#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลงเป็นกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะลมตะวันตกในระดับบนยังคงพัดพาความหนาวเย็นจากประเทศเมียนมาเข้าปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือมีอากาศหนาวเย็นต่อไป โดยยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย และคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 11 - 13 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะอ่อนกำลังลง เป็นกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อยและคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร หลังจากนั้น ในช่วงวันที่ 14 - 16 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนอีกละลอกหนึ่งจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 14 - 16 ธ.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงด้วย ในช่วงวันที่ 11 - 13 ธ.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ขึ้นวางไข่กันรัวๆ 2 วัน 3 รัง แม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ที่พังงารวมทั้งฤดูกาล 10 รังแล้ว ศูนย์ข่าวภูเก็ต - มากันรัวๆ! 2 วัน 3 รัง แม่เต่ามะเฟืองทยอยขึ้นวางไข่บริเวณชายหาดในพื้นที่ จ.พังงา ล่าสุด ฤดูกาลนี้พบแม่เต่าขึ้นมาวางไข่แล้ว 10 รัง สำหรับสถานการณ์การขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่ามะเฟืองในพื้นที่อันดามัน พบว่า ฤดูกาลนี้มีสถิติการขึ้นมาวางไข่ที่ดีมาก ตั้งแต่ต้นฤดูกาลจนถึงขณะนี้พบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่แล้ว 10 รัง ซึ่งเมื่อเทียบกับสถิติของฤดูกาลที่ผ่านมา พบว่า ปีนี้มีแนวโน้มการขึ้นมาวางไข่มากกว่า เนื่องจากตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา มีแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ 13 รัง แต่ฤดูกาลนี้พบว่าขึ้นวางไข่แล้ว 10 รัง ล่าสุด ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าแม่เต่ามะเฟืองทยอยขึ้นมาวางไข่มากถึง 3 รัง ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่แม่เต่า 3 ตัว ขึ้นมาวางไข่ในเวลาใกล้เคียงกัน โดยรังแรกพบร่องรอยการขึ้นวางไข่วันที่ 8 ธันวาคม เวลา 11.00 น. กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่ 6 (พังงา) และอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ รับแจ้งจาก นายดุสิต อุปถัมภ์ ชาวบางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พบร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณหน้าเดอะบีชรีสอร์ต หาดคึกคัก ม.4 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จึงเร่งเข้าพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบ พบว่า ตำแหน่งอยู่ห่างจากคอกกั้นหลุมไข่เต่ามะเฟือง ศูนย์เฝ้าระวังฯ หาดคึกคัก รังที่ 7 วางไข่เมื่อ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมาไปทางทิศใต้ประมาณ 2.1 กม. แต่ไม่พบไข่ รังที่ 2 สำนักงาน ทช.ที่ 6 (พังงา) รับแจ้งจากนายสมยศ เสาเวียง ชาวบ้านท่านุ่น ว่า พบเต่ามะเฟืองกำลังขึ้นมาวางไข่ บริเวณชายหาดบางขวัญ ม.7 ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เวลา 02.00 น. วันที่ 9 ธ.ค.จึงเข้าไปเฝ้าระวังดูแลจนแม่เต่ามะเฟืองวางไข่เสร็จเรียบร้อย และคลานกลับลงสู่ทะเล จากนั้นจึงตรวจวัดขนาดความกว้างของรอยพายคู่หน้าได้ 200 ซม. ขนาดความกว้างช่วงอก 100 ซม. และขุดค้นหาไข่เต่ามะเฟือง จนพบที่ระดับความลึก 65 ซม. ตรวจสอบตำแหน่งที่วางไข่ พบว่าอยู่ในแนวที่น้ำทะเลมีโอกาสท่วมถึง จึงขุดเพื่อย้ายรัง พบมีไข่ดี 116 ฟอง ไข่ลม 27ฟอง รวมทั้งสิ้น 143 ฟอง และนำไปฝังรวมไว้ที่คอกเต่าของศูนย์เฝ้าระวังฯ หาดบางขวัญ (รังที่ 1) พร้อมติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เพื่อติดตามพัฒนาการ และเฝ้าดูแลให้เป็นไปตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีอัตราการฟักสูงต่อไป รังที่ 3 ทางสำนักงาน ทช.ที่ 6 (พังงา) รับแจ้งจาก นายสมบูรณ์ แก้วงาม ชาวบ้านนอกนา ว่า พบร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณชายหาดเกาะคอเขา บ้านนอกนา ม.2 ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จึงรีบเดินทางไปตรวจสอบ พบเป็นร่องรอยของเต่ามะเฟือง ตรวจวัดขนาดของรอยพายคู่หน้ามีความกว้าง 180 ซม. ความกว้างช่วงอก 90 ซม. จากนั้นขุดค้นหาไข่เต่ามะเฟือง จนพบที่ระดับความลึก 65 ซม. ไข่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ซม. เมื่อตรวจสอบตำแหน่งที่วางไข่ พบอยู่ในชั้นทรายละเอียดมาก ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการฟักไข่เต่า ซึ่งจะได้ประสานงานนักวิชาการศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบน มาให้คำแนะนำในการดูแล จากนั้นจึงกลบหลุม กั้นคอกเพื่อป้องกันอันตราย และร่วมกับชุมชนในพื้นที่เฝ้าระวังดูแลให้เป็นไปตามหลักวิชาการ เพื่อให้ลูกเต่ามีอัตรารอดต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับการวางไข่ของเต่ามะเฟืองในฤดูกาลนี้ พบว่า มีแล้ว 10 รัง แต่พบไข่เต่า จำนวน 9 รัง เนื่องจากรังที่ 8 ไม่พบไข่เต่า และคาดว่าไข่เต่ามะเฟืองที่แม่เต่าขึ้นมาวางไข่รังแรกจะฟักออกมาเป็นตัวในช่วงระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ ซึ่งไข่เต่าจะใช้เวลาฟักออกมาเป็นตัวประมาณ 57 วัน ซึ่งแม่เต่าขึ้นมาวางไข่ที่หาดบางขวัญ ต.โคกกลอย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา https://mgronline.com/south/detail/9630000126467
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์
เตรียมใจไว้เลย โลกเรายังร้อนได้มากกว่านี้อีก ปี 2020 เป็น 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 170 ปี แต่นี่ยังไม่ถือว่าร้อนที่สุด เพราะจากนี้ไปโลกจะร้อนขึ้นอีกอย่างน้อยปีละ 1 องศาเซลเซียส เร็วๆ นี้มีรายงานเกี่ยวกับความร้อนของโลกออกมาเป็นระยะ ล่าสุดโครงการสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติเผยว่า ช่วงสิ้นสุดของศตวรรษนี้ หรือในปี 2100 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส แม้ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช่วงที่ Covid-19 ระบาดจะลดลงก็ตาม และยังเตือนอีกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงช่วงล็อกดาวน์จะช่วยโลกร้อนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเราไม่พร้อมใจกันลดใช้พลังงานจากฟอสซิลเป็นวงกว้างและรวดเร็วที่สุด โดยผู้เชี่ยวชาญยังห่วงอีกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะหวนกลับมาอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปี 2021 หรือจะเป็นรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่เตือนว่าโลกกำลังอยู่ในช่วง ?หายนะของสภาพภูมิอากาศ? และปีนี้เป็น 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาตั้งแต่ปี 1850 หรือเมื่อ 170 ปีที่แล้ว รายงานเดียวกันนี้ยังบอกอีกว่า อุณหภูมิทั่วโลกในแต่ละปีจะร้อนขึ้นอีกอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (ช่วงปี 1850-1900) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ในเวลาใกล้เคียงกันกรมอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษเผยข้อมูลว่า หากยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พื้นที่ส่วนใหญ่ของอังกฤษจะไม่มีหิมะภายในปี 2100 หรืออีกเพียง 80 ปีข้างหน้าเท่านั้น และทางตอนใต้ของประเทศจะไม่เจอกับอุณหภูมิ 0องศาเซลเซียสหรือติดลบภายในปี 2040 จากคำเตือนข้างต้นจะเห็นว่าตัวแปรสำคัญของภาวะโลกร้อนก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด (75%) และยังเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการสะสมพลังงานความร้อนในชั้นบรรยากาศมากที่สุดอีกด้วย นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือช่วง 170 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการขับรถยนต์ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า การทำไร่ หรือการเลี้ยงปศุสัตว์ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน สูงกว่าในยุคไดโนเสาร์สูญพันธุ์ หรือเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว ในปี 1850 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ 280 ส่วนในล้านส่วน แต่ข้อมูลล่าสุดจากองค์การนาซา (ต.ค.2020) พบว่าเพิ่มขึ้นมาที่ 415 ส่วนในล้านส่วน ถ้าถามว่า 415 ส่วนในล้านส่วนร้ายแรงแค่ไหน ตอบได้เลยว่า ขณะนี้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแล้วอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียส เพียง 1 องศาเซลเซียสเรายังรู้สึกว่าร้อนจนแทบทนไม่ไหว แต่นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นหากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิจะสูงขึ้นถึง 2-3 องศาเซลเซียส และตอนนี้แม้จะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ก็พอมองเห็นสัญญาณเตือนที่โลกส่งมาให้มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ไฟป่าเกิดถี่ขึ้น พายุเฮอร์ริเคนและไต้ฝุ่นรุนแรงขึ้น รวมทั้งคลื่นความร้อนที่เล่นงานหลายประเทศ ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นคือระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบันบวกกับกิจกรรมที่ทำลายระบบนิเวศของมนุษย์กำลังผลักให้โลกเข้าสู่ภาวะสภาพภูมิอากาศอบอุ่น (Warmhouse) และ สภาวะโลกร้อนในระดับวิกฤต (Hothouse) ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 34 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งในยุคนั้นร้อนจนไม่มีน้ำแข็งขั้วโลก และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่าในปัจจุบันราว 9-14 องศาเซลเซียส หรือที่ใกล้กว่านั้นคือ ภายในปี 2100 หรืออีก 80 ปีข้างหน้า ถ้ามนุษย์ยังไม่หยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นอีก 4.7 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างกะทันหันนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลกันว่าทั้งโลกและมนุษย์จะปรับตัวไม่ทัน เพราะเมื่อ 250 ล้านปีที่แล้วที่เกิดเหตุการณ์ที่นำมาสู่สูญพันธุ์ครั้งใหญ่นั้น ต้องใช้เวลานับพันนับหมื่นปีกว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นถึงจุดพีค บางรายงานบอกว่าใช้เวลาถึง 150,000 ปี หรือเมื่อ 56 ล้านปีก่อนที่โลกประสบกับภาวะโลกร้อนครั้งใหญ่ ก็ยังต้องใช้เวลาราว 10,000-20,000 ปีอุณหภูมิจึงจะเพิ่มสูงสุด ทว่าภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ใช้เวลาเกิดขึ้นเพียง 200 ปีเท่านั้น เมื่อหายนะมาถึงมนุษย์จะได้รับผลกระทบที่เกิดจากน้ำมือของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รายงานของสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) พบว่าประชากรโลกมากถึง 1,200 ล้านคนใน 31 ประเทศจะต้องย้ายที่อยู่ภายใน 30 ปีข้างหน้าอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและภาวะโลกร้อน ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งจาก Climate Impact Lab พบว่าหากยังไม่หยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงจะแซงหน้าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคติดต่อทั้งหมดรวมกัน ขณะที่แม้ว่าหลายประเทศจะตื่นตัวแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน พยายามวางนโยบายปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหภาพยุโรป อังกฤษ แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาแบบประเทศใครประเทศมัน ทำให้ความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังมีอุปสรรคอยู่มากและอาจไม่บรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมตามข้อตกลงปารีส อย่างไรก็ดี จะผลักภาระให้ประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเพียงลำพังไม่ได้ ประเทศกำลังพัฒนาต้องเร่งดำเนินการด้วย แต่หากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องแบกรับภาระหนัก เหตุผลหนึ่งคือค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส สถาบันเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนานานาชาติ (IIED) ระบุว่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องใช้เงินถึง 93,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเพื่อให้ข้อตกลงบรรลุเป้าหมาย อีกเหตุผลคือ ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ต้องพึ่งพารายได้จากกิจการที่ต้องตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาทิ ประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นตัวการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันดับต้นๆ แต่ไม่ว่าอย่างไร เราทุกคนคงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อรักษาโลกที่สวยงามไว้ส่งต่อให้ลูกหลานในอนาคต https://www.posttoday.com/world/639981
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
ปริมาณมวลรวมสรรพสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น จะแซงหน้า ?ชีวมวล? ของสิ่งมีชีวิตทั้งโลกในสิ้นปีนี้ ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นเป็นหลัก ได้แก่ถนนสายต่าง ๆ และอาคารบ้านเรือน .... ที่มาของภาพ GETTY IMAGES ปริมาณของมวล (mass) หรือเนื้อสารของบรรดาสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สิ่งก่อสร้าง เครื่องจักร หรือผลิตภัณฑ์หลากชนิดจำนวนนับไม่ถ้วน กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะมีปริมาณสูงกว่ามวลรวมของสิ่งมีชีวิตเช่นพืชและสัตว์ทั้งโลกเป็นครั้งแรก ภายในสิ้นปี 2020 นี้ สถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มานน์ของอิสราเอล ได้คำนวณตัวเลขที่ชี้ถึงสภาพการณ์ข้างต้น และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Nature ฉบับล่าสุด โดยระบุว่ามวลรวมของสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ราว 1.1 เทระตัน (teratonne) หรือ 1.1 ล้านล้านกิโลกรัม ในแต่ละสัปดาห์ มีสิ่งที่ถูกผลิตและก่อสร้างด้วยฝีมือมนุษย์เกิดขึ้นมาเพิ่ม โดยคิดเป็นปริมาณเฉลี่ยมากกว่าน้ำหนักตัวของมนุษย์แต่ละคนบนโลกเลยทีเดียว ผลการศึกษายังพบว่า สิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากพลาสติก คอนกรีต โลหะแปรรูปหรือสสารอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุก 20 ปีอีกด้วย นับแต่ปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งแรกเป็นต้นมา มนุษย์ได้ลดปริมาณชีวมวลของพืชลงไปถึงครึ่งหนึ่ง .... ที่มาของภาพ เมื่อนำตัวเลขนี้มาเปรียบเทียบกับปริมาณ "ชีวมวล" (biomass) หรือเนื้อสารแห้งที่ไม่รวมมวลน้ำของบรรดาพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ต่าง ๆ พบว่ากิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้ชีวมวลในธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ และจะถึงจุดที่มีปริมาณต่ำกว่ามวลของสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นภายในปี 2020 หรือไม่กี่ปีหลังจากนั้น ทีมผู้วิจัยประมาณการว่า หากมนุษย์ยังคงอัตราการผลิตสิ่งต่าง ๆ เอาไว้ที่ 30 กิกะตันต่อปี หรือราว 3 หมื่นล้านตันต่อปีเช่นนี้ ในอีกสองทศวรรษข้างหน้าหรือในปี 2040 มวลรวมของสิ่งที่สร้างโดยมนุษย์จะพุ่งสูงขึ้นเป็น 3 เทระตัน หรือกว่า 3 ล้านล้านกิโลกรัม ดร. รอน ไมโล ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "ตัวเลขนี้มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ โดยชี้ถึงบทบาทนำของมนุษย์ในการสร้างและเปลี่ยนแปลงโลกรวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัว เรื่องนี้ยังเป็นสาเหตุให้เราย้อนคิดทบทวนถึงพฤติกรรมการบริโภค และมองหาวิธีสร้างสมดุลระหว่างโลกของสิ่งมีชีวิตกับมนุษยชาติด้วย" ผลการศึกษานี้นับเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่า โลกได้เข้าสู่ช่วงเวลาใหม่ทางธรณีกาล (geological age) ที่เรียกว่าสมัยแอนโทรโพซีน (Anthropocene) หรือ "สมัยแห่งมนุษย์" ซึ่งเป็นช่วงที่โลกได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของผู้คน จนปรากฏเป็นร่องรอยทางธรณีวิทยาที่พบเห็นได้ทั่วไปและจะคงอยู่ไปอีกนับล้านปี https://www.bbc.com/thai/international-55258644
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|