เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 10-02-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้ภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้ากับมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ โดยยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. 2565 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศแปรปรวน โดยจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแกรง และลูกเห็บตกบางแห่ง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 9 ? 10 ก.พ. 65 ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีกำลังอ่อน ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 11 ? 15 ก.พ. 65 ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ในช่วงวันที่ 11 ? 13 ก.พ. 65 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันอออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้มีกำลังปานกลาง ตลอดช่วง ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกในระยะนี้ไว้ด้วยตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 11 ? 15 ก.พ. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2565)" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565

ในช่วงวันที่ 11?13 กุมภาพันธ์ 2565 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้พัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงรวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 10-02-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ไขปริศนาหินภูเขาไฟ หายากมากในไทย เกลื่อนชายหาดภาคใต้ พัดมาจากที่ใด



สร้างความฮือฮาและกังวลใจ ให้กับชาวบ้านทางภาคใต้บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เมื่อหินภูเขาไฟจำนวนมาก ลอยเกลื่อนเป็นแพบนผิวน้ำทะเล และถูกคลื่นซัดขึ้นมากองตลอดแนวชายหาดพื้นที่ 8 ตำบลในจ.สงขลา และบางหาดในจ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และจ.นครศรีธรรมราช

ภายหลังเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้ตรวจสอบพบว่าเป็นหินขนาดเล็ก มีรูพรุน น้ำหนักเบา สีเทาปนเขียว ขนาดอนุภาคตะกอน 0.3-3 ซม. คล้ายหินพัมมิซ (Pumice) หรือหินภูเขาไฟ เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล ประเภทหินอัคนีพุ ลักษณะเนื้อหินเป็นฟองและเบา เกิดจากการเย็นตัวของหินหลอมเหลวและแร่ธาตุต่างๆ ใต้พื้นโลก

หินภูเขาไฟที่พบไม่เป็นอันตราย หรือส่งผลกระทบต่อน้ำทะเลหรือสัตว์ทะเล คาดว่ามีค่าความเค็มสูง มีแร่ธาตุต่างๆ เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เป็นจำนวนมาก เป็นประโยชน์ต่อการปลูกพืช ซึ่งต้องนำไปแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อลดความเค็ม ก่อนนำไปใช้

ส่วนที่มาของหินภูเขาไฟเหล่านี้ มาจากแหล่งใด "ดร.ประหยัด นันทศีล" ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คาดว่ามาจากภูเขาไฟใต้ทะเลที่เกิดจากการปะทุบ่อยครั้ง ในรอบปีที่ผ่านมา แถวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย จากกระแสน้ำในมหาสมุทร หรือพัดมาจากทะเลจีนใต้ ฝั่งประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลในตองกา และโดยธรรมชาติของหินพวกนี้สามารถลอยได้ไกลมาก และอยู่ในทะเลได้นาน

"ชาวบ้านไม่ต้องกังวล เพราะหินพวกนี้ หรือเรียกว่าหินพัมมิซ ลักษณะมีรูพรุนลอยน้ำได้ ไม่เป็นอันตรายใดๆ แต่มีประโยชน์มีส่วนประกอบของธาตุซิลิกา เหมือนทรายแก้วที่อยู่ตามชายหาด ปนอยู่ในปริมาณที่สูง คุณสมบัติไม่ไวต่อปฏิกิริยา แม้น้ำทะเลจะมีกรด หรือด่างก็ตาม และมีองค์ประกอบเหมือนแร่ควอตซ์ ทนต่อกรด"



หินภูเขาไฟ สุดหายากมากในไทย ประโยชน์มากมาย

หินภูเขาไฟ หรือหินพัมมิซ ซึ่งลอยมาเกยชายหาดฝั่งไทย ถือว่าเป็นหินหายากมากในไทย เกิดจากลาวาของภูเขาไฟ สามารถนำไปบดเอาไปทำประโยชน์ ใช้ปลูกพืชบางอย่าง เช่น ปลูกข้าว ให้แข็งแรงต่อต้านแมลง หรือนำไปปลูกผักบางชนิด ทำให้ผักกรอบ เพราะมีธาตุซิลิกา แต่ยังไม่เป็นแร่ควอตซ์ เหมือนแก้วภูเขาไฟ ในการนำไปทำกระจก

ขณะที่ความเค็มของหินพัมมิซ ขึ้นอยู่กับว่าลอยอยู่ในทะเลนานเท่าใด เพราะมีรูพรุนจึงซึมซับน้ำทะเลได้ง่าย ดังนั้นการจะนำไปใช้ประโยชน์ จะต้องตรวจสอบค่าความเค็ม ก่อนนำไปบดใช้โรยในบ่อกุ้ง เพื่อดูดซับพวกสิ่งปฏิกูล หรือหินพัมมิซขนาดใหญ่ สามารถนำไปดูดซับสารโลหะหนักได้

ในกรณีหินเหล่านี้ถูกคลื่นซัดเกลื่อนเต็มชายหาด หากไม่มีการเก็บกวาดเคลียร์พื้นที่ หรือกระแสคลื่นซัดไปที่อื่น จะใช้เวลานานมากเป็นล้านปี จะค่อยๆ จมลงทะเล ถ้ามีน้ำซึมเข้าไปนานๆ ในรูที่พรุน แต่อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ เก็บหินไว้ให้เด็กไทยศึกษา แทนที่จะดูแต่ในภาพ

จากคุณสมบัติของหินพัมมิซ มีรูพรุนน้ำหนักเบา แม้ไม่มีอันตราย แต่มีความน่ากังวลหากพัดไปลอยกลางทะเลที่มีน้ำมันรั่วไหล จะเข้าไปในช่องว่างของหิน เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและห่วงโซ่อาหาร เพราะน้ำมันที่ปนเปื้อนจะก่อให้เกิดสารมะเร็ง




อย่าเอาไปบดขาย อ้างเป็นหินเพอร์ไลต์ ใช้ปลูกกัญชา

นอกจากนี้อาจมีคนนำหินพัมมิซ ไปบดใส่กระสอบขายและอ้างว่าเป็นหินเพอร์ไลต์ (Perlite) ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟที่ปะทุไปเมื่อล้านปีก่อน หรือเมื่อ 6 แสนปี ในพื้นที่ภาคกลางของไทย เพื่อนำมาผสมดินใช้ปลูกกัญชา หรือกัญชง โดยหินเพอร์ไลต์ มีรูพรุนเช่นเดียวกับหินพัมมิซ สามารถเก็บสารอาหารได้ดี แต่หากเป็นหินพัมมิซ จะมีความเค็ม ไม่สามารถนำไปปลูกกัญชา หรือกัญชงได้ เพราะพืชพวกนี้ไม่ชอบความเค็ม

สรุปแล้วการที่คลื่นทะเลซัดหินภูเขาไฟ หรือหินพัมมิซ มาเกยบนชายหาดของไทย ขอประชาชนทั่วไปอย่ากังวลและไม่ใช่ลางบอกเหตุจะเกิดภัยธรรมชาติใดๆ แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ ไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับเศษขยะจำนวนมากเกยชายหาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า หรือใครเจอหินพัมมิซโดยบังเอิญ ยังสามารถนำไปเจียให้มีความมน นำไปขัดตัวได้อีกด้วย.


https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2311786

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 10-02-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


ส่อเคาะ "Land bridge ชุมพร-ระนอง" นักนิเวศทะเลชี้ "ไม่คุ้มสวล.-เศรษฐกิจ"

ผลศึกษา สนข.ส่อเลือก "Land bridge ชุมพร-ระนอง" เป็นเส้นทางสำหรับเมกะโปรเจกต์เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน 2 นักนิเวศวิทยาทางทะเลชั้นแนวหน้าเตือน "กระทบอันดามันมรดกโลก-ไม่คุ้มทางเศรษฐศาสตร์-ไม่สอดรับทิศข้อตกลงโลกร้อน COP26"


(ภาพ : สนข.)


ส่อเคาะ "แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง"

"การเชื่อมต่อสองฝั่งอ่าวไทยอันดามันเป็นเรื่องที่พูดถึงมาตลอด เพราะเป็นเมกะโปรเจ็คที่จะช่วยเปิดไทยสู่มหาสมุทรอินเดีย และสร้างเราเป็นฮัปสำคัญในด้านโลจิสติกส์ สำหรับตอนนี้ โครงการที่มีความเป็นไปได้มากสุดคือ Land bridge ชุมพร-ระนอง

สนข.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อวางเส้นทางขนส่งระบบถนน/ระบบราง ปลายทางเป็นท่าเรือน้ำลึก 2 แห่งที่ต้องสร้างใหม่ ในฝั่งชุมพรเบื้องต้นสรุปว่าเป็นแหลมริ่ว อำเภอหลังสวน ฝั่งระนองอยู่ที่อ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด

ตอนนี้ยังไม่มีการศึกษาออกแบบท่าเรือน้ำลึก แต่เส้นทาง Land Bridge อาจมีมอเตอร์เวย์ ทางรถไฟ และท่อขนส่งน้ำมัน เพื่อใช้ทั้งการขนส่งสินค้าและน้ำมันข้ามไปมาสองฝั่ง" ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟสบุ๊กถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มผลการศึกษา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

สนข. ได้รับการมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Landbridge) โดยมีระยะเวลาศึกษาโครงการ 30 เดือน ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566

8 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา สนข. ได้จัดการสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องโครงการฯ ณ ห้องราชาวดี โรงแรมเฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดระนอง โดยมีนายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธาน และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน จำนวน 130 คนเข้าร่วม


(ภาพ : สนข.)

"จากปัจจุบันที่การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดียต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง จากข้อมูลปี 2561 ช่องแคบมะละกามีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 85,000 ลำ/ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้าปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นกว่า 128,000 ลำ ซึ่งเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกาที่รองรับได้ 122,000 ลำต่อปี ก่อให้เกิดปัญหาการติดขัดและเสียเวลาในการเดินทาง

โครงการฯ ดำเนินการศึกษาภายใต้แนวคิดการพัฒนาสร้างท่าเรือชุมพร กำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย โดยนำระบบออโตเมชันมาใช้เพื่อยกระดับท่าเรือสู่ Smart Port ส่วนแนวคิดการพัฒนาท่าเรือระนอง กำหนดให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้ โดยมีขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย

1. ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เช่น ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน

2. ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน

3. จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน

4. วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน (Business Development Model) ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เช่น ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ศึกษาความเหมาะสมเพื่อบูรณาการการขนส่งทางท่อ ทางบก และทางราง เพื่อให้เชื่อมต่อกับ 2 ท่าเรืออย่างไร้รอยต่อ โดยศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ และการขนส่งทางท่อ โดยจะก่อสร้างคู่ขนานบนเส้นทางเดียวกันเพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน

หลังการสัมมนาครั้งนี้ สนข.เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาโครงการฯ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน (Market Sounding) และการลงพื้นที่เข้าสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อรวบรวมข้อมูลมาพัฒนาโครงการให้มีความสมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ทั้งในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และในภาพการพัฒนาท้องถิ่นทุกระดับเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด" วิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวชี้แจงในการสัมมนาดังกล่าว


"ท่าเรือน้ำลึกอยู่ตรงนี้ไม่ได้" อ.ศักดิ์อนันต์

อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการด้านระบบนิเวศปะการัง และระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โพสต์ให้ความเห็นเรื่องนี้ผ่านเฟส Sakanan Plathong เนื้อหาดังนี้

"สนข. จ้างบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดระนองเพื่อเสนอพื้นที่ที่มีศักยภาพการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกระนองแห่งใหม่ โดยมีแนวคิดที่จะหาพื้นที่ใกล้เคียงกับเส้นทางบกสายพะโต๊ะ ลงมาแยกราชกรูด จ. ระนอง เพื่อให้มีพื้นที่ราบแนวด้านหลังท่าเรือน้ำลึก เพื่อให้มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล ตั้งแต่ปิโตรเลียม อุตสาหกรรมต่อเนื่อง การบรรจุหีบห่อ การแปรรูปต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณความสนใจของธุรกิจการเดินเรือ และนักพัฒนาต่างๆ ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด

คณะผู้ศึกษา จิ้มทางเลือกที่มีศักยภาพที่สุดไปบริเวณ อ่าวอ่าง เกาะสน ในพื้นที่ทางตอนล่างของอุยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง ซึ่งต้องสร้างถนนผ่านป่าชายเลนผืนใหญ่ และตัวท่าเรือคร่อมอยู่ระหว่างเกาะสน กลางอ่าวที่มีน้ำตื้น เป็นหาดเลน ที่เป็นแหล่งทรัพยากรชายฝั่งที่สำคัญ

เรื่องการเลือกท่าเรือน้ำลึกระนองแห่งนี้ เปิดตัวมาในเวลาไล่เลี่ยกับที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้ยื่นเอกสารบัญชีรายชื่อแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเข้าสู่ศูนย์มรดกโลก เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และศูนย์มรดกโลกรับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว

ผมให้ความเห็นว่า ท่าเรือจะอยู่ตรงนี้ไม่ได้ ขอให้พิจารณาเลือกสถานที่ใหม่" อ.ศักดิ์อนันต์ ให้ความเห็น


(ภาพ : ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)


กระทบอันดามันมรดกโลก

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักสิ่งแวดล้อมทางทะเลเจ้าของรางวัล Thailand Sustainability Shaper Award 2021 ให้ความเห็นเรื่องนี้ผ่านเฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ในหลายประเด็นรวมถึง ความเป็นไปได้สูงที่จะกระทบต่อการยื่นขอมรดกโลกทะเลอันดามัน ผลกระทบต่อป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่ดีที่สุดและสามารถนำรายได้เข้าประเทศในระยะยาวผ่านกลไกการค้าคาร์บอนที่เพิ่งตกลงชัดเจนในเวทีเจรจาโลกร้อนระดับโลก (COP24) ที่กลาสโกว์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา การสูญเสียศักยภาพสร้างรายได้ประเทศจากการท่องเที่ยว และย้ำถึงความไม่เหมาะสมของการเลือกพื้นที่ในเส้นทางที่สนข.มีแนวโน้มจะเลือกนี้

นอกจากนี้ ดร.ธรณ์ยังเตือนอีกว่า "อาจมีส่งผลให้โครงการแลนด์บริดจ์สะดุดได้" และชี้ทางออกว่า ควรมีการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA)

"ผมขอเก็บฝั่งชุมพรไว้ก่อน เพราะเท่าที่ดูยังไม่มีประเด็นเท่ากับฝั่งระนอง จุดสร้างท่าเรืออ่าวอ่างอยู่ท่ามกลางระบบนิเวศและเขตอนุรักษ์สำคัญ

ระนองเป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งบางช่วงเป็นป่าชายเลน เป็นเขต Biosphere และเขตอุทยานทางทะเล ตำแหน่งที่ตั้งของอ่าวอ่างอยู่รอยต่อระหว่างอุทยานหมู่เกาะระนองและอุทยานแหลมสน เป็นพื้นที่ป่าชายเลนขนาดใหญ่

อุทยานทั้งสองแห่งยังเป็นส่วนหนึ่งของเขตมรดกโลกอันดามันที่ประเทศไทยเสนอต่อUNESCO ซึ่งได้รับและใส่อยู่ในกระบวนการเรียบร้อยแล้ว

การกำหนดท่าเรือน้ำลึกในเขตประชิด/อยู่ในอุทยานที่กำลังเสนอเป็นเขตมรดกโลก อาจเกิดข้อสงสัยในเรื่องความเหมาะสม เพราะเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขนส่งน้ำมัน (อุบัติเหตุ) ตลอดจนการขยายพื้นที่ชายฝั่งเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง" ดร.ธรณ์ ให้ความเห็น


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 10-02-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


ส่อเคาะ "Land bridge ชุมพร-ระนอง" นักนิเวศทะเลชี้ "ไม่คุ้มสวล.-เศรษฐกิจ" .............. ต่อ


(ภาพ : สนข.)


สวนทิศ "เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ"-ไม่คุ้มทางเศรษฐศาสตร์

"หากดูตามแนวนโยบายที่รัฐบาลประกาศมาตลอด ประเทศไทยมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เมื่อดูพื้นที่รอบอ่าวอ่าง จะเห็นป่าชายเลนเป็นจำนวนมาก

ป่าชายเลนคือแหล่ง Blue Carbon เป็นระบบนิเวศกักเก็บคาร์บอนดีที่สุดอย่างหนึ่งในโลก การเปลี่ยนสภาพป่าชายเลนหรือทำกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อแนวนโยบายดังกล่าว ปัจจุบันราคาคาร์บอนตลาดยุโรปสูงแตะ 100 ยูโร/ตัน และมีแนวโน้มว่าจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ การศึกษาขั้นต้นพบว่าป่าชายเลนในระนองกักเก็บคาร์บอนได้อย่างน้อย 1-5 ตันต่อไร่ต่อปี หมายถึงป่า 1 ไร่มีมูลค่าอย่างน้อย 3,800-19,000 บาทต่อไร่ต่อปี (เป็นตัวเลขคร่าวๆ ที่จำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียด)

ผมทราบดีถึงความจำเป็นของโครงการต่อการพัฒนาประเทศ ทราบถึงแนวความคิดในการคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในด้านโลจิสติกส์และด้านวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด แต่ผมกังวลในเรื่องคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่อาจไม่ได้คำนวณอย่างละเอียดเพียงพอ

ผมไม่ขอกล่าวถึงเรื่องคุณค่าทางจิตใจซึ่งต้องคิดกันต่อไป ผมขอกล่าวถึงเฉพาะคุณค่าที่พอวัดได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์

หากเขตมรดกโลกอันดามันไม่ผ่านเพราะการพัฒนาครั้งนี้ เราสูญเสียรายได้และขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวขนาดไหน

หากเราเลือกจุดนี้เป็นที่สร้างท่าเรือน้ำลึก มีความเสี่ยงแค่ไหนต่อป่าชายเลนที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญสุดของไทย" ดร.ธรณ์ กล่าว


ตำแหน่งท่าเรือไม่เหมาะสม-เสนอทางออก SEA

"คำพูดว่า "ไม่เกิดปัญหา ไม่เกิดอุบัติเหตุ มีการบริหารความเสี่ยงอย่างดียิ่ง" มีความเชื่อมั่นได้แค่ไหน เมื่อคิดถึงเหตุการณ์น้ำมันในทะเลที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นในบริเวณจุดท่าเรือที่เลือกไว้ มันจะกลายเป็นความเสียหายระดับที่เกินคาด ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุระดับเทียร์ไหน เพราะเป็นพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง

โครงการ Land Bridge ยังอยู่ในระดับผลการศึกษาที่นำเสนอต่อสนข. ยังไม่เข้ากระทรวง ยังไม่นำเสนอต่อครม. ผิดจากโครงการอันดามันมรดกโลกที่ผ่านครม. ส่งไปถึง UNESCO จนประกาศอยู่ในลิสต์กำลังพิจารณาเรียบร้อยแล้ว หาก Land Bridge เข้าสู่กระบวนการขอใช้พื้นที่ใกล้เคียงหรือในเขตอุทยานแห่งชาติที่กระทรวงทรัพยากรฯ นำเสนอเป็นเขตมรดกโลกไปแล้ว ผมเชื่อว่าการพิจารณาอนุญาตในการก่อสร้างต่างๆ คงไม่ราบรื่น

ผมขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ผมทราบถึงความสำคัญของ land bridge แต่ผมคิดว่าตำแหน่งท่าเรือที่เลือกอยู่ในจุดที่ไม่เหมาะสม

ผมคิดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน จำเป็นต้องใช้กระบวนการต่างๆ เช่น SEA เพื่อคัดเลือกพื้นที่ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบมากเกินไป น่าเสียดายที่ SEA ส่วนใหญ่ที่เคยทำมา เป็นการทำหลังจากการปักหมุดเลือกพื้นที่ ทำให้เราไม่มีทางออกมากนัก และสุดท้ายอาจกลายเป็นข้อขัดแย้ง

หากเราต้องการพัฒนาแบบยั่งยืน เราต้องชั่งน้ำหนักทุกฝ่ายอย่างยุติธรรม และชั่งพร้อมกัน เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในทุกด้าน จึงใคร่ขอเสนอว่า ควรพิจารณาพื้นที่ท่าเรือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรฯ อย่างใกล้ชิด การปักหมุดแล้วบอกว่าจะดูแลเรื่องผลกระทบ อาจเป็นไปได้ยาก เพราะหมุดอาจอยู่ผิดที่ทางตั้งแต่ต้น

เราอาจนำ SEA มาใช้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในทุกด้าน เพื่อพิจารณาหาสถานที่เหมาะสมจริงจัง สถานที่ซึ่งอาจต้องลงทุนในด้านการก่อสร้างมากขึ้นหน่อย ใช้เวลาขนส่งมากขึ้นนิด แต่คุ้มค่ากว่าเมื่อคิดถึงความเสี่ยงในด้านทรัพยากรธรรมชาติและกิจการอื่นๆ มิฉะนั้น การพัฒนาท่าเรือฝั่งอันดามันอันเป็นเป้าหมายของประเทศไทยมานาน อาจสะดุดและติดขัดเหมือนในอดีตครับ" ดร.ธรณ์กล่าว


https://greennews.agency/?p=27506
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:12


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger