#1
|
||||
|
||||
รวมบทความ .... ครบรอบ 10 ปี สึนามิ
น้ำตาไหลเป็นทะเล... 1 ทศวรรษ 'สึนามิ' ฝันร้ายของคนไทยที่ไม่จาง!! 26 ธันวาคม 2547 ภัยพิบัติที่เรียกว่า "สึนามิ" ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 250,000 คน ใน 14 ประเทศ ไทยเองก็โดนคลื่นยักษ์สึนามิด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้น สร้างความสูญเสียอย่างมากมาย ชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งของ ต้นไม้ ระบบสาธารณูปโภค ทุกสิ่งอย่างหายไปในพริบตา มีเพียงสิ่งเดียวที่ยังคงเหลือ นั่นคือ ความทรงจำ ความทรงจำอันแสนเจ็บปวดรวดร้าว ที่ผู้คนซึ่งรอดชีวิต ต้องเผชิญมาจนถึงวันนี้... เวลาล่วงเลยมากว่า 10 ปี แต่ความโหดร้ายที่เกิดขึ้น กับบุคคลอันเป็นที่รัก ยังไม่เคยจางหายไป เปรียบเสมือนแผล ถ้าหากมันถูกสะกิดโดนเมื่อไหร่ ที่มันยังไม่หายดี มันจะยังเจ็บปวดเสมอ "ไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสลงพื้นที่ก่อนถึงวันครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สึนามิ ที่จังหวัดพังงา พร้อมกับกรมสุขภาพจิต โดยเราได้ไปสำรวจสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่ซากปรักหักพัง ย้อนกลับไปเมื่อวันนั้น... ผู้เขียนได้มีโอกาสลงไปทำข่าว หลังเกิดเหตุการณ์เพียงไม่กี่ชั่วโมง จะเล่าให้ฟังอย่างนี้ว่า ก่อนที่รถข่าวจะวิ่งเข้าสู่เขตประสบภัยพิบัติ ผู้เขียนทราบได้ทันที ว่าใกล้จะถึงแล้ว เนื่องจากกลิ่นที่ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นศพ เข้ามาในรถแบบไม่ทันตั้งตัว เพียงเวลาไม่ถึง 5 นาที เราก็ถึง วัดย่านยาว อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จังหวัดที่สูญเสียมากที่สุด ใน 6 จังหวัดที่โดนคลื่นยักษ์ซัด ภาพที่เห็น คือ ศพที่ถูกห่อด้วยผ้าขาว วางอยู่เรียงรายในจำนวนที่นับไม่ถ้วน ตู้คอนเทนเนอร์สำหรับเก็บศพถูกขนมาในอีกไม่นาน คุณหญิงหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สวมใส่ชุดสีขาว ทำงานอย่างสาละวน เพื่อบริหารจัดการศพ ก่อนที่จะเก็บศพไว้พิสูจน์เอกลักษณ์ ว่าผู้เสียชีวิตเหล่านั้นคือใคร ขณะที่ศพของชาวต่างชาติเอง ก็เริ่มทยอยมาลงที่วัดอย่างต่อเนื่อง เพิ่มจำนวนขึ้น เพิ่มจำนวนขึ้น อย่างไม่จบไม่สิ้น ขณะเดียวกัน พื้นที่ซึ่งถูกคลื่นสึนามิทำลายล้าง ก็มีเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ซากบ้าน ซากรถ ซากเรือ และซากศพ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ทุกคนต่างเร่งกันค้นหาผู้ประสบเหตุ ด้วยความหวัง ว่ายังมีชีวิตอยู่ หลายวันผ่านไป ปรากฏว่า มีผู้บาดเจ็บ ผู้รอดชีวิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้เสียชีวิต กลับเพิ่มมากกว่าผู้บาดเจ็บและผู้รอดชีวิต ไม่แพ้กับยอดผู้สูญหาย ที่เป็นเหมือนปริศนาคาใจจนถึงทุกวันนี้ เสียงร้องไห้ น้ำตา ความซึมเศร้า เข้ามาแทนที่ และมันคือตัวแทนของความสูญเสีย ผู้คนไม่มีที่อยู่ ไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีน้ำ อาหาร ขณะที่ความช่วยเหลือ หลั่งไหลอย่างไม่หยุดหย่อน แต่ยังไม่สามารถตอบสนองสภาพจิตใจได้ สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เมื่อทุกคนหายช็อก หายตกใจ สติเริ่มกลับมา ความช่วยเหลือถูกจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น ความหวังถึงการรอดชีวิตของบุคลอันเป็นที่รัก ก็สวนทางกันทันที หลายคนสูญเสียลูกเมีย บางคนสูญเสียพ่อแม่ หลายคนต้องกลายเป็นตัวคนเดียว ไร้ซึ่งญาติพี่น้อง 1 ชีวิตก็คน 2 ชีวิตคือคนรัก 3 ชีวิตคือครอบครัว บางรายสูญเสียไปถึง 10 คน!! จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็น 10 ปี เชื่อได้เลยว่า...ถึงวันนี้ 26 ธันวาคม 2557 ผู้เคราะห์ร้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่อยากให้วันนี้เวียนมาบรรจบ ไม่ใช่แค่ 10 ปี อีก 20 ปี หรือ 30 ปี และตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ ไม่มีใครอยากระลึกถึงเหตุการณ์อันโหดร้ายครั้งนั้น ความสูญเสีย คือ "บาดแผล" คำถาม คำพูดที่ตอกย้ำ นั่นคือ "เครื่องมือ" ที่มันมักจะกรีดลึก ลงกลางใจทุกครั้ง ที่มีคนเอื้อนเอ่ยขึ้นมา "น้ำตา" เป็นคำตอบ ไม่มีใครบอกได้ ว่า "สุขภาพจิต" ของพวกเขาเหล่านั้น ดีขึ้นหรือยัง?? หลังจากได้พูดคุยกับหลายคนที่ประสบเหตุ เราเชื่อว่า ทุกคนสุขภาพจิตดีขึ้นตามลำดับ ทุกคนสามารถประคับประคองชีวิตมาได้ จนเหตุการณ์ผ่านไป 10 ปี แม้เขาเหล่านั้นจะมีชีวิตที่เปลี่ยนไป มีบ้านหลังใหม่ มีที่อยู่ มีอาชีพที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ความเศร้า ความเสียใจ ถูกสะกิดขึ้นมาอีกครั้ง แพทย์หญิงเบญจพร ปัญยายง แพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า สภาพจิตใจของคนที่นี่ดีขึ้นมากแล้ว ทุกวันนี้ทุกคนอยู่กันได้ด้วยตัวเอง เราพยายามให้เขาปรับตัว อย่าอยู่กับตัวเอง พูดคุยกับคนรอบข้าง อย่าเปลี่ยนแปลงชีวิตมาก เวลาทุกข์ก็ไปสวดมนต์ และหาอาชีพให้ เพราะมีอาชีพ มีรายได้ การดำเนินชีวิตเขาจะปกติขึ้น แต่บางทีเราก็ต้องระวังบ้าง เพราะบางคนอาจคิดถึงบุคคลที่รัก และอาจมีความคิดอยากจะไปอยู่กับคนรัก นั่นเรียกว่าการฆ่าตัวตาย คือสิ่งที่เราปรารถนาไม่ให้เกิดขึ้นกับใครเลย ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครทำแบบนั้น อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมดีขึ้นหมดแล้ว ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะความเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่ถูกตีหัว หรือเลี้ยงลูก ก็ระแวง ก็กลัวได้เหมือนกัน ภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ทุกคนประสบกันได้ แล้วคุณล่ะ!!...เตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ความรักในสิ่งของ ต่อทรัพย์สิน หรือแม้แต่มนุษย์ คุณได้ทำ ได้ปฏิบัติอย่างดีแล้วหรือยัง?? หากคุณยังทำมันไม่เต็มที่ เริ่มตั้งแต่วินาทีนี้ สร้างเกราะให้สภาพจิตใจคนรอบข้าง แข็งแรง แข็งแกร่งไปพร้อมๆ กัน หากวันใดต้องพบเจอ เราจะได้ปรับตัว และยอมรับมันได้ง่ายขึ้น!!! จาก ................ ไทยรัฐ วันที่ 26 ธันวาคม 2557
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:15 |
#2
|
||||
|
||||
'10 ปีสึนามิ' เมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้ สูญเสียจึงไม่สูญเปล่า... วันที่ 26 ธันวาคม เวียนมาบรรจบครบรอบอีก 1 ปี...วันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ‘26 ธันวาคม 2547’ หลังคริสต์มาสเพียงวันเดียว ชายทะเลทางฝั่งอันดามันของไทย ทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และระนอง ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุด... เมื่อ 10 ปีที่แล้วคลื่นยักษ์ ‘สึนามิ’ ที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ได้โถมกระหน่ำเข้าใส่ชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามันใน 6 จังหวัดของประเทศไทย มีรายงานผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทย และต่างชาติรวมกันกว่า 5,396 คน บาดเจ็บกว่า 8,745 คน และสูญหาย 2,951 คน นอกจากนี้ ยังมีเด็ก อีกกว่า 880 คน ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า ถึงวันนี้...แม้ว่าเวลาผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่ความโศกเศร้ายังไม่จางหาย ผู้คนจากทั่วโลกที่ต้องสูญเสียคนที่รัก คนในครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้องในเหตุการณ์ครั้งนั้น ยังพากันเดินทางมาเพื่อรำลึกถึงผู้เป็นที่รักที่จากไป ขณะเดียวกันเวลาที่ผ่านไป วิธีการรับมือกับภัยธรรมชาติทั้งหลาย รวมถึงวิธีการเตือนภัย ป้องกันตัว เอาตัวรอดจากภัยพิบัติ ก็ถูกพัฒนาขึ้นไปด้วย เริ่มตั้งแต่ป้ายเตือนภัย หอสัญญาณเตือนภัย หอหลบภัย ทุ่นเตือนภัย จากระบบอนาล็อกจนเข้าสู่ยุคดิจิตอล ที่การสื่อสารไปได้ทั่วถึงและพร้อมกันทั่วโลก มนุษยชาติผู้ไม่เคยยอมแพ้ จึงได้มี ‘แอพพลิเคชั่น’ ที่ใช้เตือนภัยธรรมชาติ... ในวาระ ‘รำลึก 10 ปีสึนามิ’...‘ไทยรัฐออนไลน์’ ขอนำเสนอข้อมูลและความรู้ เกี่ยวกับระบบเตือนภัยที่ถูกพัฒนาขึ้นมาล่าสุด... ทุ่นเตือนภัย ทุ่นเตือนภัย-ทุ่นสึนามิไทย 23401...ปลายเดือนมกราคม 2557 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 21 ล้านบาท นำทุ่นลอย สำหรับเตือนภัยสึนามิ ไปติดตั้งแทนทุ่นเดิมที่เสียหาย อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร หรือประมาณ 600 ไมล์ทะเล สำหรับระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิแบบทุ่นลอย จะส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมไปยังสถานีสัญญาณภาคพื้นดินเพื่อวิเคราะห์และประเมินผล จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเตือนภัยให้กับระบบเตือนภัยสึนามิของประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ยุคนี้ต้อง ‘แอพพลิเคชั่น’ (รวมแอพฯ เตือนภัย ที่เคยแนะนำไปแล้วทาง ‘ไทยรัฐออนไลน์’) 1. QuakeFeed ใช้ง่าย บนไอโฟน-ไอแพด นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่จะแจ้งให้ผู้ใช้ได้ทราบ แอพพลิเคชั่นนี้ยังมีข้อดีที่ไม่มีโฆษณามาขึ้นกวนตา กวนใจตลอดการใช้งาน ภาพแผนที่ดูสวยงาม ใช้งานและเข้าใจได้ง่าย ทั้งยังบอกรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวโดยละเอียด ทั้งสถานที่เกิด วัน เวลา ระดับความรุนแรง เพียงคลิกเข้าไปดูข้อมูล ก็จะมีพิกัดที่เกิดแผ่นดินไหว พร้อมทั้งจุดแสดงตำแหน่งของคุณ เพื่อให้เห็นระยะห่าง นอกจากนี้ ยังมีหน้า News Feed รวบรวมข้อมูล 2. Earthquake Lite บอกครบทั้งแผ่นดินไหว-สึนามิ เวอร์ชั่น Lite เป็นแอพฯ แบบฟรี ซึ่งให้ข้อมูลได้ค่อนข้างดี โดยนอกจากรายละเอียดเกี่ยวกับแผ่นดินไหวทั่วโลก ก็ยังมีข้อมูลภัยสึนามิด้วย โดยในส่วนของข้อมูลแผ่นดินไหวก็จะบอกแบบไล่เรียงตามลำดับวัน-เวลา ขึ้นต้นด้วยขนาดความรุนแรง และรายละเอียดสถานที่ พร้อมอ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล 3. Earthquake Alert สุดฮิตบนแอนดรอยด์ แอพฯ สัญชาติอเมริกันนี้ มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1 ล้านครั้ง โดยเป็นการรวมเอาเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาแสดงผลไว้ภายในแอพฯ ดังกล่าว โดยมีการแสดงแผนที่ บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวล่าสุด มุมมองแผนที่ดาวเทียม ทำให้ผู้ใช้สามารถคลิกที่เกิดแผ่นดินไหวเพื่อดูรายละเอียด หรือเลือกแชร์ไปยังสังคมออนไลน์ หากคุณลืมจะใส่ใจกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรอบตัว แอพฯ นี้ก็จะแจ้งเตือนเพื่อให้คุณทำการอัพเดตข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังสามารถเลือกติดตามข่าวสารการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกผ่านแอพฯ นี้ 4. Geo News รายงานภัยธรรมชาติบนสมาร์ทโฟนซัมซุง เป็นสิทธิพิเศษเฉพาะผู้ใช้ กาแล็คซี่ เอส 5 ซึ่งเชื่อว่าหลายคนที่ถือกาแล็คซี่ เอส 5 ในมือ ก็อาจจะยังไม่รู้ถึงคุณสมบัติข้อนี้ ว่าในเมนูการตั้งค่า (Setting) คุณสามารถเข้าไปที่โหมด "ตัวช่วยความปลอดภัย" และเลือก "Geo News" เพื่อตรวจเช็กสถานการณ์ไฟไหม้ป่า หรือแผ่นดินไหว สำหรับในประเทศไทย (ผู้ใช้กาแล็คซี่ เอส 5 ในต่างประเทศก็จะมีสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่แตกต่างกัน เช่น ไฟไหม้ป่า หรือพายุทอร์นาโด เป็นต้น) 5. iEarthquake เป็นผลงานจากค่าย bananacoding สามารถใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอย่างแผ่นดินไหว และสึนามิได้ การแสดงผลจะบอกความรุนแรงไว้ให้พร้อม เช่น แสดงระดับการเกิดแผ่นดินไหวกี่ริกเตอร์ และถ้าเป็นกรณีรุนแรงก็จะขึ้นสีแดงให้เห็น แสดงจุดเกิดเหตุในลักษณะของแผนที่ หรือจะใช้วิธีการค้นหาด้วย keyword ก็ยังได้ ในส่วนของข้อมูลเป็นการดึงมาจากฐานข้อมูลหลัก 2 แห่ง ได้แก่ U.S.Geological Survey (USGS) และ European Mediterranean Seismological Centre (EMSC) 6. Tsunami Early Warning App แอพพลิเคชั่นนี้ จะแจ้งเตือนก่อนใคร ถ้าอยู่ในเขตที่จะเกิดสึนามิ โดย Tsunami Early Warning App จะคำนวณการเคลื่อนที่ของคลื่นสึนามิแล้วส่ง sms เตือนภัยถ้าคุณอยู่ในเขตอันตราย โดย App จะบอกข้อมูลทั้งเวลาที่จะเกิดคลื่น โดยให้ sever ของ App รู้ที่อยู่ของคุณในขณะนั้นในแต่ละหาด เพื่อได้รับข้อมูล แอพพลิเคชั่นนี้เหมาะสำหรับคนที่เดินทางในประเทศที่มีหมู่เกาะต่างๆ เช่น ไทย อะแลสกา ฮาวาย มัลดีฟส์ เม็กซิโก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น 7. NDWC ความน่าสนใจของแอพฯ นี้ อยู่ตรงที่การรายงานข้อมูลเตือนภัยพิบัติทุกรูปแบบอย่างรวดเร็ว ฉับไว ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม และแผ่นดินไหว ทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นแอพพลิเคชั่นที่จัดทำขึ้นโดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังพร้อมเป็นช่องทางในการรายงานสถานการณ์สดในทุกพื้นที่ แต่ผู้ที่จะส่งภาพสดเข้าสู่แอพพลิเคชั่นเตือนภัยพิบัติ จะต้องลงทะเบียน และผ่านการตรวจสอบจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ส่งข้อมูลที่คลาดเคลื่อน "ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ใช้เวลากว่า 1 ปี ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ เพื่อเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ กลั่นกรอง วิเคราะห์ และคาดการณ์ สถานการณ์ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถสั่งการบนพื้นฐานข้อมูลตามช่วงเวลา และสถานการณ์จริง ผ่านโปรแกรมประยุกต์ ก่อนจะส่งข้อมูลแจ้งเตือน และการเตือนภัยไปยังหอกระจายข่าว, ทีวีพูล, เว็บไซต์, เครือข่ายภาคประชาชน และสมาร์ทโฟน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการของการเตือนภัยพิบัติที่รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์" เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการรำลึก 10 ปี สึนามิ เพื่อถอดบทเรียนด้านการแพทย์ฉุกเฉินภายใต้แนวคิด “สึนามิครั้งหน้าจะไม่มีความสูญเสียอีกต่อไป” โดยมีมูลนิธิ ‘ไจก้า’ ของญี่ปุ่น เข้ามาช่วยเหลือให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการสาธารณภัยกลุ่มในประเทศอาเซียน โดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง คาดหวังว่าจะสามารถเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการแพทย์ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการอยู่รอดของผู้ประสบภัย... ...จากการมุ่งมั่นทำงานของฝ่ายต่างๆ 10 ปีที่ผ่านมาจึงไม่ใช่ 10 ปีที่ผ่านเลย และความสูญเสียย่อมไม่ใช่ความสูญเปล่าอย่างแน่นอน... ใครก็ไม่รู้พูดเอาไว้ว่า มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อพ่ายแพ้ เมื่อคนเราเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด... จาก ................ ไทยรัฐ วันที่ 26 ธันวาคม 2557
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:16 |
#3
|
||||
|
||||
สึนามิครั้งต่อไป จะเกิดเมื่อ...? เตือนมหันตภัยคลื่นยักษ์ ถล่มแผ่นดิน! นับเป็นเวลาครบ 10 ปีพอดิบพอดี ที่มหันตภัยสึนามิ โหมพัดมวลน้ำมหาศาลขึ้นบก ถล่มประเทศต่างๆ รอบทะเลอันดามันราบคาบเป็นหน้ากลอง ทรัพย์สินมหาศาลเสียหายจบสิ้นชั่วพริบตา ชีวิตอันมีค่ามอดม้วยไร้วันกลับ...มหันตภัยครั้งใหญ่ที่ติดอยู่ในความทรงจำของคนไทย ณ เวลานั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่ จำได้ไหม? ในโอกาสครบรอบ 10 ปีภัยพิบัติสึนามิ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผู้ที่เคยทำนายว่า ประเทศไทยจะเกิดสึนามิครั้งใหญ่ แต่ไร้คนเชื่อ และชาวบ้านหาดกมลา จังหวัดภูเก็ต ผู้สูญเสียจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ คุณป้าบุญ ขวัญยืน ที่มีชะตากรรมไม่ต่างอะไรจากตายทั้งเป็น.... ตะลึงนิ่งดูคลื่นยักษ์ ไร้ความรู้ ไม่รู้หลบหนี ป้าบุญ ขวัญยืน หญิงวัย 62 ปี ผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ถล่มชายฝั่งอันดามันของไทย เธอจำวินาทีชีวิตครั้งนั้นได้ติดตา คุณป้าวัย 62 ปี เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นราวกับว่า เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ว่า ในวันที่เกิดคลื่นยักษ์สูงเท่าตึก ป้าบุญกับลูกสาวและหลานๆ อีก 3 คน กำลังนั่งพูดคุยเอกเขนกกันอยู่ที่เพิงหน้าบ้าน โดยระยะทางจากบ้านของป้าบุญนั้น ห่างจากหาดกมลา แค่เพียง 2 เสาไฟฟ้าเท่านั้น แต่จู่ๆ ป้าและครอบครัวก็ได้ยินเสียงชาวบ้านและนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าหาดโหวกเหวกโวยวาย เสียงดังสนั่นรอบบริเวณ ทั้งป้าและลูกๆ หลานๆ ต่างตื่นตกใจ พยายามกวาดสายตาค้นหาต้นตอที่ทำให้เกิดเสียง แต่แล้วสิ่งที่ทำให้ทุกคนต้องผงะ คือ คลื่นยักษ์สูงใหญ่ระดับเอวกำลังเคลื่อนที่เข้ามาใกล้บ้านป้าบุญอย่างรวดเร็ว ด้วยความที่ตัวป้าและเด็กๆ ต่างไม่เคยพบไม่เคยเจอคลื่นสูงเช่นนี้มาก่อน จึงทำได้แค่เพียงอุ้มหลานตัวเล็กๆ ขึ้นโต๊ะ ขึ้นเก้าอี้กันอย่างชุลมุน “ป้าเห็นว่า ไอ้คลื่นยักษ์ที่เข้ามาพังบ้านป้า ดูท่าจะไม่ดี เลยตัดสินใจบอกลูกบอกหลานให้หนีขึ้นเขากันก่อน เพราะไม่รู้ว่ามันจะมาอีกลูกหรือเปล่า แต่ลูกสาวป้าเขาหวงของ ก็เลยขอเก็บของก่อน แล้วจะตามขึ้นไปทีหลัง แต่หลานเล็กๆ สองคนดันติดลูกสาวป้าแจ จะอยู่กับลูกสาวป้าให้ได้ ไม่ยอมหนึขึ้นเขาไปกับป้าด้วย จะมีก็แต่หลานคนโตอายุ 7 ขวบ วิ่งตามป้าขึ้นไป” หญิงวัย 62 ปี ผู้โดดเดี่ยวจำวินาทีเมื่อสิบปีก่อนได้ดี นาทีคลื่นยักษ์ถล่ม ทำได้แค่เพียงภาวนา! ทันทีที่ป้าบุญวิ่งขึ้นพ้นตีนเขาไปได้ไม่กี่อึดใจ คลื่นยักษ์สูงลิ่วราวกับจะกวาดเมืองทั้งเมือง กำลังโหมพัดกระหน่ำบ้านช่อง รีสอร์ตต่างๆ อย่างบ้าคลั่ง และหนึ่งในบ้านที่ไม่สามารถรอดพ้นจากน้ำมือคลื่นหายนะ ก็คือ บ้านชั้นเดียวยกสูงก่ออิฐ บ้านของป้าบุญที่มีลูกสาวและหลานๆ อันเป็นที่รักกำลังเก็บข้าวเก็บของกันอย่างขมักเขม้น เพื่อจะวิ่งตามป้าขึ้นเขาไปทีหลัง “ในช่วงที่คลื่นลูกที่สองพัดเข้ามาอีก หัวใจป้าแทบหยุดเต้น ขาทั้งขาของป้าจู่ๆ ก็หมดแรง นั่งพับเพียบลงกับพื้น ยกมือขึ้นมาพนมผีสางนางไม้ ภาวนาให้ลูกหลานป้าแคล้วคลาดรอดชีวิต กลับมาเจอกันอีกครั้ง ในใจก็คิดว่า ถ้ามันจะพัดเอาทรัพย์สินป้าไป ก็เอาลงทะเลไปให้หมดเลย แต่ช่วยเมตตาอย่าเอาชีวิตของลูกหลานป้าไปก็เป็นพอ” ป้าบุญเล่าด้วยสีหน้าอาลัย ในช่วงเวลาที่ป้าทำได้แค่เฝ้ารอ และมองดูชีวิตของคนมากมายดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากคลื่นยักษ์ หลายต่อหลายคนจมหายลงไปกับสายน้ำ คนพวกนี้บ้างก็เป็นคนรู้จัก สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็กๆ บ้างก็เป็นญาติสนิทมิตรสหาย บ้างก็เป็นชาวต่างชาติ แต่เจ้ากรรม ป้าบุญไม่สามารถช่วยเขาเหล่านี้ได้เลย เพราะด้วยมวลน้ำที่พัดเร็ว รุนแรง ปานปีศาจร้ายที่กั้นขวางความช่วยเหลือทั้งหมด “ศพกอดกันกลม...” เสียงสะอื้นจากผู้รอดชีวิต ไม่ถึงชั่วโมง แต่ราวกับนานหลายปีในความรู้สึกของป้าบุญ เมื่อระดับน้ำลดลงจนสามารถเดินลงไปตามทางเดิน ที่บัดนี้แทบไม่เหลือเค้าเดิมว่า แต่ก่อนเก่านั้น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อ ด้วยเศษซากปรักหักพังของตึกรามบ้านช่อง เละเทะทั่วพื้นที่ แต่ป้าบุญก็ยังรีบวิ่งอย่างกระเสือกกระสน โดยมีปลายทางคือ บ้านหลังน้อย ซึ่งเพิ่งจากลาหนีภัยมาเพียงชั่วครู่ “พอน้ำลด ป้ารีบวิ่งไปที่บ้านก่อนเลย ตอนนั้นไม่สนใจแล้วว่าจะเหยียบเศษแก้ว กิ่งไม้เกี่ยวแข้งเกี่ยวขา วิ่งไปชนิดที่ลืมเจ็บ แต่พอไปถึงบ้าน ป้านี่แทบเป็นคนบ้าไปเลย ร้องไห้ กรีดร้องสุดเสียง ลมจับ เพราะภาพแรกที่ป้าเห็นหลังจากวิ่งไปถึงที่บ้าน เป็นภาพที่ลูกสาวกับหลานอีกสองคน นอนกอดกันกลมอยู่ในบ้านที่พังยับเยิน และทั้ง 3 คนนั้นกลายเป็นร่างที่ไร้วิญญาณไปเสียแล้ว” หญิงชรากล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ หอส่งสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ประชาชนแห่หนีขึ้นที่สูงกันให้วุ่น กว่าจะมาถึงวันนี้ กว่าที่ความรู้สึกของป้าบุญจะกลับคืนมาดังเดิม ป้าผู้ประสบเคราะห์กรรมยังต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เหมือนเหยียบย่ำซ้ำเติมหัวใจของหญิงชราผู้นี้อีกครั้ง “สัญญาณเตือนภัยสึนามิ ที่ทางการเขาเอามาติดตั้งไว้ บางทีมันก็ดังขึ้นมา ทั้งๆ ที่ไม่มีภัยพิบัติอะไรเกิดขึ้นเลย และทุกครั้งที่เครื่องเตือนเจ้ากรรมดัง มันทำให้ป้าต้องนอนผวาแทบบ้า จะดึกจะดื่นป้าก็วิ่งขึ้นเขาทุกครั้งไป” ขณะนี้ ป้าบุญ ประกอบอาชีพเป็นหมอนวดให้กับนักท่องเที่ยว แต่รายได้บางวันก็แทบจะไม่มีเสียแล้ว เพราะมีสาเหตุมาจากการที่ภาครัฐ เข้าจัดระเบียบชายหาด สั่งห้ามไม่ให้ตั้งเตียงผ้าใบและร่มร้านค้าตลอดแนวหาด แต่สิ่งที่หญิงชราวัย 62 ปี ทำได้ก็คือ ออกตระเวนไปกับแพทย์อาชีพ เพื่อออกงานนวดให้กับร้านรวงต่างๆ โดยมีรายได้ยังชีพเพียงน้อยนิด ระบบเตือนภัยสึนามิของไทย ห่วยจริงหรือ? ทว่า ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดกับเครื่องเตือยภัยสึนามิ ว่า เท่าที่ทราบมา หอเตือนภัยที่ทางการได้เข้าไปติดตั้งให้กับชุมชนนั้น บางหอก็ไม่ทำงาน บางหอก็มีเถาวัลย์พันรกแน่น บางหอก็ถูกขโมยสายล่อฟ้า ทั้งๆ ที่เครื่องเตือนภัยเป็นเสมือนเครื่องมือรักษาชีวิต เพราะฉะนั้น ควรได้รับการดูแลอย่างดี “ระดับชาติมีกฎหมายบังคับไว้ว่า ระบบเตือนภัยสึนามิ ต้องมีการซ้อมปีละ 2 ครั้ง ตั้งแต่เขาย้ายผมออกมา ไม่มีการซ้อมครั้งใหญ่ๆ ป้ายที่ทำการซ้อมก็ชี้ขึ้นเขาบ้าง ลงทะเลบ้าง ละเลย ไม่มีการดูแล บางคนก็เอาโฆษณาไปติดทับป้ายที่เราทำไว้” ดร.สมิทธ กล่าวถึงปัญหาปัญหาการเตือนภัย ดังนั้น รัฐบาลควรปรับปรุงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ทั้งในเรื่องของการเข้าไปดูแลรักษาเครื่องไม้เครื่องมือ ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ มิใช่ว่า ฝนตกน้ำท่วมประเทศไปแล้ว แต่เพิ่งจะมาเตือนภัย เพราะเรื่องเช่นนี้ต้องบอกกันล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมต้วได้ทันท่วงที พร้อมกันนั้น บุคลากรที่จะเข้ามาทำงานที่ศูนย์เตือนภัยฯ จะต้องมีความรู้ทางด้านอุตุวิทยา อุทกวิทยา ธรณีวิทยา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานได้อย่างมีคุณภาพ มิใช่ว่าเอาผู้ที่ไม่มีความรู้ ไร้ความสามารถเฉพาะทางมาเป็นผู้อำนวยการ ประเทศไทย จะเกิดสึนามิอีกหรือไม่? สึนามิเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เกิดแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา คลื่นยักษ์ลูกใหญ่ใช้เวลาพัดขึ้นชายฝั่งไทยประมาณ 90 นาที แต่ในครั้งนี้ ดร.สมิทธ ผู้เชี่ยวชาญของประเทศญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญของประเทศไอร์แลนด์เหนือ ทำนายว่า หากเกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณเกาะนิโคบา หรือหมู่เกาะอันดามัน คลื่นสึนามิจะพัดเข้าชายฝั่งจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา ภายใน 30 นาทีอย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถคำนวณได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อใด “ถ้าระบบเตือนภัยไม่ดีพอ และไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า ชีวิตของคนมากมายที่อยู่บริเวณนั้นๆ ย่อมหนีไม่ทันแน่นอน เพราะครั้งนี้มวลน้ำจะมาเร็วกว่ากำหนด และมาพร้อมกับความรุนแรงที่มากกว่าครั้งก่อน ซึ่งคราวที่แล้วใช้เวลา 90 นาที คลื่นสูง 16 เมตร ถึงจะเคลื่อนเข้าฝั่ง แต่ครั้งนี้คลื่นจะสูงกว่าเดิม ผมคิดว่าถ้ามันเกิดขึ้นอีก จะมีคนเสียชีวิตมากกว่าคราวที่แล้ว” ผู้เคยทำนายทายทักได้อย่างถูกต้องว่าเมืองไทยจะเกิดสึนามิกล่าวเตือน. จาก ................ ไทยรัฐ วันที่ 26 ธันวาคม 2557
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:17 |
#4
|
||||
|
||||
10 ปีซากขยะสึนามิอยู่ที่ไหน แม้เวลาจะผ่านพ้นเข้าสู่ปีที่ 10 แล้วกับเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ แต่คราบน้ำตาของผู้สูญเสียยังไม่จางหาย คลื่นยักษ์ที่ถาโถมไม่เพียงแต่กลืนกินชีวิตผู้คนนับแสน แต่ยังกวาดทำลายเมืองริมชายฝั่งอย่างจังหวัดอาเจะห์จนสิ้นซาก เหลือไว้แต่เศษซากปรักหักพังที่กินพื้นที่เข้าไปในแผ่นดินไกลกว่า 6 กม. จากเหตุธรณีพิโรธในครั้งนั้น เมื่อได้ขับรถลัดเลาะไปตามริมชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์ทางตะวันตกบนเกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซียในวันนี้ แทบไม่มีกลิ่นอายพื้นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิเมื่อ 10 ปีก่อน จนอดสงสัยไม่ได้ว่าเศษซากความย่อยยับจากแรงมหาศาลของคลื่นน้ำในครั้งนั้นได้สร้างความพินาศอย่างไรบ้างกับเมืองนี้ แม้เศษซากบางส่วนจะถูกนำไปรีไซเคิลสร้างเป็นถนน วัสดุก่อสร้าง หรือเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ในครัวเรือนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่แล้วก็ตาม แต่ยังมีบางส่วนที่ถูกนำไปเผาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ขยะส่วนใหญ่มักถูกปล่อยทิ้งลงสู่ทะเล ถึงแม้ความทรงจำอันโหดร้ายยังตราตรึงอยู่ แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ภาพชาวประมงอาเจะห์นำเรือออกทะเลหาปลา และชาวนาที่เตรียมดินสำหรับปลูกข้าว สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงนับจากวันนั้น วันที่ 26 ธ.ค. 2547 ที่คลื่นยักษ์โถมเข้าใส่จังหวัดอาเจะห์ ขณะที่ป่าโกงกางถูกปลูกขึ้นเพื่อใช้เป็นที่กำบังคลื่นสึนามิในอนาคต อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ยังเป็นกังวลแม้เวลาจะผ่านไป 1 ทศวรรษแล้วก็ตามคือ เศษซากขยะปริมาณมหาศาลราว 10 ล้านคิวบิกเมตร ที่ทิ้งไว้ให้เหยื่อที่รอดชีวิตได้ดูต่างหน้า รวมทั้งขยะส่วนใหญ่ที่ไหลลงกลับคืนสู่ทะเล ซึ่งนายคุนโตโร มังคุสุโบรโต หัวหน้าสำนักเยียวยาและฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างอาเจะห์เผยว่า การกำจัดขยะจากเศษซากสึนามิที่หลงเหลืออยู่อย่างไม่ถูกวิธี ทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายในระยะยาว และหากนำขยะทั้งหมดมากองรวมกันบนพื้นที่ขนาด 10,000 ตร.ม. จะสามารถสุมตัวขึ้นเป็นหอคอยขยะที่มีความสูงถึง 1,000 เมตรได้เลยทีเดียว การกำจัดเศษซากปรักหักพังจากบ้านเรือน ต้นไม้ ที่ฝังทับร่างเหยื่อไร้ลมหายใจนับแสนคน ถือเป็นงานสุดหินหลังจากระดับน้ำลดลง หนึ่งในวิธีที่ผู้รอดชีวิตเลือกใช้กำจัดขยะก็คือการเผา ที่มาพร้อมกับควันรวมถึงมลพิษปนเปื้อนจากน้ำมันและสารเคมีลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำลายระบบทางเดินหายใจ จนครั้งหนึ่งไฟเกิดลุกลามควบคุมไม่อยู่ กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง แม้ทางการจะพยายามห้ามปรามประชาชนแล้วก็ตาม ทุกวันนี้ถนนสายหลักถูกเก็บกวาดเรียบร้อย มีขยะหลายตันต่อวันที่ถูกลำเลียงไปทิ้งยังพื้นที่ทิ้งขยะ ขณะที่ขยะบางส่วนถูกนำไปทิ้งอย่างสะเปะสะปะในพื้นที่รอบเมือง ซึ่งบางชิ้นเป็นขยะที่ปนเปื้อนคราบน้ำมัน และแร่ใยหิน รวมถึงขยะอันตราย ที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) เผยว่า มีกากของเสียทางการแพทย์ ส่วนหนึ่งเป็นยาที่หมดอายุเกือบ 50 ตัน ซึ่งได้รับบริจาคมา และกำลังรอนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ในระยะเวลา 3 เดือนหลังสึนามิพัดถล่ม ยูเอ็นดีพีได้เริ่มโครงการรีไซ เคิลขยะมูลค่าถึง 40.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,296 ล้านบาท) พร้อมกับระดมอาสาสมัครชั่วคราว 400,000 คน เพื่อนำซากต้นไม้ ก้อนอิฐ เศษหิน เศษเหล็ก กลับมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างถนน บ้านเรือน รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งโครงการจัดการขยะจากภัยสึนามิของยูเอ็นดีพีสามารถกำจัดขยะได้ราว 1 ล้านคิวบิกเมตร เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 400 สระ และได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐบาลเพื่อให้ดูแลสานต่อโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนราว 1,300 ราย แม้ภัยธรรมชาติครั้งนี้จะทิ้งร่องรอยมากกว่าความสูญเสียให้แก่ชาวอาเจะห์ แต่สำหรับทางการอินโดนีเซียต่างรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจและเผยว่า ความสำเร็จครั้งนี้เป็นไปได้ เพราะความช่วยเหลือจากนานาชาติ ที่ทำให้งานกำจัดขยะแห่งความสูญเสียนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และรู้ว่าโลกไม่เคยทอดทิ้งดินแดนอาเจะห์. ...................................................................................... ตัวเลขข้อมูลภัยพิบัติสึนามิปี 2547 ข้อมูลและตัวเลขจากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 จากการรวบรวมข้อมูลและประเมินความเสียหายจากคลื่นสึนามิและองค์การยูเนสโก -เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1แมกนิจูด มีจุดศูนย์กลางนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย และก่อให้เกิดสึนามิตามมา ถือเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ3 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา -คลื่นยักษ์สึนามิที่ซัดขึ้นฝั่งที่มีความสูงที่สุดคือ 20 เมตร ในจังหวัดอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย -ความรุนแรงของพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากแผ่นดินไหวครั้งนี้มากกว่าพลังงานของระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นถึง 23,000 เท่า -ประชาชนราว 230,000 คน เสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้ -3 เหตุการณ์ภัยพิบัติในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมาซึ่งมีคนเสียชีวิตมากกว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ ได้แก่ 1. เหตุอุทกภัยในจีนเมื่อปี 2474 มีผู้เสียชีวิตกว่า1ล้านคน 2. ภัยพิบัติจากพายุไซโคลนพัดถล่มบังกลาเทศเมื่อปี 2513 มีผู้เสียชีวิตกว่า 3 แสนคน 3.เหตุแผ่นดินไหวในจีนเมื่อปี 2519 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 255,000 คน -เรียงลำดับ14 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจากคลื่นสึนามิ 1.อินโดนีเซีย (167,540 ศพ) 2.ศรีลังกา (35,322 ศพ) 3.อินเดีย (16,269 ศพ) 4.ไทย (8,212 ศพ) 5.โซมาเลีย (289 ศพ) 6.มัลดีฟส์ (108 คน) 7.มาเลเซีย (75 ศพ) 8.เมียนมาร์ (61ศพ) 9.แทนซาเนีย (13 ศพ) 10.บังกลาเทศ (2 ศพ) 11.เซเชลส์ (2 ศพ) 12.แอฟริกาใต้ (2 ศพ) 13.เยเมน (2 ศพ) และ14. เคนยา (1ศพ) -มีพลเมืองจาก 38 ประเทศที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่มาจากยุโรป ในจำนวนนี้เป็นชาวเยอรมันและสวีเดนประเทศละ 500 คน -1.7 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย -9,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (316,800 ล้านบาท) มูลค่าความเสียหายโดยประมาณในประเทศที่ได้รับผลกระทบ -4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (144,000 ล้านบาท) ความเสียหายโดยประมาณในจังหวัดอาเจะห์เพียงแห่งเดียว ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 97 ของจีดีพีของภูมิภาค -13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (432,000 ล้านบาท) ยอดเงินบริจาคจากทั่วโลกที่ระดมทุนช่วยเหลือเหยื่อประสบภัยสึนามิ -7,100 ดอลลาร์สหรัฐ (227,200 บาท) จำนวนเงินบริจาคเฉลี่ยที่ผู้ประสบภัยต่อคน ได้รับ -3 ดอลลาร์สหรัฐ (96 บาท) คือจำนวนเงินบริจาคเฉลี่ยที่ผู้ประสบภัยต่อคนได้รับจากเหตุภัยพิบัติอื่นเมื่อปี 2547 ที่เกิดอุทกภัยในบังกลาเทศมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 766 ศพ และมีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 30 ล้านคน -16,000 คือ จำนวนบ้านถาวรที่สร้างขึ้นในจังหวัดอาเจะห์ภายในเวลา 1 ปีให้หลัง ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าความต้องการ เนื่องจากปัญหาความซับซ้อนในการจัดตั้งระบบราชการใหม่ และภาวะเงินเฟ้อ -130,000 คือ จำนวนบ้านถาวรที่สร้างขึ้นในจังหวัดอาเจะห์ ภายใน 3 ปีหลังเหตุภัยพิบัติผ่านไป -0,4 และ13 ตัวเลขตามลำดับคือ จำนวนเครื่องตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรระดับลึก เครื่องมือวัดระดับน้ำทะเลแนวชายฝั่ง และเครื่องมือตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่คลื่นสึนามิซัดเข้าหาฝั่ง - ในปี 2557 จำนวนเครื่องตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรระดับลึกเพิ่มขึ้นเป็น 9 เครื่อง จำนวนเครื่องมือวัดระดับน้ำทะเลแนวชายฝั่งเพิ่มขึ้นมากกว่า100 เครื่อง เครื่องมือตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวเพื่อประเมินปัจจัยคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเข้าหาฝั่งในมหาสมุทรอินเดียเพิ่มขึ้นมากกว่า 140 เครื่อง. จาก ................ เดลินิวส์ วันที่ 26 ธันวาคม 2557
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:18 |
#5
|
||||
|
||||
10 ปี “สึนามิ” คลื่นยักษ์ผลักดันอันดามันสู่มรดกโลก เรือประมงที่ถูกคลื่นยักษ์ซัดขึ้นมา ตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม 26 ธ.ค. 2547 เป็นวันธรรมดาๆ ที่กลายเป็นวันแห่งความเศร้าสลด เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมา สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับประเทศตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย พม่า รวมถึงจังหวัดตามชายฝั่งทะเลอันดามันในประเทศไทยด้วยเช่นกัน นับเป็นครั้งแรกที่คนไทยรู้จักกับ “สึนามิ” อย่างถ่องแท้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียด้วยชีวิตผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลายพันคน แลกด้วยความเสียหายของบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ถูกคลื่นยักษ์พัดถล่มย่อยยับ ไม่เพียงเท่านั้น ความเสียหายในครั้งนั้นยังรวมถึงแนวปะการังใต้ทะเลที่ถูกคลื่นยักษ์พัดทำลาย ไม่ว่าจะเป็นที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ซึ่งแนวปะการังของทั้งสองแห่งได้รับความเสียหายมากที่สุด ส่วนหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา และที่เกาะอาดัง-ราวี จังหวัดสตูล ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และเกาะเหล่านี้ก็ล้วนเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังยอดนิยมของไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเที่ยวทะเลไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปีอีกด้วย หลังจาก 10 ปี ผ่านไป ทะเลไทยเป็นอย่างไร และสึนามิก่อให้เกิความเปลี่ยนแปลงกับทะเลไทยอย่างไรบ้าง... เด็กน้อยนักท่องเที่ยวเล่นน้ำทะเลที่หมู่เกาะสุรินทร์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลไทยหลังจากเกิดคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 ว่า “หลังจากเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 ก็มีการสำรวจทะเลร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ มีการสำรวจทะเลและแนวปะการัง หลังจากสึนามิก็มีความเสียหายพอสมควรในบางพื้นที่ เช่นหมู่เกาะสุรินทร์ เกาะพีพี เกาะอาดังราวี ในเรื่องแนวปะการังที่เสียหายเยอะหน่อยก็คือหมู่เกาะสุรินทร์ เราก็มีโครงการในการฟื้นฟูเพื่อการท่องเที่ยวขั้นต้น คือการสร้างแหล่งดำน้ำเทียม ประติมากรรมใต้น้ำ ทำกันอยู่ปีกว่าก็มีคนไปดำน้ำพอสมควร แต่เมื่อเวลาผ่านไปประติมากรรมใต้น้ำมันก็เสื่อมโทรมไป เพราะทำจากปูน เสียหายจนเกือบหมด” “เวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องทรัพยากร ก็มีการฟื้นตัวบ้างบางอย่าง แต่ในภาพรวมก็บอกได้ว่ามันยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรเพราะมันได้รับผลกระทบอย่างอื่นด้วย หากถามว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทรัพยากรใต้ทะเลเป็นอย่างไรบ้างก็ต้องบอกตามตรงว่ามันก็มีสภาพเสื่อมโทรมลงบ้าง แต่ไม่ใช่ผลจากสึนามิอย่างเดียว เป็นผลต่อเนื่องมาจากการใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเรื่องปะการังฟอกขาวที่เกิดจากโลกร้อน พูดง่ายๆ ก็คือมันไม่ได้ดีขึ้นไปจากเดิมเลย” ดร.ธรณ์ กล่าว ไม่เพียงมองความเสียหายของแหล่งปะการังเท่านั้น แต่ ดร.ธรณ์ยังมองความเสียหายในภาพรวมของทะเลอันดามัน ที่เรียกได้ว่า นอกจากจะโดนภัยธรรมชาติสึนามิกระหน่ำแล้ว ทะเลไทยก็ยังต้องเจอมรสุมโลกร้อนและมลพิษน้ำเสียทั้งจากอุตสาหกรรม บ้านเรือน และการท่องเที่ยว ทำให้ไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ดีเทียบเท่ากับเมื่อก่อน และที่สำคัญก็คือยังไม่มีการจัดการทางทะเลที่ดี ดังที่ ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่า “เรื่องการจัดการของเรา มันแทบจะไม่เปลี่ยนเลย แย่ยังไงก็แย่อย่างนั้น การจัดการของเรายังไม่เป็นระบบ จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะผลักดันให้อันดามันเป็นมรดกโลก เพราะการที่อันดามันเป็นมรดกโลกจะช่วยให้เราสามารถจัดการพื้นที่ขนาดใหญ่ในภาพรวมได้ทั้งหมด ไม่ใช่มานั่งแก้ไขปัญหาทีละจุดสองจุด ตรงแนวปะการังนี้คนทิ้งสมอ ตรงนั้นมีเรือลักลอบเข้ามา แก้ทีละอย่างมันไม่มีทาง มันต้องทำทั้งหมดและให้คนเห็นประโยชน์พร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวหรือการประมงที่ถูกกฎหมาย และเรื่องการจัดการที่ต้องไปด้วยกันทั้งผืน” ความงามของอ่าวปิเละ เกาะพีพีเล จ.กระบี่ ยังคงความงามสะกดใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในขณะนี้เมื่อ ดร.ธรณ์ได้เข้ามาเป็นสมาชิก สปช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงเป็นโอกาสที่สามารถสร้างแรงผลักดันให้อันดามันเป็นมรดกโลกได้มากขึ้น ซึ่งข้อดีของการเป็นมรดกโลกนั้นก็มีตั้งแต่การช่วยสร้างกลไกที่เข้มแข็งและมาตรฐานที่สูงขึ้นในการอนุรักษ์ทรัพยากร เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และจะช่วยยกระดับทั้งราคาและคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ที่มีมาตรฐานก็จะช่วยให้การประมงพื้นบ้านสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ทางประเทศเมียนมาร์ได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนทะเลทางฝั่งอันดามันต่อคณะกรรมการมรดกโลกก่อนหน้าประเทศไทยไปแล้ว หากไทยยื่นเรื่องไปด้วยก็มีความเป็นไปได้สูงที่คณะกรรมการอาจอยากให้ร่วมกันบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นมรดกโลกทางทะเลใหญ่ที่สุดในโลก “10 ปีที่ผ่านมาหลังจากปี 47 การผลักดันมันแทบไม่ขยับเลย ในที่สุดเมื่อมาเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมเพิ่งเสนอเรื่องของการผลักดันให้อันดามันเป็นมรดกโลก เพราะโครงการทุกอย่างจัดไว้หมดแล้ว แต่มันยังค้างเติ่งอยู่มาเป็นปีๆ ไม่ได้ขยับไปไหนเลย เพราะฉะนั้นการจัดการ การฟื้นฟู การอนุรักษ์เต็มรูปแบบมันก็ไม่ขยับ แต่ผมคิดว่าถ้ามันครบ 10 ปีแล้ว และเราสามารถนำเสนออันดามันเป็นมรดกโลกได้ มันก็จะเป็นการยกระดับการอนุรักษ์ทุกอุทยานในทะเลอันดามันทั้ง 17 แห่ง มีการตรวจตราการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่อุทยานและอื่นๆ อีกมาก ทั้งการบำบัดน้ำเสีย มลพิษ การพัฒนาชายฝั่ง การท่องเที่ยวที่มีมากเกินไป การประมงที่ชักจะไร้การควบคุม ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้พร้อมๆ กัน มันจะเป็นการยกระดับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง” ดร.ธรณ์ กล่าวต่อ นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางมาเที่ยวทะเลไทยมากมายที่เกาะพีพีดอน เมื่อถามว่า 10 ปีที่ผ่านมาเราได้อะไรจากสึนามิบ้าง ดร.ธรณ์กล่าวว่า “เราได้ความกระตือรือร้นในช่วงแรก ความร่วมมือร่วมใจในช่วงแรก ได้เห็นน้ำใจของคนไทย แต่พอเวลาผ่านไปได้ซักปีสองปี เราก็ลืม 10 ปีสึนามิถามว่าได้อะไร ต้องบอกกันตรงๆ ว่า ได้รู้ว่าคนไทยลืมง่าย 10 ปีที่ผ่านมาการจัดการมันเละ เราพยายามจะบอกว่าเรามีบทเรียนแล้ว เราจะเรียนรู้ตั้งแต่ 10 ปีก่อนแล้ว จะทำนู่นทำนี่ให้เป็นระบบ แต่สุดท้าย 10 ปีผ่านไป เราเรียนรู้ว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่คิดจะยกเครื่องระบบ ไม่ว่าจะมีคลื่นสึนามิหรือไม่มี ทรัพยากรทางทะเลไทยก็เละอยู่ดี ซึ่งตอนนี้ก็เละไปพอสมควรแล้ว และถ้าเละไปกว่านี้ ทั้งการท่องเที่ยวทั้งการประมง หรือใครก็ตามที่ใช้ประโยชน์จากทะเลจะเอาอะไรกิน ถ้าเราไม่คิดเปลี่ยนแปลงตอนนี้ในอนาคตเราแย่แน่” “มาถึงตอนนี้มันได้จังหวะพอดีกับการปฏิรูป ถึงจังหวะนี้เป็นอีกคลื่นหนึ่ง ไม่ใช่คลื่นสึนามิ แต่เป็นคลื่นของการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ ถ้าเราไม่ทำจังหวะนี้ 10 ปีข้างหน้าการท่องเที่ยวต่างๆ หรือทรัพยากรทั้งหลายในอันดามันคงไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้แน่นอน” แม้สึนามิที่พัดถล่มมาเมื่อ 10 ปีก่อน รวมถึงภาวะโลกร้อนและฝีมือมนุษย์จะสร้างความเสียหายต่อเนื่องให้กับทะเลไทยและแนวปะการังไว้มากมาย แต่ในวันนี้ เรามองเห็นความหวังที่จะพัฒนาทะเลอันดามันที่เคยสวยงามของไทยให้กลับมางดงามดังเดิม และน่าจะงดงามกว่าเดิมได้อีกหากทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ จาก ................ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 ธันวาคม 2557
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:19 |
#6
|
||||
|
||||
ผ่านไป 10 ปี... ‘สึนามิ’ ความทรงจำเลวร้ายไม่เคยเลือนหาย แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านไปถึง 10 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์ "คลื่นยักษ์สึนามิ" ยังหลอน...หลายชีวิตยังได้รับผลกระทบแม้จะมีการเยียวยาก็ตาม ผ่านไปครบทศวรรษแล้ว สำหรับเหตุคลื่นยักษ์สึนามิขนาดความสูง 15-30 เมตร ถาโถมถล่มชายฝั่ง 6 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ระนองและสตูล เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเลบริเวณเหนือเกาะสุมาตรา ที่มีความรุนแรงถึง 9 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ยังคงเป็นเรื่องราวที่หลอนคนในพื้นที่นี้ไปอีกนาน เหตุช็อกโลกครานั้น สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่ได้รับผลกระทบมาถึงทุกวันนี้ โอกาสครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต บอกว่า ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดจัดงานรำลึก 10 ปีสึนามิ โดยเป็นความร่วมมือของทางจังหวัดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีการกำหนดประกอบพิธีทางศาสนาทั้งในช่วงเช้าและช่วงค่ำ เพื่อรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิต-สูญหายจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา โดยในช่วงเช้ามีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่บริเวณสุสานไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และในช่วงค่ำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต จัดงาน Light Up Phuket รำลึก 10 ปี สึนามิ ประจำปี 2557 ขณะเดียวกัน วันที่ 25-26 ธันวาคม ได้จัดประชุมฝึกซ้อมแผนรับมือสึนามิ และพิบัติภัยต่างๆ บนโต๊ะ จากเดิมที่กำหนดจะมีการซ้อมหนีภัยสึนามิจริง แต่ได้รับการติงจากชาวต่างชาติที่เป็นญาติของผู้สูญเสียว่า เขาต้องการเดินทางมารำลึกถึงคนในครอบครัวที่ต้องจากไปด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ต้องการได้ยินเสียงไซเรน เห็นคนวิ่งหนีภัยสึนามิ ทางจังหวัดจึงได้เลื่อนการฝึกซ้อมหนีภัยสึนามิออกเป็นอีก 2-3 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การฝึกซ้อมดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในเรื่องของการป้องกัน การเตือนภัย การอพยพหนีภัย และการฟื้นฟู และจะได้ซ้อมความพร้อมของหอเตือนภัยทั้ง 19 หอ แม้ว่าปัจจุบันก็มีการทดสอบอยู่ตลอดเวลา และสัญญาณเตือนภัยทั้งหมดของภูเก็ตก็ยังสามารถใช้งานได้ รวมทั้งการฝึกซ้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่มีพื้นที่ติดชายหาดก็ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรและประชาชนในพื้นที่ ให้ตระหนักเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ ไม่เฉพาะสึนามิเท่านั้น แต่รวมถึงภัยอื่นๆ ด้วย ด้าน นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) กล่าวว่า ในส่วนของ อบจ.ภูเก็ต ได้กำหนดจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีสึนามิ มีทั้งการจัดสัมมนาทางวิชาการ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมการรับมือภัยพิบัติและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังได้จัดงาน Light Up Phuket รำลึก 10 ปีสึนามิ ประจำปี 2557 ในระหว่างวันที่ 26-28 ธันวาคม 2557 บริเวณสวนสาธารณะโลมา หาดป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เพื่อรำลึกถึงผู้ล่วงลับจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ และมุ่งส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เกี่ยวกับธรณีพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ลักษณะการเกิดเหตุและวิธีระวังตัวเมื่อเกิดเหตุ และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจและมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยเมื่อได้มาเยือนเมืองท่องเที่ยวนี้ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนกิจกรรมที่ดำเนินการโดย อบจ. ภูเก็ต ในวันที่ 26 ธันวาคม ประกอบด้วย กิจกรรมดนตรีในสวน, กิจกรรมประกวดประติมากรรมปั้นทราย, การบรรเลงดนตรีแจ๊ส บทเพลงพระราชนิพนธ์, กิจกรรมการกล่าวไว้อาลัยรำลึกถึงผู้ล่วงลับจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ พิธีวางดอกไม้และขุดหลุมทรายจุดเทียน เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับในเหตุการณ์สึนามิ บริเวณชายหาดป่าตอง เป็นระยะความยาวประมาณ 500 เมตร, การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ได้แก่ การแสดงรำไทยประยุกต์ชุด Sound of Hope การแสดงจินตลีลาผสมผสานวัฒนธรรมไทย “Amazing Grace” และวัฒนธรรมไทยชุด Light Up Phuket นอกจากนี้มีการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินนักร้องทั้งชาวไทยและต่างประเทศ, การแข่งขันประกวดวาดภาพของนักเรียนในจังหวัดภูเก็ตเกี่ยวกับการเกิดเหตุการณ์สึนามิ โดยนำผลงานที่ชนะการแข่งขันไปแสดงนิทรรศการในวันจัดงาน, การแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับสึนามิ และแสดงผลงานภาพวาดที่ชนะการประกวดของนักเรียนในจังหวัดภูเก็ต และการแสดงดนตรีกอสเพิลนานาชาติ 10 วง จาก 10 ประเทศ เป็นต้น ขณะที่ นายสุบิน โพธิ์วิจิตร อายุ 63 ปี ชาว ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้เล่าเรื่องราวว่า แต่เดิมนั้นเคยอาศัยอยู่ที่บ้านน้ำเค็ม หมู่ 2 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้ถูกพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่ม ทำให้บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายทั้งหมด เหมือนคนสิ้นเนื้อประดาตัว ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากและหลานอีก 2 คน ต้องสังเวยชีวิตไปกับสายน้ำอันเชี่ยวกรากที่กลืนทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งชีวิตของราษฎรในชุมชน และนักท่องเที่ยวไปเกือบ 1 หมื่นคน "ยอมรับว่า หลังถูกคลื่นยักษ์พัดถล่ม ผมหมดกำลังใจและเรี่ยวแรงที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ และภาคประชาชน สร้างบ้านพักอาศัยให้ที่หมู่บ้านร่วมมือร่วมใจ และได้รับเงินทำทุนตั้งต้นชีวิตใหม่ พร้อมกับเพื่อนบ้านที่รอดชีวิตมาอีก 228 ครอบครัว ก็ทำให้ชีวิตใหม่ในวันนี้ มีอยู่มีกิน เพราะมีรายได้จากการจำหน่ายของชำ โดยอยู่กับบุตรสาวอีก 2 คนอย่างมีความสุขตามอัตภาพ ขณะที่เพื่อนบางคนถึงกับเสียสติ เพราะความสูญเสียในครั้งนั้นจนถึงขณะนี้ชีวิตก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น" นายสุบิน เล่าถึงผลกระทบที่ได้รับจากภัยพิบัติสึนามิ ส่วน นายปฏิวัติ คมกล้า อายุ 19 ปี หรือ "น้องต้อม" ผู้รอดชีวิตในทะเลรายเดียวในช่วงเกิดเหตุสึนามิ โดยช่วงเกิดเหตุได้ลอยคอในทะเลด้วยวัยเพียง 9 ปี พร้อมกับศพมากมายถึงสองคืนสามวัน บอกว่า ในช่วงนั้นตนอยู่หน้าชายหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จู่ๆ ก็เกิดน้ำทะเลแห้งลงไป แต่พอสักพักก็มีคลื่นขนาดใหญ่ซัดขึ้นมาบนฝั่ง จนทำให้ถูกคลื่นซัดลงไปในทะเล "ตอนนั้นผมรู้สึกหมดหวัง อีกทั้งก็ว่ายน้ำไม่เป็น และคิดว่าต้องเสียชีวิตแน่นอน แต่เมื่อเห็นเฮลิคอปเตอร์จึงได้ถอดเสื้อโบกไปมาจนนักบินสามารถเข้าช่วยเหลือได้ และขอขอบคุณทางทหารเรือ เจ้าหน้าที่ นักบินทุกคนที่ได้ช่วยให้รอดชีวิตอยู่มาจนทุกวันนี้" น้องต้อม อีกหนึ่งชีวิตที่รอดพ้นมาได้ แต่ไม่เคยลืมเลือนภาพหลอนความหลังครั้งนั้นไปได้... จาก ................ คม ชัด ลึก วันที่ 26 ธันวาคม 2557
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:21 |
#7
|
||||
|
||||
ถอดบทเรียน 10 ปี ‘สึนามิ’!!! เช็ค ‘ระบบเตือนภัย’ พร้อมแค่ไหน? ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จนถึงวันนี้เท่ากับ 10 ปีพอดิบพอดีที่ “คลื่นยักษ์สึนามิ” ถาโถมเข้าถล่มเอเชียอาคเนย์ รวมถึงประเทศไทย กลายเป็น “โศกนาฏกรรม” ครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ก่อให้เกิดความเสียหายเหลือคณานับ แม้เหตุการณ์ “สึนามิ” จะผ่านมานานจนใครหลายคนอาจลืมเลือนไปแล้ว แต่เชื่อว่าสำหรับชาวบ้านที่ “สูญเสีย” ภาพแห่งความโศกเศร้าจากมหันตภัยครั้งนั้นคงยังติดตรึง กลายเป็น “ความทรงจำ” อันเลวร้าย โดยเฉพาะที่ จ.พังงา “เราจัดงานรำลึกเหตุการณ์สึนามิทุกปี เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่าภัยพิบัติธรรมชาติอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ความทรงจำอันเลวร้ายของผู้ประสบภัยและญาติของผู้เสียชีวิต ยังไม่เลือนรางไปตามกาลเวลา ซึ่งการเยียวยาทางจิตใจ การช่วยเหลือจากภาครัฐและคนไทยด้วยกัน ก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้สูญเสียลงไปได้บ้าง” ประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด(ผวจ.) พังงา ซึ่งได้รับผลกระทบเต็มๆจากสึนามิเมื่อ 10 ปีก่อน กล่าว “พ่อเมืองพังงา” ย้อนไปถึงความสูญเสียของ จ.พังงา ในโศกนาฏกรรมครั้งนั้น ว่า ความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิครั้งนั้นรุนแรงเกินกว่าที่จะคาดการณ์ได้ โดย จ.พังงา มีผู้เสียชีวิตทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ รวม 4,225 คน , สูญหาย 1,753 คน และบาดเจ็บ 5,597 คน ธุรกิจท่องเที่ยว อาชีพประมง ปศุสัตว์ และการเกษตรได้รับความเสียหายจนประเมินค่าไม่ได้ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ บริเวณชายทะเล “เขาหลัก” อ.ตะกั่วป่า ซึ่งนับเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเสียชีวิต และบาดเจ็บมากที่สุด ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากการจัดงานรำลึกถึงความสูญเสียครั้งสำคัญแล้ว ทาง จ.พังงา ยังได้ “เตรียมพร้อม” เพื่อให้ผู้คนมี “ศักยภาพ” มากพอต่อการระแวดระวัง “ภัยพิบัติ” ที่อาจเกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย โดย “ผวจ.พังงา” บอกว่า ณ ปัจจุบัน ทางจังหวัดมีระบบเตือนภัยสาธารณะ หรือ “หอเตือนภัย” จำนวน 18 หอ ติดตั้งในพื้นที่ อ.ตะกั่วป่า, ท้ายเหมือง และคุระบุรี นอกจากนี้ยังสร้างหอกระจายข่าว 4 หอ สร้าง “อาคารหลบภัย” เพื่อใช้เป็นที่หลบภัยชั่วคราวก่อนที่จะส่งต่อไปยังพื้นที่ปลอดภัย 8 หลัง สามารถรองรับผู้อพยพได้ตั้งแต่ 200-500 คน สามารถดำรงชีวิตได้ประมาณ 5-7 วัน นอกจากนี้ ยังมีการอบรม “ทีมกู้ชีพ” และกู้ภัยประจำตำบล ตำบลละ 10 คน รวมทั้งจังหวัดมีทั้งหมด 573 คน, ฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) เพื่อเป็นเครือข่ายช่วยแจ้งเตือนภัย และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่, จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินป้องกันและช่วยเหลือกรณีแผ่นดินไหว อาคารถล่มและคลื่นสึนามิ โดยกำหนดซ้อมแผนอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ในแผนป้องกันระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และท้องถิ่น อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง “ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ผู้คนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสึนามิมากขึ้น ชุมชนมีศักยภาพและความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติมากขึ้น” ผวจ.พังงา กล่าว จ.พังงา เป็นหนึ่งในตัวอย่างของหลายๆ จังหวัด “เสี่ยง” ที่มีความพยายามเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสึนามิที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ดูเหมือนประชาชน “ไม่มั่นใจ” มากนัก โดยเฉพาะกับเรื่อง “ความเร็ว” ในการเตือนภัย และศักยภาพของ “หอเตือนภัย” ในหลายพื้นที่ทั้งที่พังงา และภูเก็ต ที่มีข้อท้วงติงถึงเรื่อง “เสียง” ว่าอาจไม่ดังพอที่จะทำให้พวกเขา “หนี” ได้ทัน เป็นต้น..... “ยืนยันว่าหอเตือนภัยสึนามิมีความพร้อมสมบูรณ์ เพราะเราทดสอบเสียงสัญญาณเตือนภัยด้วยการเปิดเพลงชาติทุกวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน เมื่อมีแผ่นดินไหว หรือสึนามิเกิดขึ้น เสียงสัญญาณจะช่วยให้ผู้ประสบภัยหนี หรือหาที่หลบภัยได้ทัน” นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยืนยัน ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังยืนยันว่า จากการทำงานในทุกขั้นตอน พบว่า ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจะได้รับคำเตือนเรื่องแผ่นดินไหว หรือสึนามิ อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 20 นาที แต่ถ้าเป็น “พื้นที่ล่อแหลม” ไม่เกิน 7 นาที ก็จะได้รับข้อมูลข่าวสาร เพื่อเตรียมความพร้อมในการอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรฯ กล่าวว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว และเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิ ทางศูนย์เตือนภัยนานาชาติในมหาสมุทรอินเดียจะส่ง “ข้อมูลข่าวสารฉบับแรก” มาให้เรา เพื่อให้ทราบว่าเกิดแผ่นดินไหวที่ใด ความแรงเท่าไร และคาดว่าจะเกิดสึนามิหรือไม่ ขั้นตอนตรงนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที เมื่อเราได้ข้อมูลแล้วก็ต้องนำมาประเมินใช้เวลาอีก 10-20 นาที กว่าข้อมูล และ “คำเตือน” จะส่งถึงชุมชนใช้เวลาประมาณ 30 นาที ดังนั้นถ้าสึนามิเกิดใกล้ ก็อาจจะมีปัญหาได้ นอกจากนี้เมื่อย้อนไปเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 ครั้งนั้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2547 ก็ได้ทำงานครั้งแรก หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเกาะสุมาตรา ความแรง 8.9 ริกเตอร์ ซึ่งครั้งนั้นเสียงประกาศเตือนจากหอเตือนภัยในจังหวัดเสี่ยงต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว น่าชื่นชม แต่การอพยพหนีภัยกลับเกิดความ “โกลาหล”!!! โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ต นั่นเพราะผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวหนีออกจากชายฝั่ง ไปในเส้นทางเดียวกัน ทำให้จราจรติดขัดและเกิดอุบัติเหตุขึ้น รวมถึง “เส้นทางหนีภัย” แคบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่กำลังรอให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขในเรื่องนี้ “สมมุติสึนามิเกิดที่เดิมเช่นปี 2547 เราจะมีเวลาหนีประมาณชั่วโมงกว่าๆ แต่ถ้าเกิดจุดอื่นตรงนี้คือปัญหา เพราะระบบที่เรามีอยู่ในปัจจุบันใช้เวลากว่าจะเตือนภัยถึงชุมชนก็ 30 นาที ถ้าสึนามิเกิดในจุดที่ใกล้ตัวเกินไป จะมีปัญหาได้ ซึ่งทำให้เรามีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบเตือนภัยต่อไป อย่างไรก็ตามไม่ว่าระบบการเตือนภัยจะดีอย่างไร หรือมากขนาดไหน แต่คงสู้ความตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมของประชาชนไม่ได้” รศ.ดร.เสรี กล่าวทิ้งท้าย “โศกนาฏกรรมสึนามิ” ผ่านมา 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษ ซึ่งระบบเตือนภัยของไทยก็มีการ “พัฒนา” มากขึ้นในหลายๆ ด้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายๆด้านเช่นกันที่ต้องมีการ “แก้ไข” ซึ่งประชาชนในพื้นที่คาดหวังว่าการบูรณาการ “การเตือนภัย” และการ “อพยพ” หลังสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นจะมีทิศทางที่ชัดเจนมากกว่านี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำ “บทเรียน” ต่างๆมาเรียนรู้ และพัฒนาการทำงาน เพื่อให้เกิดความ “สูญเสีย” น้อยที่สุด จาก ................ แนวหน้า วันที่ 26 ธันวาคม 2557
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:22 |
#8
|
||||
|
||||
น้ำตาไหลเป็นทะเล... 1 ทศวรรษ 'สึนามิ' ฝันร้ายของคนไทยที่ไม่จาง!! 26 ธันวาคม 2547 ภัยพิบัติที่เรียกว่า "สึนามิ" ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 230,000 คน ใน 14 ประเทศ ไทยเองก็โดนคลื่นยักษ์สึนามิด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้น สร้างความสูญเสียอย่างมากมาย ชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งของ ต้นไม้ ระบบสาธารณูปโภค ทุกสิ่งอย่างหายไปในพริบตา มีเพียงสิ่งเดียวที่ยังคงเหลือ นั่นคือ "ความทรงจำ" ความทรงจำอันแสนเจ็บปวดรวดร้าว ที่ผู้คนซึ่งรอดชีวิต ต้องเผชิญมาจนถึงวันนี้... เวลาล่วงเลยมากว่า 10 ปี แต่ความโหดร้ายที่เกิดขึ้น กับบุคคลอันเป็นที่รัก ยังไม่เคยจางหายไป เปรียบเสมือนแผล ถ้าหากมันถูกสะกิดโดนเมื่อไหร่ ที่มันยังไม่หายดี มันจะยังเจ็บปวดเสมอ "ไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสลงพื้นที่ก่อนถึงวันครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สึนามิ ที่จังหวัดพังงา พร้อมกับกรมสุขภาพจิต โดยเราได้ไปสำรวจสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่ซากปรักหักพัง ย้อนกลับไปเมื่อวันนั้น... ผู้เขียนได้มีโอกาสลงไปทำข่าว หลังเกิดเหตุการณ์เพียงไม่กี่ชั่วโมง จะเล่าให้ฟังอย่างนี้ว่า ก่อนที่รถข่าวจะวิ่งเข้าสู่เขตประสบภัยพิบัติ ผู้เขียนทราบได้ทันที ว่าใกล้จะถึงแล้ว เนื่องจากกลิ่นที่ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นศพ เข้ามาในรถแบบไม่ทันตั้งตัว เพียงเวลาไม่ถึง 5 นาที เราก็ถึง วัดย่านยาว อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จังหวัดที่สูญเสียมากที่สุด ใน 6 จังหวัดที่โดนคลื่นยักษ์ซัด ภาพที่เห็น คือ ศพที่ถูกห่อด้วยผ้าขาว วางอยู่เรียงรายในจำนวนที่นับไม่ถ้วน ตู้คอนเทนเนอร์สำหรับเก็บศพถูกขนมาในอีกไม่นาน คุณหญิงหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สวมใส่ชุดสีขาว ทำงานอย่างสาละวน เพื่อบริหารจัดการศพ ก่อนที่จะเก็บศพไว้พิสูจน์เอกลักษณ์ ว่าผู้เสียชีวิตเหล่านั้นคือใคร ขณะที่ศพของชาวต่างชาติเอง ก็เริ่มทยอยมาลงที่วัดอย่างต่อเนื่อง เพิ่มจำนวนขึ้น เพิ่มจำนวนขึ้น อย่างไม่จบไม่สิ้น ขณะเดียวกัน พื้นที่ซึ่งถูกคลื่นสึนามิทำลายล้าง ก็มีเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ซากบ้าน ซากรถ ซากเรือ และซากศพ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ทุกคนต่างเร่งกันค้นหาผู้ประสบเหตุ ด้วยความหวัง ว่ายังมีชีวิตอยู่ หลายวันผ่านไป ปรากฏว่า มีผู้บาดเจ็บ ผู้รอดชีวิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้เสียชีวิต กลับเพิ่มมากกว่าผู้บาดเจ็บและผู้รอดชีวิต ไม่แพ้กับยอดผู้สูญหาย ที่เป็นเหมือนปริศนาคาใจจนถึงทุกวันนี้ เสียงร้องไห้ น้ำตา ความซึมเศร้า เข้ามาแทนที่... และมันคือ "ตัวแทนของความสูญเสีย" ผู้คนไม่มีที่อยู่ ไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีน้ำ อาหาร ขณะที่ความช่วยเหลือ หลั่งไหลอย่างไม่หยุดหย่อน แต่ยังไม่สามารถตอบสนองสภาพจิตใจได้ ไม่นานสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เมื่อทุกคนหายช็อก หายตกใจ สติเริ่มกลับมา ความช่วยเหลือถูกจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น ความหวังถึงการรอดชีวิตของบุคลอันเป็นที่รัก ก็สวนทางกันทันที หลายคนสูญเสียลูกเมีย บางคนสูญเสียพ่อแม่ หลายคนต้องกลายเป็นตัวคนเดียว ไร้ซึ่งญาติพี่น้อง 1 ชีวิตก็คน 2 ชีวิตคือคนรัก 3 ชีวิตคือครอบครัว บางรายสูญเสียไปถึง 10 คน!! จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็น 10 ปี เชื่อได้เลยว่า...ถึงวันนี้ 26 ธันวาคม 2557 ผู้เคราะห์ร้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่อยากให้วันนี้เวียนมาบรรจบ ไม่ใช่แค่ 10 ปี อีก 20 ปี หรือ 30 ปี และตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ ไม่มีใครอยากระลึกถึงเหตุการณ์อันโหดร้ายครั้งนั้น ความสูญเสีย คือ "บาดแผล" คำถาม คำพูดที่ตอกย้ำ นั่นคือ "เครื่องมือ" ที่มันมักจะกรีดลึกลงกลางใจทุกครั้ง ที่มีคนเอื้อนเอ่ยขึ้นมา "น้ำตา" เป็นคำตอบ ไม่มีใครบอกได้ ว่า "สุขภาพจิต" ของพวกเขาเหล่านั้น ดีขึ้นหรือยัง?? หลังจากได้พูดคุยกับหลายคนที่ประสบเหตุ เราเชื่อว่า ทุกคนสุขภาพจิตดีขึ้นตามลำดับ ทุกคนสามารถประคับประคองชีวิตมาได้ จนเหตุการณ์ผ่านไป 10 ปี แม้เขาเหล่านั้นจะมีชีวิตที่เปลี่ยนไป มีบ้านหลังใหม่ มีที่อยู่ มีอาชีพที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ความเศร้า ความเสียใจ ถูกสะกิดขึ้นมาอีกครั้ง แพทย์หญิงเบญจพร ปัญยายง แพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า สภาพจิตใจของคนที่นี่ดีขึ้นมากแล้ว ทุกวันนี้ ทุกคนอยู่กันได้ด้วยตัวเอง เราพยายามให้เขาปรับตัว อย่าอยู่กับตัวเอง พูดคุยกับคนรอบข้าง อย่าเปลี่ยนแปลงชีวิตมาก เวลาทุกข์ ก็ไปสวดมนต์ และหาอาชีพให้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีอาชีพ มีรายได้ การดำเนินชีวิตเขาจะปกติขึ้น แต่บางทีเราก็ต้องระวังบ้าง เพราะบางคนอาจคิดถึงบุคคลที่รัก และอาจมีความคิดอยากจะไปอยู่กับคนรัก นั่นเรียกว่าการฆ่าตัวตาย คือสิ่งที่เราปรารถนาไม่ให้เกิดขึ้นกับใครเลย ซึ่งที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีใครทำแบบนั้น อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมดีขึ้นหมดแล้ว ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะความเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่ถูกตีหัว หรือเลี้ยงลูก ก็ระแวง ก็กลัวได้เหมือนกัน ภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ทุกคนประสบกันได้ แล้วคุณล่ะ!!...เตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร?? ความรักในสิ่งของ ในทรัพย์สิน หรือแม้แต่มนุษย์ด้วยกัน คุณได้ทำ ได้ปฏิบัติอย่างดีแล้วหรือยัง?? หากคุณยังทำมันไม่เต็มที่ เริ่มตั้งแต่วินาทีนี้ สร้างเกราะให้สภาพจิตใจคนรอบข้าง แข็งแรง แข็งแกร่งไปพร้อมๆ กัน หากวันใดต้องพบเจอ เราจะได้ปรับตัว และยอมรับมันได้ง่ายขึ้น!!! จาก ................ ไทยรัฐ วันที่ 27 ธันวาคม 2557
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:23 |
#9
|
||||
|
||||
กราฟิกภาพข่าวจาก ThairathTV ที่จะทำให้คุณเข้าใจสึนามิเมื่อ 10 ปีที่แล้วมากขึ้น ขอแนะนำ เราไม่อยากให้คุณพลาดชมคลิปนี้
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#10
|
||||
|
||||
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:23 |
|
|