เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 03-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีอากาศร้อนจัดบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ฝุ่นละอองในระยะนี้ : ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝุ่นละออง/หมอกควันสะสมมากเนื่องจากการระบายอากาศไม่ดี ส่วนบริเวณอื่นๆ มีการสะสมน้อยถึงปานกลาง เนื่องจากยังคงมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมและมีฝนตกในบางพื้นที่


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 3 ? 6 เม.ย. 66 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมีลมตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้

ส่วนในช่วงวันที่ 7 ? 8 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 6 ? 8 เม.ย. 66 ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยงไว้ด้วยไว้ด้วย






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 03-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ก่อนสายเกินไป จีนบังคับใช้กฎหมาย คุ้มครองดูแล 'แม่น้ำเหลือง' แล้ว



จีนบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่คุ้มครอง 'แม่น้ำเหลือง' แม่น้ำสายยาวอันดับสองของประเทศแล้ว เพื่อดูแลฟื้นฟูทางนิเวศวิทยา

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทางการจีนบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยการคุ้มครองทางนิเวศวิทยาและการพัฒนาคุณภาพสูงของแอ่งแม่น้ำเหลือง เมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา

กฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับรองเมื่อเดือนตุลาคม 2565 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทางนิเวศวิทยา และการควบคุมมลพิษทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามแนวแม่น้ำเหลือง รวมถึงกำหนดว่าแหล่งน้ำตามแนวแม่น้ำเหลือง ควรถูกจัดสรรภายใต้ระบบการจัดสรรแบบรวมศูนย์ระดับชาติ

ก่อนหน้านี้ ทางการจีนได้บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับแอ่งแม่น้ำจำเพาะฉบับแรกของจีน เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564

ทั้งนี้ แม่น้ำหวง ซึ่งมีความหมายว่าแม่น้ำเหลือง หรือมีชื่อเรียกว่า แม่น้ำฮวงโหด้วย เป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของจีน รองจากแม่น้ำแยงซี และเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับ 6 ของโลก สูงจากระดับน้ำทะเล 5,400 เมตร

แม่น้ำฮวงโห มีความยาวถึง 5,464 กิโลเมตร ซึ่งยาวกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 15 เท่า ไหลจากฝั่งตะวันตกมาทางตะวันออก ผ่านมณฑลชิงไห่ และออกสู่ทะเลที่มณฑลซานตง

น้ำในแม่น้ำฮวงโหเป็นสีเหลือง เนื่องจากมีตะกอนดินทรายพัดพามาจากทิศตะวันตก ยังคงความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกให้เกิดขึ้นสองฟากฝั่งแม่น้ำ ในขณะเดียวกันก็เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่ง เกิดอุทกภัยหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอย่างมากมายมหาศาล จึงได้รับฉายาว่า "แม่น้ำวิปโยค".


https://www.thairath.co.th/news/fore...111?optimize=b


******************************************************************************************************


วาฬเพชฌฆาตแก่สุดที่มนุษย์เลี้ยงไว้ จ่อได้กลับบ้าน หลังถูกขังมา 50 ปี



พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในสหรัฐฯ เตรียมนำตัววาฬเพชฌฆาตที่อายุมากที่สุดที่มนุษย์เลี้ยงเอาไว้ กลับคืนสู่น่านน้ำบ้านเกิดในทะเลแปซิฟิกแล้ว หลังมันถูกขังมานานกว่า 50 ปี

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ 'ไมอามี ซีควอเรียม' (Miami Seaquarium) ในรัฐฟลอริดา ประกาศว่า พวกเขาจะเริ่มกระบวนการส่งตัวเจ้า 'โลลิตา' วาฬเพชฌฆาตเพศเมียอายุ 56 ปี กลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงเหนือแล้ว โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ไมอามี ซีควอเรียม จะร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงกำไร 'Friends of Lolita' ในการส่งตัวโลลิตาเดินทางข้ามประเทศไปยังถิ่นกำเนิดของมัน

ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวเพื่อสวัสดิภาพสัตว์พยายามล็อบบี้มานานหลายปีแล้ว ให้ปล่อยตัวโลลิตากลับบ้าน โดยตัวตั้งตัวตีคือนาย จิม เออร์เซย์ เจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอล ?อินเดียนาโพลิส โคลต์ส? (Indianapolis Colts)

"ผมตื่นเต้นมากกับการมีส่วนร่วมในการเดินทางของโลลิตา" นายเออร์เซย์กล่าว

"เธอเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่อดทนสูง มันมหัศจรรย์ ผมรักวาฬมาตลอดตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก"

ทั้งนี้ โลลิตา ซึ่งมีชื่อเดิมว่า โทคิแท หรือ โทคิ เป็นวาฬเพชฌฆาตสายพันธุ์ทั่วไป (resident) เธอถูกจับในช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งมีการล่าสัตว์อย่างหนัก หลังจากนั้นผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว โลลิตาอาศัยอยู่ในแท็งก์น้ำขนาดเพียง 26 เมตรคูณ 11 เมตร ซึ่งถือว่าเล็กมากสำหรับสิ่งมีชีวิตที่มีความยาวถึง 6 เมตรชนิดนี้ และทำการแสดงโชว์ให้ ไมอามี ซีควอเรียม มาตลอด

อนึ่ง ไมอามี ซีควอเรียม ประกาศว่า โลลิตาจะเกษียณจากการแสดงที่ดำเนินมาต่อเนื่อง 52 ปี ในปีหน้า

ที่มา : bbc


https://www.thairath.co.th/news/fore...406?optimize=b

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 03-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


สิงห์อาสา ลงพื้นที่ป้องแปลงหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดฝั่งอ่าวไทย ที่ จ.สุราษฎร์ฯ



สิงห์อาสา ร่วมกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัย 18 สถาบันในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ลงพื้นที่ดูแลแปลงหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดฝั่งอ่าวไทยที่ จ.สุราษฎร์ธานี ป้องกันการเสียพื้นที่หญ้าทะเลประมาณ 500-700 ไร่ต่อปี หวังเป็นพื้นที่ดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคใต้ ลดปัญหาโลกรวน พร้อมขยายต่อในหลายพื้นที่จังหวัดชายทะเลทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก

จากข้อมูลสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลประมาณ 160,628 ไร่ แต่จากการสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่า มีพื้นที่หญ้าทะเล เพียง 99,325 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 65,209 ไร่ และฝั่งอ่าวไทย จำนวน 34,116 ไร่ จากข้อมูลเหล่านี้บอกได้ว่าประเทศไทยยังมีพื้นที่อีกมากที่สามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลับมาเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีพื้นที่หญ้าทะเลกว่า 16,000 ไร่ ถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่หญ้าทะเลมากที่สุดทางฝั่งอ่าวไทย จากการสำรวจพบว่าบริเวณพื้นที่เกาะเสร็จ เป็นเกาะเกิดใหม่ในสุราษฎร์ฯ มีระบบนิเวศชายทะเลที่เหมาะกับการปลูกหญ้าทะเลรวมถึงป่าชายเลน ที่จะเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เช่น ปูม้าในช่วงวัยอ่อน ปลาหลายชนิด รวมไปถึงการเป็นแหล่งอาหารของพะยูนและเต่าทะเล สัตว์สงวนของไทยที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เกาะเสร็จ จึงมีความพร้อมของธรรมชาติที่จะทำให้หญ้าทะเลมีโอกาสอยู่รอดได้

ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ยังได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ และบริษัท สุราษฎร์ธานีเบเวอเรช จำกัด หนึ่งในเครือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างยั่งยืนในโครงการ ?สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล? โดยมีการปลูกหญ้าทะเลกว่า 10,000 ต้น ปลูกป่าชายเลน 5,000 ต้น และปล่อยพันธุ์ปูม้ากว่า 100,000 ตัว เพื่อสร้างพื้นที่หญ้าทะเลและระบบนิเวศทางทะเลที่สมบูรณ์ ที่เกาะเสร็จ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี ซึ่งหลังจากนี้จะขยายพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป

ผศ.พรเทพ วิรัชวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกหญ้าทะเล ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า "พื้นที่ของหญ้าทะเล มีศักยภาพในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนฯ อย่าง Blue Carbon หรือคาร์บอนฯ ที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งบลูคาร์บอนมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนฯ สูงกว่าป่าไม้เกือบ 10 เท่า การมีหญ้าทะเลจึงเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แต่หญ้าทะเลกำลังพบเจอกับภัยคุกคามหลายอย่าง เช่น การเดินเรือทับหญ้าทะเล การพัฒนาชายฝั่งให้เป็นโรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยว นับเป็นโอกาสดีที่ ?สิงห์อาสา? ได้เข้ามาปลูกหญ้าทะเลเพิ่มเติมให้กับเกาะเสร็จ รวมไปถึงดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอื่นๆ คืนความอุดมสมบูรณ์ ร่วมกับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนและชาวบ้านในพื้นที่ และเครือข่ายสิงห์อาสาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ"

นายอมร เสานอก ผู้จัดการฝ่ายโรงงาน บริษัท สุราษฎร์ธานีเบเวอเรช จำกัด หนึ่งในเครือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า "ในฐานะประชาชนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ให้ความสำคัญกับการร่วมแก้ไขป้ญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง โครงการสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ถือเป็นโอกาสจะทำให้ผู้คนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของหญ้าทะเลในการช่วยลดภาวะโลกรวน ร่วมกันสร้างจิตสำนึกไม่ทำลายหญ้าทะเล และยังส่งผลในเรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์ที่เอื้อประโยชน์ให้ทั้งธรรมชาติทั้งผู้คนอย่างเป็นระบบ"

โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัย 18 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง, สงขลา, ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี, สงขลา, ภูเก็ต ,ตรัง , ม.หาดใหญ่ , มรภ.สงขลา, มรภ.สุราษฎร์ธานี, มรภ.นครศรีธรรมราช, มรภ.ภูเก็ต, ม.บูรพา จ.ชลบุรี, วิทยาเขตจันทบุรี, ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, มทร.ตะวันออก วิทยาเขตบางพระ, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง, มรภ.ราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา, มรภ.รำไพพรรณี จ.จันทบุรี

โดยในปีนี้ สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และบริษัทในเครือทั่วประเทศ ยังร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งเน้นภารกิจในการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งดูแลป่าต้นน้ำในเขตจังหวัดภาคเหนือ การดูแลแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในจังหวัดภาคอีสาน การดูแลสายน้ำในจังหวัดภาคกลาง และภารกิจสร้างความยั่งยืนให้ทะเลไทยทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อให้ "องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน"


https://mgronline.com/live/detail/9660000030104


******************************************************************************************************


เชยแล้ว "กินปลาแล้วฉลาด" สมัยนี้ "กินปลาแถมปรอท" น่าตกใจ "ไทย = อันดับ 9 ของโลก!!"



ไม่ได้มีแค่ "โอเมก้า 3" ผลสำรวจชี้ "กินปลา แถมปรอท" พบปนเปื้อนสูง เสี่ยงส่งผลต่อร่างกาย อันตรายถึงเด็กในท้อง หันมองประเทศไทย สถิติเตือนใจ ติดอันดับสะสมสารพิษเป็น "ที่ 9" ของโลก


ปรอท! สดจากทะเล

ถ้าการกินปลาไม่ได้ต่อดีสุขภาพเสมอไปล่ะ? เมื่อ "คณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA)" ออกมาเตือน 78% ของปรอทที่เรารับเข้าไปในร่างกายในแต่ละวันนั้น มาจากปลาและอาหารทะเล การรับปรอทจำนวนมาก เป็นอันตรายต่อร่างกายและส่งต่อทารกในครรภ์

ปรอทที่ปนเปื้อนในปลาและอาหารทะเล จะมีปริมาณของปรอทที่มากน้อยไม่เท่ากัน ยิ่งเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีสารปรอทคงค้างมากกว่าปลาขนาดเล็ก และปลาที่พบปนเปื้อนปรอทสูงคือ ปลาเก๋า, ปลากะพง, ปลาหิมะ, ปลาอินทรี, ทูน่าครีบเหลือง, ฉลาม และปลากระโทง


แล้วอะไรทำให้สารปรอท เข้ามาอยู่ในตัวปลาได้ล่ะ?

ปรอทเป็นสารที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว การมีปนเปื้อนปรอทเล็กน้อยไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล

แต่อุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน การเผาขยะ ปล่อยสารปรอทลอยไปกับอากาศ ทำให้ฝนที่ตกลงแหล่งน้ำและทะเลมีปรอทปนเปื้อนอยู่ ทำให้ในตัวปลามีปรอทสะสมเกินค่ามาตรฐาน นี่ยังไม่นับรวมการทิ้งขยะลงทะเล ที่ส่งผลต่อการปนเปื้อนของปลาเช่นกัน

จากผลการศึกษาทั่วโลกของผู้หญิง 1,044 คน ใน 25 ประเทศ พบว่า 36% มีสารปรอทเกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของสารปรอทอยู่ที่ 3.077 มิลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นลำดับที่ 9 ของโลก

พบว่าสิ่งที่มีผลต่อปริมาณปรอทที่เพิ่มขึ้นในร่างกาย คือ การกินปลาเป็นประจำ ทำงานในเหมืองทองขนาดเล็ก และอาศัยใกล้เขตอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่าการปนเปื้อนของสารปรอท เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้ปรอทแพร่กระจาย สะสม และตกค้างอยู่ในธรรมชาติ

ร่างกายคนเราสามารถรับปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ถ้ากินอาหารที่ปรอทสะสมเป็นเวลานาน ก็จะสงผลเสียต่อร่างกายและอาจถึงตายได้

ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้, ชา-ตามแขนขา, แขนขาบิดเบี้ยวคล้ายคนพิการ, ตาบอด, กล้ามเนื้อสั่น, หูตึง, หลอดเลือดแข็ง, เป็นอัมพาต และอาการเหล่าท้ายจากสู่ลูกได้ ทำให้เด็กที่เกิดมา มีอาการพิการทางสมอง

นี่คือผลกระทบจาก พิษของสารปรอท หรือเรียกว่า "โรคมินามาตะ"


"สมองพรุน" สู่ทารกในครรภ์

คงมองข้ามปัญหาการปนเปื้อนของปรอทไม่ได้แล้ว เมื่อมีกรณีตัวอย่างจากญี่ปุ่น ช่วงยุค 50 ที่มีโรงงานแอบปล่อยสารปรอทลงแหล่งน้ำใน เมืองมินามาตะ ทำให้ชาวเมืองเริ่มป่วยเป็นโรคประหลาด

ชาวเมืองเริ่ม มีอาการชาที่มือและเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียการได้ยินและการมองเห็น ควบคุมสติไม่ได้ มีอาการวิกลจริตอย่างอ่อนๆ กรีดร้อง มีการกระตุกตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง

จากบันทึกของ นพ.ฮาจิเมะ โฮโซคาวะ ผอ.โรงพยาบาล ชิสโสะ เขียนว่า "เมื่อแพทย์ชำแหละสมองของผู้ที่เสียชีวิต สมองของผู้ป่วยนั้นจะพรุนเหมือนฟองน้ำ ส่วนที่เนื้อสมองหายไปนั่นคือส่วนที่ถูกทำลายด้วยสารปรอท และ ยังพบอีกว่า ทารกที่เกิดมาในช่วงนั้นมีความพิการทางสมอง" จากเหตุการณ์ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของ โรคมินามาตะ

ตอกย้ำอันตรายจากปรอท ด้วยผลการศึกษาในไทย "สารปรอทในปลาและร่างกายมนุษย์ ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าของประเทศไทย" โดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับ สมาคมอาร์นิก้า สาธารณรัฐเชก

"จากการศึกษาปริมาณสารปรอทในผู้หญิง อายุระหว่าง 18 - 44 ปี ในพื้นที่รอบเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และเขตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ปราจีนบุรี พบว่า 73.5% ของอาสาสมัครมีสารปรอทเกินมาตรฐานของ EPA ที่ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และค้นพบว่าเป็นจุดเริ่มต้นความเสียหายทางระบบประสาทของทารกในครรภ์ "


8 จังหวัดไทย กลายเป็น มินามาตะ!

"มินามาตะโมเดล" อาจเกิดในไทยก็ได้ เมื่อผลการศึกษายังระบุอีกว่า 8 จังหวัด อุตสาหกรรม พบการปนเปื้อนของปรอทสูง ได้แก่ สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ระยอง, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา, เลย, ขอนแก่น และจันทบุรี

ซึ่งแหล่งกำเนิดสารปรอทคงหนีไม่พ้น เขตอุตสาหกรรมที่หนาแน่น และโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากการเก็บตัวอย่างปลาและหอยในพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด พบว่าทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืด มีค่าปรอทที่เกินมาตรฐาน

จากการเก็บตัวอย่าง ปลาและดิน แบ่งเป็น 2 แบบ คือ พื้นที่ใกล้กับเขตอุตสาหกรรม และพื้นที่อยู่ห่างไกลจากเขตอุตสาหกรรม พบว่าเขตอุตสาหกรรม ในปลาหลายชนิด เช่น ปลาเต็กเล้ง ปลาช่อน ทุกตัวอย่างมีปรอทเกินค่ามาตรฐานไทยถึง 24 เท่า

แต่ที่น่าตกใจ ในพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งอุตสาหกรรม กลับพบปลาบางชนิด มีปรอทสะสมถึง 16 เท่าจากค่ามาตรฐาน ในเขตอุทยานบางแห่ง พบว่าปลาช่อน ปลาบู่ ปลานิล มีปรอทอยู่ในตัว เกิน 6 - 28 เท่า

ถ้ากินปลาเหล่านี้ เราจะได้รับปรอทถึง 6.1 ? 375 กรัม ขึ้นอยู่กับชนิดของปลา แต่ก็เลยระดับความปลอดภัยมาตรฐาน ที่ร่างกายจะรับได้ที่ 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน

และนี่คือคำแถลงการณ์จาก อัครพล ตีบไธสง นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

"ผลการศึกษายืนยันการสะสมของสารปรอทในสิ่งมีชีวิต แสดงให้เห็นว่าคนในพื้นที่ 8 จังหวัดของไทย เสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารปรอท และสารปรอทสามารถเดินทางได้ไกลในอากาศ แม้จะอยู่ห่างไกลจากแหล่งอุตสาหกรรม ก็สามารถเสี่ยงพบปัญหาการปนเปื้อนจากปรอทที่ลอยอยู่ในอากาศได้เช่นกัน"


https://mgronline.com/live/detail/9660000029063

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 03-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก


10 ภัยพิบัติร้ายแรงจาก 'Climate Change' กระทบระบบนิเวศ ก่อโรคอุบัติใหม่ซ้ำๆ



10 ภัยพิบัติรุนแรง ใกล้ตัวที่เกิดจากภาวะ 'Climate Change' กระทบตั้งแต่ภูเขาถึงท้องทะเล ก่อให้เกิดภัยแล้ง พายุุรุนแรง และสร้างโรคอุบัติใหม่ซ้ำๆ คร่าทั้งคนและธรรมชาติ

ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ "Climate Change" มีผลอย่างมากที่จะทำให้โลกแย่ลง แต่ตั้งแต่ปี 1800 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ และสาเหตุหลักมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ) ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตามข้อมูลจาก องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า การปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส ทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2011-2020) เป็นช่วงที่ร้อนที่สุด ทั้งนี้ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้โลกได้รับผลกระทบ และก่อให้เกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้งรุนแรง การขาดแคลนน้ำ ไฟไหม้รุนแรง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย วาตภัยขนาดใหญ่ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ


กรมกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุป 10 ภัยพิบัติที่เกิดจาก "Climate Change"

- อากาศสุดขั้ว : สภาพอากาศโดยเฉลี่ยร้อนขึ้นตามอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้ฤดูร้อนยาวนาน ฤดูหนาวจะสั้นลง พายุมีความรุนแรงและฝนตกหนักรวมทั้งเกิดภัยแล้วถี่ขึ้น

- คลื่นความร้อน(Heat Wave) : ในช่วงฤดูร้อนเขตอบอุ่นแถบยุโรปและอเมริกาเหนืออุณหภูมิจะสูงขึ้นเกือบ 50 องศา อากาศร้อนอบอ้าวหลายสัปดาห์และยังทำให้เกิดไฟป่า เผาทำลายพืชและสัตว์อย่างกว้างขวาง


- ภัยแล้งซ้ำซาก : ปรากฎการณ์เอลนีโญ และลานีญา ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนตกหนัก ทวีความรุนแรงและถี่ขึ้นถึง 5 เท่า ในช่วง 100 ปี


- หิมะถล่มเมือง : ทวีปอเมริกาเหนือและตอนเหนือของยุโรปอาจเกิดปรากฎการณ์หนาวสุดขั่ว อุณหภูมิติดลบต่ำกว่าจุดเยือกเย็น หิมะตกต่อเนื่องยาวนาน


- พายุหมุนขนาดยักษ์ : น้ำทะเลในมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูง ทำให้เกิดพายุหมุนเขตร้อน เช่น ใต้ฝุ่น เฮอริเคน ไซโคลน ถี่และรุนแรงกลายเป็นซูเปอร์พายุหมุน (Superstorm) ที่ก่อภัยพิบัติน้ำท่วม ดินถล่ม


- น้ำท่วมโลก : เกิดจากสภาวะโลกร้อนส่งผลให้น้ำแข็งบริเวณขั่วโลกละลายลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เมืองที่อยู่ติดชายทะเลอาจจะจมอยู่ใต้น้ำ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวสะโลกร้อนที่เกิดขึ้น


- กระแสน้ำมหาสมุทรแปรปรวน : การละลายของน้ำแข็งขั่วโลกทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำอุ่น และกระแสน้ำเย็นเคลื่อนที่ช้าลง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนบกและสัวต์ในทะเล


- ทะเลเป็นกรด : น้ำทะเลมีความเป็นกรดสูงสภาวะทางเคมีเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหลายชนิดในระบบนิเวศทางทะเลต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่


- พืชและสัตว์สูญพันธุ์ : เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ระบบนิเวศเสื่อมโทรมสิ่งมีชีวิตบนบกดำรงชีวิตได้ยาก ทั้งการผลัดใบ ผลิดอกของพืชการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์รวมถึงการจับคู่ผสมพันธุ์วางไข่


- โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ : การระบาดของโรคร้ายจากเขตร้อนแพร่กระจายไปสู่ภูมิภาคอื่นของโลกง่ายขึ้นทั้งโรคมาลาเลีย ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ โรคคอตีบ และเกิดเชื้อโรคชนิดใหม่ เช่น โรคซาร์ส

ข้อมูลระบุเพิ่มเติมว่าผลกระทบจาก "Climate Change" ได้สร้างความเสียหายและทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีๆ ลุกลามกระทบไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องแบบลูกโซ่ เสี่ยงต่อการเกษตร สุขภาพของมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน การดำรงชีวิต และเศรษฐกิจของทั่งโลก ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาสมดุลของโลกใบนี้เอาไว้ UN ได้มีการทำโครงการ ActNow เป็นโครงการรณรงค์ของสหประชาชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนในระดับบุคคล ทุกคนสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการทำกิจกรรมที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม


https://www.komchadluek.net/quality-...ronment/546045

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 03-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


นักวิทยาศาสตร์เตือน '6 ภัยที่ต้องระวัง' เมื่อ 'เอลนีโญ' มาเยือน



สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์หลายแขนงเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังมาเยือนในปี 2566 นี้รวมถึงในอนาต ว่าโลกเราจะเกิดผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรงอย่างไรบ้าง โดยนักวิทยาศาสตร์เตือนภัยไว้ถึง 6 อย่าง !
เอลนีโญและลานีญา เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ลานีญาเกิดจากอุณหภูมิมหาสมุทรที่เย็นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ขณะที่เอลนีโญทำให้เกิดอุณหภูมิที่ร้อนกว่าปกติ แต่ทั้งสองปรากฏการณ์ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลกอย่างมาก และการเปลี่ยนสภาพอากาศสู่เอลนีโญจะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นตามไปด้วย

'แดเนียล สเวน' นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย บอกว่า โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากลานีญาสู่เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า เอลนีโญจะรุนแรงมากเพียงใด บ้างก็คาดการณ์ว่า อาจรุนแรงจนถึงระดับสูงสุดหรืออาจมีความรุนแรงระดับปานกลาง แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ โลกร้อนจากฝีมือมนุษย์ ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในหลายส่วนทั่วโลก


6 สภาพอากาศรุนแรงที่ต้องระวัง มีดังนี้


1.อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เอลนีโญ อาจทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมในช่วงกลาง-ปลายยุค 1800

นักวิทยาศาสตร์นับว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศา เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักเกิดความแห้งแล้ง ไฟป่า และขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง

โจเซฟ ลูเดสเชอร์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากสถาบันพอตสตัมเพื่อการวิจัยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า ปี 2567 อาจเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์คือปี 2559 หลังเกิดเอลนีโญอย่างรุนแรง


2.สหรัฐอาจเกิดฝนตกหนัก

แคลิฟอร์เนียเกิดฝนตกและหิมะถล่มเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา และอาจรุนแรงมากขึ้นเมื่อในช่วงที่เกิดเอลนีโญ

เมื่อเอลนีโญเริ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า หลายรัฐในสหรัฐอาจเกิดฝนตกหนักมากกว่าปกติ มีความเสี่ยงก่อให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม และเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง

'แบรด ริปปีย์' นักอุตุนิยมวิทยาจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ เผยว่า ปรากฏการณ์นี้อาจช่วยบรรเทาความแห้งแล้งในลุ่มแม่น้ำโคโลราโดได้

ทั้งนี้ สถานการณ์ในแม่น้ำโคโลราโด ที่เป็นแหล่งน้ำดื่ม การชลประทาน และพลังงานไฟฟ้าให้กับประชาชนทัั่วภาคตะวันตกเฉียงใต้ 40 ล้านคน ประสบปัญหาจากการใช้น้ำมากเกินไป และภัยแล้งที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

วิกฤตขาดแคลนน้ำ กลายเป็นเรื่องน่ากังวลจนรัฐบาลกลางสหรัฐต้องประกาศให้ลดการใช้น้ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงสองปีที่ผ่านมา


3.อุณหภูมิสูง ภัยแล้ง ไฟป่า มาเยือนอีกครั้ง

เอลนีโญอาจทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น เกิดคลื่นความร้อนรุนแรง และเกิดไฟป่าที่อันตรายได้

แอฟริกาใต้ และอินเดียเป็นประเทศที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งและความร้อนรุนแรง เช่นเดียวกับประเทศที่อยู่ใกล้แปซิฟิกตะวันตก ทั้งอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก อาทิ วานูอาตู และฟิจิ

เอลนีโญอาจทำให้ออสเตรเลียแห้งแล้งมากขึ้น อากาศร้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางตะวันออกของประเทศ

'คีเรน ฮันต์' นักวิทยาศาสตร์วิจัย จากมหาวิทยาลัยรีดดิงในอังกฤษ กล่าวว่า เอลนีโญยังทำให้อุณหภูมิในอินเดียสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้อินเดียเคยประสบกับคลื่นความร้อนที่มาเร็วกว่าปกติ และคลื่นความร้อนและเอลนีโญจะทำให้ฝนเริ่มตกล่าช้าในประเทศอังกฤษ


4.ไซโคลนรุนแรงมากขึ้น

เอลนีโญอาจทำให้เกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกน้อยลง แต่สร้างผลกระทบตรงกันข้ามในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากน้ำอุ่นสามารถเป็นเชื้อเพลิงก่อให้เกิดพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงขึ้นได้

'จอน กอตต์ชาลค์' หัวหน้านักพยากรณ์ จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ กล่าวว่า ?พายุหมุนเขตร้อนมักก่อตัวขึ้นทางตะวันตกไกลออกและยังคงมีกำลังแรงและนานขึ้น ดังนั้น ฮาวายอาจได้รับผลกระทบมากขึ้น?

ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก สเวน บอกว่า แบบจำลองแสดงให้เห็นว่า น้ำที่อุ่นมาก ๆ นอกชายฝั่งเปรูซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมมากกว่าปกติในแถบทะเลทราย เป็นเหตุการณ์เอลนีโญที่สำคัญ


5.ปะการังฟอกขาว

เมื่อน้ำทะเลร้อนเกินไป ปะการังจะคายสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้สีและพลังงานส่วนใหญ่แก่ปะการัง จนทำให้ปะการังเปลี่ยนเป็นสีขาว จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ?การฟอกขาว? แม้ว่าปะการังจะฟื้นตัวได้หากอุณหภูมิเย็นลง แต่การฟอกขาวมีความเสี่ยงสูงทำให้ปะการังอดอาหารและตายได้

'ปีเตอร์ ฮุก' อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทกัมมารีน ที่ศึกษาเกี่ยวกับปะการังในไมโครนีเซีย กล่าวว่า ไม่ว่าเอลนีโญเกิดขึ้นเมื่อใด ปรากฏการณ์นี้ยังถือเป็นโอกาสให้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับปะการัง ว่าจะตอบสนองและมีจุดที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์เตือน '6 ภัยที่ต้องระวัง' เมื่อ 'เอลนีโญ' มาเยือน


6.น้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายรวดเร็ว

ผลการวิจัยแบบจำลองล่าสุด บ่งชี้ว่า เอลนีโญสามารถช่วยเร่งให้น้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้นได้

นักวิทยาศาสตร์กำลังจับตาดูแอนตาร์กติกาอย่างใกล้ชิด เพราะภูมิภาคนี้มีน้ำจำนวนมากในรูปน้ำแข็ง แม้ว่าแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกไม่อาจจะละลายจนหมด แต่น้ำที่ละลายก็เพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 70 เมตร

'เหวินจู ข่าย' หัวหน้านักวิทยาศาสตร์วิจัยจาก CSIRO บอกว่า ในระยะสั้น ปรากฏการณ์เอลนีโญก่อให้เกิดผลกระทบที่แตกต่างกันทั่วแอนตาร์กติกา แต่การเพิ่มขึ้นและลดลงของน้ำแข็งในพื้นที่ต่างๆ เมื่อนำมารวมกันแล้ว มีแนวโน้มนั้นชัดเจนว่า "น้ำแข็งในทะเลโดยรวมจะลดลง"


https://www.bangkokbiznews.com/world/1061074

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 03-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


กรมประมงปิดอ่าวฝั่งอันดามัน 3 เดือน 1 เม.ย.-30 มิ.ย.66

30 มี.ค. ? กรมประมงประกาศปิดอ่าว ห้ามจับสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่-วางไข่ ฝั่งทะเลอันดามัน ในพื้นที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง เป็นเวลา 3 เดือน เริ่ม 1 เม.ย. ? 30 มิ.ย.นี้ เพื่อฟื้นฟูสัตว์น้ำวัยอ่อน



บริเวณท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธานประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2566 (ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ? 30 มิถุนายน 2566 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง พร้อมปล่อยขบวนเรือตรวจการประมงทะเลจำนวน 6 ลำ ออกปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด และมอบแผ่นป้ายอุุดหนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการประมงประจำปี 2566 แก่ผู้นำองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจำนวน 21 ชุมชน ชุมชนละ 100,000 บาท จังหวัดกระบี่ 9 ชุมชน ตรัง 4 ชุมชน พังงา 5 ชุมชน ภูเก็ต 3 ชุมชน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพและการฟื้นฟูทรัพยากรประมง พร้อมปล่อยพันธุ์ปูม้า 1 แสนตัว และกุ้งแชบ๊วย 2 ล้านตัว

ทั้งนี้ พบว่าปลาเศรษฐกิจหลายชนิดมีความสมบูรณ์เพศสูง ประกอบกับสถิติผลการจับสัตว์น้ำของเรือประมงพาณิชย์และพื้นบ้านทางฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (พื้นที่ประกาศใช้มาตรการฯ) ในปี 2565 มีผลการจับปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญมีปริมาณมากถึง 8,858 ตัน สูงกว่าเมื่อปี 2560 ก่อนการปรับปรุงมาตรการฯ กว่า 5,935 ตัน .



https://tna.mcot.net/environment-1144903

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 03-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ค้นพบปลาใต้ทะเลลึกที่สุดในโลก ที่ความลึกถึง 8,336 เมตร


ที่มาของภาพ,MINDEROO-UWA DEEP SEA RESEARCH CENTRE

นักวิทยาศาสตร์ได้บันทึกภาพปลา ว่ายน้ำอยู่ใต้ผืนสมุทรที่ลึกอย่างมาก จนถือเป็นการค้นพบปลาที่อยู่ลึกที่สุดในมหาสมุทร เท่าที่เคยค้นพบมา

สปีชีส์ของปลาที่พบนั้น เป็นสายพันธุ์ "สเนลฟิช" ประเภท Pseudoliparis โดยมันถูกพบว่า กำลังว่ายน้ำที่ความลึก 8,336 เมตร

การบันทึกภาพปลาตัวนี้ นักวิทยาศาสตร์ใช้อุปกรณ์ที่ทิ้งลงไปจากร่องลึกอิซุ-โอกาซาวาระ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น

นักวิทยาศาสตร์ที่นำการสำรวจระบุว่า สเนลฟิชตัวนี้ อยู่ในจุดที่ลึกแทบจะที่สุดแล้ว เท่าที่ปลาตัวใดจะมีชีวิตอยู่รอดได้

การค้นพบปลาน้ำลึกที่สุดครั้งก่อน บันทึกภาพได้ที่ความลึก 8,178 เมตร ในพื้นที่ใต้สุดของมหาสมุทรแปซิฟิก ในร่องลึกมารีอานา ส่งผลให้การค้นพบครั้งนี้ ทำลายสถิติเดิมที่เคยค้นพบถึง 158 เมตร

"หากสถิติถูกทำลาย มันจะแตกต่างกันเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น" ศ. อลัน เจมีสัน บอกกับบีบีซี

นักวิทยาศาสตร์ทะเลน้ำลึก มหาวิทยาลัยแห่งออสเตรเลียตะวันตก เคยคาดการณ์ไว้เมื่อ 10 ปีก่อนว่า ปลาจะสามารถอยู่ใต้น้ำทะเลได้ลึกถึง 8,200 ? 8,400 เมตร และผลการสำรวจตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ค้นพบหลักฐานว่าเป็นความจริง

"สเนลฟิช" ประเภท Pseudoliparis ถูกบันทึกด้วยระบบกล้องที่ติดกับโครงสร้างถ่วงน้ำหนัก เรียกแล้วปล่อยลงจากด้านข้างของเรือที่มีชื่อว่า DSSV Pressure Drop

นักวิทยาศาสตร์ยังติดเหยื่อไว้กับตัวโครงสร้างด้วย เพื่อล่อปลาเข้ามากินอาหาร

แม้ทีมงานจะไม่ได้จับตัวอย่างปลาลึกสุดในโลกตัวนี้ขึ้นมา เพื่อตรวจสอบสปีชีส์ที่แน่ชัด แต่โครงอุปกรณ์บันทึกภาพ สามารถจับปลาหลายตัวเอาไว้ได้ ในระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นมาหน่อย คือ 8,022 เมตร

หนึ่งในปลาที่จับมาได้ คือ สเนลฟิช Pseudoliparis belyaevi ทำให้ถือเป็นปลาลึกสุดในโลกที่เคยจับได้

สเนลฟิชเป็นปลาที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก มีพวกมันมากกว่า 300 สปีชีส์ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในน้ำตื้น และตามแม่น้ำต่าง ๆ

แต่ปลาชนิดนี้ก็ปรับตัวให้อาศัยอยู่ในน้ำเย็นของมหาสมุทรอาร์กติก และแอนตาร์กติก รวมถึงมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพแรงดันสูง ซึ่งปรากฏอยู่ตามร่องลึกสุดของโลก

ที่ความลึก 8 กิโลเมตร จากผืนน้ำทะเล พวกมันจะต้องเผชิญกับแรงดันถึง 80 เมกะปาสคาล หรือ ความดันสูงกว่าเหนือพื้นทะเลถึง 800 เท่า

ร่างกายที่มีลักษณะเป็นวุ้นของมัน เป็นปัจจัยช่วยให้มันมีชีวิตรอดอยู่ได้

ปลาสเนลฟิช ไม่มีกระเพาะปลา ซึ่งเป็นอวัยวะที่ช่วยให้ปลาหายใจและทรงตัวอยู่ได้ แต่สำหรับพวกมันที่ต้องอาศัยในทะเลลึก การไม่มีกระเพาะปลา กลับเป็นประโยชน์

เวลาเข้าหาอาหาร พวกมันจะใช้การดูดอาหารเข้าไป และกินอาหารประเภทสัตว์มีเปลือกต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากในร่องลึก

ศ. เจมีสัน ระบุว่า การค้นพบปลาน้ำลึก ที่อยู่ลึกยิ่งกว่าปลาที่พบในร่องน้ำมารีอานานั้น อาจเป็นผลมาจากการที่น้ำทะเลในร่องลึกอิซุ-โอกาซาวาระ มีความอุ่นมากกว่า

"เราคาดการณ์ว่า ที่ร่องลึกนี้จะมีปลาน้ำลึก และคาดว่าจะต้องมีสเนลฟิช" เขากล่าว

"ผมไม่ค่อยพอใจเวลาคนบอกว่า เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับทะเลน้ำลึก จริง ๆ เรารู้ สถานการณ์มันเปลี่ยนไปมาก"

ศาสตราจารย์เจมีสัน เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์สำรวจน้ำลึก มินเดรู-ยูดับเบิลยูเอ โดยการสำรวจครั้งนี้ พวกเขาทำงานร่วมกับทีมจากคณะวิทยาศาสตร์ทางทะเลและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยโตเกียว และได้สำรวจร่องลึกริวคิวอีกด้วย

สำหรับ ศ. เจมีสัน นั้น เกิดในสกอตแลนด์ และมีผลงานมากมาย ไม่เพียงค้นพบปลาน้ำลึกที่สุดในมหาสมุทรโลก แต่ยังค้นพบปลาหมึก ปลาหมึกยักษ์ และแมงกะพรุน ที่อยู่ลึกที่สุดในโลกอีกด้วย


https://www.bbc.com/thai/articles/czdj4kxk92qo


******************************************************************************************************


อ่าวมาหยา: ฉลามครีบดำที่เริ่มหายไป พร้อมการกลับมาของนักท่องเที่ยว


นักท่องเที่ยวมองดูลูกฉลามครีบดำที่เพิ่งเกิดใหม่ที่อ่าวมาหยา เมื่อ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา
ที่มาของภาพ,JORGE SILVA/REUTERS


แต่ละวัน จะมีปลาฉลามครีบดำเวียนว่ายอยู่บริเวณหน้าหาดอ่าวมาหยา วันละ 40 ตัว ห่างออกไปไม่ไกล มีนักท่องเที่ยวราว 4,000 คน กำลังดื่มด่ำกับหาดทรายขาว ล้อมรอบด้วยผาสูงตระหง่าน

ฉลามครีบดำกลับมาเพิ่มจำนวนมากขึ้น หลังพวกมันถูกขับไล่ด้วยคลื่นนักท่องเที่ยวและเรือท่องเที่ยวที่เข้ามาจอดในอ่าว เพื่อมาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันโด่งจากการเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง "เดอะบีช"

ภาพฝูงฉลามครีบดำที่กลับมาวนเวียนในอ่าวมาหยาเพิ่มขึ้น เกิดขึ้นหลังจากการท่องเที่ยวถูกระงับ ประกอบกับสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 และคำสั่งปิดอ่าวเพื่อนฟื้นฟูธรรมชาติ ระหว่างปี 2561-2565

ต่อมาเมื่อปีที่แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยอนุญาตให้เปิดอ่าวเพื่อการท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่ตอนนี้นักอนุรักษ์บอกว่า จำนวนของฉลามครีบดำเริ่มกลับมาลดน้อยลงอีก

นี่คือความท้าทายอีกครั้งของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอ่าวมาหยา ว่า จะสร้างสมดุลระหว่างการรักษาระบบนิเวศ และการคงไว้ซึ่งการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นที่พึ่งพาการท่องเที่ยว ได้อย่างไร

"เราจะไม่พูดเรื่องการปิดในทุก ๆ ที่ท่องเที่ยว หรือการลดจำนวนการท่องเที่ยว แต่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องจัดการเรื่องนี้ให้ฉลาดขึ้น" ดร.เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุ


แหล่งอนุบาลลูกฉลาม

อ่าวมาหยา เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะพีพีเลในทะเลอันดามัน ทะเลฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

เมธาวี จึงเจริญดี ผู้จัดการโครงการ Maya Shark Watch project กล่าวว่า การระงับการท่องเที่ยวบนเกาะแห่งนี้ชั่วคราว ทำให้อ่าวมาหยากลับมาทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลฉลามอีกครั้ง

เมธาวีและนักวิจัยในโครงการ ได้ใช้กล้องถ่ายภาพใต้น้ำและโดรน เพื่อนับจำนวนฉลาม คอยสังเกตพฤติกรรมของพวกมัน รวมทั้งพื้นที่ที่ฉลามเลี้ยงดูลูกฉลาม ตลอดจนพฤติกรรมการผสมพันธุ์

ระหว่างที่พวกเขาเริ่มทำการศึกษานำร่องในเดือน พ.ย. 2564 กระทั่งถึงสิ้นปี 2565 พวกเขาสังเกตเห็นว่า จำนวนฉลามในอ่าวมาหยาเริ่มลดลง พร้อม ๆ กับการกลับมาของนักท่องเที่ยว

"ตัวเลขจำนวนฉลามครีบดำสูงสุดที่เรานับได้ มีถึง 161 ตัว ในเดือน พ.ย. 2564" ผู้จัดการโครงการ Maya Shark Watch project ระบุกับรอยเตอร์

แต่ในเดือน พ.ย. 2565 หรือผ่านไป 1 ปี นักวิจัยได้ใช้เทคนิคเดียวกันในการนับจำนวนฉลาม พวกเขาพบว่าจำนวนฉลามนั้นลดลง

"เรานับได้ 20-40 ตัวต่อวัน และนั่นเป็นจำนวนที่ลดลง" เมธาวี กล่าว

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า ฉลามครีบดำ ซึ่งถูกตั้งชื่อจากกายภาพของฉลามที่มีครีบและหางสีดำ มีเส้นทางการว่ายน้ำอยู่ในบริเวณทะเลอันดามันและภูมิภาคเขตร้อนอื่น ๆ สถานการณ์ของฉลามครีบดำ มีจำนวนลดลงจากการทำประมงเกินขนาด

สำหรับฉลามครีบดำในทะเลรอบหมู่เกาะพีพีนั้น เมธาวีบอกว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้จำนวนฉลามลดลง เช่น รูปแบบการว่ายเคลื่อนฝูงตามฤดูกาลและกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การประมง

ภาครัฐและนักอนุรักษ์ พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวลงว่ายน้ำในอ่าว เพราะเป็นแหล่งอาศัยของลูกฉลาม พวกมันมักจะอาศัยอยู่บริเวณหาดตื้นและแนวปะการังเพื่อหลบหลีกการถูกกินจากฉลามที่โตเต็มวัย

"พวกเราหวังว่าการจำกัดกิจกรรมการท่องเที่ยวในอ่าวจะช่วยบรรเทาการรบกวนฉลาม พวกเราทำวิจัยด้วยความหวังว่า เราจะพบวิธีการจัดการที่ดีที่สุด ทั้งสำหรับการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมให้อยู่คู่กันได้" เมธาวี ระบุ


เม็ดเงินการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย

ก่อนการเกิดโควิด-19 มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี

ในปีนี้ ประเทศไทยหวังว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 30 ล้านคน

สำหรับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจากปี 2561 ที่ทำเงินได้ 683.8 ล้านบาท โดยในปี 2562 อุทยานฯ เก็บรายได้จากการท่องเที่ยวได้เพียง 373.6 ล้านบาท เนื่องจากการการปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ

ยิ่งโรคระบาดเกิดขึ้นทั่วโลก ก็ยิ่งซ้ำเติมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก

ทางการไทยกลับมาเปิดอ่าวมาหยาเพื่อการท่องเที่ยวอีกครั้ง เมื่อเดือน ม.ค. 2565 หลังจากปิดไป 4 ปี ด้วยแรงกดดันส่วนหนึ่งจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยว จึงค่อย ๆ ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ยังมีมาตรการจำกัดการเข้าไปท่องเที่ยวบริเวณอ่าวมาหยา ได้แก่ เรือนักท่องเที่ยวต้องเทียบท่าอีกฝั่งหนึ่งของเกาะ จากเดิมที่จอดบริเวณหน้าหาด

นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไปยังอีกฝั่งของหาด โดยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 375 คนต่อชั่วโมง และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้ เฉพาะบริเวณชายหาดที่น้ำสูงแค่เข่า

"หากคุณสามารถสร้างภาพจำของอ่าวมาหยาว่าเป็นที่เที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติขึ้นมาได้ ผมคิดว่า เราจะสามารถทำให้เกิดการท่องเที่ยวแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน และเราทุกคนก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกันในภาพรวม" ดร.เพชร กล่าว

นักท่องเที่ยวที่จะมาอ่าวมาหยา ต้องลงเรือที่ท่าเรือจุดใหม่ที่สร้างอยู่ในฝั่งของอ่าวโละซะมะ และต้องเดินเท้าทะลุมาฝั่งอ่าวมาหยา (26 ก.พ. 2566)


https://www.bbc.com/thai/articles/cp3jjd734mxo

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:43


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger