เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 05-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยเริ่มมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมายังคงมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 6 ส.ค 64

อนึ่ง พายุโซนร้อน "ลูปิต" บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางเกาะไต้หวันในช่วงวันที่ 6-7 ส.ค. 64 โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 5 ? 6 ส.ค. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน เข้าสู่พายุโซนร้อน "ลูปิต" บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 7 ? 10 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "ลูปิต" แล้ว คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนตัวทางเกาะไต้หวัน โดยไม่มีผลกระทบโดยตรงลักษณะอากาศของประเทศไทย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 5 ? 6 ส.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม สำหรับชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 7 ส.ค. 64



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุโซนร้อน ลูปิต" ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 05 สิงหาคม 2564

เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (5 ส.ค. 64) พายุโซนร้อน "ลูปิต" มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ หรือที่ละติจูด 22.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนไปทางเกาะไต้หวันในช่วงวันที่ 6-7 ส.ค. 64 พายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงลักษณะอากาศของประเทศไทย












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 05-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


เผย "ราชกิจจาฯ" ประกาศห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานฯ



ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone, Octinoxate, 4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

จากกรณีเฟซบุ๊ก สำนักอุทยานแห่งชาติ - National Parks of Thailand ได้ออกมาโพสต์วอนนักท่องเที่ยวเลือกผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ไม่ทำร้ายปะการัง ระบุว่า ผลการวิจัยพบว่าทุกปีมีครีมกันแดดมากถึง 14,000 ตันที่นักท่องเที่ยวใช้กันถูกชะล้างลงสู่แนวปะการังในท้องทะเล อีกทั้งยังมีครีมและเครื่องสำอางจำนวนมากที่ปนเปื้อนออกมากับท่อระบายน้ำ ขณะที่ชำระล้างร่างกายไหลลงสู่ทะเล

โดยสารเคมีที่ผสมอยู่ในครีมกันแดดทำให้ประการังเสื่อมโทรม เพราะฆ่าตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ได้แก่ สารเคมี 4 ชนิดนี้ คือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ดังนั้น สำนักอุทยานแห่งชาติจึงได้แนะนำวิธีช่วยลดการทำร้ายปะการัง คือ นักท่องเที่ยวต้องเลือกครีมกันแดดที่ไม่มีส่วนผสมของ Oxybenzone และใช้เฉพาะครีมกันแดดที่ใช้สินแร่เป็นฐาน เช่น Zinc oxide ซึ่งจะไม่ละลายน้ำและตกตะกอนสู่ก้นทะเลได้อย่างปลอดภัย

ควรเลือกใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ (Water resistant) เพราะระหว่างอยู่ในน้ำจะหลุดน้อยกว่าครีมกันแดดแบบทั่วไป รวมถึงสวมหมวก เสื้อแขนยาว และกางร่ม เพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดดปริมาณมากๆ

ล่าสุดวันนี้ (4 ส.ค.) เพจ "IGreen" ได้ออกมาเผยเรื่องสำคัญ เมื่อราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามโดย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยได้ระบุข้อความว่า

"เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามโดย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ

ทั้งนี้ ระบุเหตุผลว่า ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยจากข้อมูลวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว

กรมอุทยานฯ พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบข้อ 6 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 จึงออกประกาศ ดังนี้

1.ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

2. ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564"


https://mgronline.com/onlinesection/.../9640000076328

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 05-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'เซิร์ฟ' จะตายเพราะ 'ทราย' จะเติม



เมื่อแผนแม่บทพัฒนาชายหาด "เขาหลัก" ด้วยการ "เสริมทราย" อาจหมายถึงความตายของการ "ท่องเที่ยว" ที่เคยมีกีฬา "เซิร์ฟ" ทำให้ที่นี่เป็นหมุดหมายของนักโต้คลื่นจากทั่วโลก

เราอาจต้องตั้งคำถามกับคำว่า "การพัฒนา" กันใหม่ เมื่อมีแผนแม่บทที่กรมเจ้าท่าเตรียม เสริมทราย ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและเป็นการสนับสนุนท่องเที่ยวบริเวณ เขาหลัก ถึง แหลมปะการัง จังหวัดพังงา รวมระยะทางตามเป้าหมายคือ 12 กิโลเมตร ครอบคลุมชายหาดตั้งแต่บริเวณเขาหลักซันเซ็ทรีสอร์ททางด้านทิศใต้ ไปจนถึงบริเวณแหลมปะการังด้านทิศเหนือ กินพื้นที่อำเภอตะกั่วป่าและอำเภอท้ายเหมือง

แม้วัตถุประสงค์ของโครงการจะกล่าวถึงข้อดีของการ "เสริมทราย" ว่าป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะช่วยด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ แต่ในทางปฏิบัติทั้งนักวิชาการ ชาวบ้าน ผู้ประกอบการร้านค้า โรงแรม ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ จำนวนมากแสดงความกังวลอย่างมากถึงผลกระทบทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวที่จะเสียหายมากกว่าจะดีขึ้น


ถ้าเสริมทราย...คลื่นอาจจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

กีฬากระดานโต้คลื่น หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า เซิร์ฟ (Surf) เป็นหนึ่งในกีฬาที่กลายเป็นเทรนด์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา "เซิร์ฟ" อาจไม่ได้มีรากเหง้าในไทย แต่ตลอดเวลาที่การโต้คลื่นเข้ามาที่พังงา ก็กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักเซิร์ฟและนักเดินทางมาค้นพบความงามของดินแดนนี้ จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการเซิร์ฟในทุกซีซั่น

แต่จะน่าเสียดายมาก ถ้าหาก "เซิร์ฟ" ซึ่งเป็นสีสันของทะเลพังงา โดยเฉพาะบริเวณ "เขาหลัก" จะต้องจมหายไปกับการมาของทรายที่จะถูกเติมจนเต็มชายหาด

ต๊ะ - ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช ประธานชมรมกีฬากระดานโต้คลื่นจังหวัดพังงา เล่าในฐานะคนพังงาแท้ๆ และในฐานะนักเซิร์ฟว่า ต้องยอมรับว่ามีการกัดเซาะจริงๆ โดยเฉพาะบางจุดของหาดบางเนียง ส่งผลกระทบต่อโรงแรมบางแห่งมีการทรุดตัว แต่หลายปีที่ผ่านมาแก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนคอนกรีต เมื่อแห่งหนึ่งสร้างอีกแห่งข้างเคียงก็ได้รับผลกระทบ เพราะสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโครงสร้างแข็งทำให้เกิดการกัดเซาะในบริเวณรอบๆ มากขึ้นไปอีก จนกลายเป็นทุกแห่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการสร้างเขื่อนคอนกรีต จนหาดบางเนียงแทบจะไม่เหลือชายหาดอีกต่อไป

แต่ก็ไม่ใช่ทั้ง 12 กิโลเมตรที่ถูกบรรจุในแผนแม่บทที่จะต้องได้รับการ "เสริมทราย" เพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะภูมิประเทศของทะเลเขาหลักเอื้อต่อการเกิดคลื่นที่เหมาะสมสำหรับ "เซิร์ฟ"

"เซิร์ฟเป็นกีฬาที่เกิดจากธรรมชาติ อาศัย Swell คือพลังงานของคลื่น ลม และที่สำคัญคือเกิดจากสันทรายใต้ทะเล ถ้ามีการเสริมทรายโดยไม่มีความรู้ แน่นอนว่าจะกระทบถึงคลื่น ในอนาคตอาจไม่เกิดคลื่น หรือไม่คลื่นก็จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจากปัญหาเรื่องนี้มีคนแสดงความคิดเห็นเป็นวงกว้างเลย เพราะกีฬาเซิร์ฟเกี่ยวข้องกับจิตใจ การพักผ่อน และเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากเซิร์ฟไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พวกเขาตื่นมาเซิร์ฟ ผูกพันกับธรรมชาติ ทุกคนก็เลยออกมาปกป้องมัน"

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าจากแผนแม่บท จุดประสงค์ของการ "เสริมทราย" คือเพื่อลดคลื่น ผลที่ได้ไม่ว่าจะทำให้คลื่นลดลง หรือเปลี่ยนทิศทางคลื่น หรือเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำ ล้วนทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีใครการันตีได้เลยว่าจะดีหรือไม่ดี ถ้าผลคือพลาดก็ใช่ว่าจะแก้ไขได้ง่ายๆ การเสริมทรายแบบปูพรมจึงไม่น่าจะใช่ทางออกที่ดี

"ต้องอย่าลืมว่าพื้นที่บริเวณที่เล่นคลื่นได้ ปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาการกัดเซาะใดๆ รวมไปถึงโรงแรมที่อยู่ตรงนั้น ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าเขาไม่ได้รับผลกระทบอะไรเรื่องกัดเซาะเลย เขาไม่ได้ต้องการโครงการนี้ แต่เขาห่วงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของคลื่นมากกว่า ซึ่งตอนนี้เป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา"


"สายเซิร์ฟ" ไม่ถูกใจสิ่งนี้

จังหวัดที่ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวหลายแห่งไม่ได้เที่ยวได้ตลอดทั้งปี จะมีช่วงไฮซีซั่น โลว์ซีซั่น หรือบางทีอาจเรียกให้ไพเราะว่ากรีนซีซั่น พังงาก็เช่นกัน ในอดีตช่วงฤดูฝนคือกรีนซีซั่นที่นอกจากพังงาจะชุ่มฝนแล้วยังเงียบเหงาด้วย แต่เมื่อการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ ปลุกให้พังงาเที่ยวได้ทั้งปี เศรษฐกิจของที่นี่จึงเติบโตอย่างมาก

"ฤดูเซิร์ฟ คือฤดูฝนของพังงา ซึ่งปกติไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเลย หลายโรงแรมเลือกจะปิดมากกว่าเปิด เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม การที่เซิร์ฟเข้ามาช่วยให้ครบไซเคิลพอดี ธุรกิจที่เคยเปิดได้แค่ 6 เดือน กลายเป็นว่าเปิดได้ทั้งปี ปีที่แล้วมีสถิติคนมาเรียนโต้คลื่น 4 เดือน อยู่ที่ประมาณ 8 พันคน ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะนั้นคือหลังจากมีโควิดแล้ว เขาหลักคนนิยมมาโต้คลื่นมาก ทุกโรงแรมจะเต็มค่อนข้างหมดในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์"

ลักษณะพิเศษของคลื่นที่ "เซิร์ฟ" ได้ในไทย มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ Beach Break คือคลื่นที่เกิดขึ้นหน้าทะเล เกิดจากระดับความลึกต่างๆ สันทรายต่างๆ คลื่นลักษณะนี้จะเกิดบริเวณ Memories Beach ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนมาเรียนเซิร์ฟกันเยอะ

คลื่นอีกแบบคือ Reef Break เกิดจากการกระทบปะการังและหินใต้ทะเล ลักษณะนี้เป็นคลื่นที่นับว่ามีคุณภาพ เกิดที่บริเวณแหลมปะการัง ทวีโรจน์ บอกว่าเป็นจุดที่มีคลื่นสำหรับโต้คลื่นที่ดีที่สุดในไทย เป็นคลื่นขวาที่ยาวที่สุดในไทย และเป็นคลื่นซ้ายที่ยาวที่สุดในไทย

ความไม่แน่นอนของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ "เซิร์ฟ" เมื่อเกิดการ "เสริมทราย" อาจเป็นความล่มสลายของการโต้คลื่นเขาหลัก หรืออย่างน้อยก็คือเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เพียงน้อยนิดก็มากพอจะทำให้เสน่ห์ของ "เซิร์ฟ" ที่ "เขาหลัก" ลดลง

"เราเดาไม่ได้เลยว่าคลื่นจะเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น หรือมันจะไม่เกิดขึ้น แต่มันจะส่งผลต่อกิจกรรมที่นี่แน่นอน ยิ่งถ้าเป็นการเสริมทรายตรงบริเวณแหลมปะการัง ทรายจะไปถมหินและปะการัง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับคลื่นแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์"


ชีวิตและวิถีที่จะโดนถม

"บริเวณแหลมปะการังเป็นจุดที่ชาวบ้านไปเก็บสัตว์ทะเล เช่น หมึกโวยวาย เป็นหมึกตัวเล็กๆ เป็นอาหารทางภาคใต้ ช่วงโควิดนี้คนก็มาเก็บโวยวายไปประกอบอาหาร และเก็บสัตว์ทะเลต่างๆ จากบริเวณกองหินไปทำกิน ผมเลยมองว่าการเสริมทรายจะกระทบทั้งการโต้คลื่นและวิถีชีวิตของชาวบ้าน" ทวีโรจน์ มองถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งไม่ได้กระทบเพียงชีวิตของคนเท่านั้น แต่กับสัตว์ทะเลหายากก็เช่นกัน อย่างที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก เตือนว่าการ "เสริมทราย" อาจรบกวนการวางไข่ของ เต่ามะเฟือง

"เต่ามะเฟืองเป็นเต่าหายากระดับโลก เป็นเต่าทะเลใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเต่าที่ได้รับการคุกคามจากสถานะใกล้สูญพันธุ์มาก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย และเต่ามะเหืองเข้ามาวางไข่เฉพาะที่ชายหาดที่เปิดรับลมและค่อนข้างชัน บริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เยอะคือตั้งแต่หาดท้ายเหมืองจนถึงบริเวณเขาหลัก บางเนียง ไล่ไปตามพื้นที่จนถึงแหลมปะการัง มีแวะแถวภูเก็ตบ้าง แต่หลักๆ จะเป็นบริเวณดังกล่าว"

เหตุผลที่เต่าขึ้นมาที่ "เขาหลัก" เพราะธรรมชาติของ "เต่ามะเฟือง" คือไม่วางไข่ที่ชายฝั่งแนวปะการังเหมือนเต่าชนิดอื่น เพราะขนาดตัวใหญ่มากจึงเข้าที่ตื้นไม่ได้ และพื้นที่ดังกล่าวมีชายฝั่งที่ค่อนข้างลึก อาจารย์ธรณ์บอกว่าแต่เมื่อ 5-6 ปีก่อนมีปัจจัยทำให้เต่ามะเฟืองหายไป ไม่มาวางไข่ กระทั่งมีการรณรงค์ผลักดันให้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์สงวนสำเร็จเมื่อปี 2562 และเต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่อีกครั้งบริเวณชายหาดคึกคักซึ่งอยู่ในบริเวณ 12 กิโลเมตรตามแผนการ "เสริมทราย"

ซึ่งการ "เสริมทราย" จะทำให้ลักษณะชายหาดมีการเปลี่ยนแปลง คือ เกิดการตื้นเขิน ส่งผลกระทบต่อ "เต่ามะเฟือง" โดยตรง

"ถ้าเต่ามะเฟืองไม่มาวางไข่ เท่ากับสูญพันธุ์จากเมืองไทย เพราะเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่วางไข่ยากมาก ไม่ได้เป็นเต่าที่เพาะเลี้ยงกันได้ มีแต่เขาปกป้องกันสุด พื้นที่ไหนในโลกที่มีเต่ามะเฟืองมาวางไข่ ไม่ต้องห่วงหรอก เพราะฉะนั้นเราพยายามคุยกับชาวบ้าน ร่วมกันดูแลเต่า แต่ถ้าเปลี่ยนสภาพชายหาด การที่ขาดเต่ามะเฟืองไปเพียง 1 รัง จะส่งผลกระทบต่อประชากรเต่ามะเฟืองที่มาวางไข่ในประเทศไทยอย่างมหาศาล"

สำหรับข้อเสนอที่ทั้งคนพื้นที่ นักเซิร์ฟ และนักวิชาการแนะนำเอาไว้เป็นทางออกเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือควรจะต้องชะลอโครงการ "เสริมทราย" แล้วทบทวนหาจุดที่เหมาะสม อย่างทวีโรจน์ที่เป็นคนพังงา ก็ยืนยันว่าการเสริมทรายไม่ใช้ผู้ร้ายไปเสียหมด แค่คิดให้ถี่ถ้วนก่อนทำ

"โครงการนี้ผมไม่ได้ไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะมีบางพื้นที่เดือดร้อนจริงๆ เช่น หาดบางเนียง อาจจะต้องทำ แต่ถ้าหาดไหนไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่ควรทำ เพราะถ้าทำอาจจะได้รับผลที่แก้ไขไม่ได้"


https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/952873

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 05-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก บ้านเมือง


ลูกเต่าฟักเป็นตัวนับร้อย เตรียมปล่อยคืนสู่ทะเลประจวบฯ



วันที่ 4 ส.ค. นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี ได้รับรายงานจาก นายภัทร อินทรไพโรจน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม(เตรียมการ) กรณีการฟักตัวของลูกเต่ากระ จำนวน 2 รัง หลังจากได้รับคำสั่งให้ลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม การขึ้นวางไข่ของเต่ากระและเฝ้าติดตามการฟักไข่ของเต่ากระอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น รังที่ 1 ของแม่ศรีจันทร์ พบเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.64 จำนวนไข่เต่าทั้งหมด 148 ฟอง จำนวนเต่าที่ฟักออกเป็นตัวทั้งหมด 145 ตัว ไข่ลม 3 ฟอง ระยะเวลาที่ใช้ในการฟักออกเป็นตัว 60 วัน อัตราการรอดตาย 98 % นับเป็นรังที่ 5 ของการฟักออกมาเป็นตัว รังที่ 2 พบเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.64 จำนวนไข่ทั้งหมด 108 ฟอง ไม่ทราบแม่ จำนวนเต่าที่ฟักออกเป็นตัวทั้งหมด 101 ตัว ไข่ลม 7 ฟอง ระยะเวลาที่ใช้ในการฟักออกเป็นตัว 60 วัน อัตราการรอดตาย 94 % นับเป็นรังที่ 6 ของการฟักออกมาเป็นตัว รวมยอดเต่าที่ฟักออกเป็นตัว 2 รัง ทั้งหมด 246 ตัว สำหรับลูกเต่ากระ 2 รังนี้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยามได้นำไปอนุบาลไว้ก่อนเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบการขึ้นวางไข่ของเต่ากระ แต่ไม่พบตัวแม่เต่าบริเวณอ่าวเทียน พิกัด 47 P 560324 E 1223947 N ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) จึงทำการขุดหลุมรังไข่ ทำการย้ายรังไปไว้ในที่ซึ่งปลอดภัยจากสัตว์ที่จะเข้ามากินไข่เต่าและน้ำทะเลที่อาจท่วมถึงในช่วงเวลาน้ำทะเลขึ้นสูง โดยนับเป็นรังที่ 19 มีจำนวนไข่สมบูรณ์ทั้งหมด 134 ฟอง ขนาดหลุมวางไข่ความกว้าง 23 เซนติเมตร ความลึก 42 เซนติเมตร จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับ"เต่ากระ" ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Eretmochelys imbricata (Linnaeus, 1766) เป็นสัตว์ทะเลหายาก สถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และจัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ด้วย.


https://www.banmuang.co.th/news/region/244897

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 05-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


กรมเจ้าท่าฟื้นชายหาดจอมเทียน เสริมทราย 15 กม. จุดท่องเที่ยว



กรมเจ้าท่าเผยผลคืบหน้าโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน ชลบุรี ผลดำเนินการ 4.39% กำหนดแล้วเสร็จ พ.ย. 65 รองรับการท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังยุคโควิด

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี อยู่ในขั้นวิกฤตรุนแรงมากขึ้นทุกปี กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียนระยะที่ 1 มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 900 วัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563-พฤศจิกายน 2565

โดยแหล่งทรายที่จะนำมาใช้เสริมบริเวณชายหาดจอมเทียนนำมาจากทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ห่างจากชายหาดจอมเทียนไปทางทะเล 15 กิโลเมตร ปัจจุบันเริ่มเสริมทรายชายหาดตั้งแต่โรงแรมจอมเทียนชาเล่ต์จนถึงโรงแรมยู จอมเทียน พัทยา มีผลการดำเนินงาน 4.39%

ทั้งนี้ สภาพพื้นที่ชายหาดจอมเทียนประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงและต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ชายหาดถดถอยและลดขนาดลงไปทุกปี ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่ภาคพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ประสานขอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
อย่างเร่งด่วน

อีกทั้งการรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี 2552 ได้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยตะวันออก และจัดให้พื้นที่ชายหาดจอมเทียนเป็นพื้นที่กัดเซาะรุนแรง ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน

ต่อมาในปี 2557 กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน โดยมีพื้นที่ศึกษาตลอดแนวชายหาดจอมเทียนความยาว 6.2 กิโลเมตร

ตั้งแต่บริเวณหน้าร้านอาหารลุงไสวถึงบริเวณแนวโขดหินหน้าสวนน้ำพัทยาปาร์ค วอเตอร์เวิลด์ ระยะที่ 1 มีความยาว 3,575 เมตร และระยะที่ 2 มีความยาว 2,855 เมตร

ในอนาคตเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยบูรณะฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนให้กลับมาสวยงาม รวมทั้งการทำงานมีกำหนดเสร็จในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง

โครงการนี้จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชายหาดจอมเทียน สร้างรายได้สู่ชุมชนและประเทศ สอดรับกับนโยบายการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี


https://www.prachachat.net/property/news-727045

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:11


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger