#1
|
||||
|
||||
ปลานกแก้วสีสันแห่งโลกใต้ทะเล
ปลานกแก้วสีสันแห่งโลกใต้ทะเล ...................... โดย วินิจ รังผึ้ง ในบรรดาปลาสวยงามที่สร้างสีสันให้กับโลกใต้ทะเล ปลานกแก้ว (Parrotfishes) นับเป็นปลาสวยงามที่โดดเด่นอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะว่ายน้ำผ่านไปทางไหน สีสันที่สดใสเรียวเกล็ดที่งดงามเป็นระเบียบก็จะโดดเด่นสะดุดตา ด้วยลำตัวทรงแบนยาวรีขนาดราว 30-40 เซนติเมตรเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ปลานกแก้วนับเป็นปลารูปทรงสวยงามที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ในบรรดาปลาสวยงามด้วยกัน ถ้าเป็นนางแบบก็เข้าประเภทสวยสกาวสูงยาวสะสุดตาอะไรประมาณนั้น แม้นปลานกแก้วที่พบในท้องทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันจะมีอยู่มากมายกว่า 20 ชนิด แต่เมื่อนักดำน้ำพบเห็นก็สามารถจะแยกแยะออกได้ทันทีว่าเป็นปลานกแก้ว เพราะรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะบริเวณปากที่ปลาตระกูลนี้จะมีฟันที่แข็งแรงลักษณะติดกันเป็นแผงติดกันเป็นพืดยื่นออกมานอกเรียวปากทั้งด้านล่างและด้านบนลักษณะคล้ายเป็นจะงอยปากของนกแก้ว อันเป็นที่มาของชื่อปลานกแก้วนั่นเอง ซึ่งนอกจากปากจะมีลักษณะเป็นปากนกแก้วแล้ว สีสันบนลำตัวของมันยังสดใสสวยงามคล้ายกับสีสันของนกแก้วซึ่งมีตั้งแต่สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีลายดำแดง และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนปลาอื่นใดอีกอย่างหนึ่งก็คือลักษณะของท่าทางการว่ายน้ำ ซึ่งปลานกแก้วจะว่ายน้ำโดยใช้ครีบข้างลำตัวกางโบกน้ำแล้วหุบเข้ามาติดลำตัว โบกแล้วหุบ โบกแล้วหุบ เป็นจังหวะมองดูสวยงามราวกับการกางปีกบินของนกเลยทีเดียว ปลานกแก้วเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลค่อนข้างใส ว่ายเวียนหากินอยู่ตามแนวปะการัง โดยเฉพาะบริเวณหมู่ปะการังโครงสร้างแข็ง ด้วยธรรมชาติได้ออกแบบโครงสร้างของปากและฟันอันแข็งแรงให้เหมาะสมกับการขูดกัดแทะกินสาหร่ายที่เคลือบอยู่บนโขดหินหรือโขดปะการัง รวมทั้งการขูดกินตัวปะการังขนาดเล็กจากปะการังโครงสร้างแข็งทั้งหลาย โดยแผงฟันที่มีแถวบนสองแถวแถวล่างสองแถวจะสามารถขุดหรือแทะขบผิวหน้าของปะการัง ปลานกแก้วจะมีอวัยวะภายในสำหรับแยกแยะตัวปะการังกับฝุ่นผงที่เป็นโครงสร้างหินปูน เพื่อขับถ่ายออกมาคืนสู่ท้องทะเล เราจึงสามารถจะพบเห็นปลานกแก้วว่ายน้ำกินไป ถ่ายฝุ่นผงไปเป็นระยะๆ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของนักชีววิทยาทางทะเลพบว่า ปลานกแก้ตัวโตขนาดน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมนั้น สามารถจะผลิตฝุ่นทรายให้กับท้องทะเลได้เป็นปริมาณมากถึง 1 ตันเลยทีเดียว ซึ่งจะจริงจะเท็จอย่างไรนั่นเป็นเรื่องของการศึกษาการคำนวณ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ครับ เพราะปลานกแก้วนั้นจะใช้เวลาออกว่ายน้ำหากินในตอนกลางวันตลอดทั้งวัน วันหนึ่งก็กัดกินและถ่ายผงทรายออกมา ฝุ่นผงของโครงสร้างหินปูนเหล่านี้ก็มีน้ำหนักอยู่ไม่น้อย ถ้านำปริมาณมาชั่งน้ำหนักกันทั้งปีก็อาจจะมีน้ำหนักเป็นตันได้เหมือนกัน แต่ถ้าจะมีความเห็นแย้งว่า หากปลานกแก้ว 1 ตัวกินปะการังแล้วถ่ายมูลฝุ่นผงทรายออกมาเป็นตันใน 1 ปี ทั่วทั้งแนวปะการังบางแห่งมีปลานกแก้วอยู่มากมาย ถ้ากัดกินตัวละ 1 ตันเช่นนั้น แนวปะการังคงจะไม่มีอะไรเหลือให้กัดให้กินให้อยู่อาศัยอย่างที่เห็นเช่นทุกวันนี้หรอก ปรกติปลานกแก้วจะชอบหากินตัวเดียวเดี่ยวๆ กระจายกันไปทั่วแนวปะการัง แต่บางครั้งก็จะเห็นมันรวมฝูงกันนับร้อยๆตัว ว่ายเวียนตามกันไปเป็นกองทัพ เมื่อหัวขบวนหยุดลงแทะกินปะการังหรือสาหร่ายที่ไหน ก็จะกรูกันลงแทะกินกันส่งเสียงกรอดๆให้ได้ยินอย่างชัดเจนเวลาดำน้ำอยู่ใกล้ๆ ฝูงจะลงกินเป็นจุดๆแล้วว่ายต่อไป วนเวียนกันไปมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่นั่นคงยังไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่ากันการรวมฝูงของปลานกแก้วหัวโหนก (Humphead Parrotfish) ซึ่งเป็นปลานกแก้วพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งเมื่อโตเต็มที่อาจจะมีความยาวได้ถึง 1.3 เมตร หนักถึง 46 กิโลกรัมและมีอายุยืนยาวนับสิบๆปีเลยทีเดียว ซึ่งปลานกแก้วหัวโหนกนั้นจะมีโหนกแข็งบริเวณหน้าฝากปูดยื่นออกมาเพื่อเป็นเสมือนกันชนเวลาที่มันเข้ากัดแทะปะการังแข็งๆ ซึ่งปลานกแก้วหัวโหนกนั้นในท้องทะเลบ้านเราค่อนข้างจะหาดูได้ยากแล้ว โดยจะสามารถพบได้ในแหล่งดำน้ำแถวหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา และจะพบเห็นไม่มากนักโดยอาจจะรวมกันอยู่ใกล้ๆกันราว 2-4 ตัว ไม่สามารถจะพบได้มากมายเป็นฝูงใหญ่นับสิบนับร้อยตัวเหมือนอย่างที่หมู่เกาะสิปาดันของมาเลเซีย ซึ่งที่นั่นยังคงมีจำนวนของปลานกแก้วหัวโหนกรวมกันอยู่มาก ปลานกแก้วนั้นยังมีพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อมันว่ายน้ำหากินทั้งวันแล้ว ในตอนกลางคืนมันจะหาซอกหลืบของปะการังที่ปลอดภัยเป็นที่พักนอน ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นการนอนจริงๆครับ เพราะปลาชนิดอื่นๆ ที่หากินในตอนกลางวันนั้นเราอาจจะเห็นมันว่ายน้ำลอยตัวอยู่นิ่งๆหรือเคลื่อนไหวช้าลงเพื่อเป็นการพักผ่อนในยามค่ำคืน แต่ปลานกแก้วนั้นเมื่อมันได้ทำเลที่ดีแล้วมันก็จะนอนนิ่งอยู่เฉยเหมือนหลับอย่างสบายอยู่ในซอกมุมนั้น หลับไม่หลับเปล่าแถมยังมีการ “กางมุ้ง” โดยการพ่นใยเมือกเหนียวๆมาปกคลุมลำตัวของมันไว้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปรสิตเข้ามารบกวนตอนหลับ และมุ้งของปลานกแก้วนี้ยังสามารถจะป้องกันไม่ให้ศัตรูผู้ล่าเข้ามาถึงตัวได้โดยง่าย เพราะหากจะเข้ามาจู่โจมก็จะต้องผ่านการกระเพื่อมไหวของเมือกมุ้งที่กางหุ้มตัวไว้เป็นสันญาณเตือนก่อน ซึ่งอาจทำให้สามารถเผ่นหนีเอาชีวิตรอดได้ทันก่อนจะสายเกินไป นั่นนับเป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของปลาชนิดนี้ ทำให้นักดำน้ำมักจะชอบลงดำน้ำกลางคืนเพื่อย่องไปแอบส่องไฟดูปลานกแก้วกางมุ้งในยามค่ำคืน แม้นปลานกแก้วจะเป็นปลาสวยงาม แต่ก็นับว่ามันโชคร้ายกว่าปลาสวยงามชนิดอื่นๆเช่นปลาผีเสื้อ ปลาโนรี หรือปลาในกลุ่มปลาสินสมุทร เพราะปลาสวยงามเหล่านั้นคนไม่นิยมกัน จะมีบ้างก็ถูกจับไปเลี้ยงเป็นปลาตู้ แต่สำหรับปลานกแก้วที่รูปทรงของลำตัวก็คล้ายกับปลาที่ผู้คนบริโภคทั่วไปแถมเนื้อยังขาวนุ่มและมีรสชาติดี มันจึงมักถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารของผู้คน เพียงแต่เราไม่ค่อยพบเห็นตามตลาดขายปลากันมากนัก เพราะปลานกแก้วนั้นเป็นปลาที่กินสาหร่ายและกินปะการังเป็นอาหาร จึงไม่ยอมกินเบ็ด และเป็นปลาที่ไม่ค่อยชอบมุดเข้าลอบดักปลาของชาวประมงเหมือนปลาชนิดอื่นๆ อีกทั้งเป็นปลาที่หากินอยู่กับแนวปะการังมันจึงมักไม่ติดอวน เพราะอวนไม่สามารถจะเข้าไปลากได้ถึงแนวหินหรือโขดปะการัง วิธีที่ชาวเลสามารถจะล่าปลานกแก้วขึ้นมาขายได้นั้น ก็มักจะใช้การดำน้ำลงไปยิงด้วยฉมวก หรือการดำลงไปใช้ยาไซยาไนด์พ่นให้ปลามึนเมาไม่สามารถจะว่ายหนีไปไหนได้ แล้วจับใส่ถุงตาข่ายขึ้นมา ซึ่งใครที่ไปซื้อปลานกแก้วมากินก็คงต้องเสี่ยงกับไซยาไนด์ที่ตกค้างอยู่ตามเหงือกและเครื่องในของปลา ทางที่ดีก็ละเว้นปลาสวยงามอย่างปลานกแก้วไว้ดูเล่นสักชนิดหนึ่งน่าจะดีกว่าครับ จาก ......................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 6 กันยายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|