เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,291
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานานไว้ด้วย
ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมียังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง
โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 28-30 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 37-42 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ตลอดช่วง

สำหรับภาคใต้ในช่วงวันที่ 27 ? 29 เม.ย. 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 30 เม.ย. ? 2 พ.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันตกพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานาน รวมถึงระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ไว้ด้วยตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,291
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


'ปะการังฟอกขาว' ครั้งใหญ่ ลามทั่วโลก ต้นตอจากภาวะ 'โลกเดือด'

หลายพื้นที่ทั่วโลก ประสบสภาวะ "ปะการังฟอกขาว" ครั้งใหญ่ เหตุจากภาวะโลกร้อน-กระทบต่อระบบนิเวศ



เป็นข้อมูลที่น่าสนใจจาก SDG Move TH ระบุว่า แนวชายฝั่งตั้งแต่ออสเตรเลีย เคนยา จนไปถึงเม็กซิโก พบแนวปะการังที่มีสีสันสดใสหลายแห่งทั่วโลกกำลังกลายเป็นสีขาวอย่างน่ากลัว โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA) และโครงการริเริ่มแนวปะการังนานาชาติ (ICRI) ประกาศว่า โลกกำลังประสบสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ (Mass Bleaching) เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่มีการจดบันทึกมา ซึ่งตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 66 พบว่า อย่างน้อย 54 ประเทศและดินแดนกำลังประสบปัญหาสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้นํ้าในพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ครั้งเกิดขึ้นเมื่อปี 41 ปี 53 และระหว่างปี 57 ? 60 ล้วนเกิดขึ้นในช่วงของปรากฏการณ์เอลนีโญ

"ปะการังฟอกขาว" เกิดจากการที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมินํ้าทะเลสูงเกินไป และเมื่อเกิดแล้วอาจก่อให้เกิดโรค หรือกระทั่งตายได้ หากภาวะนั้นยังไม่ได้รับการเยียวยา

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า พื้นที่แนวปะการังมากกว่า 54% ในมหาสมุทรทั่วโลกกำลังเผชิญกับการที่ปะการังจะเกิดความเครียดจากความร้อน ทำให้ปะการังมีสีจางลงจนเปลี่ยนเป็นสีขาว ขณะที่เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแนวปะการังกว้างใหญ่ที่สุดของโลกและสามารถมองเห็นได้จากอวกาศก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับแนวปะการังที่กว้างใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ทะเลแดง (Red Sea) ที่ตั้งอยู่ระหว่างทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย รวมถึงอ่าวเปอร์เซีย

นอกจากนี้ เมื่อเดือนส.ค. ปี 66 พบว่า แนวปะการังในทะเลแคริบเบียนประสบปัญหาการฟอกขาว เนื่องจากอุณหภูมิผิวนํ้าทะเลอยู่ที่ประมาณ 1-3 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิปกติ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์การฟอกขาวนั้นยังเกิดขึ้นซํ้า ๆ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์จึงคาดการณ์ว่าหากโลกมีอุณหภูมิสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส แนวปะการังทั่วโลกอาจสูญหายไป 70-90% โดยปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งตัวเลขนี้ก็เพียงพอที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแนวปะการัง

จากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นกำลังกัดกินพื้นที่ครอบคลุมไปทั่วโลก ดังนั้น ทั่วโลกต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยปรับปรุงสภาพการอยู่รอดของแนวปะการัง เนื่องจากยังมีคนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาปะการังในฐานะแหล่งสารอาหาร รวมถึงเป็นแหล่งพักอาศัยสำคัญ และแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเลมากมาย นอกจากนี้ แนวปะการังยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศด้านต่าง ๆ เช่น การชะลอคลื่น และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลมในมหาสมุทรอีกด้วย

สอดคล้องกับที่ "ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า NOAA ประกาศ "ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ" อย่างเป็นทางการ ถือเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ สองครั้งหลังเกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แสดงถึงความรุนแรงของโลกร้อนทะเลเดือด ปัจจุบันมี 53 ประเทศใน 3 มหาสมุทร เกิดปะการังฟอกขาวแล้ว คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก ในทะเลไทย อุณหภูมินํ้าทะเลสูงขึ้นในช่วงปลาย มี.ค. ต้น เม.ย. แต่คงที่ ลดเล็กน้อยในช่วงสงกรานต์ ยังไม่พบปะการังฟอกขาวอย่างชัดเจนในขณะนี้ ต้องเฝ้าระวังปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสิ้น เม.ย. ตลอดเดือน พ.ค. อันเป็นช่วงวิกฤติ

การลดผลกระทบด้านอื่น ๆ ในแนวปะการัง เช่น ตะกอน นํ้าทิ้ง การท่องเที่ยว แพลงก์ตอนบลูม เป็นเรื่องสำคัญในการเพิ่มความทนทานของระบบนิเวศ การย้ายปะการัง เก็บสะสมพ่อแม่พันธุ์ อาจจำเป็นหากเกิดฟอกขาวรุนแรง แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ ภายใต้การดูแลของกรมทะเล ผู้เชี่ยวชาญ การลดจำนวนนักท่องเที่ยว ปิดบางพื้นที่ อาจจำเป็นแต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวควบคู่กันไป การสร้างแหล่งดำนํ้าอื่น ๆ เพื่อดึงคนออกจากแนวปะการัง มีส่วนช่วยได้ เช่น เรือปราบ

ทางศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ระบุถึงปะการังฟอกขาว เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี เกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่นอุณหภูมินํ้าทะเลสูงเกินไป มีนํ้าจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกนํ้าจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยนํ้าเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาดก็ล้วนมีผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอดแนะนำถึงการดูแลรักษา และอนุรักษ์แนวปะการังได้ เริ่มจากการลดการสร้างมลพิษที่สามารถทำได้ดังต่อไปนี้ ลดการใช้รถโดยไม่จำเป็น ลดการเผาสิ่งปฏิกูล หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นการทำลายแนวปะการัง ด้วยการทำระบบบำบัดนํ้าเสีย ระมัดระวังการใช้ปุ๋ยในการเกษตร เพราะเมื่อถูกชะล้างลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อสาหร่ายในแนวปะการัง ไม่ทิ้งขยะตามชายฝั่งทะเล


https://www.dailynews.co.th/news/3374024/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,291
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


น่าทึ่ง! แม่เต่าตนุ เดินทางไกล 550 กม. จากมาเลเซียไปวางไข่ที่เวียดนาม



สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า พบแม่เต่าตนุ (Green turtle) มีป้ายติดบนตัวที่ระบุถึงแหล่งที่มา คือประเทศมาเลเซีย ขึ้นมาวางไข่ 108 ฟอง บนหมู่เกาะคอนด๋าว (Con Dao) นอกจังหวัดบ่าเสียะ-หวงเต่า อยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม

แม่เต่าขึ้นฝั่งบนเกาะ Bay Canh เพื่อวางไข่เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 เมษายน 2024 ซึ่งตรงกับ Earth Day) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ Con Dao พบว่าเต่ามีป้ายติดตามแบบมาเลเซียอยู่บนตัว Con Dao อยู่ห่างจากเมืองที่ใกล้ที่สุดของมาเลเซียอย่าง Kuala Terengganu ประมาณ 550 กม.

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ Con Dao กล่าวว่าเต่ามีน้ำหนักประมาณ 90-100 กิโลกรัม และมีอายุประมาณ 40 ปี โดยพบว่าป้ายบนแท็กติดตามจางหายไปบางส่วน ดังนั้นจึงไม่สามารถอ่านข้อมูลทั้งหมดได้

"เมื่อ 6 ปีก่อน เคยพบเต่าที่ติดป้ายระบุว่ามาจากอินโดนีเซีย ก็มาวางไข่ในพื้นที่ Con Dao ด้วย ซึ่งตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ประมาณการว่ามีเต่าตนุกว่า 2,700 ตัว มาที่หมู่เกาะนี้เพื่อวางไข่"

เต่าตนุ (Chelonia mydas) เป็นหนึ่งในเต่าเจ็ดสายพันธุ์ที่มีอยู่และสืบพันธุ์ใน Con Dao ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2023 มีไข่เต่ามากกว่า 145,000 ฟองฟักออกมาในเมืองคอนด๋าว พวกเขาถูกแท็กโดยอุทยานแห่งชาติ Con Dao เพื่อการติดตามก่อนที่จะกลับคืนสู่ทะเล


เต่าตนุ ผู้สร้างความสมบูรณ์ให้กับแนวหญ้าทะเลและระบบนิเวศ

เต่าตนุต่างจากเต่าทะเลอื่นๆ ตรงที่เมื่อเติบโตเต็มวัยจะกินพืชเป็นหลัก โดยเฉพาะหญ้าทะเลและสาหร่าย ส่วนตอนวัยเด็กกินอาหารหลากหลายทั้งปู แมงกระพรุน และฟองน้ำ

เต่าตนุ โตเต็มที่เมื่ออายุ 4?7 ปี เชื่อกันว่าอายุยืนถึง 80 ปี ในประเทศไทย ฤดูวางไข่ตกอยู่ในราวเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายนในบริเวณอ่าวไทย และอยู่ในราวเดือนกันยายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ในทะเลอันดามัน จำนวนไข่ต่อครั้งมีตั้งแต่ 70?150 ฟอง เต่าขนาดโตเต็มที่แล้วจะว่ายน้ำหากินไปเรื่อย ๆ แต่จะกลับมาวางไข่บนชายหาดที่ถือกำเนิด

เต่าตนุได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างความสมบูรณ์ให้กับแนวหญ้าทะเลและระบบนิเวศในบริเวณใกล้เคียง เพราะคอยทำหน้าที่เหมือนคนสวนที่แทะก้านใบเก่าๆ เปิดโอกาสให้หญ้าทะเลแตกใบใหม่ๆ ยิ่งเล็ม ก็ยิ่งงอกงามสมบูรณ์

ปัจจุบัน เต่าตนุถูกจัดให้มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในระดับโลกโดย IUCN Red List. ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับเสือโคร่ง และ ฉลามวาฬ โดยที่ภัยคุกคามสำคัญที่สุด คือ การสูญเสียแหล่งวางไข่ และมลภาวะโดยเฉพาะปัญหาขยะในทะเล

อ้างอิง
- https://e.vnexpress.net/news/news/en...o-4737929.html
- https://vietnamagriculture.nongnghie...s-d383847.html
- https://www.loveandaman.com/marine-a...een-sea-turtle



https://mgronline.com/greeninnovatio.../9670000036181
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,291
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


กรมอุทยานฯ ประกาศปิด ขสป.เชียงดาว หลังพบเผาป่า กระทบระบบนิเวศ-ถิ่นอาศัยสัตว์ป่า

กรมอุทยานฯ ประกาศปิดแล้ว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ขสป.)เชียงดาว ไม่มีกำหนด หลังพบลักลอบเผาป่า กระทบระบบนิเวศ ถิ่นที่อยู่อาศัยสัตว์ป่า



26 เม.ย. 67 ? นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เนื่องด้วยพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ประสบปัญหาสภาพอากาศมีความแห้งแล้งต่อเนื่อง และมีการลักลอบบุกรุกเผาป่า ทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงเป็นวงกว้าง พื้นที่ป่าและสัตว์ป่าถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมถึงพรรณไม้มีค่าหายากของพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว

กรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันและหยุดยั้งปัญหาที่เกิดขึ้น มิให้เกิดความเสียหายต่อความสมบูรณ์และความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวต่อไป

จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว โดยห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวโดยมิได้รับอนุญาต ยกเว้นผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำกินที่ได้มีการสำรวจการถือครองที่ดินไว้ตามมาตรา 121 แห่งพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาป่า การบุกรุกพื้นที่ป่า การล่าสัตว์ป่า ตลอดจนการจัดระเบียบที่พัก โฮมสเตย์ และการควบคุมการเข้าออกอย่างเหมาะสมเพื่อให้สภาพทางธรรมชาติได้ฟื้นฟูระบบนิเวศและพักฟื้นตัวจากความเสียหายต่อไป ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_8204466

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,291
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


ระทึก!! ไฟไหม้เรือยอร์ชกลางทะเล หลังกัปตันทดสอบเรือ เสียหายเกือบ 20 ล้าน

ระทึก!!! ไฟไหม้เรือยอร์ชกลางทะเล นาจอมเทียน หลังกัปตันทดสอบเรือ เสียหายเกือบ 20 ล้าน



เมื่อเวลา 15.06 น.วันที่ 26 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำสัตหีบ เจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลเขตอุดมศักดิ์ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ ภายใต้การอำนวยการและการสั่งการของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา กรมเจ้าท่า ระดมกำลัง ไประงับเหตุ เพลิงไหม้เรือยอร์ช โคโค่ยอร์ช กลางทะเลอ่าวนาจอมเทียน ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อไปถึงพบว่าเพลิงกำลังโหมลุกไหม้อย่างหนัก มีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าจนเห็นได้ในระยะไกล และมีลูกเรือจำนวนสามคนติดอยู่บนเรือ

เจ้าหน้าที่ใช้เรือกู้ชีพเร่งฉีดน้ำเข้าสกัดเปลวเพลิงที่กำลังลุกไหม้ทั้งลำเรือ เป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมงเพลิงยังไม่สามารถสงบลง แต่สามารถช่วยลูกเรือออกมาได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด ตรวจสอบทราบว่าเป็นเรือยอร์ชชื่อ โคโค่ ยอร์ช หมายเลขทะเบียนเรือ 492300301 ประเภทเรือ เรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต ประเภทการใช้ บรรทุกคนโดยสาร วัสดุตัวเรือ ไฟเบอร์กล๊าส ความยาวตลอดลำ 13.25 เมตร กว้าง 4.10 เมตร ลึก 2.29 เมตร

สอบถามกัปตันเรือดังกล่าว เปิดเผยว่าตนเองพร้อมช่างหลังจากซ่อมเรือเสร็จได้นำเรือออกมาทดสอบระบบ กระทั่งขับมาบริเวณกลางทะเล สังเกตุเห็นเปลวไฟกำลังลุกไหม้จากท่อไอเสียจากเครื่องยนต์ ทุกคนพยายามดับแล้วแต่ไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้จึงลุกลามไปทั่วลำเรือ จึงรีบแจ้งประสานขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ โดยค่าเสียหายเกือบ 20 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยาได้ออกคำสั่งห้ามใช้เรือ และมีหนังสือเชิญเจ้าของ ผู้ครอบครองเรือ โคโค่ ยอร์ช หมายเลขทะเบียนเรือ 492300301 ที่เกิดเพลิงไหม้ มาพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบสวนสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ต่อไป


https://www.naewna.com/local/801401

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,291
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'ทะเลเดือด' จาก 'ภาวะโลกร้อน' อุณหภูมิน้ำพุ่งสูงทำลายสถิติต่อเนื่อง .............. โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล



"อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล" ยังคงทำลายสถิติอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปีแล้ว และมีแนวโน้มว่าปี 2024 จะทำลายสถิติไปเรื่อยๆ เพราะ "ภาวะโลกร้อน" ยังคงรุนแรง เข้าสู่ยุค "ทะเลเดือด" เต็มตัว ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลทั่วโลก

สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S ระบุว่า เดือนมีนาคม 2567 กลายเป็นเดือนที่อุณหภูมิรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ด้วยอุณหภูมิ 21.07 องศาเซลเซียส

"เดือนมีนาคม 2024 มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุณหภูมิอากาศ และอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทร" ซาแมนทา เบอร์เกสส์ รองผู้อำนวยการของ C3S กล่าวในแถลงการณ์

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด คาดการณ์ว่ามหาสมุทรเขตร้อนในมหาสมุทรแอตแลนติกมีอากาศอบอุ่นกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดฤดูพายุเฮอริเคนที่รุนแรง เพราะยิ่งอุณหภูมิในมหาสมุทรสูงขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้พายุมีพลังมากขึ้นเท่านั้น

กาวิน ชมิดต์ นักอุตุนิยมวิทยา และผู้อำนวยการสถาบันก็อดดาร์ด เพื่อการศึกษาอวกาศ ของนาซา ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจนทำลายสถิติใหม่ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และลากยาวมาจนปีนี้ เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของนักวิทยาศาสตร์ แม้จะคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วก็ตาม

อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มจะสูงขึ้นในระยะยาว เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยในขณะนี้ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยยุคก่อนอุตสาหกรรมประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส ส่งผลให้มหาสมุทรที่มืดกว่าจะยิ่งดูดซับความร้อนจากก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้มหาสมุทรร้อนขึ้นเรื่อยๆ


"ทะเล" ในเอเชียร้อนกว่าทั่วโลก

ข้อมูลจาก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ระบุว่า อุณหภูมิพื้นผิวทะเลของฝั่งเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งกระแสน้ำญี่ปุ่น หรือกระแสน้ำคุโรชิโอะ ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแอ่งมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ รวมถึง ทะเลอาหรับ ทะเลแบเรนตส์ตอนใต้ ทะเลคาราตอนใต้ และทะเลลัปเตฟทางตะวันออกเฉียงใต้ สูงกว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3 เท่า

ทะเลแบเรนตส์กลายเป็นจุดความร้อนของมหาสมุทร เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่พื้นผิวมหาสมุทรส่งผลกระทบสำคัญต่อธารน้ำแข็งในน้ำทะเล ซึ่งเร่งให้เกิดการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลให้เร็วยิ่งขึ้น และทำให้ดูดกลืนก๊าซเรือนกระจก และแสงอาทิตย์ได้มากกว่าธารน้ำแข็งที่เป็นสีขาวที่สะท้อนแสงได้ดีกว่า

นอกจากนี้ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล (ระดับความลึกตั้งแต่ 0-700 เมตร) ในทะเลอาหรับตะวันตกเฉียงเหนือ ทะเลฟิลิปปินส์ และทะเลทางตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงสามเท่า

สำหรับคลื่นความร้อนที่เกิดในทะเลอาหรับตะวันออก และทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก จะกินเวลานานถึง 3-5 เดือน โดยความร้อนที่ยืดเยื้อยาวนานนี้จะส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรอย่างรุนแรง


"ทะเลเดือด" ทำร้ายสิ่งมีชีวิตในทะเล

ปรากฏการณ์ "ทะเลเดือด" ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล จะทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดย 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลพื้นเมืองในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอาจเปลี่ยนแหล่งที่อยู่อาศัย ย้ายอยู่ในน้ำที่ลึกกว่า และเย็นกว่า เช่น "ปลาค็อด" ที่อพยพย้ายไปยังน่านน้ำใกล้รัสเซีย และนอร์เวย์

ในขณะที่ สัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน เช่น ปูม้า และปลาสิงโตจะเจริญเติบโตในน้ำอุ่น บุกรุกที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น

"สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในภูมิภาค เนื่องจากพวกมันสามารถแข่งขันกับสายพันธุ์พื้นเมืองได้" เวอร์จินิยุส ซินเควิชิอุส สมาชิกคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม มหาสมุทร และการประมง ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times

นอกจากนี้ ซินเควิชิอุสยังตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลมีจำนวนลดลง เป็นเพราะว่าน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด และการปนเปื้อนมลพิษจากภาคการเกษตร ทำให้สาหร่ายในน้ำแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว จนแหล่งน้ำไม่มีออกซิเจน ทำให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ รวมไปถึงการประมงเกินขีดจำกัดก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลลดลงอย่างน่าใจหาย


สาเหตุที่ทำให้ "ทะเลเดือด"

ในปี 2023 เกิดปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" (El Ni?o) ที่ทำให้อุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา และปัจจุบันเอลนีโญกำลังเริ่มอ่อนกำลังลง จากนั้นจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ "ลานีญ" (La Ni?a) เป็นช่วงที่อุณหภูมิมหาสมุทรเย็นลงผิดปกติ

อย่างไรก็ตามเอลนีโญ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่แค่ 2 ปัจจัยที่ทำให้น้ำทะเลเดือด ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบอีก ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำฮันกาตองกาฮันกาฮาพาย (Hunga-Tonga-Hunga-Haapai) ในตองกา เมื่อปี 2022 ทำให้เกิดเขม่า และฝุ่นละอองปกคลุมแสงแดด จนชั้นบรรยากาศเย็นลงชั่วคราว

แต่เนื่องจากภูเขาไฟลูกนี้จมอยู่ใต้น้ำใต้มหาสมุทรแปซิฟิก การปะทุของมันจึงพ่นไอน้ำหลายล้านตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศชั้นบนด้วย และไอน้ำเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทรงพลัง

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจากการปะทุของภูเขาไฟมีมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ โดยชอน เบิร์กเคิล ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยเมน ตั้งข้อสังเกตว่าการปะทุอาจส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของบรรยากาศ และช่วยขยายขอบเขตปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงปี 2023 แต่เขาเสริมว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม

อีกหนึ่งประเด็นคือ มาตรการลดมลภาวะจากละอองลอยจากเรือคอนเทนเนอร์ที่เดินทางข้ามมหาสมุทร ตามมาตรฐานเชื้อเพลิงสากลใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2020 กลับทำให้เกิดการระบายความร้อนในชั้นบรรยากาศตอนกลาง และตอนบน อีกทั้งช่วยปกปิดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา: Financial Times, The New York Times


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1124024
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,291
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


ทำความรู้จัก "สนธิสัญญาพลาสติก" ฉบับแรก เร่งเจรจาก่อนขยะท่วมโลก


SHORT CUT

- สนธิสัญญาพลาสติกฉบับแรกของโลกมีเป้าหมายจะบรรลุข้อตกลงภายในปลายปีนี้ ซึ่งอาจเป็นข้อตกลงสำคัญที่สุดเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกและปกป้องสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ข้อตกลงปารีสปี 2015

- ประเทศต่างๆ ยังมีจุดยืนที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้ผลิตพลาสติกคัดค้านการจำกัดการผลิตและเปิดเผยสารเคมี ขณะที่กลุ่ม High-Ambition Coalition (รวมอียู) ต้องการให้กำหนดเป้าหมายการยุติมลพิษในปี 2583

- ความท้าทายในการเจรจาคือการหาจุดร่วมจากมุมมองที่แตกต่าง ก่อนการเจรจารอบสุดท้ายในเดือนธันวาคมที่ปูซาน เพื่อบรรลุข้อตกลงที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขวิกฤตมลพิษพลาสติกระดับโลก




บรรดาผู้นำระดับโลกจะรวมตัวกันที่เมืองหลวงของแคนาดาในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือความคืบหน้าในการร่าง "สนธิสัญญาพลาสติก" ระดับโลกฉบับแรกที่จะควบคุมมลพิษจากพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นในสิ้นปีนี้


ทำไมเราถึงมีการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติก?

ในปี 2022 (พ.ศ. 2565) ที่การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ประเทศต่างๆ ได้ตกลงร่วมกันที่จะจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติกที่กำลังคุกคามโลกของเรา โดยมีเป้าหมายที่จะให้ข้อตกลงนี้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2024 (พ.ศ. 2567)

สนธิสัญญาพลาสติกฉบับนี้ มุ่งที่จะจัดการกับปัญหาพลาสติกแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางที่การผลิต ไปจนถึงปลายทางที่การใช้งานและการกำจัดทิ้ง ซึ่งจะเป็นความพยายามครั้งสำคัญของนานาชาติ ในการร่วมมือกันรับมือกับวิกฤตขยะพลาสติกที่กำลังส่งผลกระทบเลวร้ายต่อระบบนิเวศของโลกเรา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกป้องโลกใบนี้ ทัดเทียมกับข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2015


พลาสติกมีปัญหาอะไร?

ปัจจุบัน ขยะพลาสติกกลายเป็นภัยคุกคามระดับโลกที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อภูมิประเทศและทางน้ำ ในขณะที่การผลิตพลาสติกก็ยังเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลอันนำไปสู่ภาวะโลกร้อน ซึ่งจากรายงานจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติ Lawrence Berkeley National Laboratory ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุว่าขณะนี้อุตสาหกรรมพลาสติก คิดเป็นสัดส่วน 5% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นเป็น 20% ภายในปี 2593 หากแนวโน้มในปัจจุบันยังดำเนินต่อไป

การผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2603 เว้นแต่สนธิสัญญาจะกำหนดขีดจำกัดการผลิต ตามที่บางคนเสนอ


ความท้าทายในการเจรจาคืออะไร?

การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกในสัปดาห์นี้ถือเป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่สุด ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 3,500 คน จากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรัฐสภา ผู้นำธุรกิจ สมาชิกสภานิติบัญญัติ นักวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงองค์กรสิ่งแวดล้อมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การเจรจา 3 รอบก่อนหน้าที่จัดขึ้นในปุนตา เดล เอสเต ประเทศอุรุกวัย, ปารีส และไนโรบี กลับเผยให้เห็นถึงความเห็นที่แตกต่างกันของแต่ละชาติในประเด็นสำคัญๆ

ในการเจรจาล่าสุดที่กรุงไนโรบี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ร่างสนธิสัญญาได้ขยายความยาวจาก 30 หน้า เป็น 70 หน้า เพราะบางประเทศยืนกรานที่จะผนวกข้อคัดค้านต่อมาตรการเข้มงวด เช่น การจำกัดการผลิตและการยกเลิกการใช้ เข้าไปในเนื้อหาด้วย

ขณะนี้ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักในการหาจุดยืนร่วมกัน ก่อนการเจรจาขั้นสุดท้ายจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ทันตามกำหนด


ประเทศต่างๆ ต้องการอะไรจากสนธิสัญญา?

ในการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติก ประเทศผู้ผลิตพลาสติกและปิโตรเคมีหลายแห่ง อาทิ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และจีน ซึ่งรวมตัวกันภายใต้ชื่อ "กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน" หรือ Like-Minded Countries ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการกำหนดขีดจำกัดการผลิต และพยายามขัดขวางไม่ให้มีการใช้ถ้อยคำในสนธิสัญญาที่จะนำไปสู่การจำกัดการผลิต, การเปิดเผยข้อมูลสารเคมี หรือการกำหนดเป้าหมายการลดขนาดการใช้ ตั้งแต่การประชุมที่ไนโรบีเมื่อปีก่อน

ในขณะเดียวกัน มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมความคาดหวังสูง" หรือ High-Ambition Coalition ประกอบด้วย 60 ประเทศ รวมถึงชาติสมาชิกสหภาพยุโรป, ประเทศหมู่เกาะต่างๆ และญี่ปุ่น ซึ่งตั้งเป้าที่จะยุติมลพิษพลาสติกให้ได้ภายในปี 2040 กลุ่มนี้ได้รับการหนุนหลังจากองค์กรสิ่งแวดล้อม ที่เรียกร้องให้มีการบัญญัติกฎหมายที่มีผลผูกพันเพื่อ "ยับยั้งและลดการผลิตและการใช้พลาสติกใหม่ให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน" นอกจากนี้ยังมีการเสนอมาตรการอื่นๆ อย่างการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่สร้างปัญหา และการแบนสารเคมีบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ทางด้านสหรัฐฯ แม้จะประกาศเป้าหมายที่จะกำจัดขยะพลาสติกภายในปี 2040 เช่นเดียวกับกลุ่ม High-Ambition Coalition แต่กลับเสนอแนวทางที่แตกต่างออกไป โดยต้องการให้แต่ละประเทศกำหนดแผนปฏิบัติการของตัวเอง จากนั้นจึงส่งรายละเอียดของแผนเหล่านั้นมาเป็นพันธสัญญาต่อสหประชาชาติเป็นระยะๆ


อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องการอะไร?

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตพลาสติก ผ่านตัวแทนอย่างกลุ่ม Global Partners for Plastics Circularity ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ผลิตรายใหญ่ในสมาคมอย่าง American Chemistry Council และ Plastics Europe ได้ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการบังคับจำกัดปริมาณการผลิต โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้ต้นทุนตกไปที่ผู้บริโภคในรูปของสินค้าที่แพงขึ้น พร้อมย้ำว่าสนธิสัญญาควรมุ่งจัดการพลาสติกที่ผลิตออกมาแล้วมากกว่า

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังเสนอแนวทางที่เน้นการส่งเสริมการใช้ซ้ำ การรีไซเคิล รวมถึงเทคโนโลยีที่สามารถแปรรูปพลาสติกกลับไปเป็นเชื้อเพลิง ในประเด็นของความโปร่งใสเรื่องสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติก พวกเขามองว่าควรเป็นเรื่องของความสมัครใจของแต่ละบริษัทที่จะเลือกเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น มากกว่าที่จะถูกบังคับด้วยกฎหมาย


แบรนด์สินค้าต้องการอะไร?

บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำกว่า 200 แห่ง อาทิ Unilever, PepsiCo และ Walmart ได้ร่วมตัวกันจัดตั้ง "Business Coalition for a Plastics Treaty" หรือ "พันธมิตรภาคธุรกิจเพื่อสนธิสัญญาพลาสติก"

เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บรรดาแบรนด์สินค้าเหล่านี้ที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวนมาก ก็มีบทบาทไม่น้อยในการเจรจาครั้งนี้ แต่น่าสนใจว่าจุดยืนของพวกเขากลับสวนทางกับฝั่งผู้ผลิตพลาสติก โดยสนับสนุนสนธิสัญญาที่ครอบคลุมการจำกัดปริมาณการผลิต, กำหนดระยะเวลาการใช้และลดการใช้ลง, ส่งเสริมนโยบาย reuse, วางกฎเกณฑ์การออกแบบผลิตภัณฑ์, ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ไปจนถึงการจัดการกับขยะพลาสติก ดังที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ก่อนการประชุมที่กรุงออตตาวา

ที่มา ... Reuters


https://www.springnews.co.th/keep-th...ronment/849791
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:05


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger