เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 24-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แต่ยังคงมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน
อุณหภูมิต่ำสุด 25-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 23 - 24 พ.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวันและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 25 - 29 พ.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 27 ? 29 พ.ค. 66 มีหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางและทะเลจีนใต้ตอนกลางจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศลาวและกัมพูชา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบาง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออก

สำหรับในช่วงวันที่ 24 - 26 พ.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 29 พ.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม และขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมที่จะเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 26 ? 29 พ.ค. 68






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 24-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


วาฬสีน้ำเงิน สัตว์ป่าสงวนล่าสุดของไทย เคยพบเพียง 3 ครั้งในอันดามัน


วาฬสีน้ำเงิน
ภาพจาก WWF


รู้จัก "วาฬสีน้ำเงิน" สัตว์ใหญ่ที่สุดในโลก หลัง ครม.อนุมัติให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ชนิดล่าสุด อพยพและมีถิ่นอาศัยทั่วโลก ปัจจุบันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ไทยเคยพบเพียง 3 ครั้งเท่านั้นในทะเลอันดามัน

วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาลหลัง "น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน (ฉบับที่?) พ.ศ. ? โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ "วาฬสีน้ำเงิน" (Balaenptera musculus) เป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม

ก่อนจะเสนอเป็นสัตว์ป่าสงวน วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าควบคุม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องด้วยในอดีตถูกล่าจับเป็นจำนวนมากเพื่อนำเนื้อและไขมันมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ขณะที่แหล่งอาหารลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเป็นกรดในทะเลจึงส่งผลต่อการสืบพันธุ์ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับให้เป็นสัตว์ป่าสงวนแล้ว วาฬสีน้ำเงินจะได้รับการอนุรักษ์และดูแลอย่างเข้มงวดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ต่อไป


รู้จักวาฬสีน้ำเงินพี่ใหญ่แห่งท้องทะเล

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ประเทศไทยจะเพิ่มวาฬสีน้ำเงินในบัญชีสัตว์ป่าสงวน เนื่องจากเมื่อปี 2561 บัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN Red List) สถาบันหลักที่มีอำนาจในการระบุฐานะและสถานภาพต่าง ๆ ของสปีชีส์ได้กำหนดสถานภาพให้เจ้ายักษ์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species, EN)

แต่สิ่งที่หลายคนสงสัยคือวาฬสีน้ำเงินมีถิ่นอาศัยอยู่ที่ไทยหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงถูกเพิ่มในบัญชีสัตว์ป่าสงวน วาฬสีน้ำเงินมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศอาศัยและมีการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล ทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย รวมถึงมหาสมุทรแอนตาร์กติก ด้วย

สำหรับทะเลประเทศไทย ข้อมูลจาก ระบบรับแจ้งรายงานการพบสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า เคยพบวาฬสีน้ำเงินเพียง 3 ครั้งเท่านั้น ซึ่งเป็นบริเวณฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมด โดยพบครั้งแรกที่หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เมื่อปี 2550 ครั้งต่อมาพบเกยตื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เมื่อปี 2556 และครั้งล่าสุดพบที่หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา เมื่อปี 2560

วาฬสีน้ำเงินจึงมีสถานะเป็นทรัพยากรทางทะเลร่วมกันของระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยปัจจุบันมีประชากรโตเต็มวัยประมาณ 5,000-15,000 ตัวทั่วโลก

วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีอายุยืนยาว 80-90 ปี ตัวโตเต็มที่อาจมียาวได้ถึง 29 เมตร หนัก 72-135 ตัน และอาจหนักสุดถึง 180 ตัน หรือ 180,000 กิโลกรัม เลยทีเดียว ซึ่งตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

วาฬสีน้ำเงินตัวเมียจะมีระยะเวลาตั้งท้องนาน 10-12 เดือน และออกลูกครั้งละ 1 ตัว โดยจะตกลูก (คลอดลูก) ทุก 2-3 ปี ในช่วงฤดูหนาว ลูกวาฬที่แรกเกิดจะมีขนาดยาว 7-8 เมตร หย่านมเมื่ออายุ 8 เดือน และมีวัยเจริญพันธุ์ที่อายุ 8-10 ปี

เจ้าสัตว์ทะเลตัวใหญ่นี้มีส่วนหัวสีน้ำเงิน ลำตัวด้านหลังสีน้ำเงินอมเทาโดยส่วนท้องสีจางกว่าเล็กน้อย และด้านข้างมีลายสีน้ำเงินหรือเทาอ่อนมีลักษณะเป็นดวง ๆ จึงได้ชื่อว่า วาฬสีน้ำเงิน

ลำตัวของวาฬสีน้ำเงินมีลักษณะเพรียวยาว ส่วนหัวกว้างคล้ายตัวยู มีสันกลางหัว 1 สัน และช่องหายใจขนาดใหญ่ 2 รู เมื่อหายใจวาฬสีน้ำเงินจะโผล่ส่วนหัวและช่องหายใจขึ้นมาเหนือผิวน้ำมากกว่าวาฬชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้มันยังมีซี่กรอง 260-400 คู่ แต่ละซี่ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร ลักษณะของซี่กรองค่อนข้างหยาบ มีร่องใต้คาง 60-88 ร่องยาวเกือบถึงสะดือ ครีบหลังมีขนาดเล็กอาจมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมหรือลาดเอียง ปลายครีบแหลมหรือกลมมน

ฐานครีบหลังตั้งอยู่ค่อนไปทางหาง ครีบข้างเพรียวยาว ปลายครีบแหลม และมีสีอ่อนกว่าส่วนอื่นของครีบ มีความยาวได้ถึง 15% ของความยาวลำตัว ครีบหางกว้างประมาณ 1 ส่วน 4 ของความยาวลำตัว มีร่องกึ่งกลางระหว่างแพนหาง

แม้เป็นสัตว์ที่ใหญ่สุดในโลก แต่อาหารของวาฬสีน้ำเงินคือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก เช่น เคยสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยมันจะอ้าปากเพื่อขยายร่องใต้คางให้ใหญ่ขึ้นและพุ่งเข้าหาเหยื่อโดยตะแคงตัวหรือหงายท้อง วาฬสีน้ำเงินจะกินอาหารทั้งผิวน้ำและที่ระดับความลึกถึง 300 เมตร

วาฬสีน้ำเงินสามารถดำน้ำได้นานถึง 36 นาที ว่ายน้ำด้วยความเร็ว 3-6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เเละเร็วสุดที่ 7-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้พวกมันยังใช้เสียงอินฟราโซนิค (Infra Sonic) ที่ความถี่ 17-20 เฮิร์ตซ์ ในการส่งสัญญาณสื่อสารในระยะไกล ซึ่งความถี่ต่ำเกินกว่ามนุษย์จะได้ยิน


https://www.prachachat.net/d-life/news-1300138

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 24-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


รู้จัก "วาฬสีน้ำเงิน" หลัง ครม. เห็นชอบบรรจุบัญชีสัตว์ป่าสงวนไทย

ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดให้ "วาฬสีน้ำเงิน" เป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย เพื่อการอนุรักษ์เข้มงวดไม่ให้สูญพันธุ์ ชี้ระดับโลกขึ้นบัญชีใกล้สูญพันธุ์ ส่วนไทยเคยพบตัว 3 ครั้งในอดีตพบมีการล่า



วันนี้ (23 พ.ค.2566) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน (ฉบับที่...) พ.ศ...สาระสำคัญเป็นการกำหนดให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenptera musculus) เป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม

พร้อมกับอนุมัติให้รวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับร่าง พ.ร.ฎ. ที่ ครม.ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2565 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดให้ นกชนหิน หรือ นกหิน (Buceros vigil หรือ Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน

หลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้ดำเนินการตามขึ้นตอน เพื่อรวม พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับเป็นกฎหมายฉบับเดียวต่อไป

การกำหนดให้ทั้ง วาฬสีน้ำเงิน และ นกชนหินหรือนกหิน เป็นสัตว์ป่าสงวนนี้ เป็น การดำเนินการตามขั้นตอนของมาตรา 6 วรรค 2 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว่าเห็นว่าสัตว์ป่าชนิดใดสมควรกำหนดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม จากที่บัญญัติไว้ในท้าย พ.ร.บ.ฯ ให้ออกเป็น พ.ร.ฎ.

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ก่อนจะเสนอเป็นสัตว์ป่าสงวน วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าควบคุม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ

ในประเทศไทยเองมีข้อมูลการพบเห็นวาฬสีน้ำเงิน เฉพาะทะเลฝั่งอันดามันเพียง 3 ครั้ง แต่เนื่องจากในอดีตถูกล่าจับเป็นจำนวนมาก เพื่อนำเนื้อและไขมันมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ขณะที่แหล่งอาหารที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเป็นกรดในทะเล ส่งผลต่อการสืบพันธุ์

นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จึงได้ขึ้นบัญชีให้วาฬสีน้ำเงิน มีสถานะเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species : EN) หรืออยู่ในบัญชี IUCN Red List ซึ่งประเทศไทยก็ได้ขึ้นบัญชีวาฬสีน้ำเงินเป็นชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน (Thailand Red Data)

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับให้เป็นสัตว์ป่าสงวนแล้วทั้งวาฬสีน้ำเงิน และ นกชนหินหรือนกหิน จะได้รับการอนุรักษ์และดูแลอย่างเข้มงวดตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เช่นเดียวกับสัตว์ป่าสงวน แนบท้าย พ.ร.บ.ฯ ที่ปัจจุบันมี 4 จำพวก 19 ชนิด เช่น กระซู่ กวางผา นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกกระเรียน เต่ามะเฟือง ปลาฉลามวาฬ


รู้จักวาฬสีน้ำเงิน วาฬใหญ่ที่สุดในโลก

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่า วาฬสีน้ำเงิน เป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสัตว์ทะเลหายาก และใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ คาดทั่วโลกมีประชากร 5,000-15,000 ตัว

วาฬสีน้ำเงิน ส่วนหัวมีสีน้ำเงินสม่ำเสมอ ลำตัวด้านหลังมีสีน้ำเงินอมเทา ส่วนท้องสีจางกว่าเล็กน้อย ด้านหลังและด้านข้างมีลายสีน้ำเงินหรือเทาอ่อนมีลักษณะเป็นดวงๆ เหมือนรอยด่าง ลำตัวเพรียวยาว ส่วนหัวกว้างคล้ายตัวยู (U-shaped)

เมื่อมองจากด้านบน มีสันกลางหัว 1 สัน มีช่องหายใจขนาดใหญ่ 2 รู มีซี่กรอง 260-400 คู่ แต่ละซี่ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร ลักษณะของซี่กรองค่อนข้างหยาบ มีร่องใต้คาง 60 -88 ร่อง ยาวเกือบถึงสะดือ

ครีบหลังมีขนาดเล็กอาจมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมหรือลาดเอียง ปลายครีบแหลมหรือกลมมน ฐานครีบหลังตั้งอยู่ค่อนไปทางหาง คอดหางหนา ครีบข้างเพรียวยาว ปลายครีบแหลม และมีสีอ่อนกว่าส่วนอื่นของครีบ มีความยาวได้ถึงร้อยละ 15 ของความยาวลำตัว ครีบหางกว้างประมาณ 1 ส่วน 4 ของความยาวลำตัว มีร่องกึ่งกลางระหว่างแพนหาง

"ขนาดโตเต็มที่มีความยาว 29 เมตร น้ำหนัก 72-135 ตัน หนักที่สุด 180 ตัน ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ลูกแรกเกิดยาว 7-8 เมตร อายุยืน 80-90 ปี"

วาฬสีน้ำเงินสามารถดำน้ำได้นานถึง 36 นาที ว่ายน้ำ 3-6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถว่ายน้ำได้เร็วถึง 7?20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อมีสิ่งรบกวน จะใช้เสียงในการส่งสัญญาณสื่อสารกันในระยะทางไกล เป็นเสียงแบบอินฟราโซนิค (Infra Sonic) 17 ?20 เฮิร์ตซ์ ซึ่งต่ำเกินไปสำหรับมนุษย์ที่จะได้ยิน วาฬสีน้ำเงินจะโผล่ส่วนหัว และช่องหายใจเหนือผิวน้ำมากกว่าวาฬชนิดอื่นๆ

ในทะเลไทยเคยพบวาฬสีน้ำเงินเพียง 3 ครั้ง พบเห็นบริเวณฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมด โดยพบครั้งแรก เมื่อปี 2550 ที่หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ต่อมาพบเข้ามาเกยตื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เมื่อปี 2556 ล่าสุดเมื่อปี 2560 พบที่หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา


https://www.thaipbs.or.th/news/content/328112

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 24-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


กรม ทช. ยกระดับการสำรวจ ป้องกันการสูญพันธ์ุ "วาฬบรูด้า"



กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้ ความนิยมล่องเรือดูวาฬบรูด้า เสี่ยงอันตราย รบกวนพฤติกรรมธรรมชาติ หวั่นกระทบถึงขั้นสูญพันธุ์ เตรียมเสนอมาตรการคุ้มครอง จากกิจกรรมท่องเที่ยว พร้อมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมอนุรักษ์จากทุกภาคส่วน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรม ทช.)ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทย เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศท้องทะเล และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้พบเห็น พร้อมทั้งช่วยยกระดับการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ในการนี้ กรม ทช.ได้ดำเนินการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ พบสัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ โลมาและวาฬ 27 ชนิด พะยูน 1 ชนิด และเต่าทะเล 5 ชนิด

ทั้งนี้ ในบริเวณชายฝั่งทะเล จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ พบสัตว์ทะเลหายาก 7 ชนิด ได้แก่ วาฬบรูด้า โลมาอิรวดี โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาหลังโหนก เต่าตนุ เต่ากระ และปลาฉลามวาฬ จากการสำรวจเชิงลึกพบว่า โลมาอิรวดี จะพบในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม โลมาหัวบาตรหลังเรียบ จะพบมากในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปลาฉลามวาฬ จะพบบ่อยในพื้นที่เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ส่วน "วาฬบรูด้า" เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากชนิดที่พบแพร่กระจายตลอดแนวชายฝั่งของอ่าวไทย โดยเฉพะชายฝั่งทะเลจ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดี กรม ทช. รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวหลังจากนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ชายฝั่งทะเล สมุทรสาคร ว่า การนิยมล่องเรือดูวาฬบรูด้าในบริเวณ ?อ่าวไทยตัว ก? มีความเสี่ยงเนื่องจาก "วาฬบรูด้า" เป็นสัตว์ที่ไม่ชอบการถูกรบกวน แต่จากการที่มีเรือนำเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมเป็นประจำทุกวัน ทำให้วาฬเกิดความคุ้นเคย หลายครั้งพบว่าเรือนำเที่ยวเข้าไปในระยะที่ใกล้จนอาจเป็นอันตราย รบกวนพฤติกรรมของวาฬในธรรมชาติ หากไม่รีบยับยั้งการกระทำแบบนี้ อนาคตวาฬบรูด้าอาจสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย

ที่ผ่านมา กรม ทช. ศึกษารวบรวมข้อมูลสถานการณ์ สภาพปัญหาและผลกระทบจากการท่องเที่ยว ชมวาฬบรูด้า พร้อมทั้งยื่นเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เพื่อให้ออกเป็นประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยว พ.ศ. ?.. ต่อไป

นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และติดตามการรายงานจากสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินแนวโน้มจำนวนประชากรและจัดทำฐานข้อมูลสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย เพื่อเป็นการยกระดับความสำคัญของสัตว์ทะเลหายากบางชนิดให้เป็นสัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครอง

รวมถึงดำเนินการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น เพื่อรักษาฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ทะเลหายากก่อนปล่อยคืนสู่ท้องทะเล ตลอดจนการชันสูตรสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเพื่อหาสาเหตุ และแนวทางป้องกันเพื่อลดการสูญเสีย พร้อมทั้งดำเนินการสร้างเครือข่าย และอบรมเครือข่ายในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเบื้องต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นและลดอัตราการเสียชีวิตได้

ปัจจุบัน มีการดำเนินงานทั้งหมดนี้ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่พี่น้องประชาชน ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่ในระบบนิเวศอย่างสมดุล และยั่งยืน

ที่ผ่านมา กรม ทช. ได้สนับสนุน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นมรดกของประเทศไทย ในโอกาสนี้ รรท.อทช. ฝากถึงประชาชนในเรื่องของการท่องเที่ยวทะเลหรือเที่ยวชมวาฬบรูด้า ว่า "ควรเก็บภาพเป็นความทรงจำ มิใช่เก็บเอาทรัพยากรทางทะเล? พร้อมทั้งขอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้คำนึงถึงธรรมชาติเป็นหลัก รักเสมือนคนในครอบครัว และช่วยปฏิบัติตามข้อระเบียบกรมฯอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ" นายอภิชัย กล่าวทิ้งท้าย


https://www.nationtv.tv/gogreen/378916872

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:55


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger