกุล (Genus) และชนิดหรือสปีชีส์ (Species)

**************************************
สำหรับผู้สนใจนำเห็ดทะเลไปจำหน่ายหรือเพาะเลี้ยงสามารถติดต่อ ได้ที่ : อลงกต อินทรชาติ สถานีวิจัยประมงศรีราชา ฝ่ายสนับสนุนวิชาการ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 101/12 ม.9 ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110 โทร.0-3831-1379 โทรสาร.0-3831-1379


**********************************************


รู้ไหมว่า? “หินเป็น” คืออะไร


เห็ดหูช้างยึดเกาะบน "หินเป็นเทียม"

สำหรับใครไม่ได้เลี้ยงสัตว์น้ำอาจไม่รู้จัก “หินเป็น” (Live Rock) วัสดุธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศน์ของตู้ปลา ซึ่ง อลงกต อินทรชาติ หัวหน้าสถานีวิจัยประมงศรีราชา อธิบายว่า หินเป็นส่วนใหญ่เกิดจากซากปะการังที่ตายแล้ว และมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น สาหร่ายบางชนิด หรือปะการังเคลือบ เป็นต้น ไปเกาะอยู่ และยังเป็นที่ยึดเกาะของเห็ดทะเล ดังนั้น ในการเพาะเลี้ยงจึงต้องผลิต “หินเป็นเทียม” ขึ้นมาเลียนแบบธรรมชาติให้เป็นที่ยึดเกาะของเห็ดทะเลที่เพาะเลี้ยง




จาก .................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 05-07-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default

ใจตรงกันนะคะ...ในรายงานไปเกาะเต่าชุมพร เราก็เพิ่งพูดกันถึงเรื่อง "เห็ดทะเล" พอดีเลยค่ะ


อ่านเพิ่มเติม ได้ที่นี่ค่ะ...http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?p=26898



__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:50


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger