เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 15-07-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 15 ? 16 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 17 ? 20 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร


ข้อควรระวัง

ในวันที่ 17 ? 20 ก.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 15-07-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


แฉเล่ห์พ่อค้าเปลี่ยนชื่อหลอกขาย "ปลาข้าวสาร หมึกกระตอย"

ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน เผยงานวิจัยสำรวจ 15 จังหวัด พบ พฤติกรรมเปลี่ยนชื่อสัตว์น้ำวัยละอ่อน ให้เข้าใจว่าเป็นพันธุ์ใหม่ "ปู-หมึกกระตอย ปลาทูแก้ว ปลาข้าวสาร " หวั่นสูญพันธุ์ กระทบระบบนิเวศน์ ด้านกรีนพีชแฉ "จีน" เจ้าตลาดจับปลา 15 % ของประมงโลก กว่า 12 ล้านตันต่อปี "ปลาเป็ด" เสี่ยงสูงสุด



วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ( CSO : Coalition for Ethical and Sustainable Seafood in Thailand) เปิดตัวงานวิจัยล่าสุดเรื่อง ?การสำรวจรูปแบบการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน? พร้อมจัดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ?ปัญหาปลาเด็ก เรื่องไม่เล็กของทะเลไทย? ซึ่งสนับสนุนโดยองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย และสหภาพยุโรป เพื่อย้ำให้เห็นถึงวิกฤตอาหารทะเล หากไม่หยุดขายและบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อน พร้อมเรียกร้องผู้บริโภคส่งสารถึงซุเปอร์มาเก็ตให้เลิกขายสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะอาหารทะเลกำลังจะ #หมดแล้วจริงๆ

งานวิจัยระบุว่า มีการขายสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างกว้างขวาง โดยตลาดใหญ่ที่สุดคือ ห้างโมเดิร์นเทรด เมื่อเทียบกับตลาดสด และร้านขายของฝาก จากเก็บข้อมูลใน 15 จังหวัด พบมีการจำหน่ายสัตว์น้ำที่โตไม่ได้ขนาดวางจำหน่ายในช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ระบุหากเป็นเช่นนี้ในอนาคตจะกระทบต่อระบบนิเวศทะเลและไม่มีปลาให้จับอีกต่อไป กลุ่มประมงพื้นบ้านและภาคประชาสังคมร่วมกันรณรงค์หยุดจับและหยุดซื้อขายปลาวัยอ่อน ทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งร่างกฎหมายควบคุมการจับปลาวัยอ่อนอย่างเร่งด่วน

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย องค์กรพัฒนาเอกชนด้านงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า ที่ผ่านมามีปัญหาการจับสัตว์น้ำละอ่อนมาขาย โดยมักเปลี่ยนชื่อเรียกเสมอจนผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นปลาสายพันธุ์เล็ก ไม่ใช่ปลาวัยอ่อน เช่น ปลาทูวัยเด็กเปลี่ยนชื่อ เป็นปลาทูแก้ว, หมึกกล้วยวัยละอ่อน เรียกว่าหมึกกะตอย, ปลากะตักเป็นปลาข้าวสาร หรือปูม้าวัยละอ่อนก็เป็นปูกะตอย ทำให้ผู้บริโภคอาจเข้าใจว่าทั้งหมดนี้เป็นสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่หรือเป็นชื่อสัตว์น้ำสายพันธุ์เล็ก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่เป็นสัตว์น้ำวัยเด็กที่ยังไม่โตเต็มวัย

"ผลกระทบเมื่อจับสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยไปจนหมดจึงไม่เหลือให้ขยายพันธุ์ในเวลาต่อๆ ไป ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศตลอดจนเศรษฐกิจและผู้บริโภค "นายวิโชคศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ปลาที่ถูกมนุษย์จับมาวางขายมากที่สุดคือ ปลากะตัก ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็กโดยธรรมชาติไม่ว่าจะวัยเด็กหรือวัยโต ทำให้มันเป็นอาหารหลักของปลาทุกชนิดในระบบนิเวศ แต่เมื่อมนุษย์จับปลากะตักมาขายทำให้ห่วงโซ่อาหารตรงนี้ขาดหายไป และทำให้ปลาโตกว่าต้องหันมากินลูกตัวเอง

ต่อมาตัวปลาอย่างอื่นก็เริ่มลดน้อยถอยลงไป โดยเฉพาะปลาทูแทบจะหายไปจากทะเลไทย มนุษย์ที่ไปจับปลาจึงจับได้น้อยลงทำให้ต้องจับมากขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบหลักๆ คือชาวประมงพื้นบ้านที่มีรายได้น้อย

ส่วนประมงพานิชย์ก็ต้องออกเรือให้จับมากขึ้น ใช้เวลา อวนและน้ำมันเรือมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งระบบ เพราะต้องใช้สัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมากจึงจะมีน้ำหนักครบหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งหากรอให้สัตว์น้ำโตเต็มวัยแล้วขายก็ใช้เวลาเพียงหกเดือน เท่านั้น ปลาส่วนใหญ่ก็จะโตเต็มวัย ทำให้ราคาในตลาดเปลี่ยนเป็นราคาถูกลง โดยหากไม่จัดการเรื่องนี้จะเกิดวิกฤติอย่างรุนแรง คนไทยจะกินปลาที่แพงมากขึ้น หาปลาที่มีคุณภาพมาบริโภคได้ยากมากขึ้น

พร้อมกันนี้ รายงานวิจัยล่าสุดเรื่อง "การสำรวจรูปแบบการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" พบว่า กลุ่มที่มีการซื้อขายสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนมากที่สุดไล่ตามลำดับคือ 1.ห้างโมเดิร์นเทรด หรือตลาดค้าปลีก 2. กลุ่มตลาดขายของฝาก 3. ตลาดสด 4. ตลาดออนไลน์ต่างๆ

ผลจากการสำรวจใน 15 จังหวัดพบว่าความนิยมของการบริโภคในผู้คนในจังหวัดชลบุรีมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือนครราชสีมา ต่อมาคือกรุงเทพ แปลว่ากลุ่มเมืองใหญ่ที่มีผู้คนเยอะ มีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อเยอะ เป็นกลุ่มลูกค้าหลักในการบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อนในไทย

นายวิโชคศักดิ์ กล่าวอีกว่า ต้องมีการร่วมมือกันจากคนสี่กลุ่ม ได้แก่ ชาวประมงที่เป็นคนจับปลา หากทะเลกลับมาสมบูรณ์ชาวประมงจะได้กำไรและไม่ต้องออกทะเลไกลๆ อีกแล้ว ลำดับต่อมาคือผู้บริโภค หากจะต้องซื้อสัตว์น้ำก็สามารถซักถามได้ หรือเข้าร่วมแคมเปญต่างๆ ร่วมลงชื่อเรียกร้องต่อบรรดาตลาดในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ให้หยุดขายสินค้าสัตว์น้ำวัยอ่อน

"ลำดับต่อมาคือภาครัฐ ต้องออกกฎหมายเป็นภาพรวมให้ได้ ส่วนไหนที่ควรตัดสินใจก็ให้ภาครัฐตัดสินใจเสีย ลำดับสุดท้ายคือ ห้างโมเดิร์นเทรด ที่เป็นตลาดใหญ่มาก จากผลสำรวจชี้ชัดว่าเป็นมือที่สำคัญในห่วงโซ่การบริโภคอาหารทะเล ไม่ต้องรอกฎหมายแต่ใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจว่าจะไม่ขายสัตว์น้ำยังไม่โตเต็มวัย และตนหวังว่าจะเกิดขึ้นได้จริง"

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีแคมเปญ "ซูเปอร์มาร์เก็ต: เลิกขายสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะอาหารทะเลกำลังจะ #หมดแล้วจริงๆ" ซึ่ง ธันวา เทศแย้ม ชาวประมงรุ่นใหม่ ได้สร้างแคมเปญนี้ เพื่อรณรงค์เลิกกินปลาเล็กผ่านเว็บไซต์ Change.org/BabySeafood โดยเชิญชวนให้ผู้บริโภคช่วยกันลงชื่อเพื่อบอกกับซูเปอร์มาร์เก็ต ให้เลิกขายสัตว์น้ำวัยอ่อน ถ้าซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีอยู่ทั่วประเทศรวมกันหลายพันสาขาเลิกขาย ก็จะช่วยตัดตอนวงจรระหว่างคนจับและคนซื้อไปได้มหาศาลแน่นอน



ด้าน นางสาวดวงใจ พวงแก้ว Producer Outreach Manager ? SE Asia องค์กรมาตรฐานอาหารทะเลยั่งยืน ASC เสริมว่า สัตว์น้ำแต่ละสายพันธุ์นอกจากจะมีหน้าที่เรื่องห่วงโซ่อาหารของกันและกัน ยังมีหน้าที่รับผิดชอบต่อกันในการสร้างความสมดุลในท้องทะเล หากมนุษย์บริโภคมากไปโดยไม่ให้สัตว์น้ำได้ฟื้นฟู เช่น บริโภคโดยไม่ให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสแพร่พันธุ์ หรือรักษาความสมดุลในระบบนิเวศก็อาจจะเกิดปัญหา

"ประมงพื้นบ้านหรือประมงพานิชย์ เมื่อออกเรือจากเมื่อก่อนออกไปไม่นานก็ได้สัตว์น้ำกลับมาคุ้มค่าแรง แต่เมื่อสัตว์น้ำน้อยลง ทำให้เรือประมงวิ่งออกไปไกลมากขึ้น หมดน้ำมันมากขึ้น เสียทรัพยากรแรงงานและเวลา ทั้งยังก่อให้เกิดคาร์บอน ฟุตปรินต์มากขึ้น และสิ่งต่างๆ ที่ต้องสูญเสียไปเพื่อชดเชยในการเอาอาหารทะเลกลับมายังฝั่งด้วย"

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กร Greenpeace กล่าวว่า หากดูประมงโลกจะพบว่าจีนเป็นมหาอำนาจของประมงทะเล เข้าใจว่ากองเรือประมงออกหาปลามีจำนวนมาก จีนจับปลา 15 % ของประมงโลก โดยนิยมจับปลาเป็ด จนส่งผลกระทบวงกว้างต่อระบบนิเวศทางทะเลของจีน 80 % เป็นปลาวัยอ่อน ปริมาณของปลาเป็ดเหล่านี้มากกว่าปลาทั้งหมดที่จับได้ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมก็มีข้อเรียกร้องเช่นกัน เพราะนโยบายการประมงของจีนนั้นท้าทายมาก และได้มีการคุยกันว่าพยายามการลดการทำประมงทะเลให้เหลือ 10 ล้านตันต่อปีจาก 12-13 ล้านตัน และลดจำนวนกองเรือประมงลง จะช่วยให้ทะเลฟื้นฟูกลับมาได้ระดับหนึ่ง

"กรีนพีซในตุรกีมีงานรณรงค์เรื่องการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเมื่อราว 10 ปีก่อน และมีคนร่วมลงชื่อให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามจับปลาวัยอ่อน 8 ชนิด กว่า 5-6 แสนคน ทั้งยังมีการกดดันในหลายๆ ทางจนเกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายประมงในตุรกีตามมา" นายธารากล่าว

นายธารา กล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องการการเปิดเวทีให้คนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้บริโภคซึ่งมีส่วนอย่างมากในการกำหนดชะตากรรมของทะเลไทย ซึ่ง อาจต้องใช้แคมเปญดึงดูดใจ ทำอย่างไรจึงจะเชื่อมผู้บริโภคแต่ละคนในเมืองหลวงที่ซื้อของจาก modern trade มองว่าปลาต่างๆ โยงไปถึงชาวประมงพื้นบ้าน ชุมชนที่ดูแลทะเล

และแสดงให้เห็นว่าพลังผู้บริโภคในเมืองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางทะเลไทย ส่วนดวงใจเสริมว่าสิ่งที่เราขาดกันคือการให้ชื่อสินค้าเป็นชื่อแบบอื่นทำให้ผู้บริโภคเองอาจหลงลืม และเข้าใจผิดว่าเป็นสายพันธุ์ปลา จึงต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้ต่อผู้บริโภคด้วย

นายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า สัตว์วัยอ่อนเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก การใช้เครื่องมือจึงต้องเล็กกว่าตัวปลาซึ่งส่วนมากก็ไม่ได้จับกันได้บ่อยนัก โดยการทำประมงนั้นแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรกคือชาวประมงพื้นบ้านที่จะออกเรือแค่วันละครั้ง จับสัตว์น้ำแบบแยกประเภททำให้การออกเรือแต่ละครั้งต้องนำอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเฉพาะชนิดไป ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้คราวละมากๆ ต่อการออกเรือหนึ่งครั้ง ขณะที่ประมงพานิชย์เป็นประมงขนาดใหญ่ เครื่องมือมีความพร้อมกว่า ถ้าเป็นอวนล้อมจับก็จะมีออกคืนหนึ่ง 3-5 ครั้ง ทำให้จับสัตว์น้ำได้เป็นปริมาณมาก

"มีช่วงหนึ่งที่ตนจับปลาผิดประเภทโดยใช้อวนตาถี่จับลูกปลา วันหนึ่งหลายพันกิโลกรัม ทำให้เมื่อปี 2551 เกิดวิกฤติในประเทศคือไม่มีปลาให้จับ ต้องอพยพครอบครัวไปหากินที่ต่างอำเภอ จนสมาคมรักษ์ทะเลไทยก็ได้มาลงพื้นที่ ถอดบทเรียนในการทำประมง ว่าทำไมเมื่อก่อนปลาเยอะแต่ตอนนี้ไม่มีปลาให้จับเลย ก็ได้ข้อสรุปว่าเราจับลูกปลาหมดจนไม่มีปลาขยายพันธุ์เลย เราจึงเลิกใช้อวนปลาขนาด 2.5 เลย เป็นข้อตกลงในชุมชนว่าจะไม่ใช้อวนขนาดเล็กมาจับปลาอีก ทำให้เห็นภาพว่าถ้าเราใช้ลูกปลาทะเล อาชีพเราก็พัง แต่ถ้าเราปล่อยให้เขาโตแล้วค่อยจับ เราก็มีโอกาสรอด" นายจิรศักดิ์กล่าว

"ทะเลไม่ต้องรดน้ำ ใส่ปุ๋ย แต่ถ้าใส่ใจก็จะส่งทะเลให้ลูกหลานได้ ตนกำลังจะส่งต่อทะเลให้ลูกหลาน ชาวประมงส่วนใหญ่รู้ว่าปลาที่จับนั้นเป็นปลาอะไร เราแยกขนาด สายพันธุ์ได้ หากเรายั้งใจรออีก 6 เดือนให้สัตว์น้ำโต ก็จะเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตนก็อยากเห็นท้องทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง" นายจิรศักดิ์กล่าว


https://www.prachachat.net/economy/news-714347

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 15-07-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


"หมึกแก้ว" ภาพน่าตื่นตาของสัตว์น้ำลึกหายากในมหาสมุทรแปซิฟิก

แม้นักวิทยาศาสตร์รู้จักหมึกแก้วมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่แทบไม่มีใครเคยเห็นภาพของมันตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เลย จึงทำให้การศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ทำได้ยาก



ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สำรวจท้องทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกสามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวที่หาดูได้ยากยิ่งของ "หมึกแก้ว" หรือ "หมึกสายแก้ว" (glass octopus) สัตว์น้ำลึกซึ่งมีร่างกายโปร่งใสจนมองเห็นอวัยวะภายใน

ทีมนักวิจัยจากสถาบันมหาสมุทรชมิดต์ (Schmidt Ocean Institute) บันทึกวิดีโอที่น่าตื่นตาของหมึกแก้วไว้ได้ในภารกิจการสำรวจก้นมหาสมุทรเป็นเวลา 34 วัน โดยพวกเขาได้พบเจอกับหมึกชนิดนี้ถึง 2 ครั้งในทะเลลึกใกล้กับหมู่เกาะฟีนิกซ์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครซิดนีย์ของออสเตรเลียไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 5,100 กิโลเมตร

ภาพที่ได้เผยให้เห็นหมึกที่มีผิวหนังโปร่งใสราวกับแก้ว จนมองเห็นได้เพียงลูกตา เส้นประสาทตา และระบบย่อยอาหารของมัน

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมชีววิทยาทางทะเลของสหราชอาณาจักร เมื่อปี 1992 ระบุว่า ดวงตาทรงกระบอกของหมึกชนิดนี้อาจมีวิวัฒนาการเพื่อให้ศัตรูหรือเหยื่อมองเห็นได้ยาก เวลาที่มองขึ้นมาจากด้านล่าง ถือเป็นกลยุทธ์ในการพรางตัวอย่างหนึ่งของพวกมัน

หมึกแก้ว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Vitreledonella richardi อาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ที่ความระดับลึก 200 - 3,000 เมตรจากผิวน้ำทะเล โดยจากการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่ามีการพบหมึกชนิดนี้ในทะเลแถบอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

แม้นักวิทยาศาสตร์รู้จักมันมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่แทบไม่เคยมีใครได้เห็นภาพของมันตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เลย จึงทำให้การศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ทำได้ยาก โดยที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาพวกมันจากซากที่ถูกพบอยู่ในท้องของสัตว์นักล่า

ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงหวังว่าวิดีโอที่บันทึกได้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัย และช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหมึกชนิดนี้ได้มากขึ้น

สำหรับภารกิจครั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจก้นมหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ 30,000 ตารางกิโลเมตร และพวกเขาบอกว่ายังมีอะไรอีกมากให้ค้นหาในท้องทะเล

นางเวนดี ชมิดต์ ซึ่งร่วมก่อตั้งสถาบันมหาสมุทรชมิดต์กับสามี คือ นายเอริก ชมิดต์ อดีตซีอีโอบริษัทกูเกิล กล่าวว่า "การสำรวจเช่นนี้สอนให้เรารู้ว่าทำไมเราจึงต้องเพิ่มความพยายามในการฟื้นฟู และทำความเข้าใจกับระบบนิเวศทางทะเลของโลกให้มากขึ้น เพราะห่วงโซ่ชีวิตอันยิ่งใหญ่ที่เริ่มต้นขึ้นในมหาสมุทรมีความสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์เรา"


https://www.bbc.com/thai/international-57835175


******************************************************************************************************************************************************


อุณหภูมิแบบสุดขั้วทั้งร้อนจัด-หนาวจัด เป็นสาเหตุให้ผู้คนทั่วโลกล้มตายปีละ 5 ล้านคน



ความผันผวนเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรงในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลในแต่ละปี โดยผลการศึกษาล่าสุดซึ่งใช้ข้อมูลการสำรวจขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาพบว่า อุณหภูมิทั้งร้อนจัดและหนาวจัดแบบสุดขั้ว ได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องล้มตายไปถึงปีละ 5 ล้านคน

ทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จากนานาชาติ ตีพิมพ์เผยแพร่ผลวิจัยข้างต้นในวารสาร The Lancet Planetary Health ฉบับเดือนกรกฎาคม โดยเผยว่ามีการเก็บข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของผู้คน ในขณะที่อากาศมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินขอบเขตที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตหรืออุณหภูมิห้อง จากสถานที่ทั้งหมด 750 แห่งทั่วโลก

ช่วงเวลาที่มีการเก็บข้อมูลดังกล่าวคือระหว่างปี 2000-2019 ซึ่งเป็นยุคที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น 0.26 องศาเซลเซียสทุกหนึ่งทศวรรษ ถือเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของโลกนับแต่ยุคก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นต้นมา



หลังจากนั้นมีการวิเคราะห์ผลสำรวจดังกล่าว เพื่อมุ่งหาความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับอัตราการตายของประชากรโลกใน 43 ประเทศ จาก 5 ทวีป โดยนำปัจจัยอื่น ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทั้งเรื่องของภูมิอากาศ เงื่อนไขทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพของการให้บริการสาธารณสุข มาพิจารณาร่วมด้วย

ผลวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจพบว่า กรณีการเสียชีวิต 9.43 % ของทั้งโลก มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดจนเกินไป โดยในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตต้องอำลาโลกเพราะอากาศหนาวเย็นในสัดส่วนที่มากกว่า คิดเป็นถึง 9 ใน 10 ของอัตราการตายส่วนเกิน (excess deaths) หรือกรณีการตายที่สำรวจพบจริงสูงเกินความคาดหมาย

ทวีปเอเชียและแอฟริกามีอัตราการตายเพราะความหนาวเย็นสูงที่สุดของโลก โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 2.4 ล้านคนและ 1.18 ล้านคน ตามลำดับ ส่วนกรณีการตายด้วยอุณหภูมิร้อนจัดนั้น ทวีปเอเชียยังคงครองแชมป์ที่ 224,000 รายต่อปี ตามมาด้วยภูมิภาคยุโรปที่ 178,700 รายต่อปี โดยยุโรปนั้นเป็นทวีปเดียวที่มีกรณีการตายจากทั้งอุณหภูมิร้อนจัดและเย็นจัดสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่มีการศึกษานั้นอัตราการตายจากสภาพอากาศสุดขั้วมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออัตราการตายจากอุณหภูมิร้อนจัดกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวและภาวะโลกร้อน

ทีมผู้วิจัยคาดว่าสัดส่วนของผู้เสียชีวิตจากอุณหภูมิร้อนจัด อาจเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับปัจจุบัน ซึ่งอัตราการตายส่วนเกินด้วยสาเหตุนี้อยู่ที่ 74 รายในประชากรโลกทุก 100,000 คน และถือเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของสาเหตุการตายที่พบมากทั่วโลก


https://www.bbc.com/thai/international-57831700
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:08


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger