เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 03-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียว ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มของการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.


คาดหมาย

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่ในช่วงวันที่ 3 - 8 ก.พ. 66 มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับ มีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้

ในช่วงวันที่ 3 ? 5 ก.พ. 66 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียว จะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลซียและภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขณะที่ในช่วงวันที่ 6 ? 8 ก.พ. 66 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนลดลง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ในช่วงวันที่ 3 ? 5 ก.พ. 66






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 03-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


บราซิลเตรียมจมเรือบรรทุกเครื่องบิน นักอนุรักษ์โวยเป็นขยะหนัก 30,000 ตัน


ที่มา : cna

บราซิลวางแผนจมเรือบรรทุกเครื่องบินเก่าลงมหาสมุทรแอตแลนติก ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากนักอนุรักษ์ที่ระบุว่า ภายในเรือหนัก 30,000 ตันลำนี้เต็มไปด้วยวัสดุมีพิษ

กองทัพเรือกับกระทรวงกลาโหมของประเทศบราซิล ออกแถลงการณ์เมื่อ 2 ก.พ. 2566 ว่า พวกเขาจะจมเรือบรรทุกเครื่องบิน ?เซา เปาโล? ลงก้นทะเลด้วยการเจาะรูใต้ท้องเรือ หลังประสบความล่มเหลวในการหาท่าเรือที่จะยอมให้เรือลำนี้ไปจอด ทำให้มันถูกลากไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติกตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

"จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการลากจูงเรือลำนี้ กอปรกับความจริงที่ว่าการลอยตัวของลำเรือเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มันจะจมลงไปเองโดยไม่อาจควบคุม จังไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกำจัดมันด้วยการจมเรือภายใต้แผนการและการควบคุม" แถลงการณ์ระบุ

เรื่องดังกล่าวเรียกร้องประณามจากนักสิ่งแวดล้อมทันที โดยระบุว่า เรือบรรทุกน้ำมันลำนี้บรรทุก แร่ใยหิน, โลหะหนัก และวัตถุมีพิษอย่างอื่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจรั่วไหลสู่น้ำทะเลและก่อมลพิษต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ

นายจิม พัคเกตต์ ผู้อำนวยการเครือข่าย ?Basel Action Network? (BAN) กล่าวหากองทัพเรือบราซิลว่า ปล่อยปละละเลยอย่างร้ายแรง "หากพวกเขาเดินหน้าทิ้งเรือที่มีพิษสูงมากนี้สู่ธรรมชาติของมหาสมุทรแอตแลนติก พวกเขาจะละเมิดข้อกำหนดของสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิ่งแวดล้อมถึง 3 ฉบับ"

นายพัคเกตต์ยังเรียกร้องถึงนาย ลูอิซ อินญาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนก่อนและให้คำมั่นว่าจะย้อนคืนการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นในยุคของอดีตประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร ให้หยุดแผนการอันตรายนี้ในทันที

ด้าน โรแบง เด บัวส์ (Robin des Bois) องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในฝรั่งเศส เรียกเรือบรรทุกเครื่องบิน เซา เปาโล ว่าเป็น พัสดุพิษหนัก 30,000 ตัน

ทั้งนี้ เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้มีชื่อเดิมว่า 'ฟอช' (Foch) ถูกสร้างขึ้นที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2498 ประจำการในกองทัพฝรั่งเศสครั้งแรกเมื่อ 18 ก.ค. 2506 มันเคยมีส่วนร่วมในการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกในมหาสมุทรแปซิฟิกช่วงยุคปี 60 และถูกส่งไปประจำการยังประเทศต่างๆ ในแอฟริกา, ตะวันออกกลาง และยูโกสลาเวียในอดีตด้วย ก่อนจะถูกปลดประจำการเมื่อ 15 พ.ย. ปี 2543

ในปีเดียวกัน บราซิลซื้อต่อไปในราคา 12 ล้านดออลลาร์สหรัฐฯ และเปลี่ยนชื่อเป็น เซา เปาโล อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในปี 2548 ส่งผลให้เรือลำนี้เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถใช้งานต่อได้ในปี 2560 และถูกปลดประจำการในเดือน พ.ย. 2561

เมื่อปีก่อน ทางการบราซิลให้อำนาจบริษัท Sok Denizcilik ของตุรกีในการแยกชิ้นส่วนเรือลำนี้เพื่อนำเศษเหล็กมาใช้ แต่ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน หน่วยงานสิ่งแวดล้อมของตุรกีตัดสินใจขัดขวางแผนดังกล่าว ก่อนที่เรือลำนี้จะถูกเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

บราซิลต้องลากเรือเซา เปาโล กลับมาแต่กลับไม่มีท่าเรือใดยอมให้เข้าจอด อ้างเรื่องความเสี่ยงสูงต่อสภาพแวดล้อม ทำให้กองทัพเรือต้องลากเรือลำนี้ไปยังน่านน้ำห่างจากชายฝั่งบราซิล 350 กม. ในจุดที่มีความลึก 5,000 ม. โดยระบุว่าเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับปฏิบัติการจมเรือแล้ว แต่กองทัพไม่เปิดเผยว่าจะเริ่มจมเรือเมื่อใด


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2619821


******************************************************************************************************


เจ้าหน้าที่เร่งเก็บอวนประมง หลังพบคลุมแนวปะการังเสียหาย ทำปลาทะเลตายหลายชนิด

เจ้าหน้าที่และหน่วยงานจิตอาสาลงพื้นที่ เก็บอวนประมงในทะเล หลังโซเชียลแชร์ภาพ อวนคลุมแนวปะการังเสียหาย ซ้ำร้ายมีปลาหลายตัวติดอยู่ข้างใน



วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์ได้มีการแชร์เรื่องราว จากผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก Tat Kewngaam ที่โพสต์ภาพอวนจับปลาในทะเล พร้อมระบุข้อความว่า ต้องการความช่วยเหลือด้วยครับ ก่อนที่จะสูญเสียมากไปกว่านี้ ขอบอกเลยว่าช่วงนี้ ที่เกาะกระดาน ทะเลตรัง เจอแบบนี้เยอะมาก และวางอวนกันใกล้หน้าที่ทำการอุทยานเลย ได้เหรอครับ ผมไม่ต่อต้านคนทำมาหากินทางทะเลนะ แต่อยากให้มีจิตสำนึกในสิ่งที่ทำ และอยากให้อุทยานช่วยดูแลตรงนี้หน่อย ช่วงนี้บ่อยเหลือเกิน ขอวอนผู้เกี่ยวข้องครับ

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปพบ นายโสภณ คิ้วงาม หรือครูทัช อายุ 45 ปี ผู้โพสต์ข้อความกล่าวว่า วันนี้ตนและทีมนักประดาน้ำจิตอาสา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และ อบต.เกาะลิบง ได้ร่วมกันเก็บกู้ซากอวนที่ลอยมาติดแนวปะการัง หลังจากเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา พาเด็กมาฝึกดำน้ำแถวอ่าวเนียง แล้วพบว่าเศษอวนไปคลุมแนวปะการัง และมีปลาหลายชนิดที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ต่างก็ติดอวนไปไหนไม่ได้ ตนและนักเรียนจึงช่วยกันแกะอวนบางส่วนออกมาก่อน

จากการประเมินด้วยสายตา แนวปะการังอาจจะได้รับความเสียหายบ้าง ซึ่งถ้าปล่อยไว้นาน ย่อมไม่ส่งผลดี จึงพูดคุยกับทีมงานจัดทีมลงเก็บกู้ครั้งนี้ โดยใช้ทุนส่วนตัวและผู้มีจิตอาสาที่ช่วยกันมา อย่างไรก็ตาม ฝากนักท่องเที่ยว และหลายๆ คนให้ช่วยกันลดใช้ขยะให้น้อยลง อย่าทำลายทรัพยากรตัวเอง เพราะถ้าถูกทำลายไปเรื่อยๆ อนาคตก็จบ

ซึ่งพื้นที่ที่พบเศษอวน คือบริเวณอ่าวเนียง ทิศใต้ ที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ที่ จม.3 (เกาะกระดาน) จมอยู่ที่ระดับความลึก 8 เมตร ตรวจสอบพบมี เศษอวนคลุมแนวปะการัง เป็นทางยาวกว่า 100 เมตร นักประดาน้ำจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ต่างช่วยกันเก็บกู้ โดยใช้ความระมัดระวัง เพื่อป้องกันความเสียหายกับแนวปะการัง ใช้เวลาดำน้ำประมาณ 2 ชั่วโมง สามารถเก็บกู้ได้ เบื้องต้นพบเป็นเครื่องมือประมง ชนิดอวนลอย มีความยาวประมาณ 100 เมตร น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม

ทั้งนี้ นายพริษฐ์ นราสฤษฏ์กุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และได้ทำรายงานชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ถึงประเด็นการทําประมงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ดังนี้

1. จัดระเบียบการทําประมงพื้นบ้าน ในเขตอุทยานฯ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ภายใต้ระเบียบ กฎหมายพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ
2. ประชุมชี้แจง ประชาสัมพันธ์ ให้องค์ความรู้ ความเข้าใจ แก่ชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
3. ควบคุม กําชับการทําประมงตามวิถีชีวิตพื้นบ้านในพื้นที่อุทยานฯ ให้ปฏิบัติตามข้อตกลง ระเบียบ และกฎหมายอย่างเคร่งครัด
4. บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทําความผิดอย่างเข้มข้น.


https://www.thairath.co.th/news/local/2619223
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 03-02-2023 เมื่อ 03:49
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 03-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


ตายเสียแล้ว! 'พะยูนน้อย' ว่ายคู่ 'เต่าตนุ' ลอยอืดกลางอ่าวดงตาล เร่งหาแนวทางจัดการ

"พะยูนน้อย" ว่ายคู่ "เต่าตนุ" อ่าวดงตาล ชลบุรี ตายเสียแล้ว ทช.-หน่วยงานเกี่ยวข้อง รุดนำชันสูตร แจ้งความ เร่งหาแนวทางการบริหารจัดการพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก อ่าวสัตหีบ



เมื่อวันที่ 2 ก.พ. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ศวบอ.) ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (สทช.2) และศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ ตรวจสอบซากพะยูน หลังจากได้รับแจ้งว่า มีพะยูนตาย บริเวณชายหาดหน้าที่ว่าการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นพะยูนเพศผู้ ความยาวแนบลำตัวประมาณ 1 เมตร อยู่ในช่วงอายุวัยเด็ก มีรอยช้ำที่ครีบอก ผิวหนังหลุดลอก ไม่มีบาดแผลภายนอกรุนแรง คาดว่าน่าจะเป็นลูกพะยูนที่ว่ายน้ำกับเต่าทะเลตามที่มีการเผยแพร่ภาพไปก่อนหน้านี้ สังเกตจากรอยแผลเป็นบริเวณลำแพนหาง ทั้งนี้ ทช. จะนำพะยูนไปผ่าชันสูตรซากโดยละเอียด ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) และจะรายงานผลให้ทราบต่อไป

ด้าน สทช.2 ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ ณ สถานีตำรวจน้ำสัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อลงบันทึกประจำวัน ตาม ปจว.ข้อ 6 ลงวันที่ 2 ก.พ. เวลา 14.10 น. เพื่อดำเนินการพิสูจน์หลักฐาน หากพบเหตุมีผู้กระทำความผิด จะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป อีกทั้งได้เข้าหารือเบื้องต้นกับ น.อ.อโศก ศรีสวัสดิ์ รอง เสนาธิการ ทัพเรือภาคที่ 1 เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการพะยูนในพื้นที่อ่าวสัตหีบ เช่น ร่วมมือสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน ลดผลกระทบต่อแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพะยูน ลดปริมาณขยะทะเลที่ถูกพัดลงอ่าวสัตหีบ ลดการทำการประมงอวนลอย อวนจม อวนติดตาในแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนการจำกัดความเร็วของเรือสัญจรเข้าออกในพื้นที่ ทั้งนี้ ทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันจันทร์ที่ 6 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น. ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการพะยูนในพื้นที่อ่าวสัตหีบ จ.ชลบุรี ต่อไป


https://www.dailynews.co.th/news/1956557/


******************************************************************************************************


ผลการศึกษาชี้ 'ต้นไม้' ช่วยลดการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนถึง 1 ใน 3

ทีมนักวิจัยระบุ การปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่เมืองเพื่อลดอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อน อาจลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอากาศร้อนและคลื่นความร้อนได้ถึง 1 ใน 3


เครดิตภาพ : REUTERS

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ว่า การสร้างแบบจำลองพบว่า การปลูกต้นไม้เพิ่มจนครอบคลุมถึง 30% จะช่วยลดอุณหภูมิโดยในเฉลี่ยในพื้นที่ได้ 0.4 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเมื่อนำไปคำนวณกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุณหภูมิสูงใน 93 เมืองของยุโรป เมื่อช่วงปี 2558 ผลการศึกษาพบว่า อุณหภูมิที่ลดลงสามารถป้องกันการเสียชีวิตดังกล่าวถึง 1 ใน 3

"เราทราบดีอยู่แล้วว่า อุณหภูมิที่สูงในสภาพแวดล้อมของเมืองนั้น มีความเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ด้านลบต่อสุขภาพ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว, การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร" นายทามาร์ อิงมาน ผู้เขียนนำของการศึกษา และนักวิจัยจากสถาบันบาร์เซโลนา เพื่อสุขอนามัยโลก (ไอเอสโกลบอล) กล่าวในแถลงการณ์

เมืองหลายแห่งมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่ชานเมืองและชนบทรอบ ๆ เนื่องจากสิ่งที่เรียกว่า "ปรากฏการณ์เกาะความร้อน" อีกทั้งความร้อนที่เพิ่มขึ้นยังมีสาเหตุหลักมาจากการขาดพืชพรรณในเมือง, ไอเสียจากระบบปรับอากาศ ตลอดจนยางมะตอยสีเข้มและวัตถุก่อสร้างที่ดูดซับและดักจับความอบอุ่น

แม้ในปัจจุบัน สภาพอากาศหนาวเย็นยังคงทำให้เกิดการเสียชีวิตในยุโรปมากกว่าสภาพอากาศร้อน แต่แบบจำลองสภาพอากาศคาดการณ์ว่า ความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อน จะเป็นภาระมากขึ้นต่อบริการด้านสุขภาพภายใน 10 ปี

"นี่เป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญ" ดร.ลอเรนซ์ เวนไรท์ อาจารย์จากสถาบันสมิธเพื่อกิจการและสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กล่าว ?การปลูกต้นไม้ในเมืองในระดับที่เหมาะสม, ในสถานที่ที่เหมาะสม และอยู่ภายใต้เงื่อนไขอื่น ๆ บางอย่าง มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนในพื้นที่เมืองหลายแห่ง ซึ่งแม้ว่าอาจจะทำได้ไม่มาก แต่มันทำได้จริง?.


https://www.dailynews.co.th/news/1955316/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 03-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ฟักตัวออกจากไข่คลานสู่ทะเลอีก 75 ตัว "ลูกเต่ามะเฟือง"

พังงา - ลูกเต่ามะเฟืองรังที่ 3 ฟักตัวออกจากไข่คลานลงสู่ทะเลอีก 75 ตัว ในพื้นที่จังหวัดพังงา



วันนี้ (2 ก.พ.) สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 โดยส่วนส่งเสริมและประสานงานเครือข่ายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 9 (บางวัน พังงา) และ 10 (ตะกั่วป่า พังงา) พร้อมด้วย นายหิรัญ กังแฮ นักวิชาการประมง จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ร่วมกันติดตามสถานการณ์หลุมฟักไข่เต่ามะเฟือง หลังตรวจพบการยุบตัวของปากหลุมรังฟักไข่รังที่ 3 ตั้งแต่เวลา 03.30 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด พบปากหลุมได้ยุบตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 00.00 น. ลูกเต่ามะเฟืองได้ทยอยขึ้นปากหลุมอย่างต่อเนื่อง

เจ้าหน้าที่รอสักพักไม่มีลูกเต่ามะเฟืองขึ้นมา จึงได้ช่วยเปิดปากหลุม และขุดช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักออกจากไข่ขึ้นมาจากหลุม นำไปปล่อยลงสู่ทะเล จำนวน 73 ตัว นำไปอนุบาลที่ ศวอบ. จำนวน 25 ตัว ไข่เต่ามะเฟืองไม่มีน้ำเชื้อ จำนวน 16 ฟอง และลูกเต่ามะเฟืองตายแรกคลอด จำนวน 5 ตัว คิดเป็นอัตราการฟัก 87% อัตราการรอดตาย 95% ซึ่งรังไข่เต่ามะเฟืองรังที่ 3 เป็นรังที่ตรวจพบเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 จำนวนไข่ 119 ฟอง นับเป็นวันที่ 57 หลังจากที่พบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่


https://mgronline.com/south/detail/9660000010450


******************************************************************************************************


ทช.-ธนาคารโลกร่วมฟังเสียงชาว "กระบี่" ก่อนตอกเข็มสะพานเชื่อมเกาะลันตาปลายปี 66

ทางหลวงชนบทนำผู้แทนธนาคารโลกลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนชาวกระบี่ เดินหน้าสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตาปลายปี 2566



นายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรใหญ่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และนายดำรงศักดิ์ คงช่วย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 14 นำ คณะผู้แทนธนาคารโลก (World Bank) และผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นประชาชนใน "โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา" ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ณ มัสยิดบ้านคลองหมาก อำเภอเกาะลันตา โดยมีตัวแทนจากผู้ประกอบการเดินเรือข้ามฟาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ผู้นำชุมชนชาวอูรักลาโว้ย ผู้นำชาวประมงบ้านหัวหิน นายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอเกาะลันตา ส่วนราชการในพื้นที่ นายฮัจยี สวาสดิ์ หมั่นเพียร อีหม่ามมัสยิดสามัคคี บ้านคลองหมาก และผู้อุทิศที่ดิน เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น

ซึ่งประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างสะพาน เพราะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเกาะลันตาซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน รวมถึงส่งผลดีในด้านการท่องเที่ยวจากการเดินทางที่สะดวก ช่วยส่งเสริมการเข้าถึงระบบการศึกษาในพื้นที่ การเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว ส่วนในด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมประชาชนในพื้นที่ไม่ได้กังวลมากนักเพราะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบันเกาะลันตามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่พบปัญหาการเดินทางและการขนส่งที่ล่าช้า เนื่องจากมีทางเข้าออกเพียงทางเดียวและใช้เวลาเดินทางจากแผ่นดินใหญ่มายังเกาะลันตาน้อยนาน 1-2 ชั่วโมง นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในช่วงกลางคืนต้องเหมาแพขนานยนต์ ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่

ดังนั้น กรมทางหลวงชนบทจึงได้ดำเนินการตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ประชาชน โดยได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา เชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่กับเกาะลันตาน้อย โดยมีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 4206 กม.ที่ 26 + 620 ตำบลเกาะกลาง ไปบรรจบกับทางหลวงชนบท กบ.5035 ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ รวมระยะทางทั้งสิ้น 2.240 กิโลเมตร

ปัจจุบันออกแบบแล้วเสร็จ และผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีวงเงินค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ต่างประเทศ 1,260 ล้านบาท (70%) และงบประมาณ 540 ล้านบาท (30%) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2566 และจะแล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ในปี พ.ศ. 2569


https://mgronline.com/business/detail/9660000010168


******************************************************************************************************


ตะลึง! ปริมาณไมโครพลาสติกในทะเล สะท้อนโลกลดพลาสติกใช้แล้วทิ้งไม่ได้



งานวิจัยเมื่อไม่นานนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science and Technology จากการเก็บตัวอย่างดินตะกอนในทะเลพบว่าไมโครพลาสติก ที่ระดับความลึกกว่า 100 เมตร มีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงการแก้ปัญหาการใช้พลาสติกแล้วใช้แล้วทิ้ง ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก

ไมโครพลาสติกในทะเลลึก เกิดจากขยะพลาสติกที่แตกตัวจนมีขนาดเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตร เนื่องจากต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 400 ปี การถูกสะสมมากขึ้นส่วนหนึ่งถูกส่งต่อผ่านห่วงโซ่อาหาร และกลับคืนสู่มนุษย์ผ่านการบริโภคอาหารทะเล

งานวิจัยชิ้นนี้ทำการเก็บตัวอย่างจากดินตะกอนในทะเล Balearic ทางตะวันออกของสเปนและทางใต้ของฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 พบหลักฐานว่าปริมาณไมโครพลาสติกจากการแตกตัวของขยะพลาสติก บริเวณก้นทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และความพยายามในปัจจุบันยังไม่ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วทิ้ง

"เศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ ซึ่งเล็กกว่าที่ตามนุษย์มองเห็นได้ ก่อตัวขึ้นบนพื้นทะเลที่ความลึกมากกว่า 100 เมตร ซึ่งผลการศึกษานี้สะท้อนถึงปริมาณผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้นในสังคมโลก เช่น บรรจุภัณฑ์ ขวด และเสื้อผ้า ฯลฯ มันแสดงให้เห็นว่าโลกยังห่างไกลจากการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว" นักวิทยาศาสตร์ในทีมวิเคราะห์กล่าว

สำหรับทีมนักวิจัยประกอบด้วยผู้ที่มาจาก Universitat Aut?noma de Barcelona (ICTA-UAB) ในสเปน และ Department of the Built Environment of Aalborg University (AAU-BUILD) ในเดนมาร์ก

พวกเขากล่าวว่าปริมาณของไมโครพลาสติกที่พบฝังอยู่ในพื้นทะเลนั้นเลียนแบบการผลิตพลาสติกทั่วโลกตั้งแต่ปี 1965-2016 (พ.ศ.2508-2559)

นักวิจัย Laura Simon-S?nchez กล่าวว่า "โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2000 ปริมาณของอนุภาคพลาสติกที่สะสมอยู่ที่ก้นทะเลเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า และการสะสมยังไม่หยุดเติบโต ซึ่งไม่ได้ลดลงเลย นับเป็นการเลียนแบบการผลิตและการใช้ทั่วโลกของวัสดุเหล่านี้'

"ที่น่าเป็นห่วงคือ พลาสติกชิ้นเล็ก ๆ นั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ถูกทิ้งครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อติดอยู่ในก้นทะเลแล้ว พวกมันจะไม่ย่อยสลายอีกต่อไป ไม่ว่าจะเพราะขาดการกัดเซาะ ออกซิเจน หรือแสง"

"เมื่อทับถมแล้ว การย่อยสลายจะน้อยมาก ดังนั้นพลาสติกจากทศวรรษที่ 1960 จึงยังคงอยู่ที่ก้นทะเล ทิ้งร่องรอยมลพิษของมนุษย์ไว้ที่นั่น" นักวิทยาศาสตร์กล่าว

Michael Grelaud ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยกล่าวเสริมว่า "สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การสะสมของอนุภาคโพลีเอทิลีนและโพลีโพรพีลีนจากบรรจุภัณฑ์ ขวด และฟิล์มอาหาร เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับโพลีเอสเตอร์จากใยสังเคราะห์ในผ้าทอเสื้อผ้า'

พวกเขาพบว่าโพรพิลีน ส่วนใหญ่ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ มีปริมาณมากที่สุดเมื่อรวมกันแล้ว อนุภาคทั้งสามประเภทที่แตกต่างกันมีน้ำหนักสูงสุด 1.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งพบในส่วนบนของแกนกลางตะกอน ซึ่งเป็นตัวแทนของปีล่าสุด

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของไมโครพลาสติกยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แม้ว่าจะมีการพิสูจน์แล้วว่าพลาสติกชิ้นเล็กๆ สามารถปนเปื้อนทั้งอาหารและน้ำได้

ทั้งนี้การวิจัยก่อนหน้านี้ประเมินว่ามีไมโครพลาสติกมากถึง 14 ล้านตันอยู่บนพื้นทะเล โดยมลพิษพลาสติกจะไปถึงน้ำแข็งในทะเลรอบแอนตาร์กติกาและแม้แต่บริเวณร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) ที่ลึกที่สุดในโลก


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9660000010369

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 03-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


ไขข้อสงสัย "ปลาเก๋าหยก" เพาะเลี้ยงในไทยถูกกฎหมายหรือไม่?



กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในโลกออนไลน์ เมื่อ "ปลาเก๋าหยก" ถูกตั้งคำถามว่าสามารถเพาะเลี้ยง-ขาย ในไทยได้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่? หลังเริ่มมีการทยอยเปิดตัวเป็นเมนูอาหาร พร้อมออกจำหน่ายเร็วๆ นี้

หลังจากมีข่าวการเปิดตัวเมนูอาหารที่ทำจาก "ปลาเก๋าหยก" ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งระบุว่า เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย แต่ไม่นานก็เจอกระแสตีกลับ เมื่อปลาเก๋าหยกปรากฏอยู่ในบัญชี "สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร ที่มี "ปลาเก๋าหยก" รวมอยู่นั้น เป็นข้อมูลจากประกาศกฎกระทรวงในปี 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำหายาก หรือป้องไม่ให้เกิดอันตรายกับสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ซึ่งมีสัตว์น้ำทั้งหมด 13 ชนิดที่เข้าข่าย "ต้องห้าม" ไม่ให้เพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเรื่อง "เอเลียนสปีชีส์" หรือ การที่มีสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามารุกรานสัตว์น้ำในถิ่นอาศัยเดิมทยอยหายไป

เอเลียนสปีชีส์ คือ สัตว์ต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานการดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์ในท้องถิ่นเดิม รวมทั้งยับยั้งการสืบพันธุ์ของสัตว์ท้องถิ่นชนิดนั้นๆ เมื่อสัตว์ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ก็นำไปสู่การสูญพันธุ์และส่งผลให้ระบบนิเวศล่มสลาย รวมถึงมีผลกระทบในวงกว้างมาถึงมนุษย์

การเข้ามาของเอเลียนสปีชีส์มีทั้งการนำปลาหายากจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยง แล้วปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไปจนถึงการทำบุญปล่อยสัตว์น้ำต่างๆ ลงสู่แม่น้ำ ส่วนในกรณีของปลาเก๋าหยกนั้น เดิมทีเป็นสายพันธุ์ปลาที่มาจากแถบแอฟริกา แต่ได้รับความนิยมในสังคมชาวเอเชียอย่างมาก ตั้งแต่จีน ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม และ ไต้หวัน เนื่องจากเป็นปลาแข็งแรง เพาะพันธุ์และปรับตัวง่าย นำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย


รู้จัก ปลาเก๋าหยก ก่อนจะฮิตในไทย มันมาจากไหนกันแน่?

"ปลาเก๋าหยก" เดิมชื่อว่า "Jade Perch" ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scortum barcoo เป็นปลาน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา แต่ต่อมามีการแพร่พันธุ์ไปที่ออสเตรเลียและถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ปลากรันช์จากแม่น้ำบาโค" (Barcoo grunter) ซึ่งเป็นแม่น้ำในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากชื่อไม่เหมาะจะนำมาเป็นเครื่องหมายการค้า ปลากรันช์จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "เจดเพิร์ช" หรือปลาเพิร์ชหยก เนื่องจากมันมีลำตัวที่มีสีเหลือบเขียว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ "เก๋าหยก" เมื่อนำเข้ามาขายในไทย เพื่อให้คนไทยเรียกได้ง่ายขึ้น

สำหรับการเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยของปลาเก๋าหยกนั้น เริ่มตั้งแต่ประมาณ 10 ปี ที่แล้ว โดยมันสามารถเพาะเลี้ยงได้ง่ายเพราะเป็นปลาที่แข็งแรง เนื้อขาวนุ่ม หนังบาง มีไขมันแทรกในเนื้อ มีคุณค่าทางโภชนาการมาก แต่ก็มีราคาค่อนข้างสูง มักนิยมนำไปนึ่งให้สุกก่อนรับประทาน และไม่สามารถกินแบบดิบได้ แต่หลังจากนั้น กรมประมง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศห้ามเพาะเลี้ยงปลาเก๋าหยกเนื่องจากพบว่าพวกมันเป็นเอเลียนสปีชีส์

ล่าสุดปลาเก๋าหยกถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "ปลาหยก" และถูกนำเสนอจากทั้งผู้ประกอบการและงานนิทรรศการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นว่า เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทยและเป็นปลาที่เหมาะแก่การทำอาหารได้หลากหลายเมนู


ย้อนสำรวจสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในไทย มีอะไรบ้าง ?

สำหรับสัตว์น้ำที่อยู่ในบัญชี "ห้ามเพาะเลี้ยง" ล่าสุด ตามประกาศกฎกระทรวงในปี 2564 นั้น พบว่าเป็นสัตว์น้ำประเภทปลา 10 ชนิด และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ อีก 3 ชนิด ดังนี้


สัตว์น้ำประเภทปลา ได้แก่

1. ปลาหมอสีคางดำ

2. ปลาหมอมายัน

3. ปลาหมอบัตเตอร์

4. ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และ ปลาลูกผสม

5. ปลาเทราท์สายรุ้ง

6. ปลาเทราท์สีน้ำตาล

7. ปลากะพงปากกว้าง

8. ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช

9. ปลาเก๋าหยก

10. ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO


สัตว์น้ำประเภทอื่นๆ ได้แก่

1. ปูขนจีน

2. หอยมุกน้ำจืด

3. หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena, Blue-ri nged octopus Hapalochlaena spp.

โดยเหตุผลที่ห้ามเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำข้างต้นเหล่านี้ก็เนื่องจากว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ "เอเลียนสปีชีส์" ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นกรณี "ปลาหมอสีคางดำ" ที่หลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรเมื่อ 3 ปีก่อน ได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก ดังนั้น กรมประมงจึงมีความจำเป็นต้องเข้มงวดในเรื่องสัตว์น้ำต่างถิ่นมากขึ้น

โดยในประกาศของกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ระบุไว้ว่า "ห้ามมิให้บุคคลใดเพาะเลี้ยงซึ่งสัตว์น้ำที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย"

แต่ในกรณีของ "ปลาหยก" ที่กำลังเป็นกระแสและถูกตั้งคำถามอยู่ในขณะนี้นั้น เบื้องต้น ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง และอาจมีความเป็นไปได้ว่า เป็นปลาคนละสปีชีส์กับที่กฎกระทรวงกำหนด จึงสามารถทำการเพาะเลี้ยงและจัดจำหน่ายในฐานะที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งในไทยได้

อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมของผู้บริโภคคงต้องใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อเลือกหาเนื้อปลาคุณภาพดีชนิดใดๆ ก็ตาม แต่ไม่ว่าจะเลือกซื้อปลาชนิดไหนมารับประทาน ก็ควรเลือกเนื้อปลาที่สดใหม่ สะอาด ปลอดภัย น่าจะเป็นสิ่งดีที่สุด


https://www.bangkokbiznews.com/health/1051145

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 03-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


เปิดตัว "โกลด์ครอสทันเดอร์" ปลาการ์ตูนสายพันธุ์ใหม่

กรุงเทพฯ 2 ก.พ. ? อธิบดีกรมประมงเผยผลสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ปลาการ์ตูน โดยใช้เทคนิคผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์เพาะจนได้ "ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์" ที่มีลวดลายแปลกใหม่ เล็งกระตุ้นตลาดปลาสวยงามไทย



นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า กรมประมงได้พัฒนาปลาการ์ตูนสายพันธุ์ใหม่คือ "ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์" (Gold x thunder maroon) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premnas biaculeatus ใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์ตามหลักพันธุศาสตร์ปลาสวยงามด้วยการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ปลาการ์ตูนทองโกลด์นักเก็ตกับปลาการ์ตูนแดงทันเดอร์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่พบในธรรมชาติแต่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงพันธุ์จากโรงเพาะฟัก โดยลูกพันธุ์ปลาที่ได้มีลักษณะลวดลายแปลกใหม่แตกต่างไปจากพ่อและแม่พันธุ์จึงเรียกลักษณะนี้ว่า "โกลด์ครอสทันเดอร์" โดยปลาสายพันธุ์นี้เป็นปลาที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์เพื่อกระตุ้นศักยภาพการผลิตปลาสวยงามเท่านั้น ย้ำว่า กรมประมงไม่มีนโยบายปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด


นายสามารถ เดชสถิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกระบี่กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นได้ศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์ ตั้งแต่ปี 2563 และในปีงบประมาณ 2565 โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อศึกษาวิจัยตามหลักพันธุศาสตร์จนประสบความสำเร็จ ซึ่งความท้าทายของการเพาะพันธุ์ปลาสายพันธุ์นี้ คือ จำเป็นต้องศึกษาจนทราบรูปแบบการถ่ายทอดลักษณะโกลด์นักเก็ต และลักษณะแดงทันเดอร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งปลาสายพันธุ์แท้ หรืออย่างน้อยต้องทราบลักษณะทางพันธุกรรมของปลาแต่ละตัว หลังจากนั้นจึงนำปลาที่มีลักษณะทั้ง 2มาผสมกันเพื่อให้ลักษณะทั้งสองปรากฏอยู่ด้วยกันและถ่ายทอดให้มีการแสดงลักษณะใหม่ออกมา ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ลักษณะโกลด์ครอสทันเดอร์ เกิดจากปฏิกิริยาร่วมแบบสะสมของยีนต่างตำแหน่งระหว่างยีนควบคุมลักษณะตัวสีทองจากปลาการ์ตูนทองโกลด์นักเก็ตกับยีนควบคุมลักษณะลายพื้นขาวจากปลาการ์ตูนแดงทันเดอร์ ซึ่งปลานี้ได้เกิดขึ้นจากการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ให้เกิดลักษณะแปลกใหม่ ไม่ได้เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมแต่อย่างใด สำหรับปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์ ลักษณะเด่นจะอยู่ที่ลักษณะรูพรุนและความพลิ้วไหวของลายสีขาวบนพื้นลำตัวสีแดงซึ่งแตกต่างไปจากปลาการ์ตูนทั่วไปที่เคยมี โดยที่มาของชื่อเกิดจากการรวมชื่อของสายพันธุ์พ่อและแม่ปลา ได้แก่ Gold = gold nugget maroon (ปลาการ์ตูนแก้มหนามที่มีลักษณะลายตัวสีทอง) X (cross : การผสมข้าม) Thunder = thunder maroon (ปลาการ์ตูนแก้มหนามที่มีลักษณะลายพื้นขาว)

ปลาสายพันธุ์นี้มีชีววิทยาเหมือนปลาการ์ตูนแก้มหนามทั่วไปคือ ความยาวสูงสุดประมาณ 17 เซนติเมตร ปลาเพศผู้เจริญพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือน ในขณะที่เพศเมียเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 18 เดือน โดยมีลักษณะเป็นปลากะเทยคือ ปลาเพศผู้สามารถเปลี่ยนเพศเป็นเพศเมียได้ แต่เพศเมียไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเพศผู้ได้ อายุขัยเฉลี่ยทั่วไปประมาณ 15 ปี ปัจจุบันปลาดังกล่าวเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อขอเสนอจำหน่ายกับสำนักงานเงินทุนหมุมเวียนของกรมประมง และมีแผนถ่ายทอดเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงไปยังเกษตรกร เพื่อให้สามารถเพาะเลี้ยงและจำหน่ายสู่ตลาดปลาทะเลสวยงามของไทยให้เกิดความหลากหลายต่อไปในอนาคต

สำหรับปลาการ์ตูน "โกลด์ครอสทันเดอร์" นับเป็นปลาสวยงามอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาจากโรงเพาะฟักสามารถเลี้ยงร่วมกับปลาทะเลสวยงามอื่นๆ ในตู้ปลาได้ตามปกติ แต่ไม่ควรเลี้ยงร่วมกับปลาที่เป็นนักล่า ที่สำคัญปลาที่กรมประมงเพาะขยายพันธุ์ได้ทางนักวิชาการจะปรับพฤติกรรมการกินตั้งแต่ขั้นตอนอนุบาลให้สามารถกินอาหารเม็ดสำเร็จรูปได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาหารสดจึงสะดวกสำหรับผู้เลี้ยงมากยิ่งขึ้น ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งกระบี่ 141 ม.6 ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ เบอร์โทรศัพท์ 075-662059-60.


https://tna.mcot.net/agriculture-1106792

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:15


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger