เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 15-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่งในระยะนี้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนต่อเนื่อง

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น ?หว่องฟ้ง? (VONGFONG) บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ตอนล่าง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ตอนบนในช่วงวันที่ 15-16 พ.ค.63 โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนขึ้นอ่าวเบงกอลตอนบน


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 15 - 16 พ.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงเกิดขึ้นบางพื้นที่ เนื่องจากลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดนำความชื้นเข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ส่วนในช่วงวันที่ 17-20 พ.ค. 63 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทย ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น ?หว่องฟ้ง? (VONGFONG) บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ตอนบนในช่วงวันที่ 15-16 พ.ค.63 ซึ่งพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 15 - 16 พ.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งฟ้าผ่า ในระยะนี้ไว้ด้วย และขอให้ประชาชนภาคใต้ฝั่งตะวันตกระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ในช่วงวันที่ 17-20 พ.ค. 63






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 15-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่สงบ เลียงผา-หมูป่า เดินสบายใจเพราะโควิด-19 ทำไร้คน



เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เผยภาพป่าหลังปิดอุทยานแห่งชาติฯ จากโรคโควิด-19 ไร้ผู้คนความสงบกลับคืนมา จนเลียงผา และฝูงหมูป่า ออกมาเดินกลางถนนได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องเกรงกลัวรถยนต์จะมาชน

จากการที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศปิดการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทุกแห่ง เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระบาด ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.63 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศยกเลิก ทำให้ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 5 และเป็นลำดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติของไทย ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อีก 1 แห่ง

ทำให้ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลับคืนสู่ธรรมชาติ สัตว์ป่านานาชนิดในเขตอุทยานสามารถดำรงชีวิตในผืนป่าอย่างมีความสุข เมื่อผืนป่าสงบเงียบ เจ้าของบ้านจึงออกเดินเล่นอย่างมีความสุข หลังจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สามารถบันทึกภาพ "เลียงผา" ที่ออกเดินชมวิวที่ยอดเขาสูงบริเวณผาเดียวดาย ที่เป็นแหล่งชมวิวที่สวยงามและมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี นักท่องเที่ยวเมื่อขึ้นเขาใหญ่จะต้องเดินเข้าไปชมที่บริเวณผาเดียวดาย เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวมารบกวน ทำให้ "เลียงผา" ออกมาเดินเล่นอย่างสบายใจ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พ.ค.63 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สามารถบันทึกภาพ "เลียงผา" ขณะออกมาจากป่าเดินข้ามถนนและเล็มหญ้า กิ่งไม้ ใบไม้ อย่างเอร็ดอร่อย ได้อีกครั้ง เป็นภาพธรรมชาติที่สดชื่นสวยงามของสิ่งมีชีวิตในป่า โดยไม่มีรถยนต์หรือนักท่องเที่ยวเข้าไปรบกวน ส่วนหมูป่า ก็ไม่น้อยหน้า พาฝูงหมูป่าตัวเล็กตัวใหญ่เดินข้ามถนนอย่างสบายใจ โดยไม่สนใจหรือกลัวรถยนต์จะวิ่งมาชนให้ได้บาดเจ็บหรือตายแต่อย่างใด.


https://www.thairath.co.th/news/local/east/1844504

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 15-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ครอบครัวนากผ่อนคลายอารมณ์ หลังปิดอุทยานฯ นานกว่า 1 เดือน

อุทยานเขาใหญ่ โชว์ภาพครอบครัวนากขนเรียบ ที่ไม่พบเห็นได้บ่อยนัก โดยมีชาวเน็ตเข้ามาชื่นชมความน่ารักของครอบครัวนากมากมาย เผยครอบครัวนากดูผ่อนคลายและสบายใจเนื่องจากช่วงนี้ทางอุทยานปิดมานานกว่า 1 เดือน



เมื่อวันที่ 13 พ.ค. เพจ "อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ - Khao Yai National Park" ได้เผยวิดีโอความยาว 0.27 นาที โดยเป็นภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่าง "ตัวนาก" โดยในวิดีโอเผยความน่ารักของครอบครัวนาก ซึ่งดูไปเหมือนกำลังสบายอารมณ์ที่ป่ากลับมาเงียบสงบอีกครั้ง โดยนากชนิดที่ปรากฏในวิดีโอคือ "นากใหญ่ขนเรียบ" ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ระบุว่าไม่สามารถพบเห็นได้บ่อยนัก

โดยเพจระบุเนื้อหาว่า "ครอบครัวนากนับสิ! ครอบครัวเรามีกี่ตัว นากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขึ้นมาอาบแดดหลังจากมีการปิดอุทยานฯ 1 เดือน"

ทั้งนี้ ตัวนาก หรือนาก ในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 ชนิด คือ นากเล็กเล็บสั้น นากใหญ่ขนเรียบ นากใหญ่จมูกขน หรือ นากใหญ่หัวปลาดุก และนากใหญ่ธรรมดา ทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์นักล่าโดยธรรมชาติ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตไม่สามารถ ครอบครอง ล่า หรือค้าได้ ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จำคุกไม่เกิน 4 ปี และปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท


https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000050270

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 15-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


การปกป้องมหาสมุทรเป็นเรื่องเร่งด่วน?เพื่ออนาคตด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ............... โดย Ellie Hooper

แม้ตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤต โควิด-19 แต่เราก็ต้องปกป้องการฟื้นตัวของระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน

นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าสิ่งมีชีวิตใต้น้ำนับล้านชีวิต ตั้งแต่ผืนน้ำสีฟ้าอันกว้างใหญ่สวยงามชวนหลงใหลไปจนถึงระดับความลึกอันน่าพิศวงที่ยังรอการค้นพบนี้ มหาสมุทรยังมีบทบาทที่ยิ่งใหญ่มากในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นเหมือนอ่างกักเก็บความร้อนและคาร์บอนจากบนผิวโลกเอาไว้

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดพบว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2514-2553 มหาสมุทร ดูดซับความร้อนจากพื้นผิวโลกมากกว่าร้อยละ 90 และยังดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์กว่าร้อยละ 40 อีกด้วย กล่าวได้ว่ามหาสมุทรนั่นเป็นเหมือนเกราะป้องกันเราไม่ให้พบเจอกับวิกฤตสภาพอากาศสุดเลวร้ายที่ควร จะเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ดังที่ จอช วิลลิส นักสมุทรศาสตร์ของนาซาได้กล่าวไว้ว่า "มหาสมุทรช่วยยืดเวลาการพิพากษาของพวกเราออกไป" ถ้าหากไม่ได้มหาสมุทรช่วยไว้ล่ะก็ ป่านนี้พวกเราก็คงเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้ายสุดบรรยายอยู่เป็นแน่

ในเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2562 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยมหาสมุทรและพื้นที่ในโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง (The Oceans and Cryosphere) โดยเป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อมหาสมุทรและภูมิภาคที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง รายงานแสดงให้เห็นว่าขีดจำกัดของมหาสมุทรในการดูดซับเหล่าก๊าซคาร์บอนและความร้อนได้มาถึงจุดวิกฤตแล้ว

ขณะนี้ทะเลกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และค่าความเป็นกรดที่เพิ่มมากขึ้นรวมถึงคลื่นความร้อน ที่กำลังทำร้ายสาหร่ายและปะการังให้เหลือน้อยลงไปทุกที หากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้หายไป กิ่งก้านที่เคยเป็นบ้านให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น ปลา สัตว์ที่มีเปลือกแข็งจำพวกกุ้ง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์ต่างๆ ก็จะหายไปด้วย


ฝูงปลาว่ายน้ำข้ามแนวปะการัง แม้ครั้งหนึ่งสาธารณรัฐนาอูรู ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค จะเคยมีรายได้เข้าประเทศจำนวนมากจากการทำอุตสาหกรรมถลุงแร่ฟอสเฟต ในทะเล แต่เมื่อทรัพยากรดังกล่าวหมดไป ก็ส่งผลกระทบต่อเศษฐกิจและสังคมอย่างมาก ชาวนาอูรูจึงหันเปลี่ยนมาจัดตั้งเขตคุ้มครองการประมงในน่านน้ำของตนเองและน่านน้ำสากลใกล้เคียงแทน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ยังเหลืออยู่ไว้ให้ได้มากที่สุด ? Paul Hilton / Greenpeace

สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลขนาดเล็กเหล่านี้ มีบทบาทที่ยิ่งใหญ่ที่ช่วยโลกรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ใต้ทะเลลึก พืชในพื้นที่ชายฝั่งเช่นป่าชายเลนและทุ่งหญ้าทะเลก็เช่นกัน ที่ช่วยดักและดูดซับคาร์บอนไว้ในตะกอน ใต้น้ำและดิน เมื่อมีสัตว์ทะเลมากินพืชในบริเวณดังกล่าว คาร์บอนก็จะถูกถ่ายเทไปที่สัตว์ ก่อนจมลงสู่ใต้มหาสมุทรลึกพร้อมกับร่างของสัตว์เมื่อตายแล้ว เป็นไปตามวงจรห่วงโซ่อาหาร

หากเรายังรบกวนมหาสมุทรโดยการสร้างมลพิษ ทำเหมืองแร่ในทะเล หรือยังคงทำการประมงเกินขนาด สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลก็ไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่ ยิ่งในเวลาที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและต้องการให้คาร์บอนถูกมหามุทรกักเก็บไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้


วาฬหลังค่อมกำลังว่ายน้ำอย่างเพลิดเพลินในหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณประเทศตองกา ? Paul Hilton / Greenpeace

สิ่งหนึ่งที่เรายังได้เรียนรู้สิ่งหนึ่งท่ามกลางความทุกข์ยากจากวิกฤตไวรัสนี้ คือธรรมชาติไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อจัดการหรือควบคุมกับไวรัสต่างๆ หรือสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างที่มันเคยทำได้ หากเรายังคงคุกคามและรบกวนระบบของธรรมชาติอยู่แบบนี้

ขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะสร้างโลกสีเขียวและสงบสุขใบใหม่ให้เกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะต้องปกป้องกลไกทางธรรมชาติซึ่งคอยสร้างสมดุลให้กับโลกใบนี้ เพราะหากไม่มีกลไกลทางธรรมชาติ เราจะไม่มีทางคาดเดาสภาพอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้

เวลานั้นเหลือน้อยเต็มทีแล้ว อย่าให้การปกป้องมหาสมุทรเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่เหลืออยู่ เราไม่สามารถมองข้ามหรือเพิกเฉยต่อสัญญาณจากธรรมชาติที่คอยเตือนเราได้อีกต่อไป

สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ นาทีนี้ คือการเร่งลดปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจของมนุษย์เพื่อให้ระบบนิเวศได้เจริญเติบโตและยังสามารถทำหน้าที่ของมันต่อไปได้ สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญในต่อการจัดการมหาสมุทร


โลมากำลังว่ายน้ำในทะเลอัลบอราน (Alboran Sea)

การกำหนดให้หนึ่งในสามของพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลกเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์คือ หัวใจสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันว่าการปกป้องพื้นที่ในมหาสมุทรทั่วโลกร้อยละ 30 เป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

องค์การสหประชาชาติ (UN) ขยายความของเป้าหมายนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ทั้งบนบกและทะเลบนโลกของเราร้อยละ 30 จะต้องได้รับการปกป้องเพื่อให้แน่ใจว่าในอนาคตโลกใบนี้จะยังคงเอื้อต่อการเป็นที่อยู่อาศัยต่อไป

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบผลสำเร็จ มีข้อมูลมากมายที่ระบุว่าเพียงแค่จำกัดพื้นที่บางส่วนของมหาสมุทรก็สามารถเพิ่มจำนวนประชากรปลาได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสามารถฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกด้วย

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลจะทำให้ทะเลฟื้นฟูตัวเองและกลับมาสวยงามอย่างที่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเมื่อเร็วๆ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จาก เนเจอร์ (Nature) ก็สรุปว่า การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลไม่เพียงแแต่จะช่วยให้มหาสมุทรฟื้นฟูตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่จะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ภายใน 30 ปีเท่านั้น

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงนามใน "สนธิสัญญาทะเลหลวง" ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้อยู่ในวาระการประชุมขององค์การสหประชาชาติมาเป็นระยะมากกว่า 1 ปีแล้ว หากสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นได้จริงจากการลงนามของผู้นำทั่วโลก การฟื้นฟูของมหาสมุทรทั่วโลกก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน


https://www.greenpeace.org/thailand/...an-protection/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 15-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ฟอสซิล 55 ล้านปีชี้ปลากะตักโบราณตัวยาวถึงหนึ่งเมตร มีเขี้ยวดาบไว้ล่าปลาเล็กเป็นอาหาร


ภาพจำลองปลากะตักดึกดำบรรพ์ที่มีเขี้ยวดาบ กำลังถูกบรรพบุรุษของวาฬยุคเริ่มแรกจับกินเป็นอาหาร Image copyrightJOSCHUA KNUPPE

เมื่อพูดถึงปลากะตัก ปลาไส้ตัน หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่าแอนโชวี่ (anchovy) ทุกคนคงจะนึกถึงปลาทะเลตัวเล็กจิ๋วที่เอามาใช้ทำน้ำปลาหรือตากแห้งเป็นของกินกรุบกรอบ แต่ใครจะรู้ว่าในอดีตหลายสิบล้านปีมาแล้วนั้น ปลากะตักเคยมีบรรพบุรุษที่ตัวใหญ่ได้ถึงหนึ่งเมตร แถมยังมีเขี้ยวดาบเอาไว้ล่าปลาตัวเล็กกว่าอีกด้วย

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐฯ นำซากฟอสซิลปลา 2 ชิ้นจากสมัยอีโอซีน (Eocene Epoch)ที่มีอายุเก่าแก่ 55 ล้านปีมาทำการวิเคราะห์ หลังมีการค้นพบฟอสซิลนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนในประเทศเบลเยียมและปากีสถาน โดยใช้เทคนิค micro-computed tomography ซึ่งเป็นการสแกนและสร้างภาพขึ้นใหม่ ในลักษณะที่คล้ายกับการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกนตามโรงพยาบาล

ผลปรากฏว่าฟอสซิลปลาทั้งสองชิ้นซึ่งมีความยาวลำตัวร่วม 1 เมตร มีลักษณะหลายประการที่คล้ายกับปลากะตักในยุคปัจจุบัน เว้นแต่ในปากของมันมีเขี้ยวดาบงอกยาวออกมาที่ด้านหน้าด้วย ซึ่งแสดงว่ามันเป็นนักล่าที่ใช้เขี้ยวดาบทิ่มแทงและงับปลาตัวเล็กกว่าเอาไว้ในปาก


ฟอสซิลปลากะตักยุคโบราณ อายุเก่าแก่ 55 ล้านปี Image copyrightCAPOBIANCO ET AL. / RSOS 2020

ผลการค้นพบนี้เผยแพร่ในวารสาร RSOS ของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน โดยดร. อเลซซิโอ กาโปเบียงโก ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า บรรพบุรุษของปลากะตักที่มีขนาดใหญ่ยักษ์นี้ เป็นผลของวิวัฒนาการหลังเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อราว 11 ล้านปีก่อนหน้านั้น ซึ่งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากรวมทั้งไดโนเสาร์จากเหตุอุกกาบาตพุ่งชนโลก ได้เปิดทางให้ปลาบางชนิดเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็นผู้ล่าแทนที่สัตว์หลายชนิดที่สูญพันธุ์ไป

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ปลากะตักยักษ์เขี้ยวดาบนี้ต้องสูญพันธุ์ไปก่อน เหลือไว้เพียงลูกหลานสายพันธุ์ตัวจิ๋วที่มีเพียงฟันขนาดเล็กไว้กินแพลงก์ตอน ดังที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

"ผมอยากจะรู้เหมือนกันว่า ปลากะตักโบราณเขี้ยวดาบที่กินเนื้อปลาอื่นเป็นอาหารจะมีรสชาติยังไง เพราะมันจะต้องแตกต่างไปจากแอนโชวี่ที่เราใช้โรยหน้าพิซซ่าอย่างแน่นอน" ดร. กาโปเบียงโก กล่าวทิ้งท้าย


ปลากะตักหรือปลาไส้ตันตากแห้งตัวเล็กจิ๋ว ซึ่งเราใช้ประกอบอาหารกันในทุกวันนี้ GETTY IMAGES


https://www.bbc.com/thai/international-52663714

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ

คำสั่งเพิ่มเติม
เรียบเรียงคำตอบ

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:40


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger