เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 19-05-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและ อ่าวไทย ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากในช่วงบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 27-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 19-24 พ.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 19 - 24 พ.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 19-05-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ปลาย่ำสวาท ยอดวัตถุดิบจากทะเลตราด ปลาทะเลเนื้อดี ทำรายได้งามให้เกษตรกร

ของดีจากทะเลตราด มาแล้วต้องได้ลอง คือ ปลากะรังจุดฟ้า หรือ "ปลาย่ำสวาท" ปลาทะเลไทยเนื้อดีมีราคาแพง เมื่อก่อนเป็นอาชีพเสริม ขณะนี้เลี้ยงกระชังขายส่งร้านอาหารเป็นอาชีพหลัก เหมาะทำต้มยำ-ซาชิมิ



เมื่อวันที่ 18 พ.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดตราด มีวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำอาหารอีก 1 ชนิดที่น่าสนใจ และยังเป็นของที่มีราคาแพง นั่นคือ ปลากะรังจุดฟ้า หรือว่าปลาย่ำสวาท ถือเป็นปลาประจำจังหวัด ที่มีนักท่องเที่ยวหากได้มาที่ตราดแล้ว ต้องนิยมรับประทานมาก เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา การหาปลาย่ำสวาทเป็นอาชีพเสริมให้ชาวประมงในพื้นที่ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเพราะเป็นปลาเนื้อดี มีราคาแพงมาก จนขณะนี้กลายมาเป็นงานหลักที่ต้องนำปลาย่ำสวาทไปส่งยังร้านอาหารต่างๆ ตามออเดอร์

นายสมชาย อานามพงษ์ ประธานประชาคมหมู่บ้านคลองสน หมู่ 3 ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด เจ้าของกระชังปลาย่ำสวาท กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงปลา ก็ออกไปทำประมงหาปลา เพื่อที่จะส่งร้านอาหารในพื้นที่เกาะช้าง ปลาย่ำสวาท เป็นปลาที่จับมาเท่าไรก็ไม่เคยพอ ประกอบกับราคาปลาค่อนข้างสูง จึงนำลอบไปวางดักปลาย่ำสวาทไปขาย ส่วนตัวเล็กที่ติดอวนก็นำมาใส่กระชังเลี้ยง อีกส่วนหนึ่งก็จะซื้อลูกปลามาเลี้ยง เลี้ยงประมาณ 8 เดือน ถึง 1 ปี จะขายได้น้ำหนักตัวประมาณ 1 กิโลกรัม จำหน่ายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท ปัจจุบันมีกระชังปลาย่ำสวาทอยู่ 10 กระชัง กระชังละ 150 ตัว

ประธานประชาคมหมู่บ้านคลองสน กล่าวต่อว่า สำหรับการเลี้ยงปลากะรังจุดฟ้า หรือ ปลาย่ำสวาท ต้องนำเหยื่อเป็นลูกปลาตัวเล็กมาให้ 2 วันต่อครั้ง ถึงเวลาอาหารปลาก็จะกรูกันเข้ามา เหมือนปลาคาร์ปที่เลี้ยงสวยงาม แต่อันนี้เลี้ยงแล้วเพลิดเพลินดี

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ปลาย่ำสวาทของตนเองก็ได้รับผลกระทบ นักท่องเที่ยวไม่มี ร้านอาหารไม่เปิด ปลาย่ำสวาทก็ขายไม่ได้ แต่ก็มีจำหน่ายให้กับคนที่มารับซื้อเองถึงกระชัง หรือคนในพื้นที่เกาะช้าง ส่วนมากจะนิยมนำไปทำปลาดิบกินแล่เนื้อสดๆ แบบซาชิมิ หรือไม่ก็ทำต้มยำ.


https://www.thairath.co.th/news/local/east/2095561

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 19-05-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


'ฝูงฉลามหูดำ' เริงร่า! ว่ายน้ำโชว์ตัวติดชายหาดเกาะห้อง ในช่วงที่ปิดอุทยานจากโควิด



วันนี้ (18 พฤษภาคม 2564) นายจำเป็น ผอมภักดี หัวหน้าหน่วยพิทักษ์หมู่เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 บ้านท่าเลน ตำบลเขาทอง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ได้ส่งคลิปฉลามหูดำที่บันทึกได้เมื่อช่วงเช้าวันนี้มาฝากให้ทุกคนได้ชื่นชม พร้อมบอกว่า "ฝูงฉลามว่ายน้ำเล่นกันอย่างสนุก และว่ายน้ำเร็วมาก ไม่เคยเห็นเขาเล่นกันอย่างนี้มาก่อน"

ซึ่งในขณะนี้ อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี อยู่ระหว่างปิดทำการท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ เป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID) -19

จากวิกิพีเดีย ระบุว่า ปลาฉลามครีบดำ หรือ ปลาฉลามหูดำ (อังกฤษ: Blacktip reef shark; ชื่อวิทยาศาสตร์: Carcharhinus melanopterus) เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง มีรูปร่างเพรียวยาว ปากกว้าง มีแถบดำที่ครีบหลัง ครีบไขมัน ครีบก้น และครีบหางตอนล่าง เป็นที่มาของชื่อ กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร มีนิสัยไม่ดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาฉลามชนิดอื่น ๆ นิยมอยู่รวมเป็นฝูงบริเวณใกล้ชายฝั่ง และอาจเข้ามาในบริเวณน้ำกร่อย หรือปากแม่น้ำ โดยสามารถเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่ง แม้กระทั่งในพื้นที่ ๆ มีน้ำสูงเพียง 1 ฟุต เป็นปลาหากินในเวลากลางคืน ในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวพักผ่อนตามแนวปะการัง โดยจะหากินอยู่ในระดับน้ำความลึกไม่เกิน 100 เมตร ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 2 เมตร ตัวเมียตั้งท้องนาน 18 เดือน ออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 2-4 ตัว เมื่อโตขึ้นมาแล้วสีดำตรงที่ครีบหลังจะหายไป คงเหลือไว้แต่ตรงครีบอกและครีบส่วนอื่น

ปลาฉลามหูดำ นับเป็นปลาฉลามชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในทะเล และเป็นต้นแบบของปลาฉลามในสกุลปลาฉลามปะการัง มีนิสัยเชื่องคน สามารถว่ายเข้ามาขออาหารได้จากมือ จึงเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ที่นิยมการดำน้ำ พบทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน นิยมใช้บริโภคโดยเฉพาะปรุงเป็นหูฉลาม เมนูอาหารจีนราคาแพง และนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงามอีกด้วย


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000047948

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 19-05-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ไม่พบ "สารไฮดราซีน" ตกค้างในถังจรวดเชื้อเพลิงจมทะเลภูเก็ต



ศรชล.ภาค 3 ร่วมกับจิสด้า ร่วมเก็บกู้ถังเชื้อเพลิงจรวดที่พบบริเวณเกาะแอล จ.ภูเก็ต นักวิชาการ ยืนยันไม่พบ "สารไฮดราซีน" ที่เป็นเชื้อเพลิงที่บรรจุในถัง และไม่พบสภาพแวดล้อมใต้ทะเลมีผลกระทบ ด้านผอ.จิสด้า ชงเสนอ ?กฎหมายอวกาศ? คุ้มครองขยะอวกาศ

กรณีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ภาค 3 กองทัพเรือ ประสานความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ส่งผู้เชี่ยวชาญร่วมวางแผนการเก็บกู้ถังเชื้อเพลิงของจรวดที่ถูกนำส่งขึ้นสู่อวกาศ ค้นพบที่บริเวณเกาะแอล จ.ภูเก็ตได้สำเร็จแล้ว

วันนี้ (18 พ.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) แถลงผลการตรวจสอบพบว่า สารไฮดราซีน ที่เป็นเชื้อเพลิงที่บรรจุในถังเชื้อเพลิง น่าจะถูกใช้งานจนหมดเรียบร้อย ประกอบกับการตรวจสอบพื้นที่โดยรอบจุดที่พบ สภาพแวดล้อมทางทะเลปกติมีสัตว์น้ำ ปะการัง หอยเม่น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดังกล่าว ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ในการเก็บกู้ เจ้าหน้าที่ได้ใช้ความระมัดระวังและป้องกันอย่างเต็มที่ ทั้งทีมเก็บกู้และยุทโธปกรณ์ที่ใช้มีความปลอดภัย ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมด ศรชล.ภาค 3 ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยประชาชน เจ้าหน้าที่ และผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลในพื้นที่เป็นอันดับแรก ซึ่งหลังตรวจสอบแล้วจะจะทำการส่งมอบวัตถุดังกล่าวให้กับจิสด้า เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยต่อไป


ภาพ:ศรชล.ภาค 3


ชี้ไทยลงนามแค่ 2 ฉบับ-ต้องส่งขยะอวกาศคืนเจ้าของ

ด้านดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กล่าวว่า ประเด็นชิ้นส่วนขยะอวกาศ มีการพูดถึงกันบ่อยขึ้น เพราะในอวกาศมีวัตถุอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ รวมแล้วเป็นแสนๆชิ้นดังนั้นอาจจะได้รับผลกระทบไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทำให้ไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา 2 ฉบับจาก 5 ฉบับที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเด็นการคุ้มครองขยะอวกาศ คือ สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์ และเคหะในท้องฟ้าอื่นๆ ค.ศ.1967 และอีกฉบับคือความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศ การส่งคืนนักอวกาศ และการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ.1968

การเจอชิ้นส่วนถังเชื้อเพลิงจรวดที่ จ.ภูเก็ต จึงเท่ากับว่าประเทศไทย ต้องมีความรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ เมื่อมีชิ้นส่วนจากอวกาศไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามตกในไทย ต้องส่งคืนชิ้นส่วนจากอวกาศให้แก่ประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศทันที หากมีการร้องขอจากประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศชิ้นนั้น

"ตอนนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดว่าใครเป็นเจ้าของถังเชื้อเพลิงของจรวดตกกลางทะเลภูเก็ต และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเสียหาย จากวัตถุอวกาศนี้ จึงยากที่จะหาคนมารับผิดชอบ"

แต่หลักการหากบุคคลทั่วไปหรือประชาชน เป็นผู้พบวัตถุอวกาศตกในอาณาเขตไทย จึงต้องแจ้งต่อพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ให้ทราบโดยเร็ว


ภาพ:ศรชล.ภาค 3


ขยะอวกาศนับแสนชิ้น-ไทยออกกฎหมายคุ้มครอง

ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จิสด้า มีความเห็นว่าไทยควรเร่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอีก 3 ฉบับที่เหลือว่าด้วยความรับผิด ระหว่างประเทศสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1972 และอนุสัญญาว่าด้วยความรับจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1975 อย่างเร่งด่วน เพราะจะคุ้มครองคนไทยได้ดีกว่าการปรับใช้สนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ.1967 และความตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือและส่งกลับฯ ค.ศ.1968 เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมอวกาศมีมากขึ้น ความเสี่ยงภัยที่คนไทยจะได้รับยิ่งก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามมา

ส่วนไทยหลังจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.กิจการอวกาศ พ.ศ..เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563 ขั้นตอนจากนี้ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เตรียมร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)


https://news.thaipbs.or.th/content/304441

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 19-05-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


หรือโลกกำลังเผชิญการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อสัตว์ทะเลอพยพออกจากเส้นศูนย์สูตร .................... The Conversation

มหาสมุทรในเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตรนั้นเป็นพื้นที่ที่มีสายพันธุ์สัตว์ทะเลหลากหลายมากที่สุดในโลก เต็มไปด้วยแนวปะการังสีสวยสดใส ฝูงปลาทูน่าจำนวนมาก เต่าทะเล กระเบนราหู ฉลามวาฬ และสายพันธุ์สัตว์ชนิดอื่นๆ มากมายจนนับไม่ถ้วน แต่ยิ่งเข้าใกล้ขั้วโลกมากเท่าไร สัตว์น้ำเหล่านี้จะมีจำนวนน้อยลง

นักนิเวศวิทยาสันนิษฐานว่าหลายศตวรรษที่ผ่านมารูปแบบการใช้ชีวิตของสัตว์ทะเลจะคงเสถียรภาพแบบนี้ จนกระทั่งปัจจุบัน มีงานวิจัยที่ระบุว่ามหาสมุทรบริเวณรอบ ๆ เส้นศูนย์สูตรเริ่ม 'ร้อน' เกินไปสำหรับสัตว์ทะเลหลายชนิด พวกมันจะไม่รอดหากอาศัยอยู่ในน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป ซึ่งตัวการสำคัญของเหตุการณ์นี้คือ 'ภาวะโลกร้อน'

หรือสามารถอธิบายได้ว่าตอนนี้สภาพของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง สัตว์หลายสายพันธุ์กำลังอพยพไปอาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำเย็นขึ้น ใกล้กับขั้วโลกมากขึ้น สถานการณ์นี้มีแนวโน้มว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและวิถีชีวิตมนุษย์ ย้อนกลับไปเมื่อ 250 ล้านปีก่อนได้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และในตอนนั้นมีสัตว์ทะเลกว่า 90% จากสายพันธุ์ทั้งหมดตายลง


ภาพวาฬหลังค่อมถูกถ่ายได้บริเวณเกรทแบริเออร์รีฟ ? Paul Hilton / Greenpeace


สถิติและกราฟบ่งบอกถึงภาวะอันตราย

โดยปกติแล้ว โลกจะมีสายพันธุ์สัตว์เกิดขึ้นไกลจากขั้วโลก และมีจำนวนมากบริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นสถานที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสายพันธุ์สัตว์หลากหลาย หากเราย้อนกลับไปดูสถิติการบันทึกสายพันธุ์สัตว์ทะเลที่บันทึกได้กว่า 50,000 สายพันธุ์ตั้งแต่ ปี 2498 ซึ่งพบว่าสถิติเหล่านี้เมื่อแปลงเป็นกราฟแล้ว กราฟพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ



ผู้เขียนรายงาน แอนโทนี่ ริชาร์ดสัน อธิบายว่า ถ้าลองวิเคราะห์จากกราฟข้างบน เราจะเห็นได้ว่าในช่วงปี ค.ศ.1955 ? 1974 (พ.ศ.2498-2517) ความหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์ทะเลลดลงเล็กน้อย แต่ในหลายทศวรรศหลังจากนั้น กราฟแสดงให้เห็นว่าสัตว์น้ำใกล้เส้นศูนย์สูตรลดลงไปอย่างมาก

ดังนั้น เมื่อมหาสมุทรของเราอุ่นขึ้น สัตว์ทะเลทั้งหลายจึงจำเป็นต้องอพยพเพื่อหาแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกับการใช้ชีวิต พวกมันเริ่มย้ายขึ้นมาใกล้กับขั้วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าภายใน 50 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิทะเลบริเวณเส้น 0.6 จะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอุณหภูมิที่เส้นละติจูดที่เพิ่มสูงกว่า แต่สัตว์ทะเลเหล่านี้ต้องอพยพอยู่ดี เพราะการจำกัดความร้อนในร่างกายยังจำกัดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์สัตว์จากแหล่งอื่นๆ

มหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นั่นทำให้จำนวนสัตว์ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรลดลงไปอีก จากที่เราเคยคาดการณ์ประมาณ 5 ปีก่อนโดยใช้แบบจำลองมาช่วยคำนวน ในตอนนี้สิ่งที่คาดไว้กลายเป็นที่ประจักษ์แล้ว

สัตว์ 10 สายพันธุ์หลักๆที่เราศึกษา เช่น ปลาทะเล ปลาในแนวปะการัง และหอย พบว่า หากอุณหภูมิผิวน้ำเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 20 องศาเซลเซียส ก็จะส่งผลให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจต้องหมดไปหรือลดจำนวนลง ปัจจุบัน ซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตรมีสายพันธุ์สัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด โดยอยู่ที่เส้นละติจูดที่ 30 (ทางตอนใต้ของจีนและเม็กซิโก) และเส้นละติจูดที่ 20ตอนใต้ (ทางตอนใต้ของออสเตรเลียและบราซิลใต้)


ภาพกระเบนว่ายอยู่บนอ่าวปะการัง Raja Ampat ในปาปัว อินโดนีเซีย ? Paul Hilton / Greenpeace


เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ หากพิจารณาว่าสิ่งมีชีวิตทั่วโลกมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วกับภาวะโลกร้อนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อกว่า 252 ล้านปีก่อน โดยในช่วง 252 ล้านปีที่แล้วที่มีเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ซึ่งเป็นยุคสิ้นสุดยุคเพอร์เมียน ในตอนนั้นอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 10 องศาเซลเซียสในช่วง 30,000-60,000 ปี เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภูเขาไฟระเบิดในดินแดนที่คาดว่าเป็นไซบีเรียในปัจจุบัน

นอกจากนี้งานวิจัยในปี 2563 เกี่ยวกับฟอสซิล แสดงให้เห็นว่าจุดสูงสุดของความหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์มียอดกราฟค่อนข้างแบนและกระจายตัว ซึ่งในช่วงเวลานั้น ช้างแมมมอธ เป็นตัวแปรสำคัญในการมีอยู่ของสายพันธุ์สัตว์ ตอนนั้นมีสายพันธุ์สัตว์ทะเลตายไปกว่า 90%

และหากเราถอยหลังไปอีก 125,000 ปีก่อน

ทั้งนี้ พบว่าวิจัยในปี 2555 ระบุว่าก่อนหน้านี้ในช่วงที่ 125,000 ปีก่อน โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดปรากฎการณ์ที่ปะการังย้ายแหล่งกำเนิดออกจากเขตร้อน ตามบันทึกเกี่ยวกับสถิติปริมาณฟอสซิล และผลที่ได้คือรูปแบบที่คล้ายกันเหมือนตัวอย่างที่เราได้อธิบายไป แม้ว่าจะไม่เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ก็ตาม ผู้เขียนรายงานแนะนำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากปัญหาภาวะโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่ อาจเรียกได้ว่าการที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดโดยการอพยพออกจากเส้นศูนย์สูตรเป็นสัญญาณเตือนถึงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในช่วงยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด ซึ่งยุคนี้ยุติลงเมื่อ 15,000 ปีก่อน ความอุดมสมบูรณ์ของโปรโตซัว หรือ สัตว์เปลือกแข็ง มีเซลล์เดียว หรือที่เราเรียกว่าแพลงก์ตอน เพิ่มสูงที่สุดบริเวณเขตร้อนชื้นและค่อยๆลดลงตั้งแต่นั้น แพลงก์ตอนนี้เองคือสายพันธุ์ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุอีกว่าความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอนลดลงเชื่อมโยงกับยุคที่มนุษย์เริ่มทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง


ผลกระทบที่ร้ายแรง

เมื่อระบบนิเวศบริเวณเขตร้อนชื้นสูญเสียสายพันธุ์สัตว์ทะเล นั่นหมายถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศลดลง และลดความต้านทานในการปรับตัวของระบบนิเวศนั้นๆ เมื่อเป็นแบบนี้ในระบบนิเวศระดับย่อย ๆ ของเขตร้อนชื้นอาจไม่สมดุล สายพันธุ์สัตว์อุดมสมบูรณ์ขึ้นหมายถึงจำนวนสายพันธุ์สัตว์บางประเภทอาจมีจำนวนมากเกินไป ยกตัวอย่างเช่นหลังจากนี้ สัตว์ที่ถูกล่าอาจมีจำนวนมากเกินไปสำหรับผู้ล่า รวมทั้งความสัมพันธ์ในห่วงโซ่อาหารอาจเปลี่ยนแปลง เช่น ปลาเขตร้อน อพยพไปยังอ่าวซิดนีย์และกลายเป็นคู่แข่งกับปลาท้องถิ่นอื่น ๆ ที่อาศัยและหาอาหารอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจนำไปสู่ความล้มเหลวของระบบนิเวศ เหมือนกับช่วงรอยต่อของยุคเพอร์เมียนและยุคไทรแอสซิก ซึ่งมีสัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์และแหล่งอาหารสำหรับระบบนิเวศได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

การเปลี่ยนแปลงข้างต้นที่เราอธิบายจะยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อวิถีชีวิตของมนุษย์เรา กล่าวคือประเทศที่เป็นหมู่เกาะต่าง ๆ ในบริเวณเขตร้อนมักพึ่งพาอาชีพประมง พวกเขามีรายได้จากการจับปลา เช่น ปลาทูน่า จากการได้รับอนุญาตให้ประมงในน่านน้ำที่เป็นเขตของตนเอง แต่ปลาทูน่าเป็นปลาที่เคลื่อนย้ายฝูงอย่างรวดเร็ว และพวกมันก็มีแนวโน้มจะเคลื่อนที่อพยพไปยังพื้นที่กึ่งเขตร้อนชื้น และนั่นอาจทำให้มันอพยพไปยังน่านน้ำที่อยู่เหนือประเทศหมู่เกาะเหล่านี้


ฝูงทูน่าสคิปแจ๊ค ว่ายอยู่รอบๆช่ายภาพยนตร์และนักวิทยาศาสตร์ Stefan Andrews. St Francis ? Great Australian Bight. ? Michaela Skovranova / Greenpeace

นอกจากนี้ สายพันธุ์ปะการังสำคัญกับชาวประมงพื้นบ้าน ปะการังดึงดูดสัตว์ขนาดใหญ่เช่นฉลามวาฬ กระเบน และเต่าทะเล ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ก็ยังจะอพยพออกไปยังเขตกึ่งร้อนชื้น การเคลื่อนย้ายของสัตว์น้ำที่กล่าวไปจะทำให้ประเทศในเขตร้อนไม่สามารถทำตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN ที่เกี่ยวกับการลดความอดอยากและการปกป้องสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร


เพื่อไม่ให้สัญญาณเตือนเกิดขึ้นจริง เราทำอะไรได้บ้าง

หนึ่งในทางออกนั้นคือ "ความตกลงปารีส" (the Paris Climate Accords) และทั่วโลกต้องรีบออกมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและเร่งด่วน นอกจากทางเลือกนี้ โอกาสอื่น ๆ ที่จะช่วยปกป้องระบบนิเวศทางทะเลเหล่านี้เอาไว้คือการปกป้องระบบนิเวศในมหาสมุทรเพื่อไม่ให้เกิดการอพยพออกจากเส้นศูนย์สูตรหรือเกิดน้อยที่สุด ในตอนนี้มีพื้นที่ของมหาสมุทรประมาณ 2.7% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง เป็นเขตคุ้มครองทางทะเลและมหาสมุทรอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในการประชุมเรื่องความหลากหลายของระบบนิเวศโดย UN นั้น มีข้อตกลงว่าจะต้องปกป้องพื้นที่เพิ่มเป็น 10% ภายใน พ.ศ. 2563

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีกลุ่มประเทศ 41 กลุ่มที่กำลังผลักดันให้มหาสมุทรได้รับการคุ้มครองไปถึง 30% จากพื้นที่ทั้งหมดภายในปี พ.ศ.2573

เป้าหมาย 30?30 จะช่วยให้อุตสาหกรรมทุกรูปเข้าไปทำลายมหาสมุทรเพื่อทรัพยากรไม่ได้ พวกเขาไม่สามารถเข้าไปจับปลาจำนวนมหาศาลหรือเข้าไปขุดเหมืองใต้ทะเลเพื่อเอาแร่ได้ เพราะแม้กระทั่งการทำลายหน้าดินในพื้นมหาสมุทรที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ก็เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางโดยเครื่องบินจากสนามบินทั่วโลก เป้าหมาย 30?30 จะช่วยให้ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหารปรับตัวและอยู่รอดได้

หากเราออกแบบการจัดการสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะสามารถปกป้องระบบนิเวศจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การวางแผนปกป้องสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรสามารถปกป้องพวกมันจากการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการปกป้องสภาพภูมิอากาศให้คงสเถียรภาพในอนาคตอันใกล้

ตอนนี้เรารู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อโลกและเราอย่างไร หลักฐานอ้างอิงเหล่านี้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บอกเราว่าเราต้องปกป้องระบบนิเวศ และเราไม่ควรผลัดวันประกันพรุ่งกับปัญหาระดับโลกนี้อีกต่อไป


https://www.greenpeace.org/thailand/...cooler-waters/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:21


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger